|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/60
๒๔๗๙. ท้องมาน - โรค คือ ภาวะที่มีน้ำคลายซีรุ่มของเลือดอยู่ในช่องท้อง อาจมีน้ำมากถึง ๑๕ - ๒๐ ลิตร ทำให้หน้าท้องโป่งพองอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีอาการอึดอัดในท้อง ช่องอก แน่นท้อง ท้องผูกเบื่ออาหาร หายใจลำบาก และมีอาการบวมที่เท้าทั้งสองข้าง อาจจำแนกได้ดังนี้
๑. โรคที่เกิดแก่เยื่อยุท้อง
๒. การอุดกั้นหลอดเลือดดำปอร์ตัล
๓. โรคที่เกิดแก่ตับ เช่น ตับแข็ง มีโพรงหนองที่ตับ และมะเร็ง เป็นต้น
๔. การอุดตันหลอดเลือดดำ อินพีเรีย เวนา คาวา
๕. โรคที่เกิดแก่หัวใจ ได้แก่ ความพิการของลิ้นหัวใจ
๖. โรคที่เกิดแก่ไต เช่น โรคไตอักเสบ เรื้อรัง
๗. การอุดกั้นทางเดินของน้ำเหลือง
๘. สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคปอดเรื้อรัง ๑๓/ ๘๔๓๗
๒๔๘๐. ทองลัน เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พงั่ว) ผู้เป็นพระราชบิดา ขณะนั้นพระองค์มีพระชันษา ๑๕ ปี ครองราชย์อยู่ได้เจ็ดวัน พระราเมศวรซึ่งครองเมืองลพบุรี ได้ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยา จับพระเจ้าทองลันได้ แล้วให้สำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา แล้วพระราเมศวรก็ได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง ๑๓/ ๘๔๓๘
๒๔๘๑. ทองลิน - ปลา เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด อยู่ในวงศ์ย่อยปลาตะเพียน ๑๓/ ๘๔๔๐
๒๔๘๒. ทองหยอด เป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยไข่แดง ผสมน้ำตาลทำเป็นลูกกลม ๆ เป็นขนมชั้นดี หรือดีที่สุดของไทย เพราะเมื่อเลี้ยงพระ สำรับหวานจะขาดทองหยอดแทบไม่ได้ ๑๓/ ๘๔๔๑
๒๔๘๓. ทองหยิบ เป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยไข่แดง ผสมน้ำตาล ใช้หยิบเป็นรูปกลีบ ๆ ขนมชนิดนี้ใช้ต้มให้สุกในน้ำเชื่อม ๑๓/ ๘๔๔๓
๒๔๘๔. ทองหลาง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง โตเร็ว เนื้อไม้อ่อน มีหนามตามลำต้นและกิ่ง ใบเป็นใบประกอบติดกับกิ่ง แบบบันไดเวียน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีขนาดใหญ่สีแดงสด ดอกทะยอยบานจากฐานช่อ ไปยังปลายช่อ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว ฝักรูปยาว ๑๓/ ๘๔๔๕
๒๔๘๕. ทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี สว่นผสมขึ้นอยู่กับความต้องการ แบ่งได้เป็นสามชนิด ตามสัดส่วนของทองแดง ถ้ามีมากเนื้อจะอ่อน
เนื่องจากมีสังกะสีเป็นส่วนผสมทำให้ทนทานต่อการกัดกร่อน ๑๓/ ๘๔๔๘
๒๔๘๖. ทองโหลง (ดู ทองหลาง - ลำดับที่ ๒๔๘๒) ๑๓/ ๘๔๔๘
๒๔๘๗. ทองเอก เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในจำพวกขนมที่เก็บไว้บริโภคได้ชั่วระยะ ๕ - ๗ วัน ถือกันว่าเป็นขนมชั้นยอด ทั้งด้วยเครื่องปรุง รส รูปร่างลักษณะและสีสัน ทำด้วยไข่แดง หัวกะทิ น้ำตาล และแป้งเล็กน้อย มีรสหวานมัน กลิ่นหอม สีเหลืองราวกับทอง ทั้งยังแต่งด้วยทองคำเปลว เป็นขนมไทยที่มีมานาน ๑๓/ ๘๔๔๘
๒๔๘๘. ทอดกฐิน มีคำนิยามว่า "พิธีถวายผ้าแก่พระสงฆ์ในการกฐิน" คำว่า กฐิน
มูลเหตุที่เกิดการทอดกฐินนี้ มีเรื่องว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กรานกฐินได้แล้วคือ โปรดให้พระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนผ้าครองได้ปีละครั้ง ในชั้นแรก พระสงฆ์ต้องหาผ้ามาทำจีวรกันเอง และห้ามไม่ให้ขอเขาด้วย ไม่ให้แสดงปริยายคือ ไม่ให้พูดเลียบเคียงว่า ต้องการด้วย ทรงอนุญาตให้หาได้ทางเดียวคือ บังสุกุลสัญญา พระภิกษุสงฆ์จึงต้องเที่ยวหาผ้าตามป่าช้าบ้าง ตามกองขยะบ้าง เมื่อได้มาแล้วในวันใดต้องทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น ถ้าเสร็จไม่ทันก็เสียพิธี เป็นอันว่าปีนั้น ทำไม่ได้อีกต่อไป ผู้ที่เห็นความลำบากของพระสงฆ์ จึงหาโอกาสข่วย เมื่อถึงเทศกาลกฐิน จึงเอาผ้าไปทอดไว้ในป่าช้าบ้าง บนกองขยะบ้าง ต่อมาก็เอาไปเที่ยววางไว้ตามบริเวณวัดบ้าง เพื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นของใคร ดังนั้น ในคำอปโลกนี้ คือ การบอกเล่าของพระภิกษุสงฆ์จึงมีว่า "ดาวเลื่อนลอยมาในนภาลัย ประเทศอากาศเวหา มาตกลงในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่พระภิกษุสงฆ์องค์ใด" การกรานกฐินจึงเป็นงานใหญ่มากของพระภิกษุสงฆ์ ถึงโปรดให้งดใช้สิกขาบทบางข้อ เฉพาะในกาลนั้น
ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับคหบดีจีวรคือ ผ้าจีวรที่มีผู้ศรัทธามาถวายได้แล้ว ผู้ทอดกฐินจึงแสดงตัวให้ปรากฎได้ ในคำอปโลกนี้ของพระภิกษุสงฆ์ จึงระบุตัวเจ้าของผู้ทอดขึ้น ดังที่ปรากฎอยู่ในทุกวันนี้
การทอดกฐินชั้นเดิม ก็มีแต่ผ้าผืนเดียว โดยปรกติเป็นผ้าขาวทั้งผืน มีขนาดพอที่จะทำเป็นจีวรผืนหนึ่งได้ เรียกผ้าผืนนั้นว่า ผ้ากฐิน หรือองค์กฐิน แต่ปัจจุบันเลือนมาเป็นหมายถึง ผ้าจีวรที่สำเร็จรูปแล้ว เฉพาะไตรจีวรที่ตั้งใจถวายองค์ครองว่า องค์กฐิน ต่อมามีเครื่องประกอบ เรียก บริวารกฐิน
เมื่อเตรียมเครื่องกฐินพร้อมแล้ว ถึงกำหนดเวลานำไปทอดถวาย ก่อนถวายมีกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย สมาทานศีล แล้วเจ้าการกล่าวนำถวายมีความว่า
"ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐิน พ้ร้อมทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ " แม้เป็นคำรบสอง... แม้เป็นคำรบสาม..."
เมื่อจบคำถวาย พระสงฆ์รับสาธุแล้ว เจ้าการยกองค์กฐินถวายองค์ครองต่อไป เมื่อเสร็จแล้วเจ้าการพร้อมผู้ร่วมการ ถวายบริขารกฐินแก่องค์ครอง และพระอันดับหมดแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าการกรวดน้ำ ฟังพระจบแล้ว เป็นเสร็จพิธีการทอดกฐิน ๑๓/ ๘๔๕๐
๒๔๘๙. ทอดตลาด มีคำนิยามว่า " ขายโดยวิธีประมูลราคา " เป็นวิธีขายทรัพย์แบบหนึ่ง ที่ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณ ก่อนคริตส์กาลปรากฎหลักฐานตามกฎหมายโรมัน นับเวลาได้ประมาณสองพันปีมาแล้ว
สาระสำคัญของการขายทอดตลาดคือ เป็นการขายทรัพย์โดยเปิดเผยสาธารณชนทั่วไป มีโอกาสเสนอซื้อ ผู้ใดให้ราคาสูงสุดก็ได้ทรัพย์นั้น ๆ ไป วิธีหรืออาการที่ผู้ทอดตลาดสนองรับคำเสนอสู้ราคานั้นถือเป็นธรรมเนียมสากลว่า เมื่อไม่มีผู้ใดให้ราคาสูงขึ้นต่อไป ผู้ทอดตลาดจะเคาะค้อนทำด้วยไม้ลงบนโต๊ะ เป็นสัญญาณแสดงว่า การขายทรัพย์นั้นบริบูรณ์ ๑๓/ ๘๔๕๓
๒๔๙๐. ทอดผ้าป่า มีคำนิยามว่า "เอาผ้าถวายโดยทิ้งไว้ เพื่อให้พระชักเอาเอง "หรือ" ผ้าที่ทายกถวายพระต่อจากเทศกาลกฐิน ออกไปนับเข้าในผ้าบังสุกุล "
เรื่องผ้าป่านี้มีเค้าเรื่องจากคัมภีร์จีวรขันธกะ วินัยปิฎก เรื่องพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุ รับคหบดีจีวรคือ จีวรที่ชาวบ้านถวาย
ในตอนปฐมโพธิกาล กำหนดเวลาว่าพ้น ๑๕ พรรษา แต่ปีตรัสรู้ไปแล้ว ในตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับคหบดีจีวร ภิกษุทั้งหลายนุ่งห่มได้แต่ผ้าบังสุกุลเท่านั้น ชาวบ้านเห็นความลำบากของพระภิกษุในเรื่องนี้ จึงหาทางช่วยโดยเอาผ้าไปทิ้งไว้ในป่าช้าบ้าง กองขยะบ้าง ทอดไว้ตามกิ่งไม้ หรือพาดไว้ตามหีบศพ แต่ต้องทำพิธีการให้พระภิกษุเชื่อว่า เจ้าของทิ้งแล้ว หรือของนั้นไม่มีเจ้าของ เมื่อพระภิกษุเห็นเช่นนั้น ก็ถือเอาโดยบังสุกุลที่เรียกว่า "ชักผ้าป่า" หรือ "ชักบังสุกุล" ไม่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าพระภิกษุรู้ว่าชาวบ้านก็ไม่ยอมรับ ดังนั้น ผู้คิดจะช่วยพระภิกษุจึงต้องทำโดยละเมียดละไมที่สุด โดยกิริยาที่ต้องทำอย่างนี้ เราจึงเรียกกันว่า "ทอดผ้าป่า" ๑๓/ ๘๔๖๐
๒๔๙๑. ทอผ้า การทอผ้ามีด้ายอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า ด้ายพุ่ง อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ด้ายยืน การทอผ้า หมายความว่า การทำเส้นด้ายพุ่งกับเส้นด้ายยืน เข้าขัดกัน
ปัจจุบันวัตถุที่ใช้นำมาทอทำเสื้อผ้า มีมากมายหลายชนิด เช่น ใยไหม เอามาทอเป็นผ้าแพร ใยฝ้าย ใช้ทอเป็นผ้าฝ้าย ขนแกะทอเป็นสักหลาด และะเยื่อใยไม้ทอเป็นผ้าลินิน ผ้าป่าน เป็นต้น มนุษย์รู้จักการทอผ้าด้วยฝ้าย ทีหลังการทอผ้าด้วยไหม
การทอผ้าฝ้ายนั้น ปรากฎในวรรณคดีจีนว่า จีนได้ใช้ฝ้ายทอผ้ามาตั้งแต่เมื่อ ๒,๒๐๐ ปี มาแล้ว ภายหลังได้มีผู้นำวิชานี้ เข้ามาเผยแพร่ในอินเดีย แล้วต่อไปยังอียิปต์ และยุโรป เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ฯ ตีอินเดียบางส่วนได้
เกี่ยวกับประวัติการทอผ้าของไทย เมื่อราวปี พ.ศ.๔๒๐ ชาติไทยได้รวมกันเป็นแว่นแคว้นเรียกว่า "นครเพงาย" อันเป็นอาณาจักรอ้ายลาว ชาวอ้ายลาวรู้จักการย้อมผ้าสี ทำพรมขนสัตว์ ทอผ้าเป็นดอกดวง และทอผ้าได้หลายชนิด
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ วงการทหารไทย ตระหนักว่า ยามปรกติราชการทหารต้องซื้อผ้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในยามสงครามก็จะต้องใช้มากยิ่งขึ้น ถ้าประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมประเภทนี้ ก็จะเกิดการขาดแคลน จากเหตุนี้โรงงานทอผ้าด้วยเครื่องจักรโรงแรกของประเทศไทย จึงได้เกิดขึ้นใช้ชื่อว่า โรงงานฝ้ายสยาม เป็นแผนกหนึ่งอยู่ในกรมอาภรณ์ภัณฑ์ กระทรวงกลาโหม โดยมีกำลังเครื่องจักรปั่นด้าย ๓,๒๗๒ หลอด พร้อมกับเครื่องทอผ้าชนิดต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เปิดเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ก็ได้มีการตั้งโรงงานภาคเหนือขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีเครื่องทอเริ่มแรก ๑๐๐ เครื่อง ๑๓/ ๘๔๖๓
๒๔๙๒. ทอเรียม เป็นธาตุโลหะชนิดหนึ่งสีเทาเงิน เป็นธาตุกัมมันตรังสีมีประโยชน์ในทางปรมาณู ทอเรียม ออกไซด์ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลอดไฟฟ้า โดยเฉพาะทำไส้หลอดไฟฟ้า ไส้หลอดตะเกียงกาซ ตะเกียงน้ำมันก๊าด ๑๓/ ๘๔๗๐
๒๔๙๓. ทะนาน เป็นชื่อสิ่งของสำหรับใช้ตวงของแห้ง และของเหลวมาแต่โบราณ ใช้เป็นชื่อมาตราตวงตามวิธีประเพณี เรียกว่า " ทะนานหลวง" มีอัตราเท่ากับ ๑ ลิตร ที่ตวงของแห้งก็มี ข้าวเปลือก และข้าวสารเป็นสำคัญ ส่วนที่ตวงของเหลวมี เหล้า และน้ำมันพืช
รูปร่างของทะนาน เป็นกะโหลก หรือกะลามะพร้าว ตัดประมาณค่อนมาทางป้าน และใช้ทางแหลมเป็นทะนาน มาแต่ดั้งเดิม
การใช้ทะนาน ตวงข้าวคงจะใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว แต่ไม่มีหนังสือกล่าวถึง คำว่า ทะนาน เริ่มปรากฎในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) คือ ในปี พ.ศ.๑๘๙๕ ได้ออกกฎหมายลักษณะอาญาหลวง มีมาตราหนึ่งได้กล่าวถึง ทะนาน เอาไว้ นอกจากนี้ยังมีคำว่า "สัจ" คือ "สัด" อันเป็นเครื่องสานอย่างกระบุง เป็นด้วยทะนานกับสัด ใช้ในการตวงข้าวขายมากที่สุด กำหนดให้ ๒๕ ทะนาน เท่ากับ ๑ สัด
มาตราตวงของไทยโบราณมีว่า
๓๐๐ เมล็ดข้าว = ๑ ใจมือ ๘ ใจมือ = ๑ ฟายมือ ๘ ฟายมือ = ๑ทะนาน
๕ ทะนาน = ๑ กระเชอ ๕ กระเชอ = ๑ สัด ๕ สัด = ๑ กระชุก
๔ กระชุก = ๑ ตะลอง ๔ ตะลอง = ๑ เกวียน ๔ เกวียน = ๑ ตะล่อม
๕ ตะล่อม = ๑ ยุ้ง ๕ ยุ้ง = ๑ ฉาง
ในการซื้อขายมีมาตราที่ใช้อีกแบบหนึ่งคือ
๑๕๐ เมล็ดข้าว = ๑ หยิบมือ ๔ หยิบมือ = ๑ กำมือ ๔ กำมือ = ฟายมือ
๒ ฟายมือ = ๑ กอบ ๔ กอบ = ๑ ทะนาน ๒๕ ทะนาน = ๑ สัด
๘๐ สัด = ๑ เกวียน
ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.๒๔๖๖ แล้ว การใช้เครื่องตวงของเก่ามี ทะนาน กะโหลก หรือกะลามะพร้าว สัด ที่เป็นเครื่องสาน ถังที่เป็นไม้ ก็ไม่ใช้อีกต่อไป ๑๓/ ๘๔๗๐
|
Update : 27/5/2554
|
|