หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/45

    ๑๙๔๘. เฑียรราชา  คือพระนามเจ้านายแห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง และเป็นพระอนุชาต่างพระชนนี ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๘๙  พระแก้วฟ้า หรือพระยอดฟ้าพระราชโอรส ซึ่งเกิดด้วยพระสนมเอกฝ่ายซ้ายคือ ท้าวศรีสุดาจันทร พระชันษา ๑๑ ปี ได้ขึ้นครองราชย์ พระเฑียรราชาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท้าวศรีสุดาจันทรไม่พอใจพระเฑียรราชา หาเรื่องใส่ร้ายจนทรงสละตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แล้วออกทรงผนวช พระแก้วฟ้าครองราชย์อยู่ได้ ๒ ปี ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ พระศรีศิลป์ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อมีพระชันษาเพียง ๗ ปี ขุนวรวงศาธิราชได้เป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นเหตุให้บรรดาข้าราชการไม่พอใจ ต่อมาขุนวรวงศาธิราชได้ขึ้นครองราชย์ ขุนพิเรนทรเทพ และพวกได้ร่วมมือกันวางแผน กำจัดขุนวรวงศา ฯ โดยเชิญพระเฑียรราชาให้ลาผนวชมาครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ขุนพิเรนทรเทพได้รับสถาปนาเป็น พระมหาธรรมราชาโปรดให้ไปครองเมืองพิษณุโลก และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาองค์ใหญ่ ให้เป็นพระมเหสี
                        พระเจ้าตะเบงชเวตี้ เห็นเป็นโอกาสจึงยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ครองราชย์ได้เจ็ดเดือน ศึกครั้งนี้สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถูกพระแปรฟันสิ้นพระชนม์ กองทัพไทยต้องถอยทัพกลับมาตั้งมั่นอยู่ในพระนคร ทางกองทัพพม่าต้องถอยทัพกลับไป
                        ในปี พ.ศ.๒๑๐๖  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง หาเหตุที่ไทยไม่ยอมให้ช้างเผือก ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาไทยต้องยอมให้ ช้างเผือกสี่เชือก พร้อมทั้งพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงคราม ไปไว้เมืองพม่า
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้ประชวรสวรรคตในปี พ.ศ.๒๑๑๒ ภายหลังที่ได้ครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี สมเด็จพระมหินทร์ได้ครองราชย์สืบต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็เสียเอกราชแก่พม่า       ๑๑/ ๖๙๔๖
     
     

                ๑๙๔๙. ฒ พยัญชนะตัวที่สิบแปดของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวที่ห้าของวรรคสาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด เฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ที่ใช้เป็นตัวต้นมีเพียงสองคำคือ เฒ่า และเฒ่าแก่ เป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือ มีเสียงไม่ก้อง และออกเสียงเช่นเดียวกับตัว ท       ๑๑/ ๖๙๕๑
                ๑๙๕๐. เฒ่าแก่  มีคำนิยามว่า "ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายใน ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการหมั้น และขันหมาก เถ้าแก่ก็ใช้"          ๑๑/ ๖๙๕๑
     
     

                ๑๙๕๑. ณ พยัญชนะตัวที่สิบเก้าของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวสุดท้ายของวรรคที่สาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน จัดเป็นพยัญชนะพวกอโฆษะคือ มีเสียงก้องและออกเสียงเช่นเดียวกับตัว น เมื่อแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงในภาษาบาลีและสันสกฤต ณ เป็นพยัญชนะเกิดที่ส่วนสูงของเพดานปาก และเป็นพยัญชนะนาสิก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันห้าตัวคือ ง ญ ณ น ม           ๑๑/ ๖๙๕๔
                ๑๙๕๒. เณร  มีคำนิยามว่า เป็นคำละมาจากสามเณร คือผู้ดำรงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล ๑๐
                        ในยุคปฐมโพธิกาล พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้เสด็จยังกรุงกบิลพัสด์ ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้โปรดให้พระสารีบุตร จัดการบวชพระราหุลกุมาร ผู้เป็นโอรสซึ่งมีชนมายุยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะบวชเเป็นพระภิกษุยังไม่ได้ ในการนี้ได้โปรดให้ยกเอาวิธีที่พระสาวก รับคนเข้าบวชนั้นมาใช้แก่พระราหุลกุมาร และโปรดให้ทำต่อหน้าพระสงฆ์คือ ให้มีผู้รู้เห็น เรียกวิธีที่โปรดให้บวชพระราหุลกุมารนี้ว่า สามเณร หรือเณร  สามเณรราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และโปรดให้ใช้วิธีนี้ บวชกุลบุตรผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี  และเด็กที่จะบวชเณรนี้ ควรจะต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป เมื่อโปรดให้ยกเอาวิธีให้สรณาคมน์มาใช้บวชเณรแล้ว ก็โปรดให้ยกเลิกวิธีที่เคยใช้บวชพระภิกษุเสีย
                        การบวชเณรที่ปฎิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ผู้จะบวชนำผ้าไตรและเครื่องสักการะ เข้าไปหาพระอุปัชฌายะ กราบพระสงฆ์แล้ว กล่าวคำขอบรรพชา พระอุปัชฌายะจะสอนให้รู้จักพระรัตนตรัย และเรื่องการบวช สอนกรรมฐานเบื้องต้น มอบผ้าไตรให้ออกไปครอง แล้วกลับมากล่าวคำขอสรณะและศีล ท่านกล่าวนำให้ตั้งนโม นมัสการพระรัตนตรัย แล้วให้ว่าตาม แล้วท่านจะให้ไตรสรณาคมน์ เป็นอันสำเร็จภาวะเป็นสามเณร ต่อจากนั้นพระอุปัชฌายะจะให้สมาทานศีล ๑๐ ให้แยกออกเป็นทัณฑกรรม ๑๐ มาสนังคะ ๑๐ คือ องค์เป็นเหตุให้ถูกกำจัดออกจากหมู่สามเณร ต่อมาโปรดให้นำเสขียวัตร อีก ๗๕ ให้ประพฤติปฎิบัติ รวมสิกขา หรือศีลของสามเณร มี ๙๕ ข้อ จบแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
     
     

                ๑๙๕๓. ด พยัญชนะตัวที่ยี่สิบของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรกลางเป็นตัวต้นของวรรคที่สี่ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด จัดเป็นพยัญชนะพวกโฆษะคือ มีเสียงก้อง          ๑๑/ ๖๙๕๘
                 ๑๙๕๔. ดงบังอี่  เป็นดงใหญ่กว่าดงอื่น ๆ หมดในมณฑลอีสาน มณฑลอุดร และมณฑลนครราชสีมา มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.มุกดาหาร จด อ.อำนาจเจริญ ลงไปถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  ทิศตะวันออก จด อ.เขมราฐ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จด อ.ชานุมาน ทิศตะวันตก อ.เลิงนกทา มีเทือกภูเขาผ่านตามแนวดงคือ ภูกอง ภูโล้น และภูแฝกเนียว เป็นดงที่ช้างเถื่อนชุม        ๑๑/ ๖๙๕๙
                ๑๙๕๕. ดงพญาไฟ  ทิวเขา (ดู ดงพญาเย็น - ลำดับที่ ๑๙๕๖)        ๑๑/ ๖๙๖๔
                ๑๙๕๖. ดงพญาเย็น  เป็นทิวเขาเริ่มจากถนนสุรนารายณ์ ต่อจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ลงไปทางทิศใต้ ผ่านทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีปางอโศก กับสถานีบันไดม้า แล้วข้ามถนนมิตรภาพในแนวหลัก กม.ที่ ๑๗๐ ทิวเขาดงไปทางทิศใต้ ตลอดไปถึงเขาอินทนีและเขาแก้ว รวมยาว ๑๔๔ กม.        ๑๑/ ๖๙๖๔
                ๑๙๕๗. ดงรัก  เป็นทิวเขาเริ่มจากช่องตะโก ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่าง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ กับ อ.ตาพระยา จ.ปราจีนบุรี ยาวเป็นทิวไปทางทิศตะวันอออก เมื่อถึงหลักเขตแดนที่ ๒๘ ทิวเขานี้จะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา จนถึงห้วยเซลำเภา ทิวเขาจะหักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๕๔ กม. แล้วหักไปทางเหนือ จนถึงปากแม่น้ำมูลฝั่งขวา ในเขต อ.บ้านด่าน จ.อุบลราชธานี เป็นที่สุดของทิวเขา        ๑๑/ ๖๙๖๕
                ๑๙๕๘. ดนตรี  เป็นเครื่องบรรเลง ซึ่งมีเสียงดังทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รักโศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง
                        คำว่า ดนตรี ตามตัวอักษรก็แปลว่า สิ่งมีสายซึ่งหมายถึง เครื่องบรรเลงที่มีสาย เช่น ซอ ซึ่งสีเป็นเสียงหรือกระจับปี่ จะเข้ ซึ่งดีดเป็นเสียง ดังนั้น ในสมัยโบราณจึงใช้คำว่า ดนตรี เฉพาะแต่เรียกวงเครื่องสายเท่านั้น เช่น ประโคมดุริยดนตรี หมายความว่า ประโคมทั้งปี่พาทย์ และเครื่องสาย
                        แต่เนื่องจากจินตกวี ได้นำคำว่าดนตรีไปใช้กับการบรรเลงต่าง ๆ จนทำให้ความหมายกลายไป ปัจจุบันคำว่า "ดนตรี" หมายถึง เครื่องบรรเลงทุกอย่าง        ๑๑/ ๖๙๖๘
                ๑๙๕๙. ด้วง ๑  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า การที่ได้ชื่อเช่นนั้น เพราะมีลักษณะคล้ายตัวด้วงตัวเล็ก ๆ นิยมใช้เป็นขนมเครื่องสังเวยพระภูมิเจ้าที่อย่างหนึ่ง
                        ขนมที่อยู่ในเครือเดียวกันมี ขนมครองแครง ขนมไข่เต่า ขนมเรไร ขนมเล็บมือนาง ขนมนกกระจอก ขนมหูช้าง เพราะผสมแป้งอย่างเดียวกัน        ๑๑/ ๖๙๖๙
                ๑๙๖๐. ด้วง ๒  เป็นเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ สัตว์ที่ดักได้ส่วนมากเป็นพวกแย้ มีใช้กันมากในภาคอีสาน         ๑๑/ ๖๙๗๑
                ๑๙๖๑. ด้วง ๓  เป็นแมลงพวกหนึ่งมีปีกคู่แรก หรือปีกคู่หน้า หนา และแข็งมาก เป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตของการเจริญเติบโต แบบสมบูรณ์คือ มีการวางไข่ ไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอน มีการเข้าเป็นดักแด้ ก่อนที่จะออกมาเป็นตัวเต็มวัย
                        เท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน ด้วงมีจำนวนมากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ชนิด กล่าวได้ว่า มีจำนวนมากกว่าหนึ่งในสี่ ของแมลงทั้งหมด          ๑๑/ ๖๙๗๓
                ๑๙๖๒. ด้วง  ๔ - ซอ  (ดู ซอ - ลำดับที่ ๑๘๓๑)        ๑๑/ ๖๙๗๖
                ๑๙๖๓. ดวด  เป็นชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง ใช้เบี้ยทอดแล้วเดินแต้ม ผู้เล่นมีสองฝ่าย โดยใช้เบี้ยทอดห้าตัว และเบี้ยเดินแต้มฝ่ายละสามตัว เบี้ยที่ใช้ทอดนั้น ส่วนใหญ่ใช้เบี้ยจั่น มีกระดานสำหรับเดินแต้ม คล้ายกระดานหมากรุก แต่มีสองด้าน
                        การเล่นให้มีเมืองสองเมือง เป็นการเดินจากเมืองของตนเข้าไปในเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง และถ้าสามารถกลับมาเมืองของตนได้ก่อนจะชนะ เริ่มต้นเล่นด้วยการทอดเบี้ยโดยตกลงกันก่อนว่า จะถือเบี้ยคว่ำหรือเบี้ยหงายเป็น "ดวด"  ปกติจะถือว่าเบี้ยหอยหงายหนึ่งตัวเป็น "ดวด" ผู้ที่ทำการทอดได้ดวด ก็จะทำให้เบี้ยของตนเกิดได้หนึ่งตัว และจะทอดได้ต่อไปอีก การเดินนั้นเมื่อทอดได้เท่าใด ก็เดินเบี้ยของตนไปเท่านั้น แต่ละฝ่ายจะเดินเบี้ยของตนไปตามหมายเลข ผ่านเมืองของตนไปเข้าเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วกลับมาเข้าเมืองของตน จนถึงตาสุดท้ายที่ทำเครื่องหมายเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เรียกว่า "คลัก"  ในระหว่างเดินอยู่นั้น ถ้าเบี้ยของฝ่ายหนึ่งเดินมาตก ณ ที่เบี้ยอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ฝ่ายหลังเป็นผู้ตีได้ ฝ่ายแรกต้องตกไป และต้องไปเริ่มใหม่ เว้นแต่เบี้ยฝ่ายแรกไปตกอยู่ ณ มุมของกระดาน หรือมุมเมืองเรียกว่า "โย"  แล้วฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตี หรือเข้าไปแย่งที่ได้ เมื่อทอดเบี้ยได้จำนวนพอเหมาะที่จะออกไปซึ่งเรียกว่า "สุก" ฝ่ายใดได้สุกก่อน ก็เป็นฝ่ายชนะ          ๑๑/ ๖๙๗๖
                ๑๙๖๔. ดอกคำใต้  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีทุ่งนาสองข้างทาง มีป่าเป็นบางตอน เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ขึ้น อ.พะเยา ยกฐานะเป็นอำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘         ๑๑/ ๖๙๘๐
                ๑๙๖๕. ดอกดิน  เป็นพันธุ์ไม้มีลักษณะเหมือนกาฝากของพันธุ์ไม้จำพวกหญ้า ในเมืองไทยมีอยู่สามชนิด       ๑๑/ ๖๙๘๐
                ๑๙๖๖. ดอกไม้ - การจัด  การจัดดอกไม้ของไทย เริ่มต้นจากขั้นทำดอกไม้ ใบไม้ ให้เป็นดอกไม้ตามรูปทรงที่ต้องการเสียก่อน แล้วจึงนำมาจัดเข้าหมวดหมู่ ตามประโยชน์ใช้สอย การจัดดอกไม้ของไทย อาจแบ่งออกได้ดังนี้
                       ๑. จัดเพื่อใช้ในพิธีทางศาสนา และงานต่าง ๆ อันเนื่องกับประเพณีไทย มักใช้ดอกไม้ใบไม้ ตามธรรมชาติมาร้อยกรองให้เป็นรูปอื่นได้แก่ จัดพุ่ม พาน กระทง ร้อยเป็นมาลัย อุบะ
                       ๒. จัดเพื่อใช้ในการตกแต่งอาคารโดยเฉพาะวัด และวัง ใช้ต่างม่าน และตกแต่งประตูหน้าต่าง ได้แก่ มาลัย และกระเช้า เป็นต้น รวมเรียกว่า เครื่องแขวน         ๑๑/ ๖๙๘๑
                ๑๙๖๗. ดอกไม้ไฟ  เป็นวัสดุสำหรับจุดในงานต่าง ๆ ทำด้วยกระดาษไม้อ้อ หรือไม้ไผ่ เป็นต้น บรรจุดินดำไว้ข้างใน มีชื่อต่าง ๆ กันตามชนิดและตามท้องถิ่น เช่น กรวด พลุ ตะไล ไฟพะเนียง บั้งไฟ ลูกหนู อ้ายตื้อ เป็นต้น
                        ดอกไม้ไฟนี้ เมื่อจุดติดแล้วจะพ่นไฟ ออกมาเป็นลักษณะต่าง ๆ  บางครั้งก็อยู่กับที่ บางครั้งก็เคลื่อนที่ได้ และมีสีต่าง ๆ กัน บางครั้งก็มีเสียงด้วย
                        ประเพณีการจุดดอกไม้ไฟ มีมาแต่สมัยสุโขทัย นอกจากจะเป็นการจุดเนื่องในงานสมโภชบูชาแล้ว ยังจุดในงานศพด้วย         ๑๑/ ๖๙๘๔
                ๑๙๖๘. ดอกสร้อย ๑ - ต้น  เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นสกุลใหญ่ โดยมากเป็นพันธุ์แอฟริกา  และมีอยู่ทั่วไปในเขตร้อน พบในเมืองไทยทางภาคเหนือ ต้นไม้สกุลนี้มีหลายชนิด ที่มีดอกขาวแดง และเหลือง มีบางชนิดเป็นพิษ บางชนิดเป็นยาขับพยาธิในท้อง       ๑๑/ ๖๙๘๖
                ๑๙๖๙. ดอกสร้อย ๒  เป็นชื่อคำร้อยกรองชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนสักวา จึงมักเรียกว่า ดอกสร้อยสักวา เป็นคำร้อยกรองประกอบการเล่นอย่างหนึ่ง อันสืบเนื่องมาแต่สมัยอยุธยา สืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ แล้วค่อย ๆ เสื่อมลง
                        ลักษณะเล่นดอกสร้อย กับสักวาผิดกันที่ดอกสร้อยเล่นกันแต่สองวง ชายวงหนึ่ง หญิงวงหนึ่ง และร้องรำต่าง ๆ ร้องยากกว่าสักวา ส่วนสักวานั้น เล่นกันกี่วงก็ได้         ๑๑/ ๖๙๘๗
                ๑๙๗๐. ดอง ๑  หมายถึง กิริยาอาการที่แช่ หรือหมักของอย่างใดอย่างหนี่งไว้ ในการถนอมอาหาร วิธีปฎิบัติคือ หมักอาหารไว้กับเกลือระยะหนึ่ง เมื่อได้ที่แล้วก็บริโภคได้ ในการนี้เกลือทำหน้าที่รักษาคุณภาพของอาหารไว้ ไม่ให้เสียโดยเกลือจะทำให้การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ที่เป็นสาเหตุของการเสียของอาหารหยุดชะงักลง แต่บัคเตรีบางพวกยังคงเจริญเติบโตต่อไปได้ บัคเตรีพวกหลังนี้มีส่วนช่วยในการถนอมอาหารด้วย เพราะสามารถผลิตสารเคมีบางชนิดขึ้นมา เช่น กรดแลกติก กรดน้ำส้ม และเอทิลอัลกอฮอล์ เป็นต้น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยถนอมอาหาร และทำให้เกิดรสเปรี้ยวในผักดอง        ๑๑/ ๖๙๙๐
                ๑๙๗๑. ดอง ๒  หมายถึง การห่มผ้าของพระภิกษุ สามเณร คือ การห่มเฉวียงบ่า การห่มดองคือ การห่มอยู่กับที่ หรืออยู่ในบริเวณวัด
                        การครองผ้าของพระภิกษุ สามเณร มีสองอย่างคือ ห่มคลุม และห่มดอง ห่มคลุมคือ ห่มเมื่อเข้าละแวกบ้าน
                        ห่มดอง มีสองแบบคือ ห่มปิดขวาอย่างเดิม และห่มปิดซ้าย ถ้าห่มดองทำกิจที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่อื่นที่เป็นการหลวง ที่เป็นภายในวัด ต้องห่มดอง พาดสังฆาฎิ คาดรัดประคดอก เหมือนกันหมดไม่ว่าห่มแบบไหน        ๑๑/ ๖๙๙๓
                ๑๙๗๒. ด้อง - ปลา   เป็นปลาจัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน ซึ่งมีอยู่ราวแปดสกุล แต่ในสกุลนี้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่เรียกว่า ปลาด้อง         ๑๑/ ๖๙๙๙
                ๑๙๗๓. ดองดึง - เถา  บางทีเรียกว่า ดาวดึงส์ เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก มีหัวลักษณะคล้าย ๆ กับหัวขมิ้นขาว หรือรากกระชาย ใบเป็นรูปหอกคล้ายใบข้าว ปลายแหลมเรียว แล้วขมวดเป็นมือจับคล้ายหนวดผีเสื้อ ดอกออกตามซอกใบขนาดใหญ่งามมาก        ๑๑/ ๖๙๙๙
                ๑๙๗๔. ดอนโขง  เป็นหาดทรายที่ยื่นออกตามแนวแม่น้ำโขง ตอนในแม่น้ำโขงตั้งแต่เขต จ.เชียงราย ถึงเขต จ.อุบลราชธานี มีอยู่ถึง ๑๔๑ ดอน มีชื่อเรียกต่างกันไปเป็นดอนเส้า ดอนกาม ดอนหนู ดอนแพง ดอนพิมาย และดอนบุ่งแก้ว เป็นต้น        ๑๑/ ๗๐๐๐
                ๑๙๗๕. ดอนเจดีย์  อำเภอขึ้น จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.ศรีประจันต์ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                        อ.ดอนเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงสร้างเป็นที่ระลึก เมื่อทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา เมืองหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕        ๑๑/ ๗๐๐๓
                ๑๙๗๖. ดอนตูม  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม  ภูมิประเทศเป็นป่าไม้ไผ่ และไม้เบญจพรรณ บางแห่งเป็นหนองบึง เดิมเป็นตำบลขึ้น อ.บางเลน ขึ้น อ.บางเลน เคยเป็นเมืองเก่า ครั้งสมัยทวารวดี ยังมีซากปรักหักพัง และกำแพงเมืองปรากฎอยู่ ต่อมายุบแล้วตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ที่ตำบลสามง่าม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒        ๑๑/ ๗๐๐๓
                ๑๙๗๗. ดอนเมือง  เป็นชื่อท่าอากาศยานอันเป็นศูนย์กลางการบินของไทย เป็นชื่อสถานีรถไฟสายเหนือแห่งหนึ่ง และเป็นชื่อวัดราษฎรวัดหนึ่ง ทั้งหมดอยู่ในท้องเดียวกันคือ ในตำบลบางเขน อำเภอบางเขน กรุงเทพ ฯ กับเป็นชื่อของหนองน้ำใน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย และเป็นชื่อของเนินดินใน ต.คำพระ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี         ๑๑/ ๗๐๐๕
                ๑๙๗๘. ดอนยายหอม  เป็นชื่อตำบลหนึ่ง ขึ้น อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นชื่อซากโบราณสถาน ที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งในตำบลนี้ บางครั้งเรียกว่า เนินพระ อยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐ กม. และเป็นชื่อวัดวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ดอนยายหอมนั่นเอง
                        ตำนานของดอนยายหอม เป็นตำนานเดียวกันกับตำนานการสร้างพระปฐมเจดีย์ ในเรื่องของพระยากง กับพระยาพาน
                        ส่วนข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีนั้นมีว่า ดอนยายหอม หรือเนินพระนั้น น่าจะเป็นวัดใหญ่วัดหนึ่ง ที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสมัยทวารวดี (พ.ศ.๑,๐๐๐ - ๑,๒๐๐) เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ได้มีการขุดพบเสาศิลาแปดเหลี่ยม สูงประมาณ ๔ เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสัญจิเจดีย์ของพระเจ้าอโศก และรูปกวางหมอบหนึ่งตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีหนึ่งองค์ กับธรรมจักร ที่ชำรุด        ๑๑/ ๗๐๑๐
                ๑๙๗๙. ดอยสะเก็ด  อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นภูเขา และป่าไม้กระยาเลย ตอนใต้เป็นที่ราบต่ำกว่าตอนเหนือ ทำนาได้ดี           ๑๑/ ๗๐๑๓
                ๑๙๘๐. ดอลลาร์  เป็นชื่อของเงินเหรียญที่ใช้กันในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้เหรียญดอลลาร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๗ แคนาดา ไลบีเรีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ใช้เหรียญดอลลาร์เหมือนกัน        ๑๑/ ๗๐๑๕
                ๑๙๘๑. ดะโต๊ะ  เป็นคำภาษามลายูที่นำมาใช้ในหมู่คนไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นคำที่ทางราชการนำมาบัญญัติใช้ ทางฝ่ายตุลาการในสี่จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ที่เรียกว่า ดะโต๊ะยุติธรรม
                        คำว่า ดะโต๊ะ หมายถึง ผู้ใหญ่ ผู้มีหน้าที่ในราชการ ปู่ ตา (ผู้ควรเคารพนับถือ ผู้เฒ่า)  เช่น โต๊ะครู ผู้สอนศาสนาอิสลาม
                        คำว่า ดะโต๊ะยุติธรรม เป็นคำที่ทางราชการนำมาใช้ในทางศาล หรือฝ่ายตุลาการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ก่อนหน้านั้นใช้คำว่า โต๊ะกาลี และโต๊ะกาซี ดังในประกาศกฎข้อบังคับ สำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ.๒๔๔๔ ส่วนที่ว่าด้วยโรงศาลข้อ ๑๒ มีความว่า "ให้ใช้พระราชกำหนดกฎหมายทั้งปวง ในความอาญา และความแพ่ง แต่ความแพ่งซึ่งเกิดด้วยศาสนาอิสลาม  เรื่องผัวเมียก็ดี และเรื่องมรดกก็ดี ซึ่งคนนับถือศาสนาอิสลามเป็นทั้งโจทก์จำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลาม ในการพิจารณาและพิพากษา และให้โต๊ะกาลี ซึ่งเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือในศาสนาอิสลาม เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลามนั้น"
                         ในสารตรากระทรวงยุติธรรม พ.ศ.๒๔๖๐ มีข้อความว่า ถ้าบุคคลผู้ถือศาสนาอิสลามพิพาทกัน ด้วยความแพ่งลักษณะผัวเมีย และทรัพย์มรดก ให้ตุลาการพึงพิจารณา และบังคับคดี โดยลัทธิประเพณีอิสลาม ฯลฯ ให้ตั้งโต๊ะกาซี เป็นผู้ปรับบังคับคดีตามประเพณีนิยมนั้น ฯลฯ ให้เรียกตุลาการนี้ว่า ดะโต๊ะยุติธรรม เทียบคำเสนายุติธรรม ในมณฑลพายัพ ฯลฯ
                        ดะโต๊ะยุติธรรม สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล ซึ่งมีผลให้ศาลในสี่จังหวัดดังกล่าว กลับไปใช้กฎหมายอิสลามในคดีแพ่ง เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก อีก
                        กฎหมายอิสลาม ที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งอนุมัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมใช้เป็นหลัก พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เอามาจากคัมภีร์กีตับ ในศาสนาอิสลาม           ๑๑/ ๗๐๑๖


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch