หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/49
     ๒๐๙๙. ตรา  คือเครื่องหมายที่มีลวดลายและทำเป็นรูปต่าง ๆ เช่น ตราพระครุฑพ่าห์ สำหรับเป็นเครื่องหมาย สำหรับเป็นเครื่องประดับในจำพวกราชอิสริยาภรณ์
                        คำตรานี้ ถ้าเป็นราชาศัพท์เรียกว่า พระราชสัญจกร คือพระตราสำหรับใช้ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
                        ต้นรากของตราอย่างเส้นชาดนั้นมาจากตะวันออก เป็นมาแต่จีนจึงใช้แต่ตราเปล่าเพราะจีนไม่เซ็นชื่อ ส่วนตราครั่งนั้นมาทางตะวันตก มีทางอินเดียเป้นต้น แต่ฝรั่งนั้นเซ็นชื่อและประทับตราครั่งด้วย
                        มูลเหตุของการใช้ตรานั้นก็เนื่องจากแต่ก่อนไม่ได้ใช้เซ้นชื่อ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งบรรดาคนสามัญ ซึ่งมีฐานะในการหนังสือก็ทำตราขึ้นใช้ประจำตัว
                        พระราชลัญจกรที่เป็นของเก่าและยังคงใช้ประทับในราชการต่าง ๆ อยู่มีองค์ที่สำคัญคือเ
                        ๑. พระราชลัญจกรมหาโองการ
                        ๒. พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์
                        ๓. พระราชลัญจกรหงสพิมาน
                        ๔. พระราชลัญจกรไอยราพต       ๑๒/ ๗๓๗๓
                ๒๑๐๐. ตราขุนพล  เป็นรูปกากบาทที่เอาปูนแดงเขียนที่ก้นหม้อตาลซึ่งเป็นหม้อที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับใส่น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลมะพร้าว แล้วเขียนเป็นวงกลมเล็ก ๆ อีกสองวง แล้วเอาไปสวมบนปลายไม้ปักไว้ที่หน้าบ้าน หรือตรงเชิงบันได จะขึ้นเรือนหันก้นหม้อที่มีตราขุนพลออกทาง บอกให้เห็นชัดเพื่อป้องกันผีห่า (อหิวาตกโรค) โดยเฉพาะตามมติโบราณถือว่า พวกผีภัย ผีเลว เป็นผีอันธพาล ผีพวกนี้แม้เราจะเอาใจไหว้อย่างไรก็ไม่วายทำความเดือดร้อนให้ จึงต้องหาทางป้องกันไว้ เช่น ผูกตะกรุดพิสมรและคาดผ้าประเจียดลงเอายันต์ตลอดจนคาถาอาคม วงด้ายสายสิญจน์ หรือปักเฉลงไว้ตามเขตบริเวณบ้าน ปิดเลายันต์ไว้ที่ประตู เป็นต้น          ๑๒/ ๗๔๑๗
                ๒๑๐๑. ตราจอง  คือหนังสือใบอนุญาต ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้จับจองที่ดิน มีกำหนดเวลาให้ผู้รับอนุญาตทำประโยชน์ภายในสามปี นับแต่วันได้รับตราจอง
                        ที่ดินตามใบอนุญาตให้จับจองนี้โอนกันไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมโดยทางมรดกเท่านั้น          ๑๒/ ๗๔๑๘
                ๒๑๐๒. ตราชู  เป็นเครื่องชั่ง มีฐานสำหรับใส่ของที่ชั่งสองข้าง คำตราชูนั้น อาจมาจากภาษาเปอร์เซียก็ได้ คำนี้ในภาษามลายูก็มี ภาษาเปอร์เซียก็มี
                    ตราชู นอกจากจะใช้เป็นเครื่องชั่งแล้ว ยังมีความหมายไปในทำนองว่า เที่ยงตรง หรือยุติธรรม จึงนำมาใช้เป็นตราของกระทรวงยุติธรรม เรียกว่า ตราพระดุลพ่าห์          ๑๒/ ๗๔๒๐
                ๒๑๐๓. ตราด  จังหวัดภาคตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.จันทบุรี และประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออกจดทิวเขาบรรทัด ซึ่งแบ่งเขตแดนประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจด จ.จันทบุรี และตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่าราวครึ่งหนึ่ง ตอนเหนือเป็นที่สูงและป่าทึบ ตอนกลางเป็นที่ราบ ราวสองในสามเป็นป่าราวหนึ่งในสาม ตอนใต้เป็นที่ราบชายทะเล
                        ตราดเป็นเมืองขึ้นกรมท่า ด้วยเหตุที่อยู่ต่อแดนเขมร จึงเป็นเมืองหน้าศึกทางด้านนั้น จ.ตราด ได้ตกอยู่ความครอบงำของฝรั่งเศสครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐           ๑๒/ ๗๔๒๒
                ๒๑๐๔. ตราแดง เป็นหนังสือสำหรับที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานออกให้เจ้าของนา เพื่อประโยชน์ในการเก็บอากรค่านา หรือเก็บเงินหางข้าวค่านา ที่ทำได้ผลดีมาก
                        หนังสือชนิดนี้ ออกให้สำหรับที่นาในท้องที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) อ่างทอง สุพรรณบุรี และลพบุรี ข้าหลวงเดินนาเป็นเจ้าหน้าที่ทำตราแดง ออกให้แก่เจ้าของที่นา สำหรับเก็บเงินค่านาเก็บตามจำนวนที่ดินในตราแดงนั้น          ๑๒/ ๗๔๒๕
                ๒๑๐๕. ตราพญา - พระเจ้า  เป็นเจ้าเมืองพระโค เป็นพันธมิตรกับพระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ต่อมาได้คิดร้ายต่อพระเจ้าฟ้ารั่วจึงถูกประหาร          ๑๒/ ๗๔๓๐
                ๒๑๐๖. ตราภูมิ  มีคำนิยามว่า  "หนังสือคู่มือสำหรับคุ้มส่วยสาอากร และการเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น" เกี่ยวเรื่องตราภูมินี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงมีประกาศไว้เป็นใจความว่า แต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามให้กับไพร่หลวง แด่หมู่ฝีพายเรือพระที่นั่ง ฯลฯ ช่างลางหมู่โขลงรามัญดั้งทองดาบสองมือ อาสาจามกองทะเล ฯลฯ ทหารรักษาพระองค์ล้อมพระราชวัง ให้คุ้มค่าน้ำ ค่าตลาด สมพักศรได้เพียงราคาตำบลหนึ่ง ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ พระราชทานตราภูมิให้กับไพร่หลวงทุกหมู่ทุกกรม          ๑๒/ ๗๔๓๐
                ๒๑๐๗. ตราสัง มีคำนิยามว่า "มัดศพ ผูกศพให้เป็นเปลาะ ๆ" การมัดศพที่เรียกกันว่าตราสังมีพิธีทำต่าง ๆ กัน ในรายละเอียดแล้วแต่เกจิอาจารย์ ตามหนังสือประเพณีทำศพฉบับหอสมุดแห่งชาติมีความว่า เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดีเขาทำถุงผ้าขาวสวมศีรษะ สวมมือทั้งสองข้างแล้วให้ถือกรวยดอกไม้ธูปเทียน แล้วสวมเท้า แล้วเอาด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอบ่วงแรก บ่วงที่สองมัดรอบหัวแม่มือ และข้อมือทั้งสองข้างให้ติดกัน บ่วงที่สามรัดรอบหัวแม่เท้า และข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกัน เรียกว่า ตราสังหรือดอยใน
                        เมื่อเสร็จแล้วห่อด้วยผ้าขาวยาวสองชาย ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะสำหรับขมวดเป็นก้นหอยแล้วมัดด้วยด้ายดิบขนาดนิ้วมือ มัดขึ้นมาเป็นเปราะ ๆ แล้วมารีดกับชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอยอยู่บนศีรษะให้แน่น
                        การตราสังศพ เห็นจะเป็นประเพณีเก่าแก่สืบมาแต่โบราณ ดังมีกล่าวถึงอยู่ในเรื่องลิลิตพระลอ          ๑๒/ ๗๔๓๕
                ๒๑๐๘. ตราสารเครดิต  เป็นคำที่ใช้ในวงการธุรกิจ และธนาคาร หมายถึง เอกสารที่ต้องการชำระเป็นเงิน ตราสารเครดิตจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ แสดงคำมั่นสัญญาจะจ่ายเงิน หรือแสดงคำสั่งให้จ่ายเงิน ตราสารเครดิตประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท อนึ่งตราสารเครดิตนี้ อาจแบ่งเป็นประเภทเปลี่ยนมือได้ และประเภทเปลี่ยนมือไม่ได้           ๑๒/ ๗๔๓๗
                ๒๑๐๙. ตรีกะ  เป็นระบบปรัชญาอินเดียระบบหนึ่ง ท่านวสุคุปตะเป็นผู้ตั้งขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เคยเจริญรุ่งเรือง อยู่ในบรรดาผู้นับถือ ลัทธิไศวะทางแคชเมียร์ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็เสื่อมไป ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ถือกันว่าแตกสาขามาจากลัทธิไศวสิทธามตะ
                        หลักปรัชญาสำคัญของระบบปรัชญานี้มุ่งแสดงว่า การรู้แล้วหรือการเข้าถึงพระศิวะเป็นความรู้ขั้นสูงสุด เพราะพระศิวะ เป็นสภาพอันแท้จริงของสากลจักรวาล        ๑๒/ ๗๔๓๘
                ๒๑๑๐. ตรีกาย  คือกายสามของพระพุทธเจ้า ตามความเห็นของพุทธศาสนิกฝ่ายมหายาน กายสามนับถือธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรยานกาย
                     ธรรมกาย คือพระกายอันเป็นสาระหรือภาวะอันสำคัญของความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นภาวะที่จะเข้าสู่ความรู้แจ้ง คือ โพธิ (หรือหมายถึงนิพพาน) ของบรรดาพระพุทธเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่งได้แก่ ตัวพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ได้แก่ ธยานีพุทธ มีห้าพระองค์คือ พระไวโรจนะ (พระผู้รุ่งเรือง) พระอักโษกยะ (พระผู้ไม่หวั่นไหว) พระรัตนสัมภวะ (พระผู้ประเสริฐ) พระอมิตาภะ (พระผู้ทรงรัศมีหาที่สุดมิได้) พระอโมฆสิทธิ (พระผู้ทรงความสำเร็จอันไม่ตกหล่น)
                     สัมโภคกาย คือพระกายแห่งความบันเทิง (บันเทิงสุขจากความสำเร็จ) เป็นพระกายทิพย์ (อันเกิดจากความสำเร็จนั้น) มีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่านทั่วไป ที่พระพุทธเจ้าย่อมสำแดงปรากฏให้เห็นแก่หมู่พระโพธิสัตว์ ได้แก่ ธยานีโพธิสัตว์ มีห้าพระองค์คือ พระสมันตภัทร (พระผู้ทรงความดีเป็นสากล) พระวชิรปาณี (พระผู้ทรงวชิระ) พระรัตนปาณี (พระผู้ทรงรัตนะ) พระปัทมปาณี (พระผู้ทรงดอกบัวองค์เดียวกับพระอวโลกิเตศวรของอินเดีย หรือกวนอิมของจีน) พระริศวปาณี (พระผู้ทรงอาวุธ)
                     นิรมานกาย คือพระกายอันเนรมิตบิดเบือนขึ้น ได้แก่ ร่างกายที่ประกอบด้วยขันธ์ห้า คือร่างกายของมนุษย์ ซึ่งพวกศากมุนี (โคดม)  สำแดงลักษณะอันแท้จริงของพระองค์ ให้ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย ได้แก่ มามุสพุทธ มีห้าพระองค์คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป พระโคดม(ศากยมุนี) พระเมตไตรย          ๑๒/ ๗๔๓๙
                ๒๑๑๑. ตรีกูฎ ๑  เป็นชื่อภูเขาใหญ่ในลังกาทวีป ซึ่งคัมภีร์มหาภารตะ และรามายณะกล่าวว่าเป็นที่ตั้งเมืองลังกา         ๑๒/ ๗๔๔๗
                ๒๑๑๒. ตรีกูฎ ๒  ชื่อภูเขาสามยอดลูกหนึ่งมีลักษณะดุจก้อนเสา ยอดทั้งสามเหมือนกับคีมคีบเชิงเขาพระสุเมรไว้ ระหว่างยอดทั้งสามเป็นที่ตั้งของอสูรพิภพ          ๑๒/ ๗๔๔๘
                ๒๑๑๓. ตรีโกณมิติ  เป็นชื่อวิชาเกี่ยวกับการวัดรูปสามเหลี่ยมต่าง ๆ โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างด้านมุม และพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม ถ้ารูปสามเหลี่ยมนั้นอยู่บนระนาบ เรียกว่า ตรีโกณมิติระนาบ ถ้าอยู่บนผิวทรงกลมเรียกว่า ตรีโกณมิติทรงกลม ในวิชานี้ถือเอาอัตราส่วนของด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ในระนาบเป็นหลัก
                        เนื่องจากค่าของอัตราส่วนเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของมุนแหลม เราเรียกฟังก์ชั่นเหล่านี้ว่า ฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ สำหรับมุมแหลม
                        เนื่องจากหน่วยในการวัดมุมที่นิยมใช้มีอยู่สองหน่วยคือ วัดเป็นองศา และราเดียน เราอาจเปลี่ยนมุมจากหน่วยองศาเป็นราเดียน หรือตรงกันข้ามได้
                        การแก้รูปสามเหลี่ยมนี้เรานำไปใช้ประโยชน์ในการรังวัดที่ดิน หาส่วนสูงของภูเขา หาความกว้างของแม่น้ำ การสร้างทาง การสร้างอุโมงค์จากคนละข้างของภูเขา มาบรรจบกัน การหาระยะในแนวราบ และแนวดิ่งของวัตถุในที่สูงเมื่อการวัดระยะทางโดยตรงทำไม่ได้ ส่วนวิชาตรีโกณมิติทรงกลมนั้น มีประโยชน์มากในวิชาดาราศาสตร์
                        วิชาตรีโกณมิติเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับวิชาเรขาคณิต คือในสมัยอิยิปต์ และบาบิโลน และเจริญขึ้นในสมัยกรีก ปโตเลมีค้นพบกฎเกณฑ์ทางตรีโกณมิติ โดยอาศัยการพิสูจน์ทางเรขาคณิต ชาวฮินดูและชาวอาหรับ นำเอาวิชาพีชคณิตมาใช้ในการคำนวณทางตรีโกณมิติ การพบลอการีทึมของ จอห์น เนเบียร์ (พ.ศ.๒๐๙๓ - ๒๑๖๐) ช่วยให้การคำนวณแก้รูปสามเหลี่ยมทำได้ง่ายขึ้น          ๑๒/ ๗๔๔๘
                ๒๑๑๔. ตรีชฎา  เป็นชื่อนางรากษสีในเรื่อง รามเกียรติ์เป็นชายาของพญาพิเภก เป็นน้องสะใภ้ของทศกัณฐ์ และเป็นแม่ของนางเบญจาย          ๑๒/ ๗๔๕๓
                ๒๑๑๕. ตรีชวา  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ที่กล่าวอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกกุมภกัณฑ์ว่า เป็นพันธุ์สมุนไพรหนุมานไปเก็บจากภูเขาพระสุเมรุ นำมาใช้เป็นยารักษาพระลักษมณี ที่ถูกหอกโมกขศักดิ์คู่กันกับต้นสังกรณี          ๑๒/ ๗๔๕๕
                ๒๑๑๖. ตรีทศ ๑  ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง เทวโลกอันเป็นที่เกิดของเทวดา และหมายถึง เทพที่อยู่ในเทวโลก เทวโลกดังกล่าวได้แก่ เทวโลกชั้นดาวดึงส์ เรียกว่า ตรีทศบ้าง ไตรทศบ้าง (ดูดาวดึง - ลำดับที่ ๒๐๐๔ ประกอบ)
                        ส่วนที่หมายถึง เทพ คือเทวดา ๓๓ องค์ รวมทั้งพระอินทร์กับเทพสหจร ซึ่งอยู่ในชั้นดาวดึงส์ด้วยกัน แต่ยกพระอินทร์เสีย         ๑๒/ ๗๔๕๖
                ๒๑๑๗. ตรีทศ ๒  เป็นชื่อหมู่เทวดาของอินเดียหมู่หนึ่งมีจำนวน ๓๓ องค์ ประจำอยู่ในชั้นฟ้าชั้นอากาศ และชั้นพื้นดินชั้นละ ๑๑ องค์  ดูดาวดึงส์ประกอบ (ลำดับที่ ๒๐๐๔)        ๑๒/ ๗๔๖๑
                ๒๑๑๘. ตรีทูต ๑  เป็นผู้แทนคนที่สาม การแต่งตั้งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานมาแล้ว
                        ประเพณีไทยแต่โบราณ ยศราชทูตไม่มีสูงต่ำแบบฝรั่ง ทูตคงเป็นคณะสามคนเรียกว่า ราชทูต อุปทูต และตรีทูต นับเป็นทูตด้วยกันทั้งสามคน          ๑๒/ ๗๔๖๔
                ๒๑๑๙. ตรีทูต ๒ - อาการ  หมายถึง อาการแสดงระยะสุดท้ายของผู้ป่วยที่เป็นมา บอกให้ทราบว่าความตายกำลังใกล้เข้ามา          ๑๒/ ๗๔๖๘
                ๒๑๒๐ ตรีโทษ - ไข้  ทางแพทย์แผนโบราณว่าเป็นไข้ที่เกิดจากการที่มีสามธาตุ คือ วาต บิตตะ และเสลดไม่ปรกติ ทางโบราณถือว่าสามธาตุดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญของร่างกาย ถ้าสามอย่างนี้เป็นปกติร่างกายก็เป็นปรกติมีสมดุล ถ้าไม่สมดุลอย่างใดมากหรือน้อยไป หรือบกพร่องร่างกายก็จะไม่ปรกติ ไม่สบาย          ๑๒/ ๗๔๖๙
                ๒๑๒๑. ตรีนวินทุ  เป็นชื่อราชฤาษีตนหนึ่ง ซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ มีธิดาหลายตน ตนหนึ่งชื่ออิฑาวิทา ได้เป็นชายาพระประชาปัตย์ ต่อมาได้มีบุตรในรามเกียรติ์เรียกว่า ลัสเตียน           ๑๒/ ๗๔๗๐
                ๒๑๒๒. ตรีนิติ คือพระเจ้าหรือพระบิดา พระบุตรหรือพระเยซู และพระจิตหรือพระวิญญาณูบริสุทธิ์ เป็นสามภาวะ แต่ละภาวะเป็นพระเจ้าสมบูรณ์ในตนเองเสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระบิดาทำให้เกิดพระบุตร พระจิตเนื่องมาจากพระบิดา และพระบุตร ทั้งสามจึงเท่ากับหนึ่ง หรือหนึ่งเท่ากับสาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตรีเอกานุภาพ เป็นคตินับถือในคริสต์ศาสนา
                        ความเชื่อเรื่องตรีนิติหรือตรีเอกานุภาพ เนื่องจากคำสอนหลายตอนในการประชุมสังคายนาศาสนาคริสต์ ที่กรุงคอนสแตนดิโนเบิ้ล เมื่อปี พ.ศ.๙๒๕ ประกาศให้คริสต์ศาสนิกชนทุกนิกายยอมรับนับถือเสมอกันหมด แต่มีบางนิกายไม่ยอมรับ เช่น พวกยูนิเตเรียน
                ๒๑๒๓. ตรีบูรโดยทั่วไปหมายความหลายอย่างคือ
                        ๑. เมืองที่มีป้อมค่ายสามชั้น
                        ๒. ชื่อของพานาสูร เพราะเป็นผู้ครองเมืองสามเมือง ชื่อเต็มว่า ตรีบุราสูร
                        ๓. ชื่อเมืองในสวรรค์ชั้นฟ้าเมืองหนึ่ง
                        ๔. ชื่อรัฐหนึ่งของประเทศอินเดีย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย          ๑๒/ ๗๔๗๕
                ๒๑๒๔. ตรีปกัน, ตรีปักกัน - ยักษ์  เป็นลูกท้าวเวรนุราช ผู้เป็นพญาราษสแห่งเมืองกาลวุธ กับนางเกศินี ในคราวพระรามเดินดงครั้งที่สอง โดยมีพระลักษมณ์กับหนุมานตามเสด็จไปด้วย ตรีปกันประพาสป่าไปรบ เกิดรบกันต้องศรพระลักษมณ์ตาย          ๑๒/ ๗๔๗๖
                ๒๑๒๕. ตรีปวาย  เป็นชื่อพิธีพราหมณ์กระทำรับพระนารายณ์ ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า พิธีแห่พระนารายณ์ ทำในวันแรมค่ำหนึ่งถึงแรมห้าค่ำ เดือนยี่
                        ต่อจากวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนยี่ หลังจากทำพิธีรับพระนารายณ์แล้วก็ทำพิธีตรีปวาย ในสถานพระนารายณ์แห่งเดียว ตลอดจนถึงวันแรมห้าค่ำ เดือนยี่ จึงแห่พระนารายณ์อีกครั้งหนึ่งเป็นการส่งพระนารายณ์ เป็นอันเสร็จในวันนี้            ๑๒/ ๗๔๗๙
                ๒๑๒๖. ตรีบุรัมเป็นชื่ออสูรหรือยักษ์ตนหนึ่งในเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครโสพัส มีฤทธิ์อำนาจมาก แต่เกรงพระนารายณ์ จึงไปตั้งกองกูณฑ์ทำพิธีกรรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสรภู เพื่อขอพรพระอิศวรให้ตนมีฤทธิ์เดช แม้พระนารายณ์ก็ปราบไม่ได้
                        ตรีบุรัม ได้รับพรแล้วก็กำเริบใจ เที่ยวก้าวร้าวไปทั่วสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า พวกเทวดาจึงพากันไปฟ้องพระอิศวร พระอิศวรจึงให้ไปเชิญพระพรหม และพระนารายณ์ลงมาเตรียมทำศึกกับตรีบุรัม พร้อมแล้วยกกองทัพไปล้อมนครโสพัสไว้ พระอิศวรแผลงศร ซึ่งมีลูกศรทำด้วยกำลัง พระนารายณ์ยิงตรีบุรัมสามครั้ง แต่ลูกศรไม่ยอมไปเพราะพระนารายณ์บรรทม เมื่อพระอิศวรทิ้งศรลง แล้วทราบทูลให้ทราบเหตุ พระอิศวรจึงใช้พระเนตรที่สาม คือตาไฟสังหารตรีบุรัม          ๑๒/ ๗๔๘๑
                ๒๑๒๗. ตรีพลัม  เป็นทหารยักษ์ในกองทัพกุมภกรรณกับกองทัพมูลพลัมในเรื่องรามเกียรติ์ ในกองทัพกุมภกรรณตรีพลัมถูกสุรเสนฆ่าตาย          ๑๒/ ๗๔๘๔
                ๒๑๒๘. ตรีมูรติ  คำว่าตรีมูรติ แปลว่า แบบสามหรือรูปสาม คือรูปสามของเทวะในศาสนาพราหมณ์
                        เทวะซึ่งเป็นมูรติของพราหมณ์ แยกความนับถือออกเป็นสองตอน ตอนแรกในสมัยพระเวท ชาวอารยันนับถือเทวะสามองค์อยู่บนพื้นโลก บนอากาศและในสวรรค์ เรียงตามลำดับคือ อัคคี (ไฟ) วายุ (ลม) และสูรยะ (ดวงอาทิตย์) เป็นตรีมูรติ
                        ล่วงสมัยต่อมาประมาณ ๕๗-๖๓ ปีก่อน พ.ศ. เป็นสมัยฮินดูแท้ ชาวอารยันมีความเชื่อถือในรูปใหม่เกี่ยวกับดวงวิญญาณ เป็นสังสารวัฏ คือความเวียนว่ายตายเกิดจนจวบถึงโมกษะ (ความหลุดพ้น) สภาวะของโลก และชีวิตเป็นไปตามอำนาจของเทวะสามองค์ เป็นตรีมูรติ คือ พรหม ผู้สร้างโลก วิษณุหรือนารายณ์ ผู้รักษาโลก และศิวะหรืออิศวร ผู้ทำลายโลก
                        ชาวอินเดียบางนิกาย นับถือเทวะแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน แต่บางนิกายนับถือรวมกันทั้งสาม ในเมื่อเทวะทุกองค์ อวตารมาจากเทวะองค์เดียว การแสดงภาพเทวะอันเป็นตรีมูรติ จึงทำเป็นรูปเทวะมีร่างเดียวแต่มีเศียรเป็นสาม          ๑๒/ ๗๔๘๗
                ๒๑๒๙. ตรีเมฆเป็นชื่ออสูรหรือพญายักษ์ตนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ว่าเป็นอัยกาของรามสูรและเป็นโอรสของพญาตรีเศียร เป็นนัดดาทศกัณฐ์ นับเนื่องในสกุลพญายักษ์ ฝ่ายสุริยวงศ์อยู่เมืองมัชวารี ถูกหนุมานสังหารด้วยตรีเพชรเศียรขาดตาย         ๑๒/ ๗๔๙๐
                ๒๑๓๐. ตรียัมปวายเป็นชื่อพิธีพรหมณ์ฝ่ายได้กระทำรับพระอิศวร ที่เรียกเป็นสามัญว่า พิธีโล้ชิงช้า กระทำในเดือนยี่ ขึ้นเจ็ดค่ำ ตอนเช้าและเก้าค่ำตอนเย็น
                       พิธีตรียัมปวายเท่าที่พบหลักฐานปรากฎมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังที่ปรากฎในหนังสือนางนพมาศ
                        มาถึงสมัยอยุธยาแรากฎในมณเทียรบาลในหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้เนในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                       ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีตรียัมปวาย ในหนังสือพระราขพิธีสิบสองเดือน
                       สรุปได้ว่าพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีที่กระทำกันในต้นปีหรือพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ และเป็นพิธีเชิญเสด็จพระอิศวรลงมาสู่โลกเป็นเวลาสิบวัน       ๑๒/ ๗๔๙๓
                ๒๑๓๑. ตรีวิกรมเป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ในปางวามนาวตาร ตรีวิกรม หมายถึง ย่างสามก้าว หมายถึง สามเวลาแห่งวัน คือเวลาพระอาทิตย์แรกขึ้น(เช้า) เวลาพระอาทิตย์อยู่กลางท้องฟ้า (เที่ยง) และเวลาพระอาทิตย์ตก (ค่ำ)
                       อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า พระวิษณุย่างสามก้าวนี้กินเนื้อที่ทั่วสากลจักรวาล คือก้าวแรกเหยียบลงบนโลก ก้าวที่สองเหยียบบนบรรยากาศ และก้าวที่สามเหยียบลงบนสวรรค์ชั้นฟ้า         ๑๒/ ๗๕๐๓
                ๒๑๓๒. ตรีเวณี  คือสบน้ำสามสาย หมายถึง ท่าประยาคในปัจจุบันที่เมืองอัลลหาบาท ซึ่งเป็นที่แม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมมาไหลบรรจบกัน และเชื่อกันว่าแม่น้ำสรัสวดี (ปัจจุบัน เรียกแม่น้ำสรสูติ) ซึ่งไหลมาทางใต้ดินก็มาบรรจบกัน ณ ที่นี้ด้วย จึงเรียกว่า ตรีเวณี และคือเป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นที่ล้างบาปของพวกฮินดู           หน้า ๗๕๐๘
                ๒๑๓๓. ตรีศังกุ  เป็นกษัตริย์แห่งสุริยวงศ์พระองค์หนึ่ง ครองนครศรีอโยธยา เรื่องราวของกษัตริย์องค์นี้ปรากฎอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่สำคัญคือ รามายณะ วิษณุปุราณะ และหริวงศ์          ๑๒/ ๗๕๑๐
                ๒๑๓๔. ตรีเศียร  เป็นชื่อ อสูรหรือพญายักษ์ตนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ว่าเป็นโอรสของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นชนกของพญาตรีเมฆ ครองกรุงมัชวารี มีพี่น้องร่วมอุทรหกตน คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก ทูษณ์ ขร และนางสำมะนักขา ถูกพระรามสังหารด้วยศรพรหมาสตร์          ๑๒/ ๗๕๑๕
                ๒๑๓๕. ตรีเอกานุภาพ(ดูตรีนิติ - ลำดับที่ ๒๑๒๒)          ๑๒/ ๗๕๑๖
                ๒๑๓๖. ตรุษคือเทศกาล คือ คราวสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณี เพื่อทำบุญ และรื่นเริงในท้องถิ่นเมื่อเวลาสิ้นปี กำหนดวันตามจันทรคติ เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนสี่ จนถึงวันขึ้นค่ำ เดือนห้า คู่กับสงกรานต์ ซึ่งกำหนดวันตามสุริยคติตามปรกติ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน
                       พิธีตรุษของหลวง เป็นพระราชพิธีใหญ่พิธีหนึ่ง ซึ่งทำนาแต่สมัยอยุธยา ปรากฎในกฎมณเทียรบาลในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                        มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้ทำพระราชพิธีตรุษสืบมาถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ จึงเลิก
                        พิธีตรุษในเมืองไทยได้แบบแผนมาจากเมืองลังกา และน่าจะเข้ามาภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                       พิธีตรุษของชาวบ้าน เมื่อถึงตรุษหรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าตรุษไทยนั้น เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ และ ๑๐ ค่ำ เดือนสี่ และวันขึ้นค่ำเดือนห้าซึ่งถือว่าเป็นวันต้นของงปีใหม่ ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วสัดวาอารามซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ตักบาตรเสร็จแล้วมีเลี้ยงพระฉันเช้าบนศาลา เสร็จแล้วพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ จะพากันไปเก็บดอกไม้บริเวณวสัดแล้วนำดอกไม้ไปที่บริเวณเจดีย์ วิหารที่ลานวัดแล้วแยกออกเป็นสองพวก ชายพวกหนึ่ง หยิงพวกหนึ่ง กล่าวอธิษฐานแก้กัน เสร็จแล้วพากันมาเล่นสนุกที่ลานวัดหรือลานบ้านเช่น เล่นมอญซ่อนผ้า ช่วงชัย เพลงพวงมาลัย พอตกเย็นก็ออกไปเล่นสนุกกันอีกตามบริเวณลานบ้าน ตกกลางคืนก็เล่นเจ้าแม่ศรี เข้าลิงลมหรือ้เข้านางดัง เป้นต้น     ๑๒/ ๗๕๑๖
                ๒๑๓๗. ตรุษจีน ๑ - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้ครึ่งต้นครึ่งเลื้อย เป็นไม้พันธุ์ต่างประเทศ ที่มีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย และเผอิญผลิดอกสะพรั่ง ในช่วงระยะเวลาเทศกาลตรุษจีน จึงได้ชื่อว่าตรุษจีน
                        ลักษณะทั่วไปเป็นพันธุ์ไม้ที่ตามกิ่งมีหนามแข็งแหลม ใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อตอนช่วงปลายกิ่ง มีกลีบประดับใหญ่สีชมพูอมม่วง กาลต่อมาได้ตั้งชื่อกันใหม่ว่าเฟื่องฟ้า       ๑๒/ ๗๕๒๘
                ๒๑๓๘. ตรุษจีน ๒ - ประเพณีเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของจีน ตามประเพณีของจีนนั้น วันสิ้นปีตรงกับวันแรม ๒๙ หรือ ๓๐ ค่ำ เดือนสิบสอง (ตามจันทรคติจีน) ในวันนั้นชาวจีนจะจัดหาอาหารเพื่อไหว้เจ้า เช่น บรรพบุรุษ ตอนกลางคืนทุกคนในครอบครัวจะนั่งล้อมวงกินอาหารกัน เรียกว่า ล้อมรอบเตาไฟ คืนนั้นต่างไม่ยอมหลับยอมนอนเพื่อเฝ้าให้ปีเก่าผ่านพ้นไป ผู้ใหญ่จะจัดหาเงินทองใส่ซองสีแดงเพื่อแจกลูกหลาน บรรดานายจ้างก็เตรียมเงินบำเหน็จประจำปีแจกลูกน้อง เป็นการอวยพรขอให้ได้โชคลาภในปีใหม่
                       วันรุ่งขึ้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ทุกครัวเรือนจะประดับประดาด้วยกระดาษสีแดง เขียนคำอวยพรต่าง ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ที่งดงาม เมื่อพบกันก็จะต้องกล่าวคำอวยพรแก่กัน และมีข้อห้ามว่าไม่ควรกล่าวคำอัปมงคล
                        ชาวจีนเชื่อถือกันว่าทุกครัวเรือนจะมีเทวดาประจำอยู่ ทำหน้าที่บันทึกความดี และความชั่วของทุกคนในครอบครัว พอถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนสิบสองของทุกปี เทวดาประจำครัวจะสรุปผลพฤติกรรมของทุกคนในครอบครัวในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อนำขึ้นทูลต่อประมุขแห่งเทวดา เพื่อพิจารณาผู้ใดทำความดีจะให้ผลดีแก่ผู้นั้น ผู้ใดทำความชั่วก็ให้ผลร้าย ดังนั้น ในวันเทวดาประจำครอบครัวจะเดินทางไปสู่สวรรค์ ชาวจีนจะทำอาหารเซ่นไหว้ เป็นการเลี้ยงส่ง และเทวดาองค์ดังกล่าวจะกลับจากสวรรค์ มาทำหน้าที่ของตนต่อไปในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือนอ้าย ของปีถัดไป ดังนั้น ชาวจีนจึงมักถือวันนี้เปิดร้านทำธุรกิจการค้าเป็นวันแรกของปีใหม่         ๑๒/๗๕๒๙
                ๒๑๓๙. ตละแม่ท้าวเป็นบุตรีพระเจ้าช้างเผือก (พระยาอู่) ร่วมบิดาเดียวกันกับพระยาน้อย (มังสุระมณีจักร) ลักลอบได้เสียกับพระยาน้อย แล้วเกรงพระราชอาญา จึงพากันหนีไปอยู่เมืองตะเกิง แต่ถูกจับได้ระหว่างทาง โปรดให้จำไว้ทั้งสองคน ภายหลังได้รับโปรด ฯ ยกโทษให้ ทั้งสองอยู่ด้วยกันจนเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อพ่อลาวแก่นท้าว
                        ต่อมาพระยานตรีได้หนีจากเมืองพระโคไปเมืองตาเกิง เพื่อตั้งตัวและได้นางเม้ยมะนิก แม่ค้าขายแป้งน้ำมันมาเป็นพระสนม เมื่อพระเจ้าช้างเผือกสวรรคต พระยาน้อยก็ได้ยกกำลังเข้ายึดเมืองพระโคไว้ได้ แล้วปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระเจ้าราชาธิราช กำหนดให้ตละแม่ท้าวเป็นมเหสีฝ่ายขวา และเม้ยมะนิกเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย          ๑๒/ ๗๕๓๑
                ๒๑๔๐. ตละแม่ศรี   เป็นราชบุตรีของพระเจ้าช้างเผือก ร่วมบิดาเดียวกับพระยาน้อย และตละแม่ท้าว ณ เมืองเมาะตะมะ
                        เมื่อพระเจ้าช้างเผือกออกไปคล้องช้าง สมิงพระตะบะผู้รักษาเมืองคิดขบถ พระเจ้าช้างเผือกจึงไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพะโค ก่อนหน้านั้นพระเจ้าช้างเผือก ได้แต่งบรรณาการพร้อมกับตละแม่ศรี ไปกราบพระเจ้าเชียงใหม่ ขออย่าได้ยกทัพมาช่วยสมิงพระตะบะ ตามที่สมิงพระตะบะร้องขอไป ทางพระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ยกมา
                        เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว พระเจ้าช้างเผือกจึงมีหนังสือกับบรรณาการไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ขอตละแม่ศรีคืนแล้วให้ตกแต่งกับสมิงราหู        ๑๒/ ๗๕๓๔
                ๒๑๔๑. ตลับ - หอย  หอยตลับมีอยู่สองชนิด ชนิดที่นำมาใช้ทำตลับกัน จึงเรียกกันว่า หอยตลับ อีกชนิดหนึ่งขุดรูอาศัยอยู่ใต้ผิวทราย หอยนี้กินได้ แต่มักใช้เป็นอาหารหมู และทำเป็นปุ๋ย          ๑๒/ ๗๕๓๖
                ๒๑๔๒. ตลาดเงิน  คำนี้อาจนำมาใช้ได้ในความหมายต่าง ๆ กันตามทรรศนะของผู้ใช้ และตามทรรศนะของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
                        ตลาดเงิน หมายถึงกลไกซึ่งทำให้เกิดดุลยภาพขึ้น ระหว่างอุปสงค์ต่อเงินและอุปทานของเงิน
                        ตลาดเงินในทางปฏิบัติย่อมหมายถึงความสะดวกต่าง ๆ ที่จัดขึ้นมาเพื่อให้เจ้าของทุนระยะสั้น สามารถให้ยืมและขอยืมเงินระยะสั้นกันได้ ผู้ให้กู้เงินระยะสั้นนี้ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลางของประเทศ
                        ในยามปกติตลาดเงินของประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก จนอาจกล่าวได้ว่ามีตลาดเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้นมาก็ได้      ๑๒/ ๗๕๓๗
                ๒๑๔๓. ตลิ่งชัน  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอตลิ่งชัน          ๑๒/ ๗๕๔๑

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch