|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/76
เล่ม ๑๖ นิ่ว - บุพพาราม ลำดับที่ ๒๙๔๒ - ๓๑๘๕ ๑๖/ ๙๘๔๑ - ๑๐๔๖๐
๒๙๔๒. นิ่ว คือ สารซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มักพบเสมอในทางเดินปัสสาวะและอาจพบได้บ้างในอวัยวะอื่น ๆ เช่น ในถุงหรือท่อน้ำดี ในท่อตับอ่อน ในท่อต่อมน้ำลาย และในท่อต่อมลูกหมาก
การเกิดของนิ่ว เกิดได้เพราะมีการรวมตัวจับเป็นก้อนของสาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบในน้ำหลั่งของอวัยวะนั้น ๆ ๑๖/ ๙๘๔๑
๒๙๔๓. นิ้ว เป็นส่วนประกอบของมือ (ขาหน้าในสัตว์ และเท้า (ขาหลังในสัตว์) เฉพาะในคนมีข้างละห้าเท่ากันทั้งมือและเท้า จำนวนอาจลดน้อยลงในสัตว์บางชนิด
ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นบริเวณที่รับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดีกว่าหลายส่วนของร่างกาย ใยประสาทที่กระจายเข้าสู่นิ้วมือและนิ้วเท้า ปลายประสาทเหล่านี้จะดัดแปลงเป็นปลายประสาทต่าง ๆ เช่นปลายประสาทรับสัมผัสความร้อนเย็นและน้ำหนักที่กด
เล็บที่ปลายของนิ้วมือและนิ้วเท้า มีการดัดแปลงผิวหนังบริเวณนั้น โดยเฉพาะเซลล์ชั้นนอกเกิดเป็นแผ่นหนาป้องกันบริเวณเหล่านั้น หรือใช้เป็นอวัยวะป้องกันตัวของสัตว์ รวมเรียกว่าเล็บ เป็นส่วนประกอบของนิ้ว ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีส่วนเป็นนิ้วยื่นออกมา ๑๖/ ๙๘๕๐
๒๙๔๔.นิวยอร์ก - เมือง ตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ในมลรัฐนิวยอร์ก เป็นเมืองสำคัญ และมีอิทธิพลในกิจการของโลก อย่างหาเมืองใดเปรียบได้ยาก เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก
เมืองนิวยอร์กเป็นเมืองเกาะ มีเพียงส่วนหนึ่งซึ่งไม่กว้างขวางนัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่
เมืองนิวยอร์ก แบ่งออกเป็นห้าเขตคือ บรองซ์ บรุคลิน แมนฮัตตัน ควีนส์ และริชมอนด์
นิวยอร์ก มีชายฝั่งยาว ๗๒๕ กม. ท่าเรือจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ท่าเรือนิวยอร์กให้บริการกว้างขวางมาก มีสายการเดินเรือประมาณ ๒๐๐ สาย สายการบินมากกว่า ๕๐ สาย ๑๖/ ๙๘๘๙
๒๙๔๕. นิวรณ์ คือสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม หรือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี ได้แก่อกุศธรรม ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก และในคัมภีร์วิภังค์ อภิธรรมปิฎก ท่านกล่าวไว้ห้าอย่างคือ
๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม หรือความต้องการกามคุณ
๒. พยาบาท ความปองร้ายหรือคิดร้าย
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ใจหรือความเชื่อมซึม
๔. อุธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านและร้อนใจ หรือความกระวนกระวาย กลุ้มกังวลใจ
๕. วีจิกิจฉา ความลังเลสงสัย หรือความไม่แน่นอนใจ
ธรรมที่จะทำให้บรรลุคุณความดีนั้นท่านเรียกว่า สมถกรรมฐาน แปลว่าที่ตั้งแห่งการงานเพื่อความสงบ หัวใจของสมถกรรมฐานได้แก่สมาธิ คือการรักษาจิตให้แน่วแน่ ใจจะแน่วแน่ต้องเป็นใจที่อบรมดีแล้ว และที่ถือว่าแน่วแน่นั้น ต้องเป็นใจที่ปลอดจากนิวรณ์ทั้งห้าดังกล่าวแล้ว เมื่อใจแน่วแน่เป็นใจอบรมดีแล้ว ย่อมเห็นอรรถเห็นธรรมแน่ชัด ทำอะไรย่อมสำเร็จ
วิธีทำให้ใจปลอดจากนิวรณ์ ต้องเจริญกรรมฐาน ซึ่งท่านจัดรวบรวมไว้เป็นหมวด มีประเภทต่างกันโดยสมเป็นอุบายสำหรับชำระนิวรณ์ชนิดหนึ่ง ๆ คือ
๑. กามฉันท์ ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพหรือกายคตาสติ พิจารณาร่างกายอันเป็นอยู่ให้เห็นเป็นของน่าเกลียดโสโครก
๒. พยาบาท ต้องเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา คือพรหมวิหารสามข้อ เพื่อหัดจิตให้กลับคิดในทางให้เกิดรัก เกิดสงสาร เกิดยินดี
๓. ถีนมิทธะ ต้องเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ
๔. จุธัจจกุกกุจจะ ต้องเจริญกสิณหรือเพ่งกสิณ เพื่อหัดผูกใจไว้ในอารมณ์อันเดียว หรือเจริญกรรมฐานอันจะให้ใจเหี่ยวด้วยสังเวชเช่น มรณะสติ ฝึกถึงความตาย
๕. วิจิกิจฉา ต้องเจริญธาตุกรรมฐาน หรือวิปัสนากรรมฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร (ความละเอียดดูในสมถกรรมฐาน ลำดับที่...) ๑๖/ ๙๘๙๓
๒๙๔๖. นิเวศธรรมประวัติ - วัด เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ท้ายเกาะลอย หน้าพระราชวังบางประอิน ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑
ลักษณะพิเศษของวัดนี้คือ พระอุโลสถ สร้างตามแบบศิลปะโกทิก ซึ่งเป็นศิลปยุคกลางของยุโรป ตอนท้ายของพระอุโบสถสร้างเป็นโดมประดับด้วยนาฬิกา มีหลังคาแปดเหลี่ยม ยอดแหลม ภายในบรรจุระฆังตามแบบโบสถ์คริสต์ศาสนา นอกจากพระอุโบสถเช่น กำแพง ซุ้มประตู ศาลาการเปรียญสร้างเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด ๑๖/ ๙๘๙๖
๒๙๔๗. นิษัธ (นิษธ) ๑ ทิวเขาตอนใต้ของเขาเมรุอันเป็นหลังคาของโลก แต่คัมภีร์ปราณะบางฉบับว่า อยู่ทางตะวันออกของเขาเมรุ และอยู่ตอนเหนือของทิวเขาหิมาลัย มีแม่น้ำไหลผ่านชื่อนิษธา ๑๖/ ๙๙๐๒
๒๙๔๘. นิษัธ ๒ เป็นชื่อแคว้นโบราณตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีกล่าวถึงในมหาภารตะตอนนโลปาขยานบว่า พระนลครองแคว้นนี้ ปัจจุบันสันนิษฐานว่า เป็นดินแดนแคว้นภีล
๒๙๔๙. นีออน เป็นธาตุลำดับที่สิบ นักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ธาตุนีออนนี้เป็นก๊าซประเภทก๊าซมีตระกูล ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหกธาตุ ทั้งหมดเป็นธาตุมอนอะตอมิก คือแต่ละโมเลกุล ประกอบด้วย หนึ่งอะตอมเท่านั้น ธาตุพวกนี้เดิมเรียกว่า กาซเฉื่อย เนื่องจากไม่เคยพบว่าธาตุพวกนี้รวมตัวกับธาตุอื่นใดเป็นสารประกอบเลย และมาเปลี่ยนชื่อเป็นกาซมีตระกูล หลังจากได้ค้นพบสารประกอบต่าง ๆ ของธาตุซีนอนแล้ว
กาซนีออน มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระในธรรมชาติ โดยมีอยู่ในบรรยากาศ ประมาณ ๑ ใน ๕๕,๐๐๐ ส่วนโดยปริมาตร และมีปรากฎติดค้างอยู่บ้างเป็นปริมาณน้อยยิ่งในหินตามผิวโลก จนยถึงปัจจุบันยังไม่พบสารประกอบที่เสถียรของนีออนเลย เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในกาซนีออน ภายใต้ความดันต่ำ กาซนีออนจะเปล่งแสงสีแดงส้มออกมา
ประโยชน์ของนีออนคือ ใช้นำไปทำหลอดไฟโฆษณา ใช้ทำหลอดไฟสนามบิน เพราะแสงสีแดงส้มที่กาซนีออนเปล่ง ออกมาสามารถผ่านหมอกได้ดี และใช้ทำอุปกรณ์อีเลกโตรนิกบางอย่าง
๒๙๕๐. นีแอนเดอร์ทัล เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ อาศัยอยู่เมื่อประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ - ๓๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากการขุดค้นทางตะวันตกของทวีปยุโรป ปรากฎว่ามนุษย์พวกนี้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในส่วนนี้ของโลก เมื่อราว ๗๕,๐๐๐ ปี คืออยู่ในระหว่างยุคน้ำแข็งที่สามและที่สี่ ณ ที่แห่งอื่น ๆ ของโลก ได้พบโครงของมนุษย์พวกนี้เหมือนกัน แต่มีจำนวนน้อยกว่าทางตะวันตกของทวีปยุโรปมาก
สิ่งที่พบรวมอยู่กับกระดูกที่ถ้ำสปิ ก็มีกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุคนั้นคึอ แรดขนปุกปุย ช้างแมมมอส และโครงกระดูกสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่พบแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้พบเครื่องมือหินเก่า ที่ได้รับชื่อว่าเครื่องมือหินแบบมุสเตอเรียน ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก
เมื่อย่างเข้ายุคน้ำแข็งยุคที่สี่ ซึ่งมีน้ำแข็งขยายแผ่ลงมาปกคลุมตอนเหนือของยุโรปอีกครั้งหนึ่ง มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ก็ยังคงยึดอาศัยอยู่ในที่เดิม พยายามดัดแปลงวิธีกินอยู่ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อม เดิมอาศัยอยู่ในที่โล่ง ขณะอากาษอบอุ่นก็ต้องหาที่อาศัยเป็นถ้ำ และเพิงผา จึงเชื่อว่าได้รู้จักใช้หนังสัตว์ห่อหุ้มร่างกาย และอาศัยล่ากวางเรนเดียร์ และสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยอาศัยในแถบเหนือ แล้วหนีความหนาวลงมาเป็นอาหาร
มนุษย์นีแอนเดอทัล นอกจากจะรู้จักใช้แกนในของหิน และชิ้นหินที่กะเทาะ ออกทำเป็นเครื่องมือหินชนิดต่าง ๆ ที่รวมเรียกว่า แบบมุสเตอเรียน แล้ว ยังรู้จักใช้ไฟควบคุมไฟ และทำไฟใช้ได้ด้วย และเจริญถึงขุดกลางถ้ำที่อยู่อาศัย ทำเป็นเตา สามารถทำที่อาศัยทั้งในถ้ำและที่แจ้ง
มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มีการฝังศพผู้ตายโดยมีพิธีการ มีผู้สันนิษฐานว่า มนุษย์พวกนี้เชื่อว่า การตายเป็นการหลับ ฉะนั้น จึงวางศพไว้ในท่าคนนอนหลับ ๑๖/ ๙๙๐๔
๒๙๕๑. นุง - ไทย มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า ไทยนาง ไทยเกีย ไทยเนียง และไทยยาง อาศัยอยู่ตามพรมแดนของประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม และในมณฑลยูนนาน
คำว่า นุง นี้มีความหมายว่า "คนอ้วน" ซึ่งอยู่ในกวางสี ไกวเจา และยูนนาน ยังแบ่งออกเป็นหมู่เล็ก ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตกของกวางสี เมื่อราว ๕๐ ปี (จากปี พ.ศ.๒๕๒๐) มาแล้ว มีจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่เข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำตังเกี๋ย ประมาณ ๘๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ คน นุง พูดว่าครั้งเดิมอยู่ในมณฑลฮูนาน ซึ่งนุงพวกนี้ แบ่งออกเป็นเผ่ามีหัวหน้าคนหนึ่งชื่อ เจ้านุงนี ได้รวบรวมคนไทยลุ่มแม่น้ำซีเกียง โดยใช้ชื่อว่า ไทยดำ แล้วประกาศตนเป็นอิสระและเป็นฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๙๖ แต่ถูกกำลังรบของจีนและเวียดนามตีแตก ลักษณะของนุงดูเป็นพันทาง ระหว่างไทยกับจีน ผู้หญิงดูจะไปคล้ายจีน
ไทยนุง พูดไทย ใช้อักษรจีนและรู้จักภาษากวั้นฮั้ว (ขุนนาง) ด้วย มีเครื่องแต่งตัวแปลกออกไปตามเหล่า ผู้ชายแต่งตัวเหมือนจีน แต่ผู้หญิงนุง นุ่งซิ่นเหนือ กางเกงขายาว ผมทำเป็นมวยโต แต่ผ้าผูกผมเล็ก นุงชอบแต่งตัวอย่างไทยโท้ แต่ดูหรูหรากว่า มีที่ดินทำกินบนเขา ปลูกข้าวและข้าวโพด พวกนุงไม่มีศาสนา แต่นับถือบรรพบุรุษเหมือนจีน เมื่อมีคนตายจะนำศพไปฝังเป็นส่วนมาก
หมอดอดด์ กล่าวว่า ไทยนุง ในตังเกี๋ยเรียกว่า ชอง ๑๖/ ๙๙๓๐
๒๙๕๒. นุ่น เป็นต้นไม้ขนาดกลางสูง ๗ - ๑๐ เมตร ลำต้นกลม มีหนามเล็กสั้น ๆ เล็กน้อย กิ่งทอดขนานกับพื้นดิน และมักออกเป็นวงรอบ ๆ ลำต้น เนื้อไม้อ่อนสีขาว ใบออกสลับกัน และมักออกเป็นกระจุก ที่ปลายกิ่ง
ผลรูปทรงแบบกระสวย ยาวประมาณ ๑๒ ซม. เวลาแห้งผลจะแตกเป็นห้ากลีบ ไส้กลวงแกนกลางมีเมล็ดสีดำคล้ำ กลมเล็ก ๆ จำนวนมาก และมีใยยาวสีขาว ยัดแน่นเต็มผล
พันธุ์ไม้ชนิดนี้ รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก เพราะใยและเมล็ดใช้เป็นวัตถุดิบ ในโรงานอุตสาหกรรม และเป็นสินค้าซื้อขายระหว่างประเทศ ๑๖/ ๙๙๓๑
๒๙๕๓. เนติบัณฑิต ตามรูปคำ แปลว่า ผู้รู้กฎหมาย เป็นวิทยฐานะที่ใช้เรียกผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตร โรงเรียนกฎหมายเดิม ปัจจุบันใช้เรียกผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา เดิมเรียกว่า เนติบัณฑิตสยาม ปัจจุบันเรียก เนติบัณฑิตไทย ๑๖/ ๙๙๓๑
๒๙๕๔. เนปาล เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใต้เทือกเขาหิมาลัย ไม่มีทางออกทะเล มีอาณาเขตทิศเหนือจดทิเบต ทิศตะวันออกจดสิกขิม ทิศใต้และทิศตะวันตก จดอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ความยาวตะวันออกไปตะวันตก ประมาณ ๘๐๐ กม. ความกว้างจากเหนือไปใต้ประมาณ ๑๔๐ - ๒๔๐ กม. มีเมืองหลวงชื่อ กาฎมัณฑุ
พลเมือง เนปาล ตั้งอยู่ระหว่างเอเชียกลาง และอินเดีย พลเมืองส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยกลุ่มคนที่อพยพมาจากดินแดน ทั้งสองแห่งนั้น ที่สำคัญมีพวกมองโกลที่อพยพจากทิเบต และสิกขิม เข้ามาในเนปาล พวกที่มาจากอัสสัม และเบงกอล กับพวกอินโดอารยันที่มาจากอินเดีย การที่มีชาติพันธุ์แตกต่างกัน การแบ่งชั้นวรรณะ และลักษณะพื้นดินทำให้พลเมืองแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ที่สำคัญและมีอิทธิพลมาก มีพราหมณ์ นักรบ และพ่อค้า พวกนี้เป็นเชื้อสายอินเดียน
ภาษา มีอยู่หลายภาษา ภาษาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ภาษาประจำชาติคือ ภาษาเนปาลี เป็นภาษาตระกูลอินโดอารยัน ภาษาอื่นมีภาษาฮินดี ซึ่งแยกออกเป็นภาษาถิ่นอีกมากมาย
ศาสนา ศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดคือ ศาสนาฮินดู รองลงมาคือ ศาสนาพุทธ มีร้อยละสิบ ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน
การปกครอง มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ๑๖/ ๙๙๓๔
๒๙๕๕. เนมิตกนาม เป็นชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุคือ ลักษณะและคุณสมบัติ นับเป็นชื่อที่สามในจำนวนชื่อสี่อย่าง ๑๖/ ๙๙๓๗
๒๙๕๖. เนมิราช เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่ง ในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาแห่งชาดกนั้น นับเป็นชาติที่สี่ในพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยา ในอดีตชาติ
ตามชาดกกล่าว่า พระเนมิราช เป็นพระโอรสของพระราชาเมืองมิถิลา พระองค์ทรงพอพระทัยในการบำเพ็ญทาน รักษาอุโบสถศีล ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตั้งแต่ครองราชย์ก็ทรงสั่งสอนให้ประชาชน มั่นในศีลธรรมอยู่เสมอ พระองค์ครองราชย์โดยชอบธรรมตลอดมา จนวันหนึ่งทรงพบว่า พระเกศาของพระองค์หงอก ก็สลดพระทัยทรงดำริออกผนวชทันที ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้วทรงผนวช เจริญพรหมวิหารสำเร็จอภิญญาสมาบัติ เมื่อสวรรคตก็ไปเกิดในเทวโลก ๑๖/ ๙๙๓๘
๒๙๕๗. เนย เป็นสารประกอบอินทรีย์ ที่มีลักษณะเหลวข้น ที่อุณหภูมิห้องมีสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน แบ่งเป็นสองชนิดคือ
ก. เนยแท้ เป็นเนยที่แปรสภาพจากน้ำนม โดยสกัดครีมออกจากของเหลวอื่น ๆ
ข. เนยเทียม เป็นเนยที่ได้จากการแปรสภาพของน้ำมันหรือไขมัน ส่วนมากทำจากน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันฝ้าย เป็นต้น ๑๖/ ๙๙๔๑
๒๙๕๘. เนรเทศ แปลตามรูปคำว่า ปราศจากประเทศ หรือไร้แผ่นดินอยู่ โดยนัยนี้คำนี้จึงหมายถึง ขับไล่ หรือส่วนบุคคลออกไปเสียจากแผ่นดิน
คำเนรเทศ มีมาแต่โบราณ ปรากฎในคัมภีร์ทางคริสต์ศาสนาว่า อาดัม กับอีวา ได้ถูกขับไล่ออกไปจากสวนอีเด็น
เนรเทศ เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง ในสมัยโบราณ ประเทศไทยก็รับเอาระบบเนรเทศมาใช้เหมือนกัน โดยได้ส่งนักโทษ ที่มีสันดานเป็นผู้ร้ายตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ไปกักกันไว้ที่เกาะตะรุเตา ในเขตจังหวัดสตูล
การเนรเทศ เป็นวิธีการลงโทษกลาย ๆ และเป็นการรักษาความปลอดภัยของสังคม เดิมใช้กับนักโทษฉกรรจ์ ปัจจุบันใช้กับคนต่างด้าว ซึ่งเป็นภัยต่อสังคมเป็นส่วนใหญ่ ๑๖/ ๙๙๔๔
๒๙๕๙. เนา เป็นคำที่อาจารย์ทางโหราศาสตร์ ผูกขึ้นใช้เรียกวันที่ดวงอาทิตย์ กำลังโคจรอยู่ระหว่างราศีมีน กับราศีเมษ ว่า "วันเนา" วันดังกล่าวถ้านับตามลำดับหน้าหลังก็คือ วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ หนึ่งวัน หรือวันหลังวันมหาสงกรานต์ หนึ่งวันก็ได้
วันเนา นั้น อาจารย์ทางโหราศาสตร์ บางพวกถือว่าเป็นวันไม่ดี ไม่ควรเป็นวันประกอบฤกษ์การมงคลทั้งปวง ๑๖/ ๙๙๕๐
๒๙๖๐. เนียกุล เป็นคำที่พวกละว้า ซึ่งเป็นชาวบนส่วนน้อยในเขตโคราชเรียกตัวเองว่า เนียกุล (ดู ชาวบน - ลำดับที่ ๑๗๑๑ ประกอบด้วย) ๑๖/ ๙๙๕๓
๒๙๖๑. เนียม - ต้น เป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ สูงประมาณ ๕๐ - ๘๐ ซม. ใบหนาสีเขียวเข้ม ขอบใบจักโค้ง ๆ โดยรอบ ใบยาวประมาณ ๕ - ๖ ซม. กว้าง ๒.๕ - ๓ ซม. ไม่ค่อยมีดอก ช่อดอกออกยอด หรือกิ่งข้าง ๆ ช่อดอกยาว ๕ - ๖ ซม. ดอกสีขาวประสีชมพู ฝักมีลักษณะเหมือนฝักต้อยติ่ง ต้นเนียม นิยมปลูกตามบ้าน ใบมีกลิ่นหอมผสมกับปูนแดง กินกับหมาก ใบแห้งใช้ใส่น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง เพื่อให้มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังใช้ในการปรุงยานัตถุ์ ใช้ใส่เครื่องร่ำ และบุหงา เพื่อให้มีกลิ่นหอม ๑๖/ ๙๙๕๓
๒๙๖๒. เนื้อ เป็นคำโบราณ ซึ่งใช้เรียกกวางทุกชนิด เช่น เนื้อสมัน เนื้อทราย และคงรวมไปถึง ละอง ละมั่ง เก้ง และกวางป่าธรรมดาด้วย ๑๖/ ๙๙๕๕
๒๙๖๓. เนื้ออ่อน - ปลา เป็นปลาไม่มีเกล็ด แต่มีหนวด และตัวค่อนข้างอ่อน มีหนวดสองคู่ อยู่ที่ปาก และใต้คาง หนวดที่อยู่ใต้คางสั้นมาก ครีบไขมันเล็ก ครีบก้นยาว เงี่ยงที่อกไม่แข็งแรง ในทางวิชาการแยกปลาชนิดนี้ ออกเป็นสามสกุล ๑๖/ ๙๙๕๕
๒๙๖๔. แนฟทา ใช้เรียกของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ ไวไฟมาก และประกอบด้วยสารประเภทไฮโดรคาร์บอน หลายชนิดผสมกันอยู่ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นตัวทำลาย ใช้ในการซักแห้ง ใช้เป็นเชื้อเพลิง และใช้เป็นวัตถุดิบที่นำไปแปรเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ อีกประการหนึ่งคือ ใช้เป็นตัวสะกัดน้ำมันหอมระเหย จากเมล็ดพืชหรือจากดอกไม้ ๑๖/ ๙๙๕๙
๒๙๖๕. แนฟทาลีน เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอะโรเมติก ลักษณะเป็นของแข็ง สีขาวเป็นเงา มีรูปผลึก ระเหิดได้ ณ อุณหภูมิธรรมดา ไม่ละลายในน้ำแต่ละลายได้ในตัวทำลายอินทรีย์ มีกลิ่นเฉพาะตัว แหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารนี้คือ น้ำมันดิน
แนฟทาลีน เป็นสารสำคัญสารหนึ่งในอุตสาหกรรม โดยใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสังเคราะห์สารอื่น ที่มีประโยชน์ ๑๖/ ๙๙๖๐
๒๙๖๖. แนฟทีออนิก - กรด เป็นกรดอินทรีย์ลักษณะเป็นของแข็งสีขาว ละลายได้ในน้ำ ละลายได้เล็กน้อยในอัลกอฮอล์ และในอีเทอร์
กรดแนฟทิออนิก เป็นสารประกอบที่สำคัญสารหนึ่ง ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีย้อมประเภทแอโซ ๑๖/ ๙๙๖๑
๒๙๖๗. โนนไทย อำเภอ ขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นดินปนทราย และมีเกลือปนอยู่มาก ไม่มีแม่น้ำลำคลอง มีแต่ลำธารเล็ก ๆ
อ. โนนไทย เดิมเรียกว่า อ.ศาลเตี้ย ตั้งอยู่ที่ บ.สันเทียะ เมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๒ ที่อำเภอนี้มีศาลเตี้ยชำระความ โทษจำตั้งแต่หกเดือนลงมา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนลาว ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ต.โนนไทย) ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนไทย ๑๖/ ๙๙๖๒
๒๙๖๘. โนนสะอาด อำเภอ ขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
อ.โนนสะอาด แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ขึ้น อ.กุมภวาปี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ๑๖/ ๙๙๖๒
|
Update : 27/5/2554
|
|