|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/62
๒๕๔๔. ท่ามะกา อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบและเป็นป่า
อ.ท่ามะกา เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ลาด อ.บ้านโป่ง ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.พงตึก เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระแท่น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ อ.ท่ามะกา ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่ามะกา ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ โอนมาขึ้น จ.กาญจนบุรี ๑๔/ ๘๖๐๑
๒๕๔๕. ท้ายทอย เป็นส่วนหนึ่งของศีรษะ อยู่ด้านหลังตั้งแต่กระหม่อมลงมาถึงต้นคอ มีหน้าที่สำคัญที่จะป้องกันส่วนสำคัญของสมอง มีหน้าที่รับและแปลความหมายจากประสาทที่มาจากนัยน์ตา
ท้ายทอยประกอบเป็นชั้น ๆ จากด้านในออกมา กระดูกท้ายทอยเป็นกระดูกชิ้นเดียวโค้งลงล่าง และยื่นไปข้างหน้ากลายเป็นพื้นส่วนล่างของโพรงสมอง ด้านข้างตอนหน้าต่อกับกระดูกขมับ จากนั้นเป็นของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ยึดหรือตั้งต้นที่กระดูกท้ายทอยนี้ เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพราะเป็นความต้องการที่จะให้ศีรษะตั้งตรง มีอยู่หลายมัด ต่อมาเป็นชั้นพังผืด ไขมัน ผิวหนัง และผม ๑๔/ ๘๖๐๑
๒๕๔๖. ท้ายสระ เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา และองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่สำคัญหลายแห่งด้วยกัน
ในด้านการคมนาคม พระองค์โปรด ฯ ให้พระราชสงครามเป็นแม่กองขุดคลองโคกขาม ที่คดเคี้ยวให้ตัดลัดลง โดยเกณฑ์คนจากแปดหัวเมืองคือ เมืองนนทบุรี ธนบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี นครชัยศรี ได้ไพร่พล ๓๐,๐๐๐ คนเศษ ให้ชาวฝรั่งส่องกล้องดูให้ตรงปากคลอง ทางที่ตัดให้ตรงนี้ยาว ๓๔๐ เส้น ใช้เวลาขุดประมาณสามเดือน คลองลัดนี้ให้ชื่อว่า คลองมหาไชย ในปีต่อมา (พ.ศ.๒๒๖๕ โปรด ฯ ให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์ไพร่พลประมาณหมื่นเศษ ขุดคลองเกร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองตัดให้เป็นเส้นตรง เป็นคลองลึกหกศอก กว้างหกวา ยาว ๒๙ เส้นเศษ ใช้เวลาขุดเดือนเศษ
ในด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงการค้าขายกับต่างประเทศมาก สำเภาไทยได้ไปค้าขายที่ประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง แต่งทูตไปเมืองจีนสี่ครั้ง ได้นำข้าวสารไปขายที่เมืองเอ้หมึงด้วย
ด้านการสงคราม ในปี พ.ศ.๒๒๕๔ นักเสด็จ กรุงกัมพูชาชื่อ พระธรรมราชาวังกระดาน กับนักพระแก้วฟ้าสะออก เป็นอริกัน นักพระแก้วฟ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากญวน นักเสด็จกับนักพระองค์ทองมาพึ่งไทย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี ยกทัพบกจำนวนหมื่นคน และให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ เกณฑ์ไพร่หลวงอีกหมื่นคนไปตีกรุงกัมพูชา ทัพเรือถูกกองเรือญวนตีแตกพ่ายไป ที่ปากน้ำพุทไธมาศ ทัพบกตีได้เมืองเขมร นักพระแก้วยอมอ่อนน้อมถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กรุงศรีอยุธยาจึงคงมีอำนาจเหนือกัมพูชาดังเดิม
ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมีประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๓ ห้ามมิให้นักบวชฝรั่งเศสแต่งหนังสือสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาบาลี และภาษาไทย และห้ามเทศนาสั่งสอนเป็นภาษาไทย มอญ ลาว ญวน และจีน ห้ามมิให้ชักชวน และหลอกลวงประชาชน ให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา และห้ามมิให้ติเตียนพุทธศาสนา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใกล้เสด็จสวรรคตได้เกิดศึกกลางเมืองที่ใหญ่หลวง ยิ่งกว่าครั้งใดที่เคยเกิดในกรุงศรีอยุธยามาก่อน ระหว่างเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศวรฝ่ายหนึ่ง และกรมพระราชวังบวรอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรเป็นฝ่ายชนะ ๑๔/ ๘๖๐๓
๒๕๔๗. ท้ายเหมือง อำเภอขึ้น จ.พังงา มีอาณาเขตทางทิศใต้ และทิศตะวันตก ตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีป่าไม้ และภูขา
อ.ท้ายเมือง เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ทุ่งมะพร้าว ภายหลังย้ายมาตั้งที่ ต.ท้ายเหมือง ๑๔/ ๘๖๐๙
๒๕๔๘. ท่ายาง อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจดแดนประเทศพม่า ภูมิประเทศตอนทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม ตอนกลางเป็นที่ดอน ตอนตะวันตก เป็นเนินเขา
อ.ท่ายาง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เรียกว่า อ.แม่ประจัน ตั้งที่ว่าการที่ ต.วังไคร้ ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ย้ายไปตั้งที่ ต.ยางหย่อง เรียกว่า อ.บางหย่อง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่ายาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๑๔/ ๘๖๐๙
๒๕๔๙. ทายาท โดยทั่วไปหมายถึง ผู้สืบสันดาน ผู้สืบสกุล หรือผู้ที่จะรับทรัพย์สินของผู้ตาย คำว่า ทายาท ยังมีความหมายขยายรวมไปถึงผู้รับ หรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่นด้วย
ตามกฎหมายแพ่ง ทายาทหรือผู้ที่จะได้รับมรดกของผู้ตาย มีสองประเภทคือ ทายาทโดยธรรม และทายาทโดยพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมได้แก่ บุตร บิดามารดา ญาติที่ใกล้ชิดกับคู่สมรส ของผู้ตาย
ทายาทโดยธรรม จะได้มรดกมากน้อยเพียงใดต้องไปตามส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนทายาทโดยพินัยกรรม จะได้รับมรดกมากน้อยเพียงใด ก็เป็นไปตามที่พินัยกรรมระบุไว้ ถ้าเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้เลย มรดกของผู้ตาย ญาติที่ใกล้ชิดของผู้ตาย ที่จะได้มรดกนั้นมีหกอันดับคือ
๑. ผู้สืบสันดาน หมายรวมถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรม และบุตรนอกกฎหมาย ที่บิดารับรองแล้ว
๒. บิดามารดา
๓. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
๔. พี่น้องซึ่งร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาแต่อย่างเดียว
๕. ปู่ ย่า ตา ยาย
๖. ลุง ป้า น้า อา
ถ้าเจ้าของมรดกไม่มีทั้งญาติ และคู่สมรส และไม่ได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์ให้ใคร มรดกก็ตกได้แก่ แผ่นดิน ๑๔/ ๘๖๑๐
๒๕๕๐. ทารก คือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่คลอดออกมาจนถึง อายุได้สองขวบ ในระยะนี้ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จะเรียนรู้ถึงเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเป็นไปตามลำดับ พ้นวัยนี้ไปก็จะรู้จักเรื่องคำพูด และรู้จักพูดได้เป็นคำ หรือประโยคสั้นๆ ได้ เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น รู้จักกัด แสดงอาการดีใจ เสียใจ ทารกจะทำความรู้จักกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ๑๔/ ๘๖๑๖
๒๕๕๑. ท่าเรือ ๑ หมายถึง ประตูทางเข้ามีทั้งท่าเรือทะเล ท่าเรือแม่น้ำ ท่าเรือทะเลสาบ ท่าเรือลำคลอง เป็นถานที่ที่เรือจอดพักอาศัย เพื่อบรรทุกและขนถ่ายสินค้าที่เป็นประตูทางเข้า หรือจุดผ่านระหว่างแผ่นดินกับแม่น้ำ หรือแผ่นดินกับทะเล
ด้านหนึ่งของประตูทางเข้าใช้สำหรับเรือขนาดใหญ่และขนาดย่อม อีกด้านหนึ่งใช้สำหรับรถไฟและรถยนต์บรรทุก ประตูดังกล่าวนี้เป็นทางผ่านเพื่อขนส่งสินค้าหรือคนโดยสารหรือทั้งสองอย่าง ๑๔/ ๘๖๑๗
๒๕๕๒. ท่าเรือ ๒ อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
อ.ท่าเรือ สมัยอยุธยาแบ่งท้องที่ปกครองออกเป็นแขวง ๆ อ.ท่าเรือเป็นแขวงขุนนคร สมัยรัตนโกสินทร์ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวาแล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนครเป็นแขวงนคร ต่อมาในรัชกาลที่สามแยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ แบ่งแขวงนครน้อยเป็นสองตอน ตอนเหนือเป็น อ.นครน้อย ตอนใต้เป็น อ.นครกลาง พ.ศ.๒๔๔๘ เปลี่ยนชื่อ อ.นครน้อยเป็น อ.ท่าเรือ ๑๔/ ๘๖๒๓
๒๕๕๓. ท่าลี่ อำเภอขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกจดลำน้ำเหือง ต่อแดนเมืองแก่นท้าวขึ้นเมืองปากสายของประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นเขาและป่าดงโดยมาก ๑๔/ ๘๖๒๓
๒๕๕๔. ท่าวังผา อำเภอขึ้น จ.น่าน ภูมิประเทศเป็นป่าเขา พื้นที่หนึ่งในสี่เป็นที่ราบและอยู่ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำน่าน
อ.ท่าวังผา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ๑๔/ ๘๖๒๔
๒๕๕๕. ท่าวุ้ง อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม หน้าน้ำน้ำท่วมตลอด
อำเภอนี้ชาวบ้านเรียกว่า อ.มะขามเทศ เพราะตั้งที่ว่าการอยู่ใกล้คลองมะขามเทศ ๑๔/ ๘๖๒๔
๒๕๕๖. ท่าศาลา อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นภูเขาและป่า ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม
อำเภอนี้เดิมชื่อ อ.กลาย เปลี่ยนชื่อเป็นท่าศาลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพราะย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ ต.ท่าศาลา ๑๔/ ๘๖๒๕
๒๕๕๗. ทาส ตามความหมายอย่างกว้างหมายถึง คนรับใช้หรือบ่าว ซึ่งมีสถานภาพแห่งบุคคลต่ำต้อยกว่าคนรับใช้ที่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง
ระบบทาสของประเทศต่าง ๆ ในอดีต มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการคือ ผู้เป็นทาสนั้นมีภาวะเป็นทรัพย์หรือเสมือนทรัพย์ของเจ้าของ เหตุที่ทำให้คนตกเป็นทาสหรือสงคราม หนี้สิน การสืบเชื้อสายจากทาส และการซื้อขายผู้เป็นทาสอยู่แล้ว ในบรรดาเหตุเหล่านี้สงครามจัดว่าเป็นเหตุสำคัญ
ในสมัยอยุธยา มีกฎหมายว่าด้วยทาสโดยตรงคือ ลักษณะทาส ฉบับแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๘ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่จริงแล้วไทยได้มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงทาสมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะผัวเมียอีกสองตอน ตอนแรกตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๓
คัมภีร์มานวศาสตร์ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าประมวลกฎหมายมนู เป็นต้นแบบสถาบันทาสของไทยสมัยอยุธยา
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และ ๒๓ นักปราชญ์ทางการเมืองของยุโรปได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทาสอย่างชัดแจ้งและแพร่หลาย ได้โน้มน้าวมติมหาชนของยุโรปให้ยกเลิกสถาบันทาส และปลดปล่อยทาสออกเป็นอิสระเสียโดยเร็ว ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ อังกฤษ ได้ออกกฎหมายประกาศปลอดปล่อยทาสเป็นอิสระจำนวนถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน ในอาณาเขตโพ้นทะเลที่อังกฤษปกครองอยู่ โดยรัฐบาลอังกฤษต้องใช้ค่าทดแทนเป็นเงินถึง ๒๐ ล้านปอนด์สเตอริงให้แก่บรรดาเจ้าของทาส ส่วนสถาบันทาสในอินเดียของอังกฤษได้เลิกไปเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงในปี พ.ศ.๒๔๖๑ สันนิบาตชาติได้มีส่วนทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทาส พ.ศ.๒๔๖๙ ด้วยความมุ่งหมายให้ประเทศที่เป็นภาคีช่วยกันขจัดระบบทาสในรูปแบบต่าง ๆ ให้หมดไป ปรากฎว่าประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้ออกกฎหมายยกเลิกสถาบันทาสในอาณานิคม หรือเขตอธิปไตยของตน มีหลายประเทศเช่น สวีเดน (พ.ศ.๒๓๘๙) ฝรั่งเศสและเดนมาร์ก (พ.ศ.๒๓๙๑) โปร์ตุเกส (พ.ศ.๒๓๙๙) เนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.๒๔๐๓) สเปญ (พ.ศ.๒๔๑๕) สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๐๘)
การเลิกสถาบันทาสในประเทศไทย เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระองค์ได้ทรงเตรียมการเป็นระยะ ๆ อย่างรอบคอบ ในที่สุดได้มีการตราพ.ร.บ.ลักษณะทาษ ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) เป็นสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของชาติ ๑๔/ ๘๖๒๕
๒๕๕๘. ท่าสองยาง อำเภอขึ้น จ.ตาก มีอาณาเขตทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
อ.ท่าสองยางเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจังหวัดใหม่ ได้โอนไปขึ้น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ๑๔/ ๘๖๓๖
๒๕๕๙. ท่าใหม่ อำเภอขึ้น จ.จันทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีเขาและเนินเล็ก ๆ สลับเป็นตอน ๆ
อ.ท่าใหม่ เดิมชื่อ อ.พลอยแหวน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ๑๔/ ๘๖๓๗
๒๕๖๐. ท่าอุเทน อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขง ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นโคกสลับแอ่ง มีลำน้ำเล็ก ๆ หลายสาย ตอนห่างจากฝั่งแม่น้ำโขงมีป่าไม้เบญจพรรณ ตอนกลางและตอนริมฝั่งโขงเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้เป็นที่ดอนโดยมาก
อ.ท่าอุเทน เป็นเมืองเก่า ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ลำน้ำสงครามเรียกเมืองที่ตั้งใหม่ว่าชัยบุรี ภายหลังมีผู้คนมาอยู่ที่เมืองเก่ามากขึ้น จึงกลับตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนในรัชกาลที่สาม และยุบเป็นอำเภอในรัชกาลที่ห้า ๑๔/ ๘๖๓๗
๒๕๖๑. ทำนบ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นลำน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่าน หรือไหลข้ามสิ่งก่อสร้างนั้น ทำนบแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์และการสร้างได้เป็นสองประเภทคือ ทำนบชั่วคราว และทำนบถาวร
ทำนบถาวร ถ้าเป็นงานขนาดใหญ่นิยมเรียกว่าเขื่อนเก็บน้ำ ๑๔/ ๘๖๓๙
๒๕๖๒. ทิคัมพร เป็นชื่อนิกายหนึ่งในศาสนาเชน นักบวชในนิกายนี้ได้ชื่อว่าผู้นุ่งห่มทิศ คือไม่นุ่งผ้า มีชื่อเรียกตามคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นต่าง ๆ ว่าอเจลกบ้าง นิครนถ์บ้าง
ศาสนาเชน ภายหลังจากพุทธศักราชล่วงไปราว ๕๐๐ ปีเศษ ได้แตกเป็นนิกายใหญ่สองนิกายคือนิกายเศวตัมพรได้แก่ พวกนุ่งขาวกับนิกายทิคัมพรได้แก่ พวกนุ่งฟ้าหรือชีเปลือย พวกทิคัมพรอยู่ในแคว้นเดกกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่แคว้นไมซอร์
พวกทิคัมพรปีหนึ่ง ๆ ปฏิบัติตนด้วยการทรมานกายเป็นวัตกิจมถานุโยคอย่างยิ่งยวด มีหลักปฏิบัติที่สำคัญอยู่สามอย่างคือ
๑. ไม่กินอาหารใด ๆ แม้แต่น้ำก็ไม่ยอมให้ล่วงลำคอ
๒. ไม่ควรมีสมบัติใด ๆ ติดตัวแม้ผ้านุ่ง
๓. ไม่ยอมให้ผู้หญิงเป็นผู้บรรลุธรรมได้ ๑๔/๘๖๕๕
๒๕๖๓. ทิ้งกระจาด เป็นประเพณีทางศาสนาอย่างหนึ่งของชาวจีน ปฏิบัติกันในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเจ็ด (ตามจันทรคติแบบจีน) ความเชื่ออันเป็นต้นกำเนิดประเพณีนี้ ปรากฎในพระสูตรฝ่ายมหายานชื่อ อุลลัมพนสูตร แปลเป็นภาษาจีนระหว่างปี พ.ศ.๘๐๙ และ พ.ศ.๘๕๖ พิธีนี้ได้ทำอย่างใหญ่โตครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๐๘๑
พิธีอุลลัมพน ในสมัยต่อมาได้กลายเป็นพิธีในลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อด้วย ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทำให้พิธีอุลลัมพนะแพร่หลายในประเทศจีนได้แก่ อโมฆวัชระ ภิกษุชาวอินเดีย นิกายโยคาจาร ซึ่งเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศจีน ราวปี พ.ศ.๑๒๗๕ และเป็นผู้ริเริ่มใหม่ในการแปลพระสูตรมหายานจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ๑๔/ ๘๖๕๘
๒๕๖๔. ทิ้งถ่อน - ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๕ - ๓๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบ ยาว ๓๐ - ๔๕ ซม. มีใบย่อย ๖ - ๘ คู่ เรียงเป็นสองชั้น ใบย่อยรูปไข่กลับค่อนข้างเบี้ยว ดอกออกเป็นช่อใหญ่แยกแขนง มีดอกขนาดเล็กสีขาวติดเป็นกระจุกกลมตามใบแขนงของช่อ ผลเป็นฝักคล้ายฝักกระถิน
เนื้อไม้แข็ง ทนทานและมีลายสวยงาม นิยมใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ น้ำฝาดจากเปลือกใช้ย้อมผ้า เปลือกเป็นยาเบื่อปลา นอกจากนี้ทิ้งต่อปียังใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง เจริญอาหาร และสมานแผล ๑๔/ ๘๖๖๐
๒๕๖๕. ทิ้งทูต เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งในจำพวกนกทืดทือ เท้งทูตก็เรียก (ดูทืดทือ - นก - ลำดับที่...) ๑๔/ ๘๖๖๑
๒๕๖๖. ทิฐิ โดยรูปคำแปลว่า ความเห็นหรือการเห็น ในพรมชาลสูตรแบ่งทิฐิเป็นสองอย่างก็มี สามอย่างก็มี และ ๖๒ อย่างก็มี ที่แบ่งเป็นสองอย่างคือ
๑. สัสตทิฐิ ได้แก่ เห็นว่าอารามณ์หรือตน และโลกเป็นของเที่ยง ยั่งยืนเสมอไป ไม่มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เช่นเห็นว่าคนตายไปแล้วก็ต้องเป็นคน สัตว์อะไรตายไปแล้วก็ต้องเป็นสัตว์ชนิดนั้น
๒. อุทเฉททิฐิ มีความเห็นว่าอารมณ์หรือตน และโลกเป็นของสูญ ตายแล้วสูญหมด ไม่มีเกิดใหม่
ทิฐิที่แบ่งเป็นสามอย่างได้แก่ อกิริยาทิฐิ อเหตุกทิฐิ และนัตถิกทิฐิ
๑. อกิริยาทิฐิ มีความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ คนจะทำอะไรก็ทำไป แต่เท่ากับไม่ได้ทำ ไม่มีผลอะไร ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว สักแต่ว่าทำเท่านั้น
๒. อเหตุกทิฐิ มีความเห็นว่า หาเหตุมิได้หรือไม่มีเหตุ เช่นเห็นว่าคนจะได้ดีก็ได้ดีเอง จะได้ชั่วก็ได้ชั่วเอง ไม่มีเหตุไม่มีผล
๓. นัตถิกทิฐิ มีความเห็นว่าไม่มี เห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี ทานที่ให้ไม่มีผล ไม่มีมารดาบิดา ไม่มีบุตรธิดา มารดาบิดาไม่มีคุณอะไรกับบุตรธิดา บุตรธิดาก็ไม่จำเป็นต้องมีกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา เป็นต้น
ทิฐิสามอย่างนี้อกิริยทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่อบูรณกัสสป ซึ่งเรียกว่า เป็นอกิริยวาที คือผู้มีวาทะ ว่าไม่เป็นอันทำ อเหตุกทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่อมักขวิโคสาล ซึ่งเรียกว่า เป็นอเหตุกวาทีคือผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ นัตถิกทิฐิ มีเจ้าลัทธิชื่ออธิตะเกสกัมพล ซึ่งเรียกว่า เป็นนัตถิกวาที คือผู้มีวาทะว่าไม่มี
ในพรหมชาลสูตรแบ่งทิฐิออกไปอีกเป็น ๖๒ อย่าง โดยผู้บัญญัติ (สมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจในสัจธรรม) กำหนดเอาขันธ์ (เรื่องของตน และเรื่องของโลก) ส่วนอดีตและมีความเห็นไปตามส่วนอดีต แล้วปรารถขันธ์ส่วนอดีตที่เป็นมาจึงแสดงทิฐิเป็นหลายอย่างด้วยเหตุ ๑๘ ประการ กำหนดเอาขันธ์ส่วนอนาคต และมีความเห็นไปตามขันธ์ ส่วนอนาคตแล้วปรารถขันธ์ส่วนอนาคตจึงแสดงทิฐิเป็นหลายอย่างด้วยเหตุ ๔๔ ประการ รวมเป็น ๖๒ ประการ ๑๔/ ๘๖๖๑
๒๕๖๗. ทิณวงศ์ เป็นนิยายคำกลอนของไทยเรื่องหนึ่ง ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง เป็นเรื่องที่เรียกกันว่า หนังสือประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ ๑๔/ ๘๖๖๘
๒๕๖๘. ทิเบต เป็นประเทศในเอเซียกลาง คำว่าทิเบตเป็นคำฝรั่งเรียก แปลว่า "แผ่นดินสูง"
ทิเบต เป็นแผ่นดินที่สูงที่สุดในโลก ใหญ่กว่าประเทศไทยราวสองเท่าเศษ อาณาเขตทิศเหนือจดมณฑลซินเกียง ทิศใต้จดประเทศเนปาล อินเดีย และปากีสถาน ทิศตะวันออกจดมณฑลซีคัง และมณฑลชืงไห่ของจีน ทิศตะวันตกติดกับประเทศอินเดีย
ภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสี่ลักษณะคือ ที่ราบ เนินสูง ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และเทือกเขา มีทะเลสาบอยู่มาก มีแม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่าน เมืองหลวงชื่อ ลาสา เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของพ่อค้าเดินเท้าที่ผ่านมาออกจีน อินเดีย มองโกเลีย เตอร์กีสถาน เป็นศูนย์กลางแห่งการศาสนา ดุจเมืองกบิลพัสด์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายลามะ (ดูดาไลลามะ - ลำดับที่ ๑๙๗๗ ประกอบ)
ทิเบตเป็นเมืองภูเขาล้อมรอบด้วยภูเขา ลูกที่สูงที่สุดคือภูเขาหิมาลัย แนวหิมาลัยเป็นเกือบล้อมรอบทิเบต ทิเบตแห้งแล้งกันดาร โดดเดี่ยว ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีเส้นทางคมนาคม ชาวทิเบตได้เกลือจากทะเลสาบ เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับเครื่องบริโภคในเนปาลและภูฐาน สินค้าออกธิเบตส่วนมากส่งไปอินเดีย มีสัตว์เลี้ยง ขนสัตว์ หนังสัตว์ หางจามรี ชะมดเชียง สมุนไพร เกลือ โบแรกซ์ เพชรนิลจินดา และศิลปวัตถุทางศาสนา
เชื้อชาติธิเบตเป็นเผ่ามองโกล ผิวและตาสีนาตาล พื้นเพเดิมอยู่บริเวณภูเขาทางตะวันตกของจีน แบ่งออกเป็นสามเผ่า ทุกเผ่ามีอุปนิสัยรักสงบบึกบึน นิยมการผจญภัย เลื่อมใสในศาสนาแรงกล้า มีนิสัยร่าเริง ชาวทิเบตมีภาษาที่มีรากฐานมาจากภาษาสันสกฤต มีพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นิกายลามะ และวัฒนธรรมอันเนื่องจากศาสนาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ
ประวัติศาสตร์ธิเบตที่กำหนดได้จริง ๆ เริ่มประมาณ พ.ศ.๑,๐๐๐ เศษ พระเจ้าซรองซานกัมโปรวมชาติทิเบตไว้เป็นปึกแผ่น ขยายอาณาเขตออกไปถึงมณฑลเชนสี ในปประเทศจีนด้านเหนือ และนัยว่าแผ่นเข้าไปถึงแคว้นมคธในอินเดียด้วย ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ประวัติศาสตร์ทิเบตก็เปลี่ยนรูป เมื่ออังกฤษยึดชมพูทวีปไว้ในอำนาจ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอันเดียเปิดการติดต่อกับข้าหลวงใหญ่ของจีน ที่ประจำอยู่ในทิเบต อังกฤษทำสัญญาร่วมกับจีนฉบับหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๓๓ มีผลให้อังกฤษได้ตลาดค้าขายในทิเบตและได้ชัยภูมิปิดทางรุสเซีย ซึ่งพยายามคืบเข้ามาในเวลานั้นด้วย
เมื่ออังกฤษรามือไป เพราะติดงานการเมืองในยุโรป จึงปล่อยให้จีน (ราชวงศ์เม่งจู) ได้โอกาสถือเอาทิเบตเป็นมณฑลหนึ่งของจีน จนกระทั่งซุนยัดเซ็นล้มราชวงศ์เม่งจูได้ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ชาวทิเบตถือโอกาสรวมกันเป็นกองทัพขับไล่ข้าราชการและทหารจีน (เม่งจู) ออกไปจากกรุงลาซาได้หมด ประกาศเอกราชของตนอันมีแต่เดิมมา
เมื่อจีนค่อยสงบก็อ้างสิทธิเหนือธิเบตอีก คราวนี้ดาไลลามะหันไปพึ่งอินเดีย อังกฤษเข้าไกล่เกลี่ย มีการทำสัญญาที่เมืองสิมลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ขณะอังกฤษอยู่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในยุโรป จีนถือโอกาสส่งทหารเข้าไปในทิเบตอีก แต่ทิเบตสามารถขับไล่มหารจีนออกจากทิเบตไปได้และรุกไล่ไปถึงแม่น้ำแยงซี ฐานะของทิเบตวราบรื่นมาจนถึงจีนคอมมิวนิสต์มีอำนาจในแผ่นดินจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รื้อฟื้นการอ้างสิทธิ์ในธิเบตอีก และเริ่มรุกรานทิเบตในปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒ ดาไลลามะ ลามะองค์ที่ ๑๔ ต้องลี้ภัยไปยังอินเดีย และได้ทำคำฟ้องไปยังองค์การสหประชาชาติ แต่คณะมนตรีความมั่นคง เพียงแต่ประณามว่าจีนเป็นผู้รุกรานเท่านั้น ๑๔/ ๘๖๗๒
๒๕๖๙. ทิพากรวงศ์ - เจ้าพระยา (พ.ศ.๒๓๕๖ - ๒๔๑๓) นามเดิม ขำ บุนนาค ท่านได้ปฎิบัติหน้าที่ราชการสำคัญ ๆ ตลอดมาถึงสามแผ่นดิน สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกรมพระตำรวจ ได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายหลายครั้ง ทั้งยังได้ช่วยก่อสร้างสถานที่สำคัญ เช่น ในปี พ.ศ.๒๓๗๗ ครั้งสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ ก็ได้สร้างป้อมที่แหลมด่านปากน้ำชื่อ ป้อมภัยพินาศ และสร้างป้อมที่แหลมสิงห์ชื่อ ป้อมพิฆาตปัจจามิตร
ในปี พ.ศ.๒๓๘๐ ได้ไปจับผู้ร้ายทางเมืองสมุทรสงคราม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๒ ได้ไปจับฝิ่นทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงนครศรีธรรมราช และตั้งแต่ตะกั่วป่าถึงเมืองถลาง พ.ศ.๒๔๘๗ ไปปรามอั้งยี่ขายฝิ่นที่ปากน้ำบางปะกง พ.ศ.๒๓๘๘ ไปจับฝิ่นตั้วเหี่ยที่เป็นสลัดเที่ยวปล้นสะดมอยู่ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันตก พ.ศ.๒๓๙๐ ไปปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสมุทรสาคร พ.ศ.๒๓๙๑ ไปปราบจีนตั้วเหี่ย ที่เมืองฉะเชิงเทรา
ในด้านการต่างประเทศ ท่านได้ช่วยงานด้านนี้ตั้งแต่รัชกาลที่สาม และครั้งสำคัญเมื่อ เซอร์ ยอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษเข้ามาติดต่อ ขอทำหนังสือสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
งานด้านการก่อสร้างได้เป็นแม่กองขุดคลองเจดีย์บูชา (พ.ศ.๒๓๙๖) คลองถนนตรง (พ.ศ.๒๔๐๐) และคลองมหาสวัสดิ์ (พ.ศ.๒๔๐๓) งานปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ วัดเฉลิมพระเกียรติ พระสมุทรเจดีย์ วัดบางพระ และวัดเกาะสีชัง เป็นต้น
ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้เขียนหนังสือที่มีประโยชน์ไว้หลายเล่ม โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่สาม ถึงรัชกาลที่สี่ ๑๔/ ๘๖๘๑
๒๕๗๐. ทีฆนิกาย เป็นชื่อคัมภีร์แห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีอยู่ห้านิกายคือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย
ทีฆนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรที่มีเนื้อความ ที่ค่อนข้างยาวแบ่งย่อยออกไปเป็นสามวรรคคือ สีลขันธวรรค มหาวรรค และปาฎิกวรรค แต่ละวรรคดังกล่าวมี ๑๓ สูตร ๑๐ สูตร และ ๑๑ สูตร ตามลำดับ รวม ๓๔ สูตร ๑๔/ ๘๖๘๖
๒๕๗๑. ทีฆาวุ - เจ้าชาย เป็นพระราชโอรสองค์เดียวของพระเจ้าโกศลทีฆีติราช ในประเทศอินเดียสมัยโบราณ ในครั้งนั้นพระเจ้ากาสี พระนามว่า พรหมทัต ครองราชย์ในเมืองพาราณสี ทรงกรีธาทัพไปยึดครองแคว้นโกศล ของพระเจ้าโกศลทีฆีติราช พระเจ้าโกศลกับพระมเหสีเสด็จหนีไปอาศัยอยู่บริเวณบ้านนายช่างหม้อ จนกระทั่งได้มีพระราชโอรส ขนานพระนามว่า ทีฆาวุกุมาร พระราชกุมารได้ไปศึกษาศิลปวิทยา ในสำนักครูต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาขับรถม้า เมื่อเสด็จกลับมาเมืองพาราณสี ก็พบว่าพระราชบิดากับพระราชมารดา กำลังถูกพระเจ้าพรหมทัตจับไปปลงพระชนม์ และได้มีโอวาทสอนทีฆาวุกุมาร เป็นใจความว่า " อย่าเห็นยาวดีกว่าสั้น และอย่าเห็นสั้นดีกว่ายาว เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร"
ต่อมา เมื่อทีฆาวุกุมารได้มีโอกาสอธิบายโอวาทนี้ ให้พระเจ้าพรหมทัตได้ทราบ พระเจ้าพรหมทัตทรงพอพระทัย สถาปนาเจ้าชายทีฆาวุ ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นโกศล ถวายพระนามว่า พระเจ้าทีฆาวุ พร้อมกับพระราชทานเจ้าหญิงเรณุกา พระราชธิดาของพระองค์ให้เป็นพระมเหสี ๑๔/ ๘๖๘๗
|
Update : 27/5/2554
|
|