หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/80
    ๓๐๗๗. บางปะกง  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ตอนชายทะเลมีป่าจากและไม้เล็ก ๆ อยู่บ้าง          ๑๖/ ๑๐๒๓๕
                ๓๐๗๘. บางปะหัน  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา
                        อำเภอนี้สมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในแขวงขุนนคร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงขุนนคร ในรัชกาลที่สามได้แยกแขวงนครออกเป็น แขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งแขวงนครใหญ่เป็นสองตอน ตอนเหนือเป็น อ.นครใหญ่ ตอนใต้เป็นนครใน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ ต.บางปะหัน ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนชื่อใหม่ตามตำบลที่ตั้งที่ว่าการ      ๑๖/ ๑๐๒๓๕
                ๓๐๗๙. บางปะอิน  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม เหมาะแก่การทำนา
                        อำเภอนี้ในสมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนอุไทย ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แขวงอุไทยออกเป็นแขวงอุไทยใหญ่ และแขวงอุไทยน้อย ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.บ้านแป้ง ถึงพ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อ อ.อุไทยน้อย เป็น อ.พระราชวัง แล้วย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ บ.เลน ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนเรียกชื่อตามชื่อเกาะบางปะอินว่า อ.บางปะอิน
                       เกาะใน ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน คือ เกาะบางปะอินเดิมเรียกว่าเกาะบ้านเลน เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว เกาะบางปะอินก็กลายเป็นเกาะร้าง ถึงรัชกาลที่สี่ โปรดให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ และปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ในรัชกาลที่ห้าโปรดให้สร้างพระที่นั่งวโรภาสพิมาน วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ         ๑๖/ ๑๐๒๓๖
                ๓๐๘๐. บางพลี  อำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย
                        อ.บางพลี ได้ชื่อนี้เพราะในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง โปรดให้ขุดลอกคลองสำโรงกับคลองทับนาง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปสำริด ณ ที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนาง มีอักษรจารึกชื่อ จึงโปรดให้บวงสรวงพลีกรรมขึ้น ณ ที่นั้น ที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้างบางพลี     ๑๖/ ๑๐๒๓๙
                ๓๐๘๑. บางแพ  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือและตอนใต้เป็นที่ลุ่ม ตอนกลางเป็นที่ดอนมีป่าระนาบเล็กน้อย
                        อ.บางแพ เดิมชื่อ หัวโพ ตั้งอยู่ที่ ต.หัวโพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ แต่ก่อนเรียก อ.ลำพญา ครั้นปี พ.ศ.๒๔๖๐ ย้ายไปตั้งที่ ต.บางแพใต้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.หัวโพ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางแพ           ๑๖/ ๑๐๒๓๙
                ๓๐๘๒. บางมูลนาก  อำเภอขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกเป็นที่ดอนมีเขากันเขต จ.เพชรบูรณ์ นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม
                        อ.บางมูลนาก เดิมเรียกว่า บางขี้นาก เป็นบ้านเก่าอยู่ใกล้ปากคลองบุษบง เป็นท่าขนส่งสินค้าเมืองภูมิทั้งทางบกและทางน้ำ ครั้นตั้งมณฑลพิษณุโลก จึงย้ายเมืองภูมิมาตั้งที่บางมูลนาก ยุบเป็นอำเภอเมืองภูมิมาตั้งที่ จ.พิจิตร เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางมูลนาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑     ๑๖/ ๑๐๒๔๐
                ๓๐๘๓. บางระกำ  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศตามฝั่งแม่น้ำยมเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ดี ทางทิศใต้ เป็นป่าไม้เบญจพรรณ นอกนั้นเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางแห่งเป็นหนองและบึง      ๑๖/ ๑๐๒๔๑
                ๓๐๘๔. บางระจัน  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศตอนเหนือและตอนกลางเป็นป่า ตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                        อ.บางระจัน คือ อ.สิงห์ เดิมเป็นเมืองเก่าสมัยอยุธยาตอนต้น ตัวเมืองเดิมอยู่ทางแม่น้ำน้อยที่ ต.โพสังโฆ ใต้วัดสิงห์ลงมา เมื่อครั้งพม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา คราวเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ชาวบางระจันได้รวมกันตั้งค่ายต่อสู้ข้าศึก รบชนะถึงเจ็ดครั้งจึงเสียค่าย ภายหลังเมืองสิงห์ได้ย้ายมาตั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองนกกระทุ่ง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบางต้นโพ ต.บางมัญ อ.สิงห์บุรี ในสมัยกรุงธนบุรี คราวเดียวกับตั้งเมืองอ่างทอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ จึงตั้ง อ.สิงห์ขึ้นที่เมืองเก่า ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางระจัน          ๑๖/ ๑๐๒๔๑
                ๓๐๘๕. บางรัก  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางรัก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ จึงเปลี่ยนเป็นเขตบางรัก       ๑๖/ ๑๐๒๔๒
                ๓๐๘๖. บางละมุง  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี มีอาณาเขตทิศตะวันตก ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศมีเกาะ ภูเขา และป่าไม้เป็นส่วนมาก มีที่ราบสำหรับการเพาะปลูกบ้างเป็นบางตอน      ๑๖/ ๑๐๒๔๓
                ๓๐๘๗. บางเลน  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ยาวไปตามลำแม่น้ำนครชัยศรีทั้งสองฝั่ง เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ดี ทางฝั่งขวาตอนที่ห่างแม่น้ำออกไปเป็นป่าโปร่ง
                        อ.บางเลน เดิมเรียกว่า อ.บางปลา เพราะสมัยหนึ่งตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.บางปลา ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.บางเลน จึงเปลี่ยนชื่อตามตำบลที่ตั้งที่ว่าการ     ๑๖/ ๑๐๒๔๓
                ๓๐๘๘. บางสะพาน  อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีอาณาเขตทิศตะวันตกจดทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออก จากเหนือไปใต้เป็นที่ราบมีป่า และเขาประปราย ทางทิศตะวันตกจากเหนือไปใต้เป็นป่าและเขา
                        อ.บางสะพาน เดิมเป็นเมืองกำเนิดนพคุณ ขึ้นกลาโหม ยุบเป็น อ.เมืองกำเนิดนพคุณขึ้น จ.ชุมพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ด้วยปี พ.ศ.๒๔๔๙ โอนมาขึ้นเมืองปราณบุรีเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางสะพาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐     ๑๖/ ๑๐๒๔๔
                ๓๐๘๙. บางหลวง  เป็นชื่อคลองในอำเภอต่าง ๆ คือ อ.บางเลน อ.เมืองปทุมธานี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.โพทะเล จ.พิจิตร
                        อนึ่ง คำบางหลวงนี้เป็นชื่อหนึ่งของคลองบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ฯ     ๑๖/ ๑๐๒๔๕
                ๓๐๙๐. บางหอย  เป็นชื่อคลอง ยอดน้ำเกิดในระหว่างเขต อ.ปากพลี กับ อ.เมือง ๑ จ.นครนายก ไหลลงทางทิศใต้ไปในระหว่างเขตนี้ จบไปลงแม่น้ำนครนายกกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๓๕ กม. มีน้ำตลอดปี คลองนี้มีชื่อเรียกอย่างอื่นเป็นตอน ๆ แต่ยอดน้ำลงมาคือ คลองท่าควายแห คลองท่าอิฐ และคลองบางหอย     ๑๖/ ๑๐๒๔๖
                ๓๐๙๑. บางใหญ่  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีนาและสวน
                        อ.บางใหญ่ เดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกกิ่ง อ.บางแม่นาง ต่อมายกฐานะเป็น อ.บางแม่นาง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางใหญ่       ๑๖/ ๑๐๒๔๗
                ๓๐๙๒. บ้าจี้  เป็นโรคอย่างหนึ่ง อาการของโรคนี้มีสองชนิดคือ
                       ชนิดที่หนึ่ง เป็นอาการสะดุ้งตกใจกลัว เมื่อผู้ป่วยถูกจี้หรือทำให้ตกใจ จะมีอาการชะงักหยุดทำในสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ แล้วทำพฤติกรรมอันใหม่ เช่น หัวเราะ ฟ้อนรำ หรือกล่าวคำหยาบออกมาโดยไม่จงใจ และไม่สามารถจะยับยั้งควบคุมไว้ได้
                       ชนิดที่สอง  เมื่อผู้ป่วยถูกจี้หรือทำให้ตกใจ ก็จะพูดหรือแสดงกิริยาเลียนตามบุคคลที่มาทำให้ผู้ป่วยตกใจ และต้องทำตามโดยไม่มีทางขัดขืน จนกว่าคุมที่มาจี้ผู้ป่วยจะหยุดล้อเลียน แม้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมตนเองไม่ได้ แต่ตลอดเวลาที่ถูกจี้ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี และบางครั้งอาจจะพยายามคัดค้านการล้อเล่น ที่ตนต้องฝืนใจกระทำ
                        โรคนี้พบบ่อยในหญิงชวา มาเลเซีย และคนไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองพบมากแต่ปัจจุบันพบน้อยลง   ๑๖/ ๑๐๒๔๗
                ๓๐๙๓. บาเจาะ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส มีอาณาเขตทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง
                        อ.บาเจาะเดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.กาเยาะมาตี ย้ายไปตั้งที่ ต.บาเจาะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๑๖/ ๑๐๒๔๘
                ๓๐๙๔. บาซิลิกา  เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาคารสถานที่ประเภทหนึ่ง ซึ่งชาวโรมันสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการพิจารณาคดี ตัดสินความหรือเพื่อธุรกิจในด้านการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก หมายถึงสถานที่          ๑๖/ ๑๐๒๔๘
                ๓๐๙๕. บาดทะจิต - ลม  เป็นชื่อลมชนิดหนึ่ง เกิดจากเหตุหลายประการ เช่น ตกใจ เสียใจอย่างมาก โมโหสุดขีด จิตใจและอารมณ์ผันผวนอย่างหนัก จิตระส่ำระส่าย เกิดอาการทางประสาท ผู้ป่วยมีความเจ็บแค้นอาฆาตพยาบาทเป็นทุนเดิม เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงใจก็มักจะเกิดความหวั่นไหวของจิตอย่างแรง มีอาการเหมือนมีดบาดหัวใจ ตกใจ และสะดุ้งหวาดผวามาก อาจทำให้สิ้นสติ เสียสติ คลุ้มคลั้ง ทำร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นมากทำให้ตายได้
                        ลมบาดทะจิตนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ โรคบ้านั้นเอง      ๑๖/ ๑๐๒๕๑
                ๓๐๙๖. บาดทะพิษ - โรค  เกิดจากการอักเสบมีเชื้อโรคเข้าทางแผล ซึ่งเกิดจากการถูกแทง ถูกฟัน หรือถูกทิ่มตำจากไม้กลัดหนาม หรือตะปูที่มีสนิม หรือแผลที่เป็นอยู่นั้นกลายเป็นพิษขึ้นมา เพราะรักษาความสะอาดไม่พอ ลักษณะแผลจะมีอาการอักเสบ บวม มีอาการเจ็บปวดมาก เจ็บปวดเข้าหัวใจ เกิดการชักกระตุก ซึ่งปรากฏภายใน ๒๔ ชม. มักรักษาไม่ทัน แต่พอมีโอกาสหายได้ ถ้ารักษาทันท่วงที ขณะที่โลหิตยังไม่มีพิษ
                       โรคบาดทะพิษนี้ตรงกับโรคทางแพทย์แผนปัจจุบันคือ โรคบาดทะยัก    ๑๖/ ๑๐๒๕๓
                ๓๐๙๗. บาดทะยัก - โรค  เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมเตตะนีเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เชื้อนี้เจริญได้ดีในที่ไม่มีอากาศ มีสปอร์ซึ่งทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก อาจอยู่ได้เป็นปี ๆ เมื่อได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โรคนี้จะกลับฟื้นใหม่ได้อีก ตรวจพบเชื้อนี้ได้ในมูล (ลำใส้) ของสัตว์หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์พวกม้า และวัวควาย บางคราวพบได้ในอาหารที่บริโภค ทำให้เชื้อนี้เข้าไปอยู่ในลำใส้ของคนได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคในรายที่มีผนังเยื่อเมือกบุลำใส้ปรกติ
                        เชื้อบาดทะยักก่อให้เกิดโรคแก่คนได้ด้วยการเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เมื่อเชื้อเข้าสู่บาดแผลแล้วจะเพิ่มจำนวนขึ้นในบริเวณนั้น อย่างรวดเร็วแล้วสร้างพิษพร้อมไปด้วย
                        เมื่อเชื้อเข้าสู่บาดแผลแล้วยังไม่ได้ทำให้เกิดอาการทันที ต้องอาศัยระยะเวลาฟักตัว จะปรากฎอาการระหว่าง ๒ - ๕๐ วัน อาการของโรครุนแรงมาก ถ้าระยะเวลาฟักตัวสั้น บางคราวพบอาการล่าไปมาก คือแผลตกสะเก็ดแล้วจึงมีอาการ
                        เมื่อเป็นโรคนี้และหายแล้วจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าเกิดบาดแผลที่สกปรกในคราวต่อไป ก็ควรได้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักไว้ด้วย     ๑๖/ ๑๐๒๕๓
                ๓๐๙๘. บาดาล ๑  คืออาณาบริเวณ และสภาวะแวดล้อมรวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต เช่น ปลาน้ำลึกในทะเล หรือในพื้นที่ท้องมหาสมุทรที่ลึกตั้งแต่ ๒,๐๐๐ เมตร ลงไปเป็นบริเวณที่ไม่มีแสงสว่าง อุณหภูมิต่ำ และไม่เปลี่ยนแปลง มีความกดสูง มักมีแต่พวกโคลนตมทับถมกันอยู่ ตะกอนที่ตกสะสมเหล่านี้ เรียกตะกอนชั้นบาดาลที่ราบบนพื้นท้องมหาสมุทร ในบริเวณนี้เรียกพื้นราบชั้นบาดาล ในบริเวณพื้นราบชั้นบาดาล และในแอ่งซึ่งมีสันเขาเนิน และร่องลึกคั่นอยู่นี้ ปรกติมักจะพบเขาที่สูง โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐๐ - ๒๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๐ เมตร เรียกเขาชั้นบาดาล         ๑๖/ ๑๐๒๕๙
                ๓๐๙๙. บาดาล ๒  คือน้ำใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทรายหรือหิน ซึ่งอยู่ลึกจากผิวดิน เกินความลึกที่รัฐมนตรีกำหนด แต่จะกำหนดความลึกน้อยกว่าสิบเมตรไม่ได้      ๑๖/ ๑๐๒๕๙
                ๓๑๐๐. บาดาล ๓  คือนาคพิภพ หรือเมืองที่อยู่ของพญานาค ตามความเชื่อถือมาแต่โบราณว่าอยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปเจ็ดชั้น       ๑๖/ ๑๐๒๕๙
                ๓๑๐๑. บาตร  เป็นภาชนะของนักบวชสำหรับอาหาร นักบวชก่อนพุทธกาลที่เรียกกันว่า นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ใช้วัตถุต่าง ๆ เป็นบาตร เช่น ผลน้ำเต้าแห้ง
                       ในวินัยพุทธบัญญัติ บาตรเป็นบริขารดั้งเดิม สำหรับตัวของภิกษุด้วยอย่างหนึ่ง เป็นคู่กับไตรจีวร ที่อนุญาตไว้มีสองชนิดคือ บาตรดินเผา สุมให้ดำสนิทขัดผิวรมเป็นมันอย่างหนึ่ง ห้ามไม่ให้ใช้ของอื่นแทนบาตร บาตรชนิดอื่นก็ห้ามใช้รวมสิบเจ็ดอย่างคือ บาตรเงิน บาตรทอง บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์ บาตรแก้วผลึก บาตรแก้วหุง บาตรทองแดง บาตรทองเหลือง บาตรดีบุก บาตรสังกะสี บาตรไม้ ฝาบาตรและเชิงบาตรเป็นของเกิดมีภายหลัง
                       บาตรดังกล่าวภิกษุมีสำหรับตัวได้เพียงใบเดียว โปรดให้อธิฐานคือ ตั้งเอาไว้สำหรับใช้ประจำเกินกว่านั้นไม่ได้    ๑๖/ ๑๐๒๖๐
                ๓๑๐๒. บาท - เงิน  เป็นหน่วยเงินตราไทยในปัจจุบันซึ่งเท่ากับ ๑๐๐ สตางค์ ใช้วัดมูลค่าสินค้า และบริการต่าง ๆ มูลค่าที่วัดออกมาเป็นบาทเรียกว่าราคา
                        คำว่า บาท ของหน่วยเงินตราไทย สันนิษฐานว่า คงมาจากคำว่าบาทที่เป็นหน่วยตามมาตรา ซึ่งน้ำหนักของไทย ทั้งนี้ตามประวัติเงินตราของแต่ละประเทศ สมัยเมื่อยังใช้โลหะเงิน และทองคำเป็นเงินตรานั้น การซื้อขายและเปลี่ยนสินค้าตกลงกันเป็นหน่วยน้ำหนัก ของโลหะเงินและทองคำ
                        ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงมาตราเงินไทยมาเป็นบาทและสตางค์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๑ เพราะมาตราเดิมไม่สะดวกในการคำนวณ และการลงบัญชี
                        การกำหนดค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งโดยเทียบกับน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ หรือหน่วยเงินตราสกุลอื่น ๆ หรือไม่ระยะหลังกับสิทธิพิเศษถอนเงินตามนัย ข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งในระยะหลังเรียกว่า ค่าเสมอภาคนั้น กรณีเงินบาทก็มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ประเทศไทย ได้เริ่มประกาศกำหนดค่าของบาท เป็นน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ และหน่วยปอนด์สเตอริง ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยอัตราค่าเทียบเท่าของบาทได้เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ อยู่ตลอดมา เช่น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๔ อัตรา ๑ บาท ต่อมาน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๖๖๕๖๗ กรัม และ ๑๑ บาท ต่อ ๑ ปอนด์สเตอลิง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๙ อัตรา ๑ บาท ต่อทองคำบริสุทธิ์ ๐.๒๕๙๗๔ กรัม และ ๑ บาท ต่อ ๑ เยนญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๘ อัตรา ๑ บาท ต่อ น้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๐๗๑๐๙๓๗ กรัม และ ๓๕ บาท ต่อ ๑ ปอนด์สเตอลิง กับ ๑๒.๕๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ อัตรา ๑ บาท ต่อน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๐๔๒๗๒๔๕ กรัม และ ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ อัตรา ๑ บาท ต่อ ทองคำ ๐.๐๓๙๓๕๑๖ กรัม และ ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.๒๕๑๖ อัตรา ๑ บาท ต่อ ๐.๐๓๕๔๑๖๔ กรัม และ คงค่า ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
                       ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ยกเลิกการกำหนดค่าเสมอภาคของบาท และเปลี่ยนหลักการที่ต้องผูกพันค่าของบาทกับทองคำ และค่าของดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว เป็นการผูกโยงแลกเปลี่ยนของบาทอยู่กับค่าของเงินตราต่างประเทศหลายสกุลประสมกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของบาท และช่วยทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น    ๑๖/ ๑๐๒๖๓
                ๓๑๐๓. บาทหลวง  บางทีเขียนว่า บาดหลวง เป็นคำไทยที่ใช้เรียกนักบวชของศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่นักบวชในนิกายโรมันคาทอลิก ปัจจุบันคำว่าบาทหลวงหมายถึง นักบวชที่มีสมณศักดิ์ของคริสต์ศาสนา เช่น บิชอป หรือสูงกว่านั้น แต่ปัจจุบัน ใช้ในความหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ  ไป ของคริสต์ศาสนา โดยไม่จำกัดฐานะและสมณศักดิ์        ๑๖/ ๑๐๒๖๖
                ๓๑๐๔. บ้าน  มีบทนิยามว่า "ที่อยู่, บริเวณที่เรือนตั้งอยู่ ถิ่นที่มีมนุษย์อยู่ หมู่บ้าน"
                        โดยเหตุที่บ้านและเมืองมีลักษณะใกล้เคียงกัน ในคำพูดธรรมดาจึงใช้คำซ้อนกันว่า "บ้านเมือง" หมายความว่า เป็นเขตซึ่งเป็นที่อยู่ของชุมนุมชน เป็นคำรวมอย่างกว้าง ๆ ไม่จำกัดว่าเป็นบ้านเป็นเมืองหรือประเทศ
                        บ้านกับเรือน มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เรียกซ้อนกันว่า "บ้านเรือน" คือสิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่ เช่น ปลูกเรือนว่าปลูกบ้าน มีเรือนว่ามีบ้าน    ๑๖/ ๑๐๒๖๙
                ๓๑๐๕. บ้านกรวด  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ มีอาณาเขตทิศใต้จดทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ภูมิประเทศเป็นป่าดงและป่าทึบ มีที่ราบทำนา ทำไร่ ได้ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมด
                        อ.บ้านกรวด แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ประโคนชัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘           ๑๖/ ๑๐๒๗๖
                ๓๑๐๖. บ้านเขว้า  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเนิน มีภูเขาและโดยทั่ว ๆ ไปเป็นป่าโปร่ง
                        อ.บ้านเขว้า เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองชัยภูมิ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑           ๑๖/ ๑๐๒๗๖
                ๓๑๐๗. บ้านค่าย  อำเภอขึ้น จ.ระยอง ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ตอนลุ่มน้ำระยองเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
                        อ.บ้านค่ายตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๔๔       ๑๖/ ๑๐๒๗๖
                ๓๑๐๘. บานชื่น  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศเมกซิโก พันธุ์ไม้นี้มีต้นเล็กสูงเพียง ๓๐ - ๗๕ ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามไม่มีก้านใบ รูปร่างคล้ายรูปไข่ ค่อนข้างยาว ๔ - ๑๐ ซม. กว้าง ๓ - ๕ ซม. มีขนคายอยู่ทั่วไปทั้งใบ และลำต้น
                       ดอกออกที่ยอด รูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ - ๘ ซม. ยาว ๑๐ - ๒๐ ซม. มีสีต่าง ๆ  แทบทุกสี        ๑๖/ ๑๐๒๗๗
                ๓๑๐๙. บ้านด่านลานหอย  อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศเป็นป่าและที่ราบในบางตอน
                        อ.บ้านด่านลานหอยเดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น จ.เมืองสุโขทัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖           ๑๖/ ๑๐๒๗๘
                ๓๑๑๐. บ้านดุง  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                        อ.บ้านดุงแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.หนองหาน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖         ๑๖/ ๑๐๒๗๘
                ๓๑๑๑. บ้านตาก  อำเภอขึ้น จ.ตาก ภูมิประเทศทางทิศเหนือ และทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขา มีต้นไม้หนาแน่น สองฝั่งแม่น้ำปิง เป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ดีตลอด
                        อ.บ้านตาก เป็นที่ตั้งเมืองตากเก่า ซึ่งย้ายไปตั้งที่บ้านระแหงในรัชกาลที่สอง ยังเขียนปรากฎอยู่ มีวัดเก่าเรียกวัดพระธาตุ และมีเจดีย์แบบสุโขทัยเรียกกันว่า เจดีย์ชนช้าง ครั้งสมัยพ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน    ๑๖/ ๑๐๒๗๘
                ๓๑๑๒. บ้านตาขุน   อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นภูเขา และป่าทึบ ประมาณสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด
                        อ.บ้านตาขุนแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ขึ้น อ.คีรีรัฐนิคม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖         ๑๖/ ๑๐๒๘๐
                ๓๑๑๓. บานทะโรค  เป็นคำที่แพทย์แผนโบราณเรียกโรคริดสีดวงทวารหนักระยะสุดท้าย มีติ่งออกมาจากทวารหนัก บวมโป่งเป่งจนเป็นก้อนจุกอยู่ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ เพราะมีการอักเสบอย่างมาก ทำให้เจ็บปวด มีเลือดออกนั่งไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายอุจาระและปัสสาวะไม่ออก
                        การรักษาที่ดีคือ ระวังไม่ให้ท้องผูกเป็นพรรดึก ต้องกินอาหารที่ทำให้ท้องไม่ผูก     ๑๖/ ๑๐๒๘๐
                ๓๑๑๔. บ้านแท่น  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่งทั่วไป ด้านเหนือเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก ด้านตะวันออก และตะวันตก เป็นที่ราบสูงและภูเขา
                        อ.บ้านแท่น แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขึ้น อ.ภูเขียว ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕         ๑๖/ ๑๐๒๘๔
                ๓๑๑๕. บ้านนา  อำเภอขึ้น จ.นครนายก ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าและเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้
                        อ.บ้านนา เดิมตั้งที่ว่าการที่ท่าหุบ ต.ท่าช้าง แล้วย้ายไปตั้งที่ วังกะเบิ้ง ต.ดงยาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ แล้วเปลี่ยนชื่อ ต.ดงยางเป็น ต.บ้านนา ให้ตรงกับชื่ออำเภอได้โอนไปขึ้น จ.สระบุรี อยู่คราวหนึ่ง ครั้งยุบ จ.นครนายกไปขึ้น จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ครั้นตั้ง จ.นครนายกใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ จึงโอนกลับมาขึ้น จ.นครนายก ตามเดิม      ๑๖/ ๑๐๒๘๔
                ๓๑๑๖. บ้านนาสาร  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งเป็นป่าสูง อำเภอนี้มีเขาหนองเป็นเขาสูงสุดของอำเภอ แม่น้ำตาปีไหลผ่าน มีซากเมืองเก่าสมัยศรีวิชัย เรียกว่า เมืองเวียงสระ มีเจดีย์ปราสาทคูเมือง และมีพระพุทธรูปหินอ่อนในสมัยเดียวกัน
                       อ.นาสาร เดิมเรียกว่า อ.ลำพูน ตั้งอยู่ที่บ้านนา และมีอำเภออื่น ๆ รวมอยู่ด้วยสี่อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาได้แยกและตัดแบ่งท้องที่เป็นอำเภอและตำบลต่าง ๆ หลายคราวในที่สุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้โอน อ.ลำพูนมาขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านนาสาร          ๑๖/ ๑๐๒๘๕
                ๓๑๑๗. บ้านบึง  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศตอนใต้เป็นภูเขา ป่าและเนินสูง ตอนกลางเป็นที่ราบสูง ตอนเหนือเป็นที่ราบต่ำ
                        อ.บ้านบึง เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑      ๑๖/ ๑๐๒๘๖
                ๓๑๑๘. บานบุรี  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ ปลูกเป็นไม้ประดับ มีสองชนิดคือ บานบุรีเหลือง กับบานบุรีม่วง เป็นไม้สูงเลื้อย ทรงต้นเป็นพุ่มแต่ปลายกิ่ง ใบออกรอบข้อ ๓ - ๔ ใบ รูปยาวรี ดอกออกเป็นช่อ โคนติดกันเป็นท่อแคบ ๆ ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. แล้วผายออกเป็นรูปโค้ง และระฆัง ปลายสุดแยกเป็นกลีบมน ๆ ห้ากลีบ      ๑๖/ ๑๑๒๘๖
                ๓๑๑๙. บ้านโป่ง  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน ตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                        อ.บ้านโป่งเคยเป็นที่ตั้งค่ายในเวลาซ้อมรบเสือป่า กองอาสาสมัครรักษาดินแดนในรัชกาลที่หก เป็นชุมทางสำคัญแห่งหนึ่ง มีทางรถไฟสายใต้ติดต่อ จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม มีสถานที่ชุมทางหนองปลาดุก แยกไปกาญจนบุรี - สุพรรณบุรี        ๑๖/ ๑๐๒๘๗
                ๓๑๒๐. บ้านผือ  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศตอนใต้จากตะวันออกไปตะวันตกเป็นที่สูงเป็นดงใหญ่และค่อยๆ ลาดเทลงไปทางเหนือ ตอนตะวันออกเป็นเนินสูง มีโคกและป่าโปร่ง โดยมากเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ตอนใต้เหมาะแก่การทำสวน ตอนกลางเป็นที่ราบลาดเอียงไปทางเหนือ มีห้วย และลำธารผ่านหลายสาย ไหลไปทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขง
                        อ.บ้านผือ ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐      ๑๖/ ๑๐๒๘๘
                ๓๑๒๑. บ้านไผ่  อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีทุ่งและป่าโปร่งเป็นจำนวนมาก เป็นชุมทางของทางหลวงสายต่าง ๆ ที่มาจาก อ.เมืองขอนแก่น อ.ปัญจาคีรี และจาก จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด      ๑๖/ ๑๐๒๘๙
                ๓๑๒๒. บ้านพลูหลวง - ราชวงศ์  เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๓๑๐ สมเด็จพระเพทราชาทรงตั้งราชวงศ์นี้ โดยทำการปราบดาภิเษกมีพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา คือ
                        ๑. สมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖)
                        ๒. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ) (พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑)
                        ๓. สมเด็จพระภูมินทรราชา (พระเจ้าท้ายสระ) (พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕)
                        ๔. สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)
                        ๕. สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ.๒๓๐๑)
                        ๖. สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐)     ๑๖/ ๑๐๒๙๐
                ๓๑๒๓. บ้านแพง  อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขต ทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศมีภูเขามาก
                        อ.บ้านแพง เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ท่าอุเทน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙     ๑๖/ ๑๐๒๙๘
                ๓๑๒๔. บ้านแพรก  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบต่ำ หน้าน้ำน้ำท่วม อ.บ้านแพรกเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.มหาราช ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒       ๑๖/ ๑๐๒๙๙
                ๓๑๒๕. บ้านแพ้ว  อำเภอขึ้น จ.สมุทรสาคร ภูมิประเทศส่วนมากเป็นทุ่งนา ทางตะวันออกมีสวนบ้าง ทางตะวันตกมีไร่ผักเล็กน้อย
                         อ.บ้านแพ้ว เดิมเป็นตำบลขึ้น อ.บ้านบ่อ ต่อมาได้ยุบ อ.บ้านบ่อแล้วยกท้องที่ในอำเภอที่ยุบนี้บ้างใน อ.สามพราน จ.นครปฐม บ้างมารวมตั้งเป็น อ.บ้านแพ้ว      ๑๖/ ๑๐๒๙๙
                ๓๑๒๖. บ้านโพธิ ๑  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศตอนตะวันออกส่วนมาก เป็นที่ดอน มีป่าไม้ย่อย ๆ บ้าง ตอนเหนือใต้และตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ทำการเพาะปลูกได้ทั่ว ๆ ไป
                        อ.บ้านโพธิ เดิมเรียกว่า อ.สนามจันทร์ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านโพธิ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการ     ๑๖/ ๑๐๓๐๐
                ๓๑๒๗. บ้านโพธิ ๒  เป็นชื่อคลองใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตั้งต้นใน ต.บ้านโพธิ ไหลลงไปทางใต้ สุดท้ายไปลงคลองสองพี่น้องใน ต.วัดโบสถ์ ยาว ๓๖ กม. มีน้ำตลอดปี คลองนี้บางตอนมีลักษณะเป็นบึง และมีชื่อเรียกอย่างอื่นเป็นตอน ๆ       ๑๖/ ๑๐๓๐๐
                ๓๑๒๘. บ้านม่วง  อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นป่า
                        อ.บ้านม่วง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑     ๑๖/ ๑๐๓๐๑
                ๓๑๒๙. บานไม่รู้โรย  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในเขตร้อนของอเมริกา มีลำต้นค่อนข้างแข็ง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเล็ก ๆ สูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบรี ก้านใบสั้น ดอกกลมคล้ายลูกบอลเล็ก ๆ ออกที่ปลายกิ่งมีสามสีคือ ขาว ชมพู และม่วงแดง ส่วนที่เป็นดอกนี้แท้จริงเป็นช่อดอก ซึ่งประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ อัดกันอยู่แน่น เมล็ดมีขนาดเล็กสีดำเป็นมัน      ๑๖/ ๑๐๓๐๑
                ๓๑๓๐. บานเย็น  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกมีหัวอยู่ใต้ดิน ต้นสูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามรูปไข่ ดอกบานเย็นตอนเย็นมีห้ากลีบ ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มีสามสีคือ ขาว แดง และเหลือง
                        บานเย็นมีสรรพคุณทางสมุนไพร  ในอินเดียและชวาใช้ใบมาบด ทำเป็นยาพอกรักษาบาดแผลที่ถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก เมล็ดที่บดละเอียดนำมาใช้ทำแป้งผัดหน้า      ๑๖/ ๑๐๓๐๒
                ๓๑๓๑. บ้านไร่  อำเภอขึ้น จ.อุทัยธานี ภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าทึบทั่วไปมีที่ราบทำนาได้ เป็นส่วนน้อย ข้าวที่ทำเป็นข้าวไร่เป็นพื้น จึงได้นามว่าบ้านไร่
                        อ.บ้านไร่ เดิมชื่อ อ.หนองแวง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คอกควาย ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๘ ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.บ้านไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านไร่      ๑๖/ ๑๐๓๐๓
                ๓๑๓๒. บ้านลาด อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือ และตอนตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่าไม้และภูเขา
                        อ.บ้านลาด คือ อ.ท่าช้าง ซึ่งเดิมเป็นตำบลขึ้น อ.เมืองเพชรบุรี แยกตั้งเป็น อ.ท่าช้าง แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๑๖/ ๑๐๓๐๔
                ๓๑๓๓. บ้านสร้าง  อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบ       ๑๖/ ๑๐๓๐๔
                ๓๑๓๓. บ้านหมอ  อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศตอนตะวันออกเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขามาก ตอนกลางตอนเหนือและตอนใต้เป็นที่ราบ แต่ค่อนข้างดอน ตอนตะวันตกเป็นที่ราบลุ่ม
                        อ.บ้านหมอ เดิมเป็น อ.หนองโดน ตั้งอยู่ที่ ต.หนองโดน ซึ่งแต่ก่อนเป็นเมืองเรียกว่า เมืองปรันตปะ หรือเมืองพระพุทธบาท แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.บางโขมด ต่อมายุบเป็น อ.พระพุทธบาท แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ขุนโขลน แล้วย้ายกลับมาที่ ต.บางโขมดอีก ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านหมอ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.หนองโดน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หนองโดน ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๔ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านหมอ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านหมอ     ๑๖/ ๑๐๓๐๕
                ๓๑๓๕. บ้านหมี่  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกและใต้ เป็นที่ราบนอกนั้นเป็นป่าเขา อำเภอนี้เดิมตั้งอยู่ที่ตลาดห้วยแก้ว ต.บางพึ่ง ย้ายมาตั้งที่ ต.บ้านเช่า เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านเช่า ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อ ต.บ้านเช่า เป็น ต.บ้านหมี่ และ อ.บ้านเช่าเป็น อ.บ้านหมี่          ๑๖/ ๑๐๓๐๖
                ๓๑๓๖. บ้านแหลม  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
                        อ.บ้านแหลม ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ ยุบเสียชั่วคราว แล้วตั้งใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖         ๑๖/ ๑๐๓๐๖
                ๓๑๓๗. บ้านโฮ่ง  อำเภอขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศเป็นป่าและเขา
                        อ.บ้านโฮ่ง เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ป่าซาง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙      ๑๖/ ๑๐๓๐๗
                ๓๑๓๘. บ้าบ๋า  เป็นชื่อเรียกชนชาวมลายูดั้งเดิมที่เป็นชายเกิดจากพ่อเป็นชาวจีน แม่เป็นหญิงพื้นเมืองชาวมลายู ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชายลูกผสมหรือพันทาง ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า ย่าหยา
                        การแต่งกาย ผู้ชายแต่งเหมือนจีน ผู้หญิงแต่งเหมือนมลายู โดยนุ่งโสร่งปาเต๊ะ และสวมเสื้อผ่าอกตลอด แล้วกลัดเข็มกลัดซึ่งมีโซ่ผูกติดพันเป็นสามช่อ     ๑๖/ ๑๐๓๐๗
                ๓๑๓๙. บ้าบิ่น  เป็นขนมที่สุกด้วยการอบหรือผิง เป็นขนมแห้งรสหวานมัน มีประวัติว่าเป็นขนมของฝรั่งชนิดหนึ่ง       ๑๖/ ๑๐๓๐๘
                ๓๑๔๐. บาปเคราะห์  เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้โทษ มีกำเนิดจากธาตุน้ำ เช่นเดียวกับดาวศุภเคราะห์ ดาวเคราะห์บางเหล่าผ่านอาทิตย์เพียงครั้งเดียว บางเหล่าต้องผ่านอาทิตย์ถึงสองครั้ง
                        เหล่าที่ผ่านอาทิตย์เพียงครั้งเดียว และรวมทั้งอาทิตย์เองด้วย มีกำลังในตัวมากอยู่แล้ว แล้วเลยไปครองอกุศลธาตุ คือธาตุไฟ และธาตุลม จัดเป็นเหล่าบาปพระเคราะห์ได้แก่ อาทิตย์ (๑)  อังคาร (๓)  เสาร์ (๗)  และราหู (๘)  บาปเคราะห์นั้นอยู่ทิศเฉียง ฝ่ายศุภเคราะห์อยู่ทิศตรง ฐานะหรือตำแหน่งบาปเคราะห์ และศุภเคราะห์ต้องสลับกันอยู่เสมอ     ๑๖/ ๑๐๓๑๐
                ๓๑๔๑. บาพนม  เป็นชื่อภูเขาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา ใกลักับปากแม่น้ำโขง มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองวยาธปุระ ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรฟูนัน อันเป็นอาณาจักรแรกสุดที่รู้จักกันในแหลมอินโดจีน มีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๒ นั้น คงตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขาบาพนมนี้ และใกล้กับหมู่บ้านบุนัมในปัจจุบัน  ๑๖/ ๑๐๓๑๕
                ๓๑๔๒. บายน - ปราสาท  เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาทราย พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ทรงสร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นศูนย์กลางของเมืองพระนครหลวง หรือพระนครธม และสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
                        ปราสาทบายน มีอาณาเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑๔๐ x ๑๖๐ เมตร ด้านหน้าคือทางทิศตะวันออก มีลานยาวย่อมุมประด้วยด้วยสิงห์ ทวารบาล และนาคราวลูกกรง ซึ่งมีรูปครุฑกำลังยุดนาคทั้งสองข้างของลานทางเข้า มีร่องรอยของสระโบราณตั้งอยู่
                        ปราสาทบายน ประกอบด้วยปราสาททั้งหมดห้าสิบหลัง  ยอดของแต่ละหลังสลักเป็นรูปหน้าคน ขนาดใหญ่อยู่ทั้งสี่ทิศ หน้าเหล่านี้อาจเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมันตมุข และอาจมีเค้าของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด แต่บางท่านก็บอกว่าเป็นพักตร์ของพระพรหม ปราสาทเหล่านี้คงหมายถึงแคว้นต่าง ๆ ในราชอาณาจักรขอมในขณะนั้น
                        ปราสาทบายนไม่มีกำแพงล้อมรอบ เพราะถือว่ากำแพงล้อมรอบชั้นนอกก็คือ กำแพงเมืองพระนครหลวงนั้นเอง แต่มีระเบียงล้อมสองชั้น มีภาพสลักบนระเบียงทั้งสองชั้น ภาพสลักส่วนใหญ่มักสลักเป็นภาพการยกทัพ และการรบพุ่งทางเรือระหว่างกองทัพขอมกับกองทัพจาม ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด
                        คำว่า บายน นักปราชญ์ฝรั่งเศสยังใช้เป็นชื่อเรียกสมัยของศิลปะขอม ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐          ๑๖/ ๑๐๓๑๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch