๓๒๓๒. เบญจา ๑ มีบทนิยามว่า "แท่นมีเพดานดาด และระบายผ้าขาว แท่นซ้อนห้าชั้น ลดหลั่นกัน" โดยนัยนี้เบญจาคือ แท่นซึ่งทำเป็นฐานซ้อนกันห้าชั้น ลดหลั่นกันไป แบบชั้นแว่นฟ้า ซ้อนกันมีรูปทรงเหมือนพระเจดีย์
เบญจานี้ ทำขึ้นสำหรับเป็นที่ตั้งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ มีตั้งศพ และเครื่องประกอบอิสริยยศ เจ้านายชั้นสูง และพระสงฆ์ทรงสมณศักด์ ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นธรรม ถึงชั้นเจ้าคณะรอง เป็นต้น สำหรับประดิษฐานบุษบกพระพุทธรูปก็มี ๑๗/ ๑๐๖๒๗
๓๒๓๓. เบญจา ๒ เป็นชื่อฉัตรห้าชั้น ทรงชะลูดอย่างเดียวกับฉัตรห้าชั้นทองแผ่ลวด ผิดกันแต่ไม่เดินทองแผ่ลวดบนเพดาน ฉัตรใช้ปักมุมพระเบญจา ชั้นละสี่องค์ (ดู ฉัตร - ลำดับที่ ๑๕๗๒.) ๑๗/ ๑๐๖๒๙
๓๒๓๔. เบญจางคประดิษฐ์ (ดู กราบ - ลำดับที่ ๑๔๘) ๑๗/ ๑๐๖๒๙
๓๒๓๕. เบญพาด - เสาตะลุง เป็นเสาประกอบด้วยเสาไม้กลม ควั่นหัวท้ายสามท่อน และมีเสาสำหรับยันค้ำ ติดกับเสาตะลุงต้นละหนึ่งเสา และเอาเสากลมควั่นหัวท้ายสามท่อนตรึงพาดขวาง ห่างเป็นระยะเป็นสามชั้น ใช้เป็นบันไดให้หมอควาญขึ้นขี่คอ กลางหลังและท้ายช้างได้สะดวก ขณะเมื่อได้ผูกตกปลอกช้างยืนแท่น
เบญพาด อีกอย่างหนึ่งสำหรับพระยายืนชิงช้า นั่งในโรงมาพัก งานพระราชพิธีตรียัมปวาย ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ใช้นั่งและพิง ห้อยเท้าซ้ายลงเหยียบพื้นดิน ยกเท้าขวาขึ้นเอาปลายเท้าพาดกับโคนเข่าซ้าย สมมติว่าเป็นพระอิศวร หรือพระวิษณุ เสด็จมาทอดพระเนตรนาฬิวัน ทำพิธีโล้ชิงช้าถวาย เบญพาดอย่างนี้ทำด้วยลำไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว
เสาตะลุง จะเป็นเสาคู่ หรือเสาเดี่ยว ก็ตามคือ เสาใหญ่มั่นคงแข็งแรง สำหรับผูกตกปลอกช้างหลวง หรือช้างสำคัญที่ขึ้นระวาง เสาตะลุงจะต้องทาสีแดง ยอดกลึงหัวเม็ดทรงมัน ปิดทอง ๑๗/ ๑๐๖๒๙
๓๒๓๖. เบตง อำเภอ ขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทิศใต้ และทิศตะวันตก จดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย ภูมิประเทศเป็นที่ดอนประกอบด้วย ภูเขาใหญ่น้อย ชาวพื้นเมืองเป็นไทยอิสลาม มีกรรมกรจีนมาก
อ.เบตง เดิมขึ้นเมืองรามัน ครั้นยุบเมืองรามัน เป็นโกตาบารู ขึ้น จ.ยะลา อ.เบตง จึงไปขึ้น จ.ยะลา ด้วย เป็นอำเภอชายแดน เป็นที่ตั้งด่านศุลกากร ๑๗/ ๑๐๖๓๒
๓๒๓๗. เบนซีน เป็นสารอินทรีย์ที่ง่ายที่สุด ซึ่งจัดเป็นสมาชิกตัวแรกของกลุ่มสารเคมี ประเภทอะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน ลักษณะเป็นของเหลวใส ไมเคิล ฟาราเดย เป็นผู้ค้นพบสารนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๘ โดยแยกออกมาได้จากแก๊ส ที่ใช้จุดไฟ เพื่อให้แสงสว่างซึ่งทำจากน้ำมันปลาวาฬ และได้ชื่อว่าเบนซีน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘
เบนซีนเป็นสารที่มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรมคือใช้เป็นตัวทำละลายใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารอินทรีย์อื่นที่มีประโยชน์มาก ในการผลิตออกมาเป็นสินค้านั้นส่วนใหญ่ผลิตจากถ่านหินและตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมาได้มีการผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมด้วย ๑๗/ ๑๐๖๓๓
๓๒๓๘. เบนโซอิก - กรด เป็นกรดอินทรีย์ ซึ่งจัดเป็นสมาชิกตัวแรกของกรดอินทรีย์ประเภทอะโรเมติก มีหลักฐานว่ามีการค้นพบกรดนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ โดยกลั่นได้จากกำยาน ประโยชน์สำคัญของกรดนี้ก็คือนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารปลาสติกบางประเภท นำไปใช้เตรียมโซเดียม เบนโซเอด ซึ่งเป็นเกลือสำคัญของกรดนี้
ทั้งกรดเบนโซอิก และโซเดียมโซเอด มีสมบัติเป็นสารกันบูดได้ จึงนิยมไปใช้ในอุตสาหกรรมการถนอมอาหาร ๑๗/ ๑๐๖๓๘
๓๒๓๙. เบริลเลียม เป็นธาตุลำดับที่สี่ มีผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๑ ในลักษณะเป็นออกไซด์ อยู่ในแร่เบริล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้มีผู้แยกตัวโลหะเบริลเลียมออกมาได้สำเร็จ
เบริลเลียม เป็นธาตุที่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติในภาวะรวมตัวอยู่กับธาตุอื่น เป็นสารประกอบเท่านั้น แหล่งกำเนิดที่สำคัญที่สุดก็คือ แร่เบริล
เบริลเลี่ยม เป็นธาตุที่มีประโยชน์มาก นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตวัสดุเพื่อสร้างจรวด สร้างยานอวกาศ สร้างอากาศยาน สร้างจานเบรค และยังนำไปใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ นอกจากนั้นยังใช้ไปผสมกับโลหะอื่น ให้เป็นโลหะเจือที่มีคงวามแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ เพื่อผลิตเครื่องมือช่างบางชนิด และผลิตสริง เป็นต้น
สารประกอบของธาตุเบริลเลียม ล้วนแต่เป็นพิษและมีอันตรายมาก ๑๗/ ๑๐๖๓๖
๓๒๔๐. เบสบอล มีกำเนิดจากกีฬาคริกเก็ต ที่เล่นกันในอังกฤษ ราวปี พ.ศ.๒๓๙๓ ในสมัยที่ชาวอังกฤษย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในทวีปอเมริกาเหนือใหม่ ๆ อุปกรณ์การเล่นกีฬาคริกเก็ตหาเล่นได้ยากมาก เด็ก ๆ สมัยนั้นจึงได้ดัดแปลงวิธีเล่นขึ้นมาใหม่ โดยการใช้ไม้ตี และลูกบอลเป็นอุปกรณ์การเล่นแทน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ จึงได้มีวิธการเล่น กฎ กติกา ให้เป็นมาตรฐานเบสบอลก็ได้มีการเล่นแพร่หลาย และได้กลายเป็นกีฬาประจำชาติของอเมริกาอย่างหนึ่ง
เบสบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย ๆ ละเก้าคน โดยมีฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายตี และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรับ ๑๗/ ๑๐๖๓๙
๓๒๔๑. เบอร์ดีเลียม เป็นธาตุลำดับที่ ๙๗ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ไม่มีปรากฎในธรรมชาติ มีผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ๑๗/ ๑๐๖๔๓
๓๒๔๒. เบอร์นาร์ด เซนต์ ๑ เป็นชื่อช่องเขาที่อยู่ในเทือกเขาแอลป์ เรียกว่าช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ดเล็ก และช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ดใหญ่ อยู่ใกล้ยอดเขามองต์ บลังช่องเขาดังกล่าวปรากฎชื่อเสียงขึ้นมาเพราะมีอาศรม ซึ่งเซนต์ เบอร์นาร์ด ก่อตั้งขึ้นเป็นที่พักพิงแก่นักเดินทาง มีนักบวชสำนักออกัสติเนียนเป็นผู้ดูแลอาศรมแห่งนี้ ยังคงตั้งอยู่มาจนปัจจุบัน อาศรมแห่งนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๔๓๐ เมตร ถือว่าเป็นสถานที่สูงสุดในยุโรปที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างถาวรตั้งขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ สำหรับเป็นที่พักของผู้เดินทางแสวงบุญไปยังกรุงโรม ในปี พ.ศ.๒๓๔๓ นโปเลียนได้ยกกองทัพผ่านช่องเขานี้ เพื่อบุกเข้าโจมตีอีตาลี
ช่องเขา เซนต์ เบอร์นาร์ด เล็ก สูง ๒,๕๓๗ อยู่ในเขตประะทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในบรรดาช่องเขาแอลป์ที่ผ่านเข้าออกได้ง่ายที่สุด เชื่อกันว่าในปี พ.ศ.๕๒๕ ฮานนิบาล ได้เคยใช้ช่องเขาแห่งนี้ ๑๗/ ๑๐๖๔๔
๓๒๔๓. เบอร์นาร์ด เซนต์ ๒ เป็นชื่อสุนัขพันธุ์หนึ่งที่ประจำอยู่ที่อาศรม เซนต์ เบอร์นาร์ด ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์ ในประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์ ทำหน้าที่ช่วยเหลือพวกคนเดินทางที่ติดหิมะ เป็นสุนัขที่ฉลาดและอารมณ์ดี ๑๗/ ๑๐๖๔๕
๓๒๔๔. เบิกทูต เป็นกิริยาแปลว่านำทูตเข้าเฝ้าใช้มาแต่โบราณกาล ปัจจุบันคงใช้คำนี้ในโอกาสนำทูตเข้าเฝ้า เช่นในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาและงานวันขึ้นปีใหม่ สมุหราชมณเฑียรจะเบิกทูตอ่านสุทรพจน์ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสที่เอกอัครราชทูตเข้าเฝ้าถวายสารตราตั้ง สมุหราชมณเฑียรก็เบิกทูตเข้าเฝ้า ฯ เช่นเดียวกัน ๑๗/ ๑๐๖๔๖
๓๒๔๕. เบิกพระเนตร มีบทนิยามว่า "เปิดตา เป็นคำใช้สำหรับพิธีฝัง หรือเขียนพระเนตร พระพุทธรูป
ในการเบิกพระเนตรนี้ แต่เดิมทำพิธีเมื่อช่างฝังพระเนตรด้วยรัตนชาติ อันมีค่าเช่นนิล แทนตาดำ มุกแทนตาขาว หรือเขียนด้วยสีดำ สีขาว ช่างต้องฝังหรือเขียนเสร็จก่อนทำพิธีเบิกพระเนตร ส่วนพระเครื่องนั้นมีเป็นจำนวนมาก ก่อนเอาออกแจกต้องทำพิธีพุทธาภิเษก ๑๗/ ๑๐๖๔๗
๓๒๔๖. เบิกพระโอษฐ์ ตามราชประเพณีแต่โบราณ เมื่อจะมีการประสูติพระราชกุมาร หรือพระราชกุมารี จะมีการเตรียมการต่าง ๆ ไว้พร้อม มีราชภัณฑ์ และพิธีการที่จะใช้อย่างหนึ่งเรียกว่า เบิกพระโอษฐ์
เมื่อพระราชกุมารหรือพระราชกุมารีประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จ ฯ ไปพระราชทานน้ำ พระมหาสังข์รินลงในจอกทอง มีพานทองรอง มีช้อนวักหรือช้อนตักทำด้วยทอง ทรงตักน้ำในจอกทองหยอดลงในพระโอษฐ์ พระราชกุมารหรือพระราชกุมารี เรียกกันว่า เบิกพระโอษฐ์ ๑๗/ ๑๐๖๔๙
๓๒๔๗. เบิกไพร - พิธี เป็นพิธีทำก่อนจะเข้าป่าไปล่าสัตว์หรือตัดต้นไม้ พิธีอย่างง่าย ๆ ก็คือ หักหรือทำไม้ให้เป็นรูปขอ นำเอาไปปักไว้ หรือเกี่ยวไว้ แขวนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ให้สูงเพียงตา เพื่อคารวะเจ้าป่า รอไว้คืนหนึ่ง รุ่งเช้าไปดู ถ้าเห็นขอนั้นยังอยู่เป็นปรกติก็ถือว่าเจ้าป่าอนุญาต ๑๗/ ๑๐๖๕๐
๓๒๔๘. เบิกโรง มีบทนิยามว่า "การแสดงก่อนดำเนินเรื่อง แสดงออกโรงครั้งแรก"
การแสดงมหรสพบางประเภท มีประเพณีอยู่ว่าจะต้องมีการแสดงเบิกโรง แต่การแสดงเบิกโรงของทหรสพเหล่านั้น มีวิธีการแสดงแตกต่างกันไป ตามลักษณะของการแสดงนั้น ๆ
รวมความแล้วคำว่าเบิกโรงน่าจะแปลอย่างรวดรัดว่า "การแสดงชุดเล็ก ก่อนแสดงเรื่องใหญ่" ๑๗/ ๑๐๖๕๓
๓๒๔๙. เบิกโลง - พิธี เป็นพิธีทำก่อนนำศพลงหีบ เป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ ๑๗/ ๑๐๖๕๗
๓๒๕๐. เบี้ย ๑ เป็นชื่อ หอยกาบเดียวชนิดหนึ่ง ที่มีเปลือกแน่นรูปรี หรือคล้ายชมพู่ ท้องยื่น ผิวเป็นมัน ส่วนช่องปากยาวแคบไปสุดตอนปลายทั้งสองข้างเป็นลำรางสั้น ริมปากทั้งสองด้านเป็นหยัก หรือมีฟัน ไม่มีฝาปิดปาก
หอยชนิดนี้ เป็นหอยสกุลใหญ่ อยู่ในทะเลเขตอบอุ่น เปลือกหอยเบี้ยนับว่าสวยงามมาก และมีค่าสูง หอยเบี้ยพอจำแนกเป็นเบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เบี้ย เบี้ยโพล้ง ๑๗/ ๑๐๖๖๒
๓๒๕๑. เบี้ย ๒ - ผัก เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ สูง ๑๐ - ๑๕ ซม. แตกกิ่งก้านสาขาออกไปโดยรอบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันถี่ ๆ จนดูเป็นกลุ่ม ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่ม ๑ - ๓ ดอก ที่ปลายดอก หรือซอกใบ สีเหลือง ผลเป็นฝักรูปกลมป้อม ปลายแหลม ภายในมีเมล็ดดำจำนวนมาก ๑๗/ ๑๐๖๖๓
๓๒๕๒. เบี้ยโบก (ดู ขลุกขลิก - ลำดับที่ ๗๐๖) ๑๗/ ๑๐๖๖๔
๓๒๕๓. เบียร์ เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกเมรัยทุกชนิด ที่ทำขึ้นจากการหมักข้าวมอลต์ ซึ่งต้มมาแล้วกับเมล็ดธัญพืช ที่มีองค์ประกอบเป็นแป้ง เบียร์เป็นเมรัย ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ปรากฎหลักฐานซึ่งบันทึกไว้ด้วยอักษรอียิปต์โบราณว่า ด้วยการทำเบียร์ และหลักฐานทางเคมี แสดงว่ามนุษย์เมื่อห้าพันกว่าปีมาแล้ว รู้จักวิธีทำเบียร์เป็นเครื่องดื่มมาแล้ว
ปัจจุบัน การผลิตเบียร์เป็นอุตสาหกรรมนั้น ทั่วโลกใช้วิธีการหลักเป็นอย่างเดียวกัน เบียร์ที่ผลิตออกสู่ตลาดมีหลายชนิด แตกต่างกันไปในสี รส และปริมาณของเอทิลแอลกอฮอล์ อยู่ประมาณร้อยละ ๔.๕ โดยน้ำหนัก แต่บางชนิดอาจมีสูงถึงร้อยละ ๗.๕ ได้
เบียร์ เมื่อถูกแสงสว่างนาน ๆ จะเสื่อมคุณภาพ เหตุนี้จึงใช้ขวดที่มีสีเข้ม หรือกระป๋องเป็นภาชนะบรรจุ และควรเก็บไว้ในที่มืด และอุณหภูมิต่ำ ควรแช่เย็นที่อุณหภูมิ ๗ องศาเซลเซียส ก่อนมาบริโภค ๑๗/ ๑๐๖๖๔
๓๒๕๔. เบี้ยว - ปลา เป็นปลาน้ำจืดวงศ์เดียวกับปลาเนื้ออ่อน ปลาแดง ปลาน้ำเงินและปลาเค้า มีอีกชื่อว่า ปลาวคาวเบือน เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ พบยาวถึง ๗๕ ซม. ๑๗/ ๑๐๖๖๖
๓๒๕๕. เบื้อง เป็นชื่ออาหารอย่างหนึ่ง จัดเป็นประเภทของว่าง นิยมเรียกว่า ขนมเบื้อง มีทั้งไส้เค็มและไส้หวาน มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ กลม ๑๗/ ๑๐๖๖๘
๓๒๕๖. แบดมินตัน - กีฬา จากหลักฐานที่ได้จากภาพวาด และวัตถุโบราณพบว่ากีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึง กับแบดมินตันนี้ได้มีการเล่นในประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และเม็กซิโก มาเป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า กีฬาแบดมินตันนี้ ได้เริ่มเล่นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยรู้จักกีฬานี้ในนามว่า "ปูนา" เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๓ นายทหารอังกฤษไปพบและนำไปเล่น ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๑๔ - ๒๔๑๕ ก็ได้นำอุปกรณ์ และวิธีการเล่นเกมนี้ ไปเล่นในประเทศอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็น แบดมินตัน
แบดมินตันเป็นกีฬาที่เล่นโดยใช้ไม่แรกเก็ตตีลูกขนไก่ข้ามตาข่าย ที่ขึงกลางสนามระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย อาจจะเล่นฝ่ายละหนึ่งคน หรือฝ่ายละสองคนก็ได้ ๑๗/ ๑๐๖๗๑
๓๒๕๗. แบตเตอรี คือ กลุ่มเซลล์ไฟฟ้า หลายเซลล์ต่อรวมกันอยู่ แต่ละเซลล์ไฟฟ้าเป็นเครื่องสำเร็จ ซึ่งสามารถแปลงพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้
โดยทั่วไปแล้ว จัดแบ่งแบตเตอรีออกได้เป็นสองประเภท ตามประเภทของเซลล์ไฟฟ้า ที่ประกอบรวมกันเป็นแบตเตอรีคือ
๑. แบตเตอรีประเภท ปฐมภูมิ ประกอบด้วยเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิ ซึ่งเมื่อสร้างขึ้นเสร็จแล้ว นำใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ทันที เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วน จะหมดเปลืองและแปรสภาพไป โดยไม่กลับคืนสภาพเดิมได้อีก
๒. แบตเตอรีประเภท ทุติยภูมิ ประกอบด้วยเซลล์ไฟฟ้า ทุติยภูมิ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องนำไปอัดไฟเสียก่อน จึงจะนำไปใช้เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าออกได้ เมื่อใช้ไปแล้วส่วนประกอบบางส่วนจะหมดเปลือง และแปรสภาพไปแต่สามารถทำให้กลับคือสภาพเดิมได้อีก โดยวิธีนำไปอัดไฟใหม่
สำหรับเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิที่สำคัญ มีสามแบบคือ แบบเปียก แบบแห้ง และแบบเชื้อเพลิง ส่วนเซลล์ไฟฟ้าทุติยภูมิที่สำคัญมีสองแบบคือ แบบกรด และแบบด่าง ๑๗/ ๑๐๖๗๖
๓๒๕๘. แบเรียม เป็นธาตุลำดับที่ ๕๖ เซอร์ ฮัมฟรี เดวี สามารถสกัดธาตุแบเรียม ออกมาได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑
ในธรรมชาติไม่ปรากฎธาตุแบเรียมอยู่ในภาวะอิสระ เนื่องจากธาตุนี้มีความว่องไวในการปฎิกิริยาเคมี เพื่อรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ
ประโยชน์สำคัญของธาตุแบเรียมคือ นำไปใช้ในอุตสหกรรมสร้างหลอดวิทยุสูญญากาศ นอกจากนี้ยังใช้แบเรียมไปผสมกับโลหะอื่น ให้เเป็นโลหะเจือ
สารประกอบของแบเรียม มีประโยชน์ และความสำคัญกว้างขวาง ยิ่งกว่าตัวธาตุแบเรียมเอง ในอุตสหกรรมผบลิตสารประกอบดังกล่าว วิธีการสำคัญคือ ผลิตจากแร่แบไรต์ ๑๗/ ๑๐๖๘๒
๓๒๕๙. โบรมิก - กรด เป็นกรดอนินทรีย์ ลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อนมาก เมื่อตั้งทิ้งไว้ให้ถูกอากาศ จะกลายเป็นสีเหลือง กรดโบรมิก เป็นกรดแก่ และเป็นตัวออกซิไดส์อย่างแรง และไม่เสถียร เว้นแต่จะอยู่ในสภาพที่เป็นสารละลายอย่างเจือจางมาก ในน้ำเท่านั้น นักเคมีชาวฝรั่งเศส ผู้คนพบธาตุโบรมิก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ เป็นผู้ค้นพบกรดนี้
กรดโบรมิก ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำสีย้อมบางประเภท ใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม ๑๗/ ๑๐๖๘๘
๓๒๖๐. โบรมีน เป็นธาตุลำดับที่ ๓๕ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ในธรรมชาติ ธาตุโบรมีนไม่ปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ เพราะธาตุโปรมีนมีความโน้มเอียงอย่างมาก ที่จะรับอีเลคตรอน มาจากธาตุอื่นเกิดเป็นสารประกอบ
น้ำทะเล เป็นวัตถุดิบที่สำคัฐยิ่งในการผลิตธาตุโบรมีน เป็นอุตสาหกรรม
โบรมีน เป็นอโลหะมีสมบัติเป็นตัวออกซิไดส์อย่างแรง จึงสามารถรวมตัวได้อย่างรุนแรง กับธาตุบางธาตุ ให้ผลเป็นสารประกอบโบรไมด์
ประโยชน์ของโบรมีนคือ ใช้ในงานสังเคราะห์ทางเคมี ๑๗/ ๑๐๖๘๙
๓๒๖๑. โปรไมด์ เป็นเกลือของกรดไฮโครโบรมิก ผลของสารประกอบโบรไมด์ที่มีต่อร่างกายคือ ออกฤทธิ์ระงับความกระวนกระวาย และทำให้หลับ
นอกจากใช้สารนี้ในทางเภสัชกรรมแล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมเงินโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญยิ่ง สำหรับผลิตกระจกถ่ายรูป ฟิล์มถ่ายรูป และกระดาษอัดรูป ๑๗/ ๑๐๖๙๒
๓๒๖๒. โบรอน เป็นธาตุลำดับที่ห้า นักเคมีชาวฝรั่งเศสค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑
ในธรรมชาติ ธาตุโบรอนมีปริมาณนอ้ย และปรากฎอยู่ในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ โบรอนเป็นธาตุที่แข็งมาก แต่เปราะเป็นอโลหะ สารประกอบเป็นธาตุโบรอนกับไฮโดรเจน เรียกว่า บอเรน ซึ่งมีหลายสารมีทั้งเป็นแก๊ส ของเหลว และของแข็ง สารประกอบของโบรอน ที่รู้จักกันดีคือ กรดบอริก และบอแรกซ์ ซึ่งเรียกกันว่า น้ำประสารทอง
โบรอน ที่เป็นผลึกใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทรานซิสเตอร์ ธาตุโบรอนดูดกลืนนิวตรอนได้ดี จึงใช้เป็นฉากกำบังและแท่งควบคุม ในเครื่องปฎิกรณ์ปรมาณู ในอุตสาหกรรมทำโลหะเจือหลายชนิด ใช้โบรอนเจือไปด้วย ทำให้โลหะเจือมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นอีกมาก ๑๗/ ๑๐๖๙๔
๓๒๖๓. โบราณคดี - วิชา เป็นวิชาที่ค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุ และโบราณสถาน สิ่งใดที่มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีขึ้นไป จัดเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ ถ้าอายุต่ำกว่านั้นแต่เป็นของดีงาม จัดเป็นศิลปวัตถุสถาน วิชาโบราณคดีต้องเกี่ยวกับการสันนิษฐาน และต้องเกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำขึ้น ถ้าเป็นความจริงแน่นอนไม่ต้องสันนิษฐาน ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป
วิชาโบราณคดี เป็นวิชาที่กว้างขวางจึงต้องเกี่ยวข้องกับวิชามนุษยวิทยา วิชาธรณีวิทยา และวิชาประวัติศิลปกรรม เป็นอย่างยิ่ง ๑๗/ ๑๐๖๙๗
๓๒๖๔. โบสถ์ เป็นศาสนสถานประเภทหนึ่ง ซึ่งพระภิกษุได้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจเกี่ยวกับสังฆกรรมต่าง ๆ โบสถ์ ที่มีอยู่ทั่วไปล้วนสร้างทำรูปทรงเป็นอย่างโรง จึงมีคำสามัญเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรงอุโบสถ
โบสถ์ เป็นอาคารสถานที่มีความสำคัญ เป็นประธานในวัดวาอารามทุกแห่ง เป็นสถานที่พระสงฆ์ในวัดมาประชุม พร้อมกันเพื่อกระทำกิจสังฆกรรม ที่เรียกว่า "ปาฎิโมกขุทเทศ" วันที่ทำเรียกว่า "วันอุโบสถ"
โบสถ์ ที่สร้างในสมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย จะสร้างเป็นเอกเทศต่างหาก ออกไปจากผังแม่บทของวัดคือ ไม่รวมอยู่ในศาสนสถานอื่นในกลุ่มเดียวกัน
การวางตำแหน่งที่ตั้งของโบสถ์ มีคตินิยมว่า จะต้องสร้างโบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกเว้นวัดที่อยู่ริมคลอง หรือแม่น้ำ จึงหันหน้าโบสถ์เข้าสู่ลำน้ำ
ในสมัยอยุธยาตอนต้น คตินิยมในการสร้างโบสถ์เริ่มเปลี่ยนไป โบสถ์มีขนาดใหญ่ขึ้น และสร้างต่อออกไปทางด้านหลัง พระสถูปหรือพระปรางค์ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ความสำคัญของโบสถ์เพิ่มมากขึ้น จึงสถาปนาขึ้นทางด้านหน้าพระสถูป หรือพระปรางค์ที่เป็นองค์ประธานของวัด ตรงที่เคยนิยมสร้างพระวิหารหลวงมาก่อน ในสมัยนี้พระวิหารมีความสำคัญรองลงไป จึงเอาไปสร้างไว้ด้านหลังต่อออกไปจากพระสถูป หรือพระปรางค์ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โบสถ์มีความสำคัญ ยิ่งกว่าพระสถูป พระปรางค์ และพระวิหาร โบสถ์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นองค์ประธานของวัด สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
โบสถ์ เป็นศาสนสถานที่ต่างออกไปจากพระวิหาร หรือศาลาการเปรียญ โดยที่มีซุ้ม และใบเสมา ปักล้อมเป็นที่กำหนดเขตอยู่โดยรอบ ๑๗/ ๑๐๗๐๐
๓๒๖๕.ใบ้ คือ อาการที่บุคคลนิ่งเฉย ไม่พูดทั้งนี้มีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ในบางกรณี ผู้ป่วยไม่เคยเรียนรู้ชีวิต การพูดจึงพูดไม่ได้ บางกรณีผู้เป็นใบ้เคยพูดได้ แต่สมองส่วนที่ควบคุมการพูดพิการ จึงทำให้พูดไม่ได้ จึงอาจจำแนกอาการใบ้ ตามสาเหตุได้ดังนี้
ใบ้เพราะหูหนวก เด็กที่เกิดมาหูหนวก ไม่สามารถได้ยินเสียงจึงเรียนรู้ภาษาพูดไม่ได้
ใบ้เพราะสมองพิการ สมองส่วนที่เกี่ยวกับการพูดการเข้าในพิการไปส่วนมาก อาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน มักจะเป็นอัมพาตร่วมด้วย พบบ่อยในคนสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน อยู่ก่อนแล้ว
ใบ้เพราะปัญญาอ่อน ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาพูดได้ก็จะเป็นใบ้
ใบ้เพราะเป็นโรคจิตเภท มีอาการซึม เฉยไม่พูด ไม่กิน ไม่นอน อยู่ในอิริยาบทใดอิริยาบทหนึ่ง เป็นเวลานานๆ อาการป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ใบ้เพราะเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยพูดไม่ได้ เพราะไม่มีเสียงเพราะมีความเครียด วิตกกังวล ความขัดแย้งในจิตใจอย่างรุนแรง
ใบ้เพราะไม่มีกล่องเสียง เช่นผู้ที่เป็นมะเร็งของกล่องเสียง ๑๗/ ๑๐๗๑๐
๓๒๖๖. ใบขนุน - ปลา เป็นปลาทะเล อาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง หรืออาจอยู่ในทะเลลึก หากินบนพื้น ท้องทะเล มีลำตัวแบนบางแบบ แบนข้าง ตาทั้งสองข้างอยู่ชิดกันบนซีกซ้ายของตัว รูปร่างแบบรูปไข่ หรือยาวรี มีครีบหลัง และครีบก้นยาวมาก เกือบตลอดความยาวของลำตัว ๑๗/ ๑๐๗๑๑
๓๒๖๗. ใบ้คลั่ง เป็นชื่อเพลงทำนองหนึ่งที่มีความไพเราะ เดิมทีเดียวเป็นอัตราสองชั้นเรียกกันว่า "เพลงใบ้คลั่ง บางช้าง" เพราะแต่งขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ทราบว่าแต่งขึ้นแต่ครั้งรัชกาลที่สาม โดยแต่งขึ้นคู่กับเพลงแขกมอญบางช้าง
เพลงใบ้คลั่ง แสดงอารมณ์สมชื่อคือ ไปในทางอัดอั้นตันใจ ในเรื่องความรัก จะพูดจาบอกใคร หรือปรับทุกข์กับใครก็ไม่ได้ ๑๗/ ๑๐๗๑๗
๓๒๖๘. ใบเงินใบทอง เป็นไม้พุ่มสูง ๑ - ๓ เมตร เป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีสีต่าง ๆ เช่น แดงเข้ม คล้ายทองแดง สีเหลืองส้ม สีขาวปนเขียว ฯลฯ ใบรูปมนรีอย่างกว้าง ๆ ช่อดอกสั้นออกที่ปลายกิ่ง ผลมีก้านแข็ง มีเมล็ดสี่เมล็ด ๑๗/ ๑๐๗๑๙
๓๒๖๙. ใบฎีกา มีบทนิยามว่า "หนังสืออาราธนาพระสงฆ์ไปในการทำบุญต่างๆ ตำแหน่งพระฐานานุกรมรองสมุห์ ลงมา"
ในตำแหน่งฐานานุกรมเจ้าอาวาสวัดอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด พระราชาคณะตั้งฐานานุกรมได้ ตามที่กำหนดไว้ในท้ายสัญญาบัตรในชั้นนั้น ๆ พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งนี้มีพัดยศประจำตำแหน่ง ๑๗/ ๑๐๗๑๙
๓๒๗๐. ใบตาล - ปลา ตามปรกติเป็นปลาอยู่ตามหนอง บ่อและทะเลสาบ ตัวใหญ่ที่พบยาว ๓๐ ซม. เป็นปลาที่น่าดู เมื่ออยู่ในอ่างแก้ว เป็นปลาที่อดทน กินเนื้อปลาสดเล็กน้อย แมลง และกุ้ง ๑๗/ ๑๐๗๒๑
๓๒๗๑. ใบระกา เป็นชื่อตัวไม้หรือลวดลายปูนปั้น ลายปั้นดินเผา เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง มีลักษณะเป็นครีบ ๆ ติดกับตัวรวย หรือตัวลำยอง สำหรับประกอบกับช่อฟ้า และหางหงส์ หรือเหรา ติดที่จั่วหลังคา ปีกนกหลังคา ตะเฆ หลังคา หรือซุ้มบรรพ์แถลง ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ซึ่งเกี่ยวกับพระราชมณเทียร ฯ และพุทธศิลป์
คำว่า ใบระกา นี้โบราณาจารย์ได้ให้อรรถาธิบายไว้เป็นสามนัยด้วยกัน โดยอาศัยเทพนิยายเทวกำเนิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ต่อมาทางไทยได้รับอิทธิพลของเทพนิยายนี้ มาประดิษฐ์คิดขึ้นเป็นรูปของสถาปัตยกรรมไทย เทพนิยายดังกล่าวได้แก่ ครุฑ กับนาค และเหรา (จระเข้ + นาค) ช่างโบราณได้ข้อคิดของครุฑจับนาค เอามาคิดประดิษฐ์เป็นเครื่องตกแต่งในทางสถาปัตยกรรมขึ้น ลักษณะของใบระกาที่ใช้ประกอบจั่วหลังคา ตามนัยโบราณคือ
ก. ใบระกาที่เกี่ยวกับครุฑ หมายถึง ขนปีกใต้ท้องแขนครุฑ ส่วนตัวไม้เรียกว่า ช่อฟ้า ก็หมายถึง ส่วนหน้าและอกของครุฑ
ข. ใบระกาที่เกี่ยวกับนาค หมายถึง ครีบสันหลังของนาค (เตยหลังนาค ก็เรียก) ส่วนที่เป็นหัวนาคเรียกว่า หางหงส์ หรือนาคเบือน
ค. ใบระกาที่เกี่ยวกับเหรา นั้น หมายถึง ครีบสันหลังของตัวเหรา การใช้ใบระกาประกอบเหรานี้ นักประดิษฐ์เป็นลวดลายได้ต่าง ๆ ตอนบนสุดเหนืออกไก่ ก็ลดรูปช่อฟ้า (ไม่มีช่อฟ้า ) โดยกำหนดทรงในลักษณะของปั้นลมเรือนไทยโบราณ
สมัยปัจจุบันการวางรูปทรงของจั่วที่มีแต่ใบระกา และหางหงส์ โดยลดรูปช่อฟ้า (ไม่มีช่อฟ้า ) ก็มีเช่น วางเป็นรูปทรงบัวเจิม ๑๗/ ๑๐๗๒๒
๓๒๗๒. ใบเหยียบย่ำ เป็นใบอนุญาตตามแบบพิมพ์หลวง ซึ่งทางการออกให้แก่ผู้จับจองที่ดินตามกฎหมาย อนุญาตให้ผู้นั้นเข้าแผ้วถางครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ระบุไว้ในใบเหยียบย่ำนั้น ปรกติเมื่อผู้รับใบเหยียบย่ำ ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว มีสิทธิขอให้ทางการออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่ดินส่วนที่ได้ทำประโยชน์แล้วนั้นแก่ตน
ใบเหยียบย่ำ นี้เข้าใจกันว่า มีมานานแล้ว เดิมนั้นทราบว่ากำนันเป็นผู้ออก
หลักฐานการออกใบเหยียบย่ำ เพิ่งปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในกฎหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา ปัจจุบันใบเหยียบย่ำได้กลายเป็นคำในประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินไปแล้ว เหลือแต่ใบจองตามกฎหมายใหม่ใช้แทน ๑๗/ ๑๐๗๒๙
ป. ๑๗/ ๑๐๗๓๔
๓๒๗๓. ป. พยัญชนะตัวที่ ๒๗ ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรกลางเป็นตัวที่สองของวรรคห้า ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบ ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ที่เป็นพยัญชนะต้นของคำ หรือพยางค์ในบาลี และสันสกฤต มักแผลงมาเป็นตัว บ ในภาษาไทย
เมื่อแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงในภาษาบาลี และสันสกฤต เป็นพยัญชนะเกิดจากฐานริมฝีปาก เสียงเบา ไม่ก้อง และเป็นพยัญชนะมูคะ (พยัญชนะใบ้) ซึ่งจะใช้ควบ หรือกล้ำในพวกเดียวกันไม่ได้ ๑๗/ ๑๐๗๓๔
๓๒๗๔. ปก เป็นชื่อปลาแก้มช้ำ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด ปักษ์ใต้เรียก ปลาปก (ดู แก้มช้ำ - ลำดับที่ ๖๐๗) ๑๗/ ๑๐๗๓๔