หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/78
     ๒๙๙๔. บรมราชาธิราช - สมเด็จพระ ในสมัยอยุธยามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า "บรมราชาธิราช"  รวมสี่พระองค์
                        สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว) (พ.ศ.๑๙๑๓ - ๑๙๓๑)  เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สาม และนับกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นโอรสเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ (อู่ทอง) พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ก่อนขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ พระเจ้าแผ่นดินขอมแปรพักตร์ไป สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) โปรดให้ยกกองทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ราชธานีของขอมได้ ยังผลให้ขยายอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา ทางด้านตะวันออกไปอย่างกว้างขวาง
                         พระองค์ทรงยกทัพไปตีแดนสุโขทัยจนถึงเมืองชากังราว (ชื่อเดิมเมืองกำแพงเพชร)  ในปี พ.ศ.๑๙๑๕ แต่ถูกกองทัพสุโขทัยต้านทานไว้ได้ ต่อมาได้ทรงคุมกองทัพไปตีเมืองชากังราวอีกครั้ง พระมหาธรรมราชาที่สอง ผู้ครองกรุงสุโขทัยทรงยอมแพ้ อาณาจักรสุโขทัยจึงกลายเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงแบ่งอาณาจักรสุโขทัยออกเป็นสองภาคคือ ภาคเหนือและภาคใต้  ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำยมและน่าน โปรดให้พระมหาธรรมราชาที่สอง ปกครองในฐานะประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มีเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลาง นอกจากนี้ก็มีเมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร และเมืองสวรรคโลก เป็นต้น  ภาคใต้ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองกำแพงเพชร เมืองตาก และเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น โปรดให้พระยาญาณดิสโอรสบุญธรรมไปปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
                        การได้อาณาจักรสุโขทัยเป็นประเทศราช ทำให้อาณาจักรลานนา อาณาจักรอยุธยากลายเป็นศัตรูต่อกัน เพราะชาวลานนาได้ลงมาช่วยกองทัพสุโขทัยต่อสู้กับกองทัพกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในปี พ.ศ.๑๙๒๓ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง ได้คุมกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถตีเมืองลำปางได้ ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทรงประชวรสวรรคตเสียกลางทาง
                       สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พ.ศ.๑๙๖๗ - ๑๙๙๑)  เจ้าสามพระยาโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗ นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ด ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงสามารถในการปกครองพระราชอาณาจักรเช่น ตีกรุงกัมพูชาและทำลายกำลังที่จะเป็นอิสระเสีย แล้วเอาลูกเธอตั้งเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง และตั้งลูกเธออีกพระองค์หนึ่งไปครองราชธานีฝ่ายเหนือเป็นครั้งแรก
                       ในปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระเจ้าธรรมาโศก แห่งกรุงกัมพูชาได้เข้ามากวาดต้อนผู้คนในอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง จึงทรงคุมกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๕ ตั้งล้อมนครหลวงอยู่เจ็ดเดือนได้ แล้วกวาดต้อนผู้คน และสิ่งสำคัญสำหรับบ้านเมืองเข้ามาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ทรงตั้งพระอินทราชา พระราชโอรสให้อยู่ครองกรุงกัมพูชา ที่นครหลวง ในฐานะเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทำให้กัมพูชาย้ายราชธานีไปตั้งที่อื่น ในที่สุดก็ตั้งขึ้นที่เมืองพนมเปญ
                        ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สอง ทรงตั้งพระราเมศวร พระราชโอรสไปครองหัวเมืองเหนือ ณ เมืองพิษณุโลก โดยรวมภาคเหนือ และภาคใต้เข้าด้วยกัน พระองค์ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ แต่ไม่สำเร็จ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๙๑
                      สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม (พ.ศ.๒๐๓๑ - ๒๐๓๔)  เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา ได้กลับเป็นราชธานีตามเดิม ส่วนพระเชษฐา พระราชโอรสองค์ที่สอง คงเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองเหนือทั้งปวง ณ เมืองพิษณุโลก
                       ในแผ่นดินของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองทวายไปครั้งหนึ่ง แต่พระองค์ยกทัพไปตีเอาเมืองทวายกลับคืนมาได้ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๓๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เก้า ที่ครองกรุงศรีอยุธยา
                      สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ (พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๐๗๖)  พระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๐๗๒ ทรงเป็นราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบเอ็ด ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เรียกอีกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชา หน่อพุทธางกูร"  ส่วนทางหัวเมืองเหนือคงจะได้ตั้ง พระไชยราชา ผู้เป็นพระน้องยาเธอ ต่างพระชนนี ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ ทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖          ๑๖/ ๑๐๐๔๔
                ๒๙๙๕. บรรณาการ  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่ส่งไปให้ด้วยความเคารพ หรือด้วยไมตรี" ประเพณีการส่งสิ่งของให้กัน มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่สี่ ยกเลิกในรัชกาลที่ห้า
                        มูลเหตุของประเพณีนี้ เนื่องมาจากสัมพันธภาพ ระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยกับประเทศจีน แต่โบราณด้วยเรื่องไปมาค้าขายถึงกันทางทะเล แต่ประเพณีจีนในครั้งนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปค้าขายต้องมีเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายได้โดยสะดวก เรียกว่า จิ้นก้อง (ดู จิ้มก้อง ลำดับที่ ๑๔๑๕ ประกอบด้วย)
                        จีนได้ตั้งประเพณีไว้ว่า ชาวต่างประเทศที่จะนำสินค้าไปขายยังประเทศจีน จะต้องจัดเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน และจะต้องมีพระราชสาสน์ ของพระมหากษัตริย์ที่ครองประเทศนั้น ๆ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีนด้วย ในสมัยกุบไลข่าน ประเทศไทยในสมัยสุโขทัยได้ส่งราชทูตไปประเทศจีน เริ่มแต่รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ในปี พ.ศ.๑๘๓๗ เป็นต้นมา และได้ส่งไปอีกสี่ครั้งในปี พ.ศ.๑๘๓๘,๑๘๔๐ และ ๑๘๔๑
                        ในสมัยอยุธยาได้ส่งพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้ากรุงจีนรวม ๖๐ ครั้ง ส่วนประเทศจีนก็ได้จัดส่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการ มาถวายพระมหากษัตริย์ไทยเป็นการตอบแทนหลายครั้ง
                         ในสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยกับประเทศจีน ยังคงมีสัมพันธไมตรีต่อกันเรื่อยมา เพิ่งเลิกมาถือปฎิบัติในรัชกาลที่สี่ และเลิกลับไปโดยสิ้นเชิงนับแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๔ เป็นต้นมา       ๑๖/ ๑๐๐๔๙
                ๒๙๙๖. บรรณาธิการ  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ผู้คัดเลือกเรื่องราวอันเป็นข้อเขียน มารวมพิมพ์ไว้เป็นเล่ม หรือเป็นหมวดหมู่ หมายความว่า ผู้เป็นใหญ่ รับผิดชอบในเรื่องที่พิมพ์ไว้ด้วย มีบทนิยามว่า "ผู้รวบรวมและจัดเลือกเฟ้นเรื่องลงพิมพ์"        ๑๖/ ๑๐๐๕๕
                ๒๙๙๗. บรรณารักษ์  มีบทนิยามว่า "ผู้รักษาหนังสือห้องสมุด"  งานบรรณารักษ์จัดเป็นงานวิชาการ ผู้ที่จะประกอบอาชีพบรรณารักษ์ จะต้องศึกษาวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย        ๑๖/ ๑๐๐๖๑
                ๒๙๙๘. บรรณารักษศาสตร์  หมายถึง วิชาการของบรรณารักษ์ครอบคลุมถึงการศึกษาเรื่องหนังสือ และวิธีปฎิบัติงานทั้งหมดในห้องสมุดทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ
                         วิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ โดย เมลวิน ดิวอี ชาวอเมริกันได้จัดตั้งโรงเรียนบรรณรักษศาสตร์แห่งแรกขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย การศึกษาบรรณรักษศาสตร์ในประเทศไทยได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ในขณะนั้นเรียกว่า วิชาจัดห้องสมุด จัดขึ้นในรูปแบบการศึกษาภาคพิเศษ ในตอนเย็น ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         ๑๖/ ๑๐๐๖๖
                ๒๙๙๙. บรรดาศักดิ์  คือ ยศ หรือยศศักดิ์ ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  ทรงตั้งขึ้นแบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย นอกจากนี้ ยังทรงตราพระไอยการ ตำแหน่งนาพลเรือน และพระไอยการ ตำแหน่งนาทหาร หัวเมือง ดังปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเรียกกันว่า ทำเนียบศักดินาของเจ้านายและข้าราชการ
                        ในทำเนียบ (ศักดินา) นั้น มีตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงสุด เป็นเจ้าพระยา ห้าคน คือ
                        ๑. เจ้าพระยามหาอุปราช  ๒. เจ้าพระยาจักรี  ๓. เจ้าพระยามหาเสนาบดี  ๔. เจ้าพระยาสุรสีห์ (เจ้าพระยาพิษณุโลก)  ๕. เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (เจ้าพระยานครศรีธรรมราช)
                        หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี .ศ.๒๔๗๕ ได้งดพระราชทานบรรดาศักดิ์ข้าราชการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา         ๑๖/ ๑๐๐๗๖
                ๓๐๐๐. บรรพชา  เป็นคำแผลงมาจากคำบาลีว่า ปพฺพชฺชา คือ การบวชแปลตามศัพท์ว่า เว้นทั่ว หมายถึง เว้นเมถุนธรรม เว้นอาหารกลางคืน สองข้อนี้เป็นสำคัญของการบวช แปลโดยอรรถว่า ถึงความประเสริฐเป็นพรหมจรรย์ บรรพชานี้เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว การบวชที่มีมาก่อนพุทธกาลนั้น บวชโดยวิธีอธิษฐานตน ถือเพศเป็นนักบวช
                       ในครั้งพุทธกาล ปรากฎในพระสูตรต่าง ๆ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น นักบวชแยกกันออกเป็นหลายลัทธิ หลายนิกาย เป็นฤาษี ดาบส ชฎิล ปริพาชก อาชีวก อเจลก มีติตถกร คือ เจ้าลัทธิตั้งเป็นสำนักใหญ่หกสำนัก เรียกกันว่า ครูทั้งหก แยกออกเป็นลัทธิถึง ๖๒ ลัทธิ ในบาลี พรหมชาลสูตร สีลขันธวรรค ทีฆนิกาย เรียกว่า ทิฐิ ๖๒
                       คติเรื่องบวช ทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีการบวชด้วยวิธีอธิษฐานเพศ มีแต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นต้นวงศ์ พระองค์เดียวเท่านั้น
                       คำว่า บรรพชา หมายเอาการบวชทั่วไป รวมทั้งอุปสมบทด้วย ก็มี
                       บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นสามเณร อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระภิกษุถือเป็นหลักมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว
                       ขณะนี้ คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทใช้อยู่สองวิธีคือ ใช้รับเด็กบวชเป็นสามเณรด้วยวิธีสรณาคมน อุปสมบทอย่างหนึ่ง ใช้รับกุลบุตรบวชเป็นพระภิกษุ ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา อุปสมบทอย่างหนึ่ง         ๑๖/ ๑๐๐๗๙
                ๓๐๐๑. บรรพชิต  คือ นักบวชเป็นบุคคล ผู้เสียสละทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ลูกเมีย พร้อมทั้งวงศาคณาญาติ ออกบวชด้วยวิธีอธิษฐานถือเพศเป็นนักบวช และด้วยวิธีบรรพชาอุปสมบท ตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์ ตามลัทธินิกายของศาสนานั้น ๆ ที่เรียกกันว่า ฤาษี นักสิทธิ์ ดาบส ปริพาชก นิครนถ์ อาชีวก อเจลก ชี บาทหลวง สามเณร พระภิกษุ         ๑๖/ ๑๐๐๘๕
                ๓๐๐๒. บรรพตพิสัย  อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศทางเหนือ ส่วนมารกเป็นป่าทึบ นอกจากนั้นเป็นที่ลุ่มทั่ว ๆ ไป
                        อ.บรรพตพิสัย เคยเป็นเมือง แต่ไม่มีข้อความอันใดในประวัติศาสตร์        ๑๖/ ๑๐๐๘๕
                ๓๐๐๓. บรรษัท  เป็นคำแผลงมาจากคำว่า บริษัท  หมายถึง หมู่ผู้แวดล้อมมารวมกันเข้าหุ้นส่วน ทำการค้าขาย หรือองค์กรสาธารณ ความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ เป็นองค์กรธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคล หลายบุคคลมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยที่มีกฎหมายรับรอง
                        เฉพาะในประเทศไทย องค์กรที่อยู่ในรูปบรรษัท ที่มีอยู่ในขณะนี้มีเพียงบรรษัทเดียว คือ บรรษัทเงินทุนเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นับเป็นสถาบันการเงินแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ระดมเงินออมจากแหล่งต่าง ๆ และกระจายต่อไปยังผู้ลงทุน โดยที่ลักษณะของการให้บริการแตกต่างไปจากสถาบันการเงิน ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน หรือบริษัทเงินทุน        ๑๖/ ๑๐๐๘๕
                ๓๐๐๔. บรัดเลย์  เป็นนายแพทย์ และมิชชันนารีเพรสไบทีเรียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๔๑๔)  ได้เดินทางทางเรือจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยภริยา ถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ โดยใช้เวลาเดินทางหนึ่งปี ในชั้นแรกได้พักอยู่ในบ้านเล็ก ๆ กับครอบครัวจอห์นสัน ซึ่งเป็นมิชชันนารี คณะอเมริกันบอร์ด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีรับสั่งให้ หมอบรัดเลย์ ไปเยี่ยมพวกทาส และเชลย ซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคฝีดาษ และอหิวาตกโรค
                        ผลงานด้านสาธารณประโยชน์ของนายแพทย์บรัดเลย์ มีอยู่หลายประการ นอกจากการเผยแพร่คริสต์ศาสนาแล้ว อาจแบ่งเป็นสองด้านใหญ่คือ ด้านการแพทย์ และด้านการศึกษา
                        ด้านการแพทย์ ได้ริเริ่มการผ่าตัดแผนปัจจุบันครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ การริเริ่มปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ นับได้ว่าเป็นผู้นำวิธีป้องกันไข้ทรพิษ มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก
                        ด้านการศึกษา ได้มีบทบาทในการเกื้อหนุนการศึกษาทางอ้อม โดยเป็นผู้นำแท่นพิมพ์หนังสือไทยเข้ามาเป็นแท่นแรก
                        งานพิมพ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างจริงจัง เริ่มแต่การพิมพ์ ตำราปลูกฝี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ตำราสูติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ โดยให้ชื่อว่า คัมภีร์ครรภ์รักษา ตำราสอนภาษาอังกฤษ ชื่อแบบเรียนประถมศึกษา เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ ปฎิทินภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๔ ได้พิมพ์หนังสือกฎหมายไทย เป็นที่รู้จักในนาม กฎหมายหมอบรัดเลย์ พ.ศ.๒๔๐๗ พิมพ์หนังสือพระราชพงศาวดารไทย พ.ศ.๒๔๐๘ พิมพ์วรรณคดีเรื่อง สามก๊ก พ.ศ.๒๔๑๐ พิมพ์หนังสือกิจจานุกิจ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
                        ผลงานสำคัญยิ่งของ นายแพทย์ บรัดเลย์ อีกประการหนึ่งคือ การแต่งพจนานุกรมสยาม  ซึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ และหนังสือชื่อ อักขราภิธานศรับท์
                        นายแพทย์บรัดเลย์ ได้ทำงานอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยตลอดชีวิต จนถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ รวมเวลาที่อยู่ในประเทศไทยนานถึง ๓๘  ปี        ๑๖/ ๑๐๐๘๗
                ๓๐๐๕. บรั่นดี  เป็นชื่อใช้เรียก สุราชนิดแรงที่กลั่นจากเหล้าองุ่น แต่ถ้าเป็นชนิดที่กลั่นจากน้ำผลไม้อื่น ๆ หลังจากการหมักแล้ว ก็เรียกว่า บรั่นดีผลไม้ คำว่า บรันดี มาจากคำในภาษาดัตช์ หมายถึง การให้ความร้อนแก่เหล้าองุ่นเพื่อกลั่น
                        บรั่นดี และสุราชนิดอื่น ๆ เมื่อบรรจุขวดแล้ว ไม่ว่าจะเก็บไว้นานเท่าใด ก็ไม่มีผลทำให้คุณภาพดีชึ้นไปกว่าก่อนบรรจุขวด        ๑๖/ ๑๐๐๙๔
                ๓๐๐๖. บริการ  มีบทนิยามว่า "ช่วย, เกื้อกูล"  แต่ความหมายซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หมายถึง บริการทางด้านแรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ ผู้รับบริการจึงมักจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน จึงนับเป็นเศรษฐทรัพย์ เช่นเดียวกับสินค้า และสิ่งผลิตทั้งหลาย บริการทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และนับรวมเป็นการผลิตอย่างหนึ่งของประเทศ        ๑๖/ ๑๐๐๙๕
                ๓๐๐๗. บริขาร  เป็นเครื่องใช้สอยของนักบวช ในพระพุทธศาสนา และนอกพระพุทธศาสนา กำหนดโดยทั่วไปก็ได้แก่ เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับบุคคล ที่มีภาวะอย่างนั้น ๆ มีบทนิยามว่า "เครื่องใช้สอยของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา มีแปดอย่างคือ สบง จีวร สังฆาฎิ บาตร มีดโกน หรือมีดตัดเล็บ เข็มทั้งด้าย ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ        ๑๖/ ๑๐๐๙๖
                ๓๐๐๘. บริคณห์ - สิน  เป็นกองทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามกฎหมาย ประกอบด้วย ทรัพย์สินสองประเภทคือ ทรัพย์สินที่สามี หรือภริยา มีอยู่ก่อนสมรส และได้นำมารวมเป็นกองทุน มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินเดิม กับอีกประเภทหนึ่งเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรส ได้มาระหว่างสมรสมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินสมรส
                        บริคณห์ หรือสินบริคณห์ นี้ เป็นคำในกฎหมาย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามกฎหมายผัวเมีย ครั้นมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวบรวมกฎหมายเก่า ก็ยังใช้คำนี้
                        เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง สินบริคณห์ จะแยกกันโดยผลของกฎหมาย
                        คำว่า สินบริคณห์นี้ ได้สิ้นสุดลงเมื่อประกาศใช้ประมวล กม.แพ่งพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๑๙ กฎหมายฉบับนี้ จำแนกทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไว้เป็นสองประเภทคือ สินส่วนตัว และสินสมรส         ๑๖/ ๑๐๐๙๘
                 ๓๐๐๙. บริคณห์สนธิ  ตามรูปคำแปลว่า รวมกันก่อตั้งคือ เป็นหนังสือก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้ริเริ่มก่อการบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน รวมใจกันทำขึ้นตามข้อกำหนดของกฎหมาย ในการจัดตั้งบริษัทจำกัด ผู้เริ่มก่อการจะต้องนำไปจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง ก่อนบอกกล่าวป่าวร้องไห้ คนภายนอกมาเข้าชื่อซื้อหุ้น เมื่อมีผู้เข้าซื้อหุ้นครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหลายของบริษัทจะต้องร่วมกันจัดทำข้อบังคับของบริษัทฉบับละเอียดขึ้น อีกฉบับหนึ่งจึงจะจดทะเบียนตั้งบริษัทได้         ๑๖/ ๑๐๑๐๒
                 ๓๐๑๐. บริษัท  โดยความหมายแยกได้เป็นสองความหมายคือ
                        ๑. ในความหมายทั่วไป หมายถึง หมู่เหล่า เช่น ชาวพุทธ เรียกพุทธบริษัท
                        ๒. ในความหมายตามกฎหมาย มีความหมายแคบกว่าความหมายสามัญที่กล่าวมาแล้วคือ หมายถึง นิติบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลหลายคนรวมกันตั้งขึ้น เพื่อประกอบการค้าขายหากำไรมาแบ่งปันกัน
                        บริษัท มักจะมีคำว่า จำกัด ต่อท้ายชื่อเสมอ เป็นคำที่กฎหมายบังคับให้มี เห็นเนื่องจากความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น มีจำกัดเท่าจำนวนค่าหุ้นที่ตนถือ         ๑๖/ ๑๐๑๐๘
                ๓๐๑๑. บรูก, เซอร์ เจมส์  เป็นชาวอังกฤษ เคยได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เดินทางมาเจรจา ขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แต่ไม่สำเร็จ
                        เซอร์ เจมส์ บรูก  เป็นนักการทูตและนักปกครองที่สามารถ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และรอบรู้ในกิจการตะวันออกได้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไว้หลายเล่ม เป็นผู้รักชาติบ้านเมืองไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน เป็นผู้ที่รักมนุษยชาติโดยไม่คำนึงถึงเผ่า และผิวเป็นผู้นำความเจริญมาสู่ซาราวัก         ๑๖/ ๑๐๑๑๒
                 ๓๐๑๒. บวชชี  เป็นของหวานชนิดหนึ่ง ใช้กล้วยสุกจัดต้มกับกะทิ รสไม่หวานจัด มีรสเค็ม ผสมอยู่ด้วย นิยมใช้เป็นของหวานพื้น ๆ กล้วยที่นิยมนำมาบวชชีคือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ก็ใช้อยู่บ้าง          ๑๖/ ๑๐๑๒๒
                 ๓๐๑๓. บวน  มีบทนิยามว่า "ชื่อแกงชนิดหนึ่ง"         ๑๖/ ๑๐๑๒๒
                 ๓๐๑๔. บวบ  เป็นคำกลาง ๆ  ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้สามชนิดที่ปลูกเพื่อเก็บผลอ่อน ซื้อขายบริโภคเป็นประเภทผัก พันธุ์บวบทั้งสามชนิดบอกถึงลักษณะแตกต่างกันด้วยคือ  บวบเหลี่ยม บวบหอม และบวบงู
                         คำ บวบ ในบางท้องถิ่นก็นำเอาไปใช้เรียก พรรณกล้วยไม้ชนิดที่มีลูกกล้วย คล้ายบวบเหลี่ยมว่า "บวบกลางหาว"  อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไปใช้เรียกแพไม้ไผ่ ที่ผูกติดกันแล้วใช้เป็นทุ่น หรือเป็นพาหนะ ล่องตามลำน้ำว่า แพลูกบวบ        ๑๖/ ๑๐๑๒๓
                ๓๐๑๕. บวรนิเวศวิหาร - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ เมื่อแรกสร้างชาวบ้านเรียก วัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ชาวบ้านยังคงเรียกโดยโวหารสั้น ๆ ว่า วัดบน
                        สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างในรัชกาลที่สาม วัดนี้ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ขณะยังทรงผนวชได้เสด็จมาประทับเป็นองค์ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว มีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางแพร่ขยายของนิกายนี้ ให้เจริญก้าวหน้าสืบมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา และเสด็จมาประทับจำพรรษา ณ วัดนี้ นอกจากนั้น วัดนี้เป็นสถานที่ให้การศึกษาชั้นสูง ทางฝ่ายพระพุทธศาสนาคือ สภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายสงฆ์ คณะธรรมยุติกนิกาย และเป็นที่ตั้งมหาเถระสมาคม
                ๓๐๑๖. บหลิ่ม  เป็นชื่อเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครเพลงหนึ่ง คำนี้ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร บหลิ่ม นี้มักใช้ประกอบการฟ้อนรำของเทพยดา นางฟ้า หรือไม่ก็ใช้ร้องบรรยายสิ่งสวยงามของบุษบก ที่เลื่อยลอยไปเองอย่างในเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นต้น
                        เพลงบหลิ่ม เป็นเพลงหนึ่งที่รวมอยู่ในชุดระบำสี่บท อันประกอบด้วยเพลงสำคัญ ๆ สี่เพลงด้วยกันคือ เพลงพระทอง เบ้าหลุด บหลิ่ม หรือปวะหลิ่ม และสระบุหร่ง        ๑๖/ ๑๐๑๓๒
                ๓๐๑๗. บ่อเกิดรามเกียรติ์ - หนังสือ  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ โปรด ฯ ให้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ โดยมีพระราชประสงค์จะวิเคราะห์ที่มาของรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ ของไทย        ๑๖/ ๑๐๑๓๓
                ๓๐๑๘. บอง ๑ - เสือ  เป็นเสือขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เสือไฟก็เรียก มีขนาดใหญ่กว่าเสือปลามาก ชอบอยู่ทั้งในป่าดง และตามป่าแล้ง แต่พบตามป่าโปร่งมากกว่า ชอบหากินสัตว์เล็ก ๆ ตามพื้นดิน เช่น หนูและกระต่าย มีอายุประมาณ ๑๘ ปี         ๑๖/ ๑๐๑๓๕
                ๓๐๑๙. บอง ๒ - งู  เป็นชื่อที่ชาวบ้านทางปักษ์ใต้ มักชอบเรียกงูใหญ่ ๆ หลายชนิดว่า งูบอง เช่น งูบองหลา, งูบองพลำ เป็นต้น  (ดู บ้องตะลา - ลำดับที่ ๓๐๑๙ ประกอบด้วย)         ๑๖/ ๑๐๑๓๗
                ๓๐๒๐. บ้องตะลา  - งู  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตะยองสะลา งูชนิดนี้ก็คือ งูทับสมิงคลา ซึ่งเป็นงูในสกุลเดียวกับงูสามเหลี่ยม เมื่อโตเต็มที่จะเล็กกว่างูสามเหลี่ยมเล็กน้อย มีความว่องไวปราดเปรียว และดุกว่า งูสามเหลี่ยม ชอบออกหากินเวลาพลบค่ำ และตอนเช้ามืด กินงูชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร        ๑๖/ ๑๐๑๓๗
                ๓๐๒๑. บ้องไฟ หรือบั้งไฟ  เป็นดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาว ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ หรือกระบอกเหล็ก บรรจุด้วยดินปืน มีขนาดตามแต่ประสงค์ของผู้ทำ ที่มีขนาดใหญ่มีสองชนิดคือ บ้องไฟหมื่น กับบ้องไฟแสน บ้องไฟหมื่น ใช้ดินปืนหนัก ๑๒ กก. บ้องไฟแสน ใช้ดินปืนหนัก ๑๒๐ กก. บรรจุ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทวาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมือง นิยมทำในเดือนหกของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประชาชนในประเทศลาว เนื่องในประเพณีขอฝนให้ตกต้องฤดูกาล อันเนื่องมาจากความเชื่อถือตามนิยาย ที่เล่าถึงมูลเหตุว่า พระพรหมกับพญานาค เป็นมิตรกันและสัญญาว่า ปีหนึ่งจะส่งข่าวกันครั้งหนึ่ง ถ้าปีใดพญานาคสบายดี ก็ให้ทำบ้องไฟจุดขึ้นไปบนสวรรค์ เมื่อพระพรหมเห็นบ้องไฟ  ถ้าพระพรหมสบายดี ก็จะส่งข่าวตอบลงมายังพญานาค โดยสั่งให้พระพิรุณ ทำฝนตกลงมา เมื่อพญานาคเห็นฝน ก็จะทราบเรื่องตามสัญญา เหตุนี้ที่จัดทำกันในต้นฤดูฝน เป็นงานประจำปีก็คือ ทำพิธีขอฝน ดังกล่าว           ๑๖/ ๑๐๑๓๙
                ๓๐๒๒. บอน  เป็นพันธุ์ไม้จำพวกหนึ่ง ชอบขึ้นอยู่ตามชายน้ำ หรือที่ลุ่มมีน้ำขัง ลำต้นเป็นหัวเล็ก ๆ จมอยู่ในดินโคลน แล้วมีใบงอกโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา หัวเล็ก ๆ นี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ก็จะเป็นไหลงอกทอดเลื้อยชอนไปเกิดเป็นต้นใหม่ได้เรื่อย ทำให้ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว บอนต้นหนึ่ง ๆ จะมีใบประมาณ ๔ - ๖ ใบ แต่ละใบมีก้านยาวตอนโคนเป็นกาบ ใบสีเขียวอ่อนเกือบขาว มีนวลคลุม ดอกออกเป็นช่ออยู่ในกาบ ช่อดอกมีก้านยาว ทุกส่วนของบอนมีน้ำยางขุ่น ๆ คล้ายน้ำซาวข้าว และเหนียว เมื่อถูกผิวหนังจะคัน
                        มนุษย์แต่โบราณรู้จักคัดเลือกเอาพันธุ์ที่มีหัวโต มีแป้งมาก ไปปลูกแล้วเก็บหัวไปบริโภคกันมากในภาคพื้นทวีปอาเซียนี้ แต่เรียกเป็น เผือก ไป            ๑๖/ ๑๐๑๔๖
                ๓๐๒๓. บ่อพลอย  อำเภอ ขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นป่า อุดมไปด้วยเทือกเขา และพันธุ์ไม้หลายชนิด
                        อ.บ่อพลอย เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.เมืองกาญจนบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖           ๑๖/ ๑๐๑๔๗
                ๓๐๒๔. บอระเพ็ด ๑  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง เถาบอระเพ็ดเป็นปุ่มปม แตกต่างไปจากไม้เถาอื่น ๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน รูปใบคล้ายรูปหัวใจ ดอกบอระเพ็ดมีขนาดเล็กมาก สีนวลหรือเขียวอ่อน ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกกันอยู่คนละต้น
                        เถาบอระเพ็ด มีรสขมมาก ใช้เป็นสมุนไพร สรรพคุณเป็นยา แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ          ๑๖/ ๑๐๑๔๘
                ๓๐๒๕. บอระเพ็ด ๒  บึงใน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เป็นบึงกว้างใหญ่ มีพื้นที่มากถึง ๑๓๐,๐๐๐ ไร่ ยาว ๑๒ กม. ตอนบนออกแม่น้ำผ่านที่ใต้บ้านเกรียงไกร และมีแม่น้ำท่าสุ่ม ไหลมาลงในบึงนี้ ทางด้านตะวันออก ที่ บ.สามง่าม อ.เมืองนครสวรรค์ มีสถานีเพาะพันธุ์ปลา และเป็นที่สงวนพันธุ์ปลา        ๑๖/ ๑๐๑๔๙
                ๓๐๒๖. บอลลูน  เป็นอากาศยานประเภทเบากว่าอากาศ ลักษณะเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ ภายในบรรจุด้วยอากาศร้อน หรือด้วยแกสที่มีน้ำหนักเบามากคือ แกสไฮโดรเจน หรือแกสฮีเลียม เมื่อบรรจุแกส ดังกล่าวแล้ว จะเกิดแรงยกขึ้นทำให้ตัวบอลลูน ลอยขึ้นได้
                        การบังคับให้บอลลูน ลอยสูงขึ้น หรือต่ำลง กว่าระดับสมดุลเป็นปัญหายุ่งยาก
                        ผู้ประดิษฐ์บอลลูนขึ้นเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ เป็นชาวฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖        ๑๖/ ๑๐๑๔๙
                ๓๐๒๗. บะซอลต์  เป็นหินอัคนีพุ หรือหินภูเขาไฟ ชนิดหนึ่ง มีเนื้อละเอียด สีคล้ำเกือบดำและหนัก จัดเป็นหินอัคนีชนิดเป็นด่าง
                        ในบรรดาหินอัคนีด้วยกัน นอกจากหินแกรนิตแล้ว หินบะซอลต์ เป็นหินที่พบมากที่สุด โดยปรกติจะพบเกิดในบริเวณใหญ่ ๆ อยู่สองบริเวณคือ บนเปลือกโลก ในมหาสมุทร เรียกหินบะซอลต์ในมหาสมุทร และพบเกิดบนเปลือกโลก ในทวีปเรียก หินบะซอลต์ในทวีป หินบะซอลต์ที่ปกคลุมตามพื้นท้องมหาสมุทร มีพื้นที่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผิวโลกทั้งหมด
                        หินบะซอลต์ เคลื่อนตัวสู่พื้นผิวโลก ในรูปของลาวา โดยการเคลื่อนผ่านรอยแตกแยกในเปลือกโลก และเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว
                        หินบะซอลต์ ที่พบในประเทศไทย มีหลายแห่งด้วยกันคือ
                        ๑. ภาคเหนือ พบที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และแพร่
                        ๒. ภาคกลาง  พบที่จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์
                        ๓. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
                        ๔. ภาคตะวันออกเฉียงใต้  พบที่จังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
                        หินบะซอลต์ ของประเทศไทย บางบริเวณ เช่น ที่จังหวัดแพร่ กาญจนบุรี ศรีษะเกษ  อุบลราชธานี จันทบุรี และตราด เป็นต้น กำเนิดที่ให้พลอยชนิดทับทิม และซัฟไฟร์ ที่มีชื่อเสียงของโลก
                        ตามปรกติ หินบะซอลต์ ที่ให้พลอยนั้น พบเพียงไม่กี่แห่งในโลก         ๑๖/ ๑๐๑๕๕
                ๓๐๒๘. บัคเตรี เป็นสิ่งที่มีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์ เซลล์เดียว มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายอย่างน้อย ๙๐๐ เท่าขึ้นไป จึงจะมองเห็นรูปร่างลักษณะได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กจึงเรียกรวม ๆ ว่า จุลชีพ หรือจุลินทรีย์ บัคเตรีเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยการแบ่งตัวอย่างง่าย ๆ จากหนึ่งเป็นสอง และทวีคูณเรื่อยไป
                        ทางชีววิทยาถือว่า บัคเตรีเป็นพืชชนิดหนึ่ง บัคเตรีกระจายอยู่ทั่วไป และแพร่หลายมากที่สุดจะตรวจพบได้ทุกแห่งในอากาศ ในน้ำ ในดิน ตามต้นไม้ ในร่างกายสัตว์ อาจตรวจพบได้ในบรรยากาศสูงขึ้นไป ถึงระดับ ๖,๐๐๐ เมตร หรือในทะเลลึก ลงไปถึง ๔,๘๕๐ เมตร บ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง ๗๕ องศาเซลเซียส หรือในทะเลน้ำแข็ง ยังอาจตรวจเชื้อบัคเตรีพบ
                        บัคเตรี มีอยู่หลายชนิดหลายประเภท แต่มิได้ทำให้เกิดโรคแก่มนุษย์ หรือสัตว์ได้ทุกชนิด บางชนิดต้องการเพียงจะอาศัยอยู่เท่านั้น บางชนิดก็เพียงทำให้เกิดโรค เรียกว่า เชื้อโรค  (ดูจุลชีพ และจุลินทรีย์ เชื้อโรค ประกอบด้วย)
                        ขนาดและรูปร่างของบัคเตรี มีขนาดเล็กมาก หน่วยที่ใช้วัดจึงใช้ว่าไมครอน ๑ ไมครอนมีความยาวเท่ากับหนึ่งในพันของมิลลิเมตร กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย ๙๐๐ เท่า จึงจะเห็นบัคเตรีที่มีขนาดไมครอนให้เห็นได้ขนาดประมาณ ๑ มม.เท่านั้น
                        การแบ่งตัวของบัคเตรีต้องการอาหารที่ประกอบด้วยน้ำ สารอนินทรีย์ วิตามิน เป็นต้น บางชนิดต้องการออกซิเจน บางชนิดไม่ต้องการ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตนั้นก็แตกต่างกันออกไป ตามปรกติบัคเตรีที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม ๓๗ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของร่างกายคนปรกติสำหรับการเจริญเติบโต
                        บัคเตรีบางชนิดให้คุณแก่ร่างกายเช่นบัคเตรีในลำไส้ช่วยสังเคราะห์วิตามินบีรวมและวิตามินเคให้แก่ร่างกาย บัคเตรีบางชนิด สามารถสร้างสารปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาโรคได้      ๑๖/ ๑๐๑๖๓
                ๓๐๒๙. บัคเตรีวิทยา  เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบัคเตรีทุกชนิดโดยเฉพาะ ทั้งนี้อาจรวมจุลชีพอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับบัคเตรีด้วย
                        ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อบัคเตรีและเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ก้าวหน้าไปมากมีสาขาวิชาอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา ทำให้เกิดวิชาใหม่ขึ้นเรียกว่าจุลชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาถึงจุลชีพทั้งหมด         ๑๖/ ๑๐๑๖๖
                ๓๐๓๐. บังกาโล  ใช้เรียกชื่อเรือนแบบหนึ่ง ซึ่งปลูกเป็นที่อยู่อาศัยเป็นการถาวร รูปทรงของเรือนโดยมากทำผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นเรือนสูง ขนาดคนเดินรอดได้ พื้นที่รอบตัวเรือนมักต่อทำเป็นระเบียง มีหลังคาพาไลคลุม แต่ละด้านทำพนักติดลูกกรงโปร่ง ๆ รอบทุกด้าน หลังคาโดยมากทำเป็นทรงจั่วล้ม ไม่ตั้งจั่วตรงเช่นที่ทำในเรือนไทย ทรงหลังคาคล้ายรูปปิรามิด แต่ต่างตรงยอดตัดตรง
                        เรือนบังกาโล เป็นแบบเรือนซึ่งชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอังกฤษนำเข้ามาปลูกในเมืองไทย เริ่มแต่ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ         ๑๖/ ๑๐๑๖๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch