หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/86
    ๓๓๑๗. ประจวบคีรีขันธ์  จังหวัดภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.เพชรบุรี ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้ จด จ.ชุมพร ทิศตะวันตก จดทิวเขาตะนาวศรี ภูมิประเทศทางตะวันออก จากเหนือไปใต้เป็นที่ราบชายทะะล มีป่าละเมาะ และเขาประปราย ทางตะวันตกจากเหนือไปใต้เป็นป่าสูง มีเขาเป็นพืดตลอดไปจนถึงทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า
                       จ.ประจวบ ฯ เป็นเมืองโบราณครั้งสมัยอยุธยา เรียกว่า เมืองนารัง ตั้งอยู่ริมคลองบางนารม อยู่ในบริเวณสถานีรถไฟขันกระได แต่ได้ร้างไปคราวหนึ่ง และมาตั้งในรัชกาลที่สอง ที่ปากคลองบางนางรม ย้ายที่บัญชาการไปตั้งที่เมืองกุย จนถึงรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ โปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ (คู่กับเกาะกง ซึ่งพระราชทานนามว่า ประจันต์คีรีเขต)  รวมท้องที่เมืองกุย เมืองคลองวาฬ เข้าเป็นท้องที่เดียวกัน ถึงรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองประจวบ ฯ ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.เพชรบุรี ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๙ โปรด ฯ ให้รวมอำเภอสามอำเภอคือ เมืองประจวบ ฯ อ.เมืองปราณบุรี ซึ่งขึ้น จ.เพชรบุรี และ อ.เมืองกำเนิดนพคุณ ซึ่งขึ้น จ.ชุมพร ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองปราณบุรี  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ โปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อ จ.ปราณบุรี เป็น จ.ประจวบคีรีขันธ์
                        จังหวัดนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ถ้ำพระยานคร ปากทวารที่ต้นแม่น้ำปราณ มีสถานที่สำคัญคือ พระราชวังไกลกังวล         ๑๗/ ๑๑๐๑๓
                ๓๓๑๘. ประจันตคาม  อำเภอ ขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศตอนใต้เป็นลุ่ม ตอนกลางและเหนือเป็นที่ดอน
                        อ.ประจันตคาม เดิมเป็นเมืองขึ้น เรียกเมืองประจันตคาม ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ยุบเป็นอำเภอ ตั้งที่ว่าการที่ ต.ดงบัง ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑  ย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.ประจันตคาม      ๑๗/ ๑๑๐๑๔
                ๓๓๑๙. ประเจียด - ผ้า  เป็นผ้าลงเลขยันต์ ถือกันว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ นิยมใช้เป็นเครื่องผูกคอ หรือผูกต้นแขน จัดอยู่ในจำพวกเครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง  ผ้าที่นิยมทำเป็นผ้าประเจียดนั้นจะเป็นผ้าสีแดงหรือสีขาวก็ได้ เป็นรูปสี่เหลี่ยนขนาดใหญ่หรือเล็กแล้วแต่จะลงเลขยันต์ชนิดไหน ซึ่งจะลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นิยมเป็นผ้าผูกคอหรือผูกต้นแขนและยังใช้โพกศีรษะด้วย     ๑๗/ ๑๑๐๑๕
                ๓๓๒๐. ประแจจีน  เป็นชื่อลายแบบจีนชนิดหนึ่ง เป็นรูปเหลี่ยมหักมุมไขว้กันเป็นลวดลายของจีน ใช้เป็นลายกันคิ้วขอบลายกรอบแว่น (ลายกรอบนอกของเพดาน) ลายเสื้อ ลายประแจจีน ทำได้ในลักษณะต่าง ๆ บางทีก็เป็นลายฉลุไม้ประกอบกับโต๊ะเครื่องตั้ง ขอบลายเสื้อผ้าของเทวรูปจีน แจกัน กระถาง เครื่องเคลือบที่เขียนเป็นลวดลายสีคราม (เครื่องลายคราม) ลายแกะสลักไม้มะเกลือ ตามโต๊ะเครื่องบูชา โต๊ะเก้าอี้ ตู้และเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ลายประแจจีน อาจเขียนได้หลายแบบ ข้อสำคัญตัวลายจะต้องเป็นรูปสีเหลี่ยมหักมุมเข้าเป็นมุมฉาก ขมวดเข้าเหมือนเลขหนึ่งของไทย เขียนกลับไปมา             ๑๗/ ๑๑๐๑๙
                ๓๓๒๑. ประชากร  ความหมายในวิชาสถิติศาสตร์คือ กลุ่มหรือหมู่คน สัตว์ สิ่งของ แต่ในเรื่องที่ศึกษาประชากรในเรื่องของคนนั้นจะใช้คำว่าประชากรมนุษย์ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับประชากรมนุษย์โดยตรงคือ วิชาประชากรศาตร์ ซึ่งศึกษาถึงขนาด การกระจายตัวและองค์ประกอบของประชากร ศึกษาถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางประชากร รวมถึงการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางประชากรกับปัจจัยด้านอื่น  ที่เกี่ยวข้องเช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นต้น
                        ความสนใจในการศึกษาวิจัยทางด้านประชากรได้เกิดขึ้นอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง   ๑๗/ ๑๑๐๒๐
                ๓๓๒๒. ประชาชาติ  มีบทนิยามว่า "พลเมืองของประเทศชาติ" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่แปลว่าชาติ อันหมายถึงประชาชนที่รวมกันเข้าเป็นชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งของชาติ
                        กล่าวอีกนัยหนึ่งหมายถึงกลุ่มคนในชาติที่มีความรู้สึก เป็นปึกแผ่นและมีความจงรักภักดีร่วมกัน อันเนื่องมาจากความสำนึกว่า พวกตนมีลักษณะบางอย่างเหมือนกัน      ๑๗/ ๑๑๐๒๔
                ๓๓๒๓. ประชาทัณฑ์  มีบทนิยามว่า "การที่ฝูงชนกลุ้มรุมทำร้ายเป็นการลงโทษบุคคลที่ตนเข้าใจหรือนึกว่ามีความผิด"
                        เมื่อกล่าวรวมความลง คำว่า ประชาทัณฑ์ หมายถึงการลงโทษผู้กระทำผิดนอกสารบบ อาญายุติธรรม ให้ผู้กระทำผิดได้รับทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการลงโทษแบบกลุ้มรุมทำร้ายโดยหมู่คน
                        การลงโทษแบบประชาทัณฑ์มีมานานแล้ว ทั้งในสมัยพุทธกาล และสมัยต่อมา ทั้งนิยมปฏิบัติกันในทุกสังคมก่อนที่จะได้นำหลักนิติธรรมมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัย              ๑๗/ ๑๑๐๒๗
                ๓๓๒๔. ประชาธิปไตย  มีบทนิยามว่า "แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่"
                        ประชาธิปไตย ปรากฎว่าเป็นแบบการปกครองของกรีกโบราณ ประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาลหรือราวสมัยพุทธกาล แต่ก็เป็นประชาธิปไตย แบบที่ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ครั้นกรุงโรมเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี พ.ศ.๓๔ ก็ได้นำหลักประชาธิปไตยมาใช้เช่น มีการเลือกตั้งกงสุลเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นต้น
                        ตั้งแต่กรุงโรมเป็นจักรวรรดิ์ในปี พ.ศ.๕๑๖ จนถึงปี พ.ศ.๑๗๕๙ ไม่ปรากฎว่ามีการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรป อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มปฏิบัติการตามหลักประชาธิปไตยอีก เมื่อพระเจ้าจอห์น ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๔๒ - ๑๗๕๙ ถูกบังคับให้ลงนามในกฎบัตรฉบับใหม่ (แมกนา คาร์ตา)  เมื่อปี พ.ศ.๑๗๕๙ ซึ่งถือกันว่า เป็นเอกสารสำคัญฉบับแรกที่รักษาสิทธิของขุนนาง และราษฎรภายในวงจำกัด
                        การปกครองแบบประชาธิปไตย ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในเวลาร้อยปีเศษก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) ชาวอเมริกันได้ทำสงครามอิสรภาพอเมริกันต่ออังกฤษ เพื่อสถาปนาสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๓๒๙ และชาวฝรั่งเศษได้ทำการปฏิวัติในปี พ.ศ.๒๓๓๒ เพื่อตั้งประเทศของตนเป็นสาธารณรัฐ ญี่ปุ่นได้ตรารัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑      ๑๗/ ๑๑๐๓๓
                ๓๓๒๕. ประชาบดี ๑  ตามสรูปคำแปลว่าผู้เป็นใหญ่ในประชา โดยความหมาย หมายถึงพระเป็นเจ้าผู้สร้างสัตว์ทั้งหลายของคติพราหมณ์ เป็นคำใช้เรียกพระพรหมาหรือมหาฤษีผู้เป็นมานสบุตร (บุตรเกิดแต่มโนของพระพรหมาผู้ได้รับมอบหมายให้สร้างมนุษย์และอมนุษย์ทั่วไป บางตำราว่าพระมนูสวายัมภูวะ เป็นผู้ให้ประชาบดีมีกำเนิดขึ้น มีเรื่องกล่าวอยู่ในหนังสือลิลิตนารายณ์สิบปางและอภิธาน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
                        เมื่อกล่าวรวมความแล้วประชาบดีนั้น บิดาหรือผู้สร้างสัตว์ทั้งหลายในคัมภีร์พระเวทเป็นคำใช้เรียกพระอินทร์ พระสวิตฤ (ตะวัน) พระโสม (น้ำโสม) พระหิรัณยครรภ (พรหมา) และเทวดาอื่น ๆ  คัมภีร์มนูสัมหิตาใช้เรียกท้าวพรหมธาดา ผู้สร้างและค้ำจุนโลก และพระมนูสวายัมภูวะก็เรียกว่าประชาบดี เพราะเป็นลูกพระพรหมา และเป็นชนกแห่งทศฤาษีซึ่งเป็นชนกแห่งมนุษย์ แต่โดยมากเมื่อกล่าวถึงประชาบดี ย่อมเข้าใจกันว่ามุ่งถึงฤาษีสิบตน ผู้เป็นชนกแห่งมนุษย์นั่นเอง    ๑๗/ ๑๑๐๓๘
                ๓๓๒๖. ประชาบดี ๒  เป็นพระนามของพระนางโคตมี ผู้เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถกุมาร มีพระนามเต็มว่าประชาบดีโคตมี ต่อมาได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุณี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้รับเอตทัตคะว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านรัตตัญญู นับเป็นพระเถรผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ในจำนวนพระเถรีสิบสามองค์ (ดูโคตมี - ลำดับที่ ๑๑๗๖ ประกอบ)          ๑๗/ ๑๑๐๔๕
                ๓๓๒๗. ประชาบาล  เป็นคำที่ใช้ในวงการศึกษา ปรากฎใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เพื่อจำแนกโรงเรียนตามประเภทของเงินที่ใช้ตั้ง และบำรุงโรงเรียน คือเป็นโรงเรียนที่ประชาชนจัดตั้งขึ้น และดำรงอยู่ด้วยเงินของประชาชน
                        การศึกษาประชาบาลหมายถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับของไทย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔ บังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุสิบสี่ปีบริบูรณ์   ๑๗/ ๑๑๐๔๕
                ๓๓๒๘. ประชามติ  ตามรูปคำแปลว่า "ความเห็นของประชาชน" มีบทนิยามว่า "มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ, มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินในปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ"
                        เมื่อกล่าวถึงประชามติโดยทั่วไปมักคำนึงถึงอำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าความหมายอื่นคือ เห็นกันว่าประชามติเป็นพลัง ที่สามารถบันดาลให้เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งคงอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงไป
                        ประชามติมีขึ้นได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ
                        ประชามติเป็นรากฐานสำคัญของการปกครอง รัฐบาลของทุกประเทศในโลกย่อมตั้งอยู่บนรากฐานของประชามติ และจะดำรงอยู่ได้ก็โดยการสนับสนุนของประชาชนที่อยู่ในปกครอง    ๑๗/ ๑๑๐๕๓
                ๓๓๒๙. ประชาสงเคราะห์  แปลตามรูปคำว่า การช่วยเหลือหมู่ชนหรือการช่วยเหลือประชาชน การประชาสงเคราะห์ เป็นงานสวัสดิการสังคมที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลและใช้เงินภาษีอากร เอามาดำเนินงานสวัสดิการสังคม จึงเรียกว่า สวัสดิการสาธารณชน หรือการประชาสงเคราะห์
                        คำว่าประชาสงเคราะห์ เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปประเทศไทย เมื่อมี พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ ๙ พ.ศ.๒๔๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมา เพื่อให้มีการจัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้น
                        ในการดำเนินการประชาสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ก็ย่อมต้องอาศัยวิชาการบริหารหรือรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์เข้าช่วยในการวางนโยบาย วางแผนและโครงการสงเคราะห์ประชาชนประเภทต่าง ๆ ด้วย     ๑๗/ ๑๑๐๖๓
                ๓๓๓๐. ประชาสัมพันธ์ - การ  หมายถึง การติดต่อสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งโดยปรกติหมายถึงการติดต่อสัมพันธ์ในด้านดี คือการเสริมสร้างความเชื่อถือ หรือความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
                        ตามประวัติศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ได้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณกาล นับตั้งแต่มนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นคณะ มีหัวหน้าหรือผู้นำ
                        สำหรับประเทศไทยใช้กันแพร่หลายเมื่อทางราชการเปลี่ยนชื่อ กรมโฆษณาการ มาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ และมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาสัมพันธ์ขึ้นในกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔
                        การประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับกิจวการด้านต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน    ๑๗/ ๑๑๐๗๑
                ๓๓๓๑. ประดง  แพทย์โบราณจัดประดงอยู่ในพวกไข้ชนิดหนึ่ง (ไข้กาฬเกิดแทรกในไข้ทรพิษ อาการมีได้หลายอย่างแล้วแต่ชนิดของประดง
                   ไข้ประดง  แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประเภทพิษน้อย กับประเภทพิษมาก แต่ละประเภทยังแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ตามลักษณะของตุ่มที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง
                        ของแสลง สำหรับผู้ป่วยได้แก่ เนื้อสัตว์ ที่มีคาวจัด น้ำมัน กะทิ และของหมักดองต่าง ๆ            ๑๗/ ๑๑๐๗๔
                ๓๓๓๒. ประดอง, ปาด่อง - ชนชาติ  หนังสือไทยสิบสองปันนา เรียกพวกชนชาตินี้ว่า ยางกะเลย ซึ่งอยู่ชายแดนสิบสองปันนา ตอนติดต่อเขตรัฐฉานของพม่า
                        ในเมืองปาย ของมณฑลเสฉวน เป็นที่อาศัยของพวกประด่อง (เรียกชื่อของตัวเองว่า เกฮองดุ) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ผู้หญิงคอยาวระหง ดูเป็นสวย      ๑๗/ ๑๑๐๗๘
                ๓๓๓๓. ประดิษฐ - ไข้  ไข้ประดิษฐ์ หรือไข้เทียม หมายถึง ไข้ที่แพทย์กระทำขึ้นแก่ผู้ป่วยมิใช่ไข้ที่เกิดขึ้นจากโรค ความมุ่งหมายในการทำให้เกิดไข้นี้ ก็เพื่อรักษาโรค หรืออาการของโรค ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่เดิม นับเป็นการรักษาโรควิธีหนึ่ง เรียกว่า ไข้บำบัด      ๑๗/ ๑๑๐๗๘
                ๓๓๓๔. ประดิษฐกรรม  ในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การค้นคิดประดิษฐสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นแล้วนำไปกระทำการให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกับสังคม ประดิษฐกรรมทำให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ประดิษฐจะพึงได้รับ
                        โดยสรุปประดิษฐกรรมเป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ และนำไปประยุกต์ในด้านต่าง ๆ   ๑๗/ ๑๑๐๘๓
                ๓๓๓๕. ประดู่ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ต้นสูงประมาณ ๑๕ - ๓๐ เมตร ลำต้นตรงเปลือกสีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปป้อมมนปลายใบแหลม เป็นช่อตามซอกใบสีเหลือง มีกลิ่นหอม ดอกบานพร้อมกันหมดทั้งต้น รูปร่างดอกคล้ายดอกโสน แต่เล็กกว่า ผลเป็นแผ่นกลม ตรงกลางนูน แล้วลาดออกเป็นปีกบาง ๆ โดยรอบกว้างประมาณ ๕ - ๖ ซม.       ๑๗/ ๑๑๐๘๔
                ๓๓๓๖. ประดู่โรงธรรม - วัด  เป็นวัดราษฎร ตั้งอยู่ที่ ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จากหลักฐานทางโบราณคดี โดยเฉพาะโบราณวัตถุสถานในทางพระพุทธศาสนาคือ ใบเสมาขนาดจิ๋ว ทำด้วยหินสีค่อนข้างแดง เนื้อละเอียด เป็นใบเสมาที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๐๓๑)  ส่วนโบราณสถาน และโบราณวัตถุอื่น ๆ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.๒๑๗๓ - ๒๓๑๐)  วัดนี้มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องในทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญอยู่สามครั้งคือ
                        ครั้งที่หนึ่ง ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พวกพ่อค้าญี่ปุ่นคุมกำลังประมาณ ๕๐๐ คน บุกเข้าไปในวัดเพื่อจะจับพระเจ้าทรงธรรม ขณะเสด็จออกฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ แต่พระสงฆ์ในวัดนำพระองค์ออกไปโดยปลอดภัย
                        ครั้งที่สอง  ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าอุทุมพรทูลถวายราชสมบัติแก่ พระเชษฐาธิราชแล้วทรงออกผนวช แล้วมาประทับอยู่ ณ วัดประดู่โรงธรรม
                        ครั้งที่สาม  ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ พระองค์ได้อาราธนาพระอาจารย์ดี จากวัดประดู่โรงธรรม ลงไปจัดการพระศาสนา และตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก       ๑๗/ ๑๑๐๘๔
                ๓๓๓๗.ประตูน้ำ  ๑. สิ่งที่สร้างขึ้นในทางน้ำ เพื่อให้เรือแพผ่านในบริเวณที่น้ำ ในทางน้ำนั้นมีระดับต่างกันได้ ประตูน้ำอาจสร้างไว้ใกล้เคียง หรือต่อเนื่องกับเขื่อนทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำประเภทต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง
                        รูปลักษณะที่สำคัญของประตูน้ำคือ มีอ่างรูปยาวไปตามทางน้ำอยู่ตอนกลางระหว่างหัวประตูทั้งสองด้าน อ่างเป็นที่พักของเรือในขณะที่ระบายน้ำเพื่อให้ระดับน้ำ จากระดับด้านหนึ่งไปสู่ระดับอีกด้านหนึ่ง ส่วนหัวประตูนั้น มีบานประตูอยู่ระหว่างช่องเรือผ่าน สำหรับปิดกั้น และต้านทานแรงดันของน้ำ ที่มีระดับต่างกัน และทางระบายน้ำสำหรับระบายน้ำ จากด้านที่สูงไปสู่ด้านที่ต่ำจนกว่าระดับน้ำทั้งสองข้างของหัวประตูนั้น จะเท่ากัน แล้วจึงเปิดบานประตูให้เรือผ่านหัวประตูด้านนั้นไปได้
                        ประตูน้ำ หรือประตูใหญ่ คลองน้ำในแนวกำแพงรอบพระนครศรีอยุธยามี ๑๑ ประตู คือ ประตูหอรัตนไชย ประตูในไก่ ประตูจีน ประตูเขาส้ม ประตูฉะไกรน้อย ประตูคลองใหญ่ ประตูคลองแคลง (คลองท่าพระ)  ประตูคลองสายมหาไชย ประตูคลองฝาง ประตูปากท่อ และประตูคลองข้าวเปลือก        ๑๗/ ๑๑๐๘๙
                ๓๓๓๘. ประตูป่า  คือ ประตูที่สะด้วยใบไม้กิ่งไม้ สำหรับพิธีนำศพออกจากบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ผีกลับเข้ามาบ้านได้ ทำให้ผีหลงทางเข้าเรือนไม่ถูก ประตูป่านั้น เห็นจะเป็นประตูไปสู่ป่าช้า กล่าวอย่างปริศนาธรรมก็ว่า ผู้ไปแล้วไม่มีกำหนดว่าเมื่อไร จะกลับมาพบญาติมิตรได้อีก
                        ไทยภาคอีสาน ไม่ทำประตูป่า แต่พอศพคล้อยไป เขาจะเอาใบมะเขือชนิดที่มีหนามผูกที่บันได ประเพณี อ.ลับแล นอกจากทำประตูป่า ยังเอาไม้ไผ่ขัดเป็นเฉลว ปักไว้ตรงเขตบ้าน เมื่อหามศพผ่านบ้านใครก็ต้องเอาเฉลวปักให้เขาทุกทีไป ประเพณีไทยลื้อ เมื่อมีคนตายต้องทำเฉลวห้อยแขวนที่ประตูบ้าน แขวนไว้ตลอดไปจนกว่าจะผุพังไปเอง       ๑๗/ ๑๑๐๑๓
                ๓๓๓๙. ประตูผี  เป็นประตูที่ทำไว้หรือกำหนดไว้สำหรับนำศพออกไปเผา ฝัง หรือทิ้งที่ป่าช้าเชื่อกันมาว่า ประตูธรรมดานั้นใช้สำหรับคนเข้าออก ถ้านำคนตายออกทางประตูธรรมดา ถือว่าเป้นอัปมงคล
                        ประเพณีทำประตูทางออกโดยเฉพาะให้ผีออกที่เรียกว่า ประตูผีนี้มีมาในหลายชาติ หลายประเทศ และยังมีในตอนตะวันตกและตอนใต้ของทวีปอัฟริกา ในหมู่เกาะประเทศอินโดนิเซีย มาเลเซีย หมู่เกาะฟิจิ จีน ทิเบต ตาด และเอสกิโม
                        ประเพณีไทยมีประตูที่กำหนดไว้นี้เหมือนกัน เมื่อมีคนตายในเมืองต้องเอาออกไปเผา หรือฝัง หรือทิ้งนอกเมือง จะหามศพออกประตูกำแพงเมืองไม่ได้เป็นอัปมงคล ต้องมีประตูออกเป็นพิเศษ ชาวบ้านเรียกว่า ประตูผี สำหรับประเทศไทยในกรุงเทพ ฯ ประตูที่กำหนดไว้สำหรับนำผีออกคือ ประตูสำราญราษฎร ซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านเรียก ประตูผี เพราะเวลานั้นป่าช้าคือ ป่าช้าวัดสระเกศ
                        ภายในกำแพงพระนคร อันมีกำแพงและป้อมล้อมรอบนี้ ประเพณีของไทยแต่ก่อน เมื่อมีคนตายภายในกำแพงเมือง จะต้องนำศพออกทางประตูผีไปฝังหรือเผายังวัดนอกกำแพงเมือง นอกจากพระบรมศพและพระศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศฺเท่านั้น ที่ถวายพระเพลิงภายในเมือง ณ เมรุท้องสนามหลวง     ๑๗/ ๑๑๑๙
                ๓๓๔๐. ประตูสามยอด  เป็นประตูพระนคร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อแรกสร้างเป็นประตูซึ่งสร้างคร่อมถนนเจริญกรุง ประตูสามยอด มีอายุมาถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ ทางการจึงรื้อลง ชั้นเดิมสร้างในรัชกาลที่หนึ่ง ซุ้มประตูที่สร้างเป็นยอดรวมทั้งประตูสามยอดนี้ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ห้าอีกครั้งหนึ่ง ประตูสามยอดที่สร้างใหม่นี้ มีบานประตูเป็นเหล็ก ปิดเปิดได้สามช่อง ประตูช่องเหนือ และช่องกลาง สำหรับให้รถม้า และรถลากผ่าน ส่วนประตูด้านใต้ให้รถรางผ่าน       ๑๗/ ๑๑๒๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch