หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/69

    การถือธุดงค์นี้ สำเร็จด้วยการสมาทานคือ อธิษฐานด้วยใจ หรือแม้ด้วยเปล่งวาจา           ๑๕/ ๙๒๕๑
                ๒๗๐๖. ธุรกิจ  มีความหมายที่ใช้คลุมกระบวนการทั้งหมด ของการนำทรัพยากรธรรมชาติมาเปลี่ยนสภาพ โดยมนุษย์และเครื่องจักร เป็นสินค้าแล้วเก็บรักษาไว้ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อ หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจ หมายถึง การปฎิบัติ๑๕/ที่เกี่ยวกับการผลิต และการซื้อเพื่อไว้ขายโดยหวังผลกำไร ฉะนั้น ธุรกิจจึงรวมทั้งการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
                    ธุรกิจมิได้ก่อให้เกิดเฉพาะสินค้าเท่านั้น แต่ยังคลุมถึงการสนองความต้องการเกี่ยวกับการบริการอีกด้วย
                    วัตถุประสงค์ของธุรกิจคือ การแสวงหากำไร โดยที่เห็นว่าผลกำไรนั้น คุ้มค่ากับความอุตสาหะ และการลงทุน
                    หน้าที่ทางธุรกิจ อาจแยกเป็นหน้าที่สำคัญได้สี่อย่างคือ การผลิต การขาย หรือการตลาด การเงิน และการเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลากร
                    ปัจจุบันปรัชญาทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อาจแบ่งระบบเศรษฐกิจได้เป็นสามประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ระบบเสรี ระบบวางแผน และระบบผสม
                    ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะมีโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่มีส่วนได้เปรียบทางเศรษฐกิจมากกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก           ๑๕/ ๙๒๕๓
                ๒๗๐๗. ธุวดารา  มีนิยามว่า ดาวเหนือ คำนี้มาจากภาษาบาลี
                    ชาวอินเดียคุ้นเคยกับดวงดาวในท้องฟ้ามาแล้วแต่โบราณ พราหมณ์ผู้ประกอบศาสนพิธีจะต้องศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ หลายคัมภีร์ โดยเฉพาะต้องศึกษาคัมภีร์พระเวท ในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ มีเวทางคู้เป็นคัมภีร์ประกอบที่สำคัญ แยกออกเป็นหกสาขา คัมภีร์สาขาสุดท้ายเป็นวิชาว่าด้วยดวงดาวในท้องฟ้า ทำให้อินเดียเป็นชาติที่มีความรู้เกี่ยวกับดวงดาวดีที่สุดชาติหนึ่งในสมัยโบราณ
                    การที่ดาวธุวดาราหรือดาวเหนือ เป็นดาวที่เห็นอยู่ประจำที่และมีดาวดวงอื่น ๆ หมุนไปรอบ ๆ ย่อมทำให้ชาวอินเดียโบราณถือว่าดาวธุวดารานี้เป็นดาวพิเศษ บางคัมภีร์กล่าวว่าดาวธุวดารานี้เป็นแกนกลางของสากลจักรวาล แกนนี้หมุนรอบตัวเองและพาดวงดาวต่าง ๆ หมุนไปตามแกนนั้นด้วย แดนของดาวธุวดาราเป็นแดนแห่งวิษณุบรมเทพ อยู่เหนือโลกสาม เป็นดาวที่พยุงดาวพระเคราะห์ และกลุ่มดาวนักษัตรทั้งหลาย           ๑๕/ ๙๒๖๐
                ๒๗๐๘. ธูป  มีบทนิยามว่า "ของหอมชนิดหนึ่ง ทำด้วยผงกระแจะพอกกับไม้ยาว เป็นเครื่องจุดบูชาคู่กับเทียน ลักษณะนามเรียกว่า ดอก"
                    ธูปเป็นคำสันสกฤตและบาลีแปลว่า กลิ่นหอม เครื่องหอม ธูปที่เป็นก้านไม้เล็ก ๆ อย่างที่เห็นอยู่เป็นของคิดขึ้น เป็นวิธีของชาวตะวันออกมีจีนเป็นต้น ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็กล่าวแต่เผาเทียน ไม่กล่าวถึงธูปเลย           ๑๕/ ๙๒๖๔

     

    น.

                ๒๗๐๙. น.พยัญชนะตัวที่ยี่สิบห้าของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวสุดท้ายของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน และเป็นตัวสะกดพยางค์สุดท้ายในคำสันสกฤตที่ออกเสียง อันและอิน ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกโฆษะคือมีเสียงก้อง และออกเสียงเช่นเดียวกับ ณ            ๑๕/ ๙๒๖๖
                ๒๗๑๐. นก  เป็นสัตว์เลือดอุ่นพวกหนึ่ง ตามตัวปกคลุมด้วยขนแบน ๆ มีตีนหน้าที่วิวัฒนาการมาเป็นปีกสำหรับบิน มีตีนหลังสำหรับเดินหรือเท้ากิ่งไม้ ปากแหลมมากน้อยผิดกัน นกในปัจจุบันไม่มีฟัน สืบพันธุ์ด้วยการวางไข่
                    นกส่วนมากชอบบินย้ายถิ่นไปอยู่และหากินตามท้องถิ่นไกล ๆ ในฤดูต่าง ๆ กัน นกที่พบเห็นในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ชนิด ที่ทำรัง วางไข่ในประเทศแถบหนาวเหนือ ในฤดูร้อนแล้วพากันบินย้ายถิ่นฐานเข้ามาหากินในประเทศไทยในฤดูหนาว
                    นกบางชนิดพากันบินย้ายถิ่นรวม ๆ กันไปเป็นหมู่ใหญ่ ๆ แต่บางชนิดชอบบินไปตัวเดียวโดด ๆ นกส่วนมากเคยบินย้ายถิ่นมาที่บริเวณไหน ปีต่อมาก็จะบินมาหากินตรงที่เดิม หรือที่ต้นไม้ต้นเดิม และเมื่อบินกลับไปทางประเทศหนาวเหนือ เพื่อวางไข่ก็จะไปถูกที่ที่ทำเลเดิม และทำรังในที่เดิม           ๑๕/ ๙๒๖๖
                ๒๗๑๑. นกแก้ว - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์ปลานกแก้ว ตัวป้อมและแบนข้าง มีอยู่ด้วยกันราวสี่ชนิด และทุกชนิดพบในกรุงเทพ ฯ ทั้งสิ้น           ๑๕/ ๙๒๘๔
                ๒๗๑๒. นกกระจอก - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์นกกระจอก มีรูปร่างค่อนข้างยาว ตัวแบนกลม ริมปากเท่ากัน มีครีบอกแผ่กว้างเป็นแผ่นใหญ่ ซึ่งใช้เป็นเครื่องร่อนได้ในระยะสั้นหรือยาว สุดแต่ชนิดของปลา เป็นปลาอยู่ในทะเลเขตร้อน           ๑๕/ ๙๒๘๔
                ๒๗๑๓. นกกระจิบ โนรา - ปลา  เป็นปลาในวงศ์ปลาผีเสื้อ มีรูปร่างสูงและแบนข้างมาก อยู่ในทะเลเขตร้อน           ๑๕/ ๙๒๘๕
                ๒๗๑๔. นกนางแอ่น  เป็นชื่อโรคติดต่อร้ายแรงอย่างหนึ่ง อยู่ในจำพวกไข้กาฬ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไข้กาฬนกนางแอ่น เป็นโรคติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ติดต่อกันได้โดยทางเสมหะ เพราะผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ในบริเวณจมูกและคอ ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคนี้แล้วจะมีอาการของโรคภายใน ๒ - ๑๐ วัน
                ผลตามหลังจากการเป็นโรคนี้ในรายที่รอดตาย อาจเกิดโรคหรือภาวะพิการได้หลายประการ เช่น หูหนวก จากการที่ประสาทหูเกิดอันตราย ตาบอด ศีรษะโต           ๑๕/ ๙๒๘๖
                ๒๗๑๕. นกหก  เป็นนกแก้วพวกหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กและหางสั้น มีขนาดโตกว่านกกระจอกเล็กน้อย ชอบเกาะกิ่งไม้ ห้อยหัวนอนอย่างค้างคาว           ๑๕/ ๙๒๘๗
                ๒๗๑๖. นกุล  เป็นชื่อเจ้าชายองค์ที่สี่ในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ แห่งราชสกุลจันทรวงศ์ ในเรื่องมหากาพย์ มหาภารตะ
                นกุล เป็นเจ้าชายที่มีรูปโฉมงดงามอย่างยิ่งและชื่นชมในความงามของตนว่าล้ำเลิศยิ่งกว่าใครหมด ความงามของนกุลเป็นที่จับจิตจับใจผู้หญิงทั้งหลาย ทำให้เกิดวุ่นวายบ่อย ๆ ในบรรดาเจ้าชายปาณฑพพี่น้องทั้งห้า นกุลได้ชื่อว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมทางดาบ และมีความสามารถยอดเยี่ยมในวิชาอัศวศาสตร์หาผู้เสมอมิได้           ๑๕/ ๙๒๘๘
                ๒๗๑๗. นครกัณฑ์  เป็นชื่อกัณฑ์ที่ ๑๓ ซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้ายในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อจบกัณฑ์นี้เป็นอันจบนิบาตชาดก ซึ่งมีจำนวน ๕๕๐ เรื่อง แต่คงปรากฎมีเพียง ๕๔๖ เรื่อง ขาดไปสี่เรื่อง เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสุดท้าย จึงนับเป็นเรื่องที่ ๕๔๖           ๑๕/ ๙๒๙๐
                ๒๗๑๘. นครชัยศรี  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ยาวไปตามลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ทั้งสองฝั่งเป็นทุ่งนาตลอด ตามริมฝั่งมีไร่และสวนบ้าง
                    อ.นครชัยศรี เป็นเมืองเก่า ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ยังมีซากเมืองปรากฎอยู่ นครชัยศรีคงเป็นเมืองตลอดมาจนในรัชกาลที่ห้า จึงย้ายที่ว่าการเมืองไปตั้งที่พระปฐมเจดีย์เรียกว่านครปฐม ลดเมืองนครชัยศรีลงเป็น อ.นครชัยศรี           ๑๕/ ๙๒๙๑
                ๒๗๑๙. นครไชยศรีสุรเดช - กรมหลวง  พระนามเดิมเจ้าชายจิรประวัติวรเดช เป็นพระราชโอรสองค์ที่เจ็ด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ประสูตด้วยเจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นใหญ่ ซึ่งขณะทรงพระเยาว์มีอยู่ด้วยกันสี่พระองค์ ครั้นพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์ ทรงพระเจริญทั้งพระชันษา และวิทยาการแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ ประเทศอังกฤษ อันเป็นกิจที่เริ่มปฎิบัติขึ้นเป็นครั้งแรก
                     เฉพาะกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช ทรงกำหนดให้ศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเดนมาร์ก จนสำเร็จวิชานายทหารปืนใหญ่ แล้วได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าฝึกราชการในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งปลัดทัพบก เป็นเสนาธิการ และบังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ด้วย ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่น ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ แล้วเลื่อนยศทหารเป็น นายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็น นายพลโท และนายพลเอก เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทรงจัดปรับปรุงกิจการฝ่ายทหารหลายประการ เช่น การออก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหาร วิธีฝึกหัดทหารแบบยุโรป และได้ทรงเลื่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และยุบตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงรับสถาปนาเป็น กรมหลวง ต่อมาได้เลื่อนพระยศขึ้น จอมพล สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖             ๑๕/ ๙๒๙๒
                ๒๗๒๐. นครไทย  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศโดยมากเป็นป่าเขา มีลำห้วย ลำธาร อยู่ทั่ว ๆ ไป มีที่ราบบ้างแต่ในส่วนกลาง    นครไทยเคยเป้นเมืองเก่า ยังมีเนินดินเป็นหลักฐานอยู่    ๑๕/ ๙๒๙๘
                ๒๗๒๑. นครธม  เมืองพระนครธม หรือเมืองพระนครหลวง พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้าย แห่งอาณาจักรขอม (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ทรงสร้างขึ้นซ้ำที่กับเมืองพระนคร ซึ่งพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสร้างเมื่อราว พ.ศ.๑๔๕๐ แต่มีขนาดเล็กกว่า
                    เมืองนครธม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีกำแพงล้อมรอบ กว้าง ยาว ด้านละ ๓ กม. กำแพงนี้ก่อด้วยศิลาแลงสูงเกือบ ๘ เมตร มีเชิงเทินอยู่ภายใน และมีคูกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร ล้อมรอบภายนอก มีอาคารเล็ก ๆ เรียกว่า ปราสาทจรุง อยู่ที่มุมกำแพงทั้งสี่มุม มีปราสาทบายน เป็นจุดศูนย์กลาง
                    เมืองนครธม ได้เป็นราชธานีของขอมอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๙๗๔ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาที่สอง (เจ้าสามพระยา)  ทรงตีเมืองนครธมได้ในปีนั้นแล้ว พวกขอม หรือเขมรจึงย้ายราชธานีไปอยู่ที่อื่น           ๑๕/ ๙๒๒๙
                ๒๗๒๒. นครนายก  เป็นจังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา ทิศตะวันออก จด จ.ปราจีนบุรี ทิศใต้จด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตก จด จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศตอนเหนือ เป็นเนินสูง แล้วลาดต่ำลงไปทางใต้ แถบนี้เป็นป่าไม้ และภูเขา ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ตลอด
                    จ.นครนายก เดิมเรียกว่า บ้านนา มีเมืองโบราณสมัยขอมเมืองหนึ่ง มีเทวสถานฝีมือขอมปรากฎอยู่ ตัวเมืองตั้งอยู่ใน ต.ดงละคร ชาวบ้านเรียกกันว่า เมืองลับแล ยังมีแนวเป็นเนินดิน และคูปรากฎอยู่ ภายหลังย้ายมาตั้งใหม่ ที่ฝั่งขวาแม่น้ำนครนายก สันนิษฐานว่า คงจะย้ายมาในสมัยอยุธยาตอนต้น เพื่อตั้งเป็นเมืองหน้าด่าน ทางทิศตะวันออก เดิมมีกำแพงป้อมคูแข็งแรง และมารื้อเสียในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ คราวเดียวกับเมื่อรื้อกำแพงเมืองสุพรรณ และเมืองลพบุรี           ๑๕/ ๙๓๐๐
                ๒๗๒๓. นครปฐม  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันออก จด พระนครศรีอยุธยา จ.นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้ จด จ.สมุทรสาคร ทิศตะวันตก จด จ.ราชบุรี ภูมิประเทศยาวไปตามลุ่มน้ำนครชัยศรี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ดอนมีป่าไม้เบญจพรรณ  และป่าโปร่ง
                    นครปฐม เป็นเมืองเก่า เมืองหนึ่งในประเทศไทย มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัย เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงสุพรรณภูมิ แต่จากการขุดค้นโบราณวัตถุ ปรากฎว่ามีศิลปวัตถุสมัยคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒)  ทั้งบนศิลาจารึกต่าง ๆ ที่ขุดได้ทางแถบนี้ มักเป็นอักษรคฤนต์ ราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑  (ก่อนนี้อาจตกอยู่ในอาณาจักรโคตรบูร ซึ่งจีนเรียกว่า ฟูนัน ก็เป็นได้)  ครั้นถึงราว พ.ศ.๑๕๔๔ กษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย มีอำนาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นเอกราช แล้วแผ่อาณาเขตมาครองทวารวดี และประเทศเขมร นครปฐมจึงตกอยู่ในอำนาจนครศรีธรรมราช แล้วเลยตกเป็นของเขมร ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ครั้นต่อมาราว พ.ศ.๑๖๐๐ พระเจ้าอนุรุธมหาราช (อโนรธามังช่อ)  มาตีละโว้ของเขมรได้ จึงน่าจะยกมาตีเอาบริเวณเมืองนครปฐมไปด้วย ต่อมาปรากฎว่า อาณาจักรที่มีเมืองนครปฐมนี้ ได้ตกเป็นของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ผู้สืบเชื้อพระวงศ์จากพระเจ้าพรหม และเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ฉะนั้น เมืองนครปฐม จึงถูกทิ้งร้างในคราวเมื่อพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ ต้องย้ายไปตั้งราชธานีที่เวียงเหล็ก
                    ต่อมา ไม่ค่อยปรากฎเรื่องราวเมืองนครปฐม นอกจากว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ โปรดให้แบ่งท้องที่เมืองราชบุรี กับเมืองสุพรรณบุรีมารวมตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีขึ้น ที่คลองบางแก้ว ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จมาทางนครชัยศรี ทรงเห็นพระสถูปเจดีย์ ซึ่งขอมสร้างสวมพระสถูปเดิม ซึ่งมีรูปเป็นสถูปอย่างอินเดีย ทรงสันนิษฐานว่า เป็นโบราณสถานครั้งสมัยเมื่อพระพุทธศาสนา เข้ามาประดิษฐานในแถบนี้ จึงทรงตั้งนามว่า เมืองนครปฐม ครั้นเสด็จขึ้นเสวยราชย์ จึงโปรด ฯ ให้ตั้งต้นปฎิสังขรณ์ แต่มาทำเสร็จในรัชกาลที่ห้า           ๑๕/ ๙๓๐๑
                ๒๗๒๔. นครพนม  จังหวัดภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.หนองคาย ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง ทิศใต้ จด จ.ยโสธร ทิศตะวันตก จด จ.สกลนคร ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน ตอนใต้มีเทือกเขา นอกนั้นเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นป่าและห้วยหนองบ้าง
                    จ.นครพนม อยู่ชายแดนตรงข้ามกับเมืองท่าแขกของประเทศลาว เป็นเมืองด่าน และชุมทางสำคัญทั้งทางบก และทางน้ำ เป็นท่าเรือติดต่อกับเมืองต่าง ๆ ตามฝั่งแม่น้ำโขง มีสิ่งสำคัญคือ พระธาตุพนม อยู่ที่ อ.ธาตุพนม
                ๒๗๒๕. นครราชสีมา จังหวัดภาคอีสานเรียกกันเป็นสามัญว่าโคราช ตั้งอยู่ตอนต้นของแม่น้ำมูล มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น ทิศตะวันออกจด จ.บุรีรัมย์ ทิศใต้จด จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก ทิศตะวันตกจด จ.สระบุรี และจ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าดงและเขามาก
                    จ.นครราชสีมา สร้างในสมัยอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ช่างฝรั่งเศสเป็นผู้ให้แบบอย่าง เป็นเมืองมีป้อมปราการ มีคูเมืองล้อมรอบ กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๗๐๐ เมตร มีสี่ประตู ประตูด้านเหนือเรียกประตูพลเเสน ด้านตะวันออกเรียกประตูพลล้าน ด้านใต้เรียกประตูชัยณรงค์ ด้านตะวันตกเรียกประตูชุมพล ข้างนอกเมืองทางทิศตะวันออกมีบึงใหญ่ สำหรับขังน้ำไว้เลี้ยงสัตว์เรียก หัวทะเล
                    จ.นครราชสีมา เดิมเป็นหัวเมืองชั้นโท ภายหลังยกเป็นหัวเมืองเอก เมื่อราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เพราะเป็นหัวเมืองสำคัญในการปกครอง พระราชอาณาจักรทางด้านตะวันออก ด้วยเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ต้นทาง ที่จะไปมาระหว่างหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองทั้งหลายในลุ่มแม่น้ำโขง ชื่อเมืองนครราชสีมานั้นรวมมาจากชื่อเมืองเก่าสมัยขอมสองเมืองคือ เมืองโคราช ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเหนือลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง)  และเมืองเสมา ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของลำตะกอง (เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้าง)           ๑๕/ ๙๓๐๕
                ๒๗๒๖. นครวัด - ปราสาท  เป็นปราสาทก่อศิลาทราย เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้ทรงสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๑๖๕๐ - ๑๗๐๐ อุทิศถวายแด่พระนารายณ์ ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผิดกับปราสาทขอมอื่น ๆ ที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
                    บริเวณปราสาททั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑,๐๒๕  ๘๐๐ เมตร และมีคูกว้าง ๑๙๐ เมตร ล้อมรอบอยู่ชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง นับเป็นศาสนสถานขอมที่มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุด
                    ปราสาทนครวัด ตั้งอยู่ภายในเมืองพระนคร หรือยโสธรปุระ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ ทรงสร้างทางมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปราสาทที่สง่างามที่สุดในศิลปะขอม และอาจสร้างเพื่อหมายถึง เขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตัวปราสาทมีฐานสามชั้นมีระเบียงวางล้อมรอบทุกชั้น มีปราสาทอยู่ที่มุมทุกมุม และมีซุ้มประตูซุ้มทำเป็นทางเข้าทุกทิศ มีบรรณาลัย หรือหอสมุดสี่หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกบนฐานเป็นชั้น ชั้นที่หนึ่งสองหลัง และชั้นที่สองสองหลัง บนชั้นยอดสุดมีปราสาทห้าหลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสี่หลังอยู่ที่สี่มุม หลังคาปราสาทเป็นรูปพุ่ม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลไปจากปราสาทหินพิมาย นอกจากนี้ยังมีระเบียงตัดกันเป็นรูปกากบาทสองแห่ง แห่งหนึ่งเชื่อมปราสาท ข้างบนห้าหลังเข้าด้วยกัน และอีกแห่งหนึ่งเชื่อมระเบียงชั้นที่หนึ่ง เข้ากับระเบียงชั้นที่สอง
                    ทางเดินปราสาทนครวัด ปูด้วยแผ่นศิลาทรายยาว ๓๕๐ เมตร กว้าง ๙.๔๐ เมตร มีรูปนาคสลักเป็นราวลูกกรงอยู่ทั้งสองข้างทางเดินนี้ มีหอประชุมที่เรียกกันว่า บรรณาลัย ตั้งอยู่สองข้าง หลังจากนั้นจึงมีสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส อยู่สองข้างของทางเดิน ด้านหน้าประตูทางเข้าที่สำคัญคือ ทิศตะวันตกมียกพื้นสูงสองชั้น รูปกากบาท ซึ่งอาจใช้เป็นเวทีสำหรับการฟ้อนรำ หรือเป็นที่ประทับของพระราชา เวลามีงานพิธีก็ได้
                    ระเบียงชั้นที่หนึ่ง ซึ่งมีภาพสลักอยู่บนผนังด้านในโดยรอบ มีขนาด ๑๘๗ x ๒๑๕ เมตร แต่ระเบียงชั้นที่สองมีขนาดเพียง ๑๐๐ x ๑๑๕ เมตร หลังคาระเบียงเหล่านี้มีเพดานไม้สลักเป็นรูปดอกบัวปิดอยู่ ในระเบียงชั้นที่สองนี้มี "พระพันองค์" คือ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลังปราสาทนครวัด เก็บรวบรวมไว้ บนผนังระเบียงชั้นที่สองมีรูปเทพธิดา ในศิลปะแบบนครวัด ระเบียงชั้นบนสุดมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
                    ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง ต้องดูโดยการเวียนซ้ายที่น่าสนใจคือ ปีกใต้ด้านตะวันตก ยาว ๙๐ เมตร เป็นภาพการยกทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ซึ่งมีกองทัพไทย (สยามก๊ก)  อยู่ทางด้านขวาสุด (ทิศตะวันออก)  ภาพสลักด้านนี้สลักเป็นแนวซ้อนกันอย่างมีระเบียบ
                    สรุปแล้ว ภาพสลักบนผนังระเบียงชั้นที่หนึ่ง อาจแบ่งออกได้เป็นสามสมัยคือ สามภาพที่สลักปะปนกันอย่างยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบจัดเป็นสมัยแรก สามภาพสลักอย่างมีระเบียบเป็นแนวขนานซ้อนกัน จัดเป็นสมัยที่สอง สองสมัยนี้สลักขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง อีกสร้างภาพสลักขึ้นที่หลังในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑            ๑๕/ ๙๓๐๗
                ๒๗๒๗. นครศรีธรรมราช  จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.สุราษฎร์ธานี และตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้ จด จ.พัทลุง จ.ตรัง และ จ.สงขลา ทิศตะวันตก จด จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี  ภูมิประเทศตอนตะวันตกประกอบด้วย ภูเขาและเนิน มีที่ราบระหว่างภูเขา ตอนกลางส่วนมากเป็นที่ราบ ตอนตะวันออกเป็นพื้นที่ระหว่างที่ราบตอนกลางกับทะเล ตอนที่เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ตอนริมทะเลเหมาะแก่การทำสวนมะพร้าว
                    นครศรีธรรมราช เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ในแหลมมลายู มีชื่อเรียกตามศิลาจารึกว่า ตามพรลิงค์ และมีชื่อเรียกตามตำนานต่าง ๆ เช่น นครดอนพระ ศรีธรรมนคร ศิริธรรมราช เป็นต้น ตัวเมืองเดิมเล่ากันว่า ตั้งอยู่ที่เขาวัง ต.ลานสะกา อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่หาดทรายแก้ว
                    ในสมัยก่อนสุโขทัย เมืองนครศรีธรรมราชเหมือนกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ทั้งหลายคือ บางครั้งก็มีอำนาจมาก มีหัวเมืองใหญ่น้อยฝ่ายใต้ตลอดแหลมมลายู อยู่ในปกครองเป็นจำนวนมาก มีกษัตริย์ปกครองโดยอำนาจสิทธิขาด บางครั้งก็เสื่อมอำนาจ ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น เช่น ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น
                    ในตอนที่เมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจมากนั้นได้แบ่งการปกครองเมืองขึ้นเป็นทำนองสิบสองนักษัตร ตามปูมโหร ให้ใช้ตรารูปสัตว์ประจำปี เป็นตราของเมืองนั้น ๆ คือ
                        ๑. เมืองสาย (บุรี)  ถือตราหนู (ชวด)            ๒. เมืองปัต (ตานี)  ถือตราวัว (ฉลู)
                        ๓. เมืองกลันตัน  ถือตราเสือ (ขาล)            ๔. เมืองปะหัง  ถือตรากระต่าย (เถาะ)
                        ๕. เมืองไทร (บุรี)  ถือตรางูใหญ่  (มะโรง)            ๖. เมืองพัทลุง   ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง)
                        ๗. เมืองตรัง   ถือตราม้า (มะเมีย)            ๘. เมืองชุมพร   ถือตราแพะ (มะแม)
                        ๙. เมืองบันไทยสมอ   ถือตราลิง (วอก)            ๑๐. เมืองสอุเลา   ถือตราไก่ (ระกา)
                        ๑๑. เมืองตะกั่ว ถลาง   ถือตราหมา (จอ)            ๑๒. เมืองกระ (บุรี)  ถือตราหมู (กุน)
                    ในสมัยสุโขทัย ปรากฎตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นกรุงสุโขทัย ถึงสมัยอยุธยาปรากฎว่า ในกฎมณฑียรบาลว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองชั้นพระยามหานคร โดยแยกเอาเมืองอยองตะหนะ เมืองมะละกา เมืองมลายู เมืองวรวารี ออกจากแคว้นยกขึ้นเป็นเมืองกษัตริย์ ถวายต้นไม้เงินทอง เมืองนคร ฯ จึงเป็นเพียงเมืองหน้าด่านคุ้มครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ทางใต้
                    ต่อมาปรากฎในศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งตราในปี พ.ศ.๑๙๑๙ ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเอก เทียบเท่าเมืองพิษณุโลก
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร พระองค์ได้เสด็จไปปราบแคว้นลานนาไทย แล้วโปรดให้อพยพครอบครัวลานนาไทย ลงไปไว้เมืองนคร ฯ และหัวเมืองทางปักษ์ใต้สองครั้ง
                    ในปี พ.ศ.๒๑๗๓  เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเสวยราชย์ แล้วใช้อุบายให้พระยาเสนาภิมุข (ยามาดา นากามาซา)  ให้เป็นเจ้าพระยานคร ฯ คุมพวกอาสาญี่ปุ่นทั้งกรมลงไปครองเมืองนคร ฯ ต่อมาเจ้าพระยากลาโหม  ฯ ได้ปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมืองปัตตานีไม่ยอมอ่อนน้อม ทัพกรุงยกมาชุมนุมที่เมืองนคร ฯ   ปราบเมืองปัตตานีสำเร็จ จึงโปรดให้เมืองนคร ฯ และเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง ขึ้นสมุหพระกลาโหม ในปี พ.ศ.๒๑๗๘
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เมืองนครราชสีมา และเมืองนคร ฯ เป็นขบถ ทัพกรุงต้องยกไปปราบ พระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้หนีไปพึ่งพระยารามเดโช เจ้าเมืองนคร ฯ สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรด ฯ ให้พระยาสุรสงคราม คุมทัพยกไปตีทัพบกพระยายมราช (สังข์)  แตก และให้พระยาราชวังสัน คุมทัพเรือไปตีทัพเรือฝ่ายนคร ฯ แตก แล้วทัพทั้งสองก็เข้าล้อมเมืองไว้ พระยารามเดโชเห็นว่า จะสู้ไม่ได้จึงมีหนังสือไปถึงพระยาราชวังสัน ขอให้ช่วยให้หนีได้ เพราะเคยเป็นสหาย และเป็นเชื้อแขกด้วยกัน พระยาราชวังสันจึงจัดเรือให้พระยารามเดโชหนีไปได้ พระยาราชวังสันจึงต้องโทษประหารชีวิต
                    เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้งนั้น พระปลัดผู้รักษาเมืองนคร ฯ ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้านคร ครองเมืองนคร ฯ อยู่ได้สามปี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จยกทัพไปตีได้เมืองนคร ฯ แล้วนำตัวเจ้านคร เข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี และโปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์ ไปอยู่ได้ไม่ช้าก็ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงโปรดให้เจ้านครกลับไปครองเมืองนคร ฯ อีก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ ได้รับสุพรรณบัฎ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ลดบรรดาศักดิ์เจ้านคร ลงเป็นเจ้าพระยานคร และให้ลดตำแหน่งเสนาบดีเมืองนคร ฯ  ลงเป็นกรมการ เหมือนหัวเมืองขึ้น
                    ถึงแม้เมืองนคร ฯ จะได้ลดฐานะลงเป็นชั้นเมืองพระยามหานคร แล้ว แต่ก็ยังได้รับการยกย่อง ทำนองประเทศราช โดยโปรดให้ส่งต้นไม้เงินทองมาทูลเกล้า ฯ ถวาย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงได้เลิก
                    เมืองนคร ฯ  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหัวเมืองขึ้นตั้งแต่เมืองชุมพร ไปจนถึงเมืองสะลังงอ เขตแคว้นมลายู ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๕ แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองนคร ฯ ให้ปกครองเมืองปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ส่วนเมืองนคร ฯ ให้ปกครองเมืองไทรบุรี และหัวเมืองตกมหาสมุทรอินเดีย ทั้งหมด
                    เมืองนคร ฯ ตั้งอยู่ในย่านกลางที่ชาวต่างประเทศอาศัยผ่านไปมา จึงเป็นเมืองที่มีความเจริญมาแต่โบราณ มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก           ๑๕/ ๙๓๑๐
                ๒๗๒๘. นครสวรรค์  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร ทิศตะวันออก จด จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลพบุรี ทิศใต้ จด จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท ทิศตะวันตก จด จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ภูมิประเทศตอนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำปิง น้ำยม น้ำน่าน เป็นที่ลุ่ม นอกนั้นเป็นป่าดง มีเขามาก
                    จ.นครสวรรค์  เป็นเมืองโบราณ ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง  เรียกว่า เมืองพระบาง ตั้งอยู่ในที่ดอน มีเขตตั้งแต่ชายเขาขาด ลงมาจนจดหลังตลาดปากน้ำโพ ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวกำแพงปรากฎอยู่ ต่อมาย้ายที่ทำการไปตั้งทางฝั่งซ้ายใต้เมืองเก่าลงมา ๘ กม. ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงย้ายไปตั้งทางฝั่งขวาอีก
                    เมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในการสงคราม มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับกรุงสุโขทัย ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เป็นที่ตั้งรบทัพพม่า ซึ่งยกมาทางทิศเหนือ
                    ปากน้ำโพ เป็นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน มาสบกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นชุมทางการค้า บึงบรเพ็ดเป็นสถานีเพาะพันธุ์ปลา ถนนข้ามบึงหูกวาง สร้างครั้งพระเจ้าเสือครองกรุงศรีอยุธยา           ๑๕/ ๙๓๑๖
                ๒๗๒๙. นครสวรรค์วรพินิต  เป็นพระนามจอมพล และจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ทรงเป็นองค์ที่ ๓๓ ในบรรดาพระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และทรงมีพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นพระมารดา ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาสามัญ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ และเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบก ณ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๔๖ และได้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรีราชองค์รักษ์พิเศษ นอกจากนั้นยังได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปสดับตรับฟังราชการแผ่นดินเป็นครั้งคราว ที่กรมราชเลขาธิการ พระองค์จึงทรงมีโอกาสรอบรู้ราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายทหาร  และพลเรือนพร้อมกัน
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงมียศเป็นนายพลเรือโท ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายโดยการสร้างกำลังทางเรือมีกำหนดเวลา ๑๖ ปี ใช้เงิน ๑๖๐ ล้านบาท แต่ในที่สุดไม่สามารถปฏิบัติตามโครงการนี้ได้ เพราะงบประมาณแผ่นดินไม่เพียงพอ
                        พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเป็นพระองค์แรก
                        พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
                        พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นจอมพลเรือ
                        พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพล
                        ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี
                        พ.ศ.๒๔๖๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
                        พ.ศ.๒๔๖๙ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเปลี่ยนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ใน พ.ศ.๒๔๗๒ จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งในเวลานั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร ประธานอภิรัฐมนตรี และประธานเสนาบดีสภา รวมสามครั้ง สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗
                        สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นต้นตระกูล "บริพัตร ณ อยุธยา"        ๑๕/ ๙๓๑๗
                ๒๗๓๐. นครโสเภณี  มีบทนิยามว่า "หญิงงามเมือง หญิงคนชั่ว หญิงแพศยา"
                    หญิงโสเภณี มักอยู่กันเป็นกลุ่มในสถานการค้าประเวณีที่เรียกกันว่า ซ่องโสเภณี หรือตามกฎหมายเก่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เรียกว่า "โรงหญิงนครโสเภณี"
                    จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเซียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาพระแม่เจ้า ผู้มีนามเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้น ก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าแขกแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และจะนำโชคลาภมาสู่ตน บางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน บางท้องที่นักบวชหญิงร่วมกัน จัดพิธีกรรมต่าง ๆ  ทางโสเภณีถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า
                    ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณี เพื่อสะสมทุนสำหรับสมรส และถือกันว่าหญิงที่ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้ว เป็นแบบอย่างของเมีย และแม่ที่ดี
                    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการค้าประเวณีต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้มีการประชุมกันร่างอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น ประเทศไทยก็ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย           ๑๕/ ๙๓๒๕
                ๒๗๓๑. นครหลวง  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศตอนตะวันออกของแม่น้ำป่าสักเป็นที่ดอน ส่วนทางตะวันตกเป็นที่ลุ่ม
                    อ.นครหลวง สมัยอยุธยาร่วมการปกครองอยู่ในแขวงขุนนคร เมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา แล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนครเป็นแขวงนคร ต่อมาในรัชกาลที่สามได้แยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งแขวงนครตอนใต้เป็น อ.นครกลาง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖ เปลี่ยนชื่อ อ.นครกลาง เป็น อ.นครหลวง ตามชื่อที่ประทับเดิม
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.๒๑๗๔ เขมรซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระมาแต่ต้น รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้กลับมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก จึงโปรดให้สร้างพระนครหลวงขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักฝั่งขวา เป็นที่ประทับร้อนตามระยะทางไปท่าเรือพระพุทธบาท           ๑๕/ ๙๓๓๗
                ๒๗๓๒. นครอินทร์  เป็นชื่อขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายมอญผู้หนึ่ง เดิมชื่อมะสะลุม เป็นทหารเอกของสมิงสามพลัด เจ้าเมืองแปร ผู้ซึ่งยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าราชาธิราช ต่อมามะสะลุมได้มีเรื่องบาดหมางกับสมิงสามพลัด จึงเข้ามาถวายตัวต่อพระเจ้าราชาธิราช มีตำแหน่งเป็นทหารรักษาพระองค์มีฝีมือ มะสะลุมได้แสดงฝีมือครั้งแรก เมื่อมะกราน เจ้าเมืองกรานยกทหารมาตีปล้นกองทัพพระเจ้าราชาธิราช มะสะลุมทำอุบายออกไปตัดศีรษะมะกรานมาถวาย จึงได้ไปกินเมืองคล้า และให้เป็นเจ้าสมิงนครอินทร์
                    พระเจ้าราชาธิราชทรงโปรดสมิงนครอินทร์ว่าเป็นผู้มีฝีมือ ต่อมาสมิงนครอินได้รบชนะ มังมหานรธา แม่ทัพพม่า พระเจ้าราชาธิราช ไปรดพระราชทานเงินรางวัลเป็นอันมาก ต่อมาสมิงนครอินทร์ได้ลอบเข้าไปในที่บรรทมของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องในตอนกลางคืน แต่ไม่ฆ่าพระองค์ เพียงแต่เอาพระแสงกับพานพระศรีที่ข้างพระบรรทม มาถวายพระเจ้าราชาธิราช การกระทำของสมิงนครอินทร์ทำให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสมพระทัย จึงมีพระราชสาน์ขอดูตัว พระองค์ทรงชมว่าสมิงนครอินทร์รูปงาม สมควรเป็นทหารมีลักษณะซื่อสัตย์ หาผู้เสมอยาก แล้วพระราชทานพระธำมรรค์ปัทมราชกับเครื่องม้าทองคำสำรับหนึ่ง
                    สมิงนครอินเป็นกำลังของพระเจ้าราชาธิราชในการรบกับพม่ามาตลอด จนกระทั่งพม่ากับมอญเป็นไมตรีกันเป็นเวลา ๒๒ ปี ต่อมามังกะยอฉะวา ราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เริ่มทำสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชอีก และได้คิดอุบายจับสมิงนครอินทร์ได้ และถึงแก่ความตายในสามวันต่อมา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดตั้งโกศให้สมิงนครอินทร์แบบโกศกษัตริย์ แล้วใส่เรือขนานลอบไปให้พระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชทรงจัดการพระราชทานเพลิง เก็บอิฐิใส่ผอบทองประดับพลอยไปบรรจุที่พระมุเตา แล้วให้หล่อรูปสมิงนครอินทร์ด้วยสำริด แล้วยกไปตั้งไว้บนตำหนัก ทำผลีกรรมบวงสรวงทุกวันมิได้ขาด           ๑๕/ ๙๓๓๘
                ๒๗๓๓. นครินทราธิราช - สมเด็จพระ  ทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จพระอินทราธิราช เป็นเจ้าแห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ เป็นพระราชนัดดาของ สมเด็จพระบรมราชาที่หนึ่ง เป็นโอรสของพระอนุชาและเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีมาก่อน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่หก ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗
                    พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระองค์แรกที่ได้เสด็จไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีน แห่งราชวงศ์เหม็ง ณ เมืองนานกิง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ ในรัชสมัยของพระองค์โปรดให้แต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ถึงเมืองจีนหลายครั้ง และชาวจีนได้มาตั้งภูมิลำเนาไปมาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น ได้มาตั้งเตาเผาเครื่องถ้วยชามใน จ.สิงห์บุรี เป็นเตาแบบเดียวกับที่เมืองสุโขทัย และสวรรคโลก
                    พระองค์มีราชโอรสสามองค์ ให้ไปครองเมืองต่าง ๆ กันคือ เจ้าอ้ายพระยา ครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา ครองเมืองแพรก และเจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท           ๑๕/ ๙๓๔๑
                ๒๗๓๔. นนท์  เป็นชื่อยักษ์ ในหนังสือเทศน์ภาคอีสาน เรื่อง "รามชาดก" ซึ่งเปรียบเหมือนรามเกียรติ์ภาคอีสาน หรือบางทีเรียกว่า รามายณลาว นนท์เป็นยักษ์มีหน้าที่เฝ้าประตูเมืองของพญาไอศวร (พระอิศวร)  ปู่พระยารามราช มีนิ้วเพชรศักดิ์สิทธิ์ ชี้ใครต่อใครตายไปเป็นอันมาก นางทิพโสต ลูกสาวคนธรรพ์ต้องมาปราบ โดยชวนให้รำกับนาง เมื่อนางเอานิ้วชี้เข้าที่ตัวเอง นนท์ก็ชี้ตามเลยถึงแก่ความตาย   (ดู นนทุก - ลำดับที่ ๒๗๑๓... ประกอบ)           ๑๕/ ๙๓๔๓
                ๒๗๓๕. นนทบุรี  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ทิศตะวันออก จด จ.ปทุมธานี และกรุงเทพ ฯ ทิศใต้จดกรุงเทพ ฯ ทิศตะวันตก จด จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ราบโดยมากเป็นส่วนใหญ่ ไม้ยืนต้น ทางทิศตะวันตก ตลอดขึ้นไปทางเหนือเป็นทุ่งนา หน้าน้ำ น้ำท่วมตลอด
                    ในจังหวัดนี้ มีชาวไทยเชื้อสายมอญอยู่มากแถว อ.ปากเกร็ด  ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ คราวหนึ่ง กับเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ อีกคราวหนึ่ง เรียกว่า มอญใหม่ โปรดให้แบ่งครัวไปอยู่เมืองปทุมธานีบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง และเมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง
                    ชาวไทยอิสลามตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ต.บางกระสอ และที่บ้านตลาดแก้ว ใน ต. บางตะนาวศรี อ.เมือง ฯ มีเชื้อสายเป็นชาวปัตตานี มาอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ไทยอิสลามที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด เป็นเชื้อสายชาวไทรบุรี เข้ามาอยู่ในรัชกาลที่สาม
                    ชาวไทยเมืองตะนาวศรี เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ตะนาวศรี อ.เมือง ฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร พ.ศ.๒๓๐๒  ครั้งทัพไทยไปตั้งรวมพลอยู่ที่แก่งตูม นอกเขตไทย ต้นน้ำตะนาวศรี พม่ายกทัพจะมาตีชาวตะนาวศรี ก็หนีเข้ามา
                    จ.นนทบุรี ตั้งในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ราวปี พ.ศ.๒๐๙๒ คือ ยกบ้านตลาดขวัญขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี ตัวเมืองเดิมบัดนี้เรียก ต.บางกระสอ อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๙ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้ขุดคลองแต่ปากน้ำ อ้อมมาทะลุปากคลองบางกรวย ยาว ๕ กม. ภายหลังกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยา สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นไว้ตรงปากคลองแม่น้ำอ้อม ในปี พ.ศ.๒๒๐๘ แล้วย้ายเมืองนนทบุรีไปตั้ง ณ ที่นั้น อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองนนทบุรีคนแรกไปจอดแพอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเลื่อนศาลากลางไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อฝั่งใต้ ที่เป็นท่าเรือตลาดขวัญบัดนี้ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๑ จึงย้ายศาลากลางมาอยู่ที่บางขวาง
                    จ.นนทบุรี มีสิ่งสำคัญคือ วัดเขมาภิรตาราม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดเขมา วัดปรมัยยิกาวาส ที่ ต.ปากเกร็ด เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณ วัดชัยพฤกษ์ เป็นวัดโบราณ ร้างอยู่จึงได้รื้อเมื่อรัชกาลที่หนึ่ง           ๑๕/ ๙๓๔๓
                ๒๗๓๖. นนทรี   เป็นไม้ต้นใหญ่ แผ่กิ่งก้านไพศาลเปลือกมีรสฝาดมาก ใบคล้ายใบหางนกยูง หรือใบกระถิน แต่โตกว่า ดอกออกเป็นช่อใหญ่บ้างเล็กบ้าง กลีบดอกชั้นในสีเหลืองสด งามมาก ฝักเป็นรูปโล่ห์ สีเหลือบทองแดง           ๑๕/ ๙๓๔๖
                ๒๗๓๗. นนทุก หรือนนทก  เป็นชื่อยักษ์ นับอยู่ในอสูรเทพบุตร มีเรื่องปรากฎในรามเกียรติ์ของไทยว่า เป็นยักษ์ที่ถูกพระนารายณ์ฆ่าตาย แล้วกลับชาติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ คือ ราพนาสูร เจ้ากรุงลงกา ทำให้พระนารายณ์ ต้องอวตารลงมาเกิดเป็นพระราม เพื่อปราบปรามอีกครั้งหนึ่ง           ๑๕/ ๙๓๔๖
                ๒๗๓๘. นนทุกปกรนัม  เป็นหนังสือรวมนิทานโบราณ ๒๕ เรื่อง ดำเนินเรื่องแบบนิทานซ้อนนิทาน เช่น หิโตปเทศ หนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
                    นิทานต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้เป็นนิทานสันสกฤตบ้าง นิทานชาดกภาษาบาลีบ้าง และเป็นนิยายพื้นบ้าน พื้นเมืองของอินเดีย หรือที่อื่นบ้าง           ๑๕/ ๙๓๔๘
                ๒๗๓๙. นพเคราะห์ ๑  เป็นดาวเคราะห์ทั้งเก้า ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตามลำดับคือ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน และพลูโต คนบนโลกสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ด้วยตาเปล่า เว้นดาวยูเรนัส เนปจูน และพลูโต
                    ดาวเคราะห์เป็นดาวพเนจร และเป็นบริวารส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ ทางโคจรเป็นวงรี เมื่ออยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เร็วกว่า เมื่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ โลกจึงเคลื่อนตัวเร็วที่สุด ในต้นเดือนมกราคม และเคลื่อนช้าที่สุด ในต้นเดือนกรกฎาคม           ๑๕/ ๙๓๔๙
                ๒๗๔๐. นพเคราะห์ ๒  เป็นคำเรียกดาวเก้าดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ และเสาร์ ในทางโหราศาสตร์มีชาวเคราะห์ชั้นเดิมเพียงแปดดวง เรียกว่า "อัฐเคราะห์" ต่อมามีดาวที่คำนวณแบบใหม่ ตามคัมภีร์สุริยาตรอีกสองดวงคือ ดาวเกตุ และดาวมฤตยู รวมเป็นสิบ แบ่งย่อยออกเป็นสองพวกคือ ฝ่ายใหญ่คุณ เรียกว่า ศุภเคราะห์ ฝ่ายให้โทษ เรียกว่า บาปเคราะห์ ดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรเป็นอุตราวัฎ แต่ราหูกับเกตุเดินสวนทางเป็นทักษิณาวัตร
                ๒๗๔๑. นพบุรี  ในเรื่องรามเกียรติ์ว่าเป็นเมืองใหม่ ที่พระรามสร้างประทานพญาอนุชิตคือ หนุมาน เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว เมืองนี้เดิมเป็นที่ภูเขาเก้ายอด เรียกว่า นพคีรี เมื่อพระรามแผลงศรหาที่สร้างเมืองให้หนุมาน ศรตกลงตรงนี้ ทำลายภูเขาทั้งเก้านั้นเตียนราบหมด พญาอนุชิตก็ลงไปเอาหางกวาดให้เป็นกำแพงกั้นเขตแดนไปทั่วทิศ
                    เรื่องเมืองนพบุรีนี้ ในเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่ง กล่าวถึงเมืองลพบุรี มีความหมายคล้าย ๆ กันว่า เมืองลพบุรีเดิมเรียกว่า นพบุรี เพราะมีเขาเก้ายอด
                    อนึ่ง เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นชื่อเดิมของเมืองเชียงใหม่ เพราะมีประวัติกล่าวความตอนหนึ่งว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองเก่าก่อนสมัยสุโขทัย เดิมชื่อเมืองระเมิง ตำนานบางเล่มเรียกเมืองนพบุรี เข้าใจว่าอยู่บริเวณวัดเจดีย์เจ็ดยอด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ พระเจ้าเมงราย ได้สร้างขึ้นอีกเมืองหนึ่งต่อจากเมืองระเมิง มาทางใต้เรียกว่า เมืองเชียงใหม่            ๑๕/ ๙๓๖๐


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch