หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/55

    ๒๓๑๒. ตืด  ตืด หรือตัวตืด หรือพยาธิตืด เป็นพยาธิตัวแบนในลำไส้คน มีลักษณะเป็นแถบอาจยาวได้หลาย ๆ เมตร ลำตัวยาวเป็นปล้อง ตรงหัวมีอวัยวะที่ใช้เกาะยึด ถัดจากหัวลงมาเป็นคอ คอเป็นส่วนสร้างปล้องออกไปเรื่อย ๆ ตัวตืดไม่มีอวัยวะทางเดินอาหาร มันได้อาหารโดยการซึมของอาหารผ่านผิวหนังเข้าไปในตัว ปล้องแต่ละปล้องมีอวัยวะเพศ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ด้วยกัน
                        ตัวตืด ที่สำคัญพบในคนได้มาก ในประเทศไทยคือ ตืดวัว และตืดหมู
                       ตืดวัว  เป็นตัวตืดขนาดใหญ่ ยาว ๕ เมตร ที่หัวมีฐานเกาะรูปกลมสี่ฐาน มีวงจรชีวิตคือ ปล้องสุกจากตัวแก่ ที่อาศัยในลำไส้เล็กของคนที่มีไข่ผสมแล้ว เต็มมดลูกจะหลุดออกจากตัวครั้งละปล้อง หรือหลาย ๆ ปล้อง เคลื่อนลงมาสู่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก แล้วถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ หรือเคลื่อนหลุดมาเอง เมื่อตกไปตามพื้นดิน จะปริแยกมดลูกแตกไข่ จะตกกระจายอยู่ตามพื้นดิน เมื่อวัวหรือควายเล็มหญ้า ตามพื้นดินกินไข่เหล่านั้นเข้าไป ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนอยู่ตามกล้ามเนื้อ มีลักษณะเป็นเม็ดสาคู โตประมาณ ๗ - ๑๐ มม. ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินเนื้อวัว หรือควายที่มีเม็ดสาคูนี้ โดยไม่ทำให้สุกเสียก่อน เม็ดสาคูที่ไม่ตาย จะกลายเป็นตัวแก่ในลำไส้ต่อไป
                       ตัวตืดหมู  เล็กกว่าตัวตืดวัว อยู่ในวงศ์เดียวกัน ยาว ๒ - ๓ เมตร  ส่วนหัวมีขอ ๒๐ - ๔๐ อัน ช่วยในการเกาะเพิ่มจากฐานสี่ฐาน วงจรชีวิตเป็นแบบเดียวกับตืดวัว แต่เปลี่ยนเป็นหมู แต่มีข้อแตกต่างสำคัญคือ ไข่พยาธิตืดหมู สามารถเจริญเป็นเม็ดสาคูได้ในคน เม็ดสาคูอาจไปเกิดในอวัยวะต่าง ๆ ได้       ๑๓/ ๗๙๙๕
                ๒๓๑๓. ตุ๊กแก ๑ - ปลา  เป็นปลามีเกร็ดตลอดตัว มักพบตามชายฝั่งในทะเล เป็นปลาที่มีรสดี         ๑๓/  ๗๙๙๘
                ๒๓๑๔. ตุ๊กแก ๒ - สัตว์  เป็นสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน ซึ่งอยู่ในวงศ์ตุ๊กแก มีรูปร่างเหมือนจิ้งจก แต่ตัวใหญ่กว่า หนังหยาบมาก เท้าพองทั้งห้านิ้ว และเหนียว มักมีจุดแดงเจือขาวอยู่ตามตัว อาศัยอยู่บนบก กินแมลงเป็นอาหาร อาศัยอยู่ตามต้นไม้ และบ้านเรือนของผู้คน      ๑๓/ ๗๙๙๙
                ๒๓๑๕. ตุ๊กตา  มีคำนิยามว่า "ของเล่นเด็ก ซึ่งทำเป็นรูปคนขนาดเล็ก ลักษณะนามว่าตัว "
                        ตุ๊กตาอาจแบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทคือ ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น ตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ และตุ๊กตาที่เก็บไว้ตามโรงเรียน หรือพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา      ๑๓/  ๗๙๙๙
                ๒๓๑๖. ตุ๊กต่ำ (ตุ๊กกะต่ำ)  เป็นแร่ชนิดหนึ่ง ในตระกูลไมกา หรือแร่กลีบหิน มีลักษณะทั่วไปเป็นเกล็ด หรือแผ่นบางซ้อนกันแน่น ลอกออกได้เป็นแผ่น ๆ มีสีน้ำตาลอ่อน ปนเหลืองหรือน้ำตาลแก่ ซึ่งเรียกว่า แร่ไบโอไตต์ ชาวบ้านที่ขุดหาพลอยที่ จ.จันทบุรี เรียกตุ๊กต่ำ หรือตั๊กตำ เชื่อกันว่า เป็นตัวบ่งชี้พลอย       ๑๓/  ๘๐๐๐๐
                ๒๓๑๗. ตุ๊กต่ำน้ำทอง  เป็นแร่ไบโอไตต์ ชนิดที่มีสีเหลืองน้ำตาล เหลือบเป็นสีทอง นอกจากนี้ยังมีชนิดที่มีสีเหลืองอ่อน ความวาวแบบมุก ทำให้เหลือบคล้ายเงิน เรียกตุ๊กต่ำน้ำเงิน ชนิดที่เหลือบเป็นทองแดง เรียกตุ๊กต่ำน้ำนาก ทั้งสามชนิดดังกล่าว ใช้เป็นเครื่องยาผสมกิน แก้ร้อนใน       ๑๓/ ๘๐๑๑
                ๒๓๑๘. ตุงหวง  เป็นชื่ออำเภอในมณฑลกันซู่ ของประเทศจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอนี้ มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อในด้านศิลปะ และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นห้องศิลาอยู่ในบริเวณภูเขาหมิงซาซาน ที่รู้จักกันดีในนาม "ห้องศิลาตุงหวง"  ชาวบ้านเรียกกันว่า "ถ้ำพันพระ"
                        ในถ้ำมีภาพเขียนอันวิจิตรพิสดาร เป็นสมบัติล้ำค่าหาได้ยากยิ่งในโลก ได้มีผู้ค้นพบห้องศิลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ นักพรตของลัทธิเต๋า ได้พบหนังสือโบราณจำนวนมากในคูหาที่ ๑๖๓ ของถ้ำพันพระนี้ หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอด ตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถัง และสมัยราชวงศ์ทั้งห้าของจีน
                        ภายในห้องศิลาตุงหวง มีภาพเขียนสลักตามผนังถ้ำ ต้นฉบับตัวเขียนซึ่งจารึกลงบนกระดาษ ที่ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีนแต่สมัยโบราณ ศิลปะส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา     ๑๓/ ๘๐๑๑
                ๒๓๑๙. ตุ๊ดตู่ ๑ - ต้น  เป็นชื่อที่ทางจังหวัดตาก เรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกชื่อไม้นี้ว่า จามจุรี ก้ามปู ฉำฉา สำลา ลัง (เหนือ)  เป็นพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เรือนยอดแผ่แบนมาก
                        ใบ เป็นแบบใบผสม แตกเป็น ๒ - ๔ แขนง มีต่อมหลายต่อม ตามก้านใบกลาง ใบย่อยรูปเบี้ยวถึงเกือบกลม ยาว ๓ - ๔ ซม.
                        ช่อดอก ออกตามง่ามใบ เป็นก้านสั้น ดอกเล็ก อยู่เป็นกระจุกที่ปลายก้าน ดอกนี้ทำให้ดูเป็นหัวกลม ดอกหนึ่ง ๆ ทรงกระบอก สีเหลือง เกสรตัวผู้สีชมพู
                        ฝักแบนตรง หรือโค้งน้อย ๆ สีน้ำตาลเกือบดำ ยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. กว้าง ๑.๕ - ๒.๕ ซม. ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
                        เนื้อไม้สีน้ำตาล หยาบไม่ทนทาน แต่ใช้ในการแกะสลัก ทำเป็นสินค้า หรือเครื่องประดับได้ดีมาก
                        ชื่อตุ๊ดตู่นี้ ทางอยุธยาใช้เรียก กก ชนิดหนึ่งว่า  "ตุ๊ดตู่" ทั่ว ๆ ไปเรียกว่า กกกลม กกทรงกระเทียม     ๑๓/  ๘๐๑๓
                ๒๓๒๐. ตุ๊ดตู่ ๒ - สัตว์  (ดู ตะกวด - ลำดับที่ ๒๑๔๕)        ๑๓/  ๘๐๑๔
                ๒๓๒๑. ตุ่น - สัตว์  เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ตาเล็กมาก ขนนุ่ม ขุดรูอยู่ใต้ดิน
                        ตุ่น มีรูปร่างป้อม ลำตัวค่อนข้างกลม หัวเล็ก จมูกแหลม ไม่มีหูข้างนอก เล็บใหญ่ หางสั้น อาหารหลักได้แก่ ไส้เดือน (ดิน)      ๑๓/ ๘๐๑๔
                ๒๓๒๒. ตุ้มแซะ หรือตุ้มแซะ  เป็นชื่อทางภาคเหนือ บางท้องถิ่นเรียก ตุ้มน้ำ ตุ้มน้อย (เหนือ) กระทุ่มน้ำ (กลาง) กระทุ่มดง (กาญจนบุรี)  กระทุ่มโคก (โคราช)
                        พันธุ์ไม้นี้เป็นไม้ทิ้งใบขนาดกลางสูง ๘ - ๑๕ เมตร ใบแบบใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน รูปไข่กว้าง ๆ ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้างราว ๖ ซม.  ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง แตกเป็นหลายแขนง ดอกเล็กมากอยู่รวมเป็นกระจุก ที่ปลายก้าน ดอกหนึ่ง ๆทรงแบบดอกมะลิ ผลอยู่รวมเป็นกระจุก ตามลักษณะเดิมของช่อดอก เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ทนทานปานกลาง       เล่ม ๑๓/ ๘๐๑๕
                ๒๓๒๓. ตุลาการ  คำว่า ตุลาการ เพิ่งใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร แต่เดิมใช้คำว่า ตระลาการ ซึ่งหมายถึง ผู้ตัดสินคดีความ หรือผู้พิพากษาเช่นกัน
                        คำว่า ตุลาการ ซึ่งหมายถึง ผู้ตัดสินคดีความนั้นในทางนิรุคติศาสตร์ มีที่มาจากคำว่า ตุลา ซึ่งแปลว่า คันชั่ง ทั้งนี้โดยอุปไมยว่า ผู้ตัดสินคีดความพึงตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง ไม่เอนเอียง เปรียบดังคันชั่ง
                        หลักำฐานที่เป็นทางการของคำว่าตระลาการก็คือบทพระไแอยการ ลักษณะตระลาการ พ.ศ.๑๐๕๘ (พ.ศ.๒๒๓๙ - ๒๒๔๐) ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาตามความเข้าใจในปัจจุบัน โดยยึดหลักของเดิมในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของบาลีเป็นหลัก ปรับปรุงให้เข้าลักษณะแห่งสังคมของกรุงศรอยุธยาในสมัยนั้น ๆ ได้ยกเอาหลักในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาตั้งไว้เป็นปฐมบทเช่นกล่าวถึงลักษณะผู้ที่จะเป็นตระลาการ  ๑๓/ ๘๐๑๖
                ๒๓๒๔. ตูมกา หรือตุมกา - ต้น  เป็นไม้ขนาดกลาง ลำต้นมักคดงอ สูง ๓ - ๘ เมตร  ใบแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกับรูปไข่อย่างกว้าง ยาว ๑๐ - ๑๓ ซม. กว้าง ๖ - ๘ ซม.
                        ช่อดอกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก ทรงแบบดอกมะลิ
                        ผลกลมโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ - ๘ ซม. เปลือกเลี้ยงสีเขียว       ๑๓/  ๘๐๒๒
                ๒๓๒๕. เต็ง - ต้น  เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๒๐ - ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ปลายมน ก้านใบสั้น ดอกเล็กสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลสีน้ำตาลอ่อน มีปีกยาวสามปีก ปีกสั้นสองปีก
                        เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แข็งเสี้ยนตรง หนักพอประมาณ ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเช่น เสา รอด ตง คาน ฯลฯ          ๑๓/  ๘๐๒๓
                ๒๓๒๖. เต้นรำ  คำนี้คนไทยหมายถึง เฉพาะการรื่นเริงสังสรรค์กันแบบหนึ่ง ซึ่งเอามาจากชาวตะวันตก ชายหญิงจะจับคู่กันเดินเยื้องย่าง ร่ายรำ หรือกระโดดเต้นไปตามเสียงดนตรีและตามจังหวะต่าง ๆ
                        ความสำคัญของการเต้นรำ อยู่ที่รูปแบบ ขบวนการและจังหวะของการก้าวเท้าเป็นใหญ่ มีการเคลื่อนไหวแขน และท่อนกายประกอบบ้างในบางแบบ
                        การเต้นรำนี้คงจะได้นำเข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมตะวันตกในรูปอื่น ๆ โดยเฉพาะดนตรีตะวันตก มีหลักฐานปรากฎว่า ได้มีการเต้นรำในสังคมชั้นสูงมาแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ แต่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป
                        ในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปนั้น การเต้นรำเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากการเริงระบำพื้นบ้าน และมากลายเป็นที่นิยมในสังคมชั้นสูงในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒       ๑๓/ ๘๐๒๔
                ๒๓๒๗. เตมีย์ - ชาดก  เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาชาดก มหานิบาตนั้นเป็นชาดก ที่กล่าวถึงพระเตมีย์ว่า เป็นพระโพธิสัตว์ นับเป็นพระเจ้าชาติที่หนึ่งในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ทรงบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมี และเนกขัมบารมี พระพุทธองค์ตรัสเทศนาชาดกเรื่องนี้     ๑๓/๘๐๒๘

                ๒๓๒๘. เตย   เป็นชื่อพันธุ์ไม้มีหลายชนิดด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วเป็นต้นที่เกิดเป็นกอก็มี เกิดโดดเดี่ยวก็มี มีใบเกิดเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาวสีเขียวหรือด่างเหลืองก็มี ม้วนแหลม มีหนามแข็งสั้นตลอดทั้งใบ เมื่อมีอายุประมาณสองปีขึ้นไป
                        พันธุ์ไม้ประเภทนี้แยกเพศกันอยู่คนละต้น ส่วนที่เป็นต้นตัวเมียเรียกกันว่า เตย ต้นตัวผู้เรียกว่าต้นเตยตัวผู้ก็มี ลำเจียกก็มี การะเกดก็มี
                        มีเตยอีกชนิดหนึ่งมีใบหอม ใช้ต้นปรุงกลิ่นให้หอมในการทำขนมบางชนิด เรียกกันว่า เตยหอม คำว่าปาหนันก็คงหมายถึงลำเจียกหรือเตยตัวผู้เหมือนกัน     ๑๓/  ๘๐๓๔
                ๒๓๒๙. เตลิงคน์  เป็นชื่อชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดียโบราณ ซึ่งได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งของชาวรามัญ เมื่อครั้งรามัญยังรวมกันเป็นประเทศเรียกว่า ประเทศมอญ
                        คำเตลิงน์นี้ นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่าเป็นที่มาของคำกลิงค์แล้วเพี้ยนมาเป็นตะเลง ซึ่งเป็นชื่อเรียกชนชาติมอญอีกชื่อหนึ่ง     ๑๓/  ๘๐๓๕
                ๒๓๓๐. เตลุคุ - ภาษา  บางทีเรียกว่า ไตลิงคะ อยู่ในภาษาตระกูลทราวิฑ เป็นภาษาที่ใช้พูดกันในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ในแคว้นกลิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นแคว้นโบราณแคว้นหนึ่งในอินเดีย     ๑๓/ ๘๐๓๖
                ๒๓๓๑. เต่า  เป็นสัตว์จำพวกหนึ่งซึ่งมีกระดองที่เป็นกระดูกแข็งหุ้มอยู่ภายนอกตัว กระดองเต่าแบ่งออกเป็นกระดองหลังและกระดองท้อง กระดองทั้งสองยึดต่อกันทางด้านข้างของตัว มีช่องว่างทางหัวท้ายสำหรับให้หัว หาง และขาทั้งสี่โผล่ออกมาได้
                        เต่าบกมีเกล็ดมากบนหัว มีกระดองหลังโค้งสูงกว่าเต่าน้ำ ขาทั้งสี่มักมีลักษณะกลมคล้ายกับเสา มีนิ้วตีนและเล็บสั้น แต่เต้าน้ำจืดมีหนังหนาคลุมบนหัว มักมีกระดองเตี้ย และมีขาแบนกว่า เพราะต้องใช้ขาว่ายน้ำ นิ้วตันและเล็บยาวและมีแผ่นผังผืดระหว่างนิ้วสำหรับว่ายน้ำด้วย ส่วนเต่าทะเลส่วนมากมีชีวิตในทะเลจะขึ้นบกบ้างก็ตอนวางไข่เท่านั้น ขาทั้งสี่ของมันจึงเปลี่ยนแปลงไปมากจนกลายเป็นคล้ายครีบปลา เต่าบกหางมักสั้น
                        เต่าทะเลต่าง ๆ เป็นสัตว์โบราณ ส่วนน้อยที่รอดพ้นและอยู่มาถึงสมัยปัจจุบัน การวางไข่จะใช้ครีบยันตัวเคลื่อนขึ้นมาบนหาดทราย ขึ้นไปจนถึงระดับน้ำทะเลเคยขึ้นถึง เลือกที่ได้แล้วก็ใช้ขาหลังขุดหลุมสำหรับวางไข่ เสร็จแล้วใช้ขาหลังกลบหลุมจนเสมอปากหลุม แล้วเสือกตัวไปมาเพื่อกลบหลุมพราง ไข่เต่าอาศัยความชื้น และความอุ่นของดิน ราว ๒ - ๓ เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัว และมักจะออกเป็นตัวพร้อม ๆ กันในคืนเดียวกัน ลูกเต่าจะรู้โดยสัญชาติญาณว่าทิศใดเป็นทะเล แล้วพากันคลืบคลานลงทะเลถ้าเป็นเวลากลางวัน นกนางนวลมักจะพาพวกมาคาบลูกเต่าไปกิน บางครั้งรอดตัวลงน้ำทะเลได้ไม่กี่ตัว และในทะเลลูกเต่าก็จะเป็นเหยื่อปลาใหญ่ ๆ อีกมาก
                        เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักราว ๗๕๐ กก. เต่ายักษ์ที่เป็นเต่าบกหนักราว ๒๕๐ กก. เต่าอาจอดน้ำอดอาหารได้เป็นเดือน เต่าตายยากกว่าสัตว์อื่น อาจเป็นเพราะเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น เต่าบางชนิด ผสมพันธุ์กันครั้งเดียว ตัวเมียวางไข่ที่สามารถฟักเป็นตัวได้ต่อไปถึง ๓ - ๔ ปี           ๑๓/  ๘๐๓๖
                ๒๓๓๒. เต๋า - ลัทธิ  เป็นชื่อศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของจีน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น เตียเต้าเล้งแห่งลัทธิเต๋า ได้เผยแพร่การลงยันต์และการใช้เวทมนต์คาถา ต่อมาผู้เป็นหลานยังได้ตั้งลัทธิผีสางขึ้นสั่งสอนประชาชน ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ปักงุ่ย โค้วเดียวจือ ได้ยกย่องเหลาตัน หรือที่เรียกกันเป็นสามมัญว่า เหลาจื๊อ ขึ้นเป็นศาสดา และเตียเต้าเล้งเป็นอัครมหาสาวก ชื่อศาสนาเต๋าจึงเริ่มมีขึ้นในสมัยนี้
                        ศาสนาเต๋ามีความสำคัญเคียงบ่าเคียงไหล่กับพุทธศาสนามหายานและศาสนาขงจื๊อ ในบางสมัยศาสนาเต๋าได้รับยกย่องให้เป็นรองจากศาสนาขงจื้อ แต่มีสถานะสูงกว่าพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถัง ศาสนาเต๋าได้รับยกย่องมาก เนื่องจากกษัตริย์ในราชวงศืนี้มีกำเนิดเดิมในสกุลแซ่ลี้ (หลีซีบิ๋น- เพิ่มเติม)  ซึ่งเป็นแซ่เดียวกับเหลาตัน ผู้เป็นศาสดาของเต๋า
                        ตำนานบางเล่มกล่าวว่า ศาสนาเต๋าที่แท้จริง มีกำเนิดในสมัยจักรพรรดิ์อั้งตี่ ส่วนเหลาจื้อนั้น ถือกันว่าเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง ซึ่งประมวลแนวปรัชญาของเต๋าไว้ คัมภีร์ในศาสนาเต๋ามีมากมายประมาณ ๙,๐๐๐ กว่าเล่ม ตำราแพทย์แผนโบราณของจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของเต๋า คัมภีร์ที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ เอียะเกีย ซึ่งบุนอ๋องเป็นผู้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์เซียง และขงจื้อเป็นผู้ทำอรรถาธิบายในกาลต่อมา
                        สำนักปฎิบัติเต๋ามีอยู่ทั่วไปในประเทศจีน นักพรตในศาสนาเต๋าทั้งชายและหญิง จะถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด และถือมังสวิรัตเป็นนิจศีล จุดหมายปลายทางของศาสนาเต๋า มีวิวัฒนาการในระยะหลังเป็นการแสวงหาอมตภาพ ผู้ที่สำเร็จจะกลายเป็นเทพยดาหรือเซียน วิธีที่บรรลุมีสองทางคือ วิธีภายนอก และวิธีภายใน วิธีภายนอกได้แก่การแสวงหาแร่ธาตุต่าง ๆ มาสกัดเป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนวิธีภายในได้แก่ การปฎิบัติสมาธิรวบรวมพลังงานต่าง ๆ ภายในร่างกายของตน ให้ได้เอกภาพ
                        เต๋า มีความหมายได้หลายอย่างที่สำคัญคือ เต๋า หมายถึง หลักการหรือเหตุผล เต๋า หมายถึง วิธี เต๋า หมายถึง หนทาง เต๋า หมายถึง ศีลธรรม และเต๋า หมายถึง ไท่เก็ก คือ สัจธรรม หรือสัจภาวะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปล ไม่แบ่งแยก ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เป็นเพียงปรากฎการณ์ซึ่งเป็นมายาเท่านั้น สัจภาวะไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยประสาทสัมผัส บุคคลธรรมดาจึงไม่อาจเข้าถึงเต๋าได้      ๑๓/  ๘๐๘๑
                ๒๓๓๓. เต๋า ๒ หรือ ต๋าว - ต้น  เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง เป็นปาล์มขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๒๐ เมตร  ใบมีลักษณะคล้ายขนนกขนาดใหญ่ ยาวถึง ๑๒ เมตร กว้าง ๓ เมตร มีสีเขียวเข้มติดอยู่ตอนบนของลำต้น ก้านใบใหญ่ ดอกเป็นช่อใหญ่ ลักษณะคล้ายดอกมะพร้าว ผลกลมภายในมีเมล็ดนิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาเชื่อม เรียกว่า ลูกชิด เส้นใยใช้ทำเชือก น้ำใช้ทำน้ำตาล แป้งที่ได้จากต้นต๋าวใช้ทำสาคู       ๑๓/ ๘๐๘๓
                ๒๓๓๔. เต่าเกียด  เป็นชื่อพันธุ์ไม้สองชนิด เป็นไม้ล้มลุกหัวอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอมขึ้นเป็นกอ คล้ายพวกบอน ใบเป็นรูปหัวใจ ก้านใบยาวเป็นกาบ ดอกออกเป็นแท่งกลมยาว มีกาบหุ้มเช่นเดียวกับดอกหน้าวัว หรือดอกบอน
                        เต่าเกียด ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ และใช้เป็นสมุนไพร ส่วนที่เป็นยาคือ หัวใช้ปรุงเป็นยาบำรุง และรักษาโรคเกี่ยวกับตับ และแก้ไขเชื่องซึม      ๑๓/  ๘๐๘๔
                ๒๓๓๕. เต่าทอง  เป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งมีลำตัวแบนทางด้านล่างโค้งเป็นหลังเต่า ทางด้านบนปีกมีลักษณะใส เพราะเหตุที่แผ่นปีกใส จึงมองเห็นเม็ดสีของลำตัวได้ชัดเจน เม็ดสีนี้เมื่อสะท้อนแสง จะเป็นสีเงินสีทอง หรือสีผสมระหว่างเงิน กับสีทอง หรือสีเหลือบอื่น ๆ พวกที่เห็นเป็นสีเงิน ก็เรียกว่า เต่าเงิน พวกที่วมีสีทองก็เรียกว่า เต่าทอง ส่วนที่มีสีผสมเงินกับทอง ก็เรียก เต่าเงินเต่าทอง และเพราะเหตุที่มีปีกแผ่นแข็ง และใสเหมือนแก้ว จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เต่าแก้ว        เล่ม ๑๓/  ๘๐๘๔
                ๒๓๓๖. เต่าบ้า  เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง เป็นแมลงมีพิษ เมื่อคนกินเข้าไปจะมีอาการเกร็งชัก และถึงตาย ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แมงไฟเดือนห้า เพราะสีลำตัวมีสีแดงสลับอยู่คล้ายสีไฟ เมื่อไปจับตัวสารพิษ ที่ติดตามปีก และลำตัวจะออกฤทธิ์ ทำให้มือพองคล้ายถูกไฟ หรือน้ำร้อนลวก และเพราะเหตุที่แมงชนิดนี้มีชุกชุมในฤดูแล้งคือ เดือนห้า จึงได้ชื่อดังกล่าว     ๑๓/ ๘๐๘๖
                ๒๓๓๗. เต่ารั้ง หรือเต่าร้าง  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ พวกปาล์มชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ๆ หรือเป็นกอ สูง ๕ - ๔๐ เมตร ลำต้นเป็นปล้อง ๆ คล้ายไม้ไผ่ เนื้อในเป็นเสี้ยน ใส้กลางลำต้นจะอ่อนแล้วค่อย ๆ แข็ง จนแข็งที่สุดเมื่อใกล้เปลือก ใบจะแผ่เป็นรูปครีบ หรือหางปลาจำนวนมาก ช่อดอกออกตามง่ามใบเป็นพวงใหญ่ ห้อยย้อยลงมา ยาว ๒๐ ซม. - ๒ เมตร ดอกสีเหลืองอ่อน ๆ ผลกลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแกจัดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถึงแดงคล้ำ
                       เต่ารั้ง จะมีช่อเริ่มตั้งแต่ปลายต้นลงมา เมื่อออกช่อสุดท้าย ต้นจะหมดอายุตายใบ       ๑๓/  ๘๐๘๘
                ๒๓๓๘. เตียบ  เป็นตะลุ่มปากกว้าง ที่มีฝาชีปิดสำหรับใส่กับข้าว โดยมากมักใส่กับข้าวถวายพระ ทำเป็นอย่างชนิดลงรักเกลี้ยง โอก็มี ประดับมุกก็มี ทำด้วยทองเหลืองก็มี         ๑๓/ ๘๐๙๐
                ๒๓๓๙. เตียวเพชร  เป็นชื่อวานร จำพวกหนึงในเรื่องรามเกียรติ์ โพกผ้าตะบิด แบ่งออกเป็นสองเหล่าคือ เหล่าขีดขิน และเหล่าชมพูนคร เรียกกบี่ขีดขิน และกบี่ชมพู มีเก้าตัว เป็นชาวขีดขินเจ็ดตัว ชาวชมพูหนึ่งตัว ไม่ปรากฎว่าเป็นชาวไหนหนึ่งตัว      ๑๓/
       ๒๓๔๐. เตียวเสี้ยน  เป็นชื่อนางผู้มีหน้าที่ฟ้อนรำ ขับร้องของอ้องอุ้น ในปลายสมัยราชวงศ์ตั่งฮั่น ในตอนแรกอ้องอุ้น แกล้งยกเตียวเสี้ยนให้ลิโป้  แต่ต่อมากลับส่งนางให้ตั๋งโต๊ะ เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง ลิโป้จึงสังหารตั้งโต๊ะเสีย แล้วชิงนางคืนมาเป็นของตน แผนการกำจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน จึงบรรลุผลสำเร็จเพราะอาศัยเตียวเสี้ยน       เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๕
                ๒๓๔๑. เตียวหุย  เป็นเพื่อนร่วมสาบานกับเล่าปี่ และกวนอู ในสมัยสามก๊ก เป็นผู้เก่งกล้าสามารถในการรบมาก จนได้ชื่อว่า เป็นขุนศึกผู้สามารถสู้รบได้หมื่นคน
                        เตียวหุย เป็นคนมุทะลุดุดัน เคารพยกย่องสุภาพชนผู้มีคุณธรรม และดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่ำต้อยด้วยธรรม
                        มิตรภาพของบุคคลทั้งสามถือเป็นแบบฉบับ สำหรับชาวจีนในการคบเพื่อนร่วมสาบาน ในสมัยต่อมา           เล่ม ๑๓/
               ๒๓๔๒. เตียวเหลียง  เป็นชื่อบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในปลายราชวงศ์ถัง ต้นราชวงศ์ฮั่นของจีน เตียวเหลียงได้ฉายาว่า เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ฮั่น อีกสองคนคือ เซียวฮ้อ และหั่งสิ่ง บรรพบุรุษของเตียวเหลียงได้เป็นเสนาบดีของรัฐฮั้ง ต่อมารัฐฮั้งถูกรัฐจิ๋นตีแตก เตียวเหลียงจึงมุ่งมั่นจะแก้แค้นให้รัฐของตน พยายามจะลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่ไม่สำเร็จ จึงหลบหนีไปศึกษายุทธศาสตร์จากอึ้งเจี๊ยะกง เขาได้รับมอบตำราพิชัยสงครามของเจียงจูแหย ผู้เป็นกุนซือของพระเจ้าบูอ๋อง แห่งราชวงศ์จิว
                        ต่อมาเตียวเหลียงได้ช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจปราบศัตรูในแผ่นดินจนหมดสิ้น ตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครองประเทศจีน ในปัจฉิมวัยเขาได้ไปศึกษาลัทธิเต๋า เมื่อสิ้นชีพแล้วกษัตริย์ได้สถาปนาให้เป็นบุ้งเซ้ง
                ๒๓๔๓. แต้ - ค่า  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร ใบเป็นใบประกอบด้านหนึ่งมี ๒ - ๓ คู่ ใบป้อม ๆ แกมรูปไข่กลับ ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามใบกิ่ง ผลเป็นฝักป้อมแบน ๆ มีหนามแข็งงองุ้มประปราย ผลอ่อนมีรสฝาดใช้บริโภคได้ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ แข็งแรงทนทานมาก ใช้ทำเครื่องมือกสิกรรมที่ต้องรับน้ำหนักและความเสียดสีมาก ๆ ได้ดี            เล่ม ๑๓/ ๘๐๙๘
                ๒๓๔๔. แตง  เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาอ่อนมีมือ มีขนขึ้นคลุมตามลำเถา ใบเป็นรูปฝ่ามือ มีดอกแยกเพศกัน ผลมีเปลือกเหนียวแข็ง เนื้อในตอนที่หุ้มไส้กลางมีน้ำมากและมีเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อนั้นได้แก่ แตงกวา แตงร้าน แตงไทย แตงหนู และแตงโม       เล่ม ๑๓/  ๘๐๙๘
                ๒๓๔๕. แต่งงาน  เป็นคำที่ใช้พูดกันเป็นสามัญในภาคกลาง หมายถึงทำพิธีให้บ่าวสาวอยู่กันเป็นผัวเมียกัน คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันคือมีเรือน มีครอบครัว
                        เดิมเรียกพิธีแต่งงานเป็นสองอย่างว่าวิวาหมงคลและอาวาหมงคล ถ้าทำพิธีแต่งงานโดยฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายเรียกว่าอาวาหมงคล ถ้าฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงเรียกว่าวิวาหมงคล ต่อมาเปลี่ยนใช้ว่างานมงคลสมรส       เล่ม ๑๓/  ๘๐๙๘
                ๒๓๔๖. แต้จิ๋ว  เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีอำเภอที่ขึ้นจังหวัดนี้อยู่ ๙ อำเภอ จังหวัดแต้จิ๋วเริ่มสถาปนาขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เดิมเรียกว่า น่ำอ๊วก มาเจริญรุ่งเรืองสมัยราชวงศ์ถัง
                        ชาวแต้จิ๋ว เป็นชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากที่สุด       เล่ม ๑๓/ ๘๑๐๔
                ๒๓๔๗. แตน  เป็นแมลงประเภทเดียวกับตัวต่อ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือมีลำตัวยาวตั้งแต่ ๑.๕ ซม.ลงมา การเรียกชื่อต่อและแตนจึงปะปนนกันไป นอกจากนี้การเรียกชื่อของแตนมักอาศัยขนาดของรัง เช่นแตนที่ทำรังเล็กขนาดกองขี้หมาก็เรียกแตนขี้หมา แตนที่กำลังขนาดโตขึ้นมาหน่อย หรือขนาดกลางของแตนทั่ว ๆ ไป ก็เรียกว่า แตนกล้า ถ้าทำรังใหญ่ขนาดลูกมะพร้าวก็เรียกว่า แตนลาม ซึ่งความจริงแตนลามนั้นอาจจะเป็นต่อหลวงไปแล้วก็ได้   เล่ม ๑๓/ ๘๑๐๔


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch