หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/88
     ๓๓๗๑. ประไหมสุหรี  เป็นชื่อเรียกอัครมเหสีของกษัตริย์ชวาและมลายู เป็นชื่อที่เรียกตามตำแหน่ง วรรณคดีเรื่อง ดาหลัง และเรื่องอิเหนา ซึ่งมีเค้ามูลมาจากนิทานปันหยี ของชวาและมลายู
                        ตามราชประเพณีของวงศ์อสัญแดหวา มเหสีของกษัตริย์มีถึงห้าตำแหน่ง ตำแหน่งประไหมสุหรี เป็นตำแหน่งสูงสุด รองลงไปได้แก่ มะเดหวี มะโต ลิกู และเมาหลาหงี ตามลำดับ แต่ละตำแหน่งดังกล่าว ยังอาจแยกย่อยออกไปได้อีก ดังเช่น อิเหนา มีมเหสีถึงสิบองค์ ต้องแยกตำแหน่งทั้งห้าออกเป็นฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย ประไหมสุหรี ฝ่ายขวาคือ จินตะหรา และฝ่ายซ้ายคือ บุษบา          ๑๘/ ๑๑๒๗๑
                ๓๓๗๒. ปรัชญา  คือ วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้ และความจริง
                        ๑. - ความเป็นมาของปรัชญา  ปรัชญาตะวันตกถือกำเนิดขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่หนึ่ง ก่อน พ.ศ. โดยมีนักคิดชาวกรีกกลุ่มหนึ่ง เริ่มมีความสงสัยและอยากรู้ อยากเห็นความเป็นไปของธรรมชาติ แนวคิดของนักปรัชญากลุ่มแรกนี้ มีลักษณะสำคัญคือ
                            ประการที่หนึ่ง สิ่งเร้าความสนใตให้คิดค้นหาคำตอบคือ โลกของธรรมชาติ หรือโลกของวัตถุ
                            ประการที่สอง การมองโลกของวัตถุในฐานที่เป็นระบบคือ คิดว่าสรรพสิ่งทั้งปวงต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มาจากสิ่งเดียวกัน
                            แนวคิดที่จะเชื่อมโยงสรรพสิ่งเข้าเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับระเบียบ กฎเกณฑ์และความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งปวงในจักรวาลนี่คือ การแตกหน่อแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้อุบัติขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๔ และ ๒๒ อนึ่งในการแสวงหาสิ่งที่เป็นตัวร่วม หรือแกนกลางของสรรพสิ่งนั้น ทำให้นักคิดรุ่นแรกนี้ ต้องใช้ความคิดล่วงพ้นโลกของประสาทสัมผัส ไปสู่โลกของนามธรรม
                            เมื่อมาถึงสมัยของโสกราตีส ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ - ๒ เห็นว่ามนุษย์ควรรู้จักตัวเอง กิจการของมนุษย์คือ การที่ได้รู้จักและหาทางแก้ไขปัญหาของชีวิต
                            ตกมาถึงสมัยเพลโต (พ.ศ.๑๑๕ - ๑๙๖)  ความคิดเกี่ยวกับโลกของวัตถุและธรรมชาติของมนุษย์ ์ได้เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบเดียวกัน ทุกสิ่งบรรดาที่มีอยู่เป็นอยู่ ล้วนอยู่ในระบบความจริงเดียวกัน ต่อมาอริสโตเติล ผู้เป็นศิษย์ก็ได้ปรับปรุงแนวคิดของเพลโต เท่าที่เห็นว่าเพลโต บกพร่อง
                            หลังจาก อริสโตเติล จนถึงยุคคริสต์กาล ก็ได้มีสำนักปรัชญาปลีกย่อยหลายสำนัก และในยุคกลาง ซึ่งเริ่มประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๒๑ หรือ ๒๒ ปรัชญาตะวันตกไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นยุคที่ได้นำเอาปรัชญาของเพลโต และอริสโตเติล ไปประยุกต์ใช้กับศาสนาคริสต์ ปรัชญาได้กลายเป็นแม่บท สำหรับอธิบายศัพท์ในศาสนา นักบุญออกัสติน ได้รับอิทธิพลจากเพลโต  ส่วนอะไควนัส นับถืออริสโตเติล เป็นปรมาจารย์
                            เมื่อสิ้นสมัยกลาง และเริ่มสมัยใหม่ปรัชญาก็เริ่มแตกลูกออกเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และแยกออกจากปรัชญา กลายเป็นความรู้เชิงประจักษ์
                            เมื่อล่วงมาถึงราวพุทธศวรรษที่ ๒๓ และ ๒๔ นักวิชาการเริ่มมองเห็นว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์ อาจนำมาศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมได้ด้วย วิทยาศาสตร์สังคม จึงเกิดขึ้นและแยกตัวอิสระออกจากปรัชญา
                            ดังนั้น ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ จึงมีสำนักปรัชญาที่เห็นว่า ปรัชญามิใช่มีหน้าที่ที่จะแสวงหาความจริงอีกต่อไป สำนักนี้เรียกกันว่า สำนัก "ภาษาวิเคราะห์" กล่าวคือ ปรัชญามีหน้าที่วิเคราะห์ภาษา นักปรัชญากลุ่มนี้มีความเห็นว่า ปัญหาที่ฝึกปรัชญาในอดีตโต้แย้งกันนั้น จะไม่เกิดขึ้นถ้าคำที่นักปรัชญา แต่ละคนใช้นั้นมีความหมายตรงกัน
                            ปรัชญาของโลกตะวันออก ซึ่งมีจีนและอินเดีย เป็นแหล่งสำคัญ ปรัชญาจีน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหลักจริยธรรม หลักการปกครอง เป็นปรัชญาที่สอนให้คนปฎิบัติตนในการดำรงชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตสังคม ไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาความจริงเพื่อความจริงอย่างตะวันตก ปรัญชาจีนเป็นแหล่งกำเนิดของประเพณี จริยธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม จึงไม่มีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์สังคม
                            ในอินเดียก็คล้ายกับจีน แต่มีลักษณะเป็นนามธรรมมากกว่าจีน ปรัญชาอินเดียเริ่มด้วยศาสนา อันมีคัมภีร์พระเวทซึ่งเชื่อว่ามีมาแล้วราว ๔,๐๐๐ ปี เป็นแม่บท หลังจากยุคพระเวทก็มาถึงยุคพุทธกาล อันมีลัทธิปรัญชาสำคัญคือ ลัทธิสางขยะ ศาสนาพุทธและศานาเชน เป็นหลัก หลังจากนั้นก็มาถึงยุค "ระบบปรัญชา" อันมีลัทธิทั้งหกเป็นปรัญชาที่สำคัญ
                        ๒. - สาขาต่าง ๆ ในปรัญชา ที่นิยมแบ่งกัน มีดังนี้
                            ก. อภิปรัญชา ปรัญชาสาขานี้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องสภาวะแห่งความเป็นจริง อันติมะ อะไรเป็นสิ่งที่แท้จริง อะไรเป็นผลพลอยได้จากสิ่งจริงแท้ จิตหรือวัตถุเป็นความจริงมูลฐาน มีภาวะจริงอยู่มากนอกเหนือจากวัตถุ และปรากฎการณ์ของวัตถุหรือไม่
                            ข. ตรรกศาสตร์ ปรัญชาสาขานี้ศึกษากฎเกณฑ์ของการใช้เหตุผล
                            ค. ญาณวิทยา หรือทฤษฎีแห่งความรู้ ปรัญชาสาขานี้วิเคราะห์ปัญหาเรื่องความจริง เรารู้ความจริงได้อย่างไร มีหลักอะไรที่จะช่วยในการตัดสินว่านี้จริงนี้เท็จ
                            ง. จริยศาสตร์ ปรัญชาสาขานี้เป็นปรัญชาชีวิต คือพูดถึงความหมายของชีวิต
                            จ. สุนรียศาสตร์ ปรัญชาสาขานี้เป็นวิชาว่าด้วยความสวยความงาม และความไพเราะของสิ่งต่าง ๆ เป็นปรัญชาที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ค่าหรือคุณค่า
                        ๓. - กิจของปรัญชา มีกิจอยู่บางประเภทที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ แต่มิได้อยู่ในขอบเขตของวิทยาศาสตร์คือ
                            ก. การวาดภาพรวม หรือการสร้างโลกทัศน์
                            ข. การแสวงหา คือค่าในที่นี้หมายถึง สิ่งที่น่าพึงปรารถนาหรืออุดมภาวะ ค่าเป็นตัวกำหนดทิศทางของชีวิตมนุษย์ การกระทำของมนุษย์ทุกอย่าง ต้องมีจุดหมายปลายทางและจุดหมายปลายทางนี้ถูกกำหนดโดยค่าที่ตนยึดถือ
                            ค. การวิพากย์และวิเคราะห์          ๑๘/ ๑๑๒๗๔
                ๓๓๗๓. ปรัมมานัม  เป็นชื่อของเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ทางภาคกลางของเกาะชวาในหมู่เกาะอินโดนีเซีย คำว่าปรัมมานัม มาจากชื่อหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เทวาลัยแห่งนี้ ล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสสามชั้น มีประตูเข้าทั้งสี่ทิศ ลานชั้นในสุดมีขนาด ๑๑๐ ตารางเมตร ลานชั้นกลาง ๒๒๒ ตารางเมตร กำแพงชั้นนอกสุดยาวด้านละ ๓๙๐ เมตร
                        ลานชั้นในสุด ประกอบด้วยเทวาลัยศิลาขนาดใหญ่สามหลัง หันหน้าไปทางทิศวตะวันออก หลังกลางเป็นหลังที่ใหญ่ที่สุด สร้างถวายพระอิศวร หลังด้านใน (ด้านขวา)สร้างถวายพระพรหม และหลังด้านเหนือ (ด้านซ้าย) สร้างถวายพระนารายณ์ ตรงข้ามกับเทวาลัยพระอิศวร มีเทวาลัยขนาดเล็กประดิษฐานรูปโคนนทิ พาหนะของพระอิศวร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีเทวาลัยขนาดเล็กอีกสองหลัง อยู่ตรงข้ามกับเทวาลัยพระพรหม และพระนารายณ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกัน และยังมีเทวาลัยอีกสองหลังตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศใต้และทิศเหนือตามลำดับ สูงประมาณ ๑๖ เมตร  เทวาลัยหลังกลางสูง ๔๗ เมตร ในลานชั้นที่สองเดิมมีเทวาลัยขนาดเล็กอยู่ถึง ๒๒๔ หลัง สูงประมาณ ๑๔ เมตร สร้างเรียงเป็นแถวสี่
                        เชื่อกันว่า เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕          ๑๘/ ๑๑๒๘๕
                ๓๓๗๔. ปรากรมพาหุ, ปรักมพาหุ  เป็นพระนามพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มตะ  แห่งลังกาทวีปสิบองค์ องค์ที่ปรากฎพระนามยิ่งใหญ่ในพงศาวดารลังกาคือปรากรมพาหุมหาราชที่หนึ่ง ผู้ทรงมีคุณปการยิ่งใหญ่แก่พระพุทธศาสนาเสมอเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช เอกอัครศาสนูปถัมภกในชมพูทวีป
                        ปรากรมพาหุที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๖๙๖ - ๑๗๒๙) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วได้สี่ปี ได้ทรงส่งกำลังทางบกไปปราบแคว้นโรหณะ ส่งกำลังทางเรือไปปราบพวกโจละ ทางฝั่งอินเดียตอนใต้ พระองค์ได้ทรงปราบปรามนานานิคมชนบทถึง ๓๖๔ แห่ง ระดมพลทางบก ๒,๔๒๕,๐๐๐ คน ทาางเรือ ๙๙๕,๐๐๐ คน ทรงส่งนักรบสิงหฬไปรบยังแว่นแคว้นต่างแดนที่แข็งข้อ และรุกราน (มาจากอินเดียภาคใต้) ภายในเกาะลังกาทรงตีอาณาจักรได้ทั้งหมด
                        ด้านพระพุทธศาสนา ทรงปรารถถึงสังฆมณฑลที่แตกแยก เสื่อมโทรมมาแต่ก่อน อีนเนื่องมาจากพระภิกษุสงฆ์ทุศีล ไม่รักษาพระธรรมวินัย แตกแยกออกเป็นนิกายน้อยใหญ่ ทรงปรารถถึงความผุดผ่องของพระพุทธศาสนา ปรากฎพระดำรัสในพงศาวดารว่า "หากพระราชาผู้ปกครองประเทศ ไม่เอาใจใส่ในพระศาสนา คำสั่งสอนพระธรรมวินัยที่ถูกต้องจักเสื่อมสูญ มนุษย์จำนวนมากก็จะก้าวไปสู่ความพินาศ ฯลฯ " ถึงคราวที่ข้า ฯ ควรจะรับใช้พระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่สิ้น ๕,๐๐๐ ปี"
                        พระองค์ได้พระกัสสปเถระผู้ทรงธรรม รับสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์ฝ่ายธรรมวาที และเรียกภิกษุฝ่ายอลัชชีมาไว้ ทรงบังคับให้ลาเพศแล้วขับไล่ออกไป ทรงอุปการะชำระพระพุทธศาสนาใหม่ ให้นิกายสงฆ์ที่เคยแตกแยกกันออกไปหลายนิกาย มาประพฤติธรรมให้สอดคล้องต้องกัน เป็นครั้งแรกในเกาะลังกา          ๑๘/ ๑๑๒๙๐
                ๓๓๗๕. ปรากฤต  เป็นชื่อเรียกภาษาท้องถิ่นในชมพูทวีปแต่โบราณ เป็นภาษาตระกูล อินโดยุโรปอยู่ในกลุ่มภาษาอารยันตะวันออก นัยว่ามีภาษาสันสกฤตเป็นภาษาแม่ คู่กับภาษาอารยัน ตระกูลอินโด - ยุโรป ฝ่ายตะวันตก มีภาษากรีก และภาษาละติน เป็นต้น
                        คำ "ปรากฤต" เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ธรรมดา สามัญ หมายความว่า ภาษาสามัญไม่มีหลักเกณฑ์ เป็นภาษาของชาวบ้าน หมายอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นภาาาท้องถิ่นแต่ละถิ่น ภาษาปรากฤตจึงมีหลายแบบ แยกประเภทออกไปตามท้องถิ่นนั้น ๆ ตรงข้ามกับคำ"  สันสกฤต์  ซึ่งแปลว่า ภาษาที่ตกแต่งดีแล้ว งดงาม มีหลักเกณฑ์
                        ภาษาสื่อสารในชมพูทวีป แต่โบราณว่ามีอยู่ถึง ๘๐๐ ภาษา แต่ใช้สื่อสารกันอยู่ประมาณ ๕๐ ภาษา ต่อมาเหลืออยู่เพียง ๑๔ ภาษา คือ ฮินดี เบงคลี มารถี คชราถี ปัญจาบี กัษมิรี สินธี โอริยา (อารยันแท้) ทมิฬ มาลายาลัม เตเลคุ มาคชี คอนด์ และโกลาเลีย (ก่อนอารยัน)
                        ภาษาปรากฤต แพร่หลายออกไปตามท้องถิ่นทั่วชมพูทวีป กำหนดเป็นสามทางคือ ทางตะวันตก ตะวันออก และทางใต้
                        ภาษาปรากฤต ถูกนำไปใช้เป็นภาษาจารึกคำสอนของศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ เกือบทุกศาสนา เว้นแต่ศาสนาซิกข์ อันเป็นศาสนาเกิดใหม่ที่สุดในชมพูทวีป         ๑๘/ ๑๑๘๐๑
                ๓๓๗๖. ปรางค์  เป็นสถูปที่มียอดสูงขึ้นไป รูปร่างคล้ายต้นกระบองเพชร และมีฝักเพกาแยกเป็นกิ่ง ๆ อยู่ข้างบนปราสาท ที่มียอดสูงเช่นนั้น
                        คำว่า "ปรางค์" หรือ "พระปรางค์" นี้ ไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย - จีน - ขอม ซึ่งเป็นปูชนียสถานทางศาสนาพราหมณ์ แผ่เข้ามาแต่เดิม การสร้างปรางค์ของไทยสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น ลักษณะของปรางค์ทรงป้อม ๆ คล้ายปรางค์ขอม ประกอบด้วยซุ้มคูหา สี่ซุ้ม เรียกว่า ซุ้มจตุรทิศ ภายในซุ้มประดิษฐานเทวรูป ส่วนภายในของปรางค์ประดิษฐานพระเจ้าของพราหมณ์คือ พระอิศวร (ศิวะ) พระนารายณ์ (วิษณุ) และพระพรหม เป็นต้น ปรางค์นี้ เป็นเทวาลัยโดยแท้
                        ต่อมาไทยได้รับอิทธิพลจากจีน มีการก่อสร้างแบบขาโต๊ะ ขาสิงห์ขึ้น ทั้งเจดีย์และปรางค์ โดยการสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาทางศาสนาพุทธ ได้ดัดแปลงจากลักษณะเดิมของไทยยุคต้น ไขความสูงขึ้นเทียบเท่าเจดีย์ แล้วประดิษฐานชั้นเชิงส่วนยอดเป็นกาบ โดยมีเชิงเป็นระยะเรียกว่า กาบขนุน ซุ้มคูหาหรือซุ้มจตุรทิศ ก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนมากจะใช้พระยืน
                        ปรางค์นี้ หากสร้างเป็นยอดอาคารหลังคาซ้อนแบบไทย ที่เป็นจตุรมุข เรียกว่า ปรางค์ปราสาท
                        การสร้างพระปรางค์นี้ นอกจากของขอมโบราณสร้างด้วยศิลาแลง หินและหินทรายแล้ว ของไทยยังก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน มีตั้งแต่ย่อไม้สิบสอง ไปจนถึงย่อไม้สามสิบหก บางแห่งมีย่อเก็จออกจากด้านทั้งสี่ด้วย           ๑๘/ ๑๑๓๐๗
                ๓๓๗๗. ปรางค์กู่  อำเภอ ขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ ทำนาได้
                        อ.ปรางค์กู่ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ขึ้น อ.ขุขันธ์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖          ๑๘/ ๑๑๓๑๖
                ๓๓๗๘. ปราจีนบุรี  จังหวัดภาคตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครราชสีมา ทิศตะวันออกจดประเทศกัมพูชา (จด จ.สระแก้ว - เพิ่มเติม) ทิศใต้ จด จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.จันทบุรี ทิศตะวันตก จด จ.นครนายก ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีที่ดอนบ้าง แต่ตอนเหนือมีทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาพนมดงรัก กั้นเป็นพืดไป
                        จังหวัดนี้ มีเขาลูกใหญ่ ๆ เช่น เขาสมอปูน เขาเขียว เขาปลายลำกะดุก เขาร่มน้อย เขาแหลม เขาโป่งฉนวน เขากำแพง
                        จ.ปราจีนบุรี มีปรากฎชื่อในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คือเมื่อครั้งผลัดแผ่นดินใหม่ ๆ พระยาละแวก ได้ยกทัพเข้ามาถึงเมืองปราจีนบุรีตีเมืองนี้ได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไปเมืองละแวก          ๑๘/ ๑๑๓๑๖
                ๓๓๗๙. ปราณบุรี  อำเภอ ขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาณาเขตทางทิศตะวันออก ตกอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนมีป่าไม้ และภูเขาประปราย ตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                        อ.ปราณบุรี เดิมเป็นเมือง ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า (ต.ปราณบุรี) แล้วย้ายไปที่ปากแม่น้ำปราณ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ แล้วยุบเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ เรียก อ.เมืองปราณบุรี  ขึ้น จ.เพชรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ กลับตั้งเป็นเมืองปราณบุรีอีก แต่ไปตั้งศาลากลางที่ ต.เกาะหลีก โอน อ.เมืองปราณบุรี ไปขึ้น จ.ปราณบุรี ภายหลังเปลี่ยนชื่อ จ.ปราณบุรี เป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงปี พงศ.๒๔๕๙ ย้ายที่ว่าการอำเภอ จากปากแม่น้ำปราณไปตั้งที่ อ.เมืองเก่า (ต.ปราณบุรี)          ๑๘/ ๑๑๓๑๘
                ๓๓๘๐. ปราบดาภิเษก  มีบทนิยามว่า "เป็นพระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก"          ๑๘/ ๑๑๓๑๙
                ๓๓๘๑. ปราสาท ๑  เป็นเรือนชั้น เรือนมียอดโดยเฉพาะเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
                        การสร้างปราสาท แต่โบราณวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น เท่าที่ปรากฎถ้าเป็นปราสาทของอินเดียหรือขอม มักจะสร้างด้วยศิลาแลง หิน หินทราย หรือปูน อย่างที่เรียกกันว่า ปราสาทหิน ส่วนใหญ่เป็นเทวาลัยในลักษณะต่าง ๆ กัน บางแห่งทำส่วนยอดเป็นพรหมพักตร์ หรือพรหมสี่หน้า ที่ว่านี้เป็นของขอมโบราณ ลักษณะของยอดปราสาท จึงทำเป็นยอดปรางค์ทั้งสิ้น
                        ปราสาทของจีน ญี่ปุ่น และพม่า ก็เป็นลักษณะเรือนชั้นต่อกันไป โดยแต่ละชั้นทำเป็นหลังคาให้เห็นว่า เป็นการแบ่งแต่ละชั้นของอาคารอยู่ในตัว ของจีนมักจะสร้างด้วยศิลาเขียว หรือปูน บางทีก็ผสมไม้ ญี่ปุ่นใช้ปูนผสมไม้ ส่วนพม่า เนปาล ส่วนใหญ่เป็นเครื่องไม้
                        การสร้างปราสาทของต่างประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป นิยมสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารเป็นแบบตะวันตก ส่วนทางภาคตะวันออกได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และจีน
                        ปราสาทของไทย ถ้าหลังคาเรือนยอดเป็นทรงจอมแห โดยลักษณะเดียวกับทรงมณฑป ตั้งแต่มุขหลังคาจนถึงยอดสุด ปรุงด้วยไม้ตลอด สลักลวดลายลงรัก ประดับกระจกสีต่าง ๆ บางทีก็ปิดทอง
                        ในประเทศไทย สร้างลักษณะยอดปราสาทเป็นสองชนิดคือ ยอดปราสาท แบบยอดมณฑป และยอดปราสาทแบบยอดปรางค์ ติดกระเบื้องเคลือบสี          ๑๘/ ๑๑๓๒๑
                ๓๓๘๒. ปราสาท ๒  อำเภอ ขึ้น จ.สุรินทร์ มีอาณาเขตทางทิศใต้ จดประเทศกัมพูชา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นเนินเขา และป่าดง มีที่ราบน้อย
                        อ.ปราสาท ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ที่ได้ชื่อว่าปราสาท เพราะในท้องที่ของอำเภอนี้ มีปราสาทโบราณหลายแห่ง เช่น ปราสาทบ้านปวงศึก ปราสาทบ้านปราสาม ปราสาทบ้านพลวง ปราสาทตาวาย และปราสาทตาเหมือน          ๑๘/ ๑๑๓๓๐
                ๓๓๘๓. ปริก  เป็นพันธุ์ไม้ประดับชนิดหนึ่ง ลำต้นเป็นกอเล็ก ๆ มีรากเป็นหัว เก็บสะสมอาหารอยู่ในดิน ปลายยอดโน้มอ่อนลงเล็กน้อย ส่วนที่เห็นเป็นแผ่นแบนปลายแหลม ซึ่งมักเรียกว่าใบนั้น ที่จริงเป็นกิ่งแขนงสั้น ๆ ส่วนใบที่แท้จริงลดรูปเหลือเพียงเส้นเล็ก ๆ สั้น ๆ สีขาว หรือสีเหลืองอ่อน ๆ ติดอยู่ตามข้อของลำต้น ดอกออกตามข้อเป็นช่อเล็ก ๆ สีขาว กลิ่นหอมหวานค่อนข้างฉุน ผลกลมสีเขียวเมื่อสุกสีแดง          ๑๘/ ๑๑๓๓๐
                ๓๓๘๔. ปริซึม  คือ แท่งวัตถุโปร่งใสที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปเหลี่ยม ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป จะมีพื้นที่ตัดขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม ประกอบด้วยพื้นผิวด้านข้างทุกด้าน เป็นพื้นที่ระนาบรูปสี่เหลี่ยม เมื่อมีลำแสงฉายเข้าทางพื้นผิวระนาบเป็นมุม ตกกระทบที่เล็กกว่าหนึ่งมุมฉากแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดการหักเหของลำแสง ตอนผ่านเข้าสู่ปริซึม และลำแสงจะไปทะลุออกที่ด้านใดของปริซึม ย่อมสุดแต่ขนาดของมุมตกกระทบ ที่ลำแสงกระทำกับพื้นระนาบด้านนั้น ภายในแท่งปริซึม
                        ในทางคณิตศาสตร์ ตอนที่เกี่ยวกับเรขาคณิตทรงตันนั้น ปรีซึม หมายความถึง แท่งตันที่ประกอบด้วยปลายทั้งสองเป็นรูปเหลี่ยม และรูปเหลี่ยมทั้งสองนี้ ต้องมีพื้นที่เท่ากัน เป็นรูปแบบเดียวกัน ทั้งต้องมีระนาบขนานกันด้วย          ๑๘/ ๑๑๓๐๑
                ๓๓๘๕. ปริญญา ๑  มีบทนิยามว่า "ความรู้ กำหนดรู้,  ความหยั่งรู้,ความรู้รอบคอบ, กำหนดชั้นความรู้ที่ผ่านมหาวิทยาลัย" ความหมายข้อสุดท้ายนี้นิยมกันว่า เป็นคดีโลก (ดู ปริญญา ๒) จะอธิบายในความหมายทางคดีธรรมที่ว่า ความกำหนดรู้ ข้อนี้คัมภีร์ขุทกนิกาย มหานิทเทส ขยายความไว้ว่า ความกำหนดรู้เบญจขันธ์ เป็นต้น โดยวิภาค ได้แก่ รู้จักแยกออกจากสังขาร คือ สิ่งที่คุมกันอยู่ เรียกว่า "ญาตปริญญา"  ความกำหนดพิจารณาเห็น โดยพระไตรลักษณ์เรียกว่า "ตีรณปริญญา" การกำหนดละฉันทราคะ ในเบญจขันธ์เป็นต้น เรียกว่า "ปหานปริญญา"   ได้แก่ การละกิเลสและบาปธรรม ของสามัญชนเป็นการละชั่วคราว ที่เรียกกันว่า ตทังคปหาน         ๑๘/ ๑๑๓๓๕
                ๓๓๘๖. ปริญญา ๒  ในทางคดีโลก มีบทนิยามว่า "กำหนดชั้นความรู้ที่ผ่านมหาวิทยาลัย"
                        ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการประสาทปริญญาต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนามหาวิทยาลัย
                        ตามปรกติ ในอังกฤษมหาวิทยาลัยประสาทปริญญาต่าง ๆ แบ่งออกเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก
                        ในสหรัฐอเมริกา แบ่งปริญญาออกเป็นปริญญาตรี กำหนดเวลาเรียนตามปรกติสี่ปี ปริญญาโท กำหนดเวลาเรียนอย่างน้อยหนึ่งปี และแบ่งหลักสูตรออกเป็นสองแบบคือ แบบเขียนวิทยานิพนธ์ กับแบบไม่เขียนวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก กำหนดเวลาเรียนไว้ ๓ - ๔ ปี และตามปรกติมีการสอบสามชั้นคือ การสอบอย่างกว้างขวาง กับการสอบวุฒิ ก่อนอนุญาตให้เขียนดุษฎีนิพนธ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย ทำการสอบครั้งที่สาม
                        ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ พระราชทานปริญญาเวชศาสตร์บัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนเป็นแพทยศาสตร์บัณฑิต) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๒
                        พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๗๗ กล่าวถึงเรื่องปริญญาไว้ในมาตรา ๒๙ ปริญญาบัณฑิตมีสามชั้นคือ ชั้นเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต (ใช้อักษรย่อ ด.ข้างหลัง) ชั้นโท เรียกว่า มหาบัณฑิต (ใช้อักษรย่อ ม.ข้างหลัง) ชั้นตรี เรียกว่า บัณฑิต (ใช้อักษรย่อ บ.ข้างหลัง)
                        มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทยมีอำนาจให้ปริญญาต่าง ๆ ตามปรกติ หลักสูตรปริญญาตรี มีกำหนดสี่ปี เป็นอย่างน้อย ปริญญาโทสองปี เป็นอย่างน้อย และปริญญาเอก ๓ - ๕ ปี ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง          ๑๘/ ๑๑๓๓๖
                ๓๓๘๗. ปริตร  พระพุทธมนต์บทเดียว หรือหลายบท เรียกว่า พระปริต ทั้งนั้น ที่ยึดที่เกาะที่พึ่งของจิตใจคือ พระปริตร เครื่องป้องกัน หรือเครื่องขจัดปัดเป่าอันตรายให้หมดไปคือ พระปริตร
                        ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง แบ่งพระปริตออกเป็นสองส่วนเป็น จุลราชปริต เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ็ดตำนาน  เป็นมหาราชปริต เรียกกันเป็นสามัญว่า สิบสองตำนาน
                        จุลราชปริต หรือเจ็ดตำนาน กำหนดพระสูตรดังนี้คือ มงคลสูตร รตนปริตร กรณียเมตตาปริตร ขันธปริต (ครบด้วยฉัททันตปริตร) โมรปริตร ธชัคคปริตร และอาฎานาฎิยปริต บางทีเอาองคุลิมาลปริตร แทนปริตรอื่น          ๑๘/ ๑๑๓๔๓
                        มหาราชปริตร หรือสิบสองตำนาน กำหนดพระสูตรดังนี้คือ มงคลสูตร รตนปริตร กรณียเมตตาปริตร ขันธปริตร โมรปริต วัฎฎกปริตร ธชัคคปริตร อาฎานาฎิยปริตร อังคุลมาลปริตร โพชฌงคปริต อภยปริตร และชยปริตร           ๑๘/ ๑๑๓๔๓
                ๓๓๘๘. ปรินายก - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร เชิงสะพานผ่านฟ้า ฯ กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นวัดราษฎรชื่อ วัดพรหมสุรินทร์ ยกขึ้นเป็นวัดหลวงเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ปฎิสังขรณ์แล้ว ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ และได้รับพระราชทานนามวัดว่า วัดปรินายก ได้มีพระบรมราชโองการประกาศ พระบรมราชูทิศวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓           ๑๘/ ๑๑๓๕๓
                ๓๓๘๙. ปรินิพพาน  เป็นชื่อเรียกการล่วงลับไปของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ว่าเฉพาะพระพุทธเจ้าในมหาปรินิพพานสูตร กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า สรุปความว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึงเมืองกุสินาราแล้ว เสด็จไปยังสาลวันอุทยานของมัลลกษัตริย์ โปรดให้พระอานนท์เถระ ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ แล้วเสด็จขึ้นบรรทมสีหไสยา มีสติสัมปชัญญะ แต่มิได้มีอุฎฐานสัญญาคือ คิดว่าจะลุกขึ้นอีก ได้ประทานพระพุทโธวาทครั้งสุดท้ายว่า "บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญความดีให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท" ทรงทำปรินิพพานปริกรรม ด้วยอนุบุพวิหารสมาบัติเก้าประการ โดยอนุโลม (โดยลำดับ) ดังนี้
                        ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากานัญจายตนฌาน ออกจากอากานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญานัญจายตนฌาน ออกจากวิญญานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว  ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่เก้า
                        ครั้นพระพุทธองค์ทรงเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตามเวลาที่ทรงกำหนดแล้ว ก็ถอยออกจากสมาบัตินั้นโดยปฎิโลม (ทวนลำดับ) จนถึงปฐมฌาน ต่อจากนั้นก็ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน และต่อไปจนเข้าจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว  ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยาม แห่งราตรี วิศาขบุรณมี เพ็ญเดือนหก          ๑๘/ ๑๑๓๕๗
                ๓๓๙๐. ปริพาชก  เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียครั้งพุทธกาล นักบวชพวกนี้ครองเพศตามลัทธิคือ โกนผม และหนวด นุ่งและคาดผ้าขาวไม่ใส่เสื้อ นักบวชพวกนี้มีมาก่อนพระพุทธศาสนา มีสัญชัยเวลัฐบุตร เป็นเจ้าสำนัก ตั้งอยู่ที่แขวงเมืองราชคฤห ไม่ไกลจากพระเวฬุวันมหาวิหาร
                        กล่าวโดยทั่วไป นักบวชพวกปริพาชก จะท่องเที่ยวสั่งสอนลัทธิของตนตลอดเวลา ๘ - ๙ เดือน ไปถึงคามนิคมไหน ก็สนทนาถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับจริยศาสตร์ ปรัชญา และทรรศนลัทธิ พวกปริพาชกนิยมโต้วาที เรื่องปัญหาทางธรรม ของลัทธิกับนักบวชพวกอื่นเสมอ และในพวกเดียวกัน           ๑๘/ ๑๑๓๕๙
                ๓๓๙๑. ปริยัติ  แปลว่า การเล่าเรียน หมายเอาการเล่าเรียนฝ่ายพระศาสนา มีบทนิยามว่า "การเล่าเรียนพระไตรปิฎก " ในที่บางแห่งหมายเอาวิชาภาษาบาลี และวิชานักธรรม เอาไปรวมกับคำอื่นตั้งเป็นคำใหม่ขึ้นว่า ปริยัติธรรม ปริยัติธรรม หมายเอาพระพุทธพจน์ การศึกษาอบรมทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการศึกษาอบรมไว้สามขั้น ขั้นต้นเรียกว่า ปริยัติ คือ ต้องเรียนรู้ในข้อนั้น ๆ ก่อน ขั้นที่สองเรียกว่า ปฎิบัติ ขั้นที่สามเรียกว่า ปฎิเวช คือ ผลที่ได้จากการปฎิบัติ           ๑๘/ ๑๑๓๖๕
                ๓๓๙๒. ปริวรรต  หมายถึง การแลกเปลี่ยนซื้อขาย คำปริวรรต ที่ใช้กันมากในปัจจุบันมักตามด้วย "เงินตราต่างประเทศ" หมายถึง การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหนึ่ง กับเงินตราอีกสกุลหนึ่ง " อัตราที่ใช้ในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุลกันเรียกว่า "อัตราแลกเปลี่ยน"  โดยทั่วไปมักจะกำหนดในรูปของหนึ่งหน่วยเงินตราสกุลต่างประเทศ ต่อเงินตราสกุลของประเทศตนจำนวนหนึ่ง
                        การควบคุมปริวรรต  หมายถึง การควบคุมกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน ให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการนำเข้าหรือส่งออกทองคำ เงินตราต่างประเทศ เงินบาท และหลักทรัพย์อื่น ๆ ด้วย การควบคุมปริวรรตกระทำกันอยู่ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยได้มีการควบคุมการปริวรรต ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕
                        สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปริวรรต ได้แก่ กระทรวงการคลัง เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฯ  ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน และบุคคลรับอนุญาต          ๑๘/ ๑๑๓๖๗
                ๓๓๙๓. ปรีเดอโรม  เป็นรางวัลทางศิลปะเก่าแก่และมีชื่อเสียงของฝรั่งเศส วิทยาลัยวิจิตรศิลป์ ของสถาบันฝรั่งเศส ได้ตั้งรางวัลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๔๖ มอบให้ประจำแก่นักเรียนศิลปะ สาขาดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม แกะสลัก และสถาปัตยกรรม ผู้ได้รับจะต้องมีอายุไม่เกิน ๓๐ ปี           ๑๘/ ๑๑๓๗๔
                ๓๓๙๔. ปรียทรรศิกา  นาฎิกา หรือละครสันสกฤต ของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ราชาแห่งอุดรภาค แห่งอินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงถอดเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙
                        ละครเรื่องนี้ต้นฉบับเดิมแต่งเป็นภาษาสันสกฤต แล้วมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ          ๑๘/ ๑๑๓๗๔
                ๓๓๙๕. ปรือ - ต้น  เป็นพืชพวกกกชนิดหนึ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเหง้าใต้ดิน ซึ่งแตกแขนงออกไปให้ต้นใหม่ ตามข้อของเหง้า ลำต้นที่พ้นดินอวบ และเป็นสามเหลี่ยม ใบยาวราว ๑ - ๑.๕ เมตร กว้าง ๒ - ๒.๕ ซม. สีเขียวเข้ม โคนใบสีม่วงเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกที่ยอดเป็นช่อใหญ่ ยาวประมาณ ๑๒ - ๑๖ ซม. ปลายแยกเป็นสามเมล็ดแข็ง รูปกลมสีขาว          ๑๘/ ๑๑๓๗๘
                ๓๓๙๖. ปรู  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๕ - ๑.๕ เมตร ลำต้นมักคดงอ โคนต้นเป็นพู ต้นและเรือนยอดค่อนข้างโปร่ง ใบเป็นรูปไข่กลับ ดอกมีสีขาวนวล ๆ มีกลิ่นหอม และออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ผลกลมยาวขนาด ๑ - ๑.๕ ซม.
                        เปลือกของรากปรู ใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาระบาย และแก้โรคผิวหนัง นอกจากนั้นยังเป็นยาทำให้อาเจียน เมื่อคนไข้กินของเป็นพิษ ใช้เข้ายาแก้ไข้ ไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้สร้างบ้านเรือนและทำด้ามปืน          ๑๘/ ๑๑๓๗๙
                ๓๓๙๗. ปลดหนี้  เป็นนิติกรรมที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้อง ในหนี้อันมีต่อลูกหนี้ โดยไม่คิดเอามูลค่าตอบแทน เป็นผลให้หนี้นี้ระงับไปเท่าที่ปลดให้
                        ปลดหนี้ เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวคือ เจ้าหนี้เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ก็เป็นอันเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องมีคำสนองรับของลูกหนี้
                        การแสดงเจตนาปลดหนี้นั้น เมื่อได้กระทำออกไปแล้ว จะมีผลบังคับทันที่ไม่อาจจะถอนคืนในภายหลังได้          ๑๘/ ๑๑๓๗๙
                 ๓๓๙๘. ปลวก  เป็นแมลงประเภทหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ทำรังรวมกันอยู่เป็นกลุ่มในรังหนึ่ง ๆ อาจจะมีจำนวนหลายพันตัว ไปจนถึงเป็นหลายล้านตัว มีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันแบบมีสังคม แต่ละชนิดมีรูปร่างลักษณะ ๓ - ๔ แบบ โดยแบ่งเป็นวรรณะต่าง ๆ อยู่ในรังเดียวกัน ปลวกมีลักษณะหลายอย่างแตกต่างไปจากมด ปลวกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้ว มีประมาณไม่ต่ำกว่า ๑,๘๐๐ ชนิด ประมาณ ๒๐๐ สกุล ใน ๗ วงศ์ ด้วยกัน ส่วนใหญ่มีอยู่ชุกชุมในเขตร้อนที่มีความชุ่มชื้นสูง
                        ปลวก มีวรรณะซึ่งเห็นได้จากรูปร่างลักษณะ และหน้าที่ที่แตกต่างกัน โดยทั่ว ๆ ไปอาจจะแบ่งออกได้เป็นสี่วรรณะด้วยกันคือ วรรณะผสมพันธุ์ เป็นวรรณะที่มีปีกทั้งตัวผู้ และตัวเมีย เรียกว่า แมลงเม่า ซึ่งแต่ละชนิดมีขนาดต่าง ๆ กันคือ มีลำตัวยาวตั้งแต่ ๕ - ๒๒ มม. ปลวกในวรรณะนี้จะทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ของรัง นอกจากนี้ก็มีวรรณะรองผสมพันธุ์ สามารถทำหน้าที่แทนพ่อแม่ของรังได้ หากพ่อแม่ตายไป วรรณะกรรมกรคือ ปลวกงาน ประกอบด้วยตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ที่เป็นหมันไม่มีปีก มีขนาดตั้งแต่ ๒ - ๑๒ มม. แล้วแต่ชนิดของปลวก ทำหน้าที่ในการหาอาหารเลี้ยงรัง สร้างรัง และทำความสะอาดรัง ตลอดจนงานอื่น ๆ เพื่อการยังชีพในรัง วรรณะสุดท้าย วรรณะทหาร หรือนักรบ ซึ่งประกอบด้วยตัวเต็มวัย ที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  มีหัวและกรามใหญ่ ซึ่งบางครั้งใหญ่มากจนไม่สามารถกินอาหารด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยปลวกงานป้อนอาหารให้ ปลวกวรรณะนี้อาจมีขนาดลำตัวยาวตั้งแต่ ๓ - ๒๐ ซม. ทำหน้าที่เฝ้าระวังรักษารังปลวกงาน ส่วนใหญ่มีลำตัวอ่อนสีขาว หรือสีครีม ส่วนปลวกทหารมีสีเข้มกว่าเล็กน้อย สำหรับปลวกพ่อรัง หรือแม่รัง จะมีสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ หรือเกือบดำ ก็มี
                        ปลวก จะสร้างรังใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหน้าฝน โดยวรรณะผสมพันธุ์ซึ่งเป็นแมลงเม่า บินออกจากรังแยกกระจัดกระจายกันไป โดยมีการจับเป็นคู่ ๆ ระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย เมื่อได้คู่แล้วจะลงสู่พื้นดิน สลัดปีกทิ้งไปแล้วขุดรูทำโพรงเล็ก ๆ ใต้ดิน ผสมพันธุ์กันในโพรงนั้น ต่อมาก็ออกไข่ฟักเป็นตัว โดยมีตัวพ่อแม่คอยเลี้ยงดู ลูกของปลวกที่ออกมาจะสามารถทำงานเลี้ยงรังได้ ในขณะที่ยังไม่โตเต็มที่
                        ปลวก ที่อยู่ในวงศ์สูง ๆ จะมีชีวิตความเป็นอยู่และการสร้างรัง สลับซับซ้อนมากขึ้น มีลักษณะที่เห็นเป็นจอมปลวก มีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่               ๑๘/ ๑๑๓๘๑
                ๓๓๙๙. ปล้อง - หญ้า  เป็นพืชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในน้ำริมป่า และที่ชื้นแฉะ มีลำต้นเลื้อยและมักจะมีรากงอกออกตามข้อ ลำต้นเป็นข้อมักจะอ้วน ภายในมีไส้ลักษณะเหมือนฟองน้ำสีขาว ค่อนข้างนุ่ม ใบยาว ราว ๔๐ ซม. กว้าง ๑ - ๓ ซม. โคนใบมักจะหุ้มอยู่รอบข้อ ช่อดอกสีเขียว ออกที่ปลายยอดเป็นแท่ง หรือเป็นช่อดอกย่อย แต่รวมกันแน่นช่อ ไม่แผ่กว้างไส้ในหญ้าปล้อง ใช้แทนไส้ตะเกียงได้         ๑๘/ ๑๑๓๘๕
                ๓๔๐๐. ปล้องฉนวน - งู  เป็นงูขนาดเล็ก ที่ไม่มีพิษชนิดหนึ่ง ขนาดลำตัวโตกว่าดินสอเล็กน้อย ยาวประมาณ ๓๐ - ๕๐ ซม. ไม่ดุร้าย ถ้าไม่ถูกทำร้ายจะไม่กัด ออกหากินเวลากลางคืน ส่วนใหญ่มักจะมีสีเป็นปล้องดำ หรือน้ำตาลสลับกับปล้องขาว         ๑๘/ ๑๑๓๘๕
                ๓๔๐๑. ปล้องอ้อย - ปลา  เป็นปลาขนาดเล็ก ยาวเพียง ๔.๕ - ๘ ซม. เป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่ง ตัวยาวมีลายดำสลับแดง พาดขวางตัว          ๑๘/ ๑๑๓๘๖
                ๓๔๐๒. ปลัง  เป็นไม้เลื้อย ยาว ๒ - ๑๐ เมตร มีอยู่สองพันธุ์คือ พันธุ์ลำต้นและก้านใบแดง กับพันธุ์ลำต้นและก้านใบเขียวอ่อน ใบออกสลับกัน ใบเป็นแบบรูปไข่กว้างๆ จนถึงใบยาวอวบน้ำ ก้านใบยาว ๑ - ๓ ซม. ช่อดอกรวมทั้งต้นยาว ๓ - ๒๕ ซม. ไม่แตกสาขา ช่อดอกมีลักษณะอ้วนสีแดง หรือสีเขียว ดอกออกติดกัน และเรียงอยู่บนก้านช่อ ผลกว้าง ๕ - ๑๐ มม. เมื่อสุกสีดำเป็นมัน นุ่ม เมื่อบีบจะมีน้ำสีม่วงแดงอยู่ภายในผล
                        ประโยชน์ของปลังคือ ใช้กินเป็นฝักสุก กินได้ทั้งส่วนยอดอ่อน ดอกอ่อน และใบ ต้นและใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวม         ๑๘/ ๑๑๓๘๗
                ๓๔๐๓. ปลัด ๑  เป็นตำแหน่งรองหัวหน้าหน่วยราชการ ระดับต่าง ๆ มาแต่โบราณ ดังปรากฎในกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยพระไอยการ ตำแหน่งนาพลเรือน พ.ศ.๑๙๑๙ ว่ามี ตำแหน่งปลัดทูลฉลอง ช่วยราชการอัครมหาเสนาบดี ปลัดบาญชี ปลัดวัง ปลัดเวรมหาดเล็ก ปลัดเวรขอเฝ้า ปลัดกอง ปลัดนายกอง ปลัดนั่งศาลหลวง ปลัดนั่งศาลราษฎร ปลัดจางวาง ปลัดปืน ปลัดเขน ปลัดแตร ปลัดร้อย (ช่วยนายร้อย) ปลัดทิพจักร ปลัดสิทธิสาร ปลัดพระครูพิเชด ปลัดพระครูพิราม และปลัดเมือง เป็นต้น
                        บางหน่วยราชการอาจมีปลัดซ้าย และปลัดขวา ปลัดทูลฉลอง ปลัดตรวจคุก และปลัดเรือ เป็นต้น           ๑๘/ ๑๑๓๘๗
                ๓๔๐๔. ปลัด ๒  เป็นตำแหน่งฐานานุกรมในคณะสงฆ์ มีบทนิยามว่า "ผู้ผลัด ผู้รอง ผู้แทน ผู้เคียง" ในที่นี้จะอธิบายในคำที่หมายเอาตำแหน่งฐานานุกรมในคณะสงฆ์
                        ฐานานุกรมปรากฎครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี อยู่วัดมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะคามวาสี ฝ่ายซ้าย มีฐานานุกรม สิบรูป
                        พระพุทธาจารย์ อยู่วัดโบสถ์ราชเดชะ เป็นเจ้าคณะกลางอรัญวาสี บังคับบัญชาพระสงฆ์ ฝ่ายสมถวิปัสสนา มีพระราชาคณะเป็นคณะขึ้น แต่ยังไม่มีฐานานุกรม เป็นผู้ช่วย
                        พระวันรัต อยู่วัดป่าแก้ว เป็นเจ้าคณะคามวาสี ฝ่ายขวา มีฐานานุกรม สิบเอ็ดรูป
                        การปกครองคณะสงฆ์ ตั้งมั่นลงตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีสองคณะคือ คณะคามวาสี และคณะอรัญวาสี สมัยอยุธยาการปกครองคณะสงฆ์ครั้งแรก ดำเนินการตามแบบแผนสมัยสุโขทัย เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์มากขึ้น ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงกันมาโดยลำดับ ตกมาถึงสมัยธนบุรี คณะสงฆ์คงเหมือนสมัยอยุธยา มาถึงสมัยรัตนโกสินทรตอนต้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ถึงรัชกาลที่ห้า ได้มีการวางหลักการคณะสงฆ์ทั้งการปกครอง การศึกษาเล่าเรียน แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นสี่คณะคือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง คณะธรรมยุติ และคณะสงฆ์อนัมนิกาย จีนนิกายที่เป็นฝ่ายเหนือ มีจำนวนมากขึ้น ตั้งพระสงฆ์ฝ่ายญวน เป็นอนัมนิกายเดิมขึ้น อยู่กับกรมท่าซ้าย ให้โอนมาขึ้นอยู่ในองค์สมเด็จพระสังฆราช ทรงตั้งพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายนั้น เป็นเจ้าคณะใหญ่ปกครองกัน พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ตามความเชื่อถือของตน พระราชทานสมณศักดิ์แก่เจ้าคณะใหญ่ มีราชทินนามเป็น พระครู ผู้ช่วยเป็น ปลัด ว่า อง เช่น องสุตบท เป็นต้น
                        พวกจีน ตั้งคณะเป็นจีนนิกาย ตั้งพระภิกษุสงฆ์จีนด้วยกันเป็นเจ้าคณะใหญ่ ปกครองควบคุมกันเอง พระราชทานสมณศักดิ์แก่เจ้าคณะใหญ่ มีราชทินนามเป็น หลวงจีน ว่า พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ผู้ช่วยการคณะเป็น ปลัด มีราชทินนาม  มีคำว่า หลวงจีน นำ เช่น หลวงจีนคณาณัติจีนพรต เป็นต้น เดิมขึ้นกรมท่าซ้าย บัดนี้ขึ้นอยู่ใน สมเด็จพระสังฆราช
                        ปลัด นับอยู่ในฐานานุกรมคือ ผู้ช่วยการคณะ ครั้งสมัยอยุธยาเจ้าคณะองค์หนึ่ง เฉพาะเจ้าคณะใหญ่องค์เดียวเท่านั้น ตั้งปลัดได้สามองค์คือ ปลัดสดำ ปลัดขาว ๑ ปลัดเฉวียง ปลัดซ้าย ๑ ปลัดกลาง ๑ สมัยรัตนโกสินทร เหลือสององค์  เป็นพระราชาคณะเฉพาะองค์ที่เป็นประมุข ปลัดขวาว่า มหาคณิสร ปลัดซ้ายว่า จุลคณิสร        ๑๘/ ๑๑๓๙๓
                ๓๔๐๕. ปลา  เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอาศัยอยู่ในน้ำ ปากมีขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง แต่มีบางพวกไม่มีขากรรไกรเลย มีการเคลื่อนไหวไปด้วยครีบ หรือกล้ามเนื้อลำตัว ร่างกายปกคลุมด้วยเกล็ด หรือแผ่นกระดูก หรืออาจไม่มีทั้งสองอย่าง แต่ส่วนมากมีเมือกหุ้ม ปลาที่มีเกล็ดมักจะมีเมือกคลุมผิวหนังน้อยกว่าพวกไม่มีเกล็ด
                        การหายใจ  ปลาหายใจด้วยเหงือก ยกเว้นปลาที่มีปอดซึ่งมีถุงลมเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่คล้ายปอด ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลาบางชนิดมีอวัยวะช่วยหายใจ ซึ่งช่วยให้ปลาเหล่านั้นอดทน ตายยากกว่าชนิดที่ไม่มีเครื่องช่วยหายใจเช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ในที่มีความชื้นเพียงเล็กน้อยได้ หัวใจของปลามีสองห้อง ยกเว้นปลาที่มีปอด ซึ่งจะมีผนังกั้นห้อง แบ่งเป็นซีกซ้ายและซีกขวา แต่ยังไม่สมบูรณ์ ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นเช่นเดียวกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติของเลือดในร่างกาย มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปได้ตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมภายนอก และปลาที่ว่ายน้ำเร็ว อุณหภูมิของเลือดในร่างกายก็มักจะสูงกว่าอุณหภูมิภายนอกเล็กน้อย
                        การสืบพันธุ์  ปลาส่วนใหญ่ใช้วิธีการวางไข่ในน้ำ และมีการผสมพันธุ์ภายนอกตัว หรือมีการผสมภายในเก็บไข่ไว้ฟักจนเจริญเป็นตัวภายในตัวแม่ แล้วจึงออกลูกเป็นตัวเลยก็มีเช่น ปลาฉลาม และปลากระเบน เป็นต้น ปลาบางจำพวกไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ แต่มักจะมีลูกเป็นตัวได้ เช่นปลาหางนกยูง และปลากินยุง แต่ปลาเหล่านั้นจะเป็นปลาที่ไม่สมบูรณ์ทางพันธุกรรม และไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
                        การแบ่งกลุ่มเป็นหมวดหมู่ของปลา  อาศัยลักษณะเด่น และส่วนของร่างกายที่แตกต่างกันเห็นได้ชัด การจัดแบ่งกลุ่มมีวิวัฒนาการเรื่อยมา และนำมาใช้ในสถาบันต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันไป        ๑๘/ ๑๑๔๐๐
                ๓๔๐๖. ปกลาจ่อม  เป็นเครื่องดองของเค็มที่ทำด้วยปลาสร้อย หรือปลาเบญจพรรณ ใช้ปรุงเป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้ม บริโภคกับผักสด ปรุงเครื่องด้วยขิง ตะไคร้ ต้นหอม และพริกซอย        ๑๘/ ๑๑๔๑๘
                ๓๔๐๗. ปลาเจ่า  เป็นอาหารหมักเค็มที่ทำโดยการหมักข้าวหมากกับปลา คำว่าเจ่าแปลว่าข้าวหมัก ถ้าผสมด้วยปลาเรียกว่าปลาเจ่า ถ้าผสมด้วยกุ้งเรียกว่ากุ้งเจ่า ใช้ปรุงเป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้ม โดยหลนกับกระทิ แต่งรสให้ครบสามรสคือ เปรี้ยว เค็ม และหวาน บริโภคกับผักสด        ๑๘/ ๑๑๔๑๘
                ๓๔๐๘. ปลาตะเพียน  เป็นเครื่องจักสานรูปปลาอย่างหนึ่ง ใช้เป็นเครื่องปลอบใจเด็ก ผู้ประดิษฐ์มักทำเป็นรูปปลาตัวโตเพียงตัวเดียว หรือมีลูกปลาห้อยเป็นบริวารตรงที่ปากใต้ท้องและที่หาง ถ้าเป็นขนาดย่อมก็มีลูกปลาห้อยน้อยหน่อย เมื่อทำเสร็จและผูกเชือกแล้วมักเอาสีแดง และสีเหลืองมาทา ตัวปลาทั้งหลายเหล่านั้นให้สวยงามขึ้น ปลาเหล่านี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายปลากระแหทอง หรือคล้ายปลาตะเพียนทอง
                        เครื่องจักสานชนิดนี้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องล่อใจเด็กให้หลับไป         ๑๘/ ๑๑๔๑๙
                ๓๔๐๙. ปลาแนม  เป็นชื่อของกินอย่างหนึ่งประกอบด้วยข้าวคั่ว เนื้อปลา หนังหมู มะนาว มะพร้าว กระเทียมดอง หอมแดง ผิวส้มซ่า เกลือ ข่า พริกไทย ผักชี ต้นหอม ใบชะพลู ใบทองหลาง ทราบว่าเกิดในสมัยรัชกาลที่สอง        ๑๘/ ๑๑๔๒๐
                ๓๔๑๐. ปลาปาก  อำเภอขึ้น จ.นครพนม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ป่าโปร่ง
                        อ.ปลาปาก แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ขึ้น อ.เมือง ฯ จ.นครพนม ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔  ๑๘/ ๑๑๔๒๑
                ๓๔๑๑. ปลาม้ำ  เป็นปลาหมักเค็มที่ชาวไทยคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกทำบริโภค ใช้ปลาช่อนและปลาชะโดเท่านั้น แต่ปลาม้ำแบบญวนกล่าวกันว่าใช้ปลาช่อน หรือปลาสวาย หรือเทโพก็ได้ ในประเทศกัมพูชามีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับปลาม้ำ ใช้ปลาช่อนทำ   ๑๘/ ๑๑๔๒๒
                ๓๔๑๒. ปลายพระยา อำเภอขึ้น จ.กระบี่ ภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่ราบประกอบไปด้วยภูเขาและเนินหลายลูก
                        อ.ปลายพระยา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐           ๑๘/ ๑๑๔๒๒
                ๓๔๑๓. ปลาร้า  เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ทำด้วยปลาหมักกับเกลือ ปลาที่ใช้มากคือปลากระดี่ และปลาสร้อย อาจใช้ปลาช่อนและปลาสลาดก็ได้ เมื่อจะนำมาบริโภคก็นำมาหลนเป็นเครื่องจิ้ม บริโภคกับผักสด หรือผักต้มก็ได้        ๑๘/ ๑๑๔๒๓
                ๓๔๑๔. ปลาโลมา  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลาเช่นเดียวกับปลาวาฬ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีบทนิยามว่า "ปลาทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง คติชาวบ้านเชื่อกันว่าช่วยคนเมื่อเรือแตก แต่ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นสัตว์ดูดนมชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในทะเล"
                        ลักษณะโดยทั่วไป ปลาโลมามีรูปร่างคล้ายปลา ลำตัวค่อนข้างยาว โดยรอบลำตัวกลมคล้ายลูกตอร์ปิโด จัดว่าเหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิตในน้ำ มีผิวหนังเรียบลื่น มีความว่องไว ว่ายน้ำได้เร็ว ส่วนหัวมีลักษณะแตกต่างกันเป็นสองแบบ พวกหนึ่งมีจงอยปากยาวเรียวแหลม มีฟันกลมปลายแหลม นิยมเรียกว่า โลมาหัวขวด หรือโลมาปากขวด อีกพวกหนึ่งมีจงอยปากสั้น หัวมักทู่กลม ฟันแบนนิยมเรียกว่า โลมาหัวบาตร ปลาโลมามีขาคู่หน้า ลักษณะเป็นพายแผ่เป็นแผ่นแบน ใช้ช่วยในการว่ายน้ำและพยุงตัว หางลักษณะเป็นสองแฉก แต่ออกตามแนวราบขนานกับผิวน้ำ
                        ปลาโลมานับเป็นสัตว์เลือดอุ่น ที่ให้ลูกครั้งละตัวเช่นเดียวกับปลาวาฬ ลูกอ่อนจะติดแม่อยู่นานถึงสามเดือน ปลาโลมามีนิสัยชอบอยู่เป็นฝูงในทะเลเปิด ชอบกินปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อาศัยอยู่ในทะเล และมหาสมุทรทั่วโลก แม้กระทั่งในแม่น้ำบางแห่งก็มีอยู่บางชนิด        ๑๘/ ๑๑๔๒๔
                ๓๔๑๕. ปลาวาฬ  จัดอยู่ในประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม อาศัยอยู่ในน้ำโดยตลอด มีบทนิยามว่า "สัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งอยู่ในทะเล"
                        ปลาวาฬ มีรูปร่างใหญ่โต และมีส่วนสัดผิดแยกแตกต่างกันไปแต่ละชนิด ลำตัวลื่น ไม่มีเกล็ด หางเล็กแผ่ราบในแนวนอน บางชนิดมีฟันแต่บางชนิดก็ไม่มี แต่แผ่นกระดูกอ่อน
                        ปลาวาฬ เลือดอุ่น เช่น สัตว์เลือดอุ่นเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย ให้ลูกครั้งละตัว ปลาวาฬมีปอดที่มีความยึดหยุ่นน้อยกว่าพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และมีโครงสร้างกระดูกอ่อน ช่วยค้ำพยุงอยู่ด้วยปอดนี้ มีทางติดต่อโดยตรงจากท่อพ้นอากาศออกจากปอดให้หมดเสียก่อน
                        สัตว์ในกลุ่มปลาวาฬและปลาโลมา ที่พบอยู่ในทะเลทั่วโลก ที่พบแล้วมีอยู่ประมาณ ๙๐ ชนิด แต่เฉพาะในน่านน้ำไทย และทะเลใกล้เคียงมีอยู่เพียง ๑๒ ชนิด        ๑๘/ ๑๑๔๒๗
                ๓๔๑๖. ปลาสเตอร์ - ปูน  มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว เมื่อผสมน้ำแล้วจะมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก ซึ่งจะแข็งตัวเมื่อทิ้งให้แห้ง ประโยชน์ของปูนชนิดนี้คือ ใช้ฉาบผนัง ทำแบบหล่อ ทำรูปหล่อ ใช้ในงานประติมากรรม และใช้ทำเฝือกในกรณีกระดูกหัก
                        ปูนปลาสเตอร์ทำจากแร่ยิปซัม เมื่อนำปูนปลาสเตอร์ไปใช้ประโยชน์จะต้องผสมน้ำลงไป ปูนปลาสเตอร์จะแปรสภาพไป มีลักษณะคล้ายแป้งเปียก จากนั้น จะแข็งตัวอย่างรวดเร็วเป็นของแข็ง    ๑๘/ ๑๑๔๓๐
                ๓๔๑๗. ปลาส้ม  เป็นอาหารหมักเค็มคล้ายปลาจ่อม แต่ไม่ใส่ข้าวคั่ว เวลาปรุงก็นึ่งหรือทอด แล้วซอยหัวหอม และพริกไรยข้างหน้า หรือบริโภคกับแจ่ว             ๑๘/ ๑๑๔๓๑
                ๓๔๑๘. ปลาหมึก  เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีขนาดใหญ่ ในทางชีววิทยาจัดไว้ในกลุ่มเดียวกับพวกหอย
                        ปลาหมึกมีรูปร่างกลมยาว หรือเป็นถุง แบ่งเป็นส่วนหัวและลำตัว ไม่มีเปลือกหุ้มภายนอก ส่วนหัวมีตาขนาดใหญ่ มีระยางค์รอบปาก ๔ - ๕ คู่ เรียกกันว่า หนวด บนหนวดมีปุ่มดูดเรียงเป็นแถว หนวดมีหน้าที่จับเหยื่อป้อนเข้าปาก และช่วยในการผสมพันธุ์ ภายในปากมีเขี้ยวสองอันคือ เขี้ยวบนกับเขี้ยวล่าง มีลักษณะคล้ายปากนกแก้ว นอกจากนี้มีฟันบด เป็นฟันเล็ก ๆ อยู่ติดกันเป็นแผง ที่ลำตัวมักจะมีครีบติดอยู่ด้านข้าง ตามตัวมีจุดสีซึ่งขยายให้ใหญ่ หรือเล็กได้ โดยการควบคุมของระบบประสาท ตามสภาพสิ่งแวดล้อม ภายในตัวมีโครงสร้างที่เป็นของแข็ง เรียกว่า กระดองหมึก มีลักษณะเป็นแผ่นสีขาวใส ส่วนในหมึกกระดอง มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งสีขาวขุ่น เรียกว่า ลิ้นทะเล
                        ระหว่างหัวกับลำตัว มีช่องให้น้ำเข้าสู่ภายในลำตัว มีท่อน้ำออกเรียกว่า ไซฟอน อยู่ทางด้านล่างของตัว ท่อนี้หันไปได้ตามทิศทางที่ต้องการ การขับน้ำออกจากช่องตัวอย่างแรง เป็นวิธีการที่ทำให้ตัวเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว ปลาหมึกหายใจโดยใช้เหงือก ที่อยู่ภายในลำตัวทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊ส ที่ละลายอยู่ในน้ำ ภายในตัวมีท่อทางเดินอาหารระบบขับถ่าย และระบบสืบพันธุ์ ที่ส่วนปลายสุดของท่อทางเดินอาหาร มีถุงน้ำมีสีดำติดอยู่เรียกว่า ถุงหมึก ซึ่งพร้อมที่จะพ่นออกทางท่อน้ำออก เมื่อถูกรบกวนหรือมีศัตรู
                        ปลาหมึก เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว และว่องไว จึงสามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหาร ในการสืบพันธุ์ปลาหมึกมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เจริญ มีเพศแยกเป็นเพศผู้และเพศเมีย เพศผู้จะใช้หนวดนำถุงเชื้อไปสอดในช่องตัวของเพศเมีย เมื่อไข่ได้รับการผสมแล้ว ตัวเมียก็จะนำสายไข่ไปติดตามพื้นทะเล หรือตามสาหร่าย ตัวอ่อนจะเจริญอยู่ภายในรังไข่ จนมีลักษณะเกือบสมบูรณ์ ก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมา ช่วงแรกจะดำรงสภาพเป็นแพลงตอน ล่องลอยอยู่ระยะต่อมาจะเริ่มจมตัวลงสู่ระดับลึก
                        ปลาหมึกมีหลายชนิด ในบริเวณน่านน้ำไทย พบว่ามี ๖ วงศ์  ๑๑ สกุล ๒๓ ชนิด        ๑๘/ ๑๑๔๓๑

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch