หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/41

    เล่ม ๑๑ เชียงรุ้ง - ดีดขัน      ลำดับที่ ๑๘๐๕ - ๒๐๓๓      ๑๑/ ๖๕๒๕ - ๗๑๘๔

                ๑๘๐๕. เชียงรุ้ง เป็นชื่อเมืองในแคว้นสิบสองปันนา มีชื่อเรียกเป็นหลายอย่างต่าง ๆ กันไปเช่นในพงศาวดารโยนก มีเรียกว่า อาฬวีรัฐ เป็นต้น
                       แคว้นสิบสองปันนาแยกกันเป็นหลายเมือง ต่างมีเจ้านายปกครอง แต่อยู่ในเครือญาติวงศ์เดียวกัน มีเจ้าเมืองเชียงรุ้งเป็นหัวหน้า มีอาณาเขตอยู่ระหว่างแดนจีน แดนพม่า กับแคว้นลานนาไทย
                       เมืองเชียงรุ้งปรากฎในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า เป็นเมืองหนึ่งใน ๒๐ เมือง ที่ได้ถวายดอกไม้ทองเงิน เมืองทั้ง ๒๐ เมืองนั้นคือ เมืองนครหลวง เมืองศรีสัตนาคนหุต เมืองเชียงใหม่ เมืองตองอู เมืองเชียงไกร เมืองเชียงกราน เมืองเชียงแสน เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงราย เมืองแสนหวี เมืองเขมราช เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองใต้ทอง เมืองโคตรบอง เมืองเรวแกว ๑๖ เมืองนี้ ฝ่ายเหนือ เมืองฝ่ายใต้มีเมืองอุยองตะหนะ เมืองมลากา เมืองมลายู เมืองวรวารี
                        ชาวเมืองเชียงรุ้งในไทยลื้อ ภาษาและสำเนียงคล้ายชาวนครศรีธรรมราช ที่เป็นดังนี้เพราะปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ.๑๙๒๗ สมเด็จพระรามเมศวรยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ กวาดครอบครัวอพยพผู้คนลงมาแล้วให้ส่งไปไว้เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองจันทบุรี ไทยที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่กวาดต้อนอพยพมานั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่าคงจะเป็นพวกลื้อนี้โดยมาก
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เกิดเหตุจลาจลในเมืองลื้อ อาณาเขตสิบสองปันนา จีนอุดหนุนฝ่ายหนึ่ง พม่าอุดหนุนฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้านายผู้ใหญ่เมืองเชียงรุ้ง จึงเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นขย้าของขัณฑสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าไทยเอาสิบสองปันนามาเป็นเมืองขึ้น จะต้องตัดกำลังพม่าทางเมืองเชียงตุงเสียก่อน แต่การตีเชียงตุงไม่เป็นผลสำเร็จ
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เจ้าเมืองเชียงรุ้งได้แต่งทูตให้เชิญศุภอักษรกับต้นไม้ทองเงิน เครื่องบรรณาการลงมากรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าไทยตีเมืองเชียงรุ้งได้ พม่าก็ทำอะไรแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ จึงโปรดให้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง แต่ไม่สำเร็จ        ๑๑/ ๖๕๒๕
                ๑๘๐๖. เชียงสือหรือองเชียงสือ  เป็นพระนามของพระเจ้าเวียดนามยาลอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ยาลอง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองประเทศเวียดนาม ก่อนจะตกไปเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อพวกขบถไตเซินยึดเมืองไซง่อนได้ องเชียงสือซึ่งเป็นเจ้าเมืองไซง่อน ได้หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖
                        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ยกทัพไปตีช่วยองเชียงสือตีเมืองญวนถึงสองครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ และ พ.ศ.๒๓๒๗ แต่ทำการไม่สำเร็จ องเชียงสือเองก็ได้พาสมัครพรรคพวกโดยเสด็จไปช่วยรบพม่าหลายครั้ง ต่อมาได้หลบหนีจากพระนครไป เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เพื่อไปกู้บ้านเมืองของตน โดยได้รับการสนับสนุนจากไทย และทหารอาสาสมัครหลายร้อยคน มีทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ ไอริช ได้ทำลายทัพเรือของพวกไตเซินลงในปี พ.ศ.๒๓๓๕ เมื่อจัดระเบียบการปกครองญวนใต้ให้มั่นคง แล้วก็ยกทัพไปตีเมืองเว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๓ แล้วได้ส่งดอกไม้เงินทองมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ถึงหกครั้งด้วยกัน และเมื่อตีเมืองฮานอยได้ องเชียงสือก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรเวียดนามที่เมืองเว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕        ๑๑/ ๖๕๓๐
                        อาณาจักรเวียดนามในครั้งนั้น ประกอบด้วยดินแดนสามภาคคือ ญวนกลาง อยู่ที่เมืองเว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ญวนเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอย และญวนใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ไซ่ง่อน         ๑๑/ ๖๕๓๐
                ๑๘๐๗. เชียงแสน  อ.ขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศตอนเหนือริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นที่สูงค่อนลาดลงมาทางใต้ มีลักษณะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ที่ลุ่มราบทำนาได้ ส่วนที่เป็นเนินมีป่าไม้เตี้ย ๆ
                        อ.เชียงแสน เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองเชียงแสน พระเจ้าแสนภู ทรงสร้างขึ้นตรงซากเมืองรอยเก่า เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๕๑ พระเจ้าสามฝั่งแกน โปรดให้สร้างกำแพงเมือง ก่อด้วยอิฐมีป้อมปราการ ต่อมาปี พ.ศ.๒๓๔๗ กองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเวลานั้นกองทัพพม่ายึดอยู่ เมื่อตีได้แล้วก็ให้รื้อกำแพงเมือง และเผาเมืองเสียสิ้น เพราะไม่ต้องการให้ข้าศึกใช้อีกต่อไป และให้อพยพชาวเมืองไปไว้เมืองอื่น เมืองเชียงแสนจึงร้างแต่นั้นมา แล้วได้ตั้งเป็นอำเภอ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ แล้วยุบเป็นกิ่งอำเภอ ต่อมาเรียกว่า กิ่ง อ.เชียงแสน จากนั้นเปลี่ยนเป็น กิ่ง อ.เชียงแสน อีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐         ๑๑/ ๖๕๓๕
                ๑๘๐๘. เชียงใหม่  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจดประเทศพม่า ทิศตะวันออกจด จ.เชียงราย จ.ลำปาง ทิศใต้จด จ.ลำพูน จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน ทิศตะวันตกจด จ.แม่ฮ่องสอน ภูมิประเทศเป็นที่สูง เป็นป่า และภูเขาโดยมาก มีเทือกเขาใหญ่ ๆ หลายแห่ง เช่น ดอยอินทนน ดอยสุเทพ ดอยผ้าห่มปก ดอยเชียงดาว มีที่ราบตามหุบเขา และพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำปิง
                        จ.เชียงใหม่ เคยเป็นราชธานีของแคว้นลานนาไทยมาแต่โบราณ พระยาเม็งรายทางสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ เลือกได้ที่เมืองเป็นชัยภูมิอยู่ถัดไปทางใต้ ซากเมืองเก่าซึ่งในตำนานกล่าวว่า เคยเป็นเมืองระมิง ในสมัยพระเจ้าอนุรุทธ แห่งกรุงพุกาม
                        เมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังไม่ยกเป็นราชธานี ถึงรัชกาลพระเจ้าผายู กษัตริย์องค์ที่สี่ ในราชวงศ์เม็งราย จึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ เมืองพะเยา ซึ่งมีกษัตริย์สืบต่อจากพระยางำเมือง มาสององค์ ก็ตกอยู่ในอาณาเขตของพระเจ้าผายู เมืองเชียงใหม่จึงเป็นราชธานี แห่งอาณาจักรลานนาไทยโดยสมบูรณ์
                        ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นที่เลื่องลือว่ามีอานุภาพมาก สามารถรุกแดนอาณาจักรอยุธยาเนือง ๆ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องยกทัพไปปราบปราม จนได้ชายอาณาเขตคืน
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๘๖  เชียงใหม่ขาดกษัตริย์จึงเชิญพระนางจิรประภา ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกัน ให้เป็นผู้สำเร็จราชการก่อน แล้วเชิญพระเจ้าชัยเชษฐา รัชทายาทเมืองหลวงพระบางมาครองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๙ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ไปครองเมืองล้านช้าง ทางเชียงใหม่จึงไปเชิญท้าวเมกุฎิ เจ้าแห่งไทยใหญ่ ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์พระยาเม็งรายมาครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๔
                        ในปี พ.ศ.๒๑๐๑  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกทัพมาตีเชียงใหม่ พระเจ้าเมกุฎิยอมอ่อนน้อมเชียงใหม่ก็ตกเป็นของพม่ามอญ นับแต่นั้นมา สมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกไปตีเมืองเชียงใหม่ไว้ได้ชั่วคราว ก็กลับตกไปเป็นของพม่าอีก สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ยกไปตีได้แต่ก็อยู่ไม่นาน กลับไปเป็นของพม่า
                        ในปี พ.ศ.๒๓๑๗  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไปตีเชียงใหม่เป็นครั้งสุดท้าย เชียงใหม่จึงเข้ามารวมกับไทย มาจนถึงทุกวันนี้         ๑๑/ ๖๕๓๗
                ๑๘๐๙. เชียงใหญ่  อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช
                        ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม เหมาะแก่การทำนา        ๑๑/ ๖๕๔๖
                ๑๘๑๐. เชื้อ - โรค  เชื้อโรคเป็นจุลินทรีย์ จำพวกหนึ่งซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์แล้ว ทำให้มนุษย์หรือสัตว์ แล้วทำให้เกิดโรคหรือมีการเจ็บไข้ แสดงอาการของพยาธิสภาพ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อโรคนั้น ๆ มีความรุนแรงต่างกัน
                        เชื้อโรคแบ่งออกได้เป็นหลายพวก โดยถือเอาขนาดรูปร่าง และสมบัติที่แตกต่างกันไปเป็นหลัก ดังนี้
                        ๑. ไวรัส  เป็นเชื้อโรคขนาดเล็กที่สุด ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อีเล็คตรอน ส่องดูจึงจะเห็นรูปร่างได้ ได้แก่ เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดไข้ทรพิษ เป็นต้น
                        ๒. พวกริกเกตต์เซีย  มีขนาดโตกว่าไวรัส แต่มักมีสมบัติและความเป็นอยู่คล้าย ๆ ไวรัส ได้แก่ เชื้อริกเกตต์เซีย  ที่ทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ เป็นต้น
                        ๓. เชื้อกลุ่ม ซิตตาโคซัส ทราโคมา และลิมโฟแกรนูโลมา เวเนเรียม พวกนี้มีขนาดใกล้เคียงกับพวกริกเกตต์เซีย แต่มีสมบัติบางอย่างแตกต่างกันไป กลุ่มนี้ประกอบด้วยเชื้อที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา และที่ทำให้เกิดกามโรค ชนิดหนึ่ง
                        ๔. เชื้อบักเตรี  เป็นพวกที่มีเซลล์เดียว จัดอยู่ในตระกูลพืชขนาดเล็ก ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ส่องขยาย จึงเห็นได้มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กันไปได้แก่ เชื้อที่ทำให้เกิดอหิวาตกโรค เป็นต้น
                        ๕. เชื้อรา  เป็นพวกที่จัดอยู่ในตระกูลพืช มีทั้งชนิดเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ ต่อ ๆ กัน ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น ทำให้เกิดกลาก เกลื้อน เป็นต้น
                        ๖. ไมโคร พลาสมา  เป็นพวกที่คล้ายบักเตรี แต่ต่างกันตรงที่จะไม่มีผนังหุ้มเซลล์ ได้แก่ เชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม เป็นต้น
                        ๗. ปรสิต  เป็นพวกที่จะอยู่ในตระกูลสัตว์ มีทั้งชนิดเซลล์เดียวหรือหลาย ๆ เซลล์ ที่จะต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ขยายดูจึงจะเห็น หรือที่มีขนาดมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มากได้แก่ ปรสิต ที่ทำให้เกิดโรคบิดหรือพยาธิลำไส้ต่าง ๆ เป็นต้น         ๑๑/ ๖๕๔๖
                ๑๘๑๑. เชือก  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง ในบางท้องถิ่นเรียกไม้นี้ว่า รกฟ้า รกฟ้ากอง เชือก ไม้นี้เป็นไม้ทิ้งใบขนาดกลาง สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร พบขึ้นทั่วไปในป่าเบณจพรรณ ป่าแดงที่แห้งแล้ง มีช่อดอกสั้น ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกดอกหนึ่งสีเหลืองด้าน ๆ ผลรูปรี ๆ ยาว ๓ - ๕ ซม. มีพู ๕ พู คล้านยผลมะเฟือง เนื้อไม้แข็ง หนัก สีน้ำตาลแก่ ไม่ทนทาน           ๑๑/ ๖๕๕๐
                ๑๘๑๒. แช่งน้ำ  เป็นพิธีทำน้ำให้ศักดิ์สิทธิ์ในการถือน้ำ ประเพณีการถือน้ำเรียกชื่อเด็มในพงศาวดารว่า "ฎพระราชพิธีสัจปานกาล" เรียกกันเป็นสามัญว่า "ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ถือน้ำ" เป็นพระราชพิธีเกี่ยวด้วยการดื่มน้ำสาบานถวายพระเจ้าแผ่นดินหน้าที่นั่ง เพื่อแสดงความจงรักภักดี เป็นพระราชพิธีใหญ่ สำหรับแผ่นดินสืบมาแต่โบราณ กำหนดมีปีละสองครั้ง คือในเดือนห้าขึ้นห้าค่ำและเดือนสิบแรมสิบสามค่ำ
                        ประเพณีการถือน้ำนี้ เพิ่งมายกเลิกเมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
                        พิธีสาบานตน เป็นเรื่องมีมาแล้วแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ชาวฮินดูเมื่อจะยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตน ต่อผู้เป็นประมุขก็ทำพิธี โดยจับต้องถือน้ำ ชาวมลายูดื่มน้ำซึ่งเอาศัสตราวุธลงไปชุบเสียก่อน ชาวคริสต์และชาวอิสลาม เมื่อแสดงคำปฎิญญาสาบาน ใช้มือแตะที่คัมภีร์ไบเบิล และคัมภีร์โกหร่าน (กุรอาน) เป็นต้น      ๑๑/ ๖๕๕๒
                ๑๘๑๓. แช่อิ่ม  เป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่ง ใช้อาหารประเภทพืชผัก หรือผลไม้แช่ในน้ำตาลที่ข้นมาก จนแบคทีเรียไม่อาจเจริญได้ แช่จนอิ่มตัวและแห้งเก็บไว้ได้นานวัน         ๑๑/ ๖๕๕๘
                ๑๘๑๔. โชค หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นำผลมาให้โดยไม่ได้คาดหมาย ตามปรกติคำโชคนี้ถ้าใช้เป็นคำโดด ๆ มักนิยมหมายในทางดี
                        โชค ในหลักโหราศาสตร์ว่าหมายยถึง ตำแหน่งสัมพันธ์ของดวงดาว ที่มีอิทธิพลให้เกิดผลดีผลร้าย มีจำแนกไว้หลายโชคด้วยกัน
                        เรื่องถือโชคเป็นเรื่องของความเชื่อมากกว่า เรื่องของปัญญา        ๑๑/ ๖๕๕๘
                ๑๘๑๕. โชคชัย  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นป่าดงและภูเขา มีที่ราบสำหรับทำนาอยู่บ้าง เดิมเรียกว่า อ.กระโทก เคยเป็นด่านเรียกว่า ด่านกระโทก เปลี่ยนชื่อเป็น อ.โชคชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒         ๑๑/ ๖๕๖๐
                ๑๘๑๖. โชงโลง  เป็นเครื่องมือวิดน้ำชนิดหนึ่ง (ดูชงโลง - ลำดับที่ ๑๖๑๐)         ๑๑/ ๖๕๖๒
                ๑๘๑๗.โชฎีกราชเศรษฐี  เป็นตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย ถือศักดินา ๑,๔๐๐ มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุข และควบตุมกิจการของชาวต่างประเทศ ที่มีบ้านเรือนทางฝั่งซ้ายของคุ้งทะเลไทย ได้แก่ ลูกค้าที่มาจากเมืองจีนและญวน เจ้ากรม ปลัดกรม และพนักงานของกรมท่าซ้าย ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนและญวน ส่วนกรมท่าขวามีหน้าที่ดูแลลูกค้าที่มาจากอินเดีย อาหรับ ชวา และมลายู ที่มีบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาของคุ้งทะเลไทย กรมท่าทั้งซ้ายและขวานี้ขึ้นอยู่กับพระคลัง         ๑๑/ ๖๕๖๒
                ๑๘๑๘. โชติกะหรือโชตกะ  เป็นชื่อเศรษฐี ที่มั่งมีทรัพย์คนหนึ่งในห้าคน ในเมืองราชคฤห์ และในรัชสมัยพระเจ้าพิมพิสาร โชติกะเศรษฐีมีบ้านอยู่ในเมืองราชคฤห์ ในบั้นปลายแห่งชีวิตก็ออกบวชในพระพุทธศาสนา และได้บรรลุอรหัตมีชื่อว่า พระโชติกเถระ         ๑๑/ ๖๕๖๓
                ๑๘๑๙. โชยฺติษ  คือดาราศาสตร์ว่าด้วยวิธีคำนวณการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ เพื่อทราบถึงฤดูกาลและฤกษ์ยามสำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามคัมภีร์พระเวท บางทีเรียกวิชานี้ว่า นักษัตรศาสตร์คือ วิชาดูดาว         ๑๑/ ๖๕๖๖
                ๑๘๒๐. ไชมินิ  เป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อผู้หนึ่งของอินเดีย เป็นสานุศิษย์ของท่าน วฺยาส เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๔๓ กล่าวกันว่า ไชมินิได้รับคัมภีร์สามเวทจากครูของท่าน และได้เป็นผู้เผยแพร่หรือเป็นผู้สอนคัมภีร์นั้นด้วย
                       สามเวท เป็นคัมภีร์ประมวลบทสวด (มันตระ) ต่าง ๆ จากคัมภีร์ฤกเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์แรกของพระเวท
                        นอกจากคัมภีร์สามเวทแล้ว ไชมินิยังได้แต่งคัมภีร์ทางปรัชญาชื่อ มีมางสาสูตร เป็นคัมภีร์ขยายความในกรรมกาณฑ์ของพระเวท ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ทางปรัชญาที่ใหญ่ที่สุด มีหัวข้อเรื่องถึง ๑,๐๐๐ หัวข้อ เริ่มด้วยการนิยามคำว่า "ธรรม"         ๑๑/ ๖๕๖๘
                ๑๘๒๑. ไชยเชษฐ์  เป็นชื่อตัวพระในบทละคอนนอกเรื่องไชยเชษฐ์ พระราชนิพนธิ์ในรัชกาลที่สอง กรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อเรื่องเดิมคงจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เรื่องไชยเชษฐ์ มีเนื้องเรื่องบางตอนตรงกับเนื้อเรื่องวนาวนชาดกในปัญญาสชาดก มีเรื่องย่อคือ
                        พระไชยเชษฐ์ เป็นพระโอรสของกษัตริย์ เมืองเหมันต์ มีพระสนมเจ็ดนาง ต่อมาพระอินทร์ได้ช่วยเหลือให้มาพบนางสุวิญชา และได้อภิเษกกับนางที่เมืองสิงหล นางสุวิญชาถูกสนมทั้งเจ็ดนางอิจฉา หาทางกลั่นแกล้งจนพลัดพรากจากพระไชยเชษฐ์ ในที่สุดพระไชยเชษฐ์ออกติดตามนางจนได้พบและคืนดีกัน   หน้า ๖๕๗๒
                ๑๘๒๒. ไชยปราการ - เมือง  เมืองนี้เรียกเป็นเวียงไชยปราการก็มี เดิมเข้าใจกันว่า เป็นเมืองเดียวกับเมืองฝาง แต่ผลการตรวจค้นเมืองโบราณทางภาคเหนือ ในระยะต่อมาปรากฎว่าเมืองฝางกับเมืองไชยปราการเป็นคนละเมือง และเมืองไชยปราการเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ในท้องที่ของ อ.ฝาง ยังมีซากอยู่ที่ ต.ปงคำ อยู่ใต้เมืองฝางลงมาประมาณ ๑๒ กม. บางท่านเรียก ปงเวียงไชย หรือเวียงไชย
                        ผู้สร้างเมืองไชยปราการ ยุติกันว่าเป็นเจ้าพรหมราช ราชโอรสของพระองค์พังคราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนคร ผู้สืบเชื้อสายมาแต่พระยาสิงหนวติราช ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๔๖๔ ได้สร้างเมืองไชยปราการ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๐ ทรงครองเมืองนี้จนสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๑ พระองค์ชัยสิริ ราชโอรสขึ้นครองราชย์ต่อมาได้ประมาณ ๖ ปี จึงเสียเมืองแก่ข้าศึก (ดูชัยสิริ - ลำดับที่ ๑๖๙๗)         ๑๑/ ๖๓๗๒
                ๑๘๒๓. ไชยพฤกษมาลา - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ประเภทราชวรวิหาร ซึ่งมีอยู่ ๑๖ วัดด้วยกัน วัดนี้ตั้งอยู่ปากคลองมหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยา แต่ได้มาร้างไปก่อนสร้างกรุงเทพ ฯ เมื่อเริ่มสร้างกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖ ได้นำเอาอิฐจากวัดนี้ไปสร้าง แต่การเอาของวัดมาใช้เช่นนี้ จะต้องทำการผาติกรรมคือ มีการสร้างทดแทนหรือใช้หนี้  จึงได้เริ่มให้มีการบูรณะวัดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๘ การบูรณะได้ทำมาตามลำดับจนเสร็จสมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ         ๑๑/  ๖๕๗๕
                ๑๘๒๔.  ไชยา  อำเภอ ขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบในตอนกลาง นอกนั้นบางแห่งเป็นป่าสูง มีเขาเล็ก ๆ
                          อ.ไชยา เป็นเมืองโบราณ เรียกกันว่า เมืองไชยา ศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ศักราชกลียุค ๔๓๓๒ (พ.ศ.๑๗๗๓)  มีชื่อเมือง ครฺหิ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเมืองไชยา เดิมเขตเมืองนี้ตกทะเลทั้งสองด้านคือ ด้านตะวันออกทางอ่าวบ้านดอน ทางตะวันตก ทางตะกั่วป่า
                         ในรัชกาลที่หนึ่ง โปรดให้ยกเมืองนี้ไปขึ้นกลาโหม เมืองนี้เคยถูกพม่าเผา ในสมัยที่พม่ายกไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ในปี พ.ศ.๒๓๔๒ โปรดให้รวมเมืองไชยา กับเมืองกาญจนดิษฐ์ เข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองไชยา ส่วนเมืองไชยาเปลี่ยนเป็น อ.พุมเรียง ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๘ โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา เป็นสุราษฎร์ธานี และให้เรียก อ.พุมเรียง เป็น อ.ไชยา ตามเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ไชยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ มีพระธาตุไชยา เป็นเจดีย์โบราณแบบศรีวิชัย ตั้งอยู่ในวัดมหาธาตุ เมืองไชยา         ๑๑/ ๖๕๘๕
                ๑๘๒๕. ไชยานุภาพ  เป็นนามพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวร ฯ ที่ทรงในวันทำสงครามยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๕ ชื่อเดิมก่อนขึ้นระวางคือ "พลายภูเขาทอง" จากชัยชนะครั้งนี้จึงได้รับการยกย่อง พระราชทานชื่อว่า "เจ้าพระยาปราบหงสาวดี"         ๑๑/ ๖๕๘๗
                ๑๘๒๖. ไชโย ๑ อำเภอขึ้น จ.อ่างทอง  ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ทำนาได้ทั่วไป อ.ไชโย ชาวบ้านเรียก อ.บ้านมะขาม มีสิ่งสำคัญคือ พระพุทธปฎิมากร ที่วัดไชโย  ต.ไชโย หน้าตักกว้าง ๑๖ เมตร สูง ๒๒ เมตร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด) ที่สมุหนายก สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารสวมภายหลัง          ๑๑/ ๖๕๘๙
                ๑๘๒๗. ไชโย ๒ เป็นคำเปล่งเสียงแสดงความมีชัย คำนี้น่าเชื่อว่ามีใช้มานานแล้ว โดยมีชื่อวัดและชื่อตำบลอยู่ใน จ.อ่างทอง เป็นหลักฐานอยู่        ๑๑/ ๖๕๘๙
                ๑๘๒๘. ไชโย ๓ - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ริมฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้เดิมเป็นวัดราษฎร์ เริ่มปรากฎเป็นวัดสำคัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ วัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร          ๑๑/ ๖๕๙๓
                ๑๘๒๙.  วัดไชยวัฒนาราม  เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเดียวกับวัดพุทไธสวรรค์  พระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๓
                        พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ใช้วัดนี้เป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูง มาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
                        ในคราวพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๘ ทางด้านตะวันตก กรมอาสาหกเหล่า กำลัง ๒,๐๐๐ คน เศษ ยกออกไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดแห่งนี้
                        วัดไชยวัฒนาราม กลายเป็นวัดร้างนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ วัดไชยวัฒนาราม เป็นที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านาย ที่ทรงพระยศเป็นเจ้าต่างกรม มาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐        ๑๑/ ๖๕๙๘
     


                ๑๘๓๐. ซ พยัญชนะตัวที่สิบเอ็ด  เป็นตัวที่สี่ในวรรคที่สอง นับเป็นพวกอักษรต่ำ คู่กับสำเนียง ส. มีใช้เฉพาะในคำไทยไม่มีในบาลี และสันสกฤต
                        ซ. เป็นพยัญชนะอโฆษะคือ ไม่ก้อง และเป็นพยัญชนะเสียดแทรกคือ พยัญชนะที่อวัยวะในปากมีลิ้น และริมฝีปาก เป็นต้น ปิดกักลมไว้ไม่สนิท ปล่อยให้ลมมีโอกาสเสียดแทรกออกมา ถ้าลิ้นกักลมที่ฟัน เสียงที่หลุดออกมาก็เป็นเสียง ซ  ถ้าริมฝีปากกักลมเสียงที่หลุดเสียดแทรกออกมา ก็เป็นเสียง ฟ          ๑๑/ ๖๖๐๙
                ๑๘๓๑. ซอ  เป็นเครื่องดนตรี ที่มีสาย และใช้เส้นหางม้าหลาย ๆ เส้นรวมกันสีไปมาที่สาย แล้วเกิดเป็นเสียง มีรูปร่างลักษณะและชื่อหลายอย่างต่าง ๆ กัน อยู่ในประเภทเครื่องสี ซอมีอยู่หลายเสียง เรียกชื่อตามลักษณะบ้าง ตามเสียงบ้าง นอกจากจะใช้บรรเลงเป็นเอกเทศแล้ว ยังใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงดนตรีต่าง ๆ เช่น วงเครื่องสาย วงมโหรี และวงปี่พาทย์ บางอย่าง ลักษณะนามของซอเรียกว่า "คัน"
                        ซอด้วง  เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ลักษณะของส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง ให้เกิดเสียงกังวานเรียกว่า "กระบอก" มีคันยาวเรียกว่า "ทวน" กลมสอดปักที่กระบอก และตั้งขึ้นไปตอนบนที่เป็นสี่เหลี่ยม ปลายโอนช้อยไปข้างหลัง มีลูกบิดสองลูกเสียบคันทวน ตอนบนสำหรับผูกพันปลายสาย และขึ้นเสียงให้สูงต่ำตามต้องการ มีสายสองสายทำด้วยไหม หรือเอ็น ฟั่นเป็นเกลียว ผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ขึงผ่านหน้าซอขึ้นไปตามคัน (ทวน) ปลายสายข้างบนผูกพันกับปลายลูกบิดลูกละสาย สายที่มีเสียงสูงเรียกว่า "สายเอก"  สายที่มีเสียงต่ำเรียกว่า "สายทุ้ม"  คันชักทำด้วยไม้ หรืองาช้าง ใช้เส้นหางม้าประมาณ ๒๕๐ เส้น รวมกันขึงให้ตึงคล้ายคันกระสุน สำหรับชักเข้าชักออก ให้เส้นหางม้าถูกับสายซอ ซึ่งเรียกว่า "สี"  เนื่องจากรูปร่างของซอชนิดนี้ คล้ายกับเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ด้วง จึงเรียกว่า ซอด้วง
                         ซอด้วงนี้ บรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายและมโหรี เวลาบรรเลงอยู่ในวงเครื่องสาย มีหน้าที่เป็นผู้นำวง และดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง แต่เวลาบรรเลงอยู่ในวงมโหรี มีหน้าที่เพียงดำเนินเนื้อเพลง เท่านั้น
                         ซอสามสาย  เป็นซออีกชนิดหนึ่งของไทย ส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดขวางลูก เรียกว่า กะโหลก สายที่มีเสียงสูงเรียก "สายเอก"  สายรองลงมาเรียก "สายกลาง" และสายที่มีเสียงต่ำเรียก "สายทุ้ม"        ๑๑/ ๖๖๑๐
                        ซอสามสายนี้บรรเลงรวมอยู่ในวง "ขับไม้" ทำหน้าที่คลอเสียงขับ และบรรเลงเพลงแทรก (ดูขับไม้ - ลำดับที่ ๗๒๒) วงมโหรีโบราณ ซึ่งมีผู้บรรเลงสี่คนก็มีซอสามสายอยู่ด้วย หน้าที่ของซอสามสายในวงมโหรีคือ คลอเสียงคนร้องและบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ
                        ซออู้  เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ลักษณะทั่วไปคล้ายซอด้วง แต่ส่วนประกอบบางส่วนที่ต่างกัน ส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียงเรียกว่า กะโหลก เพราะทำด้วยกะลามะพร้าว
                        ซออู้ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายมโหรีปี่พาทย์ไม้นวม และปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง กระตุ้นอารมณ์ให้สนุกสนาน
                        ซอโอ๊ก  เป็นซอที่สร้างพิเศษ รูปร่างเหมือนซออู้ทุกประการ แต่มีขนาดใหญ่กว่า
                ๑๘๓๒. ซอง  เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายกระบอก ยาว ๗๐ ซม. แต่ปากบาน กว้าง ๘.๕ ซม. กรวยยาว ๒๐ ซม. ใส่ทางปาก ก้นมีฝาไม้ไผ่เจาะรูปิดก้นกว้าง ๕ ซม. มีใช้ในจังหวัดนครราชสีมา        ๑๑/ ๖๖๑๗
                ๑๘๓๓. ซ้อง  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน  ก่อนสิ้นราชวงศ์ถัง ประเทศจีนแบ่งแยกออกเป็นห้าก๊ก เรียกว่า ยุคอู่ไต้
                        ต่อมาราวปี พ.ศ.๑๕๐๓ เจ้าควงเอี้ยน นายพลราชองครักษ์ของกษัตริย์จิว ได้รับการร้องขอของบรรดาทหารให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ซ่งไท้จู่ นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซ้อง แล้วเริ่มปราบปรามก๊กต่าง ๆ และจัดการปกครองแบบบริหารจากศูนย์กลาง พระเจ้าซ่งไท่จู่ครองราชย์ได้ ๑๗ ปีก็สวรรคต พระอนุชาได้ครองราชย์สืบต่อมา ประเทศจีนเริ่มเข้าสู่สภาพปรกติ และมีเอกภาพอีกระยะหนึ่ง แต่ภาคใต้และภาคเหนือของจีน ยังมีชนเผ่าที่ไม่ยอมอ่อนน้อม เช่น มณฑลยูนนานขึ้นต่อน่านเจ้าอันนัมยังตั้งตนเป็นเอกราช
                        ช่วงระยะเวลานับแต่พระเจ้าซ่งไท่จู่ถึงพระเจ้าซ่งจินจงรวมกษัตริย์แปดองค์ ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เหอหนาน ต่อมาในปี พ.ศ.๑๖๗๐ เมืองเหอหนานถูกพวกกิมยกทัพมาตีแตก (ดูคำงักฮุย - ลำดับที่ ๑๒๑๗ ประกอบ) จึงไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองหางโจว มีกษัตริย์สืบต่อมาอีกแปดพระองค์ ตามประวัติศาสตร์เรียกช่วงหลังนี้ว่า หนานซ่ง (ซ้องใต้) และเรียกช่วงแรกว่า เป่ยซ่ง (ซ้องเหนือ)
                        เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งในราชวงศ์ซ้องคือ ความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงรัฐประศาสโนบาย โดยได้มอบหมายให้หวางอันซี ผู้เป็นเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้าซ่งเสิงจง เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุง หวางอันซีได้เสนอแนวทางปรับปรุงรวม ๑๔ ประการ เช่น ควรแต่งตั้งข้าราชการเพื่อบริหารงานการคลัง ซึ่งจะสามารถตัดทอนรายจ่ายลงได้ราวร้อยละเจ็ดสิบ ควรสำรวจที่ดินเพื่อการเกษตรทั่วราชอาณาจักร ควรสะสมเสบียงอาหารไว้ให้พรักพร้อม ควรให้ประชาชนกู้ยืมเงินจากรัฐได้ ชายฉกรรจ์จะได้รับยกเว้นการเป็นทหารเมื่อส่งเงินจำนวนหนึ่งแก่รัฐ รัฐบาลควรตั้งศูนย์การค้าของรัฐ และมีหน้าที่รับจำนองจำนำ ควรตัดทอนงบประมาณการทหารในยามว่างศึก เพราะรัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อการทหารถึงสองในสามของรายจ่ายทั้งหมด ควรปลดทหารออกจากกองประจำการ คงเหลือแต่ทหารตระเวนชายแดน และทหารรักษาดินแดนเฉพาะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ควรคัดเลือกทหารที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นนั้น แต่สายการบังคับบัญชายังคงขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ให้ทหารประจำการทำหน้าที่เป็นตำรวจของท้องที่ด้วย ควรเปลี่ยนแปลงระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ จากเดิมที่ยึดถือความสามารถในการประพันธ์ มาเป็นความสามารถด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ให้จัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกอำเภอ จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นอีกสามแห่งในเมืองหลวง ควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยการทหาร นิติศาสตร์และแพทยศาสตร์
                        ในทางปรัชญาราชวงศ์ซ้องนี้นักปราชญ์ได้นำเอานิกายเซ็นของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มาประกอบกับลัทธิขงจื๊อ ปรัชญาดังกล่าว ได้เผยแพร่ไปยังประเทศญี่ปุ่น ในราชวงศ์เหม็ง
                        ในปี พ.ศ.๑๘๒๕ เมืองหลวงของราชวงศ์ซ้องถูกพวกมองโกลยึดได้ และสิ้นราชวงศ์ซ้องในที่สุด รวมระยะเวลาที่ราชวงศ์ซ้อง ปกครองประเทศจีนประมาณ ๓๒๓ ปีเศษ        ๑๑/ ๖๖๑๗
                ๑๘๓๔. ซ้องกั๋ง  เป็นขุนโจรผู้ขึ้นชื่อในรัชสมัยพระเจ้าซ่งเฟยจงแห่งราชวงศ์ซ้อง (ราว พ.ศ.๑๖๖๔)  ซ้องกั๋งมีสมุนฝีมือเยี่ยมในการรบพุ่งอยู่ ๓๖ คน ได้ทำการปล้นสะดมทั่วบริเวณสิบจังหวัดแถบแคว้นเหอเป่ย และซันตุง กองทัพรัฐบาลไม่อาจจะปราบได้
                        ชีวประวัติของซ้องกั๋งได้มีผู้นำมาดัดแปลง และประพันธ์เป็นนวนิยายอันนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของจีน ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมจีนในสมัยนั้น เช่น สภาพความคับแค้นอันสืบเนื่องจากถูกข้าราชการเบียดเบียนบีฑา และความไร้ประสิทธิภาพของข้าราชการ เป็นต้น        ๑๑/ ๖๖๒๕
                ๑๘๓๕. ซอเจ้ง  เป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง มีสายสำหรับดีดคล้ายจะเข้ (ดูจะเข้และเจ้ง - ลำดับที่ ๑๓๑๒ และ ๑๔๘๔)        ๑๑/ ๖๖๒๗
                ๑๘๓๖. ซ่อน  เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่หรือใบมะพร้าวสาน มีลักษณะคล้ายกรวย ยาว ๑.๑๐ เมตร กว้าง ๙ ซม. การใช้ซ่อนจะขุดคันนาเป็นช่อง สำหรับวางจับปลาดุก ปลาไหล มีใช้ทั่วไป
                ๑๘๓๗. ซ่อนกลิ่น  เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นพันธุ์มีหัวแล้วแตกหน่อพุ่งเป็นยอดขึ้นจากพื้นดิน ดอกออกเป็นช่อตั้งตรงกลางหน่อ ก้านช่อกลมยาว มีดอกมากเรียงติดกันไปจากกึ่งกลางช่อ จนถึงปลายสุดช่อ สีขาว กลีบค่อนข้างหนามีกลิ่นหอมแรงทน ปลูกเป็นไม้ตัดดอก ใช้ตกแต่งประดับ          ๑๑/ ๖๖๒๗
                ๑๘๓๘. ซองแมว ซ้องแมว - ต้น (ดูซ้องแมว ลำดับที่ ๑๖๕๗)        ๑๑/ ๖๖๒๘
                ๑๘๓๙. ซ่อนหา  เป็นการเล่นอย่างหนึ่ง มีวิธีการเล่นสองวิธี        ๑๑/ ๖๖๒๘
                        วิธีที่ ๑  ผู้เล่นมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้ที่เป็นผู้หาจะต้องหลับตา หรือใช้ผ้าผูกตาไม่ให้เห็นผู้ซ่อน เมื่อผู้ซ่อนได้ซ่อนตัวเรียบร้อยแล้วก็ให้อาณัติสัญญาณ ผู้หาลืมตาขึ้นแล้วออกเที่ยวหาผู้ซ่อน  เมื่อพบผู้ซ่อน ให้ใช้คำพูดว่า "โป้ง" พร้อมกับเรียกชื่อผู้นั้น ถ้าเรียกชื่อผิด ผู้หาจะต้องเป็นผู้หาต่อไป ถ้าเรียกชื่อถูก ผู้หาจะต้องหาต่อไปจนครบจำนวนผู้เล่น แล้วผู้ซ่อนคนแรกที่ถูกพบ จะเป็นผู้หาต่อไป
                         วิธีที่ ๒  แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองพวกเท่า ๆ กัน พวกหนึ่งเป็นผู้ซ่อน อีกพวกหนึ่งเป็นผู้หา ผู้หาต้องนั่งรวมอยู่ในวงกลม ที่ขีดไว้แล้วหลับตา เมื่อผู้หาพบผู้ซ่อนแล้ว ต้องพยายามจับให้ได้ ผู้ซ่อนพยายามหนีเข้าวงกลมที่ขีดกำหนดไว้ ถ้าเข้าได้ก็ปลอดภัย
                ๑๘๔๐. ซ่อม  เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ทำด้วยเหล็กมีสองง่าม มีด้ามเหล็กเสียบติดกับด้ามไม้ ใช้แทงปลาไหล มีใช้ในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง         ๑๑/ ๖๖๓๐
                ๑๘๔๑. ซอสามสาย (ดู ซอ - ลำดับที่ ๑๘๓๑)         ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๒. ซออู้ (ดู ซอ - ลำดับที่ ๑๘๓๑)         ๑๑/ ๖๖๓๑
                ๑๘๔๓. ซอโอ๊ก (ดู ซอ - ลำดับที่ ๑๘๓๑)         ๑๑/ ๖๖๓๑


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch