หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/50
     ๒๑๔๔. ตวัษตฤ  เป็นชื่อเทพศิลปินองค์หนึ่งในคัมภีร์พระเวท ว่ามีรูปร่างสง่างามมาก สามารถแปลงเพศได้ต่าง ๆ นานา สามารถออกแบบรูปได้ทุกอย่าง เป็นเทพที่มีความชำนาญในการก่อสร้างมาก เป็นผู้สามารถชุบชีวิตและทำชีวิตให้ยั่งยืนนานได้ เป็นเทพผู้สร้างและคุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นเทพผู้สร้างสวรรค์ โลกมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย ครั้งเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า เป็นเจ้าแห่งจักรวาล เป็นผู้พิทักษ์ เป็นนายกแห่งเทวโลกองค์แรก          ๑๒/ ๗๕๔๓
                ๒๑๔๕. ต่อ - ตัว  เป็นแมลงพวกหนึ่ง คล้ายกับตัวแตนมาก สังเกตุความแตกต่างที่ขนาดของลำตัว ถ้าลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ขึ้นไป เรียกว่า ตัวต่อ เล็กกว่านี้เรียกว่า ตัวแตน
                        ตัวต่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยได้แก่ต่อหลุม มีขนาดลำตัวยาวถึง ๕ ซม. ต่อหลุมนี้มีชีวิตรวมกันอยู่เป็นกลุ่มทำรังอยู่ใต้ดิน เป็นต่อที่ดุร้ายเพราะกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ตั้งแต่สัตว์เล็ก ๆ เช่นแมลงไปจนถึงสัตว์ใหญ่เช่นกวาง ในรัศมีรอบ ๆ รังระยะ ๑๐ เมตร จะมีตัวต่อดูแลเฝ้ารักษารังอยู่ตลอดเวลา
                        ต่อที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยคือต่อหลวง อาศัยอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ทำรังทั้งในป่าและตัวเมือง บางคนเรียกต่อชนิดนี้ว่าต่อหัวเสือ      ๑๒/ ๗๕๔๔
                ๒๑๔๖. ต้อ - โรค  เป็นโรคที่เกิดที่ตา ทำให้ตาพิการมองอะไรไม่เห็นชัดเจน จนกระทั่งทำให้ตาบอดได้ โรคต้อมีหลายชนิด ที่พบบ่อย ๆ คือ
                        ๑. ต้อเนื้อ  พบได้บ่อยและมากที่สุดในคนไทย แต่เป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรงมีอันตรายน้อย มักพบในหมู่คนที่ทำงานตรากตรำ ตาถูกแดด ถูกลม และฝุ่นละอองอยู่เสมอ เป็นโรคของเยื้อตาขาว เนื่องจากการอักเสบทำให้งอกหนาตัวขึ้น มองดูเป็นก้อนเนื้อรูปสามเหลี่ยม ส่วนยอดงอกลามเข้าหากระจกตา แรก ๆ เป็นมักไม่มีอาการอะไรมาก นอกจากมีอาการตาแดง และเคืองตาบ้าง เมื่อลุกลามเข้ากระจกตา จะมีอาการมากขึ้น ถ้าคลุมถึงส่วนกลางของกระจกตาจะบังรูม่านตา ทำให้ผู้ป่วยมองไม่เห็นได้
                        ต้อเนื้อในระยะเริ่มแรก รักษาได้ง่ายมาก โดยหยอดหรือป้ายตาด้วยยาจำพวกสเตรอยด์ ถ้าลุกลามเข้าไปในกระจกตาแล้ว ควรทำการผ่าตัดลอกก้อนเนื้อออกเสีย
                        ๒. ต้อกระจก  เป็นโรคของแก้วตา โดยที่แก้วตาที่เคยใสกลับขุ่น หรือเป็นฝ้าทึบทำให้แสงผ่านเข้าไปไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยมองไม่เห็น
                        การรักษาโดยการผ่าตัดเอาแก้วตาที่ขุ่นฝ้าออก แล้วให้ผู้ป่วยสวมแว่นตาต้อกระจก
                        ๓. ต้อหิน  เป็นโรคต้อที่มีอันตรายมากที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ โดยไม่รู้ตัว ต้อหินเกิดจากมีความดันภายในลูกตาสูงขึ้นผิดปรกติ จนทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะภายในลูกตา เช่น ประสาทตาเป็นต้น
                        ต้อหินมีหลายชนิด เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กัน สำหรับรายที่เกิดในคนชรามักไม่มีอาการรุนแรง เพียงแต่ลานสายตาค่อย ๆ แคบเข้า ๆ และสายตาค่อย ๆ มัว ที่ละน้อย จนในที่สุด ลานสายตาแคบมากและในที่สุดตาบอดสนิท
                        ๔. ต้อข้าวสาร  เป็นโรคต่ออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่กระจกตา เกิดจากการอักเสบทำให้ผิวของกระจกตามีก้อนนูนสีเทาปนขาว ลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสารติดอยู่ที่กระจกตา อาจเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนก็ได้
                        ๕. ต้อตาปู เกิดภายหลังที่กระจกตามีการอักเสบ หรือเป็นแผลเปื่อยอยู่นาน ๆ จนกระจกตาบางส่วนเกิดบางลง และความดันภายในลูกตา จะดันเอากระจกตาส่วนบางนั้นปูดออกมา ลักษณะคล้ายตาของปู ซึ่งเป็นอาการสุดท้ายว่าลูกตาจะแตกปะทุ และทำให้อวัยวะในลูกตาพร้อมที่จะทะลักออกมาได้ ผู้ป่วยมีอาการปวดตามาก ต้องรับการผ่าตัดควักลูกตาออกก่อนที่จะเกิดการปะทุ          ๑๒/ ๗๕๕๐
                ๒๑๔๗. ต๊อก - ไก่  (ดูไก่ต๊อก - ลำดับที่ ๖๕๕)          ๑๒/ ๗๕๕๓
                ๒๑๔๘. ตอง - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีรูปร่างแบนอย่างใบตอง          ๑๒/ ๗๕๕๓
                ๒๑๔๙. ตองกง- หญ้า  เป็นหญ้าขนาดใหญ่ สูงราว ๔ เมตร ใบกว้าง ที่เกาะไหลหลำใช้ห่อข้าว ทำขนม และในบางท้องถิ่น เช่น ชวาใช้ปลูกต่างรั้ว หรือ ทำเป็นฉากกั้น ยอดหรือไปอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ชาวมลายูเรียกว่าไผ่อ้อ และหญ้าไผ่          ๑๒/ ๗๕๕๓
                ๒๑๕๐. ต้องเต  เป็นชื่อการเล่นของเด็กอย่างหนึ่ง เด็กหญิงมักชอบเล่นมากกว่าเด็กชาย
                        สนามเล่นใช้ขีดเส้นบนพื้นให้ชัดเจนกว้างประมาณ ๑ - ๒ เมตร ยาวประมาณ ๔ - ๕ เมตร แบ่งความยาวออกเป็นช่วงเรียกว่า ตาราง ๕ ถึง ๘ ช่วง มีตาเดี่ยวสลับกับตาคู่ ปลายสุดเป็นตาหัวกะโหลกซึ่งจะอยู่ถัดจากด่านสุดท้ายขึ้นไป
                        การเล่นมีฝ่ายละคนจะมีกี่ฝ่ายก็ได้ การเริ่มเล่นให้มีการทอดเบี้ยไปที่ตาหัวกะโหลก ผู้ที่ทอยได้ใกล้ที่หมายที่สุดเป็นผู้ได้เริ่มเล่นก่อน ผู้ที่ทอดได้ห่างออกไป ก็จะได้เข้าเล่นในลำดับต่อไป ๆ กันไป
                        ผู้เล่นจะยืนอยู่นอกเส้นเริ่ม แล้วทอยเบี้ยลงในตาแรก ซึ่งเป็นตาเดียวแล้วเขย่ง (เหยียบพื้นด้วยเท้าข้างเดียว) ลงในตาเดียว และกระโดดคร่อม (เหยียบพื้นด้วยเท้าสองข้างพร้อมกัน) ลงในตาคู่ตามลำดับไปจนถึงตาคู่ที่อยู่ถัดจากตาหัวกะโหลกลงมา จากนั้นให้กระโดดกลับหลังในตาคู่เดิม แล้วจึงทวนกลับมาจนถึงตาที่ทอยเบี้ยกับลงเก็บเบี้ยแล้วกระโดดต่อมาจนออกนอกเส้น หลังจากนั้นจึงทอยเบี้ยในตาต่อไป และเล่นต่อไปตามลำดับ จนทอยไปถึงตาหัวกะโหลก ต้องกระโดดไปถึงตาคู่ที่อยู่ใต้ตาหัวกะโหลก ก่อนเก็บเบี้ยให้กระโดดกลับหลังแล้วย่อตัวลงเก็บเบี้ย โดยใช้มือลอดหว่างขา และไม่ให้ส่วนใดของร่างกายสัมผัสพื้น แล้วกระโดดทวนกลับออกมา
                        เมื่อผู้เล่นปฏิบัติได้ครบทุกตาก็จะได้บ้าน "ซึ่งจะเริ่มจากตาที่อยู่ใกล้เส้นเริ่มที่สุด แล้วจึงต่อออกไปตามลำดับ ผู้เป็นเจ้าของบ้านจะเหยียบบนตานั้นด้วยเท้าคู่ส่วนอื่น จะต้องกระโดดข้ามไป และเหยียบได้เฉพาะตาที่ยังไม่มีเจ้าของ
                        การเล่นดำเนินต่อไปจนกว่าตาต่าง ๆ จะถูกยึดครองหมด ผู้ที่ได้บ้านมากกว่าเป็นผู้ชนะไปตามลำดับ         ๑๒/ ๗๕๕๓
                ๒๑๕๑. ตองแตก - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร ใบเป็นแบบใบเดี่ยว ออกสลับกันไป ช่อดอกเรียงสั้น ๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกอยู่คนละช่อ ผลยาว ๐.๕ - ๑.๐ ซม. เวลาแก่จะแตกออกเป็น ๓ - ๔ เสี่ยง มีเมล็ด ๓ - ๔ เมล็ด          ๑๒/ ๗๕๕๖
                ๒๑๕๒. ตองยี  เป็นเมืองหลวงของรัฐฉานในประเทศพม่า อยู่ห่างจากเมืองเชียงรายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๑๐ กม. ภูมิประเทศเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ในที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๔๘๔ เมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่         ๑๒/ ๗๕๕๖
                ๒๑๕๓. ต้องสู้  เป็นกะเหรี่ยงสาขาหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณมีเมืองดั้งเดิมชื่อสะเทิม เมืองสะเทิมอยู่ติดอ่าวเมาะตะมะ มีรายงานว่าเครื่องแต่งกายของต้องสู้กับชาวน่านเหมือนกัน แต่ก็ยังพูดภาษาทั้งของชาวน่านและพม่าได้ดี และมีน้อยคนจะเข้าใจภาษากะเหรี่ยง         ๑๒/ ๗๕๕๗
                ๒๑๕๔. ตองเหลือง - ข่า  ผีตองเหลืองก็เรียก หมายความว่า คนป่าของใบไม้แห้งโยงไปถึงที่พัก ซึ่งใช้กิ่งไม้ติดใบปักลงบนดิน เมื่อใบไม้เหล่านั้น เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือ แห้งแล้วก็พากับลงทิ้งไป
                        ข่าตองเหลือง ท่องเที่ยวไปตามแดนภูเขาใกล้ยอดน้ำป่าสัก และในตำบลเปลี่ยวของ จ.น่าน และ จ.แพร่ พวกนี้ไม่ยอมให้คนเห็นบ่อยนัก แต่บางคราวก็ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของกับลาวผู้เป็นเพื่อนบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวให้เห็น
                        อาวุธของข่าตองเหลืองมีอย่างเดียวคือหอกยาว ปลายเป็นเหล็ก แและบางทีก็จุ่มยาพิษ และไม่ทำการเพาะปลูก         ๑๒/ ๗๕๕๘
                ๒๑๕๕. ตองอู  เป็นชื่อแคว้นหนึ่งในประเทศพม่า มีแม่น้ำสะโตงไหลผ่าน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ เกตุมดี เป็นเมืองเก่าตั้งขึ้นตั้งแต่ครั้งราชวงศ์ พุกามเป็นใหญ่ในพม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๓๐ ตองอูก็ตกเป็นหัวเมืองออกของกรุงอังวะ ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจในเมืองพม่า ระหว่างพวกไทยใหญ่ทางตอนเหนือ กับกรุงอังวะทางตอนกลาง และกรุงหงสาวดี อาณาจักรมอญทางตอนใต้
                        ขณะที่กรุงอังวะ และกรุงหงสาวดีกำลังเสื่อมอำนาจลง เมงกินโยได้ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระที่เมืองตองอู ในปี พ.ศ.๒๐๒๙ ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริชัยสุระ ในปี พ.ศ.๒๐๗๐ พวกไทยใหญ่ยึดกรุงอังวะได้ ชาวพม่าจึงอพยพหลบหนีมาอยู่ที่เมืองตองอู เป็นอันมาก ตองอูได้กลายเป็นศูนย์กลางของชาวพม่าแห่งใหม่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสะโตง
                        พระเจ้ามหาสิริชัยสุระ สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๓ ราชบุตรพระนามว่า มังตรา ได้ครองราชย์ สืบต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าตะแบงชะเวตี้ ได้อาศัยบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญ ได้ยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีได้เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๒ แล้วย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี ให้สังคะสุ บิดาของบุเรงนองครองเมืองตองอู ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองเมาะตะมะได้ ยังผลให้หัวเมืองมอญอื่น ๆ ได้แก่ เมาะลำเลิง จนถึงเมืองทะวายเข้ามาอ่อนน้อมด้วย
                        พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ทรงมีนโยบายที่จะรวมพม่าและมอญเข้าเป็นชาติเดียวกัน ทรงเคารพยกย่องประเพณีมอญ สมานน้ำใจพวกมอญ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ หลังจากนั้นได้ยกทัพ ทัพขึ้นไปตอนกลางของพม่า เพื่อรวมหัวเมืองพม่าเข้าด้วยกัน ทรงตีเมืองแปรได้ในปี พ.ศ.๒๐๘๕ ตีเมืองพุกามอันเป็นราชธานีพม่าแต่โบราณได้ในปี พ.ศ.๒๐๘๗
                        ในสมัยที่ราชวงศ์ตองอูมีอำนาจนี้เอง พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ เป็นการทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช และยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
                        พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๓ อาณาจักรพม่าก็แตกแยกเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง สมิงสอดตุเข้ายึดหงสาวดี ตั้งตนเป็นกษัตริย์ฟื้นฟูราชวงศ์มอญ บุเรงนองไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตองอู ในที่สุดบุเรงนองก็สามารถปราบปรามได้หมด แล้วตั้งกรุงหงสาวดี เป็นราชธานีพม่าดังเดิมเมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๖ ดังนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงนับว่าเป็นกษัตริย์พม่า แห่งราชวงศ์ตองอูโดยปริยายด้วย
                        พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะ ได้เมืองนาย เมืองหลวงของไทยใหญ่ และเลยมาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีเมืองขึ้น ถึง ๕๗ หัวเมืองไว้ในอำนาจ แล้วยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ จากนั้นได้ยกทัพไปตีอาณาจักรล้านช้างในปี พ.ศ.๒๑๑๗ หลังจากนั้นก็มีดำริที่จะไปตีเมืองยะไข่ แต่พระองค์สวรรคตเสียก่อนในปี พ.ศ.๒๑๒๔ มังชัยสิงห์ ราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง ราชวงศ์ตองอูเริ่มเสื่อมลง
                        ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงประกาศอิสระภาพ และทรงมีชัยชนะในสงครามยุทธหัตถี ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ จากนั้นในปี พ.ศ.๒๑๓๘ ได้ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี แต่ตีเมืองไม่ได้ จึงได้ยกไปอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๑๔๒ พระเจ้าตองอูทูลให้พระเจ้าหงสาวดีถอยไปตั้งมั่นที่เมืองตองอู เมืองหงสาวดีถูกพระเจ้ายะไข่ปล้น และเผาเมือง ก่อนที่กองทัพสมเด็จพระนเรศวร ฯ จะยกไปถึง สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพตามไปตีถึงเมืองตองอู แต่ตีไม่ได้เนื่องจากขาดแคลนเสบียงอาหาร
                        พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงนอง ถูกนัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอูลองปลงพระชนม์ที่เมืองตองอู พม่าก็ตกอยู่ในสภาพระส่ำระสายอีก ราชวงศ์ตองอูได้ใช้กรุงอังวะเป็นราชธานีดังเดิมในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ พวกมอญได้ตั้งตนเป็นอิสระที่กรุงหงสาวดี แล้วยกทัพไปตีกรุงอังวะ จับพระมหาธรรมราชาธิบดี ไปยังกรุงหงสาวดีแล้วปลงพระชนม์เสีย ราชวงศ์ตองอูก็สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๔          ๑๒/ ๗๕๕๙
                ๒๑๕๖. ต่อม  เป็นอวัยวะประกอบด้วยกลุ่มเนื้อที่มีความแตกต่าง ในลักษณะความสลับซับซ้อนในเชิงประกอบได้มาก และมีขนาดแตกต่างกันไป ต่อมทั้งหลายมีหน้าที่เหมือนกันคือ สร้างและขับสารบางอย่างออกมา ทั้งชนิดที่ร่างกายนำเอาไปใช้ประโยชน์ หรือที่ร่างกายขับถ่าย เพื่อกำจัดออกไปจากร่างกาย ต่อมแบ่งออกได้เป็นสองพวก คือ
                        ๑. ต่อมมีท่อ  ต่อมพวกนี้เมื่อสร้างสารอะไรออกมาแล้ว มีท่อนำเอาสารนั้น ๆ ออกจากต่อมได้แก่ ต่อมน้ำลาย ต่อมเหงื่อ เป็นต้น
                        ๒. ต่อมไร้ท่อ  เมื่อสร้างสารอะไรแล้วไม่มีทางออกต้องอาศัยหลอดเลือดรอบ ๆ ต่อมนั้น นำเอาออกจากต่อมไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่ต้องการใช้ ได้แก่ ต่อมหมวกไต ต่อมไธรอยด์ เป็นต้น
                        สิ่งที่ต่อมไร้ท่อสร้างขึ้นมานี้เรียกว่า ฮอร์โมน ซึ่งเป็นสารเคมีต่าง ๆ กันไปแล้วแต่ชนิดของต่อมไร้ท่อ สารเคมีนี้มีประโยชน์สำหรับช่วยให้อวัยวะของร่างกายบางแห่งทำงานได้ดียิ่งขึ้น          ๑๒/ ๗๕๖๖
                ๒๑๕๗. ต้อยตริ่ง  เป็นชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่ง ซึ่งแต่งขึ้นจากเพลงพื้นเมืองเป็นเพลงอัตราสองชั้น ที่มีสำเนียงเป็นลาว บทร้องของเดิมขึ้นต้นว่า "สาวเอยจะบอกให้ พี่จะไปเอกา แดเดียวเปลี่ยววิญญาณ์ เชิญแก้วตาได้ปราณี "
                        ภายหลังได้มีผู้นำทำนองเพลงนี้ไปใช้ในกรณีอื่น และเปลี่ยนบทร้องให้เข้ากับกรณีนั้น ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้มีผู้แต่งทำนองดนตรีขึ้นเป็นอัตราสามชั้น เรียกว่า เพลงต้อยตริ่งสามชั้น ใช้บรรเลงกันมาจนปัจจุบันนี้
                ๒๑๕๘. ต้อยติ่ง - ต้น  เป็นไม้พื้นเมืองของไทย ชอบขึ้นในที่ลุ่มชื้นแฉะ เป็นพืชล้มลุก ลำต้นและกิ่งเมื่ออ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ รูปไข่กลับ ดอกสีม่วงสลับสีขาว ออกเป็นกระจุกข้าง ๆ ง่ามใบ ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกยอดแหลมยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่อแก่จัดหรือถูกน้ำจะแตกออกเป็นสองซีกตามยาว เมล็ดเมื่อถูกน้ำจะพองและเหนียวเป็นเมือก สมัยโบราณชาวบ้านใช้ใบตำพอกรักษาแผลฝีหนอง
                        ต้อยติ่งอีกชนิดหนึ่ง รู้จักกันแพร่หลายกว่าชนิดแรก ต้นสูงประมาณ ๓๐ ซม. เมล็ดเหมือนชนิดแรก สมัยโบราณชาวบ้านใช้เมล็ดพอกแผลฝีหนอง         ๑๒/ ๗๕๖๘
                ๒๑๕๙ต้อยตีวิด  เป็นนกในหนังสือหรือวรรณคดี ชาวบ้านเรียกกันตามเสียงว่า นกกระแตแต้แวด และเพื่อเรียกรวม ๆ กันในหมู่สกุลเดียวกันก็มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า นกกระแต ในเมืองไทยมีอยู่สามชนิด คือ นกกระแตแต้แวด นกกระแตหนา และนกกระแตหัวเทา
                        นกต้อยตีวิด มีขนาดตัวโตกว่านกกิ่งโครง หัวคอและอกเป็นสีดำ ขนคลุม หูขาว มีแผ่นหนังรอบตา โคนปากแดง เท้าสีเหลือง หลังและปีกสีไพร ชอบอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ เดินหากินบนพื้นดินที่โล่งเตียน มีทั่วทุกภาคในประเทศไทย และเอเซียตอนใต้  ตามชื่อปลาไหลไฟฟ้าชนิดหนึ่ง
                        ได้มีผู้พยายามนำเอาตอร์ปิโดมาใช้เป็นอาวุธในสงครามทางเรือด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน        ๑๒/ ๗๕๖๙
                ๒๑๖๐. ตอร์ปิโด  เป็นอาวุธทางเรือชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายบุหรี่ ซิการ์ ซึ่งเมื่อยิงหรือปล่อยลงน้ำแล้ว จะวิ่งไปใต้น้ำในทิงทาง และระดับความลึกที่กำหนดไว้ ด้วยแรงขับเคลื่อนภายในตัวเอง ถ้าชนเป้าหมายดินระเบิดที่บรรจุไว้ที่ส่วนหัวของตอร์ปิโด จะระเบิดทำลายเป้าหมายด้วยกำลังดันของน้ำ อันเกิดจากการระเบิดนี้
                        อำนาจการทำลายของระเบิดใต้น้ำสูงกว่าการระเบิดเหนือผิวน้ำ เนื่องจากอากาศธาตุจากการระเบิดระดับน้ำ ให้แยกออกเป็นโพรง เมื่อหมดอำนาจการระเบิด น้ำจะยุบตัวกลับ ก่อให้เกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรง เป็นปฎิภาคกับระดับลึก และเรียกการระเบิดในลักษณะนี้ว่า ตอร์ปิโด  ตามชื่อปลาไหลไฟฟ้าชนิดหนึ่ง
                        ได้มีผู้พยายามนำเอาตอร์ปิโดมาใช้เป็นอาวุธในสงครามทางเรือด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน       ๑๒/ ๗๕๗๑
                ๒๑๖๑. ต่อใส้ - ต้น  เป็นต้นไม้ขนาดกลางไม่ทิ้งใบ มักพบตามป่าดงดิบ และตามที่ชุ่มชื้น ในแบบใบเดียวหนา ออกดอกเป็นคู่ ๆ เรียกได้ฉากกับตามกิ่ง ช่อดอกออกตามง่ามใบสั้น มีดอกแน่นดูเป็นกระจุก ผลเล็กกลมมีเมล็ด          ๑๒/ ๗๕๗๗
                 ๒๑๖๒. ตะกร้อ  เป็นชื่อของอุปกรณ์การเล่นกีฬาอันเก่าแก่ของไทยชนิดหนึ่ง ลูกตะกร้อใช้หวายที่จักเป็นเส้นเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ สานให้เป็นลูกกลมมา ตาโปร่งโดยรอบภายในกลวง ขนาดวัดโดยรอบได้ ๓๕ - ๔๕ ซม. หนัก ๑๔๐ - ๑๖๐ กรัม
                    ในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่างนิยมการเล่นตะกร้อกันเป็นเวลานานมาแล้ว เช่น พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
                        สมาคมกีฬาสยามได้ดัดแปลงกีฬาแบดมินตันมาใช้กับวิธีเล่นตะกร้อ และให้ชื่อว่าตะกร้อข้ามตาข่าย และเล่นเป็นกีฬาประจำชาติประเภทหนึ่ง ตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ต่อมาอีก ๑๕ ปี มาเลเซียได้ดัดแปลงไปเล่นบ้าง แต่เล่นแบบกีฬาวอลเลย์บอล
                        ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ และ ๒๕๐๔ ประเทศไทยได้พยายามเสนอให้มีการแข่งขันในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ และ ๒ แต่ไม่สำเร็จ แต่พอแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๓ ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ข้อเสนอของมาเลเซียเป็นผล กติกาการแข่งขันส่วนใหญ่ยึดถือตามแบบมาเลเซีย และเรียกเกมส์นี้ว่า เซปักตะกร้อ สำหรับประเทศไทย ได้แบ่งการเล่นและจัดการแข่งขันออกเป็นหกประเภท คือ ตะกร้อเตะทนวงเล็ก ตะกร้อเตะทนวงใหญ่ ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย เซปักตะกร้อ และตะกร้อพลิกแพลง หรือตะกร้อส่วนบุคคล         ๑๒/ ๗๕๗๘
                ๒๑๖๓. ตะกรับ ๑ - กก (หญ้า)  เป็นกกชนิดหนึ่ง ต้นสูง ๑ - ๑.๕๐ เมตร ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม ใบแคบและยาว ช่อดอกใหญ่มีก้านยาว ดอกสีน้ำตาลบางแห่งใช้กกชนิดนี้สานเสื่อ         ๑๒/ ๗๕๘๙
                ๒๑๖๔. ตะกรับ ๒ - ปลา  เป็นปลาสกุลเล็กที่มีรูปร่างเหมือนปลากะพง จัดอยู่ในพวกปลาหมอช้างเหยียบ เป็นปลาน้ำจืดมีอยู่ตลอดในลำน้ำของประเทศไทย         ๑๒/ ๗๕๓๙
                ๒๑๖๕. ตะกรุด กะตุด ตะครุด  เป็นแผ่นโลหะที่แผ่แล้วม้วนกลมๆ ลงคาถาอาคมใช้เป็นเครื่องราง  (ดูเครื่อง
    ราง ลำดับที่ ๑๑๒๗)       ๑๒/ ๗๕๙๑
                ๒๑๖๖. ตะกวด  เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในวงศ์เหี้ย เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดกลาง เล็กกว่าจระเข้ ส่วนมากมีขนาดยาวประมาณ ๑ - ๒ เมตรเศษ เหี้ยทุกชนิดมีลิ้นยาว และปลายลิ้นแยกเป็นสองแฉก คล้ายลิ้นงู มีหางยาวและแข็งแรง สำหรับว่ายน้ำ และสำหรับต่อสู้ศัตรู มีเล็บแหลมโค้งคมใช้ปีนต้นไม้ได้เร็วมาก ไข่เป็นฟองสีขาวยาว ๆ ฝังไว้ใต้ดินร่วนซุยปล่อยให้ฟักและเลี้ยงตัวเอง
                        ตะกวดในประเทศไทยมีอยู่ห้าชนิด คือ ตะกวดหรือแลน เหี้ย ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง และแลนดอนหรือตะกวดดอน      ๑๒/๗๕๙๑
                ๒๑๖๗. ตะกัง เป็นโรคลมชนิดหนึ่งที่มีอาการปวดศรีษะเวลาเช้า ๆ โรคลมตะกังนี้ไม่พบคำอธิบายในตำรา โบราณ        ๑๒/ ๗๕๙๘
                ๒๑๖๘. ตะกั่ว ๑  เป็นโลหะชนิดหนึ่งมีสีเงินหรือเทาอมฟ้า มีความมันวาวแบบโลหะเด่นชัด เนื้ออ่อนรีดเป็นแผ่นหรือใช้มีดตัดเฉือนได้
                        ตะกั่วเป็นโลหะหนักเป็นตัวนำไฟฟ้าและความร้อนที่เลว มีสมบัติทนทานต่อการผุกร่อนจึงใช้เป็นตัวเคลือบหรือฉาบได้ดี โลหะตะกั่วเป็นหนึ่งในโลหะสี่ชนิดที่สำตคัญที่สุด ทั้งในการผลิตและการนำไปใช้ประโชยน์       ๑๒/ ๗๖๐๐
                ๒๑๖๙. ตะกั่ว ๒  เป็นแร่ที่เกิดตามธรรมชาติในรูปสารประกอบ แร่ตะกั่วที่สำคัญซึ่งนำมาถลุงเอาโลหะตะกั่วมาใช้มีอยู่สามชนิดคือ แร่กาลีนา แร่เซรุสไซต์ และแร่แองกลิไซด์
                        โลหะตะกั่วใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางได้แก่
                        ๑. ผสมโลหะอื่น ๆ ทำโลหะผสมต่าง ๆ ใช้ในการบัดกรี ใช้หล่อทำตัวพิมพ์ ฯลฯ
                        ๒. ใช้ทำผงตะกั่วแดง และเหลือง ที่เรียกกันว่า "เสน" สำหรับเป็นสีเคลือบ
                        ๓. ใช้ทำแผ่นแบตเตอรี่ ทำหัวกระสุน ทำตุ๊กตาเครื่องยนต์
                        ๔. ใช้หุ้มสายเคเบิล ฉาบเหล็กและเหล็กกล้า ทำท่อน้ำประปา
                        ๕. สารประกอบตะกั่วยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย
                        โทษของตะกั่ว คือ เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะไม่ถ่ายออก แต่จะสะสมพอกพูนมากขึ้นจนเกิดเป็นพิษแก่ร่างกายทุกส่วน โดยเฉพาะระบบประสาท ทางเดินอาหาร และโรคเลือดบางชนิด คือร่างกายจะซูบซีด การย่อยอาหารผิดปรกติ เบื่ออาหาร มีอาการจุกเสียดในท้อง ปวดท้องและท้องผูกแทรก สุขภาพเสื่อมโทรมเริ่มจากนิ้วมือและข้อ และลามไปที่ไหล่กับขา นอกจากนี้ยังมีผลต่อไตด้วย ระบบจักษุจะตีบตาย สายตาสั้นหรือบอดได้ ๆ            ๑๒/ ๗๖๐๑
                ๒๑๗๐. ตะกั่วทุ่ง อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นเนินและเขา ลาดลงไปทางทะเล
                        อ.ตะกั่วทุ่ง เป็นเมืองเก่าคู่กับเมืองตะกั่วป่า แต่เป็นเมืองเล็กในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยถูกพม่าย่ำยี ยุบเป็นอำเภอเมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล        ๑๒/ ๗๖๐๔
                ๒๑๗๑. ตะกั่วป่า  อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศโดยมากเป็นเขาและป่า และที่ลุ่มมีแร่ดีบุก
                        อ.ตะกั่วป่า เดิมเป็นเมืองเก่า มีฐานะเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดตะกั่วป่า อยู่ทางฝ่ายทะเลตะวันตก มีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาเป็นบ้านเมืองมาก่อน ยังมีโบราณสถานแต่ครั้งนั้นปรากฎอยู่ เป็นท่าเรือของพวกชาวอินเดีย สำหรับเดินบก ข้ามแหลมมลายูเมืองไชยา และเวียงสระ
                        ก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๕ จ.ตะกั่วป่า จึงเปลี่ยนชื่อ อ.ตลาดใหญ่เป็น อ.ตะกั่วป่า ครั้นยุบ จ.ตะกั่วป่าเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงเปลี่ยนชื่อ อ.ตลาดใหญ่เป็น อ.ตะกั่วป่า       ๑๒/ ๗๖๐๖
                ๒๑๗๒. ตะกาง  เป็นเครื่องมือใช้สำหรับจับจระเข้ โดยใช้เบ็ดขนาดใหญ่ ผูกด้วยเชือกที่เหนียว โตพอที่จระเข้จะกัดไม่ขาด ไว้ที่ปลายเบ็ด เชือกนี้ยาวพอประมาณที่จะใช้การได้ แล้วเอาปลายอีกข้างหนึ่งไปผูกติดกับปล้องไม้ไผ่ขนาดใหญ่ให้ลอยน้ำเป็นทุ่น
                        เหยื่อที่ใช้เกี่ยวกับตะกางมักใช้สัตว์ที่ตายแล้ว และลอยทิ้งไว้ตอนกลางคืน เมื่อจระเข้ติดตะกางตอนเช้าก็จะเห็นลูกลอยเป็นทุ่นอยู่        ๑๒/ ๗๖๑๓
                ๒๑๗๓. ตะกู  เป็นชื่อที่คนท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย ใช้เรียกไม้กระทุ่ม เนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง เนื้อสม่ำเสมอละเอียดปานกลาง อ่อนเบา ไม่ทนทาน โดยทั่วไปใช้ทำลัง และเครื่องเรือน         ๑๒/ ๗๖๑๔
                ๒๑๗๔. ตะเกียง  เป็นชื่อภาชนะใส่น้ำมัน มีใส้สำหรับจุดให้มีแสงสว่างมีรูปต่าง ๆ บางชนิดก็มีหลอด คำว่าตะเกียงน่าจะเกิดทีหลังคำว่าโคม ในหนังสือเก่าเท่าที่พบมีแค่คำว่าโคม ในพจนานุกรมเก่า ๆ เช่น อักขราภิชานศรันท์ของหมอบรัดเล ซึ่งพิมพ์แมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ มีคำตะเกียงปรากฏอยู่         ๑๒/ ๗๖๑๕
                ๒๑๗๕. ตะเกียบ  เป็นเครื่องมือใช้บริโภคอาหารของชาวจีน สันนิษฐานว่า เริ่มมีในประเทศจีนมานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี แต่เดิมนั้นทำด้วยไม้ไผ่ ต่อมามีการทำด้วยงาช้าง และพลาสติก         ๑๒/ ๗๖๑๙
                ๒๑๗๖. ตะแกรง  เป็นเครื่องจักรสานสำหรับร่อนสิ่งของ หรือสำหรับช้อนกุ้ง ปลา เป็นต้น  ที่เป็นเครื่องสำหรับช้อนกุ้ง ปลานี้ ทำด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะก้นกลม ก้นเว้า ช่องตาถี่        ๑๒/ ๗๖๒๐
                ๒๑๗๗. ตะโก - ต้น เป็นไม้ขนาดกลางมีสองชนิดคือ
                        ๑. ตะโกสวน มะพลับ  เป็นไม้ไม่ทิ้งใบ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร โคนต้นมีพูบ้าง เปลือกบาง สีดำคล้ำ ใบแบบใบเดี่ยวเรียงเป็นสองแถวตามกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้ และตัวเมียแยกอยู่คนละดอก ผลรูปกลม ผิวเป็นมันสุก สีเหลืองส้ม เมล็ดฝังอยู่ในเนื้อที่เป็นยางเหนียว
                        ๒. ตะโกนา เป็นไม้ขนาดเล็กสูง ๑ - ๕ เมตร เปลือกสีดำคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ
                        คนไทยนิยมเอาต้นตะโกนามาปลูกตกแต่งเป็นพุ่มรูปต่าง ๆแต่สมัยโบราณ         ๑๒/ ๗๖๒๐
                ๒๑๗๘. ตะโก้  เป็นชื่อขนมอย่างหนึ่ง มีหน้าคล้ายขนมถ้วย มีลักษณะเป็นชิ้นหรือเป็นแท่งสี่เหลี่ยม โดยทั่วไปมีสองชนิดคือ ตะโก้ถั่ว และตะโก้แป้งข้าวเจ้า         ๑๒/ ๗๖๒๒
                ๒๑๗๙ ตะโกก - ปลา เป็นชื่อปลาที่แพร่หลายมากชื่อหนึ่งมีอยู่ห้าสกุล แต่สกุลหนึ่งนั้นเป็นปลาหลังเขียวและเป็นปลาน้ำเค็ม ส่วนอีกสี่สกุลเป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน         ๑๒/ ๗๖๒๔
                ๒๑๘๐. ตะขบ - ต้น  ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้สองชนิดที่ผลมีรูปลักษณะและสีสันคล้ายกันมาก
                        ตะขบไทย เป็นไม้พันธุ์ใหญ่มีหนามเป็นแท่ง ยาวแหลมและแข็ง ผลกลมแป้นสีม่วงแดง และจะเข้มจนเกือบดำ เมื่อสุกงอม เนื้อในคล้ายวุ้น รสหวาน บริโภคได้
                        ตะขบขี้นก หรือตาขบฝรั่ง เป็นพรรณไม้ขนาดกลางไม่มีหนาม ใบรูปกระสวยกลาย ๆ แต่โคนตัดมีขนคลุมทั่วไป ดอกสีขาวเล็กออกตามซอกใบ เมื่อเป็นผลก้านจะยาวออก ผลกลมเล็กเมื่อสุกสีม่วงแดงแก่ เนื้อในเป็นเมือกปนกับเมล็ดซึ่งมีขนาดเล็ก รสหวาน บริโภคได้         ๑๒/ ๗๖๒๗
                ๒๑๘๑. ตะขาบ เป็นสัตว์ประเภทคลานบนพื้นดินประเภทหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายแบ่งเป็นหัวและลำตัว ลักษณะลำตัวยาวแบนแบ่งเป็นปล้อง ๆ มีจำนวนตั้งแต่ ๑๕ - ๒๓ ปล้อง แต่ละปล้องมีขาหนึ่งคู่ หัวมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน มีหนวดยาวพอมองเห็นชัดอยู่หนึ่งคู่ ที่ปากมีกรามหนึ่งคู่ มีฟันสองคู่ ส่วนอวัยวะที่เรียกว่าเขี้ยวนั้น ความจริงเป็นขาคู่แรกยึดติดกับลำตัวปล้องแรก เขี้ยวมีลักษณะสั้นและแข็งแรงมีปลายแหลมโค้งงอเข้าหากัน สามารถใช้กัดแทนปาก และปล่อยน้ำพิษซึ่งเกิดจากต่อมหรือถุงน้ำพิษที่อยู่บริเวณโคนขานั้นได้         ๑๒/ ๗๖๒๘
                ๒๑๘๒. ตะเข็บ  เป็นสัตว์ประเภทเดียวกับตะขาบ แต่เรียกแยกจากตะขาบโดยถือเอาชนิดที่มีขนาดเล็กเป็นสำคัญ เช่น ขนาดยาวต่ำกว่า ๕ - ๖ ซม. ลงไป บางคนได้รวมเอาแมงดาเข้าไปไว้ในพวกตะเข็บด้วย พวกตะเข็บหรือแมงดาหลายชนิด นอกจากจะเปลี่ยนสีแล้ว ยังมีเม็ดสะท้อนแสงในลำตัวทำให้ตัวมีแสงเรือง ๆ จึงให้ชื่อว่า แมงดาเรือง กล่าวกันว่าชอบอาศัยอยู่ในหูคน          ๑๒/ ๗๖๓๐
                ๒๑๘๓. ตะโขง  เป็นจระเข้ชนิดหนึ่งที่มีปากยาว จึงชอบเรียกกันว่า จระเข้ปากปลากระทุงเหว
                        ตะโขงมีอยู่สองชนิด คือ ตะโขงอินเดีย และตะโขงไทย ตะโขงอินเดียมีขนาดใหญ่กว่าตะโขงไทยและมีปากยาวกว่า กับมีฟันมากกว่า            หน้า ๗๖๓๒
                ๒๑๘๔. ตะคร้อ - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๓๐ เมตร ลำต้นมักเป็นปุ่มปุ่ม และคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมสีเขียวทึบ ใบเป็นใบประกอบก้านหนึ่งมีใบย่อย ๒ - ๓ คู่ ดอกออกเป็นพวงสีเหลืองอ่อน ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ผลกลมออกสีน้ำตาลเมื่อแห้ง เนื้อหุ้มเม็ดเป็นเยื้อใส สีส้ม บริโภคได้ รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกเป็นยาแก้โรคท้องร่วง น้ำมันในเม็ดแก้โรคผมร่วง         ๑๒/ ๗๖๓๓
                ๒๑๘๕. ตะครอง - ต้น  เป็นไม้ในสกุล และวงศ์เดียวกับพุทรา เป็นไม้พุ่มกิ่งเลื้อย ลำต้นและกิ่งมีหนาม        ๑๒/ ๗๖๓๔
                ๒๑๘๖. ตะคริว  เป็นโรคเส้นลมชักกระตุกมีอาการเจ็บปวดชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการหดตัวแบบหนึ่งของกล้ามเนื้อ แล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นที่กล้ามเนื้อนั้น การหดตัวนั้นเกิดขึ้นเอง และค้างอยู่ ตะคริวอาจเป็นกับกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง หรือหลาย ๆ มัดก็ได้ พบอยู่ในกล้ามเนื้อแขน ขา หรือที่หน้าท้อง การเกิดตะคริวส่วนมากจะเกิดโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า และเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน        ๑๒/ ๗๖๓๔
                ๒๑๘๗. ตะเคียน - ต้น  เป็นไม้ขนาดสูงใหญ่ไม่ทิ้งใบ สูง ๒๐ - ๔๐ เมตร ใบแบบเดี่ยวรูปไข่ ถึงรูปปลายหอก ช่อดอกออกเป็นช่อยาวตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาว หอม ผลเล็กปานกลางมีปีกยาวสองปีก สั้นและเล็กสามปีก
                        เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อละเอียดปานกลาง ทนทานมาก ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน และส่วนที่ต้องการความแข็งแรง นิยมทำมาดเรือโกลน ทำเรือ ชันใช้ทำน้ำมันรักษา เปลือกใช้ทำน้ำฝาด         ๑๒/ ๗๖๓๗
                ๒๑๘๘. ตะไคร้  เป็นพันธุ์ไม้ประเภทหญ้าจำพวกหนึ่งที่มีลำต้นเป็นเหง้าสั้น ๆ แล้วแตกหน่อเกิดเป็นกอใหญ่ แต่ละหน่อสูง ๕๐ - ๗๐ ซม. ตอนโคนพองเพราะมีกาบใบซึ่งค่อนข้างหนาหุ้มทับ ปะปนกันแน่น ตอนยอดเรียวและใบบางเป็นแถบยาว ทางคล้าย ๆ กับต้นหญ้าคา เป็นพันธุ์ที่มีน้ำมันหอมระเหยแทรกอยู่ทั่วทั้งต้นและใบ ที่รู้จักกันทั่วไปมีสองชนิดคือ ตะไคร้แกง และตะไคร้หอมหรือตะไคร้แดง
                      ตะไคร้แกง  มักใช้ในการปรุงแต่งอาหาร ตะไคร้ชนิดนี้ไม่ใคร่ออกดอก
                      ตะไคร้หอม  ต้นใหญ่กว่าตะไคร้ธรรมดา มักมีสีแดง เมื่อโตเต็มที่เกิดดอกออกเป็นช่อเป็นพันธุ์ที่มีน้ำมันหอมระเหยมาก นิยมกลั่นเอาน้ำมันเรียกว่า "น้ำมันตะไคร้ " ใช้ในการทำเครื่องสำอางค์ และยาฆ่าแมลงบางชนิด       ๑๒/ ๗๖๓๗
                ๒๑๘๙. ตะเฆ่  เป็นเครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่ง ใช้ลากเข็นของหนัก มีรูปเตี้ยและมีล้อตั้งแต่ ๒ - ๔ ล้อ สำหรับใช้เคลื่อนไหวเวลาลากเข็นของหนักไปบนพื้นดิน         ๑๒/ ๗๖๓๙
                ๒๑๙๐. ตะนอย - มด  เป็นมดขนาดโตไล่เลี่ยกับมดแดง อาศัยอยู่บนพื้นดิน ช่วยขุดรูอยู่และอยู่กันเป็นฝูง เป็นมดที่มีพิษ โดยมีเหล็กในที่ก้น สามารถต่อยและทำความเจ็บปวดให้แก่ผู้ถูกต่อยได้มาก มีอยู่หลายสกุลด้วยกัน
                        มดตะนอย มักออกหาเหยื่อโดยการออกไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๕ - ๖ ตัว มักเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งติดตามกันไป เมื่อพบเหยื่อจะรุมกันต่อยจนเหยื่อตาย แล้วช่วยกันลากเข้ารัง         ๑๒/ ๗๖๔๐
                ๒๑๙๑. ตะนาวศรี  เป็นชื่อเทือกเขาที่อยู่ระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า และเป็นชื่อแม่น้ำเมือง และแคว้นในพม่า
                        ๑. เทือกเขาตะนาวศรี  เป็นเทือกเขาต่อเนื่องไปทางทิศใต้ของเทือกเขาถนนธงชัย เริ่มต้นจากบริเวณใกล้เคียงกับยอดน้ำของลำน้ำแควน้อย แล้วมีทิศทางไปทางใต้ตามแนวเส้นแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศพม่า จนถึงประมาณเส้นรุ้ง ๑๐ องศา ๔๙ ลิบดาเหนือ และเส้นแวง ๙๘ องศา ๕๗ ลิบดาตะวันออก ทิวเขานี้จึงเข้ามาอยู่ในเขตไทยและเป็นแนวเขตจังหวัดชุมพร กับจังหวัดระนอง รวมความยาวของเทือกเขานี้ ๘๓๔ กม.
                        ๒. แม่น้ำตะนาวศรี  เป็นแม่น้ำในพม่ามีความยาวประมาณ ๔๔๘ กม. ประกอบด้วยแควสองสาย ซึ่งมียอดน้ำอยู่ในสาขาทิวเขาตะนาวศรีที่อยู่ในพม่า แควสายหนึ่งไหลมาจากทางเหนือ อีกสายหนึ่งไหลมาจากทางใต้บรรจบกันประมาณกึ่งกลางทาง ไหลขนานไปกับเส้นกันเขตแดนไทย - พม่า จนถึงเมืองตะนาวศรี
                        ๓. แคว้นตะนาวศรี  เป็นแคว้นทางภาคใต้ของพม่า มีรูปร่างเรียวยาว ตั้งต้นจากที่ราบตอนปลาย ลำแม่น้ำสาละวิน ตอนที่ทิวเขาถนนธงชัย เชื่อมต่อกันตอนใต้ของทิวเขากะเหรี่ยง แล้วกินอาณาเขตลงไปทางใต้ระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับเส้นเขตแดนไทย - พม่า จนถึงแหลมวิกตอเรีย รวมความยาวจากเหนือไปใต้ ๖๕๐ กม. อาณาบริเวณของแคว้นนี้ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มเกาะมะริด ในทะเลอันดามัน
                        ๔. เมืองตะนาวศรี  เป็นเมืองสำคัญในเขตจังหวัดมะริด ในแคว้นตะนาวศรี ตั้งอยู่ในแนวเส้นรุ้งใกล้เคียงกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของไทย อยู่ห่างจากเมืองมะริดซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำตะนาวศรี ๖๐ กม. และห่างจากเมืองทวายซึ่งอยู่ทางเหนือประมาณ ๒๕๐ กม.
                        ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรสุโขทัยได้แผ่อำนาจครอบคลุมถึงเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าเลอไทย หัวเมืองมอญได้ก่อขบถ พระเจ้าเลอไทยส่งกองทัพไปปราบปรามแต่ไม่สำเร็จ หัวเมืองมอญรวมทั้งเมืองตะนาวศรีถือโอกาสตั้งแข็งเมืองมาแต่ครั้งนั้น
                        ตะนาวศรีได้กลับมาเป็นเมืองขึ้นของไทยอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมืองตะนาวศรีเป็นเมืองสำคัญทางการค้าของไทย กับประเทศในมหาสมุทรอินเดีย
                        นับตั้งแต่ไทยเริ่มทำสงครามกับพม่าเมื่อ ปี พ.ศ.๒๐๘๑ แล้ว ทั้งสองชาติต่างต้องการที่จะได้เมืองตะนาวศรี และมะริดไว้ในครอบครอง เมื่อพม่าทำสงครามกับอังกฤษครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๖๙ อังกฤษยึดได้เมืองยะไข่และแคว้นตะนาวศรีตามสนธิสัญญายันคาโบ แคว้นตะนาวศรีตกเป็นของอังกฤษ
                        ถึงแม้ว่าตะนาวศรีจะเป็นเมืองเดิมของมอญแต่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นทั้งของไทยและพม่า สลับกันเรื่อยมา พลเมืองของตะนาวศรีจึงประกอบด้วยชนหลายชาติด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นมอญแต่ก็มีพวกพม่า กะเหรี่ยงไทยใหญ่ รวมทั้งชาวมอญที่มีเชื้อสายไทยรวมอยู่ด้วยเป็นอันมาก         ๑๒/ ๗๖๔๒
                ๒๑๙๒. ตะบันไฟ  เป็นเครื่องจุดไฟชนิดหนึ่ง ใช้ประโยชน์อย่างไม้ขีดในปัจจุบัน มีใช้แพร่หลายในหลายภาคของประเทศไทย แต่เรียกต่างกันตามภาษาถิ่น คือ ภาษาภาคเหนือเรียกว่า "ไฟยัด" หรือ "บอกยัด" ภาคใต้เรียก "ไฟตบ" ภาคกลางแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า "ไฟอัด"
                        เครื่องจุดไฟแบบนี้เพิ่งมาเลิกนิยมกัน หลังสงครามโลกครั้งที่สาม แต่ยังมีผู้ใช้อยู่บ้างในบางท้องถิ่นของภาคใต้
                        ส่วนประกอบของตะบันไฟมีกระบอก ลูกตะบัน เชื้อเพลิงหรือปุย ขี้ผึ้งทารูกระบอกและลูกตะบันเพื่อให้ลื่น        ๑๒/ ๗๖๔๙
                ๒๑๙๓. ตะบูน  เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางไม่ทิ้งใบ พบขึ้นตามป่าชายทะเลที่ดินเป็นโคลนและตามริมแม่น้ำที่น้ำเค็มขึ้นถึง มีอยู่สองชนิดคือ
                      ตะบูนขาว  สูงประมาณ ๗ - ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม โคนต้นเป็นพู เปลือกบาง สีน้ำตาลแกมแดง แตกสะเก็ดเป็นแผ่นบาง ๆ รากหายใจไม่มี ใบเป็นแบบใบผสม มี ๑ - ๒ คู่ ช่อดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบมักสั้นกว่าใบ ดอกเล็กมากสีขาว ผลรูปกลมขนาดส้มโอ ผิวสีน้ำตาล
                      ตะบูนดำ  มีขนาดเล็กกว่าตะบูนขาว ลำต้นมักตรง เปลือกสีน้ำตาลแก่หนา แตกสะเก็ดเป็นร่อง ๆ โคนต้นเป็นสีชมพู พุ่มเรือนยอดแคบแลดูแน่นทึบ มีรากหายใจแทงโผล่ขึ้นเหนือโคลนรอบ ๆ โคนต้น           ๑๒/ ๗๖๕๔
                ๒๑๙๔. ตะเบ็งชเวตี้  เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินพม่า แห่งราชวงศ์ตองอู (ดูตองอู - ลำดับที่ ๒๑๕๕ ประกอบ)  พระนามเดิมคือมังตรา เป็นราชบุตรของพระเจ้าสิริชัยสุระ (มังกินโย) ซึ่งตั้งตนเป็นกษัตริย์ที่เมืองตองอู ขณะที่ทั้งเมืองอังวะและเมืองหงสาวดีกำลังเสื่อมอำนาจลงทั้งสองฝ่าย พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๙ ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๐๗๓ พระองค์มีพระราโชบายที่จะขยายอาณาจักรให้กว้างขวางและได้รับความร่วมมือจากพระญาติองค์หนึ่งคือบุเรงนอง       ๑๒/ ๗๖๕๕
                ๒๑๙๕. ตะแบก - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร ลำต้นเป็นพูสูง เปลือกอ่อนเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยวส่วนใหญ่ติดเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ช่อดอกเป็นพวงโต ๆ สีม่วงปนชมพูออกตามปลาย ๆ กิ่ง ผลกลมรีแก่จัดแยกเป็นเสี่ยง ๆ ภายในมีเมล็ดที่มีปีกเรียงซ้อนกันอยู่ เนื้อไม้เรียบละเอียด เลื่อยผิวตกแต่งง่าย ใช้ทำพื้นและฝาบ้านในร่ม เปลือกใช้เป็นยาแก้โรคท้องร่วง รากใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย
                        ตะแบกมีสามชนิดคือ ตะแบกเกรียบ ตะแบกใหญ่ และตะแบกนา       ๑๒/ ๗๖๕๘

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch