๒๖๕๘. ไทร เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านสาขากว้าง ทำให้เกิดเป็นเรือนใบทึบ ทุกส่วนมีน้ำยางใสหรือสีน้ำนม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกัน ดอกขนาดเล็กมาก อัดรวมกันแน่นออกเดี่ยว ๆ เป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ตามกิ่งและลำต้น กระทงที่หุ้มดอกและต่อมาเป็นผล มักจะเรียกกันว่า ผล เมื่อแก่จัดจะมีสีเหลือง หรือสีแดง ชนิดที่ผลออกตามลำต้นมักเรียกกันว่า มะเดื่อ ชนิดที่ขึ้นโอบพันลำต้นไม้ก็มีอยู่หลายชนิด ชนิดที่รากห้อยย้อยลงมาเป็นสายมากมาย เมื่อจดดินแล้ว เจริญเติบใหญ่ กลายเป็นลำต้นใหม่แยกสาขาออกไป ๑๔/ ๙๐๐๖
๒๖๕๙. ไทรน้อย อำเภอ ขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
อ.ไทรน้อย เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.บางบัวทอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ๑๔/ ๙๐๐๗
๒๖๖๐. ไทรบุรี เคยเป็นหัวเมืองมลายูแห่งหนึ่ง ในพระราชอาณาเขตทางใต้ มีฐานะเป็นประเทศราชของไทย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย มีสุลต่านปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ สันนิษฐานว่า ไทรบุรีอยู่ใต้การปกครองของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับ กลันตัน ตรังกานู เประ และมะละกา แต่ไทยต้องยกดินแดนดังกล่าวนี้ให้อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ไทรบุรีมีอีกชื่อหนึ่งว่า เคดาห์
ไทรบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ทิศเหนือจดปะลิส และสงขลา ทิศตะวันออกจดสงขลา และรามัน ทิศตะวันตก ตกทะเลตรงช่องแคบมะละกา ไทรบุรีมีหมู่เกาะรวมอยู่ด้วย เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะลังกาวี นครหลวงคือ อลอร์สตาร์ เมืองท่าสำคัญคือ กัวลาปะหัง และกัวลาเมอร์บก
ในด้านศาสนานั้น แต่เดิมชาวไทรบุรี นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพวกมลายูอพยพจากเกาะสุมาตรา มาอยู่ในไทรบุรี และเจ้าเมืองคนที่เจ็ดได้เปลี่ยนศาสนา ไปนับถือศาสนาอิสลาม ชาวพื้นเมืองเดิมก็พากันรับนับถือศาสนาอิสลาม พวกมลายูจึงเรียกพวกนี้ว่า พวก "สามสาม" หรือ "สยามอิสลาม"
ไทรบุรี เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ต่อมาเมื่ออาณาจักรมะละกามีอำนาจขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ไทรบุรีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของมะละกาบ้าง ของไทยบ้าง ครั้นมะละกาตกไปเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ไทรบุรีจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ไทยได้ส่งกองทัพไปปราบปรามเมืองปัตตานี พระยาไทรบุรีคนใหม่ (อับดุลลาห์) จึงเกิดความเกรงกลัวจึงหันไปติดต่อกับอังกฤษ พระยาไทรบุรีเสนอที่จะยกเกาะปีนัง ให้แก่อังกฤษ
ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้า ฯ เจ้าพระยาไทรบุรี ประแงรัน พยายามจะเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอีก แต่เจ้าหน้าที่ปีนังก็ได้รับคำสั่ง ห้ามให้ความคุ้มครองไทรบุรี ในการต่อต้านไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๙ ไทยสั่งให้เจ้าพระยาไทรบุรี ยกกองทัพเข้าโจมตีเประ และให้ส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ไปยังราชสำนักไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทราบข่าวว่า พม่าเตรียมยกทัพมาตีเมืองไทย และชวนเจ้าพระยาไทรบุรีให้ร่วมมือด้วย เมื่อสืบสวนได้ความแล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยานคร ฯ หรือพระยาศรีธรรมาโศกราช ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรีจึงหนีไปอยู่กับอังกฤษที่เกาะหมาก ฝ่ายพระยานคร ฯ เมื่อตีไทรบุรีได้แล้ว ก็ยังส่งกองทัพไปตีเกาะลังกาวี เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระยานคร ฯ ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไทรบุรี เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ บ้าง อยู่ที่เมืองนครบ้าง แล้วแต่งตั้งบุตรชายชื่อ พระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และต่อมาก็ตั้งให้เป็น พระยาอภัยธิเบศร์ เจ้าเมืองไทรบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ อังกฤษส่ง นายเฮนรี เบอร์นี มาทำสนธิสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษยอมรับความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือไทรบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๔ , ๒๓๗๙ และ ๒๓๘๑ เจ้าพระยาไทรบุรี อาหมัดยาอุดิน ได้พยายามขับไล่ไทยออกจากไทรบุรี แต่ไม่สำเร็จ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เห็นสมควรที่จะยกไทรบุรีเป็นเมืองเหมือนปัตตานี แล้วแต่งตั้งให้ญาติของเจ้าพระยาไทรบุรี ซึ่งเป็นชาวมลายูปกครองกันเอง ดังนั้น จึงโปรดให้แบ่งไทรบุรีเป็นสี่เมือง โดยเลือกชาวมลายูที่มีความจงรักภักดีต่อไทย เป็นผู้ปกครองดังนี้คือ ไทรบุรี ปะลิส กะบังปาสู และสตูล แต่ละเมืองต่างก็เป็นอิสระในการปกครองตนเอง ต่างก็ขึ้นกับเมืองนคร ฯ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองไทรบุรี ถึงแก่อนิจกรรม พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯให้ตั้ง ตนกูมะหมัด บุตรคนโตของเจ้าเมืองไทรบุรี เป็น พระยาไทรบุรี แทน มีนามตามตำแหน่งว่า "พระยาฤทธิสงครามรามภักดี "
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปะลิส และเมืองสตูล เข้าด้วยกัน และโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าเมืองไทรบุรี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี สำเร็จราชการเมืองปะลิส เมืองสตูล และเมืองไทรบุรี
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ไทยตกลงมอบอำนาจเมืองขึ้นในมลายูสี่เมืองคือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษจะต้องยกเลิกอำนาจศาลกงสุล และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้เป็นการตอบแทน ๑๔/ ๙๐๐๗
๒๖๖๑. ไทรโยค อำเภอ ขึ้น จ.กาญจนบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่า และทุ่ง
อ.ไทรโยค เดิมเป็นเมืองเก่า ยุบเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ แล้วลดเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.เมืองกาญจนบุรี แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
ธ
๒๖๖๒. ธ พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสี่ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวที่ห้าของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือมีเสียงไม่ก้อง และเป็นพยัญชนะมูคะ (พยัญชนะใบ้) เพราะควบหรือกล้ำในพวกเดียวกันไม่ได้ ๑๔/ ๙๐๒๒
๒๖๖๓. ธง มีคำนิยามว่า "ผืนผ้า โดยมากเป็นสี และบางอย่างมีลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ (๑) ใช้เป็นเครื่องหมายบอกชาติ ตำแหน่งในราชการ โดยมีกำหนดกฎเกณฑ์เป็นต้นเช่น ธงชาติ ธงแม่ทัพ ธงนายกองทหาร เป็นต้น (๒) ใช้เป็นอาณัติสัญญาณตามแบบสากลนิยมเช่น ธงกาชาด บอกที่ตั้งกองบรรเทาทุกข์ ธงขาว บอกความจำนงขอสงบศึก หรือยอมแพ้ ธงเหลืองบอกเป็นเรือพยาบาลคนป่วย หรือเรือที่มีโรคติดต่ออันตราย ธงแดง บอกเหตุการณ์เป็นภัย (๓) ใช้เป็นเครื่องหมายเรือเดินทะเล คณะสมาคม และอาคารร้านค้า และอาณัติสัญญาณอื่น ๆ (๔) ใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง หรือถือเข้าขบวนแห่"
เรื่องธงในประเทศไทยนั้น แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ครั้นนถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎร์ ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวงทำรูปจักร อันเป็นนามสัญญาพระบรมราชวงศ์แห่งพระองค์ ลงไว้กลางธงผืนแดงนั้น เป็นเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ทำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในเรือหลวงนั้นด้วย ส่วนเรือพ่อค้ายังใช้ธงแดงอยู่อย่างเดิม
ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดง ให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือราษฎร์ และให้ทำรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชักที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง และให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีพระมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูงเจ็ดชั้นสองข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง และให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้มีดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำธงไอยราบรรพต สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานครอีกอย่างหนึ่งด้วย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ธงสำหรับพระองค์นั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้เติมโล่ห์ตราแผ่นดินลงภายใต้มหาพิชัยมงกุฎด้วย ในโล่ห์แบ่งเป็นสามช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมพู เป็นนามสัญญาแห่งสางประเทศ ช่องล่างซ้ายเป็นรนูปกิชคดและตรงสองอันไขว้กันอยู่บนพื้นแดงบอกนามสัญญา มลายูประเทศ เบื้องบนมีจักรไขว้กันเป็นธงมหาราช
ต่อมาได้ตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยแบบอย่างธงสยามขึ้นใหม่ ให้มีธงสำหรับพระองค์ ธงราชตระกูล ธงตำแหน่งข้าราชการและธงตำแหน่งนายทหารเรือ ทั้งธงนำร่องเพิ่มเติมขึ้น
ในรัชกาลต่อ ๆ มา ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมมาโดยลำดับ แบ่งเป็นหมวดธงได้ดังนี้
หมวด ๑ ธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยและชาติไทย
หมวด ๒ ธงพระอิสริยยศ
หมวด ๓ ธงทหาร
หมวด ๔ ธงพิทักษ์สันติราษฎร์
หมวด ๕ ธงอาสารักษาดินแดนและกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด
หมวด ๖ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ และลูกเสือจังหวัด
หมวด ๗ ธงราชการทั่วไป
หมวด ๘ ธงแสดงตำแหน่งทั่วไป ๑๔/ ๙๐๒๒
๒๖๖๔. ธชัคปริตร โดยรูปคำแปลว่าปริตรยอดธง เป็นชื่อปริตบทหนึ่ง นับเป็นลำดับที่สี่ในเจ็ดตำนานหรือในจุลราชปริตร และเป็นลำดับที่เจ็ดในสิบสองบตำนาน หรือในมหาราชปริตร ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ลังยุยตนิกาย สคาถวรรค สักสังยุต เรียกชื่อว่า "ธชัคสูตร" เป็นสูตรลำดับที่สี่ในปฐมวรรคแห่งสักสังยุตนั้น
ปริตรบทนี้มีใจความว่าเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตุวัน กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูรให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ฝ่ายเทวดามีท้าวสักกะเป็นจอมทัพมีเทพดำรัสว่า ขณะที่บรรดาเทวดาอยู่ในสนามรบ ถ้าเกิดความสะดุ้งกลัว ครั่นคร้าม ขนพองสยองเกล้าแล้วขอให้ดูยอดธงของบรรดาท้าวเทวราชต่าง ๆ ไปตามลำดับ แต่ความสดุ้งกลัว ฯลฯ ย่อมหายบ้างไม่หายบ้างเพราะท่านเหล่านั้นยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ ยังมีความสะดุ้งกลัว ฯลฯ และยังหลบหนีอยู่
แล้วพระพุทธองค์ตรัสยต่อไปว่า เมื่อพวกภิกษุไปอยยู่ในป่า โคนไม้ เรือนว่างแล้วเกิดความสะดุ้งกลัวขึ้น ฯลฯ ควรระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไปตามลำดับ ความสะดุ้งกลัว ฯลฯ ก็ย่อมหายได้เพราะพระตถาคต พระธรรม พระสงฆ์ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ไม่มีความหวาดกลัว ไม่มีความครั่นคร้าม ไม่มีความหวั่นพรั่นพรึง ไม่หนี ๑๔/ ๙๐๒๘
๒๖๖๕. ธนบัตร คือบัตรของรัฐบาลที่ใช้เป็นเงินตรา ธนบัตรได้ออกเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖
ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้ทำอัฐกระดาษแทนอัฐดีบุก
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้สั่งทำธนบัตร (เงินกระดาษหลวง) ที่ประเทศเยอรมนี แต่ไม่ได้นำออกใช้
ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้ตรา พ.ร.บ.ธนบัตรขึ้น แต่ธนบัตรยังมิใช่เงินตราของรัฐบาลทั่วราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้ออก พ.ร.บ.เงินตรา ใน พ.ร.บ.นี้ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ธนบัตร ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ตลอดจน พ.ร.บ.บัญญัติเงินตราอื่น ๆ ที่ออกต่อ ๆ มา ๑๔/ ๙๐๓๐
๒๖๖๖. ธนบุรี เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.ธนบุรี
ธนบุรี เดิมเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ท้องที่ของจังหวัดอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับฝั่งพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รวม จ.พระนครและ จ.ธนบุรี เข้าด้วยกัน เรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ธนบุรีเคยเป็นเมืองหน้าด่านและท่าเรือตั้งแต่แรกสร้างเมื่อราว ปี พ.ศ.๒๑๐๐ ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้สร้างป้อม (วิชัยประดิษฐ์) ขึ้นที่ปากคลองบางหลวง ในปี พ.ศ.๒๒๐๘
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งหลัง พม่าได้ยึดเมืองธนบุรีไว้เป็นที่มั่นทางทะเล ครั้นพระเจ้าตากสินกู้อิสระภาพตีเมืองธนบุรี และค่ายโพธิ์สามต้นได้จากพม่าแล้ว จึงตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พร้อมกับทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ.๒๓๑๑
กรุงธนตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา โปรดให้ขุดคลองหลอดเป็นครูพระนครฝั่งตะวันออก และคูพระนครฝั่งตะวันตกที่เรียกกันว่า คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ และคลองวัดท้ายตลาด ตอนออกคลองบางกอกใหญ่อีกตอนหนึ่ง
ธนบุรีเคยเป็นราชธานีของประเทศไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ๑๔/ ๙๐๔๙
๒๖๖๗. ธนาคาร เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี คำธนาคารปรากฎในปทานุกรมภาษาไทยครั้งแรกในปทานุกรม ของกรมตำรากระทรวงธรรมการ ฉบับ พ.ศ.๒๔๗๐ อธิบายความหมายไว้ว่า "ธนาคาร (มคธ) - (นาม) ที่ทำการรับกู้และให้กู้เงินตรา"
คำว่า "ธนาคาร" ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีความหมายเป็นสองนัยคือ
๑. ความหายแคบ ซึ่งหมายถึงแต่ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่ประกอบธุรกิจรับฝากเงินเป็นสำคัญเท่านั้น
๒. ความหมายกว้าง ซึ่งหมายถึงธนาคารที่ประกอบกิจการธนาคารโดยทั่วไป มิใช่แต่กิจการธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
บทบาทธนาคารที่สำคัญต่อเศรษฐกิจคือ การเป็นสื่อกลางที่สำคัญอันหนึ่ง ที่จะระดมเงินจากการออม และนำเงินนั้นมาแจกแจง ให้นำไปใช้ในแหล่งที่มีความต้องการเงินทุน ธุรกิจใดจะถือว่าเป็นกิจการธนาคารหรือไม่ ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบสามประการคือ จะต้องดำเนินกิจการทั้งด้านรับเครดิตควบกันไปกับการให้เครดิต
ในประเทศไทยนอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว สถาบันการเงินที่ใช้คำว่า "ธนาคาร" เป็นชื่อ มีแต่ธนาคารที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษคือ
๑. ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศไทย ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๘๕
๒. ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารรับฝากเงินออมทรัพย์รายย่อยเป็นสำคัญ ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.๒๔๘๙
๓. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.๒๔๙๖
๔. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นธนาคารที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.๒๕๐๙
นอกจากนี้ยังมีบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสวถาบันการเงิน ที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนเอกชน และเข้าขายประกอบกิจการธนาคารหนึ่งเหมือนกัน ๑๔/ ๙๐๕๒
๒๖๖๘. ธนาณัติ มีบทนิยามว่า "การส่งเงินทางไปรษณีย์ ตราสาร ซึ่งที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่ง ส่งให้ที่ทำการไปรษณีย์อีกแห่งหนึ่งจ่ายเงิน"
ธนาณัติมีสองประเภทใหญ่คือ ธนาณัติในประเทศ และธนาณัติระหว่างประเทศ ธนาณัติในประเทศมีสองชนิดคือไปรษณีธนาณัติและโทรเลขธนาณัติ
ไปรษณีธนาณัติแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ ไปรษณีธนาณัติธรรมดา ไปรษณีธนาณัติ พ.ก.ง. และไปรษณีธนาณัติราชการ ๑๔/ ๙๐๕๗