๒๓๔๘. แตร เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ ตอนปลายมักทำบานออกเป็นรูปลำโพง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่เสียงที่ต้องการ
แตรบางชนิดใช้สำหรับเป่าให้สัญญาณ เช่นแตรที่ใช้ในการล่าสัตว์ แต่ในเมืองไทย ถ้าเอ่ยชื่อว่าแตร ก็มักจะหมายถึงแตรที่เป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น
แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยมาแต่โบราณมีอยู่สองชนิดคือ แตรฝรั่งและแตรงอน แตรทั้งสองชนิดนี้ใช้เป่าร่วมกับ "สังข์" เป็นการผสมวงศ์ชนิดที่เรียกว่า แตรสังข์ เล่ม ๑๓/ ๘๑๐๖
๒๓๔๙. แตรวง เป็นชื่อวงดนตรีชนิดหนึ่งที่เราได้มาจากฝรั่งในวระยะหลังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โยธวาทิต" แตรวงมีขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่สี่ โดยได้จ้างครูชาวอังกฤษเข้ามาฝึกสอนเพลงฝรั่ง สำหรับให้ทหารเดินแถวก่อน จนสมัยรัชกาลที่ห้า แตรวงจึงเริ่มเป็นปึกแผ่น
แตรวงใช้บรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงสามชั้น สองชั้น ชั้นเดียว เพลงเถา เพลงตับ หรือเพลงเกร็ดใด ๆ
โดยปรกติแตรวงย่อมประกอบด้วยเครื่องมือประเภทใหญ่สามประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทก็ประกอบด้วยเครื่องดนตรีเป็นส่วนย่อยอีกหลายชิ้น
แตรวงที่ใช้บรรเลงเพลงไทย ส่วนมากจะใช้เครื่องจังหวะหรือเครื่องกระทบของไทยเข้าประกอบเช่น กลองแขกคู่ ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นต้น เว้นแต่จะบรรเลงเพลงประเภทออกภาษาต่าง ๆ จึงจะใช้เครื่องจังหวะเป็นภาษาต่าง ๆ เช่นกลองจีน กลองยาว กลองชาตรี กลองฝรั่ง ฯลฯ เข้าประกอบให้ฟังออกสำเนียงเป็นภาษาของชาตินั้น ๆ เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๐
๒๓๕๐. แต้ว เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งเรียกชื่อจำแนกแตกต่างกันออกไปว่าแต้วชนิดนั้น ๆ เช่น แต้วใบเลื่อม แต้วใบขน แต้วดอกแดง และแต้วดอกขาวเป็นต้น ในเมืองไทยมีอยู่หลายชนิด ส่วนมากเป็นต้นไม้ขนาดกลาง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกสวยงามชนิดหนึ่ง มีใบอ่อนเป็นสีแดงเข้ม ดอกสีชมพู หรือสีกุหลาบอ่อน เมื่อเวลาบานจะบายพรูสะพรั่งทั้งต้น บางภาคของไทยเรียกว่า ติ้ว เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๗
๒๓๕๑. แต้เอีย เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดแต้จิ๋ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบลซัวเถา ในอำเภอนี้มีแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลออกทะเลคือแม่น้ำเหลียงกัง มีภูเขาอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาชื่อเขาเล่งซัว ในสมัยราชวงศ์ถัง บนเขาลูกนี้เป็นที่พำนักของพระภิกษุนิกายเซ็นรูปหนึ่งชื่อพระโต้เตียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๗
๒๓๕๒. โตก มีคำนิยามว่า "ภาชนะมีเชิงสูง สำหรับใช้เป็นสำรับใหญ่กว่าโต๊ะ"
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ตามคำนิยามดังกล่าวทำให้เห็นว่า โต๊ะกับโตกเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าเป็นโต๊ะสำหรับวางของ ถ้าเป็นโตกใช้สำหรับใส่ของกิน
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จว่าโต๊ะเป็นคำจีนเรียกที่ตั้งเครื่องบูชา และตั้งของกิน โตกเป็นภาษาไทยเดิมใช้เรียกถาดมีเชิง เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๘
๒๓๕๓. โต๊ะ เป็นภาชนะรูปคล้ายโตกแต่พื้นตื้น สำหรับวางหรือใส่สิ่งของ ลักษณะนามว่าใบ เล่ม ๑๓/ ๘๑๑๙
๒๓๕๔. ไต เป็นอวัยวะที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ อยู่ทางด้านหลังของช่องท้องใกล้กับกระดูกสันหลัง มีข้างละหนึ่งลูก รูปร่างคล้ายถั่ว ไตสดมีสีแดงปนน้ำตาล ผิวเรียบและสะท้อนแสง เนื่องจากมีเนื้อพังผืดบางหุ้มแนบชิดเป็นปลอกไตทั้งสองข้าง มีขนาดไล่เรี่ยกัน ยาวประมาณ ๑๑ ซม. กว้าง ๕ ซม. หนาประมาณ ๓ ซม. หนักประมาณ ๑๒๐ กรัม
ไตทั้งสองข้างมีความสัมพันธ์กับผนังหลังของลำตัวคล้ายคลึงกัน ไตข้างขวาสัมพันธ์กับตับ ที่ปลายล่างมีลำใส้ใหญ่ ส่วนที่โค้งงอขวา เข้ามาอยู่ชิด ไตซ้ายต่ำจากบริเวณที่ชิดกับต่อหมวกไต มีกระเพาะอาหารอยู่ทางใกล้กลาง ถัดไปทางใกล้ริมเป็นม้าม ต่ำลงมามีส่วนตัวของตับอ่อน ทอดผ่านกลางไต
เนื้อไตเกือบทั้งหมด ประกอบขึ้นเป็นรูปกรวยหลายอัน
หลอดไต ในการทำหน้าที่ ไตมีส่วนที่ทำให้เกิดน้ำปัสสาวะ เรียงกันอยู่เป็นหลอดยาวมีจำนวนมากมาย หลอดไตแต่ละหลอดมีแนวทางที่ทอดอยู่ค่อนข้างสับสน หลอดรวมปัสสาวะหลอดหนึ่ง ๆ จะรับหลอดไตหลายอัน แล้ทอดเป็นแนวตรง สุดท้ายหลอดรวมน้ำปัสสาวะหลายหลอด จะรวมกันเป็นหลอดน้ำปัสสาวะออก
ไต มีหน้าที่สำคัญคือ ทำหน้าที่แยกยูเรีย และวัตถุที่เหลือจาก เบตาโบลิสซัมของโปรตีนออกจากเลือด และยังมีหน้าที่สำคัญคือ ควบคุมจำนวนน้ำที่ขับออกมา เป็นส่วนน้ำของปัสสาวะ ทำให้น้ำในร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนั้นยังควบคุมจำนวนและชนิดของอิเลกไตรไลต์ส ที่ขับออกทางปัสสาวะด้วย มีผลทำให้พลาสมาของเลือดมีส่วนประกอบ อยู่ในอัตราปรกติ ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปทำให้ส่วนประกอบของ ของเหลวงที่อยู่นอกเซลล์ ซึ่งหล่อเลี้ยงเซลล์ และเนื้อเยื่อเป็นปรกติด้วย ๑๓/ ๘๑๒๐
๒๓๕๕. ไต้ เป็นสิ่งที่ทำจากไม้ผุ คลุกับน้ำมันยาง แล้วห่อด้วยใบเตย กาบหมาก หรือเปลือกเสม็ด เป็นต้น แล้วมัดเป็นเปลาะ ๆ มีขนาดสั้น หรือยาว ตามที่ต้องการ เรียกกันว่า ลูกไต้
การใช้ไต้ เห็นจะเป็นขึ้นต้นของการใช้ไฟเป็นเครื่องส่องสว่าง การใช้ไต้คงจะมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ และมีทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้ ๑๓/ ๘๑๔๘
๒๓๕๖. ไตเซิน - ขบถ คือ ขบถที่เกิดขึ้นในประเทศญวน ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๔๕
ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ราชวงศ์เล เป็นผู้ปกครองประเทศญวน แต่อำนาจการปกครองแท้จริง อยู่ในกำมือของราชวงศ์มัก ตระกูลตรินห์ และตระกูลเหงียน ขณะนั้นดินแดนประเทศญวนทั้งหมด แบ่งออกเป็นสามภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ราชวงศ์มัก ปกครองอยู่ที่ตังเกี๋ย ในภาคเหนือ มีฮานอยเป็นเมืองหลวง ตระกูลตรินห์ อยู่ครองภาคกลางในฐานะอุปราชแห่งราชวงศ์เล ประกอบด้วยเขตตันหัว เวอาน และฮาติน มีเมืองไตโดเป็นเมืองหลวง ภาคใต้อยู่ในอำนาจของตระกูลเหงียน มีกวางตรี เป็นศูนย์กลาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕ ตระกูลตรินห์ยึดอำนาจราชวงศ์มักได้ จึงย้ายเมืองหลวงพร้อมด้วยที่ประทับของกษัตริย์แห่งราชวงศ์เล จากเมืองไตโดไปยังฮานอย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตระกูลตรินห์และตระกูลเหงียน ก็ได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันตลอดมา คนสำคัญในตระกูลตรินห์ ยังคงดำรงตำแหน่งอุปราชต่อมา บางสมัยก็ปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่ง และวิวาทชิงอำนาจกันเอง ส่วนทางภาคใต้ตระกูลเหงียน สนใจขยายอาณาเขตลงทางใต้ โดยรุกรานอาณาจักรจามปา จนถึงพื้นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๑๖ สามพี่น้องแห่งตระกูลเหงียนได้ก่อขบถขึ้น ที่ตำบลไตเซิน มีวัตถุประสงค์ที่จะยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ทางภาคใต้ และเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ปกครองประเทศญวนทั้งประเทศ แทนจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์เล และแทนตระกูลตรินห์ เหงียนวันงัก หนึ่งในสามพี่น้องตระกูลเหงียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ องไตเซิน เจ้าเมืองกุยเยิน ป็นหัวหน้าของการขบถครั้งนี้
ในปี พ.ศ.๒๓๒๐ พวกขบถไตเซิน ยึดเมืองไซ่ง่อนได้ และปลงพระชนม์เจ้าแห่งราชวงศ์เหงียนสามองค์ แต่เจ้าชายเหงียนฟกอัน หรือองเชียงสือ หนีไปได้ ระหว่างนั้นขบถไตเซิน ยึดอำนาจการปกครองในญวนได้เกือบหมด ยกเว้นดินแดนแถบเมืองเว้ องไตเซินประกาศตั้งตนเป็นจักรพรรด์
ต่อมาพวกขบถไตเซิน ถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากไซ่ง่อน องเชียงสือจึงกลับไปยึดไซ่ง่อนได้ แต่แล้วพวกขบถไตเซินก็กลับมายึดไซ่ง่อนได้อีก เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นไปสองครั้ง ครั้งหลังในปี พ.ศ.๒๓๒๕ องเชียงสือได้ขอความช่วยเหลือจากไทยและฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ ขบถไตเซินยึดเมืองเว้ได้ แล้วรุกเลยไปยึดฮานอยได้ หลังจากนั้นสามพี่น้องขบถไตเซิน ก็วางโครงการที่จะแบ่งแยกจักรวรรดิ์ญวนออกเป็นสามส่วน โดยให้วันเว ครองตังเกี๋ย วันวัก ครองภาคกลางมีเมืองเว้ เป็นนครหลวง และให้วันลู ครองภาคใต้ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เล ต้องเสด็จหนีไปเมืองจีน
ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ องเชียงสือ เขียนพระราชสาสน์ถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เพื่อกลับไปชิงดินแดนคืนจากพวกขบถ และสามารถปราบขบถไตเซินได้ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ ด้วยความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส หลังจากยึดเมืองเว้และฮานอยได้ ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ แล้ว องเชียงสือก็ประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิ์เวียดนามยาลอง ๑๓/ ๘๑๕๐
๒๓๕๗. ไตปิง เป็นเมืองสำคัญในรัฐเประ อันเป็นรัฐทางภาคตะวันออกของประเทศมาเลเซีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของรัฐเประ ๑๓/ ๘๑๕๖
๒๓๕๘. ไต้เผ็ง เป็นชื่ออาณาจักรที่กลุ่มขบถในประเทศจีน ตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๔๑๗ ผู้นำในการขบถได้แก่ อั่งซิ่วช้วง เขาเป็นชาวอำเภอฮวย ในมณฑลกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ มีความสนใจในประวัติศาสตร์อย่างมาก ต่อมาได้ไปสมัครเป็นสมาชิกสมาคมเสี่ยงตี้หวย (สมาคมพระผู้เป็นเจ้า) เป็นสมาคมลับทางการเมือง ที่อาศัยศาสนาคริสต์ เป็นเครื่องบังหน้า เมื่อหัวหน้าคนเก่าสิ้นชีวิตลง อั่งซิ่วช้วง ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทน และตั้งตนเป็นศาสดา มีสำนักอยู่บนภูเขาผ่งฮ่วยซัว ระหว่างอำเภอกุ้ยเพ้ง กับอำเภอบูชวง ในมณฑลกวางสี มีผู้เข้าร่วมสมาคมมากขึ้นตามลำดับ เขาอ้างว่าพระเยซูเป็นพระบุตรองค์โตของพระเจ้า ส่วนตนเองเป็นบุตรคนรอง และได้แต่งบทสวดขึ้น ถ่ายทอดในหมู่ศิษย์ และสมัครพรรคพวกอย่างลับ ๆ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๓ อั่งซิ่ว ได้ก่อขบถขึ้น ณ หมู่บ้านกิมชั้ง ในอำเภอกุ้ยเพ้ง พวกขบถตีได้จังหวัดยงอัง ในมณฑลกวางสี แล้วสถาปนาอาณาจักรของตนเป็น "ไต้เผ็งเทียงกก" แล้วยกทัพขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตีได้มณฑลโอ่วนั้ม (หูหนัน) โอ่วปัก (หูเป่ย) อังฮุย (อันฮุย) กังโซว (เจียนโซว) ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง ให้เปลี่ยนปฏิทินเป็นแบบสุริยคติ เปลี่ยนแปลงแบบการแต่งกายให้ไว้ผมยาวตลอดศีรษะแทนการไว้ผมเปียแบบแมนจู ส่งเสริมการศึกษาแบบใหม่ ให้การศึกษาแก่สตรี เลิกประเพณีวัดเท้าของสตรี เลิกระบบโสเภณี ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ
กองทัพไต้เผ็งเทียงกก มีชัยชนะเหนือ ๖๐๐ กว่าเมืองใน ๑๖ มณฑล ต่อมาเกิดแก่งแย่งอำนาจถึงขั้นฆ่าฟันกันเอง ทางรัฐบาลแห่งราชวงศ์เช็งได้ยกทัพมาปราบปรามนานกิง ถูกตีในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ๑๓/ ๘๑๕๖
๒๓๕๙. ไต้ฝุ่น หมายถึงพายุ เรียกพายุไต้ฝุ่นคือ พายุหมุนในโซนร้อนที่มีความรุนแรงที่สุดประเภทหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีถิ่นกำเนิดในโซนร้อนแถบเส้นรุ้งต่ำ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางด้านตะวันตก และในทะเลจีนใต้เป็นพายุที่มีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐๐ - ๑,๖๐๐ กม.หรือมากกว่านั้น พายุไต้ฝุ่นจะเกิดขึ้นพร้อมกับลมแรงและลมจะพัดทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า ๓๐๐ กม.ต่อชั่วโมง มีลักษณะอากาศร้ายติดตามมาด้วยเช่นมีฝนตกหนักกว่าปรกติ บางครั้งมีฟ้าคะนองรวมอยู่ด้วย
โดยปรกติพายุใต้ฝุ่นจะเกิดมากที่สุดในช่วงระะหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม
พายุหมุนชนิดเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก แต่มีชื่อเรียกไปต่างกันเช่น ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก เรียกชื่อว่า พายุ "เฮอริเคน" ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอล และทะเลอาเรเบีย ในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่าพายุ "ไซโคลน" ถ้าเกิดในบริเวณทวีปออสเตรเลียเรียกว่าพายุ วิลลี่ วิลลี่
ตามข้อตกลงนานาชาติในเรื่องพายุ พายุหมุน หรือพายุไซโคลน ในโซนร้อนได้จัดแบ่งปประเภทและเรียกชื่อตามความรุนแรงแต่ละประเภทคือ
พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงถึง ๖๓ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุดีเปรสชันโซนร้อน พายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางคั้งแต่ ๖๔ - ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุโซนร้อน และพายุที่มีความเร็วลมตั้งแต่ ๑๑๗ กม.ต่อชั่วโมง เรียกว่า พายุใต้ฝุ่น หรือพายุเฮอริเคน ๑๓/ ๘๑๕๙
๒๓๖๐. ไตรดายุค เป็นชื่อยุคหนึ่งในสี่ยุคตามคติของพราหมณ์ (ดูจตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๖๒ ตอนว่าด้วยไตรดายุค) ๑๓/ ๘๑๖๔
๒๓๖๑. ไตรตรึงษ์ เป็นชื่อเมืองตั้งอยู่ใน อ.เมืองกำแพงเพชร (ดูตรัยตรึงศ์ ๑ - ลำดับที่ ๒๐๗๔) และชื่อสวรรค์ชั้นที่สอง แห่งสวรรค์หกชั้นที่พระอินทร์ครอง ดาวดึงส์ก็เรียก (ดูดาวดึงส์ - ลำดับที่ ๑๙๘๑) ๑๓/ ๘๑๖๔
๒๓๖๒. ไตรทวาร แปลว่าทวารสามคือกายเรียกกายทวาร วาจาเรียกวจีทวาร และใจเรียกมโนทวาร เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงทางประพฤติของคน อันเป็นผลว่าจะเป็นผลดี หรือชั่วรู้ได้ในทวารสามนี้ พอสรุปได้ว่าคนจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ การพูด การคิด นี้ว่าเป็นกรรม ถ้าทำดี พูดดี คิดดี เรียกว่ากุศลกรรม ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม เรียกเป็นความประพฤติว่า สุจริต ทุจริต กำหนดข้อปฏิบัติที่เรียกว่า กรรมบทไว้ ๑๐ ข้อ ทั้งข้างดีข้างชั่ว ถ้าเป็นฝ่ายดีเรียกกุศลกรรมบท ถ้าเป็นฝ่ายข้างชั่วเรียกอกุศลกรรมบท ๑๓/ ๘๑๖๔
๒๓๖๓. ไตรทศ เทวดา ๓๓ องค์ ไม่แยกว่าใครเป็นใคร ตรีทศก็เรียก (ดูตรีทศ - ลำดับที่ ๒๑๑๖, ๒๑๑๗ ประกอบ) ๑๓/ ๘๑๖๕
๒๓๖๔. ไตรปิฏก คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีสามหมวด หมวดหนึ่ง ๆ เรียกว่าปิฏก หนึ่งคือ พระวินัยเรียกวินัยปิฏก พระสูตรเรียกสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมเรียกอภิธรรมปิฏก
คำว่าไตรปิฏก มีปรากฎในคราวสังคยนา แสดงถึงการแบ่งพระพุทธพจน์ออกเป็นสามหมวด แต่ก่อนนั้นคือในสมัยพุทธกาล ไม่ได้ใช้คำนี้หมายถึงพุทธพจน์ ท่านใช้คำรวมว่าปาพจน์บ้าง ธรรมวินัยบ้าง โอวาทปาติโมกข์บ้าง อริยวินัยบ้าง นอกจากชื่อรวมอย่างนี้ก็ยังมีชื่อแยกระบุคัมภีร์เรียกรวมว่าองค์เช่น นวังคสัตถุศาสน์ พระพุทธพจน์มีองค์เก้า
พระไตรปิฎกนี้ลึกเป็นคัมภีรภาพคือ ลึกโดยธรรม คือพระพุทธพจน์ ลึกโดยอรรถคือเนื้อความของพระบาลี ลึกโดยเทศนาคือ พระพุทธองค์ทรงกำหนดด้วยพระทัย ลึกโดยปฏิเวธคือ ผู้มีปัญญาสามารถเข้าใจความหมายได้
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ บริสุทธิ์ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษาบริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ บริสุทธิ์ทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษา บริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฎกเริ่มด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสป เป็นประธาน รวมรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นพระวินัยส่วนหนึ่ง พระสูตรส่วนหนึ่ง พระอภิธรรมส่วนหนึ่ง ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้สามเดือน โดยได้ประชุมทำกันที่เมืองราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าอชาติศัตรู ราชาธิราชแห่งแคว้นนั้น ทรงรับเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พระเถรานุเถระได้เล่าเรียนสั่งสอนนำสืบ ๆ กันมาถึงพุทธศตวรรษที่ห้า พระเถรานุเถระพร้อมด้วยชาวพุทธตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน และประชาชนได้ร่วมกันจัดการจารึกพระไตรปิฎก ลงเป็นอักษรครั้งแรกต่อจากนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ช่วยกันคัดลอก และชำระสะสาง สอบทานกันมาเป็นคราว ๆ จนมาถึงเมืองไทย สมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กับสมัยที่อาณาจักรล้านนายังเป็นอิสระอยู่ ก็ได้รับคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาคัดลอกสอบทานกัน ๑๓/ ๘๑๖๕
๒๓๖๕. ไตรเพท คือความรู้สามอย่างมีรากคำมาจากภาษาบาลีว่า "เวท" แปลว่า ความรู้ คือ ความรู้เรื่องพิธีกรรมที่ช่วยคนให้ได้รับความสงเคราะห์จากเทวดา เรียกอีกนัยหนึ่งว่า คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพท ได้แก่
๑. ฤคเวท เป็นคำฉันท์อ้อนวอน และสรรเสริญพระเจ้าต่าง ๆ
๒. ยัชุรเวท เป็นคำร้อยแก้วซึ่งว่าด้วยพิธีทำพลีกรรม และบวงสรวง
๓. สามเวท เป็นคำฉันท์สวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และขับกล่อมเทพเจ้า
คัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเพทนี้ เป็นชื่อแสดงลัทธิไสยศาสตร์ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์ ๑๓/ ๘๑๖๙
๒๓๖๖. ไตรภูมิ - เรื่อง มีอยู่หลายฉบับ แต่ฉบับที่รู้จักกันทั่วไปเรียกชื่อเต็มว่า ไตรภูมิพระร่วง
คำว่า ไตรภูมิ แปลว่า ภาพสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ตามไสยศาสตร์ว่า สวรรค์ มนุษย์ บาดาล ในเรื่องไตรภูมิ หมายถึง แดนสามคือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ หนังสือไตรภูมิฉบับนี้เป็นของพระยาลิไทย แห่งกรุงศรีสัชนาลัย สุโขทัย ทรงคัดความจากคัมภีร์ต่าง ๆในพระไตรปิฎก
หนังสือไตรภูมิ ต่อจากฉบับพระร่วงลงมา มีหนังสือไตรภูมิครั้งกรุงธนบุรีฉบับหนึ่ง กับไตรภูมิเชียงใหม่ฉบับหนึ่ง แต่เขียนเป็นรูปภาพเต็มทั้งเล่ม ต่อนั้นจึงถึงไตรภูมิแต่งในรัชกาลที่หนึ่งเรียกว่า "ไตรภูมิโลกสัณฐาน" เรื่องหนึ่ง แล้วย่อลงมาเรียก "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" อีกเรื่องหนึ่ง
หนังสือเรื่องไตรภูมิ ตามเค้าเรื่องกล่าวถึงเรื่องกำเนิดของสัตว์ ยักษ์ มาร มนุษย์ เทวดา พรหม และเรื่องกำเนิดของสากลจักรวาลว่า มีเป็นขึ้นได้อย่างไร
ถ้าว่าทางวรรณคดี นอกจากจำพวกศิลาจารึกแล้ว ไตรภูมิฉบับนี้เป็นหนังสือไทยเรื่องแรก ซึ่งเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน ๑๓/ ๘๑๗๒
๒๓๖๗. ไตรรงค์ เป็นชื่อธงชาติไทยปัจจุบัน ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) ประเทศไทยใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประเทศไทยได้ช้างเผือกสามเชือก มาประดับพระบารมีคือ จากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ จากเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ และจากเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙ เนื่องแต่เหตุที่ได้ช้างเผือกสามช้าง ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายยังนานาประเทศ โปรด ฯ ให้ทำรูปช้างอยู่กลางวงจักร ติดในธงสำหรับชาติไทยแต่นั้นมา
ธงช้าง ซึ่งมีรูปช้างสีขาวบนผ้าสีแดง ได้ใช้เป็นธงชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีการแก้ไขลักษณะของช้าง เช่น พ.ร.บ.ธง ร.ศ.๑๒๙ กล่าวว่า "ธงราชการสีแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักที่เรือหลวงทั้งปวง กับชักที่บรรดาสถานที่ราชการต่าง ๆ" เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริว่า ธงชาติยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติไทยแทน
พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ธง พ.ศ.๒๔๖๐ ระบุลักษณะของธงไตรรงค์ไว้ดังต่อไปนี้
"ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้างสองส่วน ยาวสามส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งสามของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งหกของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาว ประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักใบเรือ พ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เป็นชาติสยามทั่วไป
ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย" ๑๓/ ๘๑๗๔
๒๓๖๘. ไตรรัตน์ คือแก้วสามประการ หมายความถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกอีกอย่างหนี่งว่า รัตนตรัย
ในพระพุทธศาสนายกของสามสิ่งคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี้ขึ้นเป็นสำคัญ บรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีบรรพชา หรืออุปสมบท หรือพิธีแสดงตนเป็นอุบาสก หรืออุบาสิกา จะต้องเปล่งวาจาประกาศตนว่า ถึงของสามอย่างนั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกก่อน ๑๓/ ๘๑๗๗
๒๓๖๙. ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะสามประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่า ลักษณะที่เสมอกันของสังขารทั้งปวง เรียกเป็นการเฉพาะว่า อนิจตา ทุกขตา และอนัตตา
ไตรลักษณ์ ดังกล่าวมา คนสามัญมักมองไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะมีสิ่งปิดบังปัญญามิให้มองเห็น สิ่งปิดกั้นนั้นคือ
๑. สันตติ คือ ความสืบต่อปิดบังอนิจตา ไม่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
๒. อิริยาบถ คือ การยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวต่าง ๆ ปิดบังทุกข์ไว้
๓. ฆนะ คือ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนปิดบัง อนัตตา ไม่ให้เห็นความไม่มีตัวตน
เมื่อใช้ปัญญา พิจารณาก่อน สันตติ อิริยาบท และฆนะ เสียได้ จึงเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ที่รวมเรียกว่า ไตรลักษณ์ ๑๓/ ๘๑๘๐
๒๓๗๐. ไตรวัฎ วัฎสาม คือกิเลสวัฎ กรรมวัฎ คำว่า วัฎ แปลว่า วน หมายเอาความเวียนเกิดด้วยอำนาจกิเลส กรรม และวิบาก หมุนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดคือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้วิบาก (ผล) แห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไป จึงเรียกสภาพสามอย่างนี้รวมกันว่า ไตรวัฎ ๑๓/ ๘๑๘๕
๒๓๗๑. ไตรวิชชา หมายถึง วิชชาสาม คือ วิชชาระลึกชาติแต่หนหลังได้ เรียกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ วิชชารู้ความตาย ความเกิดของสัตว์เรียกว่า จุตุปปาตญาณ วิชชารู้ทางทำให้สิ้นกิเลส เรียกว่า อาสวักขยญาณ
บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณระลึกชาติถอยหลังเข้าไปได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติ สองชาติ จนถึงหลาย ๆ กัลป์ว่า ชาติที่เท่านั้นมีชื่อ มีโคตร มีผิวพรรณมีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีอายุเท่านั้น จุติจากนั้นแล้วได้เกิดในชาติที่เท่าโน้น ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้
จุตุปปาตญาณ คือ ญาณมีจักษุทิพย์บริสุทธิ์ ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ที่กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี มีผิวพรรณงามก็มี มีผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามกรรม
อาสวักขยญาณ คือ ญาณรู้ชัดตามจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียกิจได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก ๑๓/ ๘๑๘๙
๒๓๗๒. ไตรสรณาคมน์ โดยรูปคำแปลว่า การถึงซึ่งที่พึ่งที่ระลึกสามอย่าง โดยความหมายถึงการยึดเอาเป็นที่พึ่ง ในพระพุทธศาสนาหมายถึง การถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ในปฐมโพธิกาล การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกที่เรียกว่า ไตรสรณาคมน์นี้ เป็นชื่อของการบวชอย่างหนึ่งเรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา แปลว่า อุปสมบท (บวช) ด้วยการถึงสรณะสาม
ปัจจุบัน ไตรสรณาคมน์ถือเป็นกิจเบื้องต้นในการทำพิธีกรรมทางศาสนา ของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ภายหลังจากกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัย ๑๓/ ๘๑๙๐
๒๓๗๓. ไตรสิกขา หมายถึง สิกขาสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฎิบัติทางพระพุทธศาสนาของพระภิกษุ ผู้บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย จะต้องศึกษาและประพฤติปฎิบัติคือ การฝึกหัด กาย วาจา ใจ ไปตามศีล สมาธิ ปัญญา นั้น
สิกขาสามนั้น โดยความคือ ความสำรวม กาย วาจา ให้เรียบร้อยชื่อว่า ศีล ความรักษาใจมั่นชื่อว่า สมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่า ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามประการนี้ เป็นปฎิปทาคือ ข้อปฎิบัติที่ตั้งไว้เพื่อศึกษาในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ศีลเป็นข้อปฎิบัติในเบื้องต้น สมาธิ เป็นช้อปฎิบัติในท่ามกลาง ปัญญาเป็นข้อปฎิบัติในที่สุด ๑๓/ ๘๑๙๒
๒๓๗๔. ไตลังคะ (ดู เตลิงคะ - ลำดับที่ ๒๓๒๘) ๑๓/ ๘๑๙๗
๒๓๗๕. ไต้หวัน เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของจีน เป็นเกาะอยู่ในทะเลจีนใต้ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน สมัยโบราณมีชื่อว่า อี่จิว ต่อมาถูกชาวฮอลันดายึดครองในสมัยต้นราชวงศ์เช็ง แต้เซ่งกงขับไล่พวกฮอลันดาออกไปได้สำเร็จ เมื่อแต้เซ่งกงสิ้นชีพ ไต้หวันตกเป็นของราชวงศ์เซ็ง มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง ขึ้นมณฑลฮกเกี้ยน ต่อมายกฐานะเป็นมณฑลอีก
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ จีนทำสงครามแพ้ญี่ปุ่น จึงยกไต้หวันให้ญี่ปุ่นจนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จีนรบชนะญี่ปุ่น จึงได้ไต้หวันกลับคืนมา
ปัจจุบัน เกาะไต้หวัน เป็นที่ตั้งของประเทศสาธารณรัฐจีน มีเมืองไทเป เป็นเมืองหลวง ๑๓/ ๙๑๙๗
ถ
๒๓๗๖. ถ พยัญชนะตัวที่ยี่สิบสองของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรสูงเป็นตัวที่สามของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต เช่น สบถ ขบถ อเนจอนาถ เป็นต้น
เมื่อว่าโดยฐานกรณ์ คือ แบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงของบาลี สันสกฤต ถ เป็นพยัญชนะที่เกิดจากฐานฟัน เรียกว่า ทันตชะ และมีเสียงระเบิด เป็นพยัญชนะ ธนิตอโฆษะ คือ มีเสียงหนักไม่ก้อง และออกเสียงเช่นเดียวกับ ฐ ๑๓/ ๘๑๙๗
๒๓๗๗. ถนนธงชัย เป็นทิวเขาอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแควน้อย ในจังหวัดกาญจนบุรี ยาวเป็นพืดขึ้นไปทางเหนือ ไปร่วมกับทิวเขาทางทิศตะวันตกของแม่น้ำแควน้อย ในทิวเขาพระเจดีย์สามองค์ ต่อจากนั้นทิวเขาถนนธงชัย จะขึ้นไปทางเหนือเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า ต่อไปทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางทิศตะวันตก ของแม่น้ำปิงจนจดทิวเขาแดนลาว
ทิวเขานี้ยาว ๘๘๐ กม. มีเขาชื่อต่าง ๆ เริ่มจากทิศใต้ไปทางเหนือรวม ๖๐ ชื่อ เริ่มแต่เขาช่องความ (๒๓๙ เมตร) จนถึงเขา (ดอย) ปะตา (๑,๕๐๐ เมตร) แล้วไปต่อทิวเขาแดนลาว ๑๓/ ๘๑๙๘
๒๓๗๘. ถม - เครื่อง (ดู เครื่องถม - ลำดับที่ ๑๑๒๑) ๑๓/ ๘๒๐๐
๒๓๗๙. ถ่มร้าย เป็นคำเรียกลักษณะของคนที่มีรอบบุ๋ม ที่ตะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะไม่ดี ลักษณะอย่างนี้ถือกันมาแต่โบราณ ถึงกับมีคำกล่าวเป็นคติไว้ว่า "สีจัก ยักหล่ม ถ่มร้าย" สีจัก หมายถึง ขวัญที่แสกหน้าของคน ยักหล่ม หมายถึง รอยบุ๋มสองข้างสะบัก ๑๓/ ๘๒๐๐
๒๓๘๐. ถลาง อำเภอ ขึ้น จ.ภูเก็ต อาณาเขตทางเหนือตกทะเลในช่องปากพระ ทิศตะวันออกตกทะเลเหนืออ่าวภูเก็ต ทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้และเหนือเป็นที่ดอน ตอนตะวันออกเป็นที่ดอน
อ.ถลาง เดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงรัชกาลที่สี่ โปรด ฯ ให้ยกเมืองภูเก็ตขึ้นเป็นหัวเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และย้ายที่ว่าการเมืองถลางไปอยู่ที่ภูเก็ต ลดฐานะเมืองถลางเป็นหัวเมืองขึ้นเมืองภูเก็ต ถึงรัชกาลที่ห้าโปรด ฯ ให้ลดเมืองลงเป็นอำเภอ ถึง พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองถลาง แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ถลาง อีกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ๑๓/ ๘๒๐๐
๒๓๘๑. ถวายเนตร เป็นชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า ปางถวายเนตร อยู่ในพระอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์น้อย ๆ ลืมพระเนตรทั้งสองเต็มที่ ทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิพฤกษ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานทับกัน อยู่หน้าพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในอาการสังวร
พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้ว ประทับเสวยวิมุติสุข อยู่ที่ร่มมหาโพธิพฤกษ์เจ็ดวัน แล้วเสด็จไปประทับยืนกลางแจ้ง ทางทิศอีสานของต้นมหาโพธิ์นั้น ทอดพระเนตรต้นมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรถึงเจ็ดวัน สถานที่ที่เสด็จประทับยืนนั้น เป็นนิมิตมหามงคลเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์" ๑๓/ ๘๒๐๔
๒๓๘๒. ถัง ๑ เป็นชื่อราชวงศ์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจีน ระหว่าง ๑๘๐๔ - ๑๗๐๓ ปี ก่อน พ.ศ. มีกษัตริย์พระองค์เดียวคือ พระเจ้าเงี้ยว (เหยา) ทรงปกครองประชาชนด้วยคุณธรรม เนื่องจากพระโอรสประพฤติพระองค์ไม่ดี พระเจ้าเงี้ยวจึงมอบตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่ สุ่ง (ซุ่น) การกระทำอันเที่ยงธรรมของพระองค์ ในครั้งนั้นเป็นที่ยกย่องของอนุชนเป็นอย่างมาก ๑๓/ ๘๒๐๕
๒๓๘๓. ถัง ๒ เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๙ มีกษัติรย์ทั้งสิ้น ๒๐ พระองค์ พระเจ้าเกาโจ้ว (เกาจู่) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์เดิมมีนามว่า ลีเจียง รับราชการในสมัยราชวงศ์ซุ้ย (สุย) เมื่อกษัตริย์สวรรคตได้รับยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์ สืบราชสมบัติแทนจึงเปลี่ยนราชวงศ์เป็นถัง มีเมืองเชียงอาน เป็นเมืองหลวง
ในสมัยราชวงศ์ถังนี้ ประเทศจีนมีความเจริญทางศิลปวิทยาการต่าง ๆ อย่างมาก ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย มีพระภิกษุจีนเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่อินเดีย และนำพระไตรปิฎกกลับมาแปลเป็นภาษาจีน ซึ่งเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง แก่พระพุทธศาสนาในประเทศจีน นอกจากนี้ยังเป็นสมัยที่ศาสนาเต๋า ได้รับการยกย่องเชิดชู เสมอด้วยศาสนาอื่น
กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ถังคือ พระเจ้าเจียวซวงตี่ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๔๔๗ กษัตริย์องค์ใหม่ยังไม่เปลี่ยนราชวงศ์ จนถึงปี พ.ศ.๑๔๔๙ ๑๓/ ๘๒๐๖