๑๗๘๕. เชิงเทิน คือ ดินที่พูนสูงขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเชิงหรือฐานรองรับสิ่งหนึ่งสิ่งใดประการหนึ่ง ใช้สำหรับป้องกันข้าศึก หรืออาวุธจากข้าศึกประการหนึ่ง และใช้เป็นส่วนประกอบของป้อมปราการอีกประการหนึ่ง
คำเชิงเทิน ปรากฎอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ ในเอกสารโบราณคดี และในเอกสารทางทหารมีความหมาย ไม่ใคร่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องคำเชิงเทินนั้น อย่างระมัดระวังเสมอ ๑๐/ ๖๔๓๐
๑๗๘๖. เชิด - เพลง เป็นเพลงดนตรีไทยเพลงหนึ่ง ที่บรรเลงรวมอยู่ในเพลงชุดโหมโรงเย็น เพื่อนำออกมาบรรเลงเป็นเพลงหน้าพาทย์ สำหรับบรรเลง ประกอบกิริยาของโขนละคร ก็ใช้บรรเลงในกิริยาไปมาอย่างรีบร้อน หรือหนทางไกล นอกจากนั้นยังใช้บรรเลงในเวลาที่รบกันได้ด้วย เพลงเชิดเป็นเพลงที่มีกลองทัพ ตีประกอบเป็นจังหวะด้วย บางท่านเรียกว่า เชิดกลอง เพื่อให้ชัดเจนและแตกต่างกับเพลงเชิดอื่น ๆ ๑๐/ ๖๔๔๓
๑๗๘๗. เชิดจีน เป็นเพลงสำหรับร้อง และบรรเลงดนตรี ซึ่งพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) เป็นผู้แต่งขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ท่านผู้นี้เรียกกันเป็นสามัญว่า ครูมีแขก ๑๐/ ๖๔๔๓
๑๗๘๘. เชิดฉาน เป็นเพลงเชิด ที่มีจังหวะกลองช้า บรรเลงร่วมอยู่ในชุดเพลงโหมโรงกลางวัน ถ้าหากนำมาบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร ใช้ในกิริยาตามจับสัตว์ที่มีความมุ่งหมาย แสดงศิลปะ การรำอย่างช้า เช่น แสดงโขนตอนพระรามตามกวาง เป็นต้น เพลงเชิดฉานมีสิ่งที่แปลกกว่าเพลงเชิดอื่นอยู่ที่ เมื่อเวลาจะจบจะต้องบรรเลงเพลง "ลา" ซึ่งเพลงเชิดอื่น ๆ ไม่มี ๑๐/ ๖๔๔๔
๑๗๘๙. เชิดฉิ่ง ทำนองเพลงเหมือนกับเชิดกลองทุกประการ แต่ใช้ฉิ่งตีเป็นจังหวะอย่างเดียว ไม่ตีกลองทัด สำหรับบรรเลงประกอบกิริยาของการแสดงโขน ละคร และมหรสพอื่น ๆ เวลาแผลงศร หรือไล่จับกัน หรือค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือลอบเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ เพลงเชิดฉิ่งนี้ นอกจากบรรเลงประกอบกิริยาดังกล่าวแล้ว ยังนำมาเป็นเพลงร้องในบท ซึ่งดำเนินเป็นกิริยานั้น ๆ ด้วย ๑๐/ ๖๔๔๔
๑๗๙๐. เชิดนอก เป็นเพลงเชิดพิเศษที่บรรเลงเฉพาะเดี่ยว (คนเดียว) เท่านั้น สมัยโบราณบรรเลงเดี่ยวด้วยปี่ โดยปรกติจะต้องบรรเลงสามเที่ยว แต่ไม่เรียกว่าเที่ยว หรือท่อน อย่างเพลงธรรมดา และไม่เรียกว่า ตัวเหมืองเพลงเชิดต่าง ๆ หากแต่เรียกว่า "จับ" บรรเลงสามเที่ยวก็เรียกว่า "สามจับ"
เพลงเชิดนอกนี้ ใช้เป็นเพลงบรรเลงประกอบโขน ละคร ในการรบกันหรือไล่จับกัน ระหว่างสัตว์ต่อสัตว์ หรือสัตว์กับมนุษย์ หรือสัตว์กับยักษ์ ๑๐/ ๖๔๔๕
๑๗๙๑. เชิดใน เป็นเพลงเชิดธรรมดาที่ขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และเพิ่มเติมตกแต่งเนื้อเพลงขึ้นเล็กน้อย สำหรับบรรเลงโหมโรงเย็นให้พิสดารขึ้น หรือใช้เป็นเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยว ต่อท้ายจากเพลงโหมโรงเสภา ๑๐/ ๖๔๔๖
๑๗๙๒. เชียงกราน หรือเชียงตราน เป็นชื่อเมืองปลายแดนของประเทศไทย ทางด่านเจดีย์สามองค์ มอญเรียกว่า เมืองเติงกรายน์ อังกฤษเรียก เมืองอัตรัน เป็นเมืองที่พม่ายกมาตีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าแห่งเมืองตองอู ได้ยกกองทัพมาตีเมืองหงสาวดีของมอญได้ แล้วย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงสาวดี แล้วยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะมะ อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง เป็นมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้ เมื่อได้เมืองเมาะตะมะแล้ว ก็จัดการรวบรวมหัวเมืองมอญ ในมณฑลนั้นจึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน
สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกณฑ์โปร์ตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานกลับคืนมา ๑๐/ ๖๔๔๖
๑๗๙๓. เชียงขวาง เป็นชื่อเมืองและแขวงแห่งหนึ่งในประเทศลาว อยู่ใต้บริเวณทุ่งไหหิน และเมืองหนองแฮด มีถนนตัดแยกมาจากถนนสายหลางพระบาง - เวียงจันน์ ตรงเหนือเมืองกาสี ในเขตแขวงหลวงพระบางผ่านเมืองซุย (สุย) เมืองเชียงขวางไปจนถึงเมืองเบนฮุย เขตเวียดนาม
เมืองเชียงขวาง มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตแขวงหัวพัน ทิศตะวันออกจดเวียดนาม และเขตแขวงคำม่วน ทิศใต้จดแขวงเวียงจันทน์ และทิศตะวันตกจดแขวงหลวงพระบาง
แขวงเชียงขวาง บางท่านเรียกว่า พวนหรือเมืองพวน เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกพวน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งเชียงขวางนั้น เดิมขึ้นอยู่ในอาณาจักรฟูนัน เพราะมีประวัติว่า เมื่อประมาณ ๑,๖๐๐ ปี มาแล้ว แผ่นดินสองฟากแม่น้ำโขง อยู่ในอาณาเขตของฟูนันทั้งหมด ต่อมาอาณาจักรฟูนัน ถูกเจนละแย่งอำนาจ อาณาจักรนั้นเลยเสื่อมสูญไป
เมื่อไทยอพยพจากยูนนานลงมา ปรากฎว่าดินแดนเหล่านี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันแล้วคือ ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือ เป็นแคว้นหลวงพระบาง ถัดหลวงพระบางไปทางเหนือและทางตะวันออก เป็นแคว้นสิบสองจุไทย ซึ่งทางตะวันออกต่อแดนกับแคว้นตังเกี๋ย ทางเหนือต่อแดนกับมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นบ้านเมืองของไทยเดิม อยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน เขตแดนของสิบสองจุไทยกว้างขวางมาก ในตอนที่อยู่ใกล้เมืองหลวงพระบางไปทางตะวันออก จึงเรียกแยกว่า หัวพันทั้งห้าทั้งหก ส่วนตอนที่อยู่ใกล้เวียงจันทน์เรียกว่า เมืองพวน ถัดแดนหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองพวนออกไป คงเรียกว่า สิบสองจุไทย มีเมืองไล เมืองแกง หรือแถน เป็นต้น
เชียงขวางหรือพวนนั้น มีตำนานว่า แผ่นดินลาวมีกษัตริย์องค์แรกพระนามว่า ขุนบัลลินนัว มีโอรสห้าองค์ องค์ที่หนึ่งเป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง องค์ที่สองเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์ องค์ที่สามเป็นเจ้าเมืองพวน องค์ที่สี่เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และองค์ที่ห้าเป็นเจ้าเมืองเขมร เจ้าเมืองพวนนั้น บางตำนานว่าชื่อ เจ็ดเจือง บางตำนานว่า เจ้าหลวง
ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ครองเวียงจันทน์ เกิดเรื่องรบกับไทย เจ้าอนุ ฯ แพ้จึงหนีไปพึ่งญวน แล้วยกเมืองต่าง ๆ ในครอบครองเจ็ดเมือง รวมทั้งเมืองพวนด้วยให้ญวน ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ได้แล้ว ก็ได้กวาดต้อนผู้คนที่อยู่ในเขตเวียงจันทน์บ้าง เขตเชียงขวาง หรือพวน บ้าง ให้ไปอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ ของไทยคือ จากเมืองโสย (สุย) ไปอยู่ที่บ้านหมี่สนามแจง จ.ลพบุรี บ้านทุ่งโพธิ์ บ้านวังทับคล้อ บ้านวังลุ่ม อ.ตะพานหิน จ.พิษณุโลก และที่ จ.หนองคาย ให้ลาวพวน ผู้ไทยและแสก ซึ่งอพยพมาสมัยเจ้าอนุวงศ์ ไปอยู่เมืองพนัศนิคม กบินทรบุรี ประจันตคาม อรัญประเทศ บางตะพาน หรือกำเนิดนพคุณ อำนาจเจริญ หนองคาย โพนพิสัย เป็นต้น ๑๐/ ๖๔๔๙
๑๗๙๔. เชียงของ อำเภอ ขึ้น จ.เชียงราย ตั้งอยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง อาณาเขตด้านเหนือและด้านตะวันตก ตกแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกบางส่วน ตกแม่น้ำโขง บางส่วนจดทิวเขาหลวง ซึ่งปันเขตแดนไทยกับลาว ภูมิประเทศตอนเหนือ ใต้และตะวันตก มีเขาล้อมรอบระหว่างกลางเป็นที่ว่างทำนาได้ อ.เชียงของเดิมเป็นเมือง แล้วยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ๑๐/ ๖๔๕๗
๑๗๙๕. เชียงแขง เป็นชื่อเมืองของชนชาติไทย ตั้งอยู่ข้างเหนือพระราชอาณาเขต เคยมาขึ้นอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย บางยุคบางคราว เมืองนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของไทย พวกหนึ่งที่เรียกว่า พวกเขิน ซึ่งเป็นพวกเดียวกับชาวเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงแขง ก็อยู่ในสกุลเดียวกับเจ้าเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองมีนามตามเกียรติยศ ที่พม่าตั้งให้ว่า เจ้าหม่อมมหาศรีสัพพเพธังกูร พุทธพรหมวงษา ต่อมาเมืองเชียงแขงทำไร่นาไม่ได้ผล เจ้าเมืองจึงอพยพครอบครัวมาอยู่ที่เมืองสิงห์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาณาเขตขึ้นเมืองน่าน เพราะเจ้าเชียงแขงเกี่ยวพันในเครือญาติวงศ์กับเมืองน่าน แล้วถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง สวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ๑๐/ ๖๔๕๙
๑๗๙๖. เชียงคาน อำเภอ ขึ้น จ.เลย อยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง อาณาเขตด้านเหนือและตะวันตก ตกแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นปันเขตแดนไทยกับลาว มีภูมิประเทศเป็นลอนสูง ๆ ต่ำ ๆ
อ.เชียงคาน เดิมเป็นเมืองแล้วยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ๑๐/ ๖๔๖๒
๑๗๙๗. เชียงคำ อำเภอ ขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศทางตะวันออกเป็นป่าทึบ มีภูเขา นอกจากนั้นเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
อ.เชียงคำ มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเวียงพางคำเดิม ตามตำนานสิงหนวัติว่า บรรพบุรุษของเจ้าผู้ครองเมืองไตรตรึงษ์ สืบเชื้อสายมาแต่เจ้านาย ที่ครองเมืองเวียงพางคำ เมืองนี้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากคือ พระธาตุดอนชิงแกะ พระธาตุดอยคำ พระธาตุสบแวน ๑๐/ ๖๔๖๒
๑๗๙๘. เชียงดาว อำเภอ ขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีที่ราบ สำหรับทำการเพาะปลูกได้น้อย ทางตอนเหนือเป็นภูเขาเสียมาก ทำนาได้แต่ตอนกลาง ๑๐/ ๖๔๖๕
๑๗๙๙. เชียงตุง เป็นเมืองใหญ่ เมืองหนึ่งของพม่า อยู่ในรัฐฉาน หรือไทยใหญ่ใต้ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาลวิน มีอาณาเขตทิศเหนือจดประเทศจีน ทิศตะวันออกจดประเทศลาว ทิศใต้จดประเทศไทย ทิศตะวันตกจดประเทศพม่า
เมืองเชียงตุง มีชื่อเรียกอีกสองชื่อคือ เขมรัฐ หรือเขมราษฎร กับเขิน การที่ชื่อเขมรัฐกับเขินนั้น มีผู้ให้เหตุผลว่า เมืองนี้ตามเค้าเดิมเป็นแดนขอม แต่พวกลาวเรียกว่า เขิน แต่ ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ กล่าวว่า เขินเป็นคนไทยสาขาหนึ่งเรียกว่า ไทยเขิน พวกไทยเขินนี้ขึ้นมาจากทางใต้แล้วมาอยู่ที่เชิยงตุง มีเครื่องจักสานทารักจากเชียงตุง
ชนิดหนึ่งคือเครื่องเขิน ว่าเป็นของที่พวกไทยเขินคิดขึ้น
เชียงตุงมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขายาวจากเหนือมาใต้กับมีหนองน้ำมาก มีทางระบายน้ำออกได้ทางเดียวคือ น้ำเขินซึ่ง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีคำพูดเป็นปริศนาชี้ลักษณะของเมืองว่า "เจ็ดเชียง เก้าหนอง สิบสองประตู"
ผู้สร้างเมืองเชียงตุงนอกจากเป็นนิยายฤษีสร้างแล้ว หมอดอดด์ได้อ้างประวัติศาสตร์ที่อังกฤษ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ว่าก่อนปี พ.ศ.๑๗๗๒ เรื่องราวของเมืองเชียงตุงเป็นเพียงนิยายปรัมปรากล่าวว่า เชียงตุงนี้แต่เดิมเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ แล้วมีชนชาติหนึ่งจากทางเหนือ หรือประเทศจีนอพยพมาตั้งภูมิลำเนา พวกจีนพยายามตีเอาเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาพวกว้ายึดได้ แต่เมงรายมาขับไล่พวกว้าให้ถอยไปอยู่ตามภูเขา เมงรายได้สร้างเมืองเชียงตุง และเมืองเล็มขึ้น พาไทยเขินมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงตุง
ในปี พ.ศ.๑๙๕๕ - ๑๙๕๘ ปรากฏว่าเชียงตุงเป็นอิสระส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเชียงใหม่ จนถึง พ.ศ.๒๑๐๓ พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า ได้แผ่อำนาจมายึดเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉานรวมทั้งเชียงตุงได้ เชียงตุงพยายามกู้เอกราชหลายครั้ง แต่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกในรัชสมัยพระเจ้าอลองพญา ตลอดมาจนพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ เชียงตุงก็ตกเป็นของอังกฤษด้วย เมื่ออังกฤษยอมให้พม่าเป็นเอกราชในปี พ.ศ.๒๔๙๑ เชียงตุงก็ยังรวมอยู่กับประเทศพม่า
สมัยเมื่อยังเป็นอิสระ เชียงตุงเท่ากับเป็นประเทศหนึ่ง มีเชียงตุงเป็นเมืองหลวง มีหัวเมืองอื่น ๆ และหมู่บ้านปกครองลดหลั่นกันลงไป ทำนองเดียวกับเมืองสมัยก่อนในถิ่นแถบนี้โดยทั่ว ๆ ไป ผู้ปกครองมีตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าเรียกกันว่า เจ้าฟ้าเชียงตุง เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า กิจการในรัฐ เจ้าฟ้ายังคงปกครองอย่างเดิม เป็นแต่ส่งส่วยให้ผู้มีอำนาจเหนือ แต่เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เชียงตุงมีฐานะเป็นมณฑล ต้องยอมให้อังกฤษเข้ามาอยู่รักษาความปลอดภัย และกิจการต่างประเทศต้องยอมให้เป็นหน้าที่ของอังกฤษ
ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชียงตุง เดิมคล้ายกับทางลานนาไทยหลายอย่าง เดิมชาวเชียงตุงมีภาษาใช้คือภาษาไทยเขินซึ่งคล้ายภาษาทางลานนาไทย
เชียงตุงมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕ พระยากาวิละ เจ้าเมือง
เชียงใหม่นำทัพเชียงใหม่ ลำปางและน่าน ขับไล่ทัพพม่าที่ยกมารบกวนทางเหนือแตกพ่ายไป และตีเมืองเชียงตุงมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยได้ แต่ไทยมิได้จัดการปกครอง หรือติดต่อแบบเมืองขึ้นโดยทั่ว ๆ ไป จนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๓ ไทยจึงมีเรื่องกับเชียงตุง สาเหตุเนื่องจากพม่าได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าในเชียงรุ้ง แล้วยกกำลังเข้ายึดเมืองต่าง ๆ เป็นของพม่า เจ้าอุปราชเมืองเชียงรุ้งพาครอบครัว และราษฎรหนีเข้ามาพึ่งไทย ทางไทยเห็นว่าเชียงรุ้งเคยเป็นของไทยมาก่อน ต้องตีคืน และเห็นควรตีเชียงตุงด้วย จึงเกณฑ์ให้ทางเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง จัดทัพไปตีเชียงตุง แต่ทำการไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ ได้ยกกำลังจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปตีเชียงตุงอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ ได้ยกไปอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๓๙๗ ก็ไม่สำเร็จอีก
เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยได้ยกกองทัพไปตีเชียงตุง และยึดเชียงตุงได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ แล้วตั้งชื่อเชียงตุงเสียใหม่ว่า สหรัฐไทยเดิม มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย แต่พอสิ้นสงคราม เชียงตุงต้องกลับคืนไปเป็นมณฑลหนึ่งในรัฐฉานของอังกฤษอย่างเดิม ๑๐/ ๖๔๖๕
๑๘๐๐. เชียงแตง เป็นชื่อเมืองหนึ่ง อยู่ในเขตประเทศเขมรตอนเหนือสุดต่อกับตอนใต้สุดของประเทศลาว อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณที่เรียกว่า ปากเซของ หรือเซกอง ประเทศเขมรเรียกว่า เมืองสตรึงแตรง
เดิมเมืองเชียงแตงเป็นเพียงหมู่บ้านชื่อบ้านหางโจว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ยกหมู่บ้านบริเวณนี้ขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗
เมืองเชียงแตงอยู่ในความปกครองของไทยบ้าง ลาวบ้างและเขมรบ้าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เมืองเชียงแตงก็พ้นจากอำนาจของไทย และเมื่อฝรั่งเศสได้ญวน ลาวและเขมร เป็นเมืองขึ้นแล้วก็จัดการปกครองแบบสหภาพอินโดจีน แบ่งออกเป็นห้ารัฐคือ ตังเกี๋ย อานัม โคจินจีน เขมรและลาว เมืองเชียงแตงอยู่ในรัฐเขมร ๑๐/ ๖๔๗๓
๑๘๐๑. เชียงทอง เป็นเมืองที่มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔) ด้านที่สองว่า เมื่อมหาศักราช ๑๒๙๓ (พ.ศ.๑๙๐๔) พญาลิไทยได้ให้ไปอาราธนามหาสามีสังฆราชจากลังกาไปเมืองสุโขทัยนั้น มีความตอนหนึ่งว่า "ใช้อมาตย์มุขมนตรี และราชตระกูลทั้งหลายไปรับทำสักการะบูชา ตั้งแต่เมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทอง เมืองบางจันทร์ เมืองบางพารตลอดถึงเมืองสุโขทัยนี้"
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จเป็นใจความว่า เมืองเชียงทองนั้นเป็นเมืองขึ้นเมืองตาก อยู่ใต้เมืองตาก (ระแหง) ลงมาไม่มากนัก เมืองเชียงทองเดิมน่าจะอยู่ที่อื่น เป็นแต่ย้ายคนมาตั้งเมืองใหม่ จึงอยู่ชิดเมืองตากนัก ดังมีหลักฐานอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วขึ้นไปตีเมืองเชียงอินทร์ว่า เมืองเชียงทองเดิมเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่ อยู่ปลายแดนต่อเขตเมืองตาก สมเด็จพระพันวสา โปรดให้พลายแก้วคุมพลขึ้นไปช่วยเมืองเชียงทอง ความในเสภาก็ว่าเมืองเชียงทองอยู่เหนือเมืองกำแพง ระแหง เถิน ๑๐/ ๖๔๗๘
๑๘๐๒. เชียงยืน อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบสูง มีทุ่งนา โคกป่า สลับกันไปแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ขึ้น อ.กันทรวิชัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ๑๐/ ๖๔๘๑
๑๘๐๓. เชียงราย ๑ จังหวัดภาคเหนือสุดของประเทศไทย อาณาเขตทิศเหนือจดแคว้นเชียงตุงประเทศพม่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตกแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกจดทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งปันเขตแดนประเทศไทยกับประเทศลาว และ จ.น่าน ทิศใต้จด จ.ลำปาง ทิศตะวันตกจด จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นป่าและเขาโดยมาก
จ.เชียงราย ปรากฎในพงศาวดารโยนกว่า พระยาเม็งรายสร้างขึ้น ณ ที่ซึ่งเดิมเป็นเวียงชัยนารายณ์ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๕ และครองราชย์อยู่ ณ เมืองนี้ จนถึงปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่ และครองราชย์อยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงรายนั้นขุนคราม หรือพระยาไชยสงครามโอรสของพญาเมงราย ได้ครองราชญ์สืบต่อมา แต่นั้นเมืองเชียงรายก็ขึ้นเมืองเชียงใหม่
ต่อมา เมื่อแคว้นลานนาไทยตกไปอยู่ในปกครองของพม่า พม่าได้ตั้งขุนนางมอญคือ พระยาวิชิตวงศ์ มาครองเมืองเชียงรายจนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๙ พระยายองกับพระแพร่ร่วมคิดกันสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพ ฯ จึงจับอาปะกามณีแม่ทัพพม่าที่ตั้งอยู่เมืองเชียงรายเป็นเชลยได้แล้วนำลงมาถวายยังกรุงเทพฯ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พม่ายกกองทัพจากแคว้นเชียงตุงตีได้เมืองเชียงแสนเมืองเชียงรายสมทบทัพเมืองฝางเดิมทางผ่านเมืองพะเยามาตีเมืองนครลำปาง แต่ถูกไทยตีแตกกลับไป เมืองเชียงรายก็ร้างไปถึงปี พ.ศ.๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดให้ตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ยกขึ้นเป็นจังหวัด ๑๐/ ๖๔๘๑
๑๘๐๔. เชียงราย ๒ - ราชวงศ์ แต่เดิมรับรองกันว่าเชียงรายเป็นนามของราชวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงตั้งขึ้น พระองค์ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ หนีงสือบรรยายพงศาวดารสยามของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "สกุลวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า"ราชวงศ์เชียงราย" อธิบายความยุติต้องกับพงศาวดารโยนกว่า เป็นไทยพวกที่อพยพลงมาตั้งภูมิลำเนาในมณฑลลานนา...ผู้เป็นต้นวงศ์ทรงนามว่า พระเจ้าไชยศิริ ได้ครองจังหวัดเชียงราย เมื่อยังมีชื่อว่า เมืองไชยปราการ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าไชยศิริ ผู้ครองเมืองไชยปราการ ฯลฯ"
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยขึ้นคณะหนึ่ง มีพระยาอนุมานราชธนเป็นประธาน คณะกรรมการ ฯ ตกลงให้ขนานนามราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ว่าราชวงศ์อู่ทองแทนราชวงศ์เชียงราย ๑๐/ ๖๔๘๓