หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/51
     ๒๑๙๖. ตะแบง - ต้น  เป็นต้นไม้ทิ้งใบขนาดกลางถึงใหญ่ บางท้องถิ่นเรียกไม้ชนิดนี้ว่าเหียง ยางเหียง เหียงพลวง ฯลฯ ตะแบงมีลำต้นกลมเปลา สูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ ซม. มักแตกกิ่งเฉพาะตอนปลาย ๆ ต้นทำให้เรือนยอดดูเป็นพุ่มกลม ๆ ใบแบบใบเดี่ยว ออกสลับกัน ช่อดอกเป็นช่อสั้นออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบตอนปลาย ๆ กิ่ง ดอกดูงามดีมีกลิ่นหอม สีขาวชนชมพู ผลกลมเกลี้ยง สีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. มีปีกยาวสองปีก
                        เนื้อไม้สีน้ำตาล เช่นเดียวกับเนื้อไม้พลวง ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนทั่วไป         ๑๒/ ๗๖๕๙
                ๒๑๙๗. ตะพัด - ปลา  พบในไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ที่จังหวัดตราด ขนาดโต ยาว ๙๐ ซม. หนักราว ๗.๒ กก. เนื้อปลามีรสดี แม่ปลาจะฟักไข่ในปาก         ๑๒/ ๗๖๖๐
                ๒๑๙๘. ตะผั้น  เป็นชื่อของโรคที่เกิดแก่เด็กอ่อนอย่างหนึ่ง ทำให้มีการชักมือเท้ากำ เกิดขึ้นได้จากเหตุหลายประการ         ๑๒/ ๗๖๖๑
                ๒๒๙๙. ตะผาก, กระผาก, ปีก - ปลา อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน มีหนวดสี่เส้น สีโดยทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและสถานที่ จากเหลืองทองถึงเขียวเจือสีเงิน         ๑๒/ ๗๖๖๒
                ๒๒๐๐. ตะพานหิน  อำเภอ ขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา อ.ตะพานหิน เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓         ๑๒/ ๗๖๖๓
                ๒๒๐๑. ตะพาบน้ำ  เป็นสัตว์คล้ายเต่า กระดองบนและกระดองล่างไม่มีกระดูกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ แต่มีหนังหุ้มแทน นิ้วยาว คีบข้างหน้ามีแผ่นพังผืดกว้าง ใช้สำหรับว่ายน้ำ มีเล็บเพียง ๑ - ๓ เล็บ คอหดได้มิดในกระดอง แต่สามารถยึดคอได้ยาวมาก
                        ตะพาบน้ำทุกชนิดอยู่แต่ในน้ำจืด ขุดรูเป็นโพรงไว้ อาศัยโดยยึดคออันยาวเหยียดขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยตัวไม่ต้องออกจากโพรง และจะคอยอยู่นิ่ง ๆ เช่นนั้น เพื่อคอยพุ่งหัวออกไปฮุบเหยื่อ ที่ว่ายไปมาหน้าโพรงนั้น เวลาน้ำในบึงหนองเหือดแห้งในฤดูแล้ง ตะพาบน้ำทำโพรงอยู่ใต้ดินได้นานจนกว่าฝนจะมา
                        การดูชนิดของตะภาพน้ำมักถือเอาลักษณะกระดูกหัวเป็นหลัก ลักษณะภายนอกที่เห็นด้วยตาง่าย ๆ แบ่งตะพาบน้ำได้เป็นห้าชนิดคือ ตะพาบน้ำธรรมดา ตะพาบหัวทู่ ตะพาบหลังสายกะรัง ตะพาบหลังยาว และตะพาบหลังวงแหวนหรือตะพาบน้ำสี่วง        ๑๒/ ๗๖๖๕
                ๒๒๐๒. ตะเพียน - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักกันดีและนิยมบริโภคกันมานานแล้ว มีขนาดต่าง ๆ กัน ปลาตะเพียนมีอยู่มากทั้งชนิด และปริมาณและยังจัดได้ว่ามากที่สุดในบรรดาปลาน้ำจืด ทั้งหลายของเมืองไทย เป็นปลาที่อดทนต่อดิน ฟ้า อากาศดี ไม่ชอบอยู่เป็นฝูง นอกจากในฤดูผสมพันธุ์ ชอบกินพืชเป็นอาหาร
                        ลักษณะรูปร่างมีลำตัวแบนข้างมีหนวดสั้น ๆ ๑ - ๒ คู่ มีเกล็ดสีขาวเงิน หางแฉก ส่วนมากปลาตะเพียนมักมีสีขาว ปลาตะเพียนมีหลายชนิดด้วยกัน บางชนิดอาจมีชื่ออื่น ๆ ต่างกันอีก เช่น ตะเพียนขาว ตะเพียนทอง ตะเพียนหางแดง และตะเพียนทราย เป็นต้น        ๑๒/ ๗๖๗๐
                ๒๒๐๓. ตะโพน  เป็นเครื่องดนตรีไทยอย่างหนึ่งในประเภทประกอบจังหวะ จำพวกขึ้นหน้าด้วยหนังสองหน้า ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุนหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้กระท้อน ทำเป็นท่อนกลม กลางป่องตัดหัวท้าย เหมือนไข่ไก่ตัด ยาวประมาณ ๔๕ ซม. ขุดให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยหนังลูกวัว ตรงขอบหนังที่ขึ้นหน้ามีหนังพันตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ ถักโดยรอบเรียกว่า "ไส้ละมาน" มีหนังตัดเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "หนังเรียด" ร้อยในช่องถักของไส้ละมาน ขึงไปมาระหว่างหน้าทั้งสอง หุ้มรอบตัวตะโพนจนแลไม่เห็นเนื้อไม้ สำหรับโยงเร่งเสียง ตรงกลางตัวตะโพนใช้หนังเรียดพันหลาย ๆ รอบ พองามเรียกว่า "รัดอก" ตรงรัดอกด้านบนทำเป็นหูด้วยหนังสำหรับหิ้ว หน้าตะโพนทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน หน้าหนึ่งใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กว้างประมาณ ๒๕ ซม. เรียกว่า "หน้าเท่ง" อีกหน้าหนึ่งเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๒ ซม. เรียกว่า "หน้าปัด" มีเท้าทำด้วยไม้สูงพอสมควร
                        โดยปรกติตะโพนบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับจังหวะ "หน้าทับ" และเป็นเครื่องนำให้กลองทัดตี การตีนำกลองทัดนี้เรียกว่า "ท้าว" ในการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขนละคร ตะโพนมีหน้าที่สำคัญมาก จะเป็นหัวใจของการรำ จะต้องตีให้เข้ากับท่ารำอย่างสนิทสนมทุก ๆ ท่า
                      ตะโพนมอญ  รูปร่างลักษณะเหมือนกับตะโพน (ไทย) ทุกประการ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวหุ่นไม่ป่องตรงกลาง เพียงแต่ป่องนิด ๆ ตรงใกล้หน้าใหญ่         ๑๒/ ๗๖๗๔
                ๒๒๐๔. ตะเภา ๑ - ลม  เป็นคำไทยโบราณใช้เรียกลมชนิดหนึ่ง ซึ่งพัดมาจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางเหนือ ในกลางฤดูร้อน ลมนี้เป็นลมพัดพาเรือใบบรรทุกสินค้าจากเมืองจีนเข้ามาสู่อ่าวไทย ในระยะเวลาดังกล่าวด้วยเรือดังกล่าวชาวบ้านเรียกว่า เรือสำเภา หรือเรือตะเภา จึงเรียกชื่อลมไปตามชื่อเรือ ลมสำเภาหรือลมตะเภา
                       ในทางอุตุนิยมวิทยาลมตะเภา คือลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง ลมนี้มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแปซิฟิก เป้นลมประจำทิศพัดเข้าสู่ประเทศไทยเป็นประจำ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมาายนของทุกปี เป็นลมร้อนและมีความชื้นสูง
                       ลมตะเภาจะแรงมากตามชายฝั่งในตอนบ่ายและเย็น เพราะได้รับแรงสมทบจากลมทะเล ซึ่งพัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง ในตอนกลางคืนลมนี้จะอ่อนลงจนถึงเงียบสงบ เพราะมีลมบกพัดจากแผ่นดินออกสู่ทะเลพัดต้านไว้     ๑๒/ ๗๖๗๗
                ๒๒๐๕. ตะเภา ๒ - ไก่  ไก่ตะเภามีหางสั้นและแผ่กว้างที่ฐาน เหนียงสั้นและกลม รูปร่างอ้วนใหญ่ ไก่ตะะเภามีแหล่งเดิมอยู่ในเมืองจีน เข้าใจว่าคงเป็นกวางตุ้ง        ๑๒/ ๗๖๗๙
                ๒๒๐๖. ตะเภา ๓ - ปลา  เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาสีกรุด มีรูปร่างค่อนข้างป้อม หน้าผากทู่ ครีบหลังติดกันเป็นอันเดียว เส้นข้างตัวมี ๘๘ - ๑๐๐ เกร็ด เมื่อยังเล็กอยู่มีแถบยาวไปตามตัวสอง - สามแถบ ครั้นโตขึ้นแถบนั้น จะเปลี่ยนไปกลายเป็นจุด        ๑๒/ ๗๕๗๙
                ๒๒๐๗. ตะเภา ๔ - หนู  เป็นหนูชนิดหนึ่ง ขนปุกปุยไม่มีหาง ดูเผิน ๆ คล้ายหนู ตัวป้อม หูสั้น ขาสั้น หางไม่ยาว มีลายและสีต่าง ๆ กันมาก เรานำมาเลี้ยงเพื่อใช้ทดลองในทางการแพทย์        ๑๒/ ๗๖๘๐
                ๒๒๐๘. ตะเภา ๕ - อ้อย เป็นอ้อยชนิดหนึ่งมีลำใหญ่พองในระหว่างข้อที่ไม่ยาวนัก เนื้อเปราะ         ๑๒/ ๗๖๘๐
                ๒๒๐๙. ตะเภาแก้ว  เป็นชื่อนางในวรรณคดีเรื่องไกรทอง เป็นบุตรสาวเศรษฐีในเมืองพิจิตรคู่กับตะเภาทอง ผู้เป็นพี่สาว (ดูไกรทอง - ลำดับที่ ๖๖๕ ประกอบ)          ๑๒/ ๗๖๘๑
                ๒๒๑๐. ตะเภาทอง  เป็นชื่อลูกสาวเศรษฐีเมืองพิจิตร เป็นพี่สาวของตะเภาแก้ว (ดูไกรทอง - ลำดับที่ ๖๖๕ ประกอบ)          ๑๒/ ๗๖๘๖
                ๒๒๑๑. ตะมอย - ฝี  เป็นฝีที่เกิดจากการอักเสบโดยเชื้อจำพวก สแตไฟโลคอกคัส แดงปลายนิ้วส่วนด้านหน้ามือ การอักเสบดังกล่าวเริ่มโดยมีสิ่งแหลม ๆ เช่น หนามตำ ที่ปลายนิ้วมือ และนำเชื้อโรคเข้าไปภายในแล้วเจริญงอกงามเกิดหนองขึ้น ในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นที่ที่ไม่มีทางให้หนองไหลออก ทำให้หนองคั่งอยู่ในบริเวณนั้น ก่อให้เกิดอาการปวดอย่างมาก ๆ อาการปวดจะเพิ่มขึ้นตามลำดับและมีความรุนแรง
                        ถ้าตรวจดูที่ปลายนิ้วมือ จะพบว่าปลายนิ้วบวม แข็งตึง กดเจ็บ มีลักษณะสีแดง กระดิกนิ้วจะรู้สึกเจ็บมาก ต้องรีบรักษาทันที มิฉะนั้น จะลุกลามลึกลงไปถึงกระดูกนิ้วมือ อาจทำให้เกิดกระดูกอักเสบได้         ๑๒/ ๗๖๘๗
                ๒๒๑๒. ตะรังกะนุ  (ดูตรังกานู - ลำดับที่ ๒๐๙๕)          ๑๒/ ๗๖๘๘
                ๒๒๑๓. ตะรังตัง  เป็นชื่อใช้เรียกพันธุ์ไม้มีพิษที่ทำให้เกิดระคายเคืองเป็นผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อนขึ้น กับผิวเนื้อหนังของมนุษย์เมื่อถูกสัมผัส ในเมืองไทยเรียกกันว่า ตะรังตังช้าง เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก มีใบค่อนข้างใหญ่ ที่ขอบมีหนามแหลม เมื่อตำผิวเนื้อแล้วจะคายพิษทำให้เกิดเป็นผื่นคัน และปวดแสบปวดร้อน
                        อีกชนิดหนึ่งเรียกกันว่า ตะรังตังกวาง เป็นไม้เถา มีขนแข็งคลุมทั่วทั้งต้น เมื่อถูกผิวหนังเข้าแล้วจะเป็นผื่นคันทันทีเช่นกัน         ๑๒/ ๗๖๘๘
                ๒๒๑๔. ตะลิงปลิง - ต้น  เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง สูงประมาณ ๓ - ๑๐ เมตร ใบมักเห็นเหลือเป็นกระจุกที่หลายกิ่งเท่านั้น เป็นแบบใบผสมออกสลับกันมีใบย่อยราว ๕ - ๑๘ คู่ รูปใบย่อยเรียวโค้งถึงรูปปลายหอก ช่อดอกแตกหลายแขนงค่อนข้างสั้น ออกเป็นกระจุกตามใกล้แผลใบเก่าตามกิ่งแก่ และตามลำต้นจนเกือบถึงดิน ดอกเล็กสีแดงม่วง ผลมีรูปและขนาดล้ายแตงกวาขนาดเล็ก มักดูเป็นเหลี่ยมห้าเหลี่ยม ผิวสีเขียว รสเปรี้ยว ผลตะลิงปลิงใช้ตำน้ำพริก และทำเป็นของหวานแช่อิ่ม         ๑๒/ ๗๖๘๘
               ๒๒๑๕. ตะลีตะลาน  เป็นมดขนาดปานกลาง เป็นมดที่วิ่งได้เร็ว และมีความว่องไวกว่ามดทั่วๆ ไป ในประเทศไทยมดนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยดัน เป็นมดไม่มีพิษ ไม่กัดคน         ๑๒/ ๗๖๘๙
                ๒๒๑๖. ตะลุง - หนัง  เป็นมหรสพอย่างหนึ่ง ที่แสดงรูปด้วยหนัง เป็นที่นิยมกันมาก ในจังหวัดภาคใต้ของไทย จนถือได้ว่าเป็นมหรสพประจำภาคใต้ เช่นเดียวกับมโนราห์ มีแบบแผนการแสดงดังนี้
                      ตัวหนัง  ใช้หนังวัว และฉลุสลักให้เป็นตัวแสดงในเรื่อง เช่น พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ และอุปกรณ์ประกอบเรื่อง เช่น ต้นไม้ ราชรถ มีลายกระหนกสอดแทรก
                      คนเชิดหนัง  โดยปรกติเป็นเจ้าของคณะซึ่งเชิดหนังเอง ร้องและเจรจาเอง เรียกกันว่า นายหนัง
                        โรง ปลูกยกพื้นสูงพอเหมาะกับสายตาคนอื่นดู เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าขึงจอซึ่งทำด้วยผ้าขาว ทาบริมแดงโดยรอบ ด้านข้างและด้านหลังกั้นฝามิดชิด คนเชิดหนัง นักดนตรี และคณะผู้แสดงอยู่ในโรงทั้หมด
                      ดนตรี  มีปี่ ๑ เลา ทับ (หรือโทน) ๑ คู่ ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกโหม่ง) กลอง (ขนาดย่อม) ฉิ่งและฉาบ โทน (ปัจจุบันทางภาคใต้ทำเป็นรูปคล้ายกลองแขกแต่ขนาดสั้น) ฆ้องคู่
                      อุปกรณ์การแสดง  มีต้นกล้วยตัดหัวท้ายวางทอดภายในด้านล่างของจอต้นหนึ่ง สำหรับปักธูปเวลาแสดง และอีกสองต้นวางชิดฝาผนังด้านข้างทั้งสอง สำหรับมัดรูปที่เตรียมไว้แสดง โคมไฟสองดวงห้อยห่างจากจุดประมาณ ๓๐ ซม.
                      เรื่องที่แสดง  สมัยโบราณแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว ปัจจุบันในภาคใต้แสดงเรื่องประเภทเทพนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ แต่ในภาคกลางแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว
                      วิธีแสดง  ภาคใต้เริ่มเอาหนังตัวใดตัวหนึ่งหรือรูปต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ปักทาบจอไว้ แล้วดนตรีก็บรรเลงโหมโรง จนกว่าจะถึงเวลาแสดง จึงเอารูปตัวนั้นเข้า เริ่มแสดงด้วยออกรูปฤษีซึ่งถือเป็นครู จากนั้นจึงออกรูปพระอิศวร ทรงโคอุสุภราช ต่อไปเปลี่ยนเป็นตัว "หน้าบท" เป็นภาพมนุษย์หนุ่มแต่งกายอย่างละครรำ สวมกรอบหน้า ผู้เชิดกล่าวคำบูชาครูบาอาจารย์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธ์ เป็นคำกลอน จากนั้นหนังตัวอำมาตย์ตัวหนึ่ง โดยมากมักจะใช้ตัวที่มีชื่อเมือง หรือขวัญเมืองออกมาบอกเรื่องราวที่จะแสดงตอนเหล่านี้เรียกว่าเป็นตอนเบิกโรง จากนั้นจึงจะเริ่มแสดงเรื่องต่าง ๆ โดยจับเรื่องตั้งแต่ตั้ง "เมือง" เป็นต้นไป
                        ถ้าจะแสดงเรื่องรามเกียรติ์ก็มีวิธีเบิกโรงอยู่สองแบบแบบหนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้ว อีกแบบหนึ่ง เบิกโรงด้วยแสดงชุด จับลิงหัวค่ำ คือการต่อสู้ระหว่างลิงขาวกับลิงดำ  สำหรับทางภาคกลางเบิกโรงด้วย "เบิกหน้าพระ" และ "จับลิงหัวค่ำ" เริ่มต้นด้วยปักหนังตัวฤาษีไว้กลาง มีภาพพระอิศวร พระนารายณ์ ท่าแผลงศรอยู่สองข้างแล้วผู้เชิดจึงพากย์ไว้เทพเจ้าและเอาหนังตัวพระอิศวร พระนารายณ์ ประลองฤทธิ์กัน ตอนนี้เรียกว่า เบิกหน้าพระ ต่อจากนั้นจึงแสดงชุดจับสิงหัวค่ำโดยเชิดตัวลิงดำ และลิงขาว ออกกันคนละทีแล้วจีงพบและรบกัน ลิงขาวจับลิงดำได้ จะนำไปฆ่า ไปพบพระฤษีได้ขอชีวิตไว้แล้วปล่อยตัวไป
                        หนังตลุงภาคใต้ในจังหวัดที่เป็นไทยอิสลามเรียก "วายังกุลิต" การแสดงก็คล้ายคลึงกันหากแต่ใช้ภาษามลายู เป็นพื้นและเครื่องดนตรีบางอย่างก็มีรูปร่างลักษณะผิดแปลกกันไปบ้าง
                        ส่วนหนังตลุงของมลายูนั้น การแสดงก็คล้ายคลึงกับของไทย และแสดงเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเข้าใจว่าจะถอดแบบไปจากไทย จึงเรียกว่า "วายังเซียม"
                        คำว่าตะลุง นี้นอกจากจะเป็นชื่อหนัง ซึ่งเป็นมหรสพอย่างหนึ่งแล้ว ในสมัยโบราณยังมักเรียกอาณาจักรภาคใต้ว่า "เมืองตะลุง"         ๑๒/ ๗๖๙๐
                ๒๒๑๗. ตะลุ่ม  มีคำนิยามว่า "ภาชนะสำหรับใส่ของแทนถาดหรือพาน"
                        ตะลุ่มกับพานต่างกันคือ ตะลุ่มมีเชิง ส่วนถาดไม่มีเชิง ตะลุ่มกับพาน ต่างกันที่ตรงมีขอบบนหรือปาก ตะลุ่มเป็นโค้งงุ้ม เข้าไปข้างใน แต่ปากพานไม่โค้งเช่นนี้ แต่จะโค้งผายออกนอก
                        เดิมตะลุ่มเป็นของใช้ประจำวัด เสมือนเป็น "สำรับ" ของพระสงฆ์ ตามปรกติใช้กับ โอ เพื่อให้ใช้เกื้อกูลกับบาตร
                        ตะลุ่มมีหลายขนาดทั้งรูปทรงกลมและทรงเหลี่ยม ชาวบ้านทั่วไปไม่ใช้ตะลุ่มเป็นเครื่องใช้ประจำบ้านเหมือนถาดและพาน จะมีใช้บ้างตามวังเจ้านาย และตามบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บ้านคหบดีผู้มีฐานะ ทางเมืองเขมร และทางแถบเมืองจันทบุรีของไทยเรียกตะลุ่มว่า เตียบ ตะลุ่มนั้นจะใช้มากในกรณีที่เกี่ยวกับพระสงฆ์
                        การใช้ตะลุ่มได้มีมาแต่โบราณ การผลิตตะลุ่มสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีการประดับมุกแล้ว         ๑๒/ ๗๖๙๘
                ๒๒๑๘. ตะลุ่มโปง - เพลง  เป็นเพลงไทยของเก่ามีครบทั้งสามอัตรา โดยเฉพาะอัตราชั้นเดียวกับ สองชั้น เป็นเพลงที่ใช้ร้องประกอบการแสดงละคร และบรรเลงมโหรีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
                        ชื่อเพลงที่ตั้งว่า "ตะลุ่มโปง" นั้นท่านผู้แต่งคนแรกอาจตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำบลหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นได้ เพราะมีวัดหนึ่งอยู่ใกล้กับบ้านดอนกำยานชื่อวัดตะลุ่มโปง
                        เมื่อเกิดการแสดงลิเกขึ้นในสมัยรัชการที่ห้า เพลงตะลุ่มโปงชั้นเดียวได้เป็นเพลงหนึ่งที่ใช้ร้องเป็นประจำอยู่ในการแสดงลิเกคู่กับเพลงหงส์ทอง        ๑๒/ ๗๗๐๓
                ๒๒๑๙. ตะลุมพุก - ปลา  เป็นปลาอยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว เวลาจะวางไข่จะเข้ามาในน้ำจืด ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์         ๑๒/ ๗๗๐๕
                ๒๒๒๐. ตะเลง เป็นชื่อที่ใช้เรียกชาติมอญอีกชื่อหนึ่ง ชนชาติมอญนับเป็นศัตรูคู่แข่งแย่งความเป็นใหญ่กับชนชาติพม่ามาเป็นเวลาช้านาน ในที่สุดชนชาติมอญเป็นฝ่ายแพ้และต้องตกอยู่ในปกครองของพม่าเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้พวกพม่าจึงเรียกชนชาติมอญว่า "ตะเลง" โดยให้ความหมายว่า ผู้ที่ถูก (พม่า) เหยียบย่ำ หรือผู้แพ้
                        มีบางท่านสันนิษฐานว่า คำตะเลงน่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่าไตลิคะ ว่าในสมัยโบราณชาวกลิงค์จากอินเดียเคยอพยพข้ามทะเล ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามชายฝั่งของประเทศพม่า ซึ่งในสมัยโน้นเป็นประเทศมอญ มีภาษาอยู่ในตระกูลทราวิท        ๑๒/ ๗๗๐๖
                ๒๒๒๑. ตะเลงพ่าย  เป็นชื่อวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิดชิโนรส สมเด็จพระสังฆราช วรรณคดีเรื่องนี้แต่งเป็นลิลิต มีเนื้อความตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระนเรศวร ฯ ตะเลงพ่ายมีลีลาการแต่งในทำนองมหากาพย์ คือ สรรเสริญวีรกรรมของวีรกษัตริย์ไทย        ๑๒/ ๗๗๑๒
                ๒๒๒๒. ตะไล  เป็นดอกไม้ไฟชนิดหนึ่งมีปีกเป็นวงกลม ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ข้างในกระบอกบรรจุด้วยดินปืน ซึ่งทำขึ้นเองจากดินประสิวและถ่านไม้ นิยมทำร่วมกับดอกไม้ไฟชนิดอื่น ๆ เช่น จรวด กรวด หรือตรวด (บ้องไฟหรือบั้งไฟ) อ้ายตื้อเป็นต้น ในงานเทศกาลต่าง ๆ หรือ เป็นการบูชา และว่าตะไลเป็นคำภาษามอญ         ๑๒/ ๗๗๑๒
                ๒๒๒๓. ตักโกละ  คำตักโกละปรากฎอยู่ในหนังสือของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งเขียนขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๗ ว่าเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญ ในภาคเอเซียอาคเนย์ ชื่อนี้ได้ปรากฎอยู่ เช่นกับในคัมภีร์มหานิทเกส ภาษาบาลีซึ่งแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๘ และในหนังสือมีสินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นในระยะเดียวกัน นอกจากนั้น จึงปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่เมืองตันชอร์ ทางภาคใต้ของอินเดียในระหว่าง พ.ศ.๑๕๗๓ - ๑๕๗๔ ว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าราเชนทรโอฬะที่ ๑ แห่งอาณาจักรโอฬะ ทางภาคใต้ของอินเดียร ทรงยกทัพเรือมาปราบปรามได้
                        คำว่าตักโกละ มีผู้แปลว่าตลาดกระวาน และกล่าวว่าตรงกับอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา บนฝั่งทะเลตะวันตกทางภาคใต้ของไทย ที่เกาะคอเขาตรงข้ามอำเภอตะกั่วป่า ได้ค้นพบลูกปัดและเศษเครื่องถ้วยชาม และที่ อ.ตะกั่วป่า ก็ได้ค้นพบประติมากรรมศิลาขนาดใหญ่ แสดงถึงฝีมือช่างอินเดียภาคใต้ในสมัยราชวงศ์ปัลละวะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พร้อมกับศิลาจารึกภาษาทมิฬ ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓        ๑๒/ ๗๗๑๙
               ๒๒๒๔. ตั๊กแตน เป็นแมลงพวกหนึ่ง เป็นแมลงที่มีลำตัวขนาดต่าง ๆ กัน อาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ ปากเป็นแบบกัดและเคี้ยวกิน ตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่บนบก มีรูปร่างคล้ายคลึงกับตัวโตเต็มไวมาก
                        ชื่อที่ใช้เรียกตั๊กแตนในภาคต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปตามสำเนียงในท้องถิ่น มีการแบ่งตั๊กแตนออกไปหลายพวกหลายเหล่า และให้ชื่อต่าง ๆ กัน ได้แก่ตั๊กแตนหนวดสั้น ตั๊กแตนผี ตั๊กแตนขาแดง ตั๊กแตนขาลาย ตั๊กแตนข้าว ตั๊กแตนปาทังกา  ตั๊กแตนหิน ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้ ตั๊กแตนหนวดยาว ตั๊กแตนใบอโศก ตั๊กแตนดอกหญ้า         ๑๒/ ๗๗๑๙
                ๒๒๒๕. ตักสิลา  เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นคันธาระแห่งอินเดียโบราณ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป ตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้ภูเขามูรี บนพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำเชลุม ปัจจุบันเหลือแต่ทรากปรักหักพัง
                        ในสมัยโบราณนครตักสิลา เป็นที่ชุมทางสายสำคัญถึงสามสาย สายที่หนึ่งมากจากฮินดูสถานและจากภาคตะวันออกของอินเดีย โดยเริ่มต้นจากนครปาฎลีบุตร ผ่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจักรวรรดิ์เมารยะ สายที่สองตั้งต้นจากเอเซียตะวันตกผ่านนครบักเตรีย กาบิสี และปุษกลาวดี ผ่านแม่น้ำสินธูมาสิ้นสุดที่นครตักสิลา สายที่สามตั้งแต่แคว้นกัษมีระ ผ่านมาทางที่ราบระหว่างหุบเขาซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองศรีนครในปัจจุบันมาถึงที่ราบหริปุระตรงไป ยังนครตักสิลา
                        ตักสิลาสมัยที่ยังรุ่งเรืองเคยเป็นราชอาณาจักร มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทือกภูเขากัษมีระ ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสินธู ทิศตะวันออกจดแม่น้ำเชลุม ทิศใต้จดแม่น้ำเชนาบและปันชนาด
                        ในวรรณคดีโบราณของอินเดีย คัมภีร์รามายณะกล่าวว่า พระภรตราชโอรสพระนางไกยเกยี (สี) ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระรามได้ทรงสร้าง นครตักสิลาขึ้น และให้พระโอรสไปครอง คัมภีร์มหาภารตกล่าวว่า พระเจ้าชนเมชัยกรีธาทัพไปตีนครตักสิลาได้ ตักสิลาน่าจะมีอายุพอ ๆ กับนครพาราณสี ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันปี
                        พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงกรีธาทัพเข้าบุกอินเดียในปี พ.ศ.๒๑๖ และตีได้เมืองตักสิลา และก่อนจะทรงยกทัพออกจากอินเดียก็ได้ทรงตั้งนายทหารชื่อ ฟิลิป อยู่ควบคุมดูแลตักสิลา
                        ประมาณปี พ.ศ.๒๒๖ กองทัพของจันทรคุปต์ก็สามารถขับไล่กองทัพกรีกที่เหลืออยู่ในอินเดียออกไปจนหมด และเริ่มต้นจักรวรรดิ์เมารยะ เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๕๔ ทินทุสาร ราชโอรสขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ส่งเจ้าชายอโศก ราชโอรสไปปกครองตักสิลาเมื่อพระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ส่งเจ้าชายนกุละ ราชโอรสไปปกครองตักสิลา
                        เมื่อพระภิกขุเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ไปสืบศาสนาในอินเดียระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๒ - ๑๑๘๘ นครตักสิลากำลังอยู่ในยุคที่เสื่อมโทรมและในที่สุดก็ดับสูญไป
                        ตักสิลาสมัยรุ่งเรืองมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการมาก วรรณคดีพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีชาดกได้พูดถึงตักสิลาบ่อย ๆ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษามาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาการเรียกกันว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในทิศ วิชาที่สอนกัน มีไตรเพทและศิลปศาสตร์ ๑๘ อย่าง           ๑๒/ ๗๗๓๕
                ๒๒๒๖. ตัง  คือยางไม้ที่ผสมกับสิ่งอื่นๆ แล้วทำให้เหนียว ใช้สำหรับดักนกและสัตว์เล็ก ๆ ยางไม้นั้นนิยมใช้ยางโพ ยางมะเดื่อ ยางขนุน ยางลั่นทม แล้วนำมาประสมกับน้ำมันยางที่ข้น         ๑๒/ ๗๗๔๒
                ๒๒๒๗. ตังเกี๋ย  ๑. ชื่อเมืองหลวงของราชวงศ์ตั้งฮั่น และราชวงศ์อื่น ๆ อีกหลายราชวงศ์ ตั้งอยู่ที่เมือกลกเจี๋ยง
                        ๒. ชื่อดินแดนในเมืองไคฮง (ไคฟง) ในมณฑลฮ่อหนำ เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงสมัยปลายราชวงศ์ถัง เมืองไคฮงมีชื่อเสียงมาก ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ผู้ว่าราชการเมืองไคฮงชื่อ เปาบุ้งจิง (เปาบุ้นจิ้น) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถมากในการปกครอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม (ดูเปาบุ้นจิ้น - ลำดับที่...)
                        ๓. ดินแดนในฮานอย ตามประวัติศาสตร์จีนเรียกเมืองนี้ว่า เกาจี้ สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองอินโดจีนตั้งเป็นจังหวัดตังเกี๋ย มีอาณาเขตจดประเทศจีน
                        ๔. ชื่ออ่าวอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง แถบบริเวณเกาะไหหลำ และแหลมหลุ่ยจิวจดเวียดนาม
                        ๕. ชื่อเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ภาษาจีนเรียกว่า ตังเกี๋ย ภาษาไทยเรียกว่า โตเกียว
                        ๖. ชื่ออ่าวในนครโตเกียวประเทศญี่ปุ่น      หน้า ๗๗๔๓
                ๒๒๒๘. ตังจิ้น  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน แบ่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกเรียกว่า ไซจิ้น ยุคหลังเรียกว่า ตั้งจิ้น (ดูจิ้น - ลำดับที่ ๑๔๐๖ ประกอบ)         ๑๒/ ๗๗๔๕
                ๒๒๒๙. ตั๋งโต๊ะ  เป็นชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เป็นนายทหารในรัชสมัยพระเจ้าหวังตี่แห่งยุคตั้งฮั่น (ดูตั้งฮั่น - ลำดับที่ ๒๒๐๐ ประกอบ) ถึงรัชสมัยพระเจ้าเหล่งตี่ได้เลื่อนยศเป็นนายพลและเป็นข้าหลวงมณฑลเป่งจิว เมื่อพระเจ้าเหล่งตี่ สวรรคต พวกขันทีถือโอกาสกุมอำนาจการปกครองไว้ ตั๋งโต๊ะปราบพวกขันทีได้สำเร็จ แล้วสถาปนาพระเจ้าเหี้ยงตี่ขึ้นครองราชย์และสถาปนาตนเองเป็นอัครมหาเสนาบดี ตั๋งโต๊ะเป็นบุคคลที่ประพฤติมิชอบ เป็นที่เดือดร้อนแก่บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน จึงมีกลุ่มข้าราชการทั้งทหาร และพลเรือนยกกองทัพมาปราบ ตั๋งโต๊ะได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเฉียงอัน มณฑลเซียมไซ พร้อมทั้งนำตัวพระเจ้าเหี้ยงตี่ไปเป็นประกัน และมีดำริจะครองราชย์เสียเอง อ่วงยุ่ง (อ้องอ้น) จึงคิดอุบายให้นางเตี่ยวเสี้ยนผู้เลอโฉมไปมอบตัวเป็นนางบำเรอแก่ตั๋งโต๊ะ และให้ลิโป้ลอบสังหารตั๋งโต๊ะได้สำเร็จ        ๑๒/ ๗๗๔๕
                ๒๒๓๐. ตั้งฮั่น  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน (พ.ศ.๕๖๘ - ๗๖๓) นับเป็นยุคหลังของราชวงศ์ฮั่นโดยที่ราชวงศ์ฮั่นแบ่งเป็นสองยุค ยุคแรกเรียกว่าไซฮั่น ยุคหลังเรียกว่า ตั้งฮั่น ราชวงศ์ไซฮั่นสิ้นสุดลงเมื่อขุนนางผู้หนึ่งเป็นขบถเข้ายึดราชบัลลังก์ ต่อมาเล่าสิ่วซึ่งสืบสกุลจากกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นสามารถปราบขบถได้ จึงสถาปนาตนขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตั้งฮั่น แล้วย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองลกเอี๋ยง ในมณฑลฮ่อหนำ
                        ราชวงศ์ตั้งฮั่นมีกษัตริย์รวม ๑๒ องค์ องค์แรกคือ พระเจ้ากวงบู้ พระนามเดิมว่า เล่าสิ้ว องค์สุดท้ายคือพระเจ้า เหี้ยงตี่ ครองราชย์ได้ ๓๐ ปี โจผี บุตรโจโฉบังคับให้พระองค์สละราชบัลลังก์ รวมระยะเวลาครองราชย์ของราชวงศ์ตั้งฮั่น ๑๙๖ ปี         ๑๒/ ๗๗๔๖
                ๒๒๓๑. ตัณหา โดยรูปคำแปลว่า ความอยาก ความโลภ ได้แก่ ความอยาก ความโลภในอารมณ์ โดยความได้แก่ความปรารถนา ความดิ้นรน ความเสน่หา ความอยากได้อย่างแรงที่เรียกว่า ทะยาน ว่าดิ้นรนในอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมดาที่เกิดกับใจ
                        ตัณหาเมื่อจัดตามประเภทอารมณ์ดังกล่าว จึงเป็นตัณหา ๖ คือ รูปตัณหา สัทตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา ไผฏฐัพตัณหา และธัมมตัณหา
                        ตัณาหาทั้ง ๖ นี้ เมื่อว่าโดยอาการที่เป็นไปในอารมณ์แบ่งเป็นสามอย่าง คือ
                        ๑. กามตัณหา ได้แก่ ความอยากในกาม คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าติดใจ ความอยากได้ในกามธาตุ หรือกามภพ (ดูภพ - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย)
                        ๒. ภวตัณหา ได้แก่ ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ โดยประกอบด้วยภวทิฐิ หรือสัสตทิฐิ คือเห็นว่าอารมณ์หรือตนหรือโลกเป็นของเที่ยง ยั่งยืนเสมอไป ความอยากเป็นอยู่ในภพที่เกิดด้วยอำนาจความอาลัย และความอยากเกิดในภพที่ปรารถนาต่อไป ความอยากเป็นนั้นเป็นนี่ สงเคราะห์เข้าในประเภทนี้ด้วย อีกอย่างหนึ่งได้แก่ความอยากในรูปธาตุ และอรูปธาตุ หรือรูปภพและอรูปภพ
                        ๓. วิภวตัณหา ได้แก่ ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่โดยประกอบด้วยอุจเฉกทิฐิ คือเห็นว่าอารมณ์หรือตนหรือโลกเป็นของสูญ
                    เมื่อว่าโดยพิศดาร ตัณหานั้นมีถึง ๑๐๘ อย่าง         ๑๒/ ๗๗๔๗
                ๒๒๓๒ ตัตวศาสตร์  เป็นวิชาที่ว่าด้วยสาเหตุและกฏของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราเรียกว่าปรัชญาเป็นเรื่องที่นักปรัชญาชาวอินเดียสำนักต่าง ๆ ได้ศึกษาค้นคว้ามาทุกยุคทุกสมัย ได้แต่งหนังสือบรรยายไว้มากมายใช้ชื่อต่างๆ  กัน แต่มีคำว่าตัดวะนำหน้า
                        ในปรัชญาสางขยะกล่าวถึงตัตวะไว้ว่ามี ๒๕ อย่าง ในปรัชญาเชนกล่าวถึงตัตวะไว้ว่ามี ๒ ก็มี ๕ ก็มี และ ๗ ก็มี ในพุทธปรัชญากล่าวถึงตัตวะ ๖ หรือธาตุ ๖ คือมโนธาตุ อากาศธาตุ และวัตถุธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
                        สรุปความว่า ตัตวะหรือหลักการนี้คือ สัจธรรม สภาวธรรม หรือความจริงขั้นสูงสุดเกี่ยวกับคน โลก และพระเจ้า หรืออมฤดภาพ ซึ่งเป็นเนื้อหาของอภิปรัชญานั้นเอง        ๑๒/ ๗๗๕๐
                ๒๒๓๓. ตักยศึกษา  เป็นการศึกษาแบบที่นิยมกันในหลายประเทศในทวีปยุโรป เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓
                        มีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากการฟื้นฟูวิชาความรู้ตามแบบมนุษยธรรมในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ ๒๑ และการปรับปรุงสังคม และคริสต์ศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ๒๒ การฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่เดิมมีความมุ่งหมายที่จะสอนให้ความรู้ภาษา และวรรณคดีกรีก และลาตินภายหลังปรากฏมุ่งสอนภาษา และวรรณคดีดังกล่าวแคบเข้าตามแบบสำนวนโวหารของซิเซโร การปฏิรูปศาสนาก็กำหนดคำสั่งสอน และวิธีสอนไว้ในวงจำกัดเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีผู้สนใจในการศึกษา เสาะแสวงหาวิชาความรู้ที่จะฝึกฝนให้สติปัญญาแตกฉาน จึงได้ริเริ่มศักยศึกษาขึ้น ซึ่งเป็นแบบที่มีจุดประสงค์สอนเนื้อหาอย่างแท้จริงของวิชาความรู้ โดยใช้เหตุผลหรือประสาทสัมผัสได้ดีกว่า โดยอาศัยความจำ และประเพณีนิยม ตักยศึกษาแบ่งออกเป็นสามสาขาคือ ตักยธรรม เกี่ยวกับมนุษยธรรม ตักยธรรมเกี่ยวกับสังคม และตักยธรรมเกี่ยวกับประสาทสัมผัส       ๑๒/ ๗๗๕๓

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch