|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/87
เล่ม ๑๘ ประถมจินดา - ยิง ลำดับที่ ๓๓๔๑ - ๓๕๕๐ ๑๘/ ๑๑๑๖๙ - ๑๑๘๓๔
๓๓๔๑. ประถมจินดา เป็นชื่อพระคัมภีร์หรือตำราแพทย์แผนโบราณตอนหนึ่ง เป็นตอนต้นของตำราการแพทย์แผนโบราณฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีทั้งสิ้น ๒๐ คัมภีร์ คัมภีร์นี้มีหลายบทประกอบด้วยเนื้อเรื่องที่สำคัญ ซึ่งกล่าวตั้งแต่กำเนิดของโลก ต้นเหตุที่มีมนุษย์เกิดมาในโลก กำเนิดของเด็กในครรภ์มารดาไปจนถึงเด็กโต ๑๘/ ๑๑๑๖๙
๓๓๔๒. ประถมศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน และให้สามารถคงสภาพอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้ มีความสามารถประกอบอาชีพตามควรแก่วัยและความสามารถได้ และสามารถดำรงตนเป็นพลเมืองดี การจัดสถานศึกษาระดับประถมศึกษาจัดเป็นตอนเดียวตลอด ใช้เวลาเรียนประมาณหกปี เป็นการศึกษาภาคบังคับ การกำหนดอายุเข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับท้องถิ่น แต่ละแห่งจะกำหนดขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของท้องถิ่น แต่ต้องไม่บังคับเข้าเรียนก่อนอายุยครบหกปีบริบูรณ์ และไม่ช้ากว่าอายุครบแปดปีบริบูรณ์
ตาม พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.๒๕๒๑ กำหนดไว้ว่าเด็กทุกคนที่มีอายุย่างเข้าปีที่แปด ต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าปีที่สิบห้า เว้นแต่ผู้สอบได้ชั้นประถมศึกษาปีที่หก
ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ประเทศไทยมีโรงเรียนประถมศึกษาทั้งสิ้น ๓๓,๒๑๒ โรง ครู ๓๓๒,๗๗๐ คน และนักเรียน ๗,๓๐๒,๔๙๔ คน ๑๘/ ๑๑๑๖๙
๓๓๔๓. ประทวนสินค้า เป็นเอกสารสิทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งนายคลังสินค้าออกให้เป็นหลักฐานแก่ผู้ฝากสินค้า คู่กับใบรับของสินค้า เอกสารสองฉบับนี่คล้ายกับเป็นคู่ฉบับกัน เพราะมีรายการอย่างเดียวกัน
ประทวนสินค้านี้เข้าใจว่า มีมาแต่โบราณพร้อมกับการฝากสินค้า และการจำนำ ไม่ปรากฎแน่ชัดว่ามีมาแต่สมัยใด เป็นหลักกฎหมายต่างประเทศ ที่ไทยนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บรรพ ๓ ตั้งแต่มาตรา ๗๗๕ - ๗๙๖ ตามกฎหมายเก่าที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงจัดพิมพ์ขึ้น ๑๘/ ๑๑๑๗๗
๓๓๔๔. ประทักษิณ ตามรูปคำแปลว่าเบื้องขวา การเวียนขวา ตามความหมายหมายถึง กิริยาให้เบื้องขวาแก่บุคคล หรือวัตถุที่เคารพเช่น เดินเวียนเทียน เป็นประทักษิณสามรอบ เป็นการแสดงความเคารพต่อวัตถุ หรือบุคคลนั้น ๆ
การเวียนขวาเกี่ยวกับมงคลคู่กับการเวียนซ้ายที่เกี่ยวกับอวมงคล การเวียนขวาและเวียนซ้าย เป็นประเพณีที่มีอยู่ในลัทธิพิธีของศาสนาต่าง ๆ แทบทุกชาติ
การเวียนขวามีนัยมาจากวิถีโคจรประจำวันของดวงอาทิตย์ ที่ขึ้นทางทิศตะวันออก แล้ววกไปทางใต้ และตกทางทิศตะวันตก ๑๘/ ๑๑๑๘๔
๓๓๔๕. ประทัด ๑ มีบทนิยามว่า "เครื่องดอกไม้ไฟของจีน ทำด้วยกระดาษห่อด้วยดินปืน มีชนวนสำหรับจุด" ๑๘/ ๑๑๑๘๘
๓๓๔๖. ประทัด ๒ เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สองชนิดคือ ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ประทัดใหญ่" เป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ใบเป็นใบประกอบและก้านใบแผ่ออกเป็นปีก ดอกออกเป็นช่อสีแดง กลีบดอกแยกจากกัน เป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ เป็นพืชสมุนไพร เนื้อไม้เป็นยาแก้ไข้ ใบใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้ มีชื่อเรียกได้อีกว่า ประทัดจีน และประทัดทอง
อีกชนิดหนึ่งคือ ประทัดฝรั่ง หรือประทัดเล็ก เป็นไม้พุ่ม ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบลดรูปลงมีชนาดเล็ก ๆ อยู่ตามกิ่ง ดอกออกเป็นช่อสีแดงอมแสด หรือส้ม กลีบดอกติดกัน เป็นท่อยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นกลีบเล็ก ๆ ห้ากลีบ เป็นพันธุ์ไม้นำเข้าจากต่างประเทศ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ยังมีประทัดอีกชนิดหนึ่ง ปลูกเป็นไม้ประดับคือ ประทัดไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ป่าจำพวกกาฝากบางชนิดเรียกว่า ประทัดดอย และประทัดเหลือง ๑๘/ ๑๑๑๙๐
๓๓๔๗. ประทาย อำเภอขึ้น จ.นครรารชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบ
อ.ประทาย แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ขึ้น อ.บัวใหญ่ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ๑๘/ ๑๑๑๙๔
๓๓๔๘. ประทีป มีบทนิยามว่า "ตะเกียง, โคมไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง, ไฟเทียน เป็นต้น)"
เครื่องตามไฟที่เรียกว่า เครื่องประทีปมีมาแต่โบราณ ในสมัยพุทธกาลในบุพกรณ์ของอุโบสถ ถ้าค่ำให้ตามไฟ เมื่อไม่ทำปรับอาบัติทุกกฎแก่พระผู้มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
เครื่องประทีปประเภทเทียน เป็นที่นิยมใช้จุดเป็นเครื่องบูชาในลัทธิศาสนาต่าง ๆ แทบทั้งนั้น สืบเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ ต่อมาเมื่อรู้จักใช้โคม ใช้ตะเกียงแล้วก็ยังใช้จุดเทียนอยู่ ๑๘/ ๑๑๑๙๕
๓๓๔๙. ประเทศ หมายถึง บ้านเมืองแว่นแคว้น เช่น ในสมัยโบราณมีมคธประเทศ (แคว้นใหญ่ในอินเดีย ครั้งพุทธกาล บัดนี้คือรัฐพิหาร) อุตตรประเทศ (รัฐทางเหนือของอินเดียปัจจุบัน)
ในความหมายทางรัฐศาสตร์ คำว่าประเทศ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่ารัฐ และคำว่าชาติ แต่มีความหมายแตกต่างกัน ในเรื่องการเน้นหนักของความหมาย
รัฐ เป็นคำที่เน้นสภาวะทางการเมืองคือ ความเป็นอธิปไตย ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจสูงสุดในอาณาบริเวณแห่งหนึ่ง หรือในจำนวนประชากรจำนวนหนึ่ง
ชาติ เป็นคำที่เน้นสภาพทางวัฒนธรรมของประชากร หรือบ่งให้เห็นถึงเชื้อชาติคือ รูปร่างหน้าตาของผู้คนใบบริเวณนั้น ส่วนคำว่าประเทศนั้น มักจะใช้เน้นถึงสภาวะทางภูมิศาสตร์ สภาพดินฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การมีแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ ผืนแผ่นดินที่ประเทศนั้นตั้งอยู่ ๑๘/ ๑๑๒๐๐
๓๓๕๐. ประเทศราช หมายถึง บ้านเมืองที่สังกัดประเทศอื่น ในการจัดระเบียบการปกครองของไทยสมัยโบราณ มีการจัดระเบียบการปกครอง โดยแบ่งออกเป็นหัวเมืองในวงราชธานี หัวเมืองพระยามหานครและหัวเมืองประเทศราช
สำหรับหัวเมืองประเทศราชนั้น เป็นหัวเมืองซึ่งอยู่ภายนอกเมือง พระยามหานคร มีผู้ปกครองหัวเมืองประเทศราชนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองตามขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนาของหัวเมืองนั้น ๆ แต่มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของพระมหากษัตริย์ไทย โดยทั่วไปหน้าที่หลักของหัวเมืองประเทศราชก็คือ การเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเจ้าเมือง ให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้ง กับการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการทุกสามปี และหัวเมืองเหล่านี้จะต้องเกณฑ์กำลังคนเข้าร่วมกองทัพหลวงด้วย
หัวเมืองประเทศราชสมัยอยุธยา มีหลายหัวเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงแสน เชียงรุ้ง เชียงราย แพร่ น่าน ยะโฮร์ มะละกา และรัฐมลายูอื่น ๆ รวมทั้งกัมพูชาเป็นต้น
ส่วนหัวเมืองประเทศราชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหลายแห่งที่สำคัญก็มีเชียงใหม่ (รวมทั้งลานนาทั้งปวง และดินแดนแถบเหนือลานา เช่น เชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองสาด เมืองยอง เป็นต้น) ลานช้าง (ประกอบด้วย เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ จัมปาศักดิ์ อุบลราชธานี ศรีวไล ประเทศ สุวัณณภูมิ ราชบุรี) เขมรส่วนนอกและเขมรส่วนใน (ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และมงคลบุรี เป็นต้น) และหัวเมืองในแหลมมลายู ได้แก่ ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเประ เป็นต้น ๑๘/ ๑๑๒๐๒
๓๓๕๑. ประธาน ตามรูปคำแปลว่า ตั้งไว้ หรือประคองไว้ ตามความหมายเป็นชื่อของความเพียรอย่างหนึ่ง คือ ความเพียรความพยายาม ที่เป็นเหตุตั้งไว้ในใจ ประคองใจไว้ให้ยิ่งขึ้น คือ พยุงใจไว้ในการประกอบกิจไม่ให้ย่อท้อ เมื่อตั้งไว้เพื่อพยุงใจในกิจการใด ๆ ย่อมทำกิจการนั้น ๆ ให้แรงขึ้นทั้งข้างดีข้างเสีย จึงกล่าวได้ว่า ประธานเป็นคำกลาง ๆ ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีเรียกว่า สัมมัปประธาน แปลว่า ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดเรียกว่า มิจฉาประธาน แปลว่า ความเพียรที่ตั้งไว้ผิด
ในทางพระพุทธศาสนา หมายความถึง ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบมีสี่ประการ เรียกว่า สัมมัปประธานสี่ คือ
๑. สังวรประธาน ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อสำรวมระวัง หรือปิดกั้นยับยั้งความชั่ว (บาป อกุศล) ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานประธาน ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อละ หรือกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้น ไม่ให้คงอยู่ในจิตต่อไป
๓. ภาวนาประธาน ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อภาวนา หรือเจริญ คือ ทำให้เกิดให้มี ให้เป็น หมายถึง ทำบุญกุศลหรือส่วนดี ชอบที่ยังไม่เกิด ไม่มี ไม่เป็น ให้เกิด ให้มี ให้เป็นขึ้นในสันดาน
๔. อนรักขนาประธาน ความเพียรที่ตั้งไว้เพื่อความรักษา หมายถึง รักษาความดี หรือบุญกุศล ที่ที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วนั้น ให้ไพบูลย์ไม่ให้เสื่อมลงไป
ในหมวดธรรม ประธานสี่นี้ จัดอยู่ในลำดับที่สองแห่ง โพธิปักขิยธรรม ศีลธรรมที่เป็นไปในฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ๓๗ ประการ ๑๘/ ๑๑๒๐๔
๓๓๕๒. ประธานาธิบดี มีบทนิยามว่า "หัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองแบบสาธารณรัฐ, ประมุขแห่งสาธารณรัฐ"
การปกครองระบบมีประธานาธิบดี เป็นลักษณะของการปกครองระบบอเมริกันโดยทั่วไป ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีระบบปกครองหลายประเทศ ซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายบริหารที่เรียกว่า ประธานาธิบดี ก็ตาม แต่เป็นการนำรูปแบบของระบบประธานาธิบดีอเมริกัน ไปใช้โดยมิได้นำแนวความคิด หรือปรัชญาพื้นฐานที่ควบคู่ไปใช้ด้วย
ระบบการปกครองของยุโรป ซึ่งใกล้เคียงกับระบบประธานาธิบดีอเมริกันที่สุดได้แก่ ระบบประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานาธิบดีเดอโกลล์ แก้ไขขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕
ในเอเซีย ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ปกครองตามระบบประธานาธิบดี ตั้งแต่ได้เป็นประเทศเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
สำหรับระบบรัฐสภา มีอยู่หลายประเทศที่ประธานาธิบดีเป็นประมุขสาธารณรัฐ ตามปรกติประธานาธิบดีไม่มีอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ แต่ทั้งนี้แล้วแต่รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐได้บัญญัติไว้
ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐตามระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเป็น หัวหน้าคณะบริหาร ๑๘/ ๑๑๒๐๕
๓๓๕๓. ประนอมหนี้ เป็นวิธีการออมชอมระหว่างเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ในคดีล้มละลาย คล้ายกับประนีประนอมยอมความในทางแพ่งทั่ว ๆ ไป
การประนอมหนี้ ในคดีล้มละลายนี้เป็นวิธีการตามกฎหมายของนานาอารยประเทศ ซึ่งไทยเพิ่งนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย เริ่มแต่ฉบับ รศ.๑๓๐ เป็นต้นมา
การประนอมหนี้ ทำได้ทั้งก่อนและหลังที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ถ้าทำก่อนลูกหนี้นั้นก็จะไม่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ลูกหนี้นั้น ก็จะไม่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย และถ้าได้กระทำเมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ ล้มละลายแล้ว ทำให้ลูกหนี้พ้นจากการเป็นผู้ล้มละลายไป
การประนอมหนี้ เป็นวิธีการที่ช่วยลูกหนี้ผู้สุจริตให้พ้นจากการเป็นผู้ล้มละลายได้ทางหนึ่ง ๑๘/ ๑๑๒๐๘
๓๓๕๔. ประนีประนอมยอมความ ตามรูปคำเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างสงสารเห็นอกเห็นใจกัน ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้แก่กัน ตามกฎหมายเป็นสัญญาระงับข้อพิพาท ระหว่างคู่กรณีสองฝ่ายให้เสร็จสิ้นไป
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คงอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรม กล่าวคือ ถือเอาเจตนาของคู่กรณีที่แสดงออก ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่จะปฎิบัติได้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ๑๘/ ๑๑๒๑๒
๓๓๕๕. ประปา มีบทนิยามว่า "การจำหน่ายน้ำให้คนทั่วไป"
ประวัติของกิจการประปาในประเทศไทย บันทึกมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อย่างไรก็ตามการกำเนิดของคำว่า "ประปา" มีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ๑๘/ ๑๑๒๑๔
๓๓๕๖. ประเพณี คือ สิ่งที่ถือสืบ ๆ กันมาจนเป็นนิสัย เรียกว่า นิสัยสังคม คือ ความประพฤติของสังคมที่กระทำซ้ำ ๆ อยู่บ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน
ประเพณี ถ้าแบ่งตามหลักที่มีอยู่โดยปริยายในวิชามนุษยวิทยา แบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียม และธรรมเนียมประเพณี
จารีตประเพณี เป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งคนในสังคมถือว่า เป็นสิ่งมีค่าแก่ส่วนรวม ถ้าใครฝ่าฝืนหรืองดเว้น ก็ถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว
ขนบธรรมเนียม คือ ประเพณีที่วางเป็นระเบียบแบบแผนไว้โดยตรง หรือโดยปริยาย ขนบ แปลว่า ระเบียบแบบแผน บางทีก็เรียกว่า ระเบียบประเพณี ซึ่งเป็นคำเกิดใหม่
ธรรมเนียมประเพณี คือ ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่มีผิดมีถูก เหมือนจารีตประเพณี ไม่มีระเบียบแบบแผน เหมือนขนบประเพณี ๑๘/ ๑๑๒๑๘
๓๓๕๗. ประภาคาร คือ หอคอยหรือสิ่งก่อสร้างที่สูงเด่น มองเห็นได้ไกล มีไฟสัญญาณ ที่มีความสว่างมากติดตั้งอยู่บนยอด เพื่อเป็นที่หมายนำทางให้กับชาวเรือ ไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง โดยทั่วไปจะก่อสร้างขึ้นที่ปากทางเข้าท่าเรือ อ่าว หรือแม่น้ำ ที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเดินเรือ หรือก่อสร้างตามตำบล ที่จะเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ เช่น ที่ตื้น หินใต้น้ำ ร่องน้ำ ปรกติจะมีคนเฝ้า ส่วนตำบลที่มีความสำคัญน้อยก็สร้างกระโจมไฟ ซึ่งไม่ต้องมีคนเฝ้า แต่ใช้เครื่องอัตโนมัติควบคุมการส่งไฟสัญญาณ ให้เปิดในเวลากลางคืน และดับในเวลากลางวัน ส่วนในตำบลที่ไม่สะดวกในการสร้างประภาคาร ก็ใช้ทุ่นไฟไปวางไว้ ณ จุดนั้นแทน
ประภาคาร หรือกระโจมไฟ ได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในโลก เมื่อประมาณ ๕๐ ปี ก่อน พ.ศ. - พ.ศ.๕๐ ในทะเลเมดิเตอเรเนียน ชาติที่มีการเดินเรือติดต่อค้าขายกันในสมัยนั้นก็มี กรีก ฟินิเซีย อิยิปต์ และเปอร์เซีย เป็นต้น ตามประวัติประภาคารแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่บนเกาะฟารอส หน้าเมืองอะเล็กซานเดรีย ในอิยิปต์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๖๐ ตัวประภาคารสูง ๘๕ เมตร ใช้แสงสว่างจากไฟเผาไม้ มีแผ่นโลหะขอบสะท้อนแสง ทำให้เห็นได้ไกล ๕๖ กม.
ประภาคาร ได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้กำหนดสัญญาณไฟเป็นวับวาบ สลับกันตามความประสงค์ นอกจากนี้ยังได้ใช้สีของไฟสัญญาณ เพื่อกำหนดความแตกต่างของประภาคารแต่ละแห่งอีกด้วย
ในสมัยปัจจุบัน ประภาคารนอกจากจะเป็นที่ส่งสัญญาณไฟ เพื่อเป็นที่หมายให้ชาวเรือแล้ว ยังมีสัญญาณอย่างอื่นเช่น สัญญาณหมอก ซึ่งจะส่งเป็นเสียงหวูด ไซเรน หรือระฆัง ในเวลาที่มีหมอกโดยอัตโนมัติ และมีสัญญาณวิทยุ เพื่อให้ชาวเรือหาทิศทางที่ตั้งของประภาคารจากสัญญาณ ที่ส่งออกไปนั้นเพื่อนำไปกำหนดตำบลที่อยู่ของเรือ ในทะเลได้
ประภาคารในประเทศไทย สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา คนทั่วไปเรียกว่า กระโจมไฟสันดอน กระโจมไฟนี้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๒ จึงเลิกใช้ ต่อมาได้มีการสร้างประภาคารและกระโจมไฟขึ้นอีกทั่วอ่าวไทย และทางฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย ๑๘/ ๑๑๒๒๗
๓๓๕๘. ประภามณฑล มีบทนิยามว่า "รัศมีพวยพุ่งขึ้นจากศีรษะของผู้ศักดิ์สิทธิ์ และพระพุทธรูป" ประภามณฑลนั้น ทำเป็นรูปอย่างวงพระจันทร์ เป็นสินเทาคือ กรอบรูปอย่างเรือนแก้วในรูปเจว็ดก็มี ทำเป็นรูปต่อม หรือรูปคล้ายบัวตูมไว้เหนือพระเกตุมาลาก็มี ทำเป็นวงเกลี้ยงกลมคล้ายลูกสะบ้า และใบปรือ ไว้หน้าพระเกตุมาลาก็มี
มูลเหตุที่ทำให้รัศมีพระเจ้า หรือเทวดา และพระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่า "ประภามณฑล" นี้ เนื่องมาจากเค้าเรื่องในตำนานพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวว่าเทวดา ก็ดี พระพุทธเจ้า ก็ดี เป็นผู้มีรัศมีพวยพุ่ง เป็นแสงสว่างอันรุ่งเรืองออกมารอบตัวเป็น วงกลม ๑๘/ ๑๑๐๓๑
๓๓๕๙. ประมง มีบทนิยามว่า "คนจับปลา ,คนเลี้ยงชีพในทางหาปลา, การจับปลา, ประมง ก็ใช้ ดำน้ำหาปลา"
ปัจจุบันความหมายของคำว่าประมงนั้นกว้างขวางไปกว่าเดิมมาก โดยหมายคลุมไปถึงการจับ การเลี้ยง ตลอดจนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกมาก และทั้งยังรวมถึงพืชน้ำ พวกสาหร่ายที่ยังประโยชน์ให้แก่มนุษย์ ในด้านเป็นอาหาร หรือมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และในด้านอื่น ๆ เช่น การทำนากุ้ง อุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุก การเลี้ยงหอยนางรม การเลี้ยงและอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทะเล เรื่องประมงก็จึงได้ครอบคลุมไปในทุกสาขา ของผลิตผลจากแหล่งน้ำ ๑๘/ ๑๑๒๓๔
๓๓๖๐. ประยงค์ เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นสูงประมาณ ๒ เมตร ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนก ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบสีเหลือง กลิ่นหอม ดอกย่อยเป็นตุ่มกลมเล็ก ๆ คล้ายไข่ปลาดหุก แต่ขนาดโตกว่าเล็กน้อย
ประยงค์ เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม ส่งกลิ่นไปไกล จึงมีผู้เรียกว่า หอมไกล ๑๘/ ๑๑๒๓๕
๓๓๖๑. ประยูรวงศาวาส - วัด เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่แขวงบ้านสมเด็จ กึ่งเขตบุปผาราม - ฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ สร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า วัดประยูรวงศาวาส แต่ชาวบ้านบางส่วนเรียกว่า วัดรั้วเหล็ก ๑๘/ ๑๑๒๓๕
๓๓๖๒. ประลองยุทธ - การ คือ การฝึกทางยุทธวิธีแบบหนึ่งของหน่วยทหารขนาดใหญ่ ตั้งแต่กองพลทหารบก กองพลเรือ และกองพลบิน ขึ้นไปซึ่งอาจกระทำโดยเหล่าทัพใด เหล่าทัพหนึ่งหรือรวมกันระหว่างเหล่าทัพก็ได้
ประวัติศาสตร์ทหารกล่าวว่า พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชแห่งประเทศปรุสเซีย ทรงเป็นผู้ริเริ่มนำการประลองยุทธ มาใช้ในการทดสอบสมรรถภาพในการรบ ของหน่วยทหารขนาดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๖ ต่อมาหลังสงครามนโปเลียนแล้ว ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงได้นำเอาวิธีการทดสอบความสามารถของกองทัพไปดัดแปลงใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๓ เป็นต้นมา ส่วนประเทศไทยเข้าใจว่า เริ่มมีการประลองยุทธ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ แต่เป็นการประลองยุทธขนาดเล็ก ๆ สำหรับการประลองยุทธขนาดใหญ่ มีกำลังทหารเป็นกองพล เริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ เป็นต้นมา ๑๘/ ๑๑๒๓๙
๓๓๖๓. ประลัย คือ ความมืดมน อนธกาล และความแตกสลายของโลก ทุกโลก เรียกเต็มว่า มหาประลัย ว่าเกิดจากเวลาคืนหนึ่งของพระพรหม ซึ่งเป็นเวลาที่พระพรหมเข้าบรรทม ครั้นรุ่งเช้าพระพรหมตื่นบรรทม ชีวิตและแสงสว่าง ก็กลับคืนสภาพตามเดิม คืนหนึ่งของพระพรหมว่า มีระยะเวลาเท่ากับ กัปหนึ่ง และกัปหนึ่ง นั้น ก็คือ วัน (กลางวัน) หนึ่งของพระพรหมนั่นเอง คิดเป็นปีมนุษย์เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปี โลกทุกโลกจะแตกสลาย บรรดาเทวดา ยักษ์ มนุษย์ จะตายหมด ประมหาประลัยนั้น ว่ามีระยะได้ ๑๐๐ ปีสวรรค์
คติในลัทธิพราหมณ์ กัปหนึ่ง แบ่งออกเป็น ๑,๐๐๐ มหายุค มีระยะเท่า ๆ กัน พระพรหมมีอายุได้ ๑๐๐ ปีสวรรค์ จึงถึงอายุขัย แล้วเกิดพระพรหมขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง
คติทางพระพุทธศาสนาว่า กัป มีสามลักษณะคือ มหากัป อสงไขยกัป และอันตรกัป ๑๘/ ๑๑๒๔๔
๓๓๖๔. ประเลง เป็นชื่อระบำชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้ในการเบิกโรงละครไทย ระบำชุดนี้ นิยมเล่นกันมากในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเกือบจะหาดูไม่ได้แล้ว
ระบำชุด ประเลง ใช้ในการเบิกโรงละคร โดยสมมติให้ผู้รำเป็นเทวดา ลงมาปัดรังควาน ปรกติระบำชุดนี้ใช้ตัวแสงสองคน เรียกว่า ระบำคู่ การแสดงระบำเบิกโรงชุดนี้ ไม่มีการขับร้องประกอบ ควมีแต่เพลงดนตรีที่เรียกว่า เพลงหน้าพาทย์ บรรเลงประกอบท่ารำไป หน้าพาทย์ที่บรรเลงก็ล้วนแต่เป็นเพลงที่ประกอบอากัปกิริยาไปมาของเทวดา เช่น เพลง "กลม" และโคมเวียน
สมัยนี้ การแสดงเบิกโรง ชักหมดไป แต่หันไปใช้วิธีไหว้ครู และบวงสรวงแทน ๑๘/ ๑๑๒๔๖
๓๓๖๕. ประวัติศาสตร์ อาจเรียกได้ว่า เป็นวิชาครอบจักรวาล เพราะไม่ว่าจะเรียนวิชาอะไรก็ต้องเรียนประวัติ (ของวิชานั้น) ก่อน
ประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่น มหาวิทยาลัยเคมเบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ แบ่งออกเป็นประวัติศาสตร์ยุคโบราณ ประวัติศาสตร์ยุคกลาง และประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีประวัติศาสตร์ศาสนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ความสำคัญระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์จักรภพอังกฤษ ส่วนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ยังมีประวัติศาสตร์สาขาอื่น ๆ อีก เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ปรัชญา ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์สงคราม เป็นต้น ในสหรัฐอเมริกานิยมเปิดสอนประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ หรือภูมิภาคสำคัญอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ประวัติศาสตร์แต่เดิมเรียกกันว่า พงศาวดาร มีคำนิยามว่าเป็น "เรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับประเทศชาติ หรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศชาตินั้น" เช่น พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พงศาวดารรัชกาลที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ประกอบด้วยหลักฐาน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
๑. หลักฐานปฐมภูมิ ได้แก่ วัสดุโบราณที่เหลือตกค้างมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เช่น ฟอสซิล โบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งต้องศึกษาย้อนหลังขึ้นไปนับเป็นเวลาพัน ๆ ปี ขึ้นไป จารึกต่าง ๆ พระราชพงศาวดาร พงศาวดารไทย พงศาวดารชาติต่าง ๆ คำให้การ จดหมายเหตุโหร ตลอดจนจดหมายของชาวไทย และชาวต่างประเทศ ตำนาน และนิยายพื้นเมือง สนธิสัญญาและเอกสารทางการทูต ฯลฯ
๒. หลักฐานทุติยภูมิ ได้แก่ หนังสือซึ่งเรียบเรียงโดยผู้แต่งเป็นคนไทย หรือชาวต่างประเทศ
ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ หรือแต่ละชาติ ย่อมมีแตกต่างไปตามกาลสมัย
ประวัติศาสตร์ไทย สมควรมีความมุ่งหมายเน้นความสำคัญของคำขวัญว่า "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์"
ชาติไทยเป็นชาติเก่าแก่แต่โบราณกาล นับตั้งแต่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เมื่อ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว แล้วเคลื่อนลงมาทางทิศใต้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ต่อมาก็ตั้งอาณาจักรเชียงแสน ลานนา สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
พุทธศาสนา เป็นหลักชัยของชาวไทย สืบต่อมาตั้งแต่พระเจ้าอโศก ได้แต่งตั้ง พระโสณะ และพระอุตตระ มาประดิษฐานในแคว้นสุวรรณภูมิ อันเป็นประเทศไทยปัจจุบัน เป็นที่นับถือและฝังรากลึกในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ จนถึงทุกวันนี้
พระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจหลายสิ่งหลายอย่าง ไว้ได้อย่างมั่นคง
เกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์น่าจะเป็นทั้งอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่รุดหน้าอยู่เสมอ
ประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง มีการบรรจุวิชานี้ลงในหลักสูตร และทำการสอน ในโรงเรียนประถมและมัธยม ตลอดจนถึงวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นปริญญาตรี โท และเอก ๑๘/ ๑๑๒๔๘
๓๓๖๖. ประสะ - ยา เป็นยาแผนโบราณจำพวกหนึ่ง ยำตำรับใดที่เรียกว่า ยาประสะ หมายความว่า ยาตำรับนั้น เป็นยาที่เข้าตัวยาอื่น ๆ รวมกัน เช่น ยาประสะไพล หมายความว่า ยาตำรับนี้มีไพล เป็นตัยยาที่มีขนาดมกา ตามความใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.๒๕๑๐ ระบุว่า มียาแผนโบราณจำพวกนี้อยู่ห้าขนานคือ ยาประสะกะเพรา ยาประสะมะแว้ง ยาประสะจันทน์แดง ยาประสะไพล และยาประสะกานพลู เป็นยาสามัญประจำบ้าน ๑๘/ ๑๑๒๖๑
๓๓๖๗. ประสาท ๑ - เส้น เป็นแขนงของเซลล์ประสาท ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า นิวโรน เส้นประสาทส่งข่าวโดยกลไกลทางไฟฟ้า โดยที่เส้นประสาทสามารถสร้างไฟฟ้าขึ้นได้ โดยอาศัยสารเคมี
ประสาททำงานโดยทำให้เกิดพลังประสาท ซึ่งเป็นไฟฟ้าขึ้นแล้วแผ่ออกไปพลังประสาท จึงเป็นรหัสข่าวสาร ซึ่งเปรียบได้กับการส่งรหัสโทรเลขนั่นเอง หากแต่มีวิธีการและรายละเอียดแตกต่างออกไป พลังประสาทส่งออกไปในรูปศักย์ไฟฟ้า
ตามปรกติ เซลล์ประสาทมีแขนงที่ยื่นออกไปจากตัว เซลล์มีอยู่สองชนิดคือ เด็นไดรต์ และแอกซอน เด็นไดรต์ ทำหน้าที่นำข่าวสารจากภายนอกเข้าไปในตัวเซลล์ประสาท ส่วนแอกซอน ทำหน้าที่นำข่าวสารจากตัวเซลล์ประสาท ไปสู่ภายนอก ๑๘/ ๑๑๒๖๓
๓๓๖๘. ประสาท ๒ - ระบบ ระบบประสาทในร่างกายเป็นระบบใหญ่ ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากมาย นับเป็นหมื่นล้านตัว การทำงานมีความสลับซับซ้อนมาก จึงได้มีการแบ่งชนิดของระบบประสาท ออกเป็นหลายอย่างคือ
๑. แบ่งออกเป็นสองระบบ ซึ่งมีการทำงานไม่ขึ้นแก่กันคือ
ก. ระบบประสาทกาย เป็นระบบประสาที่ทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของร่างกาย กับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การรับความรู้สึก และการควบคุม การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของระบบประสาทนี้ มีส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจจิตใจ มีจุดประสานอยู่ภายในระบบประสาทกลาง
ข. ระบบประสาทอัตบาล แบ่งออกเป็นสองระบบย่อยคือ
๑) ระบบประสาทซิมพาเทติก รับหน้าที่เป็นผู้ใช้พลังงาน เป็นประสาทของการทำงาน เช่น การทำงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ในการต่อสู้ศัตรู เป็นต้น
๒) ระบบประสาทฟาราซินพาเทติก ทำหน้าที่ควบคุมและสะสมพลังงาน เป็นประสาทของการพักผ่อน รวมทั้งการซ่อมแซม และสร้างพลังงาน
๒. ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ ระบบประสาทอาจแบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ
ก. ระบบประสาทรอบนอก ประกอบด้วยเส้นประสาท ซึ่งเป็นแขนงของเซลล์ประสาท
ข. ระบบประสาทกลาง คือ ส่วนที่เป็นสมอง และไขสันหลัง ประกอบด้วยเซลล์ประสาทเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเส้นประสาท ที่เชื่อมโยงเซลล์ประสาทด้วย
๓. ระบบประสาท ยังแบ่งออกเป็นสามพวก ตามลักษณะการทำงานคือ
ก. ระบบรับสัมผัส งานส่วนใหญ่ได้มาจากประสบการณ์ของการสัมผัส จากการที่เครื่องรับถูกกระตุ้น ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องรับที่อาศัยการเห็น การได้ยิน การสัมผัส หรือเครื่องรับอื่น ๆ อาจทำให้มีปฎิกิริยาโต้ตอบออกมาโดยทันที หรือจะเก็บเป็นความจำไว้ เพื่อจะนำมาใช้ช่วยเหลือปฎิกิริยาตอบโต้ของร่างกายในอนาคต
ข. ระบบทางด้านยนต์ มีขอบเขตทำงานที่กว้างขวางคือ ต้องควบคุมการทำงานของอวัยวะหลายพวก
๑) การทำงานของกล้ามเนื้อสายทั่วร่างกาย
๒) การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายใน
๓) การคัดหลั่งของต่อมต่าง ๆ ในร่างกาย
อวัยวะต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นอวัยวะแสดงผล
ค. ระบบทางด้านจิตใจ ส่วนใหญ่อาศัยการทำงานของสมองใหญ่ มีหน้าที่สลับซับซ้อนหลายอย่าง เช่น หน้าที่ทางด้านอารมณ์ ความคิด การควบคุมการนอนหลับ การตื่นของร่างกาย การเรียนรู้ของร่างกาย รวมทั้งการสร้างและการเก็บความจำ เป็นต้น ๑๘/ ๑๑๒๖๕
๓๓๖๙. ประสาท ๓ เป็นโรคประเภทหนึ่ง ที่วงการแพทย์เรียกว่า โรคประสาท มีอาการ ปรากฎทั้งกาย และทางใจ โรคนี้มีสาเหตุจากจิตใจ ซึ่งมีความวิตก กังวลตึงเครียดที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิต เก็บสะสมไว้ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อกระทบกับเหตุการณ์ชีวิตที่ยุ่งยาก ทำให้ความเครียดที่ซ่อนตัวอยู่นั้น รุนแรงขึ้นจนเป็นอาการของโรค ๑๘/ ๑๑๒๖๙
๓๓๗๐. ประเสหรัน เป็นชื่อนางพี่เลี้ยงคนหนึ่ง ของพระธิดากษัตริย์วงศ์อสัญแดหวา ในวรรณคดีเรื่อง ดาหลัง (อิเหนาใหญ่) และเรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก) ๑๘/ ๑๑๒๗๑
|
Update : 27/5/2554
|
|