หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/44

    ๑๙๓๓. ญาณ  มีคำนินามว่า ความรู้ ปัญญา ปรีชาหยั่งรู้ ปรีชากำหนดรู้ โดยความคือ ความรู้แท้ ความรู้จริง ตามเป็นจริง
                        ความรู้จริงตามเป็นจริง ในส่วนที่เป็นคดีโลกอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยคาดไม่ถึง แต่ในคดีธรรม ความรู้ที่ได้ชื่อว่า ญาณนี้ เป็นความรู้ที่แน่นอน ไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น
                        ในคัมภีร์ทสกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก (ข้อ ๒๔ หน้า ๒๒๖)  ท่านแสดงถึงพระปรีชาญาณ ที่เป็นคุณสมบัติทำให้ได้ชื่อว่า ตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุในคืนตรัสรู้นั้น ท่านเรียกว่า วิชชา กำหนดประเภทไว้สามคือ
                       ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  หยั่งรู้ระลึกชาติได้ และรู้ละเอียดว่าในชาติก่อน ๆ เหล่านั้นมีชื่อ มีตระกูล มีชาติ มีผิวพรรณ มีสุข มีทุกข์ มีเพศ มีอายุ มีอาหาร อย่างนั้น ๆ เมื่อตายจากชาตินั้น ๆ แล้ว ได้เกิดในชาตินั้น ๆ ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้ เป็นอย่างนี้ นี่คือ ระลึกชาติได้
                        ๒. จุตูปปาตญาณ  หยั่งรู้จุติและเกิด คือ มีตาทิพย์ บริสุทธิ์ล่วงจักษุคนสามัญ เห็นเหล่าสัตว์กำลังจุติ กำลังเกิด เลวบ้าง ประณีตบ้าง มีรูปพรรณสัณฐานสมส่วนก็มี ไม่สมส่วนก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี และรู้ละเอียดลงไปว่า ที่เป็นไปตามกรรมที่ทำไว้นั่นเอง นี่คือรู้จุติและเกิด
                        ๓. อาสวักขยญาณ  รู้จักทำอาสวะให้สิ้น คือ รู้สัจธรรมว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค รู้ว่าเหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ  นี้ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้อย่างนี้ได้ก็พ้นจากกามาสวะ ภาวสวะ อวิชชาสวะ รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอันต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก        ๑๑/ ๖๘๖๒
                ๑๙๓๔. ญาติ  คือ คนในวงศ์วานที่เนื่องถึงกัน ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสาย เช่น สายพ่อ หรือสายแม่ ในทางพระวินัยของพระสงฆ์ ท่านกำหนดเพียงตลอดเจ็ดชั่วบุรพชนก เขยและสะใภ้ ท่านไม่นับว่าเป็นญาติ แต่มีคำเรียกเป็นเฉพาะว่า เกี่ยวดองกัน       ๑๑/ ๖๘๗๑
                ๑๙๓๕. ญี่ปุ่น  เป็นคำที่คนไทยเรียกประเทศและคนชาติหนึ่ง ซึ่งอยู่ในประเทศนี้
                        เกาะญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ด้านใต้ตกทะเลจีน อยู่ในส่วนตะวันออกสุดของโลก (ทวีปเอเชีย - เพิ่มเติม)  เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยหลายพันเกาะ เกาะใต้มี ๙ เกาะ รวมพื้นที่ประมาณ ๓๗๕,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร
                        ต้นกำเนิดของประเทศญี่ปุ่น ปรากฎตามเทพนิยายว่า มีบุรุษกล้าหาญออกจากแผ่นดินส่วนใต้รุกไล่ปราบคนถิ่นเดิม คือ คนเผ่าไอนู รวมแผ่นดินตั้งเป็นอาณาจักรยามาโต (ญี่ปุ่น) ขึ้น (ที่จังหวัด นารา ปัจจุบัน)  เมื่อ ๑๑๗ ปีก่อน พ.ศ. เป็นจักรพรรดิ์พระองค์แรก สืบสันตติวงศ์สวรรค์ ครองประเทศเป็นวงศ์เดียวกันมา ไม่ขาดสายเป็นเวลากว่าสองพันปี จนถึงจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต องค์ที่ ๑๒๔
                        ประวัติศาสตร์การสร้างประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้ เมื่อสมัยจักรพรรดิ์เคอิโต องค์ที่ ๒๖ ระหว่างปี พ.ศ.๑๐๕๐ - ๑๐๗๗  สังคมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น เป็นสังคมก่อขึ้นจากการนับถือศาสนา บนที่ดินคือ พระภูมิเจ้าที่ อันเนื่องมาจากการนับถือดวงวิญญาณ ของบรรพบุรุษตามคำสอนในศาสนาชินโต
                        สมัยปฎิรูป  การเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญมาแต่เดิม หัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าตำบล และหัวหน้าเมือง มีอำนาจครอบครองพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านั้นด้วย ลูกบ้านกลายเป็นบริวาร เกิดการปกครองแบบเจ้ามูลนายขึ้น ความไม่เสมอภาคในสังคมขยายกว้างออกไป แผ่นดินถูกแบ่งแยกตกเป็นสมบัติของคนมั่งมีของราชวงศ์และขุนนาง
                        ในปี พ.ศ.๑๑๘๘ - ๑๑๙๘  สมัยจักรพรรดิ์โคโตกุ องค์ที่ ๓๖ ได้มีการปฎิรูปการปกครองเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ โดยวิธีนำเอาหลักศาสนา และหลักปกครองของราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถัง ในประเทศจีนมาเป็นแบบฉบับ มีหลักสำคัญของการปฎิรูปคือ
                        ก. นำที่ดินส่วนบุคคลทั้งหมดเข้ามาเป็นสาธารณสมบัติ
                        ข. แบ่งที่ดินทั้งหมดให้แก่ประชาชน จัดทำสำรวจสำมะโนครัว และกำหนดอัตราภาษีอากร จากที่ดินนั้นโดยสมควร
                        ค. จัดแบ่งประเทศออกเป็นแคว้นมณฑล จังหวัด และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปกครอง มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จักรพรรดิ์พระองค์เดียว
                        ในสมัยนี้ ญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมทางศาสนาของจีนคือ ลัทธิเต๋า ขงจื้อ ศิลปกรรม และจารีตประเพณี จากจีน และเกาหลีมาก พุทธศาสนาที่ได้รับมาภายหลัง ผสมกับศาสนาของจีน และศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น นำความเจริญทางการปกครอง ให้แก่ประเทศญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง
                        สมัยขุนนาง  ระหว่างปี พ.ศ.๑๓๒๔ - ๑๓๔๔  ในรัชสมัยพระจักรพรรดิ์คัมมุ ได้ย้ายราชธานีจากเมืองนารา ไปตั้ง ณ นครเกียวโต จักรพรรดิ์ทรงดำรงตำแหน่งอันศักดิ์สิทธิ์ แต่มีตระกูลขุนนางตระกูลหนึ่งชื่อ ฟูจิวารา มีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ค่อย ๆ ดึงอำนาจจากราชสำนัก มาบริหารเสียเอง ฐานะส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ์ตกต่ำลงถึงที่สุด ตระกูลฟูจิวาราบริหารประเทศตามควมพอใจ พลเมืองกลายเป็นคนเกียจคร้าน เป็นทาสอบายมุข พวกตระกูลต่าง ๆ ตามหัวเมืองเกิดความไม่พอใจ ไม่ยอมรับคำสั่งของรัฐบาลกลาง บรรดาเจ้าของที่ดินตามหัวเมืองจำต้องจ้างชาวนาผู้กล้าหาญ ฝึกหัดวิชารบเอาไว้ป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง กลายเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ขึ้นแก่กันต่างปกครองเขตแดนของตน ตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองนคร บรรดาชาวนาที่กลายเป็นนักรบ ของผู้ครองนครเรียกว่า ซามูไร แปลว่า นักรบผู้ตามรักษาเจ้านาย กลายเป็นนักรบยิ่งใหญ่ขึ้น
                        สมัยซามูไร - รัฐบาลทหาร  มีตระกูลขุนศึกสองตระกูล ช่วยกันกอบกู้พระราชอำนาจได้ปราบปรามตระกูลฟูจิวารา ลงได้ในปี พ.ศ.๑๖๙๙ ขุนศึกทั้งสองตระกูลได้รับยกย่องอย่างสูง ในประวัติศาสตร์แต่ต่อมาเกิดแย่งอำนาจกัน ตระกูลมินาโมโต เป็นฝ่ายชนะในที่สุด และได้ตั้งรัฐบาลทหาร อันประกอบด้วยซามูไรขึ้นที่เมืองคามาคูรา ได้อำนาจทั้งหมดในบ้านเมือง
                        สมัยนั้น จักรพรรดิ์โงชิคาวารา องค์ที่ ๗๗ ทรงพระปรีชาสามารถทรงแต่งตั้งโยริโมโตขึ้นเป็นโชกุน ตำแหน่งจอมพลพิเศษของประเทศ โชกุนแห่งคามากูรา  ได้อำนาจเป็นรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นอยู่ประมาณ ๑๕๐ ปี ในสมัยนี้มีเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อยู่สองเรื่องคือ ความเจริฐของพุทธศาสนานิกายเซน (ดู เซน - ลำดับที่ ๑๘๖๖) และลัทธิบูชิโด อันเป็นศีลของซามูไร โยริโมโต เคร่งครัดในศาสนาพุทธ และบังคับให้ซามูไรทุกคนปฎิบัติตามหลักธรรมนั้นด้วย ผลแห่งการอบรมด้วยลัทธิบูชิโด ทำให้นักรบญี่ปุ่นเคารพเกียรติยศรุนแรงขึ้น จงรักภักดีต่อประเทศชาติ และองค์จักรพรรดิ์มากขึ้น เกิดลัทธิชาตินิยมคือ ความเชื่อมั่นว่า ญี่ปุ่นเป็นแผ่นดินที่พระเจ้า หรือสวรรค์ประทานมา ได้กลายเป็นอุดมคติประจำชาติ
                          สมัยปิดประตูเมือง  รัฐบาลทหารที่คามากุราสิ้นอำนาจลง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๘๑ แต่ศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา และซามูไร ยังมั่นคงอยู่ รัฐบาลโชกุนสมัยต่อมาย้ายมาตั้งที่นครหลวงเกียวโต การติดต่อกับเกาหลีและจีนกว้างขวางออกไป ทั้งการค้าและวัฒนธรรม คริสตศาสนาที่แพร่เข้ามาในระยะนี้ เป็นอันตรายแก่ญี่ปุ่น กลุ่มพุทธศาสนากับคริสตศาสนา เกิดต่อสู้กัน พวกสนับสนุนคริสต์ศาสนามีอาวุธดีกว่าคือ มีอาวุธปืน เอาชนะพวกซามูไร ผู้มีแต่ดาบและธนู จึงเกิดความคิดอ่านในการปิดประเทศขึ้น
                          ล่วงมาถึงสมัยเยโด (ชื่อเมืองหลวงโตเกียวเก่า)  ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๔๕ - ๒๔๑๐  โชกุนตระกูลโตกูงาวา ได้ย้ายที่ทำการปกครอง (แบบขุนนาง) จากเกียวโต มาอยู่โตเกียว (เยโด)   ระหว่างนี้อิทธิพลของศาสนาคริสต์กับชาวตะวันตก มีกว้างขวางมาก โชกุนต้องออกกฎหมายปิดประเทศลงเป็นบางส่วนก่อน จนถึงสมัยโชกุนโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขุนศึกของญี่ปุ่น ตีทัพจีนและเกาหลีแตก และได้ออกกฎหมายห้ามสอนศาสนาคริสต์ ไล่นักบวชคาทอลิกออกนอกประเทศ และห้ามคนญี่ปุ่นออกนอกประเทศ (พ.ศ.๒๑๕๕ - ๒๑๗๖)
                          สมัยฟื้นฟู  ญี่ปุ่นปิดประเทศมาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๘๗ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ กษัตริย์ฮอลันดา ได้ส่งพระราชสาสน์ลับมายังโชกุน ทรงเตือนให้ระหว่าง อย่าได้ปฎิบัติการอันน่าสลดใจ เช่นที่ประเทศจีนได้ทำมาแล้ว (จีนรบแพ้อังกฤษ เพราะปิดประเทศ)  โชกุนจึงยอมให้นักสอนศาสนาชาวฮอลันดา เข้าประเทศได้อีกเป็นครั้งแรก และเปิดให้อเมริกัน เมื่อ พลเรือจัตวา เปอรี นำขบวนเรือรบสี่ลำเข้ามายังอ่าวเมืองเยโด ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๑ จักรพรรดิ์เมยี (เมยี เทนโน)  ก็ได้ขึ้นครองราชย์
                          เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศยอมติดต่อกับนานาประเทศแล้ว ความเจริญก็หลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่น อำนาจโชกุนเริ่มอ่อนแอลง สุดท้ายก็พากันถวายพระราชอำนาจคืนแก่จักรพรรดิ์ สถาบันโชกุนก็สิ้นสุดลง หลังจากได้สืบสกุลกันมา ๒๖๕  รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น ๖๗๕ ปี
                        สมัยเมยี เทนโน เป็นสมัยเริ่มรวมชาติ รัฐบาลญี่ปุ่นลงมือสร้างชาติทุกทางอย่างเต็มกำลัง เริ่มต้นเปลี่ยนระบอบสังคมใหม่ ปรับปรุงการศึกษา การยุติธรรม การทหาร เศรษฐกิจและการเมืองใหม่ ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ พระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้พลเมือง ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเข้มแข็ง และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทำสงครามใหญ่กับจีนในปี พ.ศ.๒๔๓๗ และทำสงครามกับรัสเซียในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ญี่ปุ่นได้ชัยชนะทั้งสองครั้ง ความสัมพันธ์กับไทยที่ขาดกันมาประมาณ ๒๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาก็เริ่มขึ้นใหม่ในสมัยนี้ ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ รัฐบาลสยามกับรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ลงนามในสัญญาพระราชไมตรีทางการค้า และการเดินเรือต่อกันเป็นครั้งแรก
                        ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามมหาเอเซียบูรพา (พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘) ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปกครองประเทศใหม่ เข้าสู่ยุคใหม่เป็นประชาธิปไตยทุกทาง        ๑๑/ ๖๘๗๓
                ๑๙๓๖. ไญยธรรม เญยธรรม ญายธรรม
                        ๑. เหตุอันสมควร  เช่นสมควรแก่การเป็นอริยสาวก ความหมายนี้มีที่มาในสักปัญหสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
                        ๒. อริยมรรค  ทางอันประเสริฐแปดประการ อริยมรรคชื่อว่าญายธรรมโดยอรรถาธิบายว่า ก้าวไปสู่นิพพานโดยความเป็นทางดำเนินที่ไม่ผิด
                        ๓. นิพพาน  ธรรมอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา นิพพานนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง อย่างหนึ่งว่า "อมตะ" แปลว่าไม่ตาย เป็นสภาพอันหนึ่งที่ไม่มีเกิดไม่มีดับ และเพราะมิได้เกิด ฉะนั้นจึงไม่ตาย แต่ก็เป็นอายตนะที่มีอยู่เรียกว่า อสังขตธาตุ แปลว่าธาตุอันปัจจัยอะไร ๆ มิได้ปรุงขึ้นสร้างขึ้น และว่านิพพานนั้นแปลว่า ปราศจากเครื่องร้อยรัดและเครื่องร้อยรัดนั้นคือตัณหา        ๑๑/ ๖๘๘๔
     
     

                ๑๙๓๗. ฎ พยัญชนะตัวที่สิบสี่ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรกลาง เป็นตัวต้นของวรรคที่สาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด โดยมากในคำที่มาจากบาลี และสันสกฤต ที่ใช้เป็นตัวหน้าในภาษาไทย มีอยู่เพียงคำเดียวคือ ฎีกา
                       ตัว ฎ เป็นพยัญชนะพวกโฆษะคือมีเสียงก้องและออกเสียงเช่นเดียวกับตัว ด       ๑๑/ ๖๘๘๙
                ๑๙๓๘. ฎีกา ๑  คำนี้ในภาษาบาลีเป็นต้นคำแปลว่าชี้แจง ถ้อยคำ วาจา เป็นเครื่องกำหนดมีคำนิยามว่า หนังสือที่เขียนนิมนต์พระสงฆ์ ใบเบิกเงิน ใบบอกบุญเรี่ยไร คำร้องทุกข์ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน คำร้องหรือคำคัดค้านที่ยื่นต่อศาลสูงสุด ชื่อศาลสำหรับตัดสินความชั้นสูงสุด เรียกว่า ศาลฎีกา อีกนัยหนึ่ง ยื่นคำร้องหรือคัดค้านต่อศาลสูงสุด ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีการ้องทุกข์เรียกว่า ร้องฎีกา
                        ในครั้งพุทธกาล เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในวงการของคณะสงฆ์ก็ต้องกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ เมื่อได้ทรงสอบสวนโดยละเอียด แล้วทรงวินิจฉัยอย่างไร คำวินิจฉัยของพระพุทธเจ้านั้นก็เรียกว่า พระพุทธฎีกา รวมถึงคำสอนด้วยที่พระพุทธเจ้าทางแสดงก็เรียกว่าพุทธฎีกา
                        อีกนัยหนึ่งที่เรียกใบเบิกเงินโดยเฉพาะของทางราชการว่าฎีกา ข้อนี้น่าจะเนื่องมาแต่เดิมของที่ทางราชการจ่ายให้เป็นของพระราชาทั้งนั้น จึงต้องตั้งฎีกาเบิก
                        อีกนัยหนึ่งในภาษาบาลีใช้คำนี้เป็นชื่อของสำนวนหนังสือของภาษาบาลีที่แก้ไขอรรถกถา ซึ่งจัดเป็นชั้นที่สาม สำนวนภาษาบาลีมีอยู่สี่สำนวนด้วยกันคือ บาลี อรรถกถา แก้บาลี ฎีกา แก้อรรถกถา หรือแก้ทั้งบาลีทั้งอรรถกถา สัททาวิเศษ คำอธิบายศัพท์ของภาษาบาลีที่เรียกกันว่า ไวยากรณ์
                        คำว่าฎีกานี้ ยังเป็นชื่อประกอบกับคำอื่นว่า ใบฎีกา ใช้ในชื่อสมณศักดิ์ชั้นฐานานุกรมว่าพระใบฎีกา พระครูใบฎีกา        ๑๑/ ๖๘๘๙
                ๑๙๓๙. ฎีกา ๒  เป็นศาลสำหรับตัดสินความชั้นสูงสุด คำพิพากษาหรือคำสั่งใดที่ศาลฎีกาได้พิพากษา หรือสั่งแล้วให้ถือว่าเป้นที่สุด       ๑๑/ ๖๘๙๓
     
     

                ๑๙๔๐. ฎ พยัญชนะตัวที่สิบห้าของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรกลาง เป็นตัวที่สองในวรรคที่สาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต จัดเป็นพยัญชนะอโฆษะ คือมีเสียงไม่ก้องและออกเสียงเช่นเดียวกับตัว ต
                       เมื่อแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดของเสียงในภาษาบาลี และสันสกฤต ตัว ฏ เป็นพยัญชนะเกิดที่ส่วนสูงของเพดานปาก โดยโค้งลิ้นกดเข้าไปให้ลึก ซึ่งไม่มีในระบบเสียงภาษาไทย เรามีไว้เพื่อแบ่งอักษรของบาลีสันสกฤตในวรรคนี้เท่านั้น        ๑๑/ ๖๘๙๙
     
     

                ๑๙๔๑. ฐ พยัญชนะตัวที่สิบหกของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรสูง เป็นตัวที่สามของวรรคสาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด เฉพาะคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต       ๑๑/ ๖๙๐๐
                ๑๙๔๒. ฐาน  คือพื้นสำหรับรองรับสิ่งใด ๆ ในสถาปัตยกรรมไทย มีหกอย่างคือ ฐานเขียง ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ ฐานเชิงบาตร ฐานบังกลุ่ม ฐานลูกฟัก
                         ๑. - ฐานเขียง  คือฐานที่ด้านข้าง ตั้งตรงเป็นรูปฉาก แต่เพื่อความงามในทางศิลปะ ทางด้านตั้งทำเป็นลายเส้นลวดให้เข้าไป ถ้าเป็นฐานซึ่งซ้อนกันหลายชั้น ฐานเขียงจะเป็นฐานเบื้องต่ำที่สุดของฐานอื่น ๆ ถ้าฐานเขียงมีเนื้อที่กว้างเดินได้รอบก็เรียกว่า ฐานทักษิณ
                         ๒. - ฐานปัทม์  บางทีเรียกว่า ฐานบัวคว่ำบัวหงาย หรือเรียกแต่ฐานบัวเฉย ๆ ก็ได้ส่วนนี้อยู่เบื้องที่สุดของฐานทั้งข้างบน และข้างล่างเรียกว่า หน้ากระดานบน หน้ากระดานล่าง ตอนกลางของฐานด้านข้างอยู่ระหว่างบัวหงายบัวคว่ำ เป็นแนวยาวแบน ๆ เกลี้ยง ๆ เรียกว่า ท้องไม้ บางทีก็เรียกว่าคอฐานบน และคอฐานล่าง โดยมีรัดเอวแบ่งกลาง
                         ฐานปัทม์นั้นใช้ซ้อนฐานเขียง แต่ถ้าเห็นสูงเกินไป ก็ลดฐานเขียงเสียเหลือแต่ฐานปัทม์
                         ๓. - ฐานสิงห์หรือฐานเท้าสิงห์  เป็นฐานทำเป็นรูปเท้าสิงห์อยู่ที่มุมสุดทั้งสองด้าน ส่วนต่าง ๆ ของฐานสิงห์ก็มีอย่างเดียวกับฐานปัทม์ ฐานสิงห์ถือเป็นของสูงต้องนั่งบนฐานปัทม์ หรือฐานเขียงเสมอ เว้นไว้แต่ทรงเตี้ย ๆ เช่น เตียงตั้งลอย ๆ เป็นต้น
                        ๔. - ฐานเชิงบาตร  ตรงใต้หน้ากระดานบน ทำเป็นรูปเว้าเข้าไปอย่างเชิงบาตร  ใต้หน้ากระดานมักทำเป็นรูปบัวแวงคือ ทำบัวเป็นลายกลีบยาว ๆ ยืดขึ้นไป ข้าง ๆ จะได้ตั้งรูปเทพพนมได้ ฐานเชิงบาตรมักไว้ในที่สูง
                        ๕. - ฐานบัวกลุ่ม  อยู่ถัดฐานเชิงบาตรขึ้นไป เดิมทำเป็นกลีบบัวซ้อนๆ เป็นกลุ่ม ๆ ขึ้นไป ไม่มีหน้ากระดานบน เพราะปาดเป็นบัวกลุ่มแล้ว
                         ๖. - ฐานลูกฟัก  คือ ฐานปัทม์แต่ยืดท้องไม้มากไปเป็นอย่างลูกฟัก ดูไม่งามจึงต้องมีลูกแก้ว อยู่ใต้บัวหงาย และเหนือบัวคว่ำ ลูกแก้วเรียกว่า บัวปากปลิง มักทำลายริ้วเข้มขาบ หรือบัวแวงประกอบ
                         ฐานซ้อนกับอย่างเต็มชุดมีห้าชั้นคือ ฐานเขียง ฐานปัทม์ ฐานสิงห์ ฐานเชิงบาตร และฐานบัวกลุ่ม  ฐานนั้นจะย่อมุมเป็นไม้สิบสอง หรือไม้อะไรก็ได้แล้วแต่จะเห็นงาม        ๑๑/ ๖๙๐๑
                ๑๙๔๓. ฐานกรณ์  คือ ที่ตั้งและเครื่องทำให้เกิดเสียงในการพูด มีอยู่หกประการคือ คอ เพดาน ศีรษะ หรือปุ่มเหงือก ฟัน ริมฝีปาก และจมูก
                        อักขระบางเหล่าเกิดในฐานเดียว บางเหล่าเกิดในสองฐาน        ๑๑/ ๖๙๐๙
                ๑๙๔๔. ฐานันดร  หมายถึง ลำดับแห่งยศบรรดาศักดิ์ ยศเจ้านายในราชสกุลมีสองประเภทคือ สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นใด และอิสริยยศ คือ ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาแต่งตั้ง ส่วนฐานันดรข้าราชการเป็นการจัดระเบียบลำดับยศ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพื่อประโยชน์ในการบังคับบัญชา
                        ระเบียบยศศักดิ์ของไทยมีตำราอยู่ในกฎหมาย ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนที่เรียกว่า "ทำเนียบศักดินา" ซึ่งตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้นสูงสุดเป็นเจ้าพระยาอยู่ห้าคน คือ เจ้าพระยามหาอุปราช  ฯ  เจ้าพระยาจักรี ฯ  เจ้าพระยามหาเสนาบดี ฯ เจ้าพระยาสุรศรี ฯ เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ขุนนางชั้นรองลงมาเป็น "ออกญา" บรรดาศักด์พระยาไม่มีในทำเนียบ มาเพิ่มในภายหลัง เมื่อใช้คำพระยามากขึ้นคำ ออกญา จึงสูญไป          ๑๑/ ๖๙๑๒
                ๑๙๔๕. ฐานานุกรม  เป็นคำเรียกรวมตำแหน่งสมณศักดิ์โดยปรกติเป็นชั้นประทวน มีคำนิยามว่า "ลำดับตำแหน่งยศพระสงฆ์ ที่พระราชคณะมีอำนาจตั้งสมณศักดิ์ ตั้งให้ตามทำเนียบ"
                        ตำแหน่งสมณศักดิ์ ฐานานุกรมมาปรากฎในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี        ๑๑/ ๖๙๓๐
     
     

               ๑๙๔๖. ฑ พยัญชนะตัวที่สิบเจ็ดของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรต่ำ เป็นตัวที่สี่ของวรรคที่สาม ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด เฉพาะคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต เท่านั้น         ๑๑/ ๖๙๓๐
                ๑๙๔๗. ฑากินี   ๑. ในลัทธิศักติฮินดู หมายถึง พวกนางปีศาจร้ายจำพวกหนึ่ง ถือว่าเป็นบริวารของเจ้าแม่กาลี ชอบกินเลือดเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร
                        ๒. ในลัทธิพุทธตันตระของนิกายลามะในทิเบต หมายถึง เทวีหรือศักติ ซึ่งในที่บางแห่งว่า เป็นชายาของธรรมบาล ผู้มีหน้าที่คุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนา        ๑๑/ ๖๙๓๘


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch