หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/48

    ๒๐๖๙. แดง ๕ - ปลา  จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน หมายถึง ปลาไม่มีเกร็ด ตัวแบนข้าง หัวต่ำ มีหนวด ๒ คู่           ๑๒/ ๗๒๗๖
                ๒๐๗๐. แดนลาว - ทิวเขา  เริ่มต้นที่เมืองเปาชาน และเมืองชางนิงในประเทศจีน เป็นทิวยาวลงไปทางทิศใต้ และคงอยู่ในประเทศจีน ๖๑๐ กม. ด้วยเข้าใกล้เขตพม่า ทิวเขาจะหักไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อยจนเข้าและ ข้ามเขตประเทศพม่า ทิวเขายังคงยาวไปทางใต้จนถึงเขา (ดอย) ผ้าห่มปก๑ รวมอยู่ในเขตประเทศพม่า ๑,๐๐๐ กม.
                        ทิวเขานี้ เมื่อถึงเขา (ดอย) ผ้าห่มปก๑ แล้วจะทอดตัวไปทางทิศตะวันตก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ประเทศไทยกับพม่า จนถึงเขาลูกหนึ่งอยู่ห่างจากช่องเมืองระหงไป ทางทิศตะวันตก ๘ กม. แล้วจะมีทิวเขาจากทิศใต้ ขึ้นมาร่วม เรียกว่า "ทิวเขาถนนธงชัย" (ดูถนนธงชัย - ลำดับนี้...) รวมทิวเขาแดนลาวเป็นแนว แบ่งเขตประเทศไทยยาว ๑๒๐ กม.
                        ในทิวเขานี้มีเขาชื่อต่าง ๆ กันเช่น เขา (ดอย) ผ้าห่มปก สุดทิวเขาจะมีทิวเขาถนนธงชัย จากทิศใต้เข้ามาร่วม         ๑๒/ ๗๒๗๘
                ๒๐๗๑. โดม  ในทางสถาปัตยกรรม เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๐ หมายถึง หลังคาส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่มีลักษณะ โค้งกลมคล้ายผลส้มผ่าครึ่ง อาจสรุปวัตถุประสงค์ได้สองประการคือ
                        ๑. เป็นการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
                        ๒. เป็นวิวัฒนาการในการใช้วัสดุก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาที่จะสร้างหลังคาให้กว้างใหญ่ โดยใช้สิ่งของรองรับที่ กินเนื้อที่น้อยที่สุด
                        กรีกและโรมันนิยมการสร้างอาคารหลังคาโดม เพื่อประโยชน์ในการให้ได้เนื้อที่กว้างขวาง และได้แสงสว่างจากช่องหน้าต่าง ซึ่งเรียงรายอยู่รอบๆ ส่วนที่เป็นหลังคาโดม
                        สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป สถาปนิกได้นำหลังคาแบบโดมเข้ามาประยุกต์กับศิลปะการก่อสร้างอาคาร แบบใหม่           ๑๒/ ๗๒๗๙
                ๒๐๗๒. โด่ไม่รู้ล้ม - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้ต้นเล็ก ตามท้องถิ่นภาคกลางมีชื่อว่า "หญ้าไก่นกคุ่ม" ต้นสูง ๓๐ - ๕๐ ซม. มีใบแข็ง, ยาว, หัว ใบออกสลับกัน แต่อยู่ชิดกันจึงดูคล้ายกับว่าใบทั้งหมดงอกจากโคนต้น ช่อดอกเป็นหัวกลมแบนโต สีขาวถึงชมพู
                        รากใช้เข้ายาสมุนไพร ใช้เป็นยาถ่าย ยาอาเจียน ฯลฯ          ๑๒/ ๗๒๘๐
                ๒๐๗๓. โดรณ  มีคำนิยามว่า (แบบ) ซุ้มประตูซุ้ม เสาต้าย เสาค่าย เสาระเนียด
                        โดรณที่หมายถึงเสาค่าย หรือเสาระเนียด ต้องปักชิดกันมากเพื่อเป็นกำแพง หรือรั้วป้องกันได้
                        โดรณ ที่หมายถึงเสาต้ายนั้นคือเสาที่ปักได้ ตามไฟในเวลากลางคืน
                        โดรณที่หมายถึงซุ้มประตู ที่สร้างขึ้นชั่วคราว อาจจะสร้างด้วยไม้ ดอกไม้หรืออื่นๆ เพื่อเป็นเกียรติยศในการ ต้อนรับบุคคลสำคัญหรือเป็นการเฉลิมฉลองในงานใดงานหนึ่งตามประเพณี         ๑๒/ ๗๒๘๑
                ๒๐๗๔. ไดนาโม  เป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกเครื่องกลไฟฟ้าที่ทำงาน โดยการหมุนเพื่อเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า มอร์เตอร์ไฟฟ้า หรือเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า          ๑๒/ ๗๒๙๓
                ๒๐๗๕. ไดนาไมต์  เป็นของผสมชนิดหนึ่งใช้เป็นวัตถุระเบิดอย่างร้ายแรง มีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของส่วนผสม โดยทั่วไปแล้วไดนาไมต์ เป็นของผสมระหว่างไนโตรกลีเซอรีนกับ ดิบซิลิเทตชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าดีเซลกูร์ แทนที่จะใช้ดินซิลิเกด อาจจะใช้เยื่อไม้แทนก็ได้
                        อัลเฟรดโนเบลได้พบไดนาไมต์ในปี พ.ศ.๑๔๐๓
                        ไดนาไมต์เป็นสารที่ไม่เสถียร แล้วมักจะเกิดอันตรายจากการระเบิดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อมีกรดอยู่         ๑๒/ ๗๒๙๔
                ๒๐๗๖. ไดโนเสา เป็นสัตว์โบราณพวกหนึ่งมีรูปร่างคล้ายเหี้ย แต่มีขนาดใหญ่คล้ายเหี้ยยักษ์ มีคอและหางยาวและมีหัวเล็ก มีสมองเล็ก บางชนิดมีเกร็ดบนหลังเป็นรูปต่างๆ บางชนิดมีคล้ายกับเขาวัวแหลม หรือมีคล้ายนอแรด บางชนิดมีกิ่งก้านเขานอประดับหัวมาก บางชนิดมีกระบังหลังคลุมท้ายทอย บางชนิดมีสันตัวขึ้นบนหัว พวกที่กล่าวทั้งหมดกินพืชเป็นอาหาร และสืบพันธุ์โดยการวางไข่
                        ไดโนเสามีในโลกในสมัยราว ๑๙๐ ล้านปีมาแล้ว และมีอยู่ในโลกจนถึงราว ๑๒๐ ล้านปีมาแล้ว เป็นสมัยที่ยังไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
                       ต่อมาถึงสมัยราว ๑๒๐ ล้านปีมานี้จึงเกิดมีไดโนเสาชนิดที่มีฟันสำหรับกัดและกินเนื้อสัตว์อื่นๆ ไดโนเสาชนิดหลังนี้พากันกัดฆ่าทำลายไดโนเสาชนิดอื่น จนไดโนเสาหลายชนิดสูญพันธุ์หมดไปจากโลกในระะยะต่อมา        ๑๒/ ๗๒๙๖

     

    ต.

                    ๒๐๗๗. ต.พยัญชนะตัวที่ยี่สิบเอ็ดของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรกลาง เป็นตัวที่สองของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกด แต่มักใช้ในคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ในภาษาไทยจัดเป็นพยัญชนะอโฆษะ คือมีเสียงไม่ก้องและออกเสียงเช่นเดียวกับตัว ด. เป็นพยัญชนะเกิดที่ฟันเรียกว่าทันตชะ และมีเสียงระเบิด นอกจากนี้ยังเป็นสิถิล - อโฆษะคือ เสียงเบาและไม่ก้อง        ๑๒/ ๗๓๐๓
                ๒๐๗๘. ตกมัน - ช้าง  ช้างที่โตเป็นหนุ่มแล้ว บางคราวมีน้ำมันไหลเยิ้มออจากรูของต่อมซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างตากับรูหู ในระยะที่น้ำมันไหลเยิ้มออกมานี้ นิสัยของช้างมักเปลี่ยนเป็นดุร้าย ทำร้ายช้างอื่น และทำลายสร้างความเสียหายอื่น ๆ ควาญช้างหรือคนเลี้ยงช้างต้องคอยสังเกตุ ถ้าเห็นมีน้ำมันไหลจากรูต่อมผิดสังเกตแล้ว ต้องรีบตกปลอกข้อเท้า และล่ามไว้กับหลักให้มัน
                        สาเหตุของการตกมันยังไม่ทราบแน่ชัด ช้างตัวผู้บางตัวมีน้ำมันไหลเยิ้มจากต่อมดังกล่าว แต่ช้างนั้นก็คงหากินอยู่ในโขลงตามปกติ ช้างพังบางทีก็มีน้ำมันไหลจากต่อมเช่นกัน และมีอาการหงุดหงิดใช้งานยาก มักไม่รุนแรงและเป็นอยู่ไม่นานก็หายไปเอง          ๑๒/ ๗๓๐๔
                ๒๐๗๙. ตงซิว  เป็นชื่อเทศกาลหนึ่งของจีน เรียกกันทั่วไปว่า "เทศกาลไหว้พระจันทร์" ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด แห่งจันทรคติของจีน เหตุที่เรียกว่า ตงซิว เพราะเทศกาลนี้อยู่กลางฤดูใบไม้ร่วง
                        เมื่อถึงเทศกาลนี้ บรรดาชาวจีนจะจัดหาขนมนานาชนิด และเครื่องสำอางค์มาไหว้พระจันทร์ โดยเฉพาะสตรีจะอธิษฐานขอให้เกิดในภพหน้า มีรูปงามดั่งเช่นนางฟ้าในดวงจันทร์          ๑๒/ ๗๓๐๕
                ๒๐๘๐. ตจปัญจกรรมฐาน  มีคำนิยามว่า "กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอากรมีหนังเป็นที่ห้าเป็นอารมณ์ คือกรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ผมไปถึงหนัง เป็นห้าอย่าง"
                        ส่วนของร่างกายห้าอย่าง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เมื่อว่าตามธรรมที่เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา หรือสมถกรรมฐานที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่าง ตจปัญจกรรมฐาน ก็คือ กายคตาสติ กรรมฐานในอนุสติ ๑๐ ที่ท่านสอนให้พิจารณากายแยกออกเป็นส่วน ๆ จัดเป็นหมวด หมวดละ ๕ อาการบ้าง ๖ อาการบ้าง รวมได้ ๓๑ ส่วน หรือ ๓๒ ส่วน เรียกว่า อาการ ๓๑ บ้าง อาการ ๓๒ บ้าง (อาการ ๓๑ ตามบาลี อาการ ๓๒ ตามอรรถคถา โดยเพิ่มมันสมองเข้าไปด้วย
                        เมื่อว่าตามสมถภาวนา คือ วิธีอบรมจิตให้สอบจากนิวรณ์แล้ว ตวปัญจกรรมฐานนี้เป็นคู่ปรับแก่กามฉันท์ ซึ่งมีปรกติให้รักสวยรักงาม กรรมฐานนี้มีปรกติให้เห็นน่าเกลียด เห็นโสโครก ผู้มาบรรพชาย่อมได้รับสอนกรรมฐานนี้ไว้ก่อน จากพระอุปัชฌายะ ให้พึงยึดรักษาอารมณ์นั้นไว้ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ และเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาต่อไป เหมือนดังได้รับมอบศัตราวุธ ไว้สำหรับต่อสู้กับข้าศึก คือ กามฉันท์ อันจะทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ พวกภิกษุจึงเรียกกรรมฐาน มูลกรรมฐาน
                        กรรมฐานนี้เป็นประโยชน์แก่คนที่มีกามฉันท์เป็นเจ้าเรือน หรือเรียกว่าราคะจริต มีอนิสงส์ไม่ให้ข้องอยู่ในกายตน และกายผู้อื่น          ๑๒/ ๗๓๐๗
                ๒๐๘๑. ตถาคต  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระนามหนึ่ง การนี้ทรงพระนามนี้นั้น เพราะเหตุแปดประการคือ
                        ๑. เพราะพระองค์เสด็จมาเหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทุก ๆ พระองค์
                        ๒. เพราะพระองค์เสด็จดำเนินไป เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ๆ นั้น
                        ๓. เพราะพระองค์ทรงหยั่งรู้และเข้าใจลักษณะแห่งความจริง
                        ๔.เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริง
                        ๕.เพราะพระองค์ทรงรู้ทรงเห็นความจริง
                        ๖. เพราะพระองค์ทรงกล่าวตามความเป็นจริง
                        ๗. เพราะพระองค์ทรงกระทำดังที่พระองค์ทรงเห็นหรือที่ทรงตรัสนั้น
                        ๘. เพราะพระองค์ทรงเป็นใหญ่ยิ่งกว่าสรรพสัตว์ในโลกทั้งปวง          ๑๒/ ๗๓๑๒
                ๒๐๘๒. ต้น  (คำว่า -, ในศัพท์ทหารเรือใหญ่) ตำแหน่งที่ขึ้นต้น ต้น คือ ต้นเรือ ต้นหน ต้นปืน ต้นตอร์ปิโด ต้นกล ต้นเด่นนั้น "ต้น" หมายถึง หัวหน้า หรือหัวหน้าแผนก
                        ในภาษาไทยโบราณ "ต้น" นี้ที่ใช้อยู่สองประการ ซึ่งไม่เหมือนกันคือ ถ้าใช้ตามหลังคำอื่น แปลว่าอย่างเอก เช่น เรือนต้น เรือต้น เครื่องต้น ช้างต้น ม้าต้น ชีตน เป็นต้น ถ้าไว้หน้าคำอื่น ความหมาย ต เปลี่ยนเป็น "หัวหน้า" เช่น ต้นห้อง ต้นกุญแจ คำว่า "ต้น" ในตำแหน่งทหารเรือ น่าจะมาจากความหมายในประการหลัง          ๑๒/ ๗๓๑๗
                ๒๐๘๓. ต้นกล  หัวหน้าช่างกล (ดูต้น-ลำดับ ที่ ๒๐๘๒ ประกอบ)          ๑๒/ ๗๓๒๔
                ๒๐๘๔. ต้นเรือ รองผู้บังคับการเรือ (ดูเรือ-ลำดับที่ ๒๐๘๒ ประกอบ)           ๑๒/ ๗๓๒๔
                ๒๐๘๕. ต้นหน  เจ้าหน้าที่ฝ่ายเดินเรือ มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเดินเรือตลอดจนเครื่องมือในการเดินเรือทั้งปวง (ดูต้น - ลำดับที่ ๒๐๘๒ ประกอบ)          ๑๒/ ๗๓๒๕
                ๒๐๘๖. ตนุ - เต่า (ดูจะละเม็ด๑ ลำดับที่ ๑๒๙๗ ประกอบ) เป็นชื่อเต่าทะเลชนิดหนึ่ง เป็นเต่าขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก กระจายพันธ์อยู่ในเขตร้อน หรือใต้เขตร้อน
                        กระดองของเต่าชนิดนี้บางเหมือนกระดองเต่ากระ เหมาะที่จะทำเครื่องประดับ ไข่เต่าตนุเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารมาก
                        ไข่ของเต่าตนุอ่อนบุบบิบ เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารมาก        ๑๒/ ๗๓๒๕
                ๒๐๘๗. ตบ - ผัก  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นตามคูคลอง ท้องร่อง ที่น้ำค่อนข้างนิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลำต้นเล็กๆ จะเรียกเหง้าก็ได้ ฝังจมอยู่ในโคลนเลน แล้วส่งหน่อขึ้นมา ทุกหน่อที่งอกจะมีกาบใบหุ้มมิดชิด ตอนปลายสุดตรงของก้านใบ
                        มีพันธุ์ไม้วงศ์เคียงข้างผักตบ แตกต่างสกุลกัน และเป็นของต่างประเทศเรียกว่า ผักตบชวา เป็นไม้น้ำ ลอยตามฝั่งได้ เจริญรวดเร็ว กลายเป็นวัชพืชที่สร้างความยุ่งยากแก่พืชน้ำ          ๑๒/ ๗๓๒๕
                ๒๐๘๘. ตบะ ๑  โดยรูปคำแปลว่า ความเร่าร้อนหรือความเผาพลาญ หมายถึง วิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตัว มีมาแต่สมัยพระเวท (ฤคเวท) จนถึงสมัยอุปนิษัท
                        ในชั้นเดิมคือ ในสมัยพระเวทตอนต้น การบำเพ็ญตบะยังจัดอยู่ในขั้นของพิธีกรรม ที่เรียกว่า ยัญ ได้แก่การเซ่นสรวงบูชา เป็นการทำอย่างเคร่งเครียด และพยายามมาก เป็นการทรมานกายอยู่ในตัว เพื่อให้เทพเจ้าเห็นใจให้ความกรุณาให้ความสำเร็จ ในสิ่งที่ร้องขอ ในตอนปลายสมัยพระเวท การบำเพ็ญตบะเป็นไปในทางบังคับเทพเจ้า ทำให้เทพเจ้าเร่าร้อน จนต้องอำนวยผลให้แก่ผู้บำเพ็ญตบะ
                        ต่อมาในสมัยอุปนิษัท นอกจากหวังเพื่อฤทธิ์อำนาจแล้ว ยังหวังประโยชน์เพื่อคติธรรมด้วย เป็นการย่างตนเอง ย่างกิเลสให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงพรหม ความคิดนี้เกิดมาจากเรื่องกรรม เพื่อจะใช้กรรมชั่วที่ตนทำไว้ คือรับกรรมเสียทันที เพื่อไม่ต้องรับความทรมานไปในภายหน้า อีกประการหนึ่งและเห็นกันว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย ก็เนื่องมาจากความผาสุขของร่างกาย ทางที่จะดับความปรารถนานี้ คือ ทรมานร่างกายเสียเอง กิเลสก็จะหมดไป เรื่องการทรมานร่างกาย ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อัตตกิลมกานุโยค" ยังมีหลักปฏิบัติทางศาสนาที่คู่กับตบะอีกอย่างหนึ่งในยคุ อุปนิษัทคือ โยคะ (ยูโยคา - ลำดับที่...)
                        ๒. ในทางพระพุทธศาสนา ตบะมีความหมายหลายอย่าง คือ หมายถึง อินทรียสังวร คือการสำรวม-อินทรีย์หก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ควบคุมความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อการรับรู้ ทางอายตนะต่าง ๆ ให้เป็นไปแต่ในทางที่ดีงามไปให้กิเลสเข้าครอบงำ ประการหนึ่ง
                        ตบะ หมายถึง ความเพียร (อันเป็นความเพียรชอบที่เรียกว่า สัมมาวายะมะ เป็นองค์หนึ่งในอริยมรรค มีองค์แปดประการคือ - เพิ่มเติม)
                        ตบะ หมายถึง ขันติ คือ ความอดทนที่จะดำรงตนอยู่ในทางอันจะไปสู่จุดหมายของตนอย่างแน่แน่ มั่นคง จบบรรลุความสำเร็จประการหนึ่ง
                        ตบะ หมายถึง อธิจิต คือการฝึกจิตอย่างสูง หรือข้อปฏิบัติทั้งหลายในฝ่ายสมาธิ
                        ตบะในพระพุทธศาสนาจึงหมายถึงการเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ตัดความกังวลในการแสวงหาสิ่งปรนปรือความสุขแก่ตนเอง ให้เหลือน้อยที่สุด ให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ เพื่อจะได้มุ่งอุทิศและจะสั่งตนให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ ของตน ซึ่งได้แก่ บำเพ็ญ สมณธรรม ฝึกอบรมจิต            หน้า ๗๓๒๖
                ๒๐๘๙. ตรรกศาสตร์, ตรรกวิทยา - วิชา  เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา เป็นวิชาที่ว่าด้วยเหตุผลอันเป็นหลักกลาง, นำไปใช้กับวิชาอะไรก็ได้ทั้งสิ้น
                        ปัจจุบันได้มีผู้พยายามที่จะขยายขอบเขตของตรรกศาสตร์คลุมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์ คือถือว่าวิชาคณิตศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของตรรกศาสตร์
                        วิชาตรรกศาสตร์มีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ที่จะใช้หลักเกณฑ์ในการใช้เหตุผล คำว่า "เหตุผล" ในวิชาตรรกศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่นำมายืนยันความจริง หรือยืนยันความคิดเห็นอันใดอันหนึ่ง เมื่อเราเชื่อว่าข้อความหนึ่งเป็นจริง และมีอะไรบางอย่างมาสนับสนุน ก็เรียกได้ว่าความเชื่อนั้นมีเหตุผล สิ่งที่เรานำมาสนับสนุนความเชื่อของเรานั้น แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก เราเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นความจริง เพราะยอมรับความจริงบางอย่างอยู่แล้ว วิธีนี้เรียกวิธี นิรนัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ วิชาคณิตศาสตร์ อีกประเภทหนึ่งเราเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเป็นความจริง เพราะอาศัยประสบการณ์ของเราหรือของผู้อื่น วิธีนี้เรียกว่าวิธี อุปนัย เป็นวิธีที่ใช้ในวงการวิทยาศาสตร์          ๑๒/ ๗๓๓๕
                ๒๐๙๐. ตรอน  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอน  มีป่าไม้เบญจพรรณ และภูเขา ทางทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ทำนาได้
                        อ.ตรอน เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.บ้านแก่ง ต่อมาย้ายมาตั้งที่ ต.วังแดง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑           ๑๒/ ๗๓๓๘
                ๒๐๙๑. ตระ - เพลง  เป็นเพลงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง ในสมัยโบราณบรรเลงด้วยวงปีพาทย์อย่างเดียว และเป็นเพลงในจำพวกที่เรียกว่า "เพลงครู" เพราะก่อนที่นักดนตรีจะเรียนร้องเพลงตระ จะต้องทำพิธีไหว้ครู และครูผู้เป็นประธาน จับมือตีเป็นการครอบประสิทธิประสาทเสียก่อน แล้วจึงจะต่อและบรรเลงประเภทตระต่าง ๆ ได้
                        เพลงตระ มีอยู่สองประเภท คือเพลงตระในอัตราสองชั้น กับเพลงตระในอัตราสามชั้น
                        เพลงตระอัตราสองชั้น ใช้กันเป็นเพลงหน้าพากย์ คือบรรเลงประกอบกิริยาต่าง ๆ ในการบรรเลงประกอบโขนละคร หรือประกอบกิริยาสมมุติในการพิธีต่าง ๆ  เช่น พิธีไหว้ครู เป็นต้น เพลงตระเหล่านี้มีชื่อต่าง ๆ ตามกิริยาที่ประกอบบ้าง เป็นนามเทพเจ้าที่ประสงค์จะเคารพบูชาเพื่ออันเชิญบ้าง
                        เพลงตระอัตราสามชั้น ใช้บรรเลงในชุดโหมโรงเย็น หรือโหมโรงในการแสดงมหรสพต่าง ๆ ก่อนเพลงรัวสามลา เพลงตระประเภทนี้มีมากมายหลายตระ และมีชื่อต่าง ๆ กัน          ๑๒/ ๗๓๓๘
                ๒๐๙๒. ตระการพืชผล  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศตอนเหนือ และตอนตะวันออกเป็นที่ดอน และเป็นป่าทึบ ตอนกลางเป็นที่ราบ ตอนใต้และตอนตะวันตก เป็นที่ลุ่ม
                        อ.ตระการพืชผล เดิมเป็นเมืองชื่อเป็น พนานิคม ตั้งอยู่ที่ ต.พนา ต่อมายุบเป็น อ.พนานิคม แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ขุหลุ ยังคงเรียกชื่อเดิม ภายหลังซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ขุหลุ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พนานิคม ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตระการพืชผล          ๑๒/ ๗๓๔๑
                ๒๐๙๓. ตรัง ๑ - พระยา  เป็นกวีมีชื่อเสียงคนหนึ่ง ในรัชกาลที่หนึ่ง และรัชกาลที่สอง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เป็นพระยาตรัง ในรัชกาลที่สอง ได้แต่งโคลงนิราศไว้เรื่องหนึ่งเรียกว่า "นิราศพระยาตรัง" พวกกวีแต่ก่อนยกย่องกันเข้าไว้ในตำรา กับแต่งโคลงดั้นยอพระเกียรติรัชกาลที่สอง ไว้อีกเรื่องหนึ่ง ต่อมาได้พบ เพลงยาวนิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อครั้งไปวางตราเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง
                        สำนวนพระยาตรังแต่งกลอนสู้แต่งโคลงไม่ได้ งานด้านกวีนิพนธ์ของพระยาตรังเท่าที่ปรากฎคือ
                        ๑. โคลงนิราศดาบเสด็จลำน้ำน้อย เป็นนิราศประเภทดั้น ตอนต้นแต่งเป็นแบบโคลงดั้นบาทกูญชร ตอนปลายแต่งแบบโคลงดั้นวิวิธมาลี
                        ๒. โคลงนิราศถลางหรือนิราศพระยาตรัง เป็นโคลงสี่สุภาพ แต่งในรัชกาลที่สอง คราวตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ไปรบพม่าที่มาตีเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๕๒
                        ๓. โคลงดั้นยอพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                        ๔. โคลงกระทู้เบ็ดเตล็ด แต่งไว้ ๑๗ บท และมีโคลงกลอีกสองชนิด ที่แต่งแสดงแบบไว้คือ โคลงกล"กรนารายณ์ "สามบท และ"นารายณ์ทรงกร" หกบท
                        ๕. เพลงยาว สำนวนแต่งพอประมาณ ไม่ถึงขั้นดี          ๑๒/ ๗๓๔๓
                ๒๐๙๔. ตรัง ๒  จังหวัดภาคใต้ อาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจด จ.พัทลุง ทิศใต้จด จ.สตูล และตกทะเลในช่องแคบมะละกา
                        จังหวัดตรัง มีแม่น้ำตรังเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ในแถบนั้น เรือกลไฟขนาดระวาง ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ ตัน เขาไปได้ถึง อ.กันตัง
                         ภูมิประเทศ  พื้นที่แบ่งออกเป็นสามตอน คือตอนเหนือ ซึ่งติดต่อกับเขาบรรทัดเป็นที่เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบอยู่ระหว่างเนินและตามลุ่มน้ำ มีป่าไม้ใหญ่ ๆ ตอนกลาง เป็นที่ลาดต่อเนื่องมาจากตอนเหนือ พื้นที่เป็นที่ราบดินแดง เหมาะแก่การเพาะปลูก ตอนใต้ เป็นที่ราบต่ำริมทะเล เพาะปลูกได้ นอกนั้นเป็นป่าไม้และทะเล
                        จังหวัดตรัง มีเกาะใหญ่น้อยงาม ๆ หลายแห่ง มีถ้ำและรังนกตามเกาะเหล่านั้น
                       จังหวัดตรัง เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง ในบรรดาหัวเมืองปักษ์ใต้ ตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนี้เป็นเมืองขึ้นเมืองนครฯ พญาศรีธรรมาโศกราช ทรงตั้งขึ้นพร้อมกับหัวเมืองอื่นๆ สักสิบเอ็ดหัวเมือง เรียกว่า เมืองขึ้นสิบสองนักษัตรในส่วนเมืองตรังว่าเป็นเมืองนักษัตรปีมะเมีย ถือตราม้า
                        จังหวัดตรัง ในรัชกาลที่สามตั้งอยู่ใน ต.ควนธานี ริมแม่น้ำตรัง ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๓๕ จึงย้ายไปตัวเมืองไปอยู่ที่ อ.กันตัง ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ย้ายไปอยู่ที่ ต.ทับเที่ยง อ.บางรัก คือ อ.เมืองตรังปัจจุบัน        ๑๒/ ๗๓๔๗
                ๒๐๙๕. ตรังกานู  เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในแหลมมลายู ปัจจุบันใช้เรียกชื่อรัฐหนึ่ง ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแหลมมลายู ทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลจีนใต้ ทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้จดรัฐปาหัง ทิศตะวันตกจดรัฐกลันตัน มีพื้นที่ประมาณ ๘,๐๘๘ ตารางกิโลเมตร
                        ก่อนที่ตรังกานูจะตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ นั้น ตรังกานูเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาก่อน แต่เดิมตรังกานูเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับเมืองปัตตานี เคยตกอยู่ในปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยของไทย และของมะละการะหว่างที่ตกอยู่ในปกครองของมะละกา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นั้น ตรังกานูเริ่มรับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ครั้นถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าเมืองปัตตานีได้รับกำลังอุดหนุนจากเมืองยะโฮร์ สามารถตั้งตนเป็นเมืองใหญ่ขึ้น ต่อมาเจ้าเมืองยะโฮร์ก็ให้ตุวันมาโชผู้เป็นน้องเขยไปเป็นเจ้าเมืองตรังกานู หลังจากนั้นตุวันมาโชและพี่ชายไปตีเมืองกลับตันได้เมืองกลับตัน จึงแยกมาขึ้นกับเมืองตรังกานู
                        ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ พระยาตรังกานูจึงจัดทำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ขอเป็นเมืองประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพ ฯ ด้วย
                        ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๓๒ - ๒๓๓๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นตรงก่อกรุงเทพ ฯ พระองค์ก็โปรด ฯ ให้เจ้าเมืองสงขลากำกับหัวเมืองหน้าแขก รวมทั้งตรังกานูและปัตตานีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด ฯ ให้เมืองนครศรีธรรมราชกำกับเมืองไทรบุรี และกลันตัน ซึ่งไม่ประสงค์จะขึ้นกับเจ้าเมืองตรังกานูต่อไป
                        ครั้นถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อังกฤษเริ่มขยายอำนาจเข้ามาในแหลมมลายู อังกฤษได้ส่งนาย เฮนรี เบอร์นี มาทำสนธิสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ มาตราหนึ่งในสนธิสัญญานี้รับรองความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือตรังกานู ไทรบุรี และกลับตัน
                        ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองปักษ์ใต้ พระยาตรังกานู ได้ถือโอกาสเข้าเฝ้า ฯ ถวายสิ่งของตามธรรมเนียม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินไทยเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงเขตแดนมลายู และในปี พ.ศ.๒๔๐๔ กรมการเมืองตรังกานู ได้เข้ามาถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ตามพระราชประะเพณี โดยสุลต่าลมะหมุดดินทางมาด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จออกรับแขกเมืองอย่างใหญ่ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่สุลต่าลมะหมุด ฝ่ายสุลาต่าลมะหมุดได้ถวายน้องหญิงต่างมารดา ชื่อ ตนกูสปิย อายุ ๑๓ ปี ให้รับราชการในพระบรมมหาราชวัง
                        สุลต่านมะหมุด เป็นสุลต่านนอกบัลลังก์แห่งลิงา ถูกฮอลันดาปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองลิงา ในปี พ.ศ.๑๔๐๐ จึงพาครอบครัวไปอยู่ที่สิงคโปร์ หลังจากกลับจากกรุงเทพ ฯ ไม่นานก็ได้คบคิดกับหวันอาหมัด (น้องชาย ปัมดาหราเจ้าเมืองปาหัง) ซึ่งหลบหนีมาอยู่ที่เมืองตรังกานู วางแผนรบกับปันดาหราเจ้าเมืองปาหัง พระยาตรังกานู เกรงว่าไทยจะยกกองทัพมาช่วยสุลต่านมะหมุด จึงไปขอความช่วยเหลือจากสิงคโปร์ เพื่อต่อต้านไทยแต่ไม่สำเร็จ ในเวลาเดียวกันปันดาหรา เจ้าเมืองปาหังก็ฟ้องร้องไปยังเจ้าเมืองสิงคโปร์ ทางสิงคโปร์มีหนังสือมายังเซอร์โรเบิร์ต ชอม เบอร์ก กงสุลประจำกรุงเทพ ฯ ให้ต่อว่ารัฐบาลไทย และขอให้ไทย พาตัวสุลต่าลมะหมุดออกไปจากตรังกานู เมื่อทางไทยแจ้งว่าสุลต่านมะหมุดมิใช่คนบังคับไทย แต่ไทยก็จะส่งเรือไปรับมากรุงเทพ ฯ คงขอให้รอหมดหน้ามรสุมก่อน สิงคโปร์เข้าใจว่าไทยบ่ายเบี่ยงจึงส่งเรือปืนสองลำไปเมืองกัวลา ตรังกานูยื่นคำขาดให้สุลต่านมะหมุดออกจากตรังกานูไปกรุงเทพ ฯ ภายใน ๔๘ ชั่วโมง เมื่อไม่ได้รับคำตอบจึงเข้าโจมตีเมืองตรังกานู เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจ จึงมีหนังสือไปยังเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอน มีผลทำให้เจ้าเมืองสิงคโปร์ถูกเรียกตัวกลับ และเปลี่ยนเจ้าเมืองใหม่
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ อังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงในมลายูเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๕ จึงเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ โดยได้เข้าไปแทรกแซงในดินแดนแห่งนี้ ระว่างปี พ.ศ.๒๔๑๗ - ๒๔๓๑ รัฐต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทยก็ตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษ เช่น เปราะ สลังงอ เนกรีเซมบิลัน และปาหัง และหลังปี พ.ศ.๒๔๓๘ รัฐทั้งสี่นี้ก็ได้เข้าเป็นสหพันธรัฐมลายู
                        ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๓๗ ฝรั่งเศสสนใจจะขุดคอคอดกระ ส่วนรัสเซียก็มีโครงการจะขอสัมปทานบนเกาะภูเก็ตหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อตั้งสถานีถ่านหิน ทำให้อังกฤษเกิดความกังวลจึงเตือนไทย มิให้ยกสัมปทานในดินแดนของไทย ในมลายูให้แก่ชาติยุโรปโดยไม่ปรึกษาอังกฤษ ยังผลให้มีการเจรจาและลงนามในอนุสัญญา ไทย - อังกฤษ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๐ อนุสัญญานี้ถือเป็นความลับ เพราะบรรจุใจความเป็นทำนองต่อต้านเยอรมนี และเป็นเชิงท้าทายฝรั่งเศส เพราะไทยสัญญาว่าจะไม่ยกสิทธิใด ๆ เหนือดินแดนหรือเกาะทางตอนใต้ของเมืองบางสะพาน ให้แก่มหาอำนาจใด ๆ ส่วนอังกฤษก็สัญญาว่า จะช่วยเหลือไทยต่อต้านมหาอำนาจที่สาม ซึ่งพยายามจะเข้าไปแสวงหาอาณานิคม หรือสร้างอิทธิพลในดินแดนดังกล่าว และยืนยันความเป็นเจ้าประเทศราชของไทย เหนือรัฐบาลมลายูรวมทั้งตรังกานูด้วย
                        ไทยกับอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาต่อกันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๒ รัฐบาลไทยยอมโอนอำนาจการปกครองดูแลเหนือรัฐตรังกานู กลันตัน ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษก็ยอมเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอำนาจศาลกงสุลให้แก่ไทย
                        ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ตรังกานูก็เข้าร่วมอยู่ในสหพันธรัฐมลายู ตรังกานูจะมีกรณีพิพาทกับ กลันตันเกี่ยวกับตำบล เบอสุต ซึ่งตัวอยู่ตรงพรมแดนทางเหนือ ระหว่างสองรัฐ และเนื่องจากตรังกานูไม่มีถนน หรือทางรถไฟเชื่อมดินแดนอื่น ๆ ในแหลมมลายู ตรังกานูจึงถูกตัดขาดจากมลายูตะวันตก ซึ่งได้รัการพัฒนา          ๑๒/ ๗๓๕๒
                ๒๐๙๖. ตรัย วัน ตรี  เป็นชายญวน รับราชการอยู่ ณ ราชสำนักวงศ์เหงียนที่เมืองเว้ โดยขึ้นต่อองเชียงสือ ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ เมื่อจักรพรรดิ์วูววงสิ้นพระชนม์ เสนาบดีตรวงฟุกโลน ถือโอกาสถวายราชสมบัติแก่โอรสผู้เยาว์องค์หนึ่ง และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ
                        เวีดนามในพุทธศตวรรษ ที่ ๑๓ แบ่งออกเป็นสองอาณาจักร ส่วนเหนือประกอบด้วยตังเกี๋ย และอันหนำ ตอนเหนือเขตนี้อยู่ในอำนาจของขุนนางตระกูลดิน เป็นผู้สำเร็จราชการในนามของจักรพรรดิ์ ราชวงศ์เล เมืองหลวงอยู่ที่ฮานอย อาณาจักรได้ประกอบด้วยอันหนำตอนใต้ ซึ่งญวน ได้ยึดจาก จามและโคจินจีน ซึ่งญวนยึดจากเขมร ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ กับปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อาณาจักรนี้อยู่ในความปกครองของตระกูลเหรียญ ซึ่งประกาศแยกตัวออกอจากอาณาจักรเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๔๓ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์เหวียน เมืองหลวงอยู่ที่เมืองเว้
                        ในปี พ.ศ.๒๓๑๖ ได้เกิดขบถขึ้นในอาณาจักรใต้ เริ่มที่ตำบลไตเซิน หัวหน้าเป็นพี่น้องตระกูลเหวียนสามคน เข้ายึดเมืองที่ขบถได้ ในขณะเดียวกันตระกูลมัก ก็ถือโอากาสเข้ายึดเมืองเว้ ในขณะที่กองทัพเหวียนยกมาปราบขบถที่ ทีนอน เจ้าราชวงศ์เหวียนส่วนมากจึงพากันอพยพลงมาที่เมืองไซ่ง่อน องเชียงซุน อนุชาองค์หนึ่งของจักรพรรดิ์เวียนได้หลบหนีเข้ามากรุงธนบุรี
                        ตวัน วัน ตรี ได้ติดตามองเชียงสือมาเมืองไซ่ง่อนด้วย และได้ร่วมต่อต้านทัพขบถซึ่งติดตามมาโจมตีเมืองไซ่ง่อน และยึดเมืองไซ่ง่อนได้ถึงสามครั้ง ครั้นปี พ.ศ.๒๓๒๖ องเชียงสือได้หนีมาพึ่งไทย รวมทั้ง ตวัน วัน ตรี ด้วย
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ยกกองทัพไปช่วยองเชียงสือ ตีเมืองคืนถึงสองครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ และ ๒๓๒๗ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่ายขบถไตเซินสามารถปราบปรามตระกูลตรินห์ได้ จักรพรรดิราชวงศ์เล หลบหนีไปประเทศจีน พวกขบถจึงยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด
                    ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ องเชียงสือ พร้อมด้วย ตวัน วัน ตรีได้หลบหนีกลับไป โคจิมจีนและปราบปรามขบถไตเซินลงได้ องเชียงสือสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์แห่งเวียดนาม มีพระนามว่ายาลอง ณ เมือง เว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕        ๑๒/ ๗๓๖๗
                ๒๐๙๗. ตรัยตรีงศ์ ๑ - เมือง  ตั้งอยู่ใน ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานกับแม่น้ำ ยาว ๘๔๐ เมตร กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ปัจจุบันยังมีกำแพงคูเมือง มีประตูเมืองด้านละหนึ่งประตู มีวัดอยู่สองวัดอยู่ในกำแพงเมือง คือ วัดเจ็ดยอดและวัดพระปรางค์ นอกกำแพงเมือง ด้านตะวันออกมีวัดพระธาตุ
                        เดิมที่ตั้งเมืองตรัยตรึงษ์เป็นเมืองอยู่แล้ว ชื่อเมืองแปบ แต่เป็นเมืองร้าง ผู้สร้างนั้นในหนังสือตำนานสิงหนวดิกุมารว่าได้แก่ พระองค์ชัยสิริ ซ้ำอพยพหนีข้าศึกจากเมืองชัยปราการ ลงมาทางใต้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๗          ๑๒/ ๗๓๗๐
                ๒๐๙๘. ตรียตรึงศ์ ๒  สวรรค์ชั้นที่สอง แห่งสวรรค์หกชั้นฟ้าที่พระอินทรครอง นอกจากเรียกว่าตรัยตรีวงศ์ แล้ว ยังเรียกดาวดึงส์บ้าง ตรีทศบ้าง หรือไตรทศบ้าง (ดูดาวดึงส์ - ลำดับที่ ๒๐๐๔ ประกอบ)          ๑๒/ ๗๓๗๓


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch