๒๘๘๓. น้ำตาล เป็นสารประกอบประเภทคาร์โบโฮเดตรที่มีรสหวาน ปราศจากโปรตีนและไขมันสกัดได้จากพืชผลไม้ เช่น กลูโคส จากผลไม้ทั่ว ๆ ไป และน้ำผึ้ง ชูโครส จากต้นอ้อย หัวบี มะพร้าว ตาลเป็นต้น
น้ำตาลเป็นสารประกอบที่รู้จักกันมานาน เชื่อว่าอินเดียเป็นประเทศแรก ที่ทำการผลิตน้ำตาลจากอ้อย เมื่อราวปี พ.ศ.๑๔๓ ส่วนประเทศทางยุโรปได้มีการเผยแพร่การทำน้ำตาลจากหัวบีตราวปี พ.ศ.๒๒๙๐
น้ำตาลทรายเป็นสารประกอบที่ใช้ในอุตสาหกรรม หลายชนิด เช่นอุตสาหกรรมทำลูกกวาด อุดสาหกรรมทำเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการถนอมอาหาร เป็นสารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายสูงพอควร ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายมาก เป็นอาหารชนิดหนึ่งให้บริโภคน้ำตาลในปริมาณร้อยละ ๑๕ ต่อวันของจำนวนคาลอรีทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ ๑๕/ ๙๖๘๕
๒๘๘๔. น้ำเต้า เป็นไม้เถาล้มลุกเกษรตัวผู้และเกษรตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ใบมนรีรูปไข่ กว้าง ๑๐ - ๓๐ ซม. โคนใบรูปหัวใจขอบใบหยักตื้น ๆ ดอกออกเดี่ยว โรยเร็ว ยาว ๒.๕ - ๕ ซม. กว้าง ๒ - ๔ ซม. สีขาว ผลมีรูปทรงต่าง ๆ ขนาดต่างกัน แต่ที่รู้จักกันมากคือ รูปทรงแบบน้ำเต้า ผิวเปลือกหนา แข็งแรง ทนทานเวลาแห้งสนิท
พันธุ์ไม้นี้ มนุษย์รู้จักมาแต่โบราณกาล และปลูกใช้ผลเป็นอาหาร และใช้ผลที่แช่แห้งเป็นภาชนะของใช้ในครัวเรือน ตลอดจนใช้เป็นหุ่นในการประมง และใช้เป็นเครื่องดนตรี ๑๕/ ๙๖๙๑
๒๘๘๕. น้ำนมราชสีห์ เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ล้มลุกมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นมักทอดนอนไปตามพื้น อาจตั้งตรงและสูงได้ประมาณ ๑๐ ซม. ใบออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ รูปยาวขอบขนาน ปลายใบแหลมขอบใบจัก ขนาดของใบราว ๐.๗ - ๑.๕ ซม. ดอกออกที่ยอดหรือช่อใบเป็นช่อเล็ก ๆ และดูเป็นกระจุก ทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียมีใบประดับอวบหนา รูปคล้ายถ้วยหุ้มไว้ ที่ขอบใบประดับมีต่อมน้ำหวานยื่นออกมา
น้ำนมราชสีห์เป็นสมุนไพร ทั้งต้น ดอก ผล มีสรรพคุณแก้ไอ และหืด แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ ถ่ายพยาธิ และโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ๑๕/ ๙๖๙๒
๒๘๘๖. น้ำนอง ๑ - ต้น เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ดอกมีสองชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไม้ต้นขนาดกลางอีกชนิดหนึ่งเป็นไม้ขนาดย่อม ทอดยอดกลายเป็นไม้เลื้อยได้ ๑๕/ ๙๖๙๓
๒๘๘๗. น้ำนอง ๒ - ตัว เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกพวกปลวกประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะรวบรวมกลุ่มกันตอนใกล้ตะวันตกดิน หลังจากน้ำลดเพื่อเก็บตะไคร่น้ำ นำไปเลี้ยงลูกอ่อนในรังดิน ปลวกพวกนี้มักตัวดำหรือค่อนไปทางดำ ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด ๑๕/ ๙๖๙๓
๒๘๘๘. น้ำประสานทอง คือเกลือเคมีชนิดหนึ่ง เรียกเป็นชื่อสามัญว่า บอแรกซ์ สารประกอบนี้มีปรากฏอยู่อย่างอิสระในธรรมชาติ เมื่อนำแร่นี้ไปทำให้เกิดการตกผลึก ก็จะได้ผลึกของน้ำประสานทอง ลักษณะเป็นของแข็งสีขาว ละลายน้ำได้ เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายมีฤทธิ์เป็นด่างอย่างอ่อน ๆ เมื่อหลอมตัวมีลักษณะใสคล้ายแก้ว
น้ำประสานทองมีประโยชน์หลายประการ เช่น ใช้เป็นตัวประสานในการเชื่อม หรือบัดกรีโลหะ ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้วประเภทบอโรซิลิเกต เช่น แก้วไพเรกซซึ่งทนความร้อนมากใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบ ใช้เป็นสารขจดความกระด้างของน้ำ ๑๕/ ๙๖๙๕
๒๘๘๙ น้ำปาด อำเภอขึ้น จ.อุรดิตถ์ มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ลุ่มแต่มีภูเขาและโคกมาก ตอนเหนือเป็นโคกและภูเขาตลอด
อ.น้ำปาด เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งชื่อว่า เมืองน้ำปาด ขึ้นเมืองพิชัย ตรีเมืองตั้งอยู่ที่ ต.บ้านฝาย ภายหลังยุบเป็นอำเภอเรียก อ.น้ำปาด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แสนตอ แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.น้ำปาดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ๑๕/ ๙๖๙๕
๒๘๙๐. น้ำผลึก สารประกอบหลายชนิด เมื่อทำให้ตกผลึกจากน้ำ โมเลกุลของสารประกอบเหล่านั้น จะรวมตัวกับโมเลกุลของน้ำให้ผลเป็นผลึกของสารประกอบนั้น ๆ เรียกโมเลกุลของน้ำที่ปรากฏอยู่ผลึกของสารประกอบเหล่านั้นว่าน้ำผลึก และเรียกสารประกอบนั้น ๆ รวมทั้งน้ำผลึกด้วยว่า สารประกอบประเภทไฮเดรต ๑๕/ ๙๖๙๖
๒๘๙๑. น้ำผึ้ง เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นสูงราว ๒ - ๕ เมตร ใบออกเรียงสลับกัน รูปรี โคนใบมน ปลายใบแหลมทู่ๆ ใบกว้าง ๑.๕ - ๒.๓ ซม. ยาว ๓.๕ - ๖.๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบสีเหลือง ดอกบานคล้ายรูปดาว ออกดอกราวเดือน สิงหาคม-กันยายน ดอกจะบานพร้อมกันทั้งต้นสีเหลืองทอง เป็นช่อกลมตามกิ่งสวยงามมาก ๑๕/ ๙๖๙๗
๒๘๙๒. น้ำพอง อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง ๑๕/ ๙๖๙๘
๒๘๙๓. น้ำพุ คือน้ำใต้ดินที่ไหลกลับขึ้นมาบนผิวโลกตามธรรมชาติ น้ำที่ไหลขึ้นมานั้น ถ้ามีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์เรียกว่า น้ำพุเย็น ถ้าสูงกว่าเรียกว่า น้ำพุร้อน มีแร่ธาตุละลายเจือปนอยู่
น้ำพุเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นหินน้ำซึมคือชั้นหินที่มีน้ำขังอยู่เต็มทุกช่องว่างในหิน เป็นบริเวณน้ำจากผิวดินซึมลงไปรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ใต้ชั้นหินน้ำซึมลงไปเป็นชั้นหินที่ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านลงไปได้เรียกว่า “หินน้ำซับ” น้ำที่รวมตัวกันอยู่ในชั้นหินน้ำซึมจะมีแรงอัดดันมากจนพุพุ่งขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นน้ำพุ ๑๕/ ๙๖๙๘
๒๘๙๔. น้ำมนต์ มีบทนิยามว่า "น้ำเสกเพื่ออาบเป็นมงคล" แต่น้ำมนต์โดยทั่วไปกำหนดได้เป็นสามอย่างคือ ใช้เพื่อเป็นมงคล ใช้เพื่อรักษาโรค และใช้ระงับทุกข์ภัย
ที่ว่าเพื่อมงคลนั้น คือใช้ในการทำบุญทางศาสนาเรียกว่างานมงคล ตามปรกติก็ต้องจัดตั้งบาตร น้ำมนต์ หรือขั้นน้ำมนต์ ถ้าทำบุญขึ้นบ้านใหม่ตั้งบาตรทรายด้วย มีด้านสายสิญจน์โยงจากองค์พระพุทธรูปที่ตั้งเป็นประธานในพิธีนั้น วงมาที่บาตรน้ำมนต์ พระสงฆ์ในพิธีทั้งหมดถือด้ายสายสิญจน์นั้น ขณะเจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ผู้เป็นสังฆเถระจะหยดเทียน และดับเทียนเมื่อถึงบทมนต์ที่กำหนด รู้ไว้ (มงคลสูตรเมื่อจุดเทียน รัตนสูตรเมื่อดับเทียน - เพิ่มเติม) เสร็จพิธีนั้นแล้ว พระสังฆเถระจะประพรมน้ำมนต์ให้แก่เจ้าของงาน และแก่ผู้มาร่วมงาน ถ้าเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ หรือทำบุญบ้าน ท่านจะประพรหมทั่วบ้านพร้อมทั้งบริเวณบ้าน และชักทรายทั่วพื้นที่บริเวณบ้านด้วย
น้ำมนต์นี้ ถ้าเสกด้วยพระพุทธมนต์เรียกว่า น้ำพระพุทธมนต์ นิยมว่าต้องพระสงฆ์เสกถ้าเสกด้วยโองการตามลัทธิไสยศาสตร์เรียกว่า เทพมนต์ หรือทิพมนต์ ๑๕/ ๙๖๙๙
๒๘๙๕. น้ำมัน เป็นของเหลวสีเหลืองอ่อนมีกลิ่นเฉพาะ ลักษณะเป็นมันลื่นมือ เมื่อถูกกระดาษจะทำให้ กระดาษเป็นจุดใส ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ง่ายในตัวทำละลายอินทรีย์บางชนิด เช่น อีเทอร์ แหล่งที่มาของน้ำมัน อาจสกัได้จากพืช หรือสัตว์หรือหินน้ำมัน หรือปิโตรเลียม น้ำมันจากหินน้ำมันและปิโตรเลียมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลงโซลา และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมบางชนิด
น้ำมันจากหินน้ำมันได้จากการที่เอาหินน้ำมันมาอบด้วยความร้อนสูง ๆ จะได้น้ำมันดิบที่มีส่วนผสมของน้ำมันชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและสารอื่น ๆ คล้ายน้ำมันดิบจากปิโตรเลียมส่วนการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม โดยขบวนการกลั่นลำดับส่วนนั้น รัฐบาลและเอกชนได้ดำเนินการอยู่ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา น้ำมันโซลา น้ำมันจากพืชและสัตว์ มุ่งนำมาใช้ประโยชน์ในด้านบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตหลายชนิด ๑๕/ ๙๗๐๑
๒๘๙๖. น้ำมันเขียว เป็นน้ำมันระเหยที่กลั่นจากใบสด หรือยอดอ่อน ของต้นคาจูปุต โดยวิธีกลั่นร้อนด้วยไอน้ำ น้ำมันมีลักษณะสีเขียว มีกลิ่นหอมเฉพาะ ปัจจุบันใช้เป็นยาขับเสมหะ และใช้เป็นยาขับพยาธิลำไส้ และใช้ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด และใช้ฆ่าตัวปรสิต เช่น หิดเป็นต้น ๑๕/ ๙๗๐๕
๒๘๙๗. น้ำมันระกำ เป็นน้ำมันหอมระเหย ไม่มีสีหรือสีเหลืองหรือสีแดง สะกัดจากใบของต้นกอลทีเรีย และจากลำต้นของเบดูลา กอลทีเรียเป็นพืชพวกไม้เถา หรือไม้เลื้อย ออกดอกสีขาว เบดูลาเป็นพืชยืนต้นถ้าต้าแก่จะสูงถึง ๒.๔๐ เมตร
สารเคมีในน้ำมันระกำมีความสำคัญมาในการทำผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น การผลิตยาที่ใช้ทา เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยเคล็ดตามข้อ และกล้ามเนื่อ และยังใช้เป็นตัวทำละลายสารเซลลูโลส ทำยาฆ่าแมลง ทำหมึกพิมพ์ และหมึกโรเนียว เป็นต้น ๑๕/ ๙๗๐๖
๒๘๙๘. น้ำมันสลัด โดยทั่ว ๆ ไปนิยมใช้น้ำมันพืช ชนิดที่นิยมมาแต่ดั้งเดิมคือ น้ำมันมะกอก ๑๕/ ๙๗๐๙
๒๘๙๙. น้ำมูก คือ ของเหลวที่มีอยู่ในรูจมูกมีเป็นพัก ๆ โดยเซลล์สร้างเมือก ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเยื่อเมือก ที่บุภายในช่องจมูก เมื่อน้ำมูกมีแล้ว จะฉาบอยู่บนผิวของเยื่อเมือกในจมูก โดยแยกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมีลักษณะใส ส่วนชั้นบนของน้ำมูก จะมีลักษณะเหนียวข้นฉาบอยู่บน
น้ำมูก อาจเกิดขึ้นโดยการกระตุ้นเฉพาะที่ (เช่น จากผงฝุ่น) หรือการกระตุ้นโดยสารเคมี (เช่น แอมโมเนีย) ด้วยก็ได้ น้ำมูกมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียคือ สามารถทำให้แบคทีเรียงัน และฆ่าแบคทีเรียด้วย น้ำมูกสามารถจับเศษผงขนาด ๑ ไมครอน ให้อยู่ในจมูกได้ร้อยละ ๑๐ - ๗๐ แล้วถูกขจัดออกปนกับน้ำมูก ผงและสิ่งที่ละลายได้ส่วนใหญ่จะถูกเม็ดเลือดขาวกิน ๑๕/ ๙๗๑๐
๒๙๐๐. น้ำยา เป็นแกงชนิดหนึ่ง เครื่องปรุงจัดอยู่ในจำพวกแกงคั่ว นิยมบริโภคกับขนมจีน และเครื่องประกอบอื่น ๆ อีกมีทั้งผักดิบ นับว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าพร้อมชนิดหนึ่ง ๑๕/ ๙๗๑๒
๒๙๐๑. น้ำยืน อำเภอ ขึ้น จ.อุบลราชธานี มีอาณาเขตทิศใต้จดประเทศกัมพูชา ภูมิประเทศประกอบด้วยทิวเขาพนมดงรัก กั้นเขตแดนด้านใต้
อ.น้ำยืน แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.เดชอุดม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ๑๕/ ๙๗๑๓
๒๙๐๒. น้ำว้า - กล้วย เป็นกล้วยที่แพร่หลายมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ทั้งปริมาณและคุณภาพ ชาวบ้านนิยมเลี้ยงทารกด้วยำกล้วยน้ำว้า นอกจากนี้ยังทำกล้วยปิ้ง กล้วยทับ และกล้วยแขก ขายเป็นประจำวัน ๑๕/ ๙๗๑๔
๒๙๐๓. น้ำส้มสายชู เป็นสารละลายใส ไม่มีสี หรือสีชาอ่อน ๆ มีกลิ่นฉุน และมีรสเปรี้ยว น้ำส้มสายชูแท้ จะต้องประกอบด้วยกรดน้ำส้มเท่านั้น น้ำส้มสายชูเป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมใช้ในครัวเรือน ใช้เป็นสารถนอมอาหาร และยังใช้ส่วนผสมตัวยาไทย ๑๕/ ๙๗๑๕
๒๙๐๔. น้ำโสม อำเภอ ขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นป่าดงทึบเป็นส่วนใหญ่ มีลำห้วยขนาดเล็ก จากภูเขาลงสู่ที่ราบเชิงเขาจำนวนมาก มีภูเขาสลับซับซ้อน
อ.น้ำโสมแตกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.บ้านสือ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ๑๕/ ๙๗๑๘
๒๙๐๕. น้ำหนัก พบกันว่าประมาณทุก ๆ ๕,๐๐๐ โมเลกุลของน้ำธรรมดา จะมี ๑ โมเลกุล ของ "น้ำหนัก" ปนอยู่ด้วย จึงสามารถแยก "น้ำหนัก" ออกน้ำธรรมดาได้ กรรมวิธีที่ใช้แยกก็คือ การแยกน้ำธรรมดาเจือกรด หรือต่างด้วยไฟฟ้า
ในทางวิทยาศาสตร์ใช้ "น้ำหนัก" เป็นตัวมอดเดอเรเตอร์ ในเครื่องปฎิกรณ์ปรมาณูเพื่อช่วยควบคุมจำนวนอนุภาคนิวตรอน ที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ไม่ให้ทั่วเกินไป จนถึงขั้นเป็นอันตรายได้ ๑๕/ ๙๗๑๙
๒๙๐๖. น้ำเหลือง เป็นของเหลวที่อยู่ในหลอดน้ำเหลือง มีลักษณะใส สีเหลืองอ่อนและมีปฎิกิริยาเป็นด่าง แหล่งกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่นอน เข้าใจว่ามาจากเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย จึงมีส่วนประกอบต่าง ๆ คล้ายคลึงกับส่วนน้ำของเลือด ที่เรียกว่า "พลาสมา" น้ำเหลืองกับเลือดมีการติดต่อกันได้โดยหลอดน้ำเหลืองฝอย จากอวัยวะต่าง ๆ จะรวมตัวกันเป็นหลอดน้ำเหลืองขนาดใหญ่ น้ำเหลืองเข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ หลอดน้ำเหลืองจะมีกระจายอยู่ทั่ว ๆ ไป แทบทุกอวัยวะ ยกเว้นเพียงสามแห่งที่ไม่มีหลอดน้ำเหลืองคือ ที่ถุงลมของปอด ที่ไขกระดูกและที่ระบบประสาท เฉพาะหลอดน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ ตามผนังของลำไส้เล็กนั้น ที่ช่วยรับเอาส่วนของอาหารต่าง ๆ ที่ย่อยถึงขั้นสุดท้ายแล้ว นำไปสุ่ระบบไหลเวียนเลือด นอกจากนี้ตามทางเดินของหลอดน้ำเหลืองใหญ่ ๆ จะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่เป็นระยะ ๆ เช่น ที่ข้อศอก รักแร้ ข้อพับต่าง ๆ ในช่องท้อง ช่องอก และตามข้าง ๆ คอ เป็นต้น
หน้าที่สำคัญของต่อมน้ำเหลืองคือ เป็นด่านกักเชื้อโรคต่าง ๆ เอาไว้ ก่อนที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยจะแสดงอาการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองก่อน ภายในต่อมน้ำเหลืองมีเม็ดน้ำเหลือง ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเดียวกับเม็ดเลือดขาว มีหน้าที่ไปช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกาย
หน้าที่ของน้ำเหลืองคือ เป็นตัวกลางช่วยในการแลกเปลี่ยนสารต่าง ๆ และของเหลวระหว่างเลือด กับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยรับและพาอาหารจากเลือดมาให้อวัยวะต่าง ๆ โดยใกล้ชิด ทั้งรับและพาของเสียซึ่งเกิดจากการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในอวัยวะนั้น ๆ ส่งต่อไปยังเลือด เนื่องจากหลอดน้ำเหลืองฝอย มีคุณสมบัติพิเศษกว่า หลอดเลือดฝอยจึงทำหน้าที่ช่วยนำสารพวกโปรตีน ที่อยู่ตามอวัยวะกลับคืนสู่เลือด และช่วยพาของเหลวต่างๆ ให้กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะต่าง ๆ อยู่ในสภาพปรกติ และยังมีหน้าที่ช่วยพาเอาเชื้อโรคต่าง ๆ ออกไปจากอวัยวะด้วย
มีสารบางชนิดที่เมื่อร่างกายได้รับเข้าไปจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของน้ำเหลืองได้ เช่น พวกน้ำตาลต่าง ๆ สารยูเรีย เกลือแกง เปปโทน ไข่ขาว น้ำสกัดตับ และลำไส้ เนื้อปู เลือดปลิง กุ้งน้ำจืด หอยกระพง และหอยแมลงภู่ สารอิสตามีน และโปรตีน แปลกปลอมบางชนิด ๑๕/ ๙๗๒๐
๒๙๐๗. น้ำอบ มีบทนิยามว่า "น้ำที่อบด้วยควันกำยาน หรือเทียน อบ และปรุงด้วยเครื่องหอม "น้ำอบที่เรียกกันว่า "น้ำอบไทย" นั้น แตกต่งจากน้ำหอมที่ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำอบฝรั่ง" ทั้งลักษณะกลิ่น และกระบวนการทำเป็นอันมาก
การใช้น้ำอบไทยในงานประเพณีของไทยต่าง ๆ เช่น ในงานพิธีมงคลสมรส งานสงกรานต์ งานขึ้นปีใหม่ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และประเพณีงานศพ เป็นต้น เป็นเครื่องแสดงถึงการสืบทอดวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง
๒๙๐๘. น้ำอ้อย เป็นของเหลวสีเหลือง มีรสหวาน องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นชูโครส สกัดได้จากต้นอ้อย ซึ่งเป็นพืชจำพวกหญ้าใหญ่ชนิดหนึ่ง
น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ๑๕/ ๙๗๒๘
๒๙๐๙. นิกเกิล เป็นธาตุลำดับที่ ๒๘ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๔ ธาตุนิกเกิลมีปรากฎในธรรมชาติในลักษณะเป็นสินแร่ โดยรวมตัวอยู่กับธาตุอื่นเช่นสารหนู กำมะถัน พลวง โคบอลต์ เหล็ก แมกนีเซียม แร่สำคัญที่สุดที่นำมาใช้ถลุงแยกธาตุนิเกิลออกก็คือแร่เพนต์แลนไดต์
นิกเกิล เป็นโลหะแข็งมากแต่ไม่เปราะ มีสีเงินวาว ตีแผ่ให้เป็นแผ่นบาง และดึงให้เป็นเส้นลวดได้ มีสมบัติเป็นแม่เหล็ก ไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ณ อุณหภูมิธรรมดา ทำปฏิกิริยาได้อย่างช้ากับกรดแก่อย่างเจือจาง ไม่มีปฏิกิริยากับกรดไนตริกเข้มข้น ทนทานอย่างยิ่งต่อปฏิกิริยาของงด่าง ดังนั้นจึงทำเป็นเบ้าทนไฟที่ต้องใช้กับด่าง ใช้ทำขั้วไฟฟ้าที่ใช้กับสารละลายด่าง ใช้ทำภาชนะบรรจุสารละลายเข้มข้นของโซดาแผดเผาได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์ของนิกเกิลคือใช้ชุบฉาบผิวโลหะ นำไปผสมกับโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ (อัลลอย) หลายชนิดซึ่งมีประโยชน์มาก ปัจจุบันมีโลหะเจือ ซึ่งผสมโลหะนิกเกิลมากกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด และนำไปทำประโยชน์ในการสร้างเครื่องยนต์ไอพ่น จรวด ดาวเทียม และส่วนประกอบของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นต้น ๑๕/ ๙๗๓๒
๒๙๑๐. นิกริโต เป็นมนุษย์เผ่าหนึ่ง กระจายพันธุ์ออกเป็นพวกเงาะ จากุน เซมัง และพวกสะไก หรือซาไก มีรูปร่างเล็ก ตัวเตี้ย ผิวคล้ำคล้ายนิโกร มีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลาง และตอนใต้ของทวีปแอฟริกา กับตามเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสนมุทรอินเดีย ที่ได้ชื่อรวมว่าโอเซเนีย
พวกนิกริโต มีผิวดำคล้ำเสมอกัน ต่างจากพวกนิโกรที่ริมฝีปากบนยาว แต่เชิดเล็กน้อย ขนดก ตามปรกติหัวสั้นและกว้าง รูปร่างสูงราว ๑ - ๑.๕ เมตร มีสติปัญญาต่ำมาก ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน จึงเป็นพวกไม่รู้จักสร้างบ้านปลูกเรือน ได้แต่อาศัยนอนตามเชิงผาป่าไม้เป็นทับที่อยู่ ใช้กิ่งไม้วางปูเป็นพื้นสำหรับนอนและสร้างเป็นเพิงต่าง ๆ มุงและกรุด้วยใบไม้มีขนาดพอนอนได้ อาศัยรากไม้ เหง้าไม้ และไม้ในป่า จับปลาจับสัตว์เล็ก ๆ มาทำเป็นอาหาร
ในแหลมมลายู นักชาติพันธุ์วิทยาสันนิษฐานว่า พวกนิกริโตคือพวกเซมัง ได้อพยพเข้ามาอยู่ก่อน ภายหลังพวกออสโตรเนเซียนหรือพวกฮินโดเนเซียนคือพวกสะไก พวกจากุน และพวกชาวน้ำได้อพยพตามกันเข้ามาแล้วเกิดผสมพันธุ์ขึ้น ในแง่ภาษาพวกนิกริโต คงจะได้ติดต่อกับพวกมอญ - เขมร มาแต่เดิมอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับพวกที่เข้ามาทีหลัง ภาษาพูดจึงมีคำในตระกูลภาษามอญ - เขมร ปนอยู่ไม่น้อย ๑๕/ ๙๗๓๕
๒๙๑๑. นิกาย มูลคำ เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต เอามาใช้เป็นคำไทยเป็นคำทับศัพท์ มีบทนิยามว่า "หมู่ พวก หมวด เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ที่แยกออกเป็นห้าหมวดคือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย ลักษณนามบอกหมวดหมู่ใช้แก่คณะนักบวชในศาสนาเดียวกันที่แยกออกเป็นพวก ๆ เช่นในพระพุทธศาสนา มีสองนิกายคือ อุตรนิกายและทักษิณนิกาย"
ตัวอย่างตามคำนิยามนี้ หมู่ พวก เช่น เทวนิกาย หมู่เทวดา หมวดกองเช่น พลนิกาย กองทัพ
ผู้ถือศาสนาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นนักบวชและไม่เป็นนักบวชก็มักจะแยกออกเป็นนิกายมากบ้าง น้อยบ้าง ตามทิฐิและความประพฤติปฏิบัติของผู้ถือศาสนานั้น ๆ ๑๕/ ๙๗๓๖
๒๙๑๒. นิโกร เป็นชื่อของชนหลายเผ่าที่มีกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา คำนิโกรมีรากศัพท์มาจากคำลาตินแปลว่า "ดำ" ชาวนิโกรมีลักษณะร่างกายคล้ายคลึงหรือเหมือนกันหลายอย่างเช่น มีผิวดำ ผมหยิก จมูกแบน และริมฝีปากหนา เป็นต้น ๑๕/ ๙๗๔๒
๒๙๑๓. นิครนถ์ เป็นชื่อของนักบวชลัทธินอกศาสนาลัทธิหนึ่ง ในอินเดียสมัยพุทธกาล มีนาฏบุตรเป็นเจ้าลัทธิ เรื่องราวของนักบวชพวกนี้ มีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย
คำนิครนถ์ เป็นภาษาสันสกฤต ในภาษาบาลีใช้ว่า "นิคัณฐะ" แปลว่า ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดหรือเครื่องผูกพัน
ต่อมาเมื่อนิครนถ์ นาฏบุตร ดับขันธุ์แล้วไม่นาน พวกนิครนถ์ได้แตกออกเป็นสองนิกายคือนิกายทิคัมพร แปลว่าพวกนุ่งห่มทิศคือไม่นุ่งผ้า กับนิกายเศวตัมพร แปลว่าพวกวนุ่งขาวห่มขาว
สาระสำคัญของลัทธินิครนถ์นี้ตรงกับลัทธิสำคัญลัทธิหนึ่งในจำนวนลัทธิเดียรถีย์สามลัทธิคือ ลัทธิที่ตรัสว่า "มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ แล้วแต่กาลก่อนเป็นเหตุ"
ในปัจจุบันนักบวชพวกนิครนถ์ ยังมีอยู่แพร่หลายในอินเดีย เรียกกันว่า นักบวชเชน และเรียกนาฎบุตรว่ามหาวีระ (ดูคำเชน - ลำดับที่ ๑๗๗๕ ประกอบ)
เมื่อนิครนถ์ นาฏบัตร ดับขันธ์ลง สางวกทั้งหลายได้ประชุมหารือกันว่าสาระสำคัญของลัทธินี้เป็นอย่างไร สาวกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นสัสตทิฐิ อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่าเป็นอุจเฉททิฐิ
ความจริงลัทธิของนิครนถ์ นาฏบัตรนี้เป็นลัทธิหนึ่งในจำนวน ๖๒ ลัทธิ (ทิฐิ๖๒) ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพรหมชาลสูตร ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นลัทธิเศียรถีย์คือลัทธินอกพระพุทธศาสนา ๑๕/ ๙๗๔๓
๒๙๑๔. นิโคติน เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์ เป็นสารสำคัญในต้นยาสูบ และมีอยู่ที่ใบเป็นจำนวนมาก โคตินมีลักษณะเป็นของเหลวข้น เมื่อบริสุทธิ์ไม่มีสี เป็นสารพิษอย่างแรง ออกฤทธิ์ต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น และทำให้หลอดโลหิตตีบลง
ประโยชน์ของนิโคติน คือใช้เป็นตัวยาฆ่าแมลงที่ทำลายพืช ใช้เป็นยาขับพยาธิลำไส้ในสัตว์ ๑๕/ ๙๗๔๗
๒๙๑๕. นิโครธาราม - วัด เป็นสังฆาราม ตั้งอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ทางกรุงกบิลพัสดุ์ได้เตรียมการรับเสด็จ เลือกได้สวนของนิโครธ ซึ่งเป็นเจ้าชายในวงศ์ศากยะ จัดสร้างเสนาสนะที่ประทับของพระพุทธองค์ และของพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ กับสถานที่รับรองแขกต่างเมืองที่ตามเสด็จด้วย และสร้างหอประชุมใหญ่ให้มีที่จงกรม ให้มีที่พักกลางวัน และกลางคืนที่เหมาะแก่พระภิกษุ ๑๕/ ๙๗๔๘
๒๙๑๖. นิจศีล คือศีลที่ต้องรักษาไว้เป็นนิจได้แก่ศีลห้า นิจศีลนี้นิยมสมาทานกันอยู่สองกาลคือ
๑. เมื่อทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกครั้งแรก ก็รับไตรสรณาคมน์ และศีลห้า กำหนดว่านับถือพระพุทธศาสานาเต็มตัวแล้ว
๒. เมื่อบอกลาสิกขา พระอุปัชฌายะ หรืออาจารย์ ให้สมาทานศีลอีกครั้งหนึ่ง ๑๕/ ๙๗๔๙
๒๙๑๗. นิติกรรม ได้แก่ การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ โดยนัยนี้นิติกรรมก็คือ การกระทำที่มุ่งให้เกิดผลเกี่ยวกับสิทธิ หรือผลประโยชน์ของบุคคล ซึ่งกฎหมายรองรับและบังคับให้
นิติกรรมอาจเป็นการกระทำของบุคคลเดียว หรือหลายฝ่ายก็ได้ นิติกรรมซึ่งจะมีผลทางกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยใจสมัคร และประสงค์จะให้มีความผูกพันกันตามกฎมายด้วย ผู้ทำนิติกรรมจะต้องเป็นผู้มีความสามารถบริบูรณ์ตามกฎหมาย นิติกรรมบางอย่างกฎหมายบังคับว่า ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยปรกติแล้ว การใด ๆ ที่กฎหมายมิได้ห้ามไว้ บุคคลจะทำนิติกรรมให้เกิดผลอย่างไรก็ได้ แต่นิติกรรมนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ๑๕/ ๙๗๕๐
๒๙๑๘. นิติบัญญัติ หมายถึง การบัญญัติหรือตรากฎหมายเป็นอำนาจอธิปไตยประเภทแรก ในระบอบการปกครองประเทศ มักจะปรากฎในรูป "อำนาจนิติบัญญัติ" หรือบางทีก็เรียกว่า รัฐสภา
รัฐสภา มักจะตรากฎหมายที่เป็นแม่บทวางหลักกว้าง ๆ ไว้ ในพระราชบัญญัติ และมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหาร ตรากฎหมายในข้อปลีกยอ่ย เป็นพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงเอาเอง ซึ่งจะต้องออกภายในขอบเขตของพระราชบัญญัติ ที่ให้อำนาจไว้ หากออกเกินขอบเขตก็อาจถูกศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายปรับกับคดีชี้ขาดว่า พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงไม่มีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับไม่ได้
ศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ก็เป็นผู้บัญญัติขึ้นเหมือนกัน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศที่ใช้กฎหมายประเพณี หรือคอมมอนลอว์ อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ กฎหมายส่วนใหญ่เกิดจากคำพิพากษาคดีสำคัญ ๆ ของศาลสูง และนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการตัดสินคดีต่าง ๆ ไปในเวลาข้างหน้าเสมอ จนกว่าคำพิพากษานั้น จะถูกลบล้างโดยคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า หรือมีกฎหมายออกมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกหลักกฎหมายในคำพิพากษานั้น ๆ เสีย ๑๕/ ๙๗๕๖
๒๙๑๙. นิติบุคคล คือ บุคคลที่เกิดขึ้น หรือมีขึ้นโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย นิติบุคคลไม่ใช่บุคคลธรรมดา หากแต่เป็นคณะบุคคล หรือกองทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคล และยอมให้มีสิทธิ์และหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพแล้ว จะพึงมีพึงเป็นได้ เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘ บัญญัติว่า "อันว่านิติบุคคลนั้น จะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น
นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ ได้แก่ ทบวงการเมือง วัดวา อาราม ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว
นิติบุคคลตามกฎหมายอื่นนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้น
นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งนิติบุคคลนั้น ๆ บัญญัติไว้และต้องอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ดังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งด้วย และจะต้องมีภูมิลำเนา เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ๑๕/ ๙๗๕๙