หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/52
    ๒๒๓๔. ตัน  เป็นชื่อมาตราชั่งน้ำหนักของอังกฤษและอเมริกัน มาตราตันตามที่ใช้กันมี สามอย่างคือ ลองตัน ชอร์ตตัน และเมตริกตัน
                       ลองตัน  เท่ากับ ๒,๒๔๐ ปอน์ด เทียบมาตราเมตริก เท่ากับ ๑๐๑๖.๐๖ กก.ในประเทศไทยการค้าดีบุกซึ่งติดต่อกับทางมาเลเซียใช้ลองตันเท่ากับ ๑๖.๘ หาบ หาบหนึ่งเท่ากับ ๖๐.๔๘ กก.
                       ชอร์ตตัน  เท่ากับ ๒,๐๐๐ ปอน์ด เทียบมาตราเมตริกเท่ากับ ๙๐๗.๒๐ กก.
                       เมตริกตัน  เท่ากับ ๑,๐๐๐ กก. เทียบมาตราอังกฤษเท่ากับ ๒,๒๐๔.๖ ปอน์ด
                        ตันมีที่ใช้เกี่ยวกับเรือ คือ น้ำหนักบรรทุกของเรือซึ่งเรียกว่า "ระวาง" น้ำหนักบรรทุกของเรือมีสองอย่าง อย่างหนึ่งคิดทั้งลำเรือตลอดหมด กำหนดว่า ๑๐๐ ลูกบาศก์ฟุตเท่ากับ ๑ ตัน อีกอย่างหนึ่งคิดหักส่วนที่เป็นเครื่องจักร หม้อน้ำ ห้องคนประจำเรือ ฯลฯ ออก เหลือแต่ที่บรรทุกสินค้าอย่างเดียวกำหนดว่า ๔๐ ลูกบาศก์ฟุตเท่ากับ ๑ ตัน ระวางเรือที่เรียกเป็นตัน คิดอย่างระวางบรรทุกสินค้านี้ วิธีกำหนดมักถือเอาน้ำหนักตัวเรือเป็นเกณฑ์ คือตัวเรือน้ำหนักเท่าไร น้ำหนักบรรทุกหรือระวางโดยมากตกประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักเรือ ตันเกี่ยวกับระวางบรรทุกสินค้านี้ พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่าคิดทางวัด คือคิดเป็นลูกบาศก์ฟุต ไม่ได้คิดทางชั่งน้ำหนัก ตันระวางเรือดังกล่าวเรียกกันว่า ชิปปิ่งตัน
                      ในวงการค้าข้าวเมืองไทย มีคำนวณอัตราเทียบเกี่ยวกับเกวียนไว้ เฉพาะดังนี้
                        ๑ เกวียน = ๑๖ หาบ ข้าวเปลือก = ๒,๑๓๓ ๑/๓ ปอนด์ = ๙๖๘ กก. = ๒๒ หาบปลายข้าว
                        = ๑.๓๑ ตัน = ๑,๓๓๐ กก. = ๒๓ หาบข้าวสาร = ๑.๓๗ ตัน = ๑,๓๙๑ กก.
                        เกวียนโรงสี = ๒๔ หาบ = ๑.๔๖ ตัน = ๑,๔๘๘ กก.
                        เกวียนโรงสีคิด ๘๒ ถัง ถังละ ๔๐ ปอนด์
                        ๑ กระสอบ = ๑๐๐ กก. = ๖ ถัง กับ ๕ ลิตร ถังละ ๒๐ ลิตร         ๑๒/ ๗๗๕๙
                ๒๒๓๕. ตันตรยาน  ลัทธิตันตระหรือนิกายฝ่ายซ้ายของศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่เกิดขึ้นในตอนหลัง โดยรับเอาลัทธิตันตระของศาสนาฮินดูมาดัดแปลงผสมผสานกับหลักความเชื่อ และหลักปรัชญาของมหายาน เพื่อแข่งขันกับลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู
                        คำว่า ตันตระแปลกันหลายนัยด้วยกัน ต้นกำเนิดของลัทธิฮินดู ตันตระจริง ๆ ไม่มีใครรู้แน่นอน ได้แต่สันนิษฐานกัน บางพวกเชื่อว่าเผ่าชนโบราณเผ่าหนึ่งเรียกว่า วราตยะ นำเข้ามาในอินเดีย พวกนี้เข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงหนือ และตั้งรกรากอยู่ทางทิศตะวันออก คืออาณาบริเวณที่เป็นแคว้นพิหาร และเบงกอลปัจจุบัน ในคัมภีร์มนุศาสตร์ กล่าวว่า พวกลิจฉวี และมัลละ ก็สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่านี้ บางท่านว่า ชนเผ่าทิเบต พม่า และมอญ - เขมร ก็สืบมาจากชนเผ่านี้ พวกนี้นำเอาลัทธิบูชาแบบบาปิโลนติดมาด้วย
                        ร่องรอยของลัทธิตันตระปรากฎอยู่ทั่วไปตามเส้นทางแถบพรมแดนที่ชนพวกนี้อพยพมา คือจากอาฟกานิสถาน และแคชเมียร์เรื่อยมา ตามเส้นพรมแดนตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอุตร ประเทศจนถึงแคว้นเบงกอล และอัสลัมตะวันออก พวกอารยันในสมัยโบราณเรียกดินแดนเหล่านี้ว่า ดินแดนของพวกอนารยันไม่นับถือศาสนาพราหมณ์ แต่นับถือผีสางตามแบบตน
                        ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ชาวฮินดูพวกหนึ่งได้ปรับปรุงความเชื่อถือ ศาสนาเดิมของตน ให้ผิดแปลกออกไปจากเดิม โดยนำเอาลัทธิของพวกอนารยัน ในบริเวณดังกล่าวนี้มาผสม และได้ตัดความเชื่อถือเดิมบางประการทิ้งไปเสีย เช่น เลิกพิธีบูชาแบบของพราหมณ์ ถือตามลัทธิบูชาของคนพื้นเมืองนี้ คือฆ่าสัตว์บูชายัญ นำโลหิตสัตว์ที่ฆ่าไปบูชาเทพเจ้าในเทวาลัย เลิกใช้ภาษาสันสกฤต ใช้ภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาสวดมนต์ในพิธีแทนมีพิธีแห่เทวรูป และแสดงลัทธิอย่างแสดงละคร ในเทวาลัยก็จัดให้มีหญิงแพศยาไว้ประจำ เรียกว่า เทพทาสี พิธีที่ประกอบในเทวาลัยนั้น ยิ่งหยาบช้า ลามกได้เท่าไหร่ก็ถือว่าเป็นที่พอใจของมหาเทพ และมหาเทพีเท่านั้น
                        หลักปฎิบัติที่ขาดไม่ได้ของพวกตันตระคือ ดื่มน้ำเมา กับเนื้อสัตว์ พร่ำมนต์ให้เกิดความกำหนัด ทำท่ายั่วยวนและเสพเมถุน หลักปฏิบัติดังกล่าวนี้กระทำกันในที่มืดหรือกลางคืน จึงเรียกว่า กาลจักร
                        พุทธมหายานในบริเวณนั้นค่อย ๆ รับเอาความเชื่อในเรื่องตันตระเข้ามาผสมกับความเชื่อเดิมมากขึ้น ตามลำดับ จนเกิดพุทธตันตระขึ้น พวกมหายานด้วยกันถือว่าพวกนี้เป็นพวกสัทธรรมปฏิรูป คือ พวกนอกรีดนอกรอย เป็นพวกฝ่ายซ้ายและกล่าวคัดค้านโต้แย้ง แต่พวกนี้กล่าวว่าหลักธรรมแบบนี้สามัญชนรู้ไม่ได้ พระไวโรจนพุทธเจ้าเทศนาไว้ในวัชรธรรมธาตุมณเฑียร ต่อมานาคารชุนได้ไปเปิดกรุพระะธรรมลึกลับนี้ ออกมาเปิดเผย แต่เปิดเผยเฉพาะบางคนเท่านั้น เพราะหลักธรรมนี้ลี้ลับจึงเรียกลัทธินี้ว่า คุยหยาน
                        ชื่อของพุทธตันตระมีอีกสองชื่อตามลักษณะของหลักปรัชญา และพิธีกรรม เพราะเหตุที่ลัทธินี้มีหลักปรัชญาที่สูงเหนือธรรมชาติมีความแข็งเหมือนเพชร ใสเหมือนอากาศ ไม่มีอะไรต้านทานได้เหมือนสายฟ้าจึงเรียกลัทธิว่า วัชรยาน และเพราะเหตุที่ลัทธินี้ถือการสวดมนต์คาถาถือเอาการบูชา และเลขยันต์เป็นพิธีกรรมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์จึงให้ชื่อว่า มนตรยาน
                        เมื่อพุทธตันตระยาน แพร่หลายออกไป ปรากฏว่าได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ จากกษัตริย์ราชวงศ์ปาละเป็นอย่างดี ทำให้คำสอนของลัทธิพุทธตันตระพัฒนา และรวมตัวขึ้นเป็นพุทธศาสนาตามแบบทางการในยุคนั้น ซึ่งมีหลักคำสอนผสมกันระหว่าง ปรัชญาปารมิตา ของมาธยมิกะกับตันตระของฮินดู สถาบันศึกษาหลายแห่งได้เปิดสอนลัทธินี้กันอย่างแพร่หลาย เช่นที่นาลันทา โอทันตปุรี วิกรมศิลา ชัคคทละ และโสมรูปะ
                        ต่อมาภิกษุที่สำเร็จการศึกษาจากนาลันทาและสำนักศึกษาพุทธตันตระอื่นๆ ก็เผยแพร่ลัทธิออกไปนอกประเทศ เช่น คุรุปัทมสมภพ จากนาลันทา เข้าไปเผยแพร่ในทิเบต จนเกิดเป็นลัทธิลามะขึ้น ศุภกรสิงห์ ได้ไปเผยแพร่ถึงประเทศจีน ในแผ่นดินพระเจ้าถังเอี้ยงจง และได้แปลคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร ออกสู่ภาษาจีนด้วย และได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ อิกเห็ง ซึ่งเดิมเป็นสานุศิษย์สำนักนิกายเซน ต่อมาได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ในจีนได้แต่งอรรถกถาขยายความ ไวโรจนสูตรถึง ๒๐ ผูกซึ่งถือเป็นคัมภีร์สำคัญของลัทธินี้
                        คณะสงฆ์ญี่ปุ่นเริ่มสนใจ โกโบะไดชิ ได้เดินทางมายังประเทศจีน และนำลัทธิมนตรยานกลับไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น เรียกว่า ชินกุงอน เป็นนิกายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นด้วย
                       ในประเทศไทย มนตรยาน หรือรัชรยานได้แพร่เข้ามาในสมัยสุโขทัย - เชียงแสน สองระยะคือ ราว พ.ศ.๑๓๐๐ - ๑๙๐๐ และราว พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๘๐๐ จึงมีการนับถือพระพุทธรูปในฐานะของขลัง             ๑๒/ ๗๗๖๑
                ๒๒๓๖. ตันตระ เป็นชื่อคัมภีร์ของตันตระยาน หรือลัทธิตันตระ ทั้งที่เป็นฮินดูตันตระและพุทธตันตระมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่มีรายชื่อปรากฏมีอยู่เพียง ๖๔ คัมภีร์
                       พวกฮินดูตันตระเชื่อว่าคัมภีร์ทางศาสนาของอินเดียนั้นมีสี่ชนิด ซึ่งพระศิวะให้แก่มนุษย์เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย คือ คัมภีร์พระเวทสำหรับสัตยยุค คัมภีร์สัมฤติ สำหรับไตรคายุค คัมภีร์ปุราณะสำหรับทวาปรยุค และคัมภีร์อาคมหรือคัมภีร์ตันตระสำหรับกลียุค
                       คัมภีร์ตันตระเท่าที่มีอยู่เกือบทั้งหมดแต่งขึ้นทีหลัง คือเล่มที่เก่าแก่ที่สุด แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือ ๑๓ เล่มที่สำคัญ เช่น คุยหสมาส ของพุทธตันตรยาน แต่งขึ้นราว พ.ศ.๑๑๙๓ คัมภีร์บัญชูศรีมูลกัลปะ แต่งราว พ.ศ.๑๒๙๓ ส่วนคัมภีร์ฮินดูตันตระที่สำคัญที่สุดคือ งุทระ - ยามล แต่งราว พ.ศ.๑๕๐๐         ๑๒/ ๗๗๖๙
                ๒๒๓๗. ตับหยงเปรียก  เป็นชื่อท่าเรือกรุงจาร์กาตา เมืองหลวงของประเทศอินโดเนียเซียเป็นทางออกของสินค้าจากภาคตะวันตกของเกาะชวา และสถานีการค้าใหญ่แห่งหนึ่งของหมู่เกาะอินเดียตะวันออก         ๑๒/ ๗๗๗๐
                ๒๒๓๘. ตับ ๑  เป็นต่อมต่อมหนึ่งของระบบการย่อยอาหาร เป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ตับสดจะมีสีน้ำตาลปนแดงเนื้อแน่นบิดไปมาได้แต่เปราะ ทำให้ฉีกขาดได้ง่าย
                        ปรกติตับจะมีตำแหน่งคงที่อยู่ทางส่วนบนด้านขวาของช่องท้อง มีกระบังลมเป็นขอบเขตทางด้านบน มีกระดูกซี่โครงกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง อยู่ทางด้านหน้าด้านข้าง และด้านหลัง มองจากด้านหน้าจะเห็นตับแบ่งออกเป็นสองกลีบ
                        ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่มากมายหลายชนิด มีหน้าที่เป็นต่อมขับวัตถุออกจากตับเข้าสู่ลำใส้แล้วออกไปจากร่างกาย เช่น น้ำดี วัตถุบางชนิดที่ใช้วนเวียนอยู่ในร่างกาย โดยไม่ขับออกไป คือเมื่อใช้แล้วก็อาศัยตับทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงลักษณะและส่วนประกอบ กลับมาใช้อีก ตับทำให้เกิดน้ำดี แล้วขับเข้าสู่ลำใส้ประมาณวันละครึ่งถึงหนึ่งลิตร
                        เซลล์ตับกักเก็บน้ำตาลจากเลือดโดยเปลี่ยนเป็นกลัยโคเจ็น เช่นเดียวกับกรดแอมมิโน จะถูกกักเก็บจากเลือดโดยเปลี่ยนเป็นโปรตีน นอกจากนั้น ยังกักเก็บไขมัน วิตามิน
                        เนื่องจากอาหารที่กินบางครั้งไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ตับจึงมีหน้าที่เปลี่ยนและดัดแปลงกลับไปมาระหว่างวัตถุที่ผ่านสู่ตับ ทำให้สามารถส่งวัตถุเหมาะกับความต้องการของร่างกายยิ่งกว่าดูดซึมจากลำใส้ผ่านหลอดเลือดดำปอร์ตัล เช่น ถ้าอาหารที่กินส่วนใหญ่เป็นโปรตีน เกือบไม่มีพวกคาร์โบไฮเดรตเลย เซลล์ตับจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นคาร์โบไฮเดรต ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงเป็นปรกติ การเปลี่ยนอีกแแบหนึ่งคือ ไขมันที่ดูดซึมจากลำใส้เข้าสู่กระแสเลือดในลักษณะเป็นหยดเล็ก ๆ จะถูกเซลล์ตับทำให้แตกแยกออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของไขมัน ส่วนที่แยกออกจะไปรวมกับโคลีน และฟอสฟอรัสทำให้เกิดสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อที่หุ้มตรีเซลล์
                        การเปลี่ยนและดัดแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทำให้วัตถุที่เป็นพิษที่ดูดซึม จากลำใส้หรือที่เกิดภายในร่างกาย ซึ่งถ้าปล่อยหมักหมมไว้จะเกิดเป็นอันตรายเช่น การเกิดแอมโมเนียจากการเมตาโบลิซัมของกรดแอมมิโน แอมโมเนียจะทำให้เกิดเป็นอันตราย เมื่อถึงจุดเข้มข้นระดับหนึ่ง เซลล์ตับจะกันไม่ให้ถึงระดับความเข้มข้นนั้น โดยเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นยูเรียซึ่งเป็นวัตถุไม่เป็นพิษ ยูเรียจะขับออกทางไต
                        โปรตีนในเลือดส่วนใหญ่จะทำขึ้นโดยเซลล์ตับ
                        เนื่องจากคนกินอาหารตามปรกติวันละสามครั้ง ฉะนั้น การดูดซับน้ำตาล ไขมัน และกรดแอมมิโน จึงแตกต่างกันมากในระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง แต่ร่างกายก็ยังคงได้รับวัตถุที่ต้องการโดยสม่ำเสมอ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ต้องอาศัยการควบคุมโดยเซลล์ตับ เมื่อมีการดูดซึมน้ำตาลเข้าไปมาก เซลล์ตับจะเก็บน้ำตาลไว้เป็นกลัยโคเจน ขณะที่น้ำตาลได้ถูกใช้โดยร่างกายระหว่างเวลาอาหารซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง เซลล์ตับจะเปลี่ยน กลัยโคเจนที่เก็บไว้เป็นกลูโคสส่งเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดปรกติอยู่เสมอ
                        ถือว่าดับเป็นอวัยวะสำคัญมากของร่างกาย อาจมีหน้าที่มากกว่า ๑๐๐ อย่าง         ๑๒/ ๗๗๗๑
                ๒๒๓๙. ตับ ๒ - เพลง  เป็นคำที่ใช้เฉพาะในวงการดนตรีและขับร้องเพลงไทย ซึ่งหมายถึง การนำเอาเพลงหลาย ๆ เพลงมาขับร้องหรือบรรเลงติดต่อกันซึ่งจะต้องมีหลักเกณฑ์ แบ่งออกได้เป็นสองอย่างคือ
                        ๑. ตับเรื่อง ใช้เฉพาะเพลงที่ต้องมีร้อง จะมีดนตรีรับหรือไม่มีก็ได้ เพลงต่าง ๆ ที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันไปนั้น บทที่ร้องจะต้องมีเนื้อเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันและดำเนินไปโดยลำดับ ฟังได้เป็นเรื่องเป็นราวติดต่อกัน ส่วนทำนองเพลงต่าง ๆ จะลึกลับกันอย่างไร ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ มีประสงค์อยู่อย่างเดียวแต่เนื้อเรื่องในบทร้องเท่านั้น เช่น ตับนางลอย ตับนาคบาศ ตับพรหมมาสตร์ และตับอิเหนาตอนบวงสรวง
                        ๒. ตับเพลง วิธีเรียบเรียง เพลงต่าง ๆ เข้าตับถือทำนองเพลงเป็นสำคัญ คือเพลงจะต้องมีอัตราเดียวกัน เป็นเพลงประเภทเดียวกัน และมีทำนองเป็นลักษณะคล้ายคลึงกัน ติดต่อกันได้โดยสนิทสนม เช่น ตับลมพัดชายเขา ซึ่งมีเพลงลมพัดชายเขา เพลงลมหวน เพลงแขกมอญช้าง และเพลงเหรา
                        การเรียบเรียงเพลงแบบ "ตับเพลง" นี้ถ้าเป็นการบรรเลงมโหรี ในสมัยโบราณมักเรียกว่า "เรื่อง" เรียกรวม ๆ ว่า เพลงเรื่องมโหรี และใช้ชื่อเพลงอันดับแรกเรียกเป็นชื่อเรื่อง เช่น เพลงตับเรื่องนางกราย ก็มีเพลงบางกราย นางเยื้อง สร้อยต่าน นาคเกี่ยวพระสุเมรุ พระรามตามกวาง พระราม (คีบ) นคร พระรามเดินดง       ๑๒/ ๗๗๘๘
                ๒๒๔๐. ตับเต่า ๑  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ประเภทดอกสองชนิด และประเภทเห็ดชนิดหนึ่ง พันธุ์ไม้ดอกนั้นเป็นประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว หนึ่งชนิดมีลักษณะเป็นลอยเหนือผิวน้ำ ที่ลำต้นกลม ๆ ขนาดประมาณ ๓ มม. มีไหลออกไปเรื่อย  ใบเกิดเป็นกระจุกตามรอบต้น หรือใบช่อที่เกิดรากหยั่งลงใต้ผิวน้ำ ดอกออกตรงกอใบนั้น มีสีขาวลอยเหนือผิวน้ำ ใบใช้บริโภคได้
                        อีกประเภทหนึ่งเป็นประเภทใบเลี้ยงคู่ เป็นพันธุ์ไม้ลอยเหนือน้ำเหมือนกัน ลำต้นเล็ก แตกแขนงได้ ใบกลมออกตรงกัน ดูเห็นเป็นคู่ รากเป็นฝอยย้อยลงใต้ผิวน้ำ ดอกสีม่วงอ่อนมีขนาดเล็ก
                        ส่วนพันธุ์ไม้จำพวกเห็ด เป็นพวกเห็ดมีดอกใหญ่ ก้านกลมใหญ่ และกระจังรูปร่างคล้ายร่ม       ๑๒/ ๗๗๙๑
                ๒๒๔๑. ตับเต่า ๒ - กล้วย  กล้วยศาสนาก็เรียก กล้วยสกุลนี้มีน้อยชนิด มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ปลูกกัน เป็นกล้วยเล็ก โตเร็วและงดงาม สูงประมาณ ๓ - ๖ เมตร มีลำต้นประกอบเป็นกาบใบตามธรรมชาติ แยกจากต้นเป็นหน่อ และเกิดรวมเป็นกอ เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเนปาล ที่พระพุทธเจ้าประสูติ        ๑๒/ ๗๗๙๒
                ๒๒๔๒. ตับเป็ด  เป็นชื่อเรียกหินชนิดหนึ่งในบริเวณที่มีพลอย ที่จังหวัดจันทบุรี ลักษณะหินผิวเป็นมันสีเทาแก่ เกือบดำดูคล้ายตับเป็ด พลอยที่พบเคยพบติดอยู่ในหินตับเป็ดก็มี จึงสันนิษฐานว่า พลอยที่นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหินตับเป็ดนั่นเอง
                        ในทางวิชาการหินตับเป็ดคือ หินบะซอลต์ ซึ่งเป็นหินอัคนีชนิดหินภูเขาไฟ เกิดจากหินหนืดหรือแมกมา ภายในโลกที่พลุ่งขึ้นมาสู่ผิวโลกแล้วไหลเป็นลาวา ปกคลุมพื้นที่บริเวณนั้น        ๑๒/ ๗๗๙๓
                ๒๒๔๓. ตับเหล็ก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในท้องหมู อยู่ใต้ชายโครงซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดโลหิตแดงที่ใช้ไม่ได้ ในคน และสัตว์ เรียกม้าม (ดูม้าม  ลำดับที่ ...) มีลักษณะแบนยาวทอดตามแนวตั้ง มีความสัมพันธ์อยู่กับกระเพาะอาหาร
                        ตับเหล็กติดต่อกับกระเพาะอาหารอย่างหลวม ๆ ตับเหล็กนี้หุ้มด้วยเยื่อบุช่องท้องโดยตลอด ตับเหล็กทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดงที่ใช้ไม่ได้แล้วสะสมเหล็กเอาไว้ จึงเรียกอวัยวะนี้ว่าตับเหล็ก ตับเหล็กอาจพบได้อีกหนึ่งตับเป็นตับเหล็กเสริม        ๑๒/ ๗๗๙๔
                ๒๒๔๔. ตับอ่อน  เป็นอวัยวะอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ จัดเป็นต่อมสำคัญต่อมหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร มีกำเนิดเจริญเติบโตออกมาจากลำใส้  แต่เนื่องจากต้องมาทำหน้าที่พิเศษโดยเฉพาะ จึงมีรูปร่างและส่วนประกอบภายในแตกต่างไปจากลำใส้มากมาย ตับอ่อนตั้งอยู่ในช่องท้องข้างหลังกระเพาะอาหาร อยู่หน้ากระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ ๑ และ ๒ รูปร่างคล้ายค้อน แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนลำตัวหรือส่วนกลาง และส่วนหาง
                        ส่วนหัวขนาดใหญ่ที่สุดสอดแน่นอยู่ภายในส่วนโค้งของลำไส้เล็ก ส่วนหางยาวยื่นไปทางข้างซ้ายจนจดม้าม ตับอ่อนมีขนาดยาว ๑๒ - ๑๕ ซม. กว้างประมาณ ๓ ซม. ลักษณะนิ่ม สีเหลืองปนเทาหรือแดง
                        ตับอ่อนจัดเป็นต่อมชนิดผสม ประกอบด้วยกลีบเล็ก ๆ จำนวนมาก มีเรื่องเกี่ยวพันหลวม ๆ ช่วยยึดให้รวมกันเป็นกลีบใหญ่ แต่ละกลีบใหญ่กลีบหนึ่ง ๆ จะมีท่อเล็ก ๆ  ลำเลียงน้ำย่อยที่สร้างจากต่อมเหล่านั้น ไหลลงสู่ท่อใหญ่ ท่อใหญ่นี้ทอดตามความยาวของตับอ่อน จากส่วนหางไปจนถึงส่วนหัว กว้างประมาณ ๓ มม. เรียกว่า ท่อตับอ่อน ตามธรรมดาท่อนี้จะเชื่อมกับท่อน้ำดีตอนก่อนจะเปิดเข้าสู่ดุโอดีนัม
                        ในเนื้อตับอ่อนจะพบตัวต่อมเล็ก ๆ ที่หลังน้ำย่อย ซึ่งสามารถย่อยได้ทั้งโปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรต น้ำย่อยนี้จะถูกขับออกมาเมื่ออาหารตกถึงกระเพาะอาหาร เพื่อคอยช่วยย่อยอาหาร         ๑๒/ ๗๗๙๕
                ๒๒๔๕. ตั๋ว  มีบทนิยามว่า "บัตรแสดงสิทธิของผู้ใช้" เข้าใจว่ามาจากคำในภาษาจีนแต้จิ๋วว่าตัว
                        คำตัวนี้มีหลายความหมาย ความหมายที่น่าจะเกี่ยวกับคำว่าตั๋วในภาษาไทยมีว่า กระดาษเป็นแผ่น ๆ ที่ใช้ในการจดรายการหรือเรื่องราวต่าง ๆ ต่อมาความหมายได้ขยายไปถึงใบแผ่นร่ายการหรือบัตรด้วย        ๑๒/ ๗๘๐๐
                ๒๒๔๖. ตั๋วเงิน  ปรากฏหลักฐานว่า เพิ่งมีขึ้นเป็นทางการในการร่างประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ฉบับแรก (พ.ศ.๒๔๖๖)
                        มนุษย์เรารู้จักใช้ตั๋วเงินมาแต่โบราณกาล โดยมากอ้างว่าเริ่มขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยคนยิวเป็นต้นคิดขึ้นใช้ในการชำระหนี้ การค้ากับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อไม่ต้องส่งเงินตราข้ามประเทศไปชำระหนี้ เพียงแต่เขียนในคำสั่งให้ลูกหนี้ของตนซึ่งอยู่ถิ่นเดียวกับผู้ขายสินค้าให้จ่ายเงินแก่ผู้ขายสินค้าก็ชำระหนี้ค่าสินค้ากันได้ ทำให้เกิดความสะดวกและไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในการส่งเงินให้แก่กัน
                        คำว่าตั๋วเงิน ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีอยู่สามประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค
                        เนื่องจากตั๋วเงินเป็นตราสารที่ใช้แทนเงินตราได้ ในระหว่างคู่กรณีที่สมัครใจโอนและรับโอนตั๋วเงินแทนการโอนและรับโอนเงินตรา กฎหมายจึงบัญญัติให้มีการโอนกรมสิทธิ ในตั๋วแลกเงินกันได้เป็นทอด ๆ วิธีโอนตั๋วเงินจะต้องทำอย่างไรนั้น แล้วแต่ประเภทของตั๋วเงิน โดยปรกติอาจโอนให้กันได้ด้วย การสลักหลังตั๋วเงินแล้วส่งมอบให้ผู้รับโอน      ๑๒/ ๗๘๐๐
                ๒๒๔๗. ตั๋วเงินคลัง  ตาม พ.ร.บ. ตั๋วเงินคลัง พ.ศ.๒๔๘๗ ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารเปลี่ยนมือชนิดหนึ่ง มีข้อความแสดงสิทธิของผู้ทรงในอันที่จะได้รับชำระเงิน จำนวนแน่นอน ณ สถานที่และวันที่กำหนดไว้
                        ตาม พ.ร.บ. ตั๋วเงินคลังได้บัญญัติไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงินมาใช้บังคับแก่ตั๋วเงินคลังโดยอนุโลม
                        ตั๋วเงินคลังเป็นเครื่องมือที่กระทรวงการคลัง อาจใช้สำหรับกู้ยืมเงินอันที่กำหนดใช้คืนไม่เกินหนึ่งปี แต่ตามปรกติกระทรวงการคลังจะออกตั๋วเงินที่มีกำหนดเวลาใช้เงินเพียง ๖๓ วัน นับแต่วันที่ออกตั๋ว         ๑๒/ ๗๘๐๔
                ๒๒๔๘. ตั๋วแลกเงิน  คำว่า "ตั๋วแลกเงิน" เพิ่งมีใช้เป็นทางการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยบรรพ ๓ ฉบับแรก ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๖๘ ได้ให้บทนิยามตั๋วแลกเงินไว้ว่า "หนังสือตราสารที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่ายเงินสั่งบุคคลอีกผู้หนึ่ง เรียกว่า ผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน"
                        ตั๋วแลกเงินย่อมโอนกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วให้ผู้รับสลักหลัง ผู้รับสลักหลังที่ได้รับมอบตั๋วมาแล้ว ก็เป็นผู้ทรงคือเป็นเจ้าหนี้ และผู้ที่ลงลายมือชื่อสลักหลังก็ตกเป็นลูกหนี้ตามเนื้อความแห่งคำสลักหลังของตน
                       เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงินในวันใด ผู้ทรงตั๋วต้องนำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายหรือผู้รับรองใช้เงินในวันนั้น มิฉะนั้น ผู้สั่งจ่ายผู้สลักหลังและคู่สัญญาคนอื่น ๆ ผู้ต้องรับผิดนอกจากผู้รับรองก็จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบตามตั๋ว    ๑๒/ ๗๘๐๘

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch