หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/42
    ๑๘๔๔. ซักส้าว  เป็นการเล่นพื้นเมืองแบบหนึ่งของไทย ส่วนใหญ่เป็นการเล่นของเด็ก และเล่นในร่ม การเล่นผู้เล่นจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ยื่นมือทั้งสองมายึดกันไว้ แล้วแกว่งไปแกว่งมา โดยไม่ให้หลุดจากกัน พร้อมกับร้องเพลงเป็นทำนองของชาวบ้าน มีเนื้อร้องว่า
                        "ซักส้าวเอย มะนาวโตงเตง ขุนนางมาเอง จะเล่นซักส้าว มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นเอาเถาวัลย์ต่อเข้า"         ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๕. ซังแซว  เป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง ตัวดำ หางยาว โตขนาดนกเอี้ยง (ดู แซงแซว - นก ลำดับที่ ๑๙๐๔)           ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๖. ซัด (ซักซ้าว) ๑ - ลูก  เป็นชื่อใช้เรียกเมล็ดถั่วชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอมแรงมาก อินเดีย จีน ปลูกและเก็บเมล็ดใช้ปรุงอาหาร ยารักษาโรค และบางครั้งในพิธีกรรมทางศาสนา ในเมืองไทยนิยมใช้อบร่ำ เครื่องนุ่งห่มให้มีกลิ่นหอม มักเอาผ้าต้มกับน้ำลูกซัด เรียกว่า ย้อมลูกซัด         ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๗. ซัด ๒  เป็นท่ารำตามแบบนาฎศิลป์ไทยอย่างหนึ่ง ที่ทอดแขนเหยียดตึงออกไปทั้งสองข้าง เสมอระดับไหล่ ตั้งมือแบเหยียดนิ้วทั้งสี่ขึ้นข้างบน ให้ตึงทั้งสี่นิ้ว ส่วนหัวแม่มือหักข้อเข้าหาฝ่ามือนิดหน่อย แต่พองาม แล้วผลัดกันหย่อนตรงข้อศอก เวลาแขนซ้ายตึง ก็หย่อนแขนขวา เวลาแขนขวาตึงก็หย่อนแขนซ้าย สลับกันตามจังหวะเพลง บางทีก็เพิ่มกระทบไล่ผสม ในเวลาซัดแขนทั้งสองนี้ด้วยคือ เยื้องไหล่ ทางแขนที่ตึงมาข้างหลังเล็กน้อย สลับกันตามแขน การรำอย่างนี้เรียกว่า "ซัด" หรือ "ซัดแขน"          ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๘. ซัด ๓  เป็นการรำตอนเบิกโรงในการแสดงโนห์รา หรือชาตรี การแสดงละครแบบนี้ เมื่อโหมโรงจบกระบวนแล้ว ตัวนายโรง (หรือยืนเครื่อง)  จะออกมานั่งที่เตียง หรือกระบอกไม้ ที่ทำเป็นราวสำหรับนั่งร้อบบทไหว้ครูอาจารย์ เสร็จแล้วจึงลุกขึ้นรำแสดงท่าต่าง ๆ การรำในตอนนี้เรียกว่า รำซัด ซึ่งมีแบบแผนต่าง ๆ กัน         ๑๑/ ๖๖๓๒
                ๑๘๔๙. ซัดน้ำ  เป็นการสาดน้ำในพิธีแต่งงาน บ่าวสาวของพระสงฆ์ เมื่อถึงบทขึ้นชยนฺโต ก็ตีฆ้องชัย พระเถระผู้เป็นประธานก็สาดน้ำมนต์รดบ่าวสาวและพวก การซัดน้ำนี้ซัดกันจนน้ำในบาตรหมด
                        การซัดน้ำตามประเพณีโบราณดังกล่าว ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพิธีหลั่งน้ำรดน้ำ         ๑๑/ ๖๖๓๘
                ๑๘๕๐. ซันซี  เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของประเทศจีนในสมัยเลียดก๊ก เป็นที่ตั้งของแคว้นจิ้น มีเมืองไท่เหวียนเป็นศูนย์กลางการปกครอง
                        ในอดีต ด่านย่านเหยินกวานในมณฑลซันซีเป็นด่านยุทธศาสตร์ที่สำคัญด่านหนึ่ง กล่าวคือถ้าข้าศึกสามารถยึดด่านนี้ได้ ราชธานีก็จะตกเป็นของข้าศึก
                        มณฑลซันซี เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของจีน มีภูเขาชื่ออู่ไถซัน ตามประวัติพุทธศาสนาของจีนกล่าวว่า พระบัญชุโพธิสัตว์ประทับอยู่ ณ ภูเขาแห่งนี้ นอกจากภูเขาอู่ไถซันแล้วยังมีภูเขาหวินกัง หินต่าง ๆ ภายในถ้ำของภูเขาแห่งนี้ แกะสลักศิลาเป็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์และพระอรหันต์อย่างวิจิตรพิสดาร สันนิษฐานว่ารูปสลักต่าง ๆ ดังกล่าวสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐         ๑๑/ ๖๖๗๒
                ๑๘๕๑. ซันตุง  เป็นชื่อมณฑลหนึ่งในประเทศจีน มีแม่น้ำฮวงโหไหลผ่าน มีเมืองจี้หนาน เป็นศูนย์กลางการปกครอง มีเมืองชิงเตา เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในสมัยราชวงศ์เช็ง เยอรมันเคยเช่าเมืองชิงเตาจากรัฐบาลจีน และญี่ปุ่นก็เคยยึดเมืองนี้ได้ในสมัยก๊กมินตั๋ง มณฑลซันตุงในสมัยเลียดก๊ก เป็นที่ตั้งของแคว้นฉี่และหลู่
                        มณฑลซันตุง มีภูเขาไท่ซัน เป็นหนึ่งในห้าของภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศจีน
                        ขงจื้อเกิดที่เมืองจูฟู ในมณฑลซันตุง         ๑๑/ ๖๖๔๔
                ๑๘๕๒. ซัวเถา  เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของจีน ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของปากแม่น้ำฮั่น ทางภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง
                        เมืองซัวเถา แต่เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ต่อมาได้ขนยายตัวกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ และเปิดการค้ากับชาวต่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๑ เป็นเมืองหนึ่งในบรรดาเมืองท่าต่าง ๆ ที่จีนต้องถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตก เปิดให้ชาวต่างประเทศเข้ามาทำการค้าได้
                        ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองนี้ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๘           ๑๑/ ๖๖๔๖
                ๑๘๕๓. ซาก - ไม้  เป็นพันธุ์ไม้ที่พบขึ้นในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกันสองชนิด
                        ชนิดแรก เป็นไม้ต้นสูง ๑๕ - ๒๐ เมตร ลำต้นสูงเปลา เรือนยอดพุ่มทึบ ใบเป็นช่อ แยกแขนงเป็นสองชั้น ช่อดอกเดี่ยว ๆ หรือสองช่อ ตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวอยู่ชิดติดกันบนช่อ ผลเป็นฝักแบน ๆ
                       ชนิดหลัง ใบมีขนาดใหญ่กว่า ก้านช่อใบยาว ๓๐ ซม. ผลยาว ๑๓ - ๑๕ ซม.
                       พันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดนี้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ  ไป ชนิดแรกมีมากในภาคอีสาน เนื้อไม้แข็งมากนิยมใช้เผาถ่าน สำหรับหลอมทอง         ๑๑/ ๖๖๔๗
                ๑๘๕๔. ซาไก, สะไก  เป็นคนป่าพวกหนึ่งในแหลมมลายูที่เรียกกันว่า เงาะ อีกพวกหนึ่ง จากพวกเงาะซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิม พวกซาไกมีผิวดำคล้ำ ผมหยิกเป็นลูกคลื่น ภาษาที่พูดมีคำในตระกูลภาษามอญ - เขมร ปนอยู่ไม่น้อย มีความรู้เรื่องกสิกรรมน้อยมาก คนป่าเผ่านี้ต่างกับพวกเซมัง ในตระกูลอินโดนีเซียน ซึ่งเรียกว่า เงาะ เหมือนกัน
                        ซาไก เป็นคำมลายู แปลว่า คนใช้ หรือทาส เหมือนกับคำว่า ข่า ในประเทศไทยตอนเหนือ
                        บางท่านว่า ลูกผสมของเซมังกับซาไก เรียกว่า เซนอย พวกนี้กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
                        ซาไก เรียกตัวเองว่า กอย         ๑๑/ ๖๖๔๘
                ๑๘๕๕. ซาง ๑  - ไม้  เป็นชื่อทั่ว ๆ ไป ของไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือและภาคกลางตามที่ชุ่มชื้น ลำต้นขึ้นตรงเป็นกอใหญ่ ๆ เนื้อหนา ขนาดลำกล้องเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ - ๘ ซม.
                        สำหรับไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ เนื้อบาง รูปล้องโต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕ - ๑.๐ ซม. มีช่วงลำปล้องยาวประมาณ ๗๐ - ๙๐ ซม. ใช้ทำเป็นลำกล้องเป่าลูกกระสุน และลูกดอกนั้น ทางกรุงเทพ ฯ เรียกว่า ไม้ซาง ด้วยเหมือนกัน         ๑๑/ ๖๖๔๙
                ๑๘๕๖.  ซาง ๒ - โรค  โรคจำพวกซาง เป็นโรคของเด็กเล็ก มีอาการได้หลายอย่าง มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีเม็ดขึ้นในปากในคอ ลิ้นเป็นฝ้า แสดงให้เห็นว่ามีการผิดปกติ เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารร่วมอยู่         ๑๑/ ๖๖๕๐
                ๑๘๕๗. ซาง  มีคำนิยามว่า "ที่ยกพื้นไว้สูงสำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรม อยู่สี่มุมเมรุ" แต่เดิมเรียกว่า ส้างหรือสร้าง         ๑๑/ ๖๖๕๒
                ๑๘๕๘. ซาด พันซาด  ต้นไม้ชนิดหนึ่ง (ดู ซาก - ต้น ลำดับที่ ๑๘๕๓)         ๑๑/ ๖๖๕๖
                ๑๘๕๙. ซาร์ นิโคลาสที่ ๒  เป็นชื่อจักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ และองค์สุดท้ายของระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช ของประเทศรุสเซีย (ดู โรมานอฟ - ลำดับที่...)
                        คำว่า ซาร์ แปลว่า จักรพรรดิ์ เป็นชื่อเรียกจักรพรรดิ์รุสเซียทุกพระองค์ (ซารินา - พระมเหสีของซาร์ และซาร์เรวิช - มกุฎราชกุมาร)
                        พระเจ้าซาร์ องค์นี้เคยเสด็จประพาสเยี่ยมประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ สมัยดำรงพระอิสริยยศเป็น มกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
                        ซาร์ นิโคลาสที่ ๒ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๓๔ ได้เสด็จประพาสต่างประเทศตะวันออก เริ่มตั้งแต่ประเทศกริซ อียิปต์ อินเดีย ลังกา ญี่ปุ่น และประเทศไทย เมื่อเสด็จกลับจากประเทศไทย ไม่ถึงห้าปี ก็ได้ทรงเป็นจักรพรรดิ์รุสเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗
                        จากการปกครองที่เข้มงวด จนกลายเป็นโหดร้าย เกิดความไม่พอใจของพลเมือง ด้านต่างประเทศดำเนินนโยบายพลาดพลั้ง ต้องทำสงครามกับญี่ปุ่น และพ่ายแพ้ญี่ปุ่น อำนาจพระเจ้าซาร์เริ่มเสื่อม ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๔๘  เกิดการจลาจลขึ้นในหัวเมืองใหญ่ ๆ พระเจ้าซาร์พยายามแก้ไข โดยประกาศตั้งสภาการประชุมของชาติ เรียกว่า สภาดูมา เป็นการผ่อนผันให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทน เข้ามามีอำนาจการปกครองบ้านเมือง ประกาศให้เสรีภาพหลายอย่าง เช่น การเขียน การพิมพ์ การประชุม และการออกความคิดเห็น แล้วให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้พวกพ่อค้าและกรรมกร เข้ามาไม่เป็นที่พอใจ จึงให้ยุบสภาเสีย ได้พรรคพวกที่พอใจเข้ามา แล้วเปิดสภาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ปีต่อมาก็มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ได้คนของพระเจ้าซาร์อย่างเดิม
                        เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความไม่พอใจในหมู่ราษฎร ประกอบกับรัสปูติน ผู้เป็นอลัชชี เข้ามามีอำนาจในราชสำนัก จากการสนับสนุนของพระมเหสี พระเจ้าซาร์ทรงว่ากล่าวมิได้ ทำให้ประชาชนเกลียดชัง
                    ท่ามกลางความยุ่งยากทางการเมืองและครอบครัว รุสเซียต้องร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๐ ในการรบด้านยุโรปตะวันออก กองทัพรุสเซียเพลี่ยงพล้ำแก่กองทัพเยอรมัน พวกนักการเมืองและกรรมกร มีเลนินเป็นหัวหน้า ประกาศตั้งพรรคการเมืองบอลเชวิกส์ ก่อการปฎิวัติขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้สำเร็จ พระเจ้าซาร์ พระมเหสี และพระราชธิดา ถูกประหารเป็นอันสิ้นซาร์ และราชวงศ์โรมานอฟ         ๑๑/ ๖๖๕๖
                ๑๘๖๐. ซาร์ดิน - ปลา  เป็นปลาหลังเขียว มีหลายชนิดด้วยกัน ปลาซาร์ดีนแท้ เกิดในน่านน้ำยุโรป ในประเทศสหรัฐอเมริกาตะวันออก ลูกปลาหลังเขียวธรรมดา หรือปลาเมนเฮเด็น ก็เรียกกันว่า ปลาซาร์ดีน         ๑๑/ ๖๖๖๐
                ๑๘๖๑. ซาล์มอน - ปลา  เป็นปลาครีบอ่อนขนาดใหญ่ มีสีน้ำตาลอ่อน ข้างบน ด้านข้างเป็นสีน้ำเงิน มีแต้มจุดดำ อาศัยอยู่ในทะเลแถบชายฝั่ง และจะขึ้นไปตามแม่น้ำของยุโรป และอเมริกา ที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ มากสายด้วยกัน เพื่อวางไข่ ปลาซาล์มอนมีน้ำหนักเฉลี่ยราว ๗ กิโลกรัม
                        ปลาซาล์มอน จะเข้าไปในแม่น้ำต่าง ๆ เฉพาะฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูร้อน แต่จะวางไข่ในฤดูใบไม้ร่วง และลูกอ่อนจะอยู่ในน้ำจืดราว ๑ ปี สีและรูปร่างเปลี่ยนไปมากสุดแต่อายุ ถิ่นที่อาศัยและฤดูกาล
                        ปลาที่จัดอยู่ในวงศ์ซาล์มอน มีปลาไวต์ฟิส และเทร้า ที่อาศัยและว่ายขึ้นตามแม่น้ำทางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ มีอยู่ราว ๖ ชนิด ปลาซาล์มอนสกุลนี้ จะวางไข่เพียงครั้งเดียว แล้วก็ตายโดยไม่มีโอกาสกลับไปยังทะเลอีก          ๑๑/ ๖๖๖๑
                ๑๘๖๒. ซ่าหริ่ม  เป็นขนม (น้ำ) ชนิดหนึ่ง คล้ายลอดช่อง ทำด้วยแป้งถั่วเขียว เช่นเดียวกับวุ้นเส้น (ดู วุ้น - ลำดับที่...)          ๑๑/ ๖๖๖๒
                ๑๘๖๓. ซำ  เป็นชื่อเมืองสองเมือง ในแขวงหัวพันของประเทศลาวคือ เมืองซำเหนือ กับเมืองซำใต้
                        ตอนต้นของประวัติศาสตร์เมืองซำเหนือ และเมืองซำใต้ มีชื่อปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยโบราณพลเมืองส่วนใหญ่คือ ชาวผู้ไทยดำ พูดภาษาไทย เหตุใดเมืองซำ จึงได้ชื่ออย่างนี้ยังหาหลักฐานไม่ได้ แขวงหัวพัน นอกจากมีเมืองซำเหนือ และเมืองซำใต้ แล้วยังมีเมืองอื่นอีก อาณาเขตของแขวงหัวพัน ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ติดต่อกับประเทศเวียดนาม ทิศตะวันตกตอนใต้ติดต่อกับแขวงเชียงขวาง ทิศตะวันตกตอนเหนือติดต่อกบแขวงหลวงพระบาง         ๑๑/ ๖๖๖๓
                ๑๘๖๔. ซิก  เป็นชื่อศาสนาที่เกิดในอินเดียศาสนาหนึ่ง เกิดขึ้นในแคว้นปัญจาบเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๑๒ โดยถือปีอุบัติของศาสดาองค์แรกเป็นเกณฑ์เริ่มต้น
                        คำว่า ซิก ที่ใช้เป็นชื่อศาสนานี้ มีผู้เขียนต่างออกไปเป็นซิกข์ ศิกข์ สิกข์และสิข แต่ในที่นี้เขียนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
                        ในศาสนาซิกมีศาสดาสิบองค์คือ คุรุนานัก คุรุอังคัท คุรุอมรทาส คุรุรามราส คุรุอรชุน คุรุหริโคสินท์ คุรุหริไร คุรุหริกฤษณะ คุรุเตฆะพาหาทุระ และคุรุโควินท์สิงห์
                        ตามตำนานกล่าวว่า นานัก ผู้ตั้งศาสนาเดิมเป็นศิษย์ของกพีร์ เจ้าลัทธิกพีรปันตี เป็นคนสงบเสงี่ยม มีเมตตาธรรม มีความเพียรกล้า และอุทิศตนเพื่อความเจริญแห่งลัทธิที่ตนนับถืออย่างยิ่งยวด ในสมัยนั้น พวกอิสลามมีอำนาจเหนืออินเดีย แคว้นปัญจาบก็ตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลามด้วย พวกอิสลามได้ใช้วิธีเผยแพร่ศาสนาของตนเป็นหลักใหญ่สองประการคือ
                        ๑. ใช้กำลังปราบปรามและบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม
                        ๒. บัญญัติภาษีประเภทหนึ่งชื่อชิเชีย เก็บภาษีจากผู้ไม่นับถือศาสนาอิสลามด้วยอัตราสูง จึงเกิดความเดือดร้อนในหมู่ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอย่างยิ่ง
                        นานักจึงดำเนินกุศโลบายรวมศาสนา โดยถือว่าผู้นับถือศาสนาใด ๆ ก็ตามนับว่าเป็นศิษย์ผู้ดำเนินตามศาสโนวาทของศาสดาทั้งนั้น ไม่ควรแบ่งแยกว่าเป็นผู้นับถือศาสนานั้นศาสนานี้ และควรรวมกันเป็นศาสนาเดียวกันเรียกกันว่าศาสนาซิก หมายความว่า ศาสนาของผู้เป็นศิษย์ของศาสดา  กุศโลบายของนานักประสบความสำเร็จมาโดยลำดับ จนถึงปี พ.ศ.๒๐๗๑ จึงถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ ๗๙ ปี
                        ศาสนาซิกต้นเดิมนั้นเป็นศาสนาของผู้ไม่ถือนิกายใด ๆ ทั้งสิ้น  แต่เมื่อมาถึงสมัยคุรุโคสินทสิงห์ ได้บัญญัติศีล ๒๑ ข้อขึ้นใหม่ โดยยึดหลักสำคัญของศาสนาแต่เดิม ผสมกับหลักที่เพิ่มขึ้นใหม่ และตั้งแต่นั้นมา ชาวซิกใช้นามสกุลว่าสิงห์ ต่อท้ายชื่อของตนทุกคน
                        คัมภีร์ทางศาสนาซิกได้มารวบรวมขึ้นในสมัยคุรุอรชุน ศาสดาองค์ที่ห้า  ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงทรงจำต่อ ๆ กันมาเรียกคัมภีร์ที่รวบรวมไว้ครั้งแรกว่า อาทิครันถ์  ถึงสมัยคุรุโควินทสิงห์ ได้แต่งคัมภีร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย คัมภีร์ของศาสนาซิกใช้ภาษาถึงหกภาษาคือ ภาษาปัญจาบ ภาษามุลตานี ภาษาเปอร์เซียน ภาษาปรากฤต ภาษาฮินดีและภาษามราถี  คัมภีร์ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ ณ อมฤตสระ การปฏิบัติต่อคัมภีร์เหมือนกับการปฏิบัติต่อศาสดาที่ยังมีตัวตนอยู่
                        เดิมศาสนาซิกไม่มีนิกาย ต่อมาจึงเกิดมีขึ้น ชั้นแรกแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่กับนิกายย่อย นิกายใหญ่มีสองนิกายคือ นิกายสิงห์นับถือคุรุโควินทสิงห์ กับนิกายสหิชธารี (หรือนัมธารี) นับถือจงรักภักดีต่อเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์  ส่วนนิกายย่อยนั้นมีถึง ๒๐ นิกาย
                        เดิมศาสนาซิกไม่มีการจัดตั้งกำลังทหาร แต่เมื่อมาถึงสมัยคุรุโควินทสิงห์ จึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องชาวซิกไม่ให้ถูกเบียดเบียนจากชาวมุสลิม ชาวซิกได้ช่วยอังกฤษปราบปรามจลาจลซีปอยซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ อย่างเข้มแข็ง และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้ช่วยอังกฤษอย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกัน         ๑๑/ ๖๖๗๐
                ๑๘๖๕. ซิกัง  เป็นชื่อบุคคลในเกร็ดพงศาวดารจีน เป็นบุตรของซิเตงซัน ผู้เป็นบุตรชายของซิยินกุ้ย ตามประวัติศาสตร์จีนปรากฏว่า ซิยินกุ้ยเป็นทหารเอกของพระเจ้าถังไท่จง มีฝีมือในการรบพุ่ง         ๑๑/ ๖๖๗๖
                ๑๘๖๖.  ซิ่น - ผ้า  เป็นผ้าถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง เมื่อราวปี พ.ศ.๑๕๙๖ เมื่อกองทหารจีนตีไทยแตก ไทยก็ยังคงมีความเป็นไทยอยู่ ผู้หญิงยังนุ่งผ้าถุงลาย  ไทยพวกต่าง ๆ ที่อยู่ในมณฑลยูนนาน กวางสี ไกวเจาและกวางตุ้ง จีนเชื่อว่าพวกไทยต่าง ๆ เหล่านี้มาจากตาลี ประมาณ ๓๐ ชั่วอายุคน มีชื่อย่อย เช่น ไทยลาย เพราะผู้หญิงไทยพวกนี้นุ่งผ้าซิ่นลาย
                        ต่อมาไทยได้เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ แตกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้แก่ไทยยวนหรือเหนือ อีกกลุ่มได้แก่ลาวเวียงหรืออีสาน ไทยยวนหรือเหนือนั้น เข้าไปอยู่ในมณฑลพายัพ และมหาราษฎร์อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่านและแพร่ ซึ่งผู้หญิงได้นุ่งผ้าซิ่นลายเป็นทางขวางตัว ส่วนลาวเวียงหรืออีสานนั้น ได้เข้ามาสู่ภาคอีสานของไทย ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นเป็นลายพาดตามแนวตั้งเป็นลายดิ่งลงมา มีเชิงเป็นลวดลาย         ๑๑/ ๖๖๗๗
                ๑๘๖๗. ซินเกียง  เป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ  ในสมัยราชวงศ์ฮั่นซินเกียงแบ่งออกเป็นแคว้นต่าง ๆ ๓๖ แคว้น ส่วนมากพวกฮั่นปกครองอยู่ ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ซินเกียงอยู่ในการปกครองของพวกเหลียว ในรัชสมัยพระเจ้าเฉียงหลงแห่งราชวงศ์เช็ง ได้รวมดินแดนซินเกียงเป็นของประเทศจีน และในรัชสมัยพระเจ้ากวงสู่ กำหนดให้ซินเกียงเป็นมณฑลหนึ่งสืบต่อมาจนปัจจุบัน
                        ซินเกียงมีอาณาเขตทิศเหนือจดมองโกเลีย ทิศตะวันออกจดมณฑลกังซู่ ทิศตะวันออกเฉียงใต้จดมณฑลชิงไห่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดแคว้นแคชเมียร์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดประเทศรุสเซีย ทิศตะวันตกจดปามีร์น็อต ทิศใต้จดทิเบต มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๑.๖ ล้านตารางกิโลเมตร         ๑๑/ ๖๖๗๘
                ๑๘๖๘. ซินนามิก - กรด  เป็นกรดที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างอิสระหรือผสมกับสิ่งอื่น นอกจากนั้นอาจสังเคราะห์ขึ้นทางเคมีได้ด้วยวิธีต่าง ๆ
                        กรดนี้ใช่มากในทางอุตสาหกรรม ทำเครื่องสำอาง น้ำหอม สบู่ และชิวอิงกันในทางยา อาศัยฤทธิ์ในการระงับเชื้อ เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ         ๑๑/ ๖๖๗๙
                ๑๘๖๙. ซิฟิลิส  เป็นชื่อกามโรคชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดพยาธิสภาพได้กับอวัยวะทุกระบบของร่างกาย เชื้อโรคชนิดนี้หากตกหล่นอยู่ภายนอกร่างกาย จะตายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากอาศัยอยู่ในเนื้อ จะมีชีวิตคงทนอยู่นาน
                        โรคนี้ประมาณร้อยละ ๙๔ ติดต่อโดยการร่วมประเวณี อีกประมาณร้อยละ ๖ ติอต่อโดยการสัมผัสด้วยวิธีอื่น ๆ เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางแผลถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามบริเวณปากหรือลิ้น
                        การทำลายที่เห็นได้ชัดเจนคือ การทำลายอวัยวะของระบบประสาท และหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่ออกมาจากหัวใจ หลอดเลือดแดงจะถูกทำลาย ก่อให้เกิดการอ่อนแอของผนังหลอดเลือด        ๑๑/ ๖๖๘๐
                ๑๘๗๐. ซิเมนต์ - ปูน คำว่าซิเมนต์ โดยทั่ว ๆ ไปหมายถึง การยึดเหนี่ยวเข้าด้วยกัน สารที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวนี้เรียกว่า เป็นซิเมนต์
                        คำว่าปูนซิเมนต์ มีความหมายเฉพาะของวัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มว่า ปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ มีสมบัติที่สามารถก่อตัว และแข็งตัวในน้ำได้ เนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับส่วนประกอบของปูนนั้น         ๑๑/ ๖๖๘๖
                ๑๘๗๑. ซิยินกุ้ย  เป็นชื่อของทหารเอกคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยของพระเจ้าถังไท่จง จนถึงรัชสมัยพระเจ้าถังเกาจง ซิยินกุ้ยได้เป็นแม่ทัพ ยกทัพไปปราบเกาหลี จนได้มาเป็นประเทศราช ซิยินกุยถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๗๐ ปี           ๑๑/ ๖๖๙๐
                ๑๘๗๒. ซิโรซีส - โรค  เป็นโรคตับชนิดหนึ่ง ทำให้ตับแข็งกว่าธรรมดา จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคตับแข็ง บางรายตับจะมีไขมันมากด้วย ทำให้ตับมีสีเหลืองจึงเรียกว่า ซิโรซีส แปลว่าสีเหลืองหรือสีส้ม
                        ตับที่เป็นโรคนี้ในตอนแรกอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ต่อมาอาจจะเล็กลงหรือเหี่ยว บางคนจึงว่าเป็นโรคตับเหี่ยว ผู้ป่วยโรคนี้บางคนจะมีอาการดีซ่าน เห็นตัวเหลือง ตาเหลือง ตับที่เป็นโรคนี้พบว่า มีมะเร็งของตับเกิดร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก         ๑๑/ ๖๖๙๒
                ๑๘๗๓. ซิว - ปลา  เป็นปลาขนาดเล็ก ปลาเหล่านี้รวบรวมกันเข้าเป็นกลุ่มหนึ่งเรียกว่าวงศ์ย่อยปลาซิว ปลาซิวมีมากทั้งสกุลและชนิดในน่านน้ำจืดของไทย และมีจำนวนมากด้วย         ๑๑/ ๖๖๙๓
                ๑๘๗๔. ซีก  เป็นชื่อของเหรียญทองแดง ราคาครึ่งเฟื้อง ตรามงกุฎและตรา จปร. เหรียญซีกตรามงกุฎทำออกใช้ในรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๔๐๘ ส่วนเหรียญซีกตรา จปร. ทำออกใช้ในรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๔๑๙ นอกจากนั้น คำว่า ซีก ยังเป็นมาตราเงินโบราณเท่ากับครึ่งเฟื้อง อีกด้วย
                        ในตอนต้นรัชกาลที่สี่ ประเทศไทยยังคงใช้เงินพดด้วง และเบี้ยหอย เป็นเงินตราอยู่ หน่วยเงินตราที่ใช้คือ บาท สองสลึง สลึง และเฟื้อง จากเฟื้อง ลงมาก็เป็นเบี้ย หอย ซึ่งโดยปรกติราคาของเบี้ย จะเท่ากับ ๘๐๐ เบี้ย ต่อเฟื้อง        ๑๑/ ๖๖๙๗
                ๑๘๗๕. ซีกเดียว - ปลา  เป็นปลาพวกหนึ่งซึ่งมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากปลาธรรมดา เพราะนัยตาทั้งสองของปลานี้ไปรวมกันอยู่ข้างหนึ่ง ทำให้เป็นปลาซีกเดียว
                        ปลาอันดับนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด และมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันเช่น ปลาลิ้นหมา ลิ้นควาย ลิ้นเสือ และอื่น ๆ         ๑๑/ ๖๗๐๓
                ๑๘๗๖. ซี่โครง  เป็นกระดูกแบน ยาวและโค้ง คนเรามีซี่โครง ๑๒ คู่ อยู่ในทรวงอก ซี่โครงเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกทรวงอก ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในช่องอก ซึ่งมีหัวใจและปอดเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังป้องกันอวัยวะในช่องท้องส่วนบนเช่น ตับ ม้าม และกระเพาะอาหาร เป็นต้น กระดูกทรวงอกยังมีบทบาทสำคัญในการหายใจ กล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงและกล้ามเนื้ออื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ จะทำให้ซี่โครงและกระดูกส่วนอื่น ๆ ของทรวงอกเคลื่อนไหว เป็นผลให้มีการเพิ่มและลดขนาดของทรวงอกในการหายใจเข้าและออก        ๑๑/ ๖๗๐๓
                ๑๘๗๗. ซีดาร์ - ไม้  ไม้ซีดาร์ ประกอบด้วยไม้มากมายหลายชนิดจากพันธุ์ไม้ ในวงศ์และสกุลต่าง ๆ กัน เช่น ไม้ยมหอม ก็มีชื่อเรียกในทางการค้าว่า ไม้ซีดาร์    อินเดียตะวันตก เป็นต้น
                        ไม้ซีดาร์แท้ มีสามชนิดหลักด้วยกัน พบบนเขาแอตลาสในประเทศแอลจิเรีย แอฟริกาเหนือ บนเขาเลบานอนในประเทศเลบานอน ประเทศอัฟานิสถาน และบนภูเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย นอกนั้นเป็นพันธุ์ย่อย
                        ซีดาร์เป็นไม้ใหญ่ สูง ๓๐ เมตร พุ่มเรือนยอดเป็นรูปกรวย ไม่ทิ้งใบ ใบสีเขียวแก่ เหมาะปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้สีเหลืองซีด ๆ กลิ่นหอม มีความทนทาน และเป็นที่นิยมในการทำเครื่องเรือนและก่อสร้างมาก
                        ในประเทศไทย มีพันธุ์ไม้ที่ใกล้เคียงกับไม้ซีดาร์แท้อยู่ชนิดหนึ่ง พบในระดับสูง ๑,๒๐๐ เมตร บนภูหลวง จังหวัดเลยเท่านั้น         ๑๑/ ๖๗๑๕
                ๑๘๗๘. ซีป่าย  เป็นคำเลียนเสียงมาจากภาษาอังกฤษ หมายถึง ทหารพื้นเมืองชาวอินเดีย ซึ่งมีระเบียบวินัยตลอดถึงการแต่งตัวแบบทหารชาวยุโรป
                        มูลเหตุที่จะเกิดทหารซีป่ายขึ้นในเมืองไทยนั้น มีเรื่องว่า เมื่อรัชกาลที่ ๒ รัฐบาลอินเดียแต่งให้ข้าราชการอังกฤษชื่อครอฟอร์ด เข้ามาขอทำสัญญา ในบรรดาเครื่องราชบรรณาการที่ส่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวายนั้น มีเครื่องแบบทหารซีป่ายอยู่ด้วย เมื่อสมเด็จ ฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงจัดบุตรหมู่ญวนเป็นทหารได้เอาเครื่องแต่งตัวซีป่ายนั้นมาใช้ จึงเรียกกันว่า ทหารซีป่าย         ๑๑/ ๖๗๑๗
                ๑๘๗๙. ซีเมนต์ - ปูน (ดูซิเมนต์ - ลำดับที่ ๑๘๗๐)         ๑๑/ ๖๗๑๘
                ๑๘๘๐. ซีก - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ถั่ว เป็นพันธุ์ไม้ในต่างประเทศ เป็นไม้ สกุลใหญ่ มีมากชนิดอยู่ตามเขตร้อนทั่วโลก ส่วนใหญ่แบ่งอยู่ระหว่างออสเตรเลีย และแอฟริกา
                        ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิดรวมทั้งส้มป่อย (ที่ใช้ฟอกผมและขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง) ชะอม และสีเสียด         ๑๑/ ๖๗๑๘
                ๑๘๘๑. ซึง  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของไทยภาคเหนือ นับอยู่ในประเภทเครื่องดีด รูปร่างลักษณะคล้ายกระจับปี่ (ดูกระจับปี่ - ลำดับที่ ๖๑)
                        ในสมัยโบราณ ซึงเป็นเครื่องดนตรีของชายหนุ่มชาวไทยภาคเหนือ ใช้เป็นสื่อสำหรับเกี้ยวสาวในเวลาค่ำคืนเดือนหงาย         ๑๑/ ๖๗๑๙
                ๑๘๘๒. ซื้อขาย  คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิแห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคล อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่า จะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย สัญญาซื้อขายมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ขายอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซื้อ ต่างตกลงยินยอมคือ มีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน จึงทำให้เกิดสัญญาซื้อขายขึ้น และโดยทั่วไปไม่มีแบบ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้
                        ในบางกรณีกฎหมายเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับตัวทรัพย์ จำต้องบัญญัติเกี่ยวกับตัวทรัพย์ จำต้องบัญญัติแบบและวิธีการขึ้น จึงได้บัญญัติแบบของสัญญาซื้อขาย ทรัพย์สินบางประเภทไว้ดังนี้
                        ๑. การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
                        ๒. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ได้แก่ เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพ (เรือนแพ) และสัตว์พาหนะ (ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ฬา ล่อ)  ต้องทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้คือ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นท่านว่าเป็นโมฆะ เช่นกัน
                        ๓. สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์ใด ๆ ดังกล่าวมาในข้อ ๑ และข้อ ๒ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อข้างฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
                        ๔. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งคู่สัญญาตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้         ๑๑/ ๖๗๒๒
                ๑๘๘๓. ซุนกวน  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในสมัยสามก๊ก ปลายราชวงศ์ฮั่น เป็นน้องชายของซุนเซ็ก ผู้ครองดินแดนแถบกังตั๋ง ในสมัยพระเจ้าเหียนตี้
                        เมื่อซุนเซ็กสิ้นชีพ ซุนกวนได้รับมอบอำนาจต่อจากซุนเซ็ก โจโฉได้ทูลพระเจ้าเหี้ยนตี้ให้แต่งตั้งซุนกวน เป็นเจ้าเมืองไกวกี เพื่อเอาใจซุนกวน
                        เมื่อโจโฉ ตีได้เมืองเก็งจิ๋ว โจโฉได้เคลื่อนทัพมายังกังตั๋ง และเกลี้ยกล่อมซุนกวน ให้ยอมจำนน แต่ในที่สุดซุนกวน ก็ร่วมมือกับเล่าปี่ รบชนะโจโฉได้ เป็นเหตุการณ์ตอนโจโฉแตกทัพเรือ
                        เมื่อสิ้นโจโฉ โจผีผู้เป็นบุตรโจโฉ ได้ขึ้นครองตำแหน่งแทน โจผีได้บังคับให้พระเจ้าเหี้ยนตี้สละราชสมบัติ และโจผีได้ขึ้นครองราชย์แทน ซุนกวนจึงถือโอกาสสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ โดยครองดินแดนแถบกั่งตั๋ง และเล่าปี่ก็สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ที่เสฉวน และทั้งสามฝ่ายได้สู้รบกันต่อไป
                        ซุนกวน ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๙๑ ปี         ๑๑/ ๖๗๓๘
                ๑๘๘๔. ซุ่นจื๊อ (ก่อน พ.ศ.๘๕๓ - ๗๗๓ )  ชื่อจริงว่า ซุ่นจิง เป็นปราชญ์และเจ้าลัทธิของจีน สมัยราชวงศ์จิว ได้เขียนคัมภีร์ไว้ ๓๓ บท ว่าด้วยปรัชญาการศึกษา ซุ่นจื๊อกล่าวว่า มนุษย์เป็นคนเลวมาแต่กำเนิด และจะเป็นคนดี เมื่อรับการอบรมศึกษา ซึ่งตรงข้ามกับคำกล่าวของเม่งจื๊อที่ว่า มนุษย์เป็นคนดีมาแต่กำเนิด และสิ่งแวดล้อมทำให้มนุษย์เป็นคนเลว ซุ่นจื๊อมีแนวความคิดคล้ายคลึงกับขงจื๊อ
                        ซุนจื๊อ เห็นว่าสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นต้องมีข้อบังคับกฎเกณฑ์ และบทลงโทษ เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุข และระเบียบเรียบร้อยแก่สังคมมนุษย์ แนวความคิดของซุ่นจื๊อเป็นต้นกำเนิดของกฎหมายต่างๆ ของประเทศจีน ในสมัยต่อมา          ๑๑/ ๖๗๔๐
                ๑๘๘๕. ซุนยัตเซ็น  เป็นชาวกวางตุ้ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ต่อมาได้นับถือศาสนาคริสต์ และศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และประกอบอาชีพแพทย์ แต่มีความคิดที่จะปฎิวัติล้มการปกครองของราชวงศ์แมนจู หรือไต้เช็ง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้มีส่วนทำการขบถ ที่เมืองกวางตุ้ง แต่ประสบความล้มเหลว ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ภายหลังการจลาจลบอกเซอร์ (พ.ศ.๒๔๔๓ - ๒๔๔๔)  ได้รวบรวมพรรคพวกทำการขบถอีกครั้งหนึ่ง ที่เมืองกวางตุ้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จอีก
                        ขณะที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้งสมาคมตุงเม่งฮุย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ แล้วเดินทางไปประเทศอื่น เพื่อโฆษณาคุณค่าของสมาคม และขอเรี่ยไรเงิน
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ดร.ซุนยัตเซ็น เดินทางเข้ามากรุงเทพ ฯ ยังผลให้มีการจัดตั้งโรงเรียนจีนแห่งแรกของสมาคม ในประเทศไทย
                        สมาคมตุงเมงหวย มีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกับสมาคมลับอื่น ๆ ของจีนเพื่อก่อการปฎิวัติล้มราชวงศ์แมนจู บังคับพระเจ้าซวนท้ง หรือปูยี พระเจ้ากรุงจีนองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์แมนจู สละราชสมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ประเทศจีนก็กลายเป็นสาธารณรัฐตั้งแต่นั้นมา ระหว่างนั้น ดร.ซุนยัตเซ็น ได้จัดตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง หรือเก็กเหม็ง ดร.ซุนยัตเซ็น ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว ตามมติรัฐสภาแห่งประชาชาติจีน ต่อมาได้สละตำแหน่งนี้ให้ยวนซีไข ซึ่งตั้งรัฐบาลที่กรุงปักกิ่ง ต่อมาเมื่อเห็นว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่ปกครองตามระบอบสาธารณรัฐอย่างแท้จริง ดร.ซุนยัตเซ็น ก็นำพรรคก๊กมินตั๋ง ทำการขบถเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ และ พ.ศ.๒๔๖๐  ดร.ซุนยัตเซ็น ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่เมืองกวางตุ้ง และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓
                        ดร.ซุนยัตเซ็น ได้ประกาศหลักสามประการ หรือลัทธิไตรราษฎร์ ซึ่งได้แก่ ลัทธิชาตินิยม ระบอบประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม จึนจะต้องมีอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของอาณาเขตทั่วประเทศ เรียกร้องให้ยุบเขตเช่า เขตอิทธิพล และเมืองท่า ตามสนธิสัญญาให้หมดสิ้นไป
                        ในชั้นแรก รัฐบาลก๊กมินตั๋งพยายามรวมจีนให้เป็นปึกแผ่นด้วยสันติวิธี แต่ ดร.ซุนยัดเซ็นถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ การเจรจากับรัฐบาลที่กรุงปักกิ่ง ของจอมพลจางซูหลินล้มเหลว รัฐบาลก๊กมินตั๋งจึงตกลงใช้กำลังทหารปราบปรามขุนศึกตามมณฑลต่าง ๆ มอบให้นายพลเจียงไคเช็กเป็นแม่ทัพยกกองทัพ รุกจากกวางตุ้งไปทางเหนือ ยึดกรุงปักกิ่งได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑         ๑๑/ ๖๗๔๑
                ๑๘๘๖. ซุนวู  เป็นชื่อนายทหารผู้ชำนาญการสงครามในสมัยราชวงศ์จิว ซุนวูได้เขียนตำราพิชัยสงคราม มี ๑๓ บท เป็นตำราที่ว่าด้วยยุทธวิธี กลยุทธ ตลอดจนหลักการปกครองบังคับบัญชาทหาร นับว่าเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับสำคัญที่สุดของจีน
                        ต่อมาโจโฉได้ให้คำอรรถาธิบายตำราเล่มนี้ด้วย กล่าวกันว่าตำราเล่มนี้เป็นอมตะ นำไปดัดแปลงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ก็ได้อ่านตำราเล่มนี้ฉบับแปลเป็นภาษาเยอรมัน ฮิตเลอร์แสดงความเสียใจที่ตนอ่านตำราเล่มนี้ช้าไป มิฉะนั้นคงไม่ประสบความปราชัยในสงครามครั้งนี้         ๑๑/ ๖๗๔๔
                ๑๘๘๗. ซุ้มกระต่าย  เป็นพันธุ์ไม้ใช้ประดับตามขอบสนาม ตามทางเดิน และปลูกคลุมดินแทนหญ้า เพราะมีความทนทานในที่ร้อนแห้งแล้ง ที่ร่มและที่ยากอื่น ๆ ได้ดีกว่าหญ้า         ๑๑/ ๖๗๔๕
                ๑๘๘๘. ซูสีไทเฮา  เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนสมัยปลายราชวงศ์เช็ง ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในประเทศจีน จนทำให้ราชวงศ์เช็งต้องถูกโค่นล้มในที่สุด
                        เดิมทีพระนางซูสีไทเฮาเป็นเพียงนางกำนัลในพระเจ้าเสียนฟงแห่งราชวงศ์เช็ง ต่อมาได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเสียนฟง จนได้รับสถาปนาเป็นพระสนม  เมื่อพระเจ้าเสียนฟงสวรรคต พระเจ้าถงจือพระโอรสขึ้นครองราชย์สืบแทน และได้ทรงสถาปนาพระนางซูสีผู้เป็นมารดาเป็น "ไทเฮา"  ทั้งนี้เพราะพระนางซูอัน พระราชินีไม่มีพระราชโอรส
                        ขณะที่พระเจ้าถงจือขึ้นครองราชย์นั้นยังทรงพระเยาว์ พระนางซูสีไทเฮาจึงถือโอกาสยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และสถาปนาตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการ  เมื่อพระเจ้าถงจือสวรรคต พระนางทรงสถาปนาพระเจ้ากวงซู่เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อมา และเป็นเพียงกษัตริย์หุ่นของพระนางเท่านั้น พระนางได้ใช้เงินของแผ่นดิน ไปในทางที่บำรุงความสุขส่วนพระองค์จนการคลัง และเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะที่เลวร้าย
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ญี่ปุ่นยกกองทัพเรือมารุกรานจีน กองทัพเรือจีนแพ้ ทำให้จีนต้องสูญเสียสิทธิต่าง ๆ แก่ญี่ปุ่นในครั้งนี้
                        ได้มีคณะนักมวยได้รวมกำลังกันขึ้นโดยอ้างว่าจะขับไล่ชนต่างชาติที่เข้ามาข่มเหงชาวจีน พวกขบถนักมวยได้ฆ่านักบวชชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ประเทศต่าง ๆ แปดประเทศอันมีอังกฤษ รุสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อิตาลีออสเตรียและญี่ปุ่น ถือโอกาสรวมกำลังกันยกเข้าตีกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน และยึดกรุงปักกิ่งได้
                        ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ พระเจ้ากวงซู่ทรงตั้งพระทัยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่พระนางซูสีไทเฮาไม่ทรงยินยอม จึงได้จับพระเจ้ากวงซู่ไปจองจำไว้แล้วพระนางทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนทุกประการ
                       ในปีเดียวกันนี้ ดร.ซุนยัดเซ็นได้ก่อตั้งพรรคการเมืองและบัญญัติลัทธิไตรราษฎร์
                       พระนางซูสีไทเฮาได้ลอบปลงพระชนม์พระเจ้ากวงซู่ด้วยยาพิษ และถัดจากวันนั้น พระนางก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ รวมชนมายุได้ ๗๔ ปี และทรงครองอำนาจอยู่ ๔๗ ปี           ๑๑/๖๗๔๖
                ๑๘๘๙. เซกา อำเภอขึ้น จ.หนองคาย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นดงทึบ ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.บึงกาฬ  ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๐๒         ๑๑/๖๗๕๑

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch