หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/65
    ๒๖๔๘. โทน  เป็นชื่อกลองประเภทหนึ่ง ซึ่งขึงด้วยหนังเพียงหน้าเดียว เช่นเดียวกับ รำมะนา กลองยาว และกลองแอว ที่ใช้อยู่ในภาคเหนือ โทนมีอยู่สองชนิดคือ โทนมโหรี กับโทนชาตรี
                        โทนมโหรี  ใช้ตีกำกับจังหวะในวงมโหรีหญิงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยก่อนเรียกว่า "ทับ" ด้วยเหตุนี้ลีลาหรือลำนำ ของเครื่องหนังต่าง ๆ ที่ใช้ตีประกอบจังหวะในการบรรเลง จึงเรียกกันว่า "หน้าทับ"
                        ตัวโทน หรือหุ่น มักจะทำด้วยดินเผา ที่ทำด้วยไม้ก็มี ตัวโทนยาว ๓๕ - ๓๘ ซม.  ด้านหน้าจะขึ้นหนัง กว้างประมาณ ๒๐ - ๒๒ ซม.  หนังที่ใช้นิยมใช้หนังงูงวงช้าง เพราะให้เสียงดีมาก
                        ปัจจุบันมักจะเรียกโทนมโหรีว่า "โทนเครื่องสาย"  เพราะส่วนมากใช้ตีกำกับจังหวะในวงเครื่องสายนั่นเอง ส่วนวงมโหรีนั้น ในสมัยนี้มักเป็นวงมโหรีเครื่องสายเป็นส่วนใหญ่ จึงนิยมใช้กลองแขกขนาดเล็ก ตีกำกับจังหวะแทน
                        โทนชาตรี  หุ่นไทน ทำด้วยไม้ โทนชาตรีมีลักษณะเหมือนโทนมโหรีทุกอย่าง แต่สั้นม่อต้อกว่า หน้าโทน กว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๒ ซม.
                        โทนชาตรี ใช้ตีเป็นคู่ โดยตีขัดกันสองคน คนละลูก ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ชาตรี ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุง และมโนห์รา เป็นพื้น         ๑๔/ ๘๘๗๖
                ๒๖๔๙. โทรคมนาคม  หมายถึง การส่งกระจาย หรือการรับใด ๆ ซึ่งเครื่องหมายสัญญาณ ข้อเขียน ภาพ และเสียง หรือข่าวในลักษณะใด ๆ ก็ตาม โดยระบบสายวิทยุ ทรรศนะ หรือระบบแม่เหล็กไฟฟ้า อื่น ๆ
                        ดังนั้น คำว่า โทรคมนาคมจึงหมายรวมถึง โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร โทรภาพ การกระจายเสียง โทรทัศน์ ฯลฯ
                        การวิทยุสื่อสารในประเทศไทย เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ โดยห้างบีกริม ผู้แทนบริษัทเทเลฟุงเกน ได้ขอให้กระทรวงโยธาธิการ ตั้งสถานีวิทยุทดลองขึ้นที่เกาะสีชัง และที่ภูเขาทอง  วัดสระเกศ แต่การทดลองไม่ได้ผล
                        พ.ศ.๒๔๔๙  ได้มีการประชุมสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ว่าด้วยการสื่อสารทางวิทยุ ที่กรุงเบอร์ลิน ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย
                        พ.ศ.๒๔๕๐  ประเทศไทยได้มีเครื่องรับส่งโทรเลขแบบมาร์โคนี ใช้เป็นครั้งแรกเพื่อติดต่อในราชการทหารเรือ และในปีเดียวกัน กองทัพบกก็ได้เริ่มใช้วิทยุโทรเลขสนามแบบมาร์โคนี ด้วย          ๑๔/ ๘๘๘๐
                ๒๖๕๐. โทรทรรศน์  เป็นชื่อกล้องประเภทหนึ่ง เรียกกันว่า กล้องโทรทรรศน์ ใช้เป็นกล้องขยายสำหรับส่องดูวัตถุที่อยู่ไกล ที่มองดูด้วยตาเปล่าเห็นขนาดเล็ก และไม่ชัด ให้แลเห็นได้ชัดเจนขึ้น และมีขนาดขยายเสมือนกับว่า วัตถุนั้นอยู่ใกล้เข้ามา
                        ในปี พ.ศ.๒๑๒๕  กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยนได้สร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้น เพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าทางดาราศาสตร์ ได้ปรับปรุงแก้ไขจนมีกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ได้ใช้กล้องนี้สำรวจท้องฟ้า และได้พบแอ่งต่าง ๆ บนดวงจันทร์ และพบว่าทางช้างเผือกประกอบด้วย ดาวต่าง ๆ มากมาย นับแต่นั้นมาก็ได้มีการปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์ มาจนปัจจุบัน         ๑๔/ ๘๘๘๓
                ๒๖๕๑. โทรทัศน์  คือ การส่งกระจายเสียง พร้อมทั้งภาพที่เคลื่อนไหวออกไปในรูปของสัญญาณโทรทัศน์ และการรับเอาสัญญาณนี้ มาเปลี่ยนให้เป็นเสียง และภาพที่ต้องการ
                        การค้นพบโทรทัศน์ และการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นใช้งานกิจการโทรทัศน์ ได้มีนักวิทยาศาสตร์ และนักค้นคว้า ที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๗
                        เครื่องรับโทรทัศน์โดยปกติ เป็นเครื่องรับแบบซูเปอร์เฮเตโรไดน์ธรรมดา         ๑๔/ ๘๘๘๙
                ๒๖๕๒. โทรเลข  หมายความว่า
                        ก. การขีดเขียนไกล คือ เครื่องส่งข่าวสารโดยทางไฟฟ้า
                        ข. ระบบโทรคมนาคมที่รับส่ง และถ่ายทอดข่าวสารอันเกิดจาก การขีดเขียน โดยใช้รหัสสัญญาณ
                        ค. ข่าวสารอันเกิดจากการขีดเขียน ซึ่งมุ่งจะส่งไปโดยระบบโทรเลข
                        การโทรเลข ได้เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ในสหรัฐอเมริกา โดย ซามูเอล เอฟ. บีมอส ได้แสดงเครื่องโทรเลขที่ตนค้นคว้า และประดิษฐ์ขึ้นต่อสถาบันแฟรงกลิน
                        กิจการโทรเลขของไทยได้เริ่มมีขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โดยมีชาวอังกฤษคนหนึ่ง ได้เข้ามาขอสัมปทานตั้งบริษัทขึ้น เพื่อสร้างและบำรุงรักษาทางสายโทรเลข ตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมีหลักการว่า จะทำตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ลงไปจนถึงหัวเมืองตะวันตก ตลอดถึงเมืองปีนัง แต่เขาไม่สามารถดำเนินการได้
                        ต่อมารัฐบาลอังกฤษเสนอจะขอสร้างสายโทรเลขติดต่อกับไทย เข้ามาทางเมืองทวายแต่ไทยได้ตกลงที่จะทำการโทรเลขเสียเอง โดยในปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้มอบให้กรมกลาโหมเป็นผู้ดำเนินงานสร้างสายโทรเลข ระหว่างกรุงเทพ ฯ - สมุทรปราการ ตลอดถึงลำภูสาย เป็นระยะทาง ๔๕ กม. และต่อจากนั้นก็ต่อสายไปถึงประภาคาร โดยวิธีวางเคเบิลใต้น้ำ สายที่สองคือ สายกรุงเทพ ฯ - บางปะอิน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ภายหลังได้สร้างต่อไปถึงอยุธยา สายโทรเลขทั้งสองสายนี้ ใช้เฉพาะในราชการเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๖  จึงให้ประชาชนใช้
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้จัดตั้งกรมโทรเลขขึ้น และรับช่วงการโทรเลขจากกรมกลาโหมมาทำต่อไป สายแรกที่สร้างขึ้นคือ สายบูรพา เริ่มจากกรุงเทพ ฯ ผ่าน จ.ปราจีนบุรี กบินทรบุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ จนถึงคลองกำปงปลัก ใน จ.พระตะบอง ต่อกับสายโทรเลขอินโดจีน เชื่อมโยงกับไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรก ที่ติดต่อกับต่างประเทศ  ทางสายตะวันตก จากกรุงเทพ ฯ ผ่านกาญจนบุรี ถึง ต.เขาแดน อันเป็นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า เชื่อมต่อกับสายโทรเลขของประเทศพม่า ทำการรับส่งโทรเลขติดต่อกับมะละแหม่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ ภายหลังได้ยกเลิก คงเหลือไว้เพียงกาญจนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้สร้างสายแม่สอด ติดต่อกับประเทศพม่า  ทางด้านใต้ ได้สร้างสายต่อออกไปจากสงขลา ถึงไทรบุรี และกัวลามุดา เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๑ สายนี้ติดต่อกับสายของมลายู (มาเลเซีย) ซึ่งเชื่อมปีนัง และสิงคโปร์
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ฝ่ายกรมรถไฟ และฝ่ายกระทรวงกลาโหม ได้จัดทำรหัสสัญญาณภาษาไทยขึ้นสำเร็จ และเริ่มใช้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา         ๑๔/ ๘๘๙๗
                ๒๖๕๓. โทรศัพท์  โดยรูปคำ แปลว่า เสียงไกล โดยทั่วไปหมายถึง อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่สามารถเปลี่ยนคลื่นเสียง จากที่หนึ่งให้กลายเป็นคลื่นไฟฟ้า เคลื่อนที่ไปตามลวด ตัวนำจนถึงที่อีกแห่งหนึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียงตามเดิม
                        อะเลก ซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ชาวอเมริกันเป็นผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙           ๑๔/ ๘๙๐๒
                ๒๖๕๔. โทษ - ไข้  (ดู ไข้ ตอนว่าด้วยกำเนิดไข้ - ลำดับที่ ๘๕๒)         ๑๔/ ๘๙๐๘
                ๒๖๕๕. ไทเผง  (ดู ไต้เผง - ลำดับที่ ๒๓๕๘)         ๑๔/ ๘๙๐๘
                ๒๖๕๖. ไทฟอยด์  (ดู รากสาด - ลำดับที่...)         ๑๔/ ๘๙๐๘
                ๒๖๕๗. ไทย  เป็นชื่อประเทศตั้งอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ตอนกลาง คาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนยาว ๘,๐๐๐ กม. พรมแดนทางบกยาว ๕,๓๐๐ กม.  พรมแดนทางทะเล ๒,๗๐๐ กม.
                          ประเทศเพื่อนบ้านประเทศพม่า  ตั้งอยู่ทางตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีแม่น้ำกระบุรี (แม่น้ำปากจั่น)  ทิวเขาตะนาวศรี ทิวเขาถนนธงชัย แม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวิน ทิวเขาแดนลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก เป็นพรมแดน
                          ประเทศลาว  ตั้งอยู่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำโขง ทิวเขาหลวงพระบาง ทิวเขาเพชรบูรณ์ แม่น้ำเหือง แม่น้ำโขง และทิวเขาพนมดงรัก เป็นพรมแดน
                          ประเทศกัมพูชา  ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบต่ำทางตะวันออกเฉียงใต้ มีทิวเขาพนมดงรัก คลองปลาอ้าว (ปะอาว) เส้นเขตแดนที่ตกลงกันโดยเฉพาะระหว่างพื้นที่ราบ คลองน้ำใส คลองด่าน คลองลึก คลองโป่งน้ำร้อน และทิวเขาบรรทัด เป็นพรมแดน
                          ประเทศมาเลเซีย  ตั้งอยู่ทางใต้มีแม่น้ำโกลก และทุ่งเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดน
                         ประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๕๑๓,๑๑๕ ตาราง กม. ส่วนยาวสุด ๑,๖๒๐ กม. (เหนือจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ใต้ถึง อ.เบตง จ.ยะลา ) ส่วนกว้างสุด ๗๕๐ กม. (ตะวันตกจากด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี ตะวันออกถึงช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี) ส่วนแคบสุด ๑๐.๖ กม. (ใน ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์)
                          ประเทศไทย แต่ก่อนเคยเรียกว่า ประเทศสยาม เท่าที่ทราบนักประวัติศาสตร์บางท่าน เช่น เซอร์ เจมส์ แลงแคสเตอร์ ชาวอังกฤษได้เรียกประเทศไทยว่า ประเทศสยาม เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๓ คนไทยนิยมเรียกชื่อประเทศตามชื่อราชธานี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรด ฯ ให้เรียกชื่อประเทศว่า ประเทศสยาม เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๘ ในการลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ยังใช้เมืองไทยเป็นชื่อของประเทศไทย แต่ในการให้สัตยาบันเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ใช้ชื่อ ประเทศสยาม ที่จริงคนไทยนิยมเรียกประเทศของเราว่า เมืองไทย ตั้งแต่สมัยโบราณ
                          ภูมิภาคทางภูมิศาสตร์  แต่เดิมประเทศไทยแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ออกได้กว้าง ๆ เป็นสี่ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้แบ่งใหม่เป็นหกภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก หรือภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
                          ภาคเหนือ  มี ๙ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์
                          ลักษณะภูมิประเทศ โดยทั่ว ๆ ไป ประกอบด้วยภูเขา และทิวเขาสูงทอดยาวในแนวเหนือ - ใต้ ขนานกับเส้นแวง แนวทิวเขาเหล่านี้ ต่อโยงมาจากเทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาในแคว้นยูนนานของจีน บริเวณระหว่างทิวเขาเป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ไหลผ่าน
                          ภาคกลาง  มี ๒๒ จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ ฯ นครนายก นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
                          ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยที่ราบ ซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน ดิน กรวด ทราย และตะกอนมาทับถมมานับล้าน ๆ ปี นับเป็นพื้นที่ราบที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ จากหลักฐานทางธรณีวิทยา สันนิษฐานว่าน้ำทะเลท่วมขึ้นไปถึง จ.อุตรดิตถ์ ในหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน
                          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มี ๑๖ จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร และศรีสะเกษ
                          ภูมิประเทศ มีลักษณะแยกตัวออกจากภาคเหนือ และภาคกลางอย่างเด่นชัด ทั้งนี้เพราะการยกตัวของแผ่นดินสองด้านคือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ ทำให้ภูมิประเทศลาดเอียงไปทางตะวันออก การยกตัวของแผ่นดินด้านตะวันตก ทำให้เกิดของสูงชันตามแนวเขาเพชรบูรณ์ ต่อไปยังแนวทิวเขาดงพญาเย็น โดยที่ด้านขอบชันหันไปทางตะวันตก ต่อบริเวณที่ราบภาคกลาง ความสูงขอบชันประมาณ ๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
                         ภูมิประเทศ ทางด้านใต้ตามแนวทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาพนมดงรัก แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับภาคตะวันตก โดยที่หันด้านขอบชันไปทางประเทศกัมพูชา พื้นที่ตะแคงหรือเอียงไปทางเหนือ ความสูงของขอบชันด้านนี้เฉลี่ย ๔๐๐ เมตร
                         บริเวณตอนกลางของภาค มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายกระทะ
                         ภาคตะวันตก  มี ๕ จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
                         ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย ภูขา และทิวเขาสูงต่อจากแนวเขาสูง ทางภาคเหนือ และทอดยาวลงไปทางใต้  บางส่วนของทิวเขาใช้เป็นเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า แม่น้ำสายสำคัญที่เกิดจากแนวทิวเขาในตอนนี้ ทางตอนบนมีแม่น้ำเมย ทางตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำแควน้อย และแควใหญ่ ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสายสั้น ๆ มีแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี เป็นต้น
                          ภาคตะวันออกเฉียงใต้  มี ๖ จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
                          ลักษณะภูมิประเทศแตกต่างไปจากภาคกลาง เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขา แนวทิวเขา ที่สูง ที่ราบแคบ ๆ ทางตอนบนและชายฝั่งทะเล แนวทิวเขาสูงทางภาคนี้ที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาจันทบุรี สูงประมาณ ๑,๕๘๖ เมตร และ ๑,๖๓๓ เมตร (เขาสอยดาวเหนือ และเขาสอยดาวใต้) นอกจากนี้ยังมีทิวเขาบรรทัด ทางด้านตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูก
                          แม่น้ำสายสั้นๆ ที่เกิดจากทิวเขาสูงในภาคนี้ได้แก่ แม่น้ำระยอง แม่น้ำเวฬุ แม่น้ำประแส แม่น้ำจันทบุรี และคลองใหญ่
                          ภาคใต้  มี ๑๔ จังหวัด  ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
                          ภูมิประเทศโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล โดยมีทะเลขนาบทั้งสองด้าน มีแนวทิวเขาภูเก็ต ทอดยาวตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.พังงา และทิวเขานครศรีธรรมราช เป็นแนวต่อของทิวเขาภูเก็ต เริ่มจากทางภาคใต้ของ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ผ่านนครศรีธรรมราชไปถึง สตูล ทางด้านใต้สุดของภาค มีแนวทิวเขาสันกาลาคีรี ทอดยาวในแนวตะวันออก - ตะวันตก ใช้เป็นเส้นพรมแดนไทยกับมาเลเซีย
                          แม่น้ำสายสั้น ๆ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก มีแม่น้ำกระบุรี แม่น้ำตรัง
                          ชนชาติไทย  เป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในเอเชียฝ่ายตะวันออก มาตั้งแต่พุทธกาล นอกจากในประเทศไทยปัจจุบัน ยังมีชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นอีกเป็นอันมาก อยู่ในดินแดนจีนหลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย แดนพม่า ตลอดไปจนมณฑลอัสสัม ในประเทศอินเดีย แต่คนทั้งหลายเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามถิ่นที่อยู่ เช่นเรียกว่า ชาวสยาม ลาว เฉียง ฉาน เงี้ยว ลื้อ เขิน ขำติ อาหม ฮ่อ ที่คงเรียกตามเค้านามเดิมว่า ผู้ไทย และไท ก็มีบ้าง พวกไทยดังกล่าว ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น ตามเรื่องพงศาวดารที่ปรากฎมาว่า เดิมนั้น ชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนที่ทุกวันนี้ ตกเป็นอาณาเขตของจีนข้างฝ่ายใต้ ที่เรียกว่า มณฑลฮุนหนำ มณฑลกุยจิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลกวางไส ทั้งสี่มณฑลมีบ้านเมืองและเจ้านายของตนเอง ปกครองแยกย้ายกันอยู่เป็นหลายอาณาเขต จีนเรียกชนชาติไทยว่า ฮวน
                          จากการขุดค้นโบราณวัตถุที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แสดงว่าได้มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ แต่ก็ไม่ทราบเป็นผู้คนเผ่าใด         ๑๔/ ๘๙๐๘
                           พงศาวดารจีนในสมัยเริ่มต้นได้กล่าวว่าเมื่อราวสี่พันปีล่วงมานี้ จีนเป็นประเทศเล็ก   มีอาณาเขตทางทิศใต้ไม่ถึงแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) เสียด้วยซ้ำ ถัดแม่น้ำเหลืองลงมาได้แก่ ภาคกลางของประเทศจีน ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของชนชาติหนึ่ง มีหลายพวกหลายเหล่าด้วยกันซึ่งจีนเรียกชื่อรวมว่า พวกต้ามุง พวกต้ามุงก็คือ ชาวไทยนั่นเอง
                            เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ แล้วน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ชนชาติไทยคงจะมีแหล่งกำเนิดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี คงเป็นมณฑลเสฉวน โดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลนั้น ได้ตั้งเป็นอาณาจักรคือ อาณาจักรลุง ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของลุ่มแม่น้ำแยงซี สันนิษฐานกันว่า ปัจจุบันเรียกกันว่า "แคว้นลุงเชา" ส่วนอาณาจักรปา ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาในเขตมณฑลเสฉวน มีเมืองจุงกิงเป็นศูนย์กลาง
                            อาณาจักรทั้งสองนี้ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานับพัน ๆ ปี และได้ขยายตัวมาทางทิศตะวันออกตามลำน้ำแยงซี ได้สร้างเมืองขึ้นหลายเมืองตามลุ่มแม่น้ำนั้น มีเมืองสำคัญเรียกว่า เมืองยิว หรือเมืองเงี้ยว ปัจจุบันจีนเรียกเมืองจางชา ตั้งอยู่ระหว่างนครปากับฝั่งทะเลจีน
                            เมื่อแรกพบกันไทยและจีนก็ติดต่อกันอย่างปรกติ ไม่ปรากฎว่ามีการรบราฆ่าฟันกันเป็นศึกใหญ่ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ในระหว่างนั้นไทยคงถูกรุกเงียบ ด้วยวิธีที่จีนเข้ามาแย่งทางทำมาหากิน ในเวลาใดที่จีนถูกพวกตาดรุกเข้ามาทางทิศเหนือจีนก็ร่นลงมาทางทิศใต้อยู่ เมื่อ ๓๙๓ ปี ก่อนพุทธศักราชพวกตาด ได้รุกเข้าไปในดินดินแดนภาคตะวันตกของจีน ชาวไทยเลยพลอยถูกพวกตาดย่ำยีได้ด้วย พวกชาวไทยนครลุง ได้ร่นถอยลงมาทางใต้ไปสมทบกับชาวไทยที่นครปา เป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งแรก
                            ฝ่ายจีนมีพระเจ้าวูหว่าง ครองราชย์อยู่ระหว่างปี ๕๗๘ - ๕๗๒ ก่อนพุทธศักราช เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก ทรงแบ่งดินแดนให้แม่ทัพนายกองไปปกครอง พวกเหล่านี้ได้ต่อสู้ชิงดินแดนต่อกัน พลเมืองได้รับความเดือดร้อน จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นของไทย ชาวไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ ก็ขยับขยายเคลื่อนลงไปตั้งภูมิลำเนาทางทิศใต้ต่อไป ต่อมาเมื่อราชวงศ์จิ๋นได้อำนาจปกครองหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ แล้วก็ได้ส่งกองทัพไปตีนครปาได้ ส่วนอาณาจักรเงี้ยวก็เสียอิสระภาพแก่จีนในเวลาต่อมา
                            ในรัชสมัยพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๙๖ - ๓๓๓) ได้แผ่อาณาเขตลงมาทางใต้ของแม่น้ำแยงซีจนถึงมณฑลฟูเกี้ยน เป็นเหตุให้ชนชาติไทย ต้องเคลื่อนย้ายร่นลงมาทางภาคใต้ของจีน มณฑลยูนาน มณฑลไกวเจา (กุยจิ๋ว) มณฑลกวางสี และมณฑลกวางตุ้ง เฉพาะมณฑลยูนานเป็นดินแดนของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งเรียกตนว่าชาติยูน ชาวไทยในมณฑลยูนนานได้ตั้งนครเพงายเป็นราชธานี นอกจากนี้ยังได้ตั้งเมืองอื่น ๆ เป็นอิสระแก่กันหลายเมือง ต่อมาได้รวบรวมกันเป็นอาณาจักรอ้ายลาว เมื่อราว พ.ศ.๔๒๑ มีขุนเม็งหรือขุนเมืองเป็นกษัตริย์ปกครอง แต่ต่อมานครเพงายก็ถูกจีนรุกรานอีก หลังจากการรวมอาณาจักรอ้ายลาวได้เพียง ๒๑ ปี พระเจ้าวู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกได้สนใจในพระพุทธศาสนา ให้คณะทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดีย คณะทูตจีนขอเดินทางผ่านอาณาจักรอ้ายลาว แต่กษัตริย์อ้ายลาวไม่ยอมให้ผ่าน พระเจ้าวูตี่จึงแต่งกองทัพมาตีอาณาจักรอ้ายลาว เมื่อปี พ.ศ.๔๔๓ ได้ต่อสู่กัน ๑๐ ปี จึงยอมขึ้นแก่จีนเมื่อปี พ.ศ.๔๕๖ จีนแต่งตั้งข้าราชการลงมาควบคุมชาวไทยที่นครเพงาย ชาวไทยส่วนหนึ่งได้อพยพมาสู่คาบสมุทรอินโดจีน เมื่อราว พ.ศ.๔๗๔ ก่อนอาณาจักรอ้ายลาวจะตกไปเป็นของจีน
                                ต่อมามีวีรบุรุษของไทยผู้หนึ่งชื่อสีนุโล สามารถรวบรวมแคว้นเล็กแคว้นน้อยของชาวไทยตั้งเป็นอาณาจักรน่านเจ้า มีราชธานีตั้งอยู่ใกล้เมืองหวาติง ในมณฑลยูนนาน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๙๖ กุบไลข่านตีได้อาณาจักรน่านเจ้า ทำให้ชาวไทยแผ่ซ่านออกไปยิ่งกว่าแต่ก่อน
                               ชาติพันธุ์ในประเทศไทย  อาจแยกออกได้ตามหลักภาษาและวัฒนธรรม ได้มีดังนี้
                            ๑. ไทย  ชาติพันธุ์ไทย พอประมวลได้ดังนี้
                                ก. กลุ่มไทยตะวันตกไทยอาหม  อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอาหม เดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในแคว้นอัสสัม ปัจจุบันถูกวัฒนธรรมอินเดียเข้าครอบงำเป็นอันมาก ไทยเหล่านี้ไม่มีอยู่ในประเทศไทย
                                    - ไทยดำดี  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศพม่า หรือตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำอิรวดี วัฒนธรรมพม่าเข้าครอบงำเป็นอันมาก ไทยเหล่านี้จะอพยพเข้ามาอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอนบ้าง
                                    - ไทยใหญ่ในประเทศจีน  เรียกตนเองว่า ไทยหก อาจย่อมาจากคำว่าไทยหกเจ้าหรือไทยจากอาณาจักรทั้งหกของน่านเจ้า พูดสำเนียงไทยแบบไทยใหญ่ และไทยลื้อ อาศัยอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน มีวัฒณธรรมคล้ายไทยในสิบสองพันนา หรือส่วนผสมวัฒนธรรมพม่าและยูนนาน เชื้อสายไทยเหล่านี้อาจมีแทรกซึมเข้ามาทางภาคเหนือของไทย
                                    - ไทยใหญ่  พม่าเรียกว่า ฉาน หรือชาน ไทยพวกนี้มักเรียกตนเองว่า ไทยใหญ่ หรือไทยหลวง หรือโตโหลง เพื่อให้แตกต่างกับพวกไทยทางใต้ ซึ่งพวกเขานิยมเรียกว่า ไทยใต้ หรือไตตาเออ ส่วนไทยในประเทศไทยกลับเรียกไทยใหญ่ว่า เงี้ยว ไทยใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ลุ่มแม่น้ำ และภูเขาในเขตประเทศพม่า ทางภาคเหนือของยะไข่ (อาระกัน) และตะนาวศรี ส่วนในประเทศไทยอาศัยอยู่มากใน จ.แม่ฮ่องสอน  และ จ.ตาก พูดสำเนียงครึ่งไทยครึ่งลาว มีวัฒนธรรมค่อนไปทางพม่า นับถือพระพุทธศาสนา
                                ข. กลุ่มไทยใต้  ได้แก่ ไทยในประเทศไทย เรียกตนเองว่า คนไทย หรือชาวไทย เพื่อให้แตกต่างจากไทยยวน หรือลานนาไทย และลาว หรือคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยประวัติศาสตร์  อาศัยอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
                                    - ไทยโคราช  เป็นชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา เข้าใจว่าเป็นไทยที่มีเชื้อสายเขมรกลุ่มหนึ่ง
                                    - ไทยปักษ์ใต้  เป็นชาติพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปจนสุดเขตแดน ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ประชากรส่วนใหญ่ มีส่วนผสมกับชาวมาเลเซีย และเนกริโต หรือเงาะ
                                ค. กลุ่มไทยลุ่มแม่น้ำโขง  ได้แก่ ไทยเหนือ เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า ไทยโทน หรือไทยเหนอ อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ลุ่มแม่น้ำโขง และลุ่มแม่น้ำสาละวิน พูดภาษาคล้ายไทยลื้อ มีวัฒนธรรมค่อนไปทางจีน และคนไทยในสิบสองพันนา ไทยเหล่านี้อาจอพยพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพราะภาวะสงครามและการเมือง
                                    - ไทยลื้อ  อยู่ในดินแดนสิบสองพันนา ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน เชียงตุง เชียงราย น่าน พงสาลี น้ำทา น้ำเบง หลวงพระบาง และภาคเหนือของประเทศเวียดนาม มีวัฒนธรรมทั่วไปคล้ายคนไทยในถิ่นอื่น นับถือพระพุทธศาสนา
                                    - ไทยเขิน  ถิ่นเดิมอยู่แถบรอบเมืองเชียงตุง ในแคว้นฉาน ของประเทศพม่า มีความใกล้ชิดกับพวกไทยลื้อ ไทยยวน และลาว ใช้ภาษาและตัวหนังสือคล้ายกับของลาว นับถือพระพุทธศาสนา ปัจจุบันทราบว่า พวกไทยเขินอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย
                                    - ไทยยวน  บางทีเรียกว่า ลานนาไทย ลาว โยน โยนก เป็นไทยที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เป็นส่วนมากมาแต่โบราณ ปัจจุบันกระจายไปใน จ.ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน มีภาษาพูดคล้ายไทยลื้อ และไทยเขิน มีตัวอักษรลานนาไทย คล้ายกับอักษรพม่า และลาว ในลุ่มแม่น้ำโขง มีวัฒนธรรมที่งดงาม ไทยยวน สามารถรับวัฒนธรรมไทยภาคกลางไว้ได้มาก
                                   - ลาว  บางทีก็เรียกว่า ผู้ลาว ลาวอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง แถบหลวงพระบางลงไป จนสุดภาคใต้ของประเทศลาว และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีภาษาคล้ายภาษาไทย และไทยใหญ่ ส่วนอักษรคงแปลงมาจากอักษรบาลี สันสกฤต เขมร และพม่า
                                    - ไทยกะเลิง, ย่อ, ย้อย  เป็นชาวไทยทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.สกลนคร และ จ.นครพนม
                                ง. กลุ่มไทยบนที่สูง  ได้แก่ ไทยดำ อาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองพันนา หรือสิบสองเจ้าไทย ระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำของประเทศเวียดนาม ได้อพยพเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว และเลยเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พูดภาษาไทย เหมือนไทยกลุ่มอื่น นับถือพระพุทธศาสนา
                                    - ไทยขาว  บางทีชาวเวียดนามเรียกว่า ไทยโท้ หรือไทยตรัง อาศัยอยู่บริเวณชายแดนแถบมณฑลยูนนาน แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ นับถือพระพุทธศาสนา
                                    - ไทยแดง  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และใกล้บริเวณพรมแดนประเทศลาว พูดภาษาคล้ายไทยดำ และลาว ที่อาศัยอยู่ในแขวงซำเหนือ นับถือพระพุทธศาสนา
                                    - ไทยเหนือ  อยู่ในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และซำเหนือ ทางด้านตะวันออกของประเทศลาว แคว้นหลวงพระบาง เชียงขวาง และพงสาลี
                                    - ไทยพวน  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว แถบเมืองพวน ในแคว้นเชียงขวาง และหลวงพระบาง
                                    - ผู้ไทย  อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศลาว ในบริเวณหัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองจุไทย และภาคเหนือของประเทศลาว
                                    - ซ่ง   เดิมอยู่ในแคว้นซำเหนือ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันตก เช่น จ.สุโขทัย จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น
                                จ. กลุ่มไทยตะวันออก  ไทยเหล่านี้ คงไม่มีในประเทศไทย ได้แก่ จุงเจีย ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลไกวเจา
                                    - ไทยจวง  ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลกวางสี และกวางตุ้ง
                                    - ไทยตุงเจีย  อยู่ในมณฑลไกวเจา ฮูนาน และกวางสี
                                    - ไทยไท  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม แถบแม่น้ำแดง และตามชายแดนของมณฑลกวางสี
                                    - ไทยตรุงจา  อยู่ระหว่างพรมแดนประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม
                                    - ไทยนาง  อยู่ตามพรมแดนประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม และในมณฑลยูนนาน
                                    - ไทยทูลาว  อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ติดกับพรมแดนประเทศจีน
                                    - ปาอี  เดิมอยู่แถบมณฑลยูนนาน ปัจจุบันอพยพเข้ามาอยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม
                                    - กลุ่มกะได  อยู่ในเกาะไหหลำ
                            ๒. จีน  คนจีนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแต่โบราณ เข้ามาอยู่ทางภาคกลางและภาคใต้
                                    - ปันเทย  เป็นชาวจีนฮ่อพวกหนึ่ง พวกฮ่อจากมณฑลยูนนานชอบเข้ามาค้าขายกับจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ พวกฮ่อนับถือศาสนาอิสลามได้เอาศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ทางภาคเหนือด้วย กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของพวกฮ่อเป็นพวกทหารตาดมองโกล ของพระเจ้ากุบไลข่าน ที่ยกมารบทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้วตกค้างอยู่
                                    - ฮ่อ  เป็นชาวยูนนานที่เป็นชาวจีน มักทำไร่นาอยู่บนภูเขาสูง
                            ๓. ทิเบต - พม่า เฉพาะที่อยู่ในประเทศไทย มีอยู่สี่ชาติพันธุ์คือ
                                    - พม่า  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยประวัติศาตร์ ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามจังหวัดชานแดนของประเทศไทยเช่น ที่ จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย นับถือพระพุทธศาสนาเคร่งครัด
                                    - ลีซอ  อยู่ตามบริเวณเทือกเขาทางตะวันตกของมณฑลยูนนาน ลงมาทางใต้ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง ตลอดจนภาคเหนือของประเทศไทย
                                    - มูเซอ  เป็นชาวภูเขาที่ควบคุมกันเองอย่างมีระเบียบ อยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศพม่า ลงมาจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย
                                    -  อีก้อ  อาศัยอยู่ตามเทือกเขาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ลงมาทางใต้แถบสิบสองพันนา เชียงตุง ตอนเหนือของประเทศลาว ที่พงสาลี และในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย
                            ๔. กะเหรี่ยง  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยาง อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศพม่า แถบลุ่มแม่น้ำจิรวดี สะโตง สาละวิน และบริเวณฝั่งทะเล ตะนาวศรี ตลอดจนตามบริเวณภูเขาพรมแดนไทย - พม่า
                            ๕. แม้ว - เย้า  เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณี แตกต่างจากพวกทิเบต - พม่า และกะเหรี่ยง
                                    - แม้ว  อยู่ในมณฑลไกวเจา ฮูนาน เสฉวน กวางสี และยูนนาน ในประเทศจีน ในประเทศพม่า ในประเทศลาว ในประเทศเวียดนาม และในประเทศไทย
                                    - เย้า อยู่ในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ในประเทศจีน ตลอดมาจนถึงประเทศพม่า ประเทศลาวและประเทศไทย
                            ๖. มอญ - เขมร  มีอยู่ทั้งหมดถึง ๗๖ ชาติพันธุ์ แต่ที่ปรากฎอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ ๑๐ ชาติพันธุ์
                                    - มอญ  มีถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี สะโตง สาละวิน และบริเวณรอบอ่าวเมาะตะมะ มีภาษาของตนเอง มอญเข้ามาอยู่ในหลายจังหวัของไทยนานมาแล้ว วัฒนธรรมของมอญมีหลายอย่างที่คล้ายกับของไทยในลานนาไทย
                                    - เขมร  อยู่ตามพรมแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีภาษาของตนเองคือ ภาษาเขมร วัฒนธรรมของเขมร คงได้รับสืบทอดมาจากพวกขอม พวกจาม และมอญ รวมกับวัฒนธรรมอินเดียด้วย
                                    - ขมุ  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาวเช่น ที่หลวงพระบางและเชียงขวาง ลายะบุรี น้ำท่า และพงสาลี ในประเทศไทยมีอยู่ที่ จ.น่าน
                                    - ละว้า  ปัจจุบันอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่าที่อื่น ใช้ภาษาใกล้เคียงกับภาษาปะหล่อง และว้าในประเทศพม่า
                                    - ถิ่น  อยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว และประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนของ จ.น่าน พวกถิ่นพูดภาษาลาวและไทยได้ รูปร่างคล้ายขมุ
                                    - เสก  อยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง ทางด้านฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทสไทย และประเทศลาว เสกพูดภาษาลาวได้ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด
                                    - โซ่  อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเหมือนเสก และมักอยู่ใกล้เคียงกัน จึงปะปนและแต่งงานกัน มีวัฒนธรรมเช่นเดียวกับชาวลาว และชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับถือพระพุทธศาสนา
                                    - ชอง  อยู่ใน จ.กัมโพช และกะปงโสม ของประเทศกัมพูชา พวกชองในไทยอยู่ใน จ.ตราด และ จ.จันทบุรี
                                    - กุย  อาศัยอยู่ตามภูเขาตามพรมแดนไทย - กัมพูชา ในประเทศไทยมีอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.สุรินทร์ จ.ศรีษะเกษ จ.อุบลราชธานี และจ.ร้อยเอ็ด คนไทยชอบเรียกพวกกุยว่า ส่วย
                                    - ยุมบรี  เรียกชื่ออย่างอื่นว่า ผีตองเหลือง เป็นคนที่อพยพไปตามบริเวณภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย พูดภาษาคล้ายลาว แม้ว ว้า และขมุ ในเขต จ.เชียงใหม่
                            ๗. เวียด - มอง  เวียดนามเรียกชื่ออย่างอื่นว่า ชาวอันนัม ญวน และงวยดิน ชาวญวนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ นับถือพุทธศาสนา และศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
                            ๘. เซมัง - เซนอย  คนไทยเรียกเงาะป่า อยู่ใน จ.พัทลุง และ จ.ตรัง
                            ๙. มลายู  อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ประมาณตั้งแต่ จ.ภูเก็ต และ จ.นครศรีธรรมราช ไปจนสุดเขตแดนไทย
                                    - สะไก อยู่ในแถบป่าทึบของประเทศมาเลเซีย มีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยบ้างไม่มากนัก
                                   - โมทาน เรียกอย่างอื่นว่า มอแกน คนไทยเรียกว่า ชาวน้ำ อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ จ.ระนองไปจนสุดเขตแดนไทย       ๑๔/ ๘๙๐๘

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch