หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/54

    ๒๒๗๘. ตานี - กล้วย  เป็นทั้งกล้วยป่า และกล้วยปลูก ใบมีความเหนียวกว่าใบกล้วยธรรมดา ส่วนผลนั้นเต็มไปด้วยเมล็ด
                        มีเรื่องเกี่ยวกับต้นกล้วยตานี คือ พรายตานี และโดยเหตุนี้ชาวบ้านจึงไม่กล้าปลูกกล้วยตานีไว้ใกล้เรือน ถ้าจะตัดเอาใบตองไปใช้ ก็ห้ามไม่ให้ตัดเอาใบทั้งใบ ต้องเจียนเอามาแต่ใบตองเท่านั้น เพราะถ้าตัดเอาเข้ามาในเรือนทั้งใบ ถือเป็นลาง เห็นจะเนื่องจากคติเดิมที่ใช้ใบตองกล้วยตานีสามใบ รองก้นโลกศพ
                        กล้วยตานี ถ้าคราวออกปลี จะมีพิธีพลีพรายนางตานี ขอให้คุ้มครองรักษาคนในบ้าน และให้มีลาภ ถ้ากล้วยตานีที่ทำพิธีเซ่นวักแล้ว ออกปลีกกลางต้น ก็ถือว่ากล้วยตานีนั้น เกิดมีพรายตานีขึ้นแล้ว        ๑๓/  ๗๙๑๐
                ๒๒๗๙. ตาบ  เป็นชื่อเครื่องประดับอย่างหนึ่งในชุดพระเครื่องต้นของกษัตริย์และเครื่องแต่งตัวละครรำตัวพระ ตาบมีรูปเป็นสี่เหลี่ยมบางทีก็จตุรัส บางทีก็เป็นรูปขนมเปียกปูน ประดับด้วยเพชรพลอยต่าง ๆ โดยมากมักทำเป็นชั้นซ้อน ๆ กันสามชั้น มีขนาดเล็กลงตามลำดับ
                        โดยปรกติตาบจะติดอยู่กับสายสังวาลตรงด้านข้าง ซึ่งห้อยอยู่ตรงบั้นเอวทั้งขวาและซ้าย กับที่สังวาลไขว้ประสานกันตรงกลางหลังอีกอันหนึ่ง มักเรียกกันว่า "ตาบทิศ" ยังมีเครื่องประดับอีกอันหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดเดียวกัน ห้อยประดับอยู่ด้านหน้าตรงหน้าอกเรียกว่า "ทับทรวง" มีรูปร่างลักษณะเดียวกับตาบ แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีชั้นเชิงมากกว่า แต่การประดับมักจะต้องเป็นชุดเดียวกันกับตาบ ในบทละครตอนแต่งตัวมักจะกล่าวเครื่องประดับทั้งสองอย่างนี้ติดกันเป็น "ตาบทิศทับทรวง"     ๑๓/  ๗๙๑๔
                ๒๒๘๐. ตาปนนรก  เป็นชื่อนนรกใหญ่ขุมที่หก ในบรรดานรกใหญ่แปดขุม ตั้งอยู่ภายใต้ถัดจากมหาโรรุวนรกลงไป ที่เรียกว่าตาปนนรก เพราะมีความร้อนอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากถ่านเพลิงและเปลวเพลิง มีสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีฝาผนังเหล็ก ภายในสะพรั่งไปด้วยหลาวเหล็กเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ พวกนายนิรยบาลคอยจับสัตว์นรก ยกขึ้นเสียบไว้บนปลายหลาวเหล็กนั้น ไฟจากแผ่นดินจะลุกเป็นเปลวสูงขึ้นไปไหม้ร่างกายสัตว์นรก เมื่อตัวสัตว์นรกสุกดีแล้วประตูนรกทั้งสี่ด้านระเบิดออก สุนัขนรกมีฟันเป็นเหล็กพากันเข้าไปกัดกินเนื้อจนเหลือแต่กระดูก สัตว์นรกตายไปแล้ว ครั้นต้องจมนนรกก็กลับเป็นร่างกายขึ้นมา แล้วเข้าวงจรดังกล่าวข้างต้นกำหนดนานได้ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก          ๑๓/  ๗๙๑๖
                ๒๒๘๑. ตาปลา  เป็นผิวหนังที่เกิดการกระด้างหนาขึ้น พบบ่อยที่นิ้วก้อยของเท้าคนหรือส่วนที่ยื่นออกมากของเท้า ซึ่งจะถูกกดหรือเสียดสีบ่อย ๆ ผิวหนังส่วนนี้มีลักษณะหนาด้าน รูปร่างกลม มีลักษณะเป็นรูปกรวยฐานอยู่นอก ยอดอยู่ใน
                        ตาปลานี้อาจมีการอักเสบติดเชื้อแล้วกลายเป็นฝีมีหนองได้ ตาปลาอาจหายได้เองทีละน้อย ๆ ถ้าเอาสาเหตุที่ทำให้เป็นออกไป       ๑๓/ ๗๙๑๗
                ๒๒๘๒. ตาปี  เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในปักษ์ใต้ บางทีเรียกว่าแม่น้ำบ้านดอน เดิมเรียกว่า แม่น้ำหลวง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นแม่น้ำตาปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ยอดน้ำเกิดจากเขาใหญ่ยอดต่ำ ไหลไปทางเหนือ ไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ ของ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี แล้วไปออกทะเลใน ต.บางกุ้ง อ.เมืองสุวราษฎร์ธานี มีความกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๒๓๒ กม. มีน้ำตลอดปี ปากน้ำมีสันดอน ตอนปากอ่าวมีทางแยกไป อ.กาญจนวดิษฐ์ เรียกว่า คลองท่าทอง ครั้งโบราณพวกอินเดียเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูที่ตะกั่วป่า ข้ามเขามาลงแม่น้ำตาปี      ๑๓/ ๗๙๑๙
                ๒๒๘๓. ตาพระยา  อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเขมร  ภูมิประเทศเป็นป่าเขา
                        อ.ตาพระยา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.อรัญประเทศ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖         ๑๓/ ๗๙๒๑
                ๒๒๘๔. ตาไฟ - ฤาษี  เป็นชื่อฤาษีตนหนึ่งคู่กับฤาษีตาวัว ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เมืองศรีเทพในสมัยโบราณ เมื่อครั้งนับถือศาสนาพราหมณ์ร้างไป เนื่องจากคนต้องตายเพราะเสียรู้ศิษย์ผู้ไม่ทำตามสัญญา แต่ฤาษีตาวัวไปพบจึงเอาน้ำไปรดศพให้ฟื้นคืนชีวิต แล้วแก้แค้นลงโทษศิษย์ตลอดจนประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในเมือง โดยนิมิตวัวกายสิทธิ์เข้าไปปล่อยไอพิษร้ายออกมาทำลายจนตายหมด    ๑๓/  ๗๙๒๑
                ๒๒๘๕. ตามใจท่าน  ชื่อบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากบทละครภาษาอังกฤษของเชกสเปียร พระองค์เริ่มทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เสร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ บทพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้วสลับกับกลอน มีกาพย์ ร่าย และโคลง แทรกในบางตอน
                        ความดีเด่นของบทละครเรื่องตามใจ ท่าน มิได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่สำนวนโวหารอันไพเราะ น่าฟัง ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความสุขในความสันโดษ ตลอดจนคารมกล้าของตัวละคร      ๑๓/  ๗๙๒๓
                ๒๒๘๖. ตามพปัณณี  เป็นชื่อหนึ่งของประเทศศรีลังกา ในสมัยเริ่มแรกถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีดินร่วนมีสีแดง เมื่อเจ้าชายวิชัยผู้เป็นบรรพบุรุษของศรีลังกาดั้งเดิม แล่นเรือมาขึ้นบกแล้วพัก ณ ที่ตรงนั้น เอาฝ่ามือเท้าพื้นดิน ปรากฎว่าฝ่ามือทุกคนมีสีแดง ที่ตรงนั้นจึงมีชื่อว่าตำบลตัมพยัณณี แปลว่าตำบลแห่งคนมีฝ่ามือแดง      ๑๓/  ๗๙๒๔
                ๒๒๘๗. ตามพรลิงค์  เป็นชื่ออาณาจักรโบราณในภาคใต้ของไทย ในเอกสารของลังกา ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๕ เรียกแคว้นนี้ว่า ตามลิงคัม ฉบับแปลครั้งแรกในพุทธศตววรรษที่ ๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ เรียกแคว้นนี้ว่า ตามลิงโคมุ
                        อาณาจักรตามพรลิงค์ บางท่านว่า อยู่บริเวณเมืองนครศรีธรรมราช บางท่านว่าตั้งอยู่ระหว่างไชยากับปัตตานี ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ลงความเห็นว่า เมืองหลวงของตามพรลิงค์อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยอ้างจารึกที่วัดหัวเวียง อ.ไชยา จ.สุราษฎณ์ธานี ซึ่งมีความว่า "พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์... "ทรงพระนามศรีธรรมราช" อีกตอนหนึ่งว่า "ทรงพระนามจันทรภาณุ ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค ๔๓๓๒..."
                        ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า ตัน - มา - ลิง บางท่านเข้าใจว่าหมายถึงนครศรีธรรมราชหรือไชยา จดหมายเหตุของพระภิกษุอิจิง ได้กล่าวถึงอาณาจักรตามพรลิงค์ไว้ว่า ผู้ครองอาณาจักรตันมาลิงนี้เรียกว่า เสียงกุ่ง รอบเมืองนี้มีกำแพงเสาพะเนียดหนาประมาณ ๖ ฟุต ถึง ๗ ฟุต สูงกว่า ๒๐ ฟุต (หน่วยน่าจะเป็นศอก ในภาษาจีน - เพิ่มเติม) ซึ่งสามารถใช้ในการรบพุ่งได้ ชาวเมืองขี่ควาย เกล้ามวยผมไว้ข้างหลัง เดินเท้าเปล่า บ้านของขุนนางสร้างด้วยไม้ ส่วนบ้านของชาวเมืองนั้นเป็นกระท่อมไม้ไผ่ มีฝากั้น ทำด้วยใบไม้ ขัดด้วยหวาย
                        อาณาจักรตามพรลิงค์ ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗
                        ตามจารึกของพระเจ้าราเชนทรโจฬะ (พ.ศ.๑๕๗๓ - ๑๕๗๔)  พบที่ตันโจร์ ประเทศอินโดนิเซีย กล่าวว่าทรงกรีธาทัพมาตีได้เมืองมาทมาลิงคัม (ตามพรลิงค์ )
                        กษัตริย์อาณาจักรตามพรลิงค์องค์สำคัญคือ พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงกรีธาทัพไปตีลังการวมสองครั้ง กองทัพของพระองค์มีชาวทมิฬรวมอยู่ด้วย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ ทรงยกทัพขึ้นบกที่ภาคใต้ของลังกา ถูกทัพเจ้าวีรพาหุ ตีแตกพ่ายต้องถอยกลับมา ครั้งที่สองระหว่างปี พ.ศ.๑๘๐๑ - ๓ ทรงยกพลขึ้นบกที่มหาติตถะ แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ทัพลังกา ซึ่งมีเจ้าชายวีรพาหุ และเจ้าชายวิชัยพาหุ เป็นแม่ทัพ
                        พระเจ้าจันทรภาณุได้ทรงชักจูงให้ชาวทมิฬเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตามพรลิงค์ จึงมีชาวทมิฬเข้ามาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยมากขึ้น นับแต่นั้นมา
                        ในยามสงบ ศรีลังกากับตามพรลิงค์มีความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนา พระเจ้าปรากรมพาหุได้ส่งสิ่งของ โดยมีศาสนวัตถุสำคัญรวมอยู่ด้วยมาถวายพระเจ้าจันทรภาณุ เพื่อขอให้นิมนต์พระธัมกิตติเถระไปที่ประเทศศรีลังกา หนังสือชินกาลบาลีปกรณ์กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๑๗๙๙ มีเจ้าผู้ครองศิริธัมมนคร ทรงพระนามว่า สิริธรรมราช ด้วยโรจราช (พระร่วง ผู้ครองเมืองสุโขทัยได้ทรงส่งทูตานุทูตไปลังกา เพื่อขอรับพระพุทธสิงหิงค์
                        ตามพรลิงค์นี้ เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๓๑๘ - พ.ศ.๑๗๗๓  ในปี พ.ศ.๑๗๗๓ พระเจ้าจันทรภาณุตั้งแข็งเมืองไม่ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัย แต่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย       เล่ม ๑๓/ ๗๙๒๕
                ๒๒๘๘. ตามรลิปติ, ตามลุก  เคยเป็นเมืองท่าเรือตะวันออกของประเทศอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในแคว้นเบงกอล เดิมเป็นเมืองโบราณมาแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๙๓
                        เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียน ก็ลงเรือกลับประเทศจีนที่เมืองนี้ ต่อมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลวงจีนอิจิง ก็ลงเรือที่เมืองเดียวกันนี้กลับประเทศจีน
                        จดหมายเหตุจีนเรียกเมืองนี้ว่า ตัน โฆ ลิ ติ        ๑๓/ ๗๙๒๘
                ๒๒๘๙. ตารกาสูร - ท้าว  เป็นแทตย์ หรืออสูรตนหนึ่ง ผู้ครองตรีปุระ ซึ่งในหนังสือรามเกียรติ์ว่า ท้าวตรีบูรัม เป็นผู้มีฤทธิ์มาก ไม่มีใครปราบได้ นอกจากโอรสพระศิวะ ซึ่งเกิดจากนางบารพตี คือ พระขันทกุมาร (ดู ขันทกุมาร ลำดับที่ ๗๑๔ ประกอบด้วย)      ๑๓/  ๗๙๒๙
                ๒๒๙๐. ตาราง - เหลี่ยม  เป็นคำใช้ในมาตราวัดพื้นที่ หรือเนื้อที่ในภาษาไทย หมายถึง ลักษณะที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า มีมุมเป็นมุมฉาก หรืออะไรที่ขัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าเหล่านี้ เรียกกันว่า "ตา" บ้าง "ตะราง" บ้าง "ตาราง" บ้าง และ "ตาตะราง" บ้าง มีที่ใช้ดังนี้
                       ตา  เช่น ตาหมากรุก ตาข่าย ผ้าตา
                       ตะราง  แปลว่า ไม้ที่ขัดเป็นช่องห่าง ๆ  และหมายถึง ที่สำหรับขังนักโทษ คำว่า ตาราง จะใช้ในมาตราวัดเนื้อที่เมื่อไร ไม่ทราบแน่ แต่มีเค้าอยู่ทางหนึ่ง  ซึ่งเช้าใจว่าจะเกิดคำว่า ตะราง และเรียกว่า ตารางเหลี่ยม ขึ้นก่อน คงจะมีความประสงค์ให้หมายถึง ตารางที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า มุมเป็นมุมฉาก ให้ชัดเจนขึ้น
                            ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด บัญญัติให้ใช้วิธีเมตริก มาตราวัดพื้นที่แบบเมตริก ให้เทียบกับมาตราไทย ดังนี้
                                 ๑ ไร่ = ๑,๐๐๐  ตารางเมตร  ๑ งาน = ๔๐๐  ตารางเมตร   ๑  ตารางวา = ๔ ตารางเมตร        ๑๓/ ๙๗๓๑
                ๒๒๙๑. ตาร้าย  มีคำนิยามว่า  "เรียกผู้ที่มองดูคนอื่นแล้ว ถือว่าให้โทษแก่คนนั้น ที่เดือดร้อน"  เฉพาะความหมายแรกตรงกับคดิความเชื่อถืออย่างหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้วในกฎหมายเก่าของไทน ใช้คำว่า ดูร้าย
                        ด้วยเหตุนี้ คนแต่ก่อนเวลาจะชมเด็ก จึงมักพูดให้เห็นตรงกันข้ามเสีย เช่น จะชมว่าเด็กนี้น่ารัก ก็ต้องพูดว่าเด็กนี้น่าชัง จะพูดว่าสวย เป็นขี้เหร่ เป็นต้น       ๑๓/ ๗๙๓๖
                ๒๒๙๒. ตาล - ต้น  เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า "โตนด ตาลโตนด ตาลใหญ่ ตาลนา (กลาง)"
                        ต้นสูง ๒๐ - ๓๐ เมตร มีรอยควั่นรอบ ๆ เนื่องจากรอบแผลใบเก่า แบบต้นมะพร้าว ต้นตาลมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย อยู่แยกคนละต้น จะรู้ว่าต้นใดเป็นต้นตัวผู้ หรือต้นตัวเมืย เมื่อเริ่มมีดอกซึ่งเป็นเวลาสิบปี
                        ใบใหญ่ แข็งแรง ก้านใบยาว ๑ - ๑.๒๐ เมตร ตามแนวขอบก้านใบมีหนามสั้น ๆ สีดำ ตัวใบรูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เมตร มีเส้นใบจำนวนมาก แยกเป็นรัศมี จากจุดปลายก้านไปสู่ขอบใบ ขอบใบเป็นจักแหลม
                        ช่อดอก ออกตามง่ามใบเป็นช่อสั้น ๆ มีหลายแขนง ก้านกลม ช่อดอกตัวผู้ประกอบด้วย กาบดอกเป็นเกล็ดซ้อนกันแน่น รอบก้านดอก ดอกตัวผู้เล็กมาก ดอกตัวเมียออกที่ปลายช่อ รูปกลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม.
                        ผลใหญ่ กลมโต วัดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐ ซม. ยาวราว ๑๕ ซม. ผิวเปลือกเกลี้ยงไม่มีขน เวลาสุกกลิ่นแรง เนื้อสีเหลือง นิยมเอาไปคั้นเอาน้ำทำขนมเรียกว่า ขนมตาล เมล็ดมี ๑ - ๓ เมล็ด ผิวนอกแข็งมาก มีขนหรือใบยาวติดรุงรัง เวลาผลตาลยังอ่อนอยู่ เมล็ดนี้มีสภาพอ่อนมาก และคนนิยมกินสด เวลาผลแก่ก็ใช้เนื้อภายในเมล็ดที่เรียกว่า จาวตาล เชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน
                       ต้นตาล ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ใบมุงหลังคาชั่วคราว ใช้สานทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เนื้อไม้จากต้นแก่แข็งมาก ใช้ทำสากและครก ตลอดจนของใช้ประจำบ้านอื่น ๆ
                        เวลาออกดอก ชาวบ้านใช้มีดปาดก้านช่อดอก รองเอาน้ำหวานไปเคี่ยวทำน้ำตาลพื้นเมืองเรียกว่า น้ำตาลปึก น้ำตาลหม้อ น้ำตาลสด ถ้าหมักและใส่สมุนไพรบางอย่างก็จะกลายเป็น น้ำตาลเมา หรือกระแช่
                ๒๒๙๓. ตาลปัตร  เป็นพัดใบตาลที่มีด้ามยาวสำหรับพระใช้ หนังสือเก่าใช้ว่าตาลิปัตร ปัจจุบันยังหมายถึงพัดยศและพัดรองสำหรับที่พระสงฆ์ใช้ ในความหมายหลังนี้มักใช้ว่าพัดเป็นส่วนมาก
                        ตาลปัตร แปลตามพยัญชนะว่าใบตาล หรือใบลาน ที่ใช้เป็นพัดก็ทำด้วยใบตาล หรือใบลานจริง ๆ มีใช้กันมานานแล้ว เข้าใจว่าคงมีมาก่อนพุทธกาล
                        ในหนังสือสมันตปาสาทิกา อรรถกถา วินัยปิฎก ภาค ๑ เล่าถึงการใช้พัดนอกเหนือไปจากการใช้รำเพยลมว่า พระใช้บังหน้าบังตาเวลาแสดงธรรม หรือสวดธรรมด้วย
                        เรื่องตาลปัตรนี้ พระสงฆ์คงใช้เป็นประจำเท่ากับเป็นบริขารอย่างหนึ่ง ชาวบ้านปรารถนาบุญกุศลก็ทำถวายพระ พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้หามาถวายพระบ้าง เมื่อเป็นของพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสิ่งนั้นก็กลายเป็นเครื่องยศ หรือเครื่องประดับยศ          ๑๓/ ๗๙๔๑
                ๒๒๙๔. ตาลปัตรยายชี  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่งลอยอยู่ตามคูหรือแอ่งน้ำนิ่ง ที่ค่อนข้างตื้น ลำต้นคงเป็นเหง้าเล็ก จมอยู่ในโคลนแล้วส่งใบขึ้นเหนือผิวน้ำ ก้านใบยาว ตัวใบแบนใหญ่ขนาด ๑๐ - ๑๕ ซม. รูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อคล้ายก้านใบ        ๑๓/  ๗๙๔๘
                ๒๒๙๕. ตาลปัตรฤษี ๑ - กล้วย  กล้วยพัด กล้วยลังกาก็เรียก เป็นพันธุ์ไม้ประดับที่ปลูกกันมาก ลำต้นคล้ายต้นมะพร้าวหรือปาล์ม เนื้อแข็ง อยู่ได้นานปี มีหน่อ ใบคล้ายใบกล้วยธรรมดา  แต่ทั้งก้านและใบยาวกว่า ออกเป็นแถวตั้งเดี่ยวที่ปลายลำต้น ทำนองพัดคลี่ โคนก้านใบซ้อนทับกันแน่น ทำให้เกิดเป็นซอง      ๑๓/  ๗๙๔๙
                ๒๒๙๖. ตาลปัตรฤษี ๒  เป็นพิ้นบ้านที่ใช้เรียกของป่าชนิดหนึ่ง เป็นส่วนที่เกิดเมล็ดของพันธุ์พืชจำพวกปรง และมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพัด หรือตาลปัตรยอดแหลมที่พระสงฆ์ถือ        ๑๓/ ๗๙๔๙
                ๒๒๙๗. ตาลี  เป็นชื่อเมืองในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ริมทะเลสาบเออร์ไห ซึ่งมีความยาวกว่า ๑๖๐ กม. กว้างประมาณ ๓๒ กม. ตัวเมืองตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเออร์โห มีชัยภูมิมั่นคงมาก เพราะตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบกับภูเขา ช่องเขาซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่ตัวเมือง จึงง่ายต่อการป้องกัน เดิมเป็นเมืองเล็กของชนหมู่น้อยกลุ่มหนึ่งชื่อโหมัน และมีชื่อเดิมว่าชิตัน จักรพรรดิ์วู่ตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่นส่งทหารเข้าตีเมืองนี้และยูนนานทั้งหมดได้ เมื่อปี พ.ศ.๔๓๔ แต่ไม่ได้ดำเนินการปกครองดินแดนเหล่านี้อย่างจริงจัง
                        ในสมัยที่พระเจ้าพีล่อโก๊ะ เริ่มแผ่ขยายอาณาเขต สามารถขับไล่พวกโหมันออกไปจากเมืองนี้ได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๒๘๐ และให้สร้างเมืองตาลีขึ้นใหม่ พระเจ้าโก๊ะล่อฝง สามารถต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ของกองทัพจีนได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๒๙๔ - ๑๒๙๗ ทหารจีนถูกทหารน่านเจ้าฆ่าตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ถึงกับโปรดให้จารึกชัยชนะครั้งนี้ลงในหินอ่อน และให้สร้างที่ฝังศพทหารจีนใกล้เมืองตาลี
                        กุบไลข่าน ตีเมืองตาลีได้ในปี พ.ศ.๑๗๙๖ และนับเป็นครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน เข้าไปรวมกับอาณาจักรจีนอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันสถานที่ตั้งเมืองตาลีโบราณเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ยังมีซากป้อมและกำแพงสร้างด้วยอิฐปนดินปรักหักพังอยู่       ๑๓/ ๗๙๕๐
                ๒๒๙๘. ตาเหลือก - ปลา  ครั้งแรกปลาตาเหลือกอยู่ในทะเลและได้เข้ามาในน้ำจืดของเมืองไทย ตามลำน้ำสายล่างของลำน้ำใหญ่       ๑๓/  ๗๙๕๑
                ๒๒๙๙. ตำบล  ชื่อหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาค ที่รวมหมู่บ้านหลายหมู่บ้านเข้าด้วยกัน มีฐานะใหญ่กว่าหมู่บ้าน แต่เล็กกว่าอำเภอ มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง ตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ บัญญัติว่าบ้านหลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่งให้จัดเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณคือ ถ้ามีคนอยู่รวมกันมากถึงจำนวนบ้านน้อย ก็ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญ ราว ๒๐๐ คน เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนจะน้อยถ้ามีบ้านไม่ต่ำกว่า ๕ บ้าน แล้วจะจัดเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้
                        ส่วนตำบลบัญญัติไว้ว่า หลายหมู่บ้านรวมกันราว ๒๐ หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบลหนึ่ง      ๑๓/ ๗๙๕๓
                ๒๓๐๐. ตำแย  เป็นจำพวกผักล้มลุก สูงประมาณ ๒๐ - ๕๐ ซม. มีขนตามลำต้นและใบ ซึ่งถูกเข้าแล้วคันและเป็นผื่นตามผิวหนัง มีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป และชอบที่ชื้น
                        ใบแบบใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปใบเป็นรูปไข่ กว้าง ๕ - ๗ ซม. ยาว ๗ - ๑๐ ซม.
                        ช่อดอก เรียวยาว ๒ - ๘ ซม. ออกตามง่ามใบ ดอกเล็กสีเขียว ออกติดกันเป็นกระจุก เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ผลเล็กมาก
                        นอกจากตำแยตัวเมียดังกล่าวแล้ว ยังมีตำแยแมว ตำแยตัวผู้ (กลาง) และตำแยช้าง       ๑๓/  ๗๙๕๔
                ๒๓๐๑. ตำรวจ  หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตรา และรักษาความสงบ จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
                        คำว่าตะรวจสันนิษฐานว่า คงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาได้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็นสี่เหล่าเรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา ให้มีการตำรวจขึ้นด้วย โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก เป็นผู้บังคับบัญชา มีการตรวจตราศักดินา ข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่าง ๆ ไว้ในบทพระอัยการคือ
                         ตำรวจภูธร  หลวงวาสุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูธร ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนพิษณุแสน ปลัดขวา ศักดินา ๖๐๐ ขุนเพชรอินทรา ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
                         ตำรวจภูบาล  หลวงเพชรฉลุเทพ เจ้ากรมมหาดไทย ตำรวจภูบาล ศักดินา ๑,๐๐๐ ขุนมหาพิชัย ปลัดขวา ศักดินา ๖๐๐ ขุนแผนสะท้าน ปลัดซ้าย ศักดินา ๖๐๐
                        ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญในตอนปลายรัชกาลที่สี่ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๕ ได้ว่าจ้างกัปตัน เอส.เย.เบิร์ด เจมส์ ชาวอังกฤษ ภายหลังได้เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา มาเป็นผู้วางโครงการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรปเรียกว่ากองโปลิส โดยจ้างชาวมลายู และชาวอินเดียมาเป็นพลตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเบิล ให้มีหน้าที่รักษาการแต่ในเขตกรุงเทพ ฯ ชั้นใน และขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล
                        ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้ทรงขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ แล้วยังได้จัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นรูปทหารโปลิส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ โดยได้ว่าจ้างชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวณหัวเมือง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทน มีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (ยี.เชา) เป็นเจ้ากรม ทางตำรวจขออนุมัติใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
                        ในสมัยรัชกาลที่ห้า กิจการตำรวจขึ้นกับสองกระทรวงคือ  กรมพลตระเวณ หรือตำรวจนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล กรมตำรวจภูธรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย  เพิ่งจะมารวมเป็นกรมเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  เรียกว่า กรมตำรวจภูธร และกรมตระเวณ     ๑๓/ ๗๙๕๖
                ๒๓๐๒. ตำลึง ๑  เป็นหน่วยในมาตราเงินอย่างหนึ่งกับเป็นหน่วยในมาตราชั่งน้ำหนักอีกอย่างหนึ่ง ในสมัยโบราณมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ใช้ปนกันแทบทุกชาติ ทั้งนี้เพราะมาตราเงินมีวัตถุที่บอกพิกัดมากน้อยต่าง ๆ เช่น บาท สลึง เฟื้อง ฯลฯ ทำด้วยเงินหรือโลหะอื่น ๆ เรียกรวม ๆ ว่า เงินตรา เป็นหลักสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเป็นราคาสิ่งของ ที่ซื้อขายกัน เราเอาเงินตรานั้นมาใช้เป็นลูกชั่งหรือตุ้มน้ำหนัก ชั่งสิ่งของให้รู้น้ำหนักด้วย ดังนั้นมาตราเงินกับมาตราชั่งน้ำหนัก ก็เลยปนกันเป็นดังนี้ มาแต่โบราณ
                       มาตราเงิน  ในสมัยสุโขทัยคงจะเป็นดังนี้  ๑ ชั่ง = ๒๐  ตำลึง  ๑ ตำลึง = ๔ บาท   ๑ บาท = ๔ สลึง  ๑ สลึง = ๒ เฟื้อง  ถัดจากเฟื้องมาก็เป็นเบี้ย ชั้นเดิมว่ามีอัตรา ๔๐๐ เบี้ยต่อเฟื้อง
                        ในสมัยอยุธยา มาตราเงินคงเป็นแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย เฟื้องหนึ่งเท่ากับ ๘๐๐ เบี้ย
                        เงินที่ใช้มาแต่โบราณเป็นเงินกลม เรียกว่า เงินพดด้วง ในสมัยสุโขทัยมีขนาด ๑ ตำลึง และ ๑ บาท สมัยอยุธยาใช้เงินพดด้วงอย่างเดียว มีสี่ขนาดคือ ๑ บาท ๒ สลึง ๑ สลึง และ ๑ เฟื้อง
                        สมัยรัตนโกสินทร์ มาตราเงินคงเป็นอย่างเดียวกับสมัยอยุธยา ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่สี่ โปรดให้ตั้งโรงกษาปน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓  และทำเงินตราใหม่เป็นรูปแบบกลมเรียกกันว่า เงินเหรียญ มีสี่ขนาดคือ  ๑ บาท ๒ สลึง และ ๑ เฟื้อง  และทำเหรียญขนาด ๑ ตำลึง กึ่งตำลึง  และกึ่งเฟื้อง ไว้ด้วย แต่มิได้ใช้ในท้องตลาด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ โปรด ฯ ให้ทำเหรียญดีบุก เป็นเงินปลีกขึ้นใช้แทนเบี้ยอีกสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "อัฐ"  กำหนดให้ ๘ อัฐ เป็นเฟื้อง  ขนาดเล็กเรียกว่า "โสฬส"  กำหนดให้ ๑๖ โสฬส เป็นเฟื้อง
                        พ.ศ.๒๔๐๖  โปรดให้ทำเหรียญทองคำขึ้นสามขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า "ทศ" ราคา ๑๐ อัน ต่อ ๑ ชั่ง คือ อันละ ๘ บาท  ขนาดกลางเรียกว่า "พิศ" ราคาอันละ ๔ บาท  ขนาดเล็กเรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละ ๑๐ สลึง
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๘   โปรดให้ทำเหรียญทองแดงขึ้นใช้เป็นเงินปลีกมีสองขนาด  ขนาดใหญ่เรียกว่า "ซีก" สองอันเป็นเฟื้อง ขนาดเล็ก เรียกว่า "เสี้ยว" สี่อันเป็นเฟื้อง
                        ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ.๒๔๕/ ได้กำหนดมาตราเงินขึ้นใหม่ ถือเอา "บาท" เป็นมาตรฐานแบ่งบาทออกเป็น ๑๐๐ ส่วน เรียกว่า "สตางค์"  มีอัตรา ๑๐๐ สตางค์เท่ากับ ๑ บาท  เป็นมาตราเดียว แต่คนเคยชินกับมาตราอย่างเก่า จึงมักเอามาตราเก่ามาเทียบ เช่น ๓ สตางค์ เท่ากับ ๑ ไพ  ๑๒  สตางค์ = ๑ เฟื้อง  ๒๕ สตางค์ = ๑ สลึง  คำว่า ตำลึง และชั่ง ก็ยังใช้พูดกัน ถือตามมาตราเก่า
                       มาตราชั่ง  ตั้งแต่ " ไพ " ถึง "ชั่ง "  เป็นอย่างเดียวกับมาตราเงิน เหนือไพ ลงไปเปลี่ยนเพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักน้อย ให้ละเอียดขึ้น และต่อชั่งขึ้นมา เพิ่มมาตราสำหรับชั่งน้ำหนักมาเข้าอีก มาตรานี้อยู่ในตำราเรียกว่า "เบญจมาตรา" ของโบราณกำหนดว่าเป็นมาตราสำหรับชั่งทอง ท่านผูกเป็นคำกลอนไว้ว่า
                            "ทองพาราหนึ่งแท้  ยี่สิบดุลแน่  ดุลหนึ่งยี่สิบชั่งนา
                            ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลีงหนา  ตำลึงหนึ่งว่า  สี่บาทถ้วนจงจำไว้
                            บาทหนึ่งสี่สลึงไทย  สลึงหนึ่งท่านใช้  สองเฟื้องจงจำไว้นา
                            เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา  ไพหนึ่งท่านว่า  สองกล่ำจงกำหนดไว้
                            กล่ำหนึ่งสองกล่อมตามใช้  กล่อมหนึ่งลงไป สองเมล็ดข้าวตามมีมา "
                            เนื่องจากไทยมีการค้าขายกับจีน แขก ฝรั่ง มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงเกิดมาตราชั่งขึ้นอีกแบบคือ
                                ๒  เมล็ดข้าว  =  ๑ กล่อม            ๒  กล่อม  =  ๑ กล่ำ            ๒ กล่ำ  = ๑ ไพ            ๔ ไพ  = ๑ เฟื้อง            ๒ เฟื้อง  =  ๑ สลึง            ๔ สลึง  =  ๑ บาท            ๔ บาท  =  ๑ ตำลึง            ๒๐  ตำลึง  =  ๑ ชั่ง            ๑๐๐  ชั่ง =  ๑ หาบ
                           พ.ศ. ๒๔๖๖ ออก พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด- บัญญัติให้ใช้มาตราเมตริก และให้เทียบวิธีประเพณีไว้ดังนี้            ๑ ชั่งหลวง = ๑ หาบหลวง = ๖๐ กิโลกรัม
                            ชั่งหรือชั่งหลวง คือ ชั่ง ๑๖ ตำลึงละ ๑๐ สลึง ๑๐๐ ชั่งเป็น หาบ     ๑๓/ ๗๙๖๑
                ๒๓๐๓. ตำลึง ๒ - ต้น  เป็นไม้เถาขนาดเล็ก มือใบเป็นเส้นเดี่ยวใช้เกาะพันขึ้นตามที่ต่าง ๆ รากอ้วนโตดูคล้ายหัว
                        ใบ แบบในเดี่ยวหนา รูปหลายเหลี่ยม ขนาดกว้าง ยาว ๕ - ๑๐ ซม. ปลายใบเว้าเป็นหลายง่าม มีต่อมใสตามเส้นใบ
                        ดอก ออกเดี่ยวตามง่ามใบ เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย แยกอยู่คนละดอก รูปคล้ายระฆัง ขอบโค้งเว้าเป็นห้าจัก สีขาวนวล
                        ผล  รูปคล้ายแตงกวา ขนาดเล็ก เวลาสุกสีแดง มีเมล็ดมาก
                        คนไทยนิยมใช้ยอดและใบทำเป็นอาหาร ผลดิบใช้ดองบริโภคได้         ๑๓/  ๗๙๗๓
                ๒๓๐๔. ติด - ปลา  มีอยู่ประมาณสี่ชนิด ที่รูปร่างแปลก และอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อน ครีบหลังอันแรกเปลี่ยนไปเป็น เครื่องดูดที่ช่วยให้ปลานั้นติดกับปลาฉลาม เต่า ปลาวาฬ และสัตว์น้ำขนาดใหญ่อื่น ๆ กับสิ่งที่ลอยน้ำเช่น เรือ ปลานี้มักชอบให้สัตว์อื่น เป็นตัวพาไปกินปลาตัวเล็กอื่น ๆ เป็นอาหาร           ๑๓/  ๗๙๗๔
                ๒๓๐๕. ติดต่อ - โรค  หมายถึง โรคใดซึ่งติดต่อกันได้โดยตรง หรือโดยอ้อม จากคนถึงคน หรือจากสัตว์ถึงคน เช่น ไข้รากสาด (น้อย เทียม ใหญ่)  ไข้จับสั่น ไข้หวัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส โรคไอกรน กามโรค ไข้คอตีบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ปอดอักเสบ โรคคางทูม โรคบิด โรคแอนแทร็กซ์ โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคเรื้อน โรคไข้เลือดออก ฯลฯ
                       การป้องกัน  ส่งเสริมและสร้างสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง กับโดยการปลูกฝี ฉีดยา ให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกาย รักษาอนามัยส่วนบุคคล
                       การรักษา  ต้องทำให้ถูกต้อง เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ        ๑๓/  ๗๙๗๔
                ๒๓๐๖. ติมิ, ติมิงคละ  เป็นชื่อปลาในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง เป็นปลาชนิดใหญ่มหึมา และปลาติมิ ถูกปลาชื่อ ติมิงคละ ซึ่งใหญ่กว่ากลืนเอาได้      ๑๓/  ๗๙๗๖
                ๒๓๐๗. ติโลกราช  เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งราย ที่ครองนครเชียงใหม่ อาณาจักรลานนาไทย ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระนามเดิมคือ เจ้าลก เป็นโอรสองค์ที่หก ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ชิงราชสมบัติจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๕  ในรัชกาลนี้อาณาจักรลานนาไทย ได้ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้งด้วยกัน
                        ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  พระเจ้าติโลกราช ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของไทย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๔  โดยพยายามตีเมืองสุโขทัยแต่ต้องถอยทัพกลับไป กองทัพกรุงศรีอยุธยา กองทัพเชียงใหม่ ที่เมืองเถิน และตีกองทัพเชียงใหม่แตกพ่ายกลับไป
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๐๔  พระเจ้าติโลกราชได้ยกทัพมาตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาอีก แต่พอดีพวกฮ่อยกมาตีแดนเชียงใหม่ จึงต้องยกทัพกลับ การที่หัวเมืองเหนือของอยุธยา ถูกรบกวนเนือง ๆ ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๖ จนสิ้นรัชกาล
                        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้เสด็จยกทัพหลวงรุกไปถึงเมืองลำปาง พระเจ้าติโลกราชทรงตั้งทัพหลวงที่เชิงดอยปา กองทัพหน้าของอยุธยาตีกองทัพหน้าของเชียงใหม่แตก แต่แม่ทัพหน้าของอยุธยาคือ พระอินทราชา ต้องปืนที่พระพักตร์ จึงต้องล่าถอยทัพกลับมา
                        พระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ในเวลา ๒๐ ปีเศษ ทำให้ทางเชียงใหม่อ่อนกำลังลง ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๐๑๘ จึงทรงขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองอาณาจักรได้เป็นไมตรีกัน ในตอนปลายรัชกาลของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
                        พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นนักรบที่สามารถมาก อำนาจของเมืองเชียงใหม่ได้แผ่ขยายไปทั่ว บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรลานนาไทย  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ได้ทรงออกผนวชชั่วระยะเวลาหนึ่ง และโปรด ฯ ให้กระทำสังคายนาคัมภีร์พระไตรปิฎก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๑  ที่วัดโพธารามวิหารหรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด นับเป็นการสังคายนาอันดับที่แปด นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระองค์ทรงได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติโลกราชามหาธรรมิกราช พระเจ้านครพิงค์เชียงใหม่"       เล่ม ๑๓/ ๗๙๗๘
                ๒๓๐๘. ติวอ๋อง  เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซียง ขึ้นครองราชย์เมื่อก่อน พ.ศ.๑๕๙๗ สวรรคตเมื่อก่อน พ.ศ.๑๗๕๔ ทรงปกครองในระบอบเผด็จการและทารุณโหดร้าย มัวเมาในกามสุข แต่ราษฎรเดือดร้อนทุกข์ยาก
                        เจ้าผู้ครองนครและแคว้นต่าง ๆ รวม ๘๐ แห่ง ต่างกรีธาทัพมุ่งสู่เมืองหลวง เพื่อปราบติวอ๋อง และทำการได้สำเร็จ ติวอ๋องได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อกองทัพเหล่านั้นยึดเมืองหลวงได้ และยกบูอ๋อง ขึ้นครองราชย์แทนติวอ๋อง บูอ๋องจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิว
                        เหตุการณ์ที่เกิดในสมัยติวอ๋อง ถูกนำไปดัดแปลงแต่งเติม และเรียบเรียงเป็นนิยายประเภทเกร็ดพงศาวดาร มีภาคภาษาไทยชื่อว่า ห้องสิน       ๑๓/  ๗๙๘๕
                 ๒๓๐๙. ตีน - ปลา  ปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์ไปกว้างขวางมาก มักอยู่ตามหาดโคลนทราย ชายฝั่งอ่าว และปากน้ำที่เป็นดิน และตามส่วนล่างของแม่น้ำใหญ่        ๑๓/  ๗๙๘๙
                ๒๓๑๐. ตีนกา - หญ้า  เป็นหญ้าล้มลุก มีรากแข็งแรง ลำต้นแบน มักทอดเอนไปตามดินยาว ๓๐ - ๕๐ ซม.  ช่อดอกเป็นก้านเดี่ยวตรงยาว ๑๐ - ๒๐ ซม.      ๑๓/  ๗๙๙๒
                ๒๓๑๑. ตีนเป็ด - ต้น  บางท้องถิ่นเรียกว่า พญาสัตบรรณ เป็นพันธุ์ไม้ทิ้งใบขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๔๐ เมตร ใบเป็นแบบใบผสม ปลายก้านใบแยกออก คล้ายซี่ร่มเป็นใบย่อย ๔ - ๘ ใบ รูปไข่กลับ หรือรูปหอกยาวช่อดอก ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ยาว ๗ - ๑๓ ซม.  ดอกทรงดอกมะลิ ผลเป็นฝักแฝด มีโคนติดกัน เรียว ยาว ๒๐ - ๕๐ ซม.
                        เนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง เบา ไม่ทนทาน ใช้ในการทำหีบบรรจุสิ่งของ     ๑๓/  ๗๙๙๔


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch