หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/39
    ๑๗๗๑. เช็ง  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน ชนชาติหนู่เจิน สกุลอ้ายซินเจี๋ย หลังได้ครองแคว้นแมนจูเรีย สืบเนื่องมาจากราชวงศ์กิม ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศจีน ในปี พ.ศ.๒๑๗๙ ได้สถาปนาเป็นราชวงศ์เช็งขึ้น และมุ่งจะเข้าครอบคอรงประเทศจีน
                            ในปี พ.ศ.๒๑๘๕  กองทัพเช็งกรีธาทัพเข้าตีประเทศจีนทางเหนือ ในรัชสมัยพระเจ้าฉงเจิง ปลายราชวงศ์เหม็ง (ดู เหม็ง - ลำดับที่...)
                            ในปี พ.ศ.๒๑๘๖  กษัตริย์ราชวงศ์เช็งสวรรคต ราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า พระเจ้าซุ่นฉือ ประเทศจีนขณะนั้นตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย โจรผู้ร้ายชุกชุม ประชาชนเดือดร้อน ในที่สุดประเทศจีนก็ตกอยู่ในปกครอง ของราชวงศ์เช็ง พระเจ้าซุ่นฉือจึงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เช็ง ที่ได้ครองประเทศจีน
                            รัฐบาลเช็ง ได้ดำเนินรัฐประศาสโนบาย ที่เฉียบขาดรุนแรง เพื่อให้ประชาชนเกรงขามต่อรัฐบาลเช็ง มีหลักการสังเขปคือ
                            ๑. ให้ประชาชนทุกคนโกนศีรษะและไว้ผมเปีย เช่นเดียวกับชนชาติแมนจู โดยกำหนดให้โกนภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันประกาศผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกประหารชีวิต ผู้ที่ได้รับยกเว้นคือ สตรี นักบวช และพระภิกษุ อีกทั้งบังคับให้ประชาชนต้องแต่งกาย แบบแมนจู
                            ๒. สั่งประหารชีวิตบรรดาราชวงศ์เหม็งเสียสิ้น
                            ๓. สั่งประหารชีวิตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แห่งราชวงศ์เหม็งผู้ขายชาติ
                            ๔. ห้ามมิให้ประชาชนจัดตั้งสมาคม หรือชุมนุม หรือการประชุมใด ๆ
                            สถานการณ์ภายในประเทศ จนถึงพระเจ้าเฉียนหลุน บ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข ไม่มีภัยคุกคามใด ๆ จากต่างประเทศ
                            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๕ อันเป็นปีที่ ๕๗ แห่งรัชสมัยพระเจ้าเฉียนหลุน รัฐบาลอังกฤษส่งทูตมาติดต่อกับรัฐบาลเช็ง เพื่อขอให้ลดอัตราภาษีศุลกากรขาเข้า ยกเลิกข้อจำกัดในการค้าและขอให้เปิดเมืองท่าใหญ่ ๆ เพื่อการค้า เช่น เทียนสิน เป็นต้น
                            ปีที่ ๒๑ แห่งรัชสมัยเต้ากวง  เป็นปีที่เริ่มต้นการสงครามกับต่างประเทศ สาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่อังกฤษ นำฝิ่นมาขายในประเทศจีน เดิมทีรัฐบาลเช็งเคยตรากฎหมาย ห้ามประชาชนเสพฝิ่น ต่อมาบริษัทอิสต์อินเดีย ได้นำฝิ่นจำนวนมากเข้าประเทศจีน เป็นเหตุให้ชาวจีนเสพฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเช็งพยายามปราบแต่ฝิ่นก็ยังแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน
                            พ.ศ.๒๓๘๒  ข้าหลวงกวางตุ้งได้เผาฝิ่นทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นชนวนสงครามระหว่างจีนกับอังกฤษ และจีนแพ้ในที่สุด ต้องยกฮ่องกงให้อังกฤษนับแต่นั้นมา
                            พ.ศ.๒๓๙๓  หงซิ่วฉวน ได้ก่อการขบถขึ้น โดยอาศัยการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นการบังหน้า แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร
                            พ.ศ.๒๔๐๕  อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศตกอยู่แก่พระนางซูสีไทเฮา
                            พ.ศ.๒๓๓๗  จีนทำสงครามกับญี่ปุ่น แพ้สงคราม ทำให้ต้องยกเกาหลีให้ญี่ปุ่น
                            พ.ศ.๒๔๔๑  พระเจ้ากวงซู่ มีพระราชประสงค์ในการปฎิรูปการปกครอง โดยให้มีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ พระนางซูสีไทเฮาทรงทราบจึงกักพระเจ้ากวงซู่ไว้
                            พ.ศ.๒๔๕๔  ดร.ซุนยัดเซ็น ได้ก่อการปฎิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสำเร็จ ราชวงศ์เช็ง ก็เป็นอันสิ้นสุด         ๑๐/ ๖๓๕๓
                ๑๗๗๒. เช็งเหม็ง, เช็งเม้ง ชิวหมัง  เป็นเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของจีน ตรงกับเดือนสามของจีน (ราวเดือนเมษายน) ส่วนจะเป็นวันใดนั้น ให้นับจากเทศกาลตงจื้อ ๑๐๖ วัน ก็จะเป็นเทศกาลเช็งเหม็ง (ในสมัยโบราณกำหนดแน่นอนว่า เป็นวันที่สามเดือนสามของจีน)
                            การที่มีชื่อว่า เช็งเหม็ง เพราะคำว่า เช็ง หมายความว่า แจ่มใส คำว่า เหม็ง หมายความว่า สว่าง เมื่อรวมคำสองคำก็เป็นลักษณะ และสภาพภูมิอากาศของฤดูใบไม้ผลิ ในประเทศจีน เทศกาลนี้มีมาเป็นเวลานับพันปี ในระยะแรกในช่วงสามวันของเทศกาล ถือเป็นวันห้ามก่อไฟหุงอาหาร สมัยต่อมาเช็งเหม็ง กลายเป็นเทศกาลที่ชาวจีนไปเยี่ยมที่ฝังศพ ของบรรพบุรุษของตน โดยเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่เตรียมไว้           ๑๐/ ๖๓๕๘
                ๑๗๗๓. เชตวันวิหาร  เป็นชื่อมหาวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ตั้งอยู่ทางใต้ของนครสาวัตถี ในแคว้นโกศล (อุตรประเทศปัจจุบัน)
                            ชื่อ เชตวันได้จากพระนามของเจ้าชายเชตะ พระญาติสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณที่ตั้งมหาวิหาร อนากบิณฑิกเศรษฐี (สุทัตตอุบาสก) สละทรัพย์ซื้อจากเจ้าชายสร้างมหาวิหาร ถวายพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน สิ้นทรัพย์ ๓๖ โกฏิกหาปณะ
                            เศรษฐีกับเจ้าชายเชตะ ร่วมกันทำเป็นอุทยานใหญ่ ให้สร้างมหาวิหารเจ็ดชั้นมีกำแพงและคูเป็นขอบเขต ภายในบริเวณปันเป็นส่วนสัด มีคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า ที่จำพรรษาพระภิกษุสงฆ์ ที่เจริญธรรม ที่แสดงธรรม ที่จงกรม ที่อาบ ที่ฉัน ครบถ้วน
                            จดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียนเล่าเรื่อง (ซาก) มหาวิหารเชตวัน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๙๔๒ ไว้ว่า ออกจากบริเวณเมือง (สาวัตถี) ไปทางประตูทิศใต้ เดินไปประมาณ ๒,๐๐๐ ก้าว สู่ทางตะวันออกของถนนใหญ่ พบวิหารใหญ่หลังหนึ่ง ประตูด้านหน้าของวิหารหันหน้าไปทางตะวันออก ซากที่ยังเหลือคือฐานประรำสามฐาน หลักสองหลัก ที่หลักมีสลักรูปธรรมจักร ด้านเหนือและรูปโคอีกด้านหนึ่ง มีที่ขังน้ำไช้น้ำฉันของพระภิกษุยังเหลืออยู่ ในพื้นที่เก็บน้ำยังมีน้ำใสสะอาดเต็มเปี่ยม มีไม้เป็นพุ่มเป็นกอ มีดอกออกใบ เขียวสดขึ้นอยู่โดยรอบ ที่ใกล้วิหารหลังนี้มีซากวิหารอยู่อีกหลังหนึ่งเรียกว่าวิหารตถาคต
                            วิหารตถาคตแต่เดิมมามีอยู่ถึงเจ็ดชั้น บรรดาราชา อนุราชา และประชาชนพากันมากราบไหว้ ทำการสักการะตลอดกลางคืนกลางวัน ฯลฯ
                            ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารตถาคต ไกลออกไป ๖ - ๗ ลี้ พบวิหารอีกหลังหนึ่ง (บุพพาราม) ซึ่งมหาอุบาสิกาวิสาขา สร้างถวายพระพุทธเจ้า เมืองสาวัตถีนี้มีประตูใหญ่เพียงสองประตูคือ ประตูทางทิศตะวันออกและประตูทางทิศเหนือ มีอุทยานใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สละทรัพย์ถวายพระพุทธเจ้า มีวิหารใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ณ ที่นี้เองเป็นที่ประทับถาวรของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงแสดงธรรม ณ สถานที่ใดอันเป็นที่เคยประทับของพระพุทธเจ้า เคยเป็นที่ทรงแสดงธรรมก็ดี สถานที่นั้นมีเครื่องหมายไว้ให้เห็นหมด แม้สถานที่ของนางจิญจมาณวิกาก็มีเครื่องหมายแสดงไว้เหมือนกัน ฯลฯ
                            เชตวันวิหารมีชื่อมากในตำนานพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประทับประจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ถึง ๒๔ ฤดูฝน พระธรรมส่วนใหญ่แสดง ณ ที่นี้         ๑๐/ ๖๓๕๘
                ๑๗๗๔. เชตุดร  เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นสีพีหรือสีวิราษฎร์หรือสีวิรัฐ เรื่องนี้มีมาในมหาเวสสันดรชาดก มหานิบาต ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก         ๑๐/ ๖๓๖๓
                ๑๗๗๕. เชตุพน - วัด  มีชื่อเต็มว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่เดิมในสมัยอยุธยาเป็นวัดโพธาราม ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นวัดเก่านี้ ซึ่งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังปรักหักพัง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดใหม่ขยายอาณาเขตกว้างกว่าเดิม พระราชทานนามว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดโพธิ์
                            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.๒๓๗๔ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งและรวบรวมสรรพวิชาทั้งหลาย เช่นตำรายา และตัวอย่างฉันท์ชนิดต่าง ๆ จารึกตามผนังวิหารหรือศาลาในวิหารวัดนี้         ๑๐/ ๖๓๖๔
                ๑๗๗๖. เชน  เป็นชื่อของศาสนาหนึ่งในอินเดีย คำว่าเชนแปลว่าชนะ ได้มาจากคุณศัพท์ ของศาสดาผู้ประกาศ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไชนะหรือชินะ ศาสนาหรือลัทธิของพระชินะ เกิดในประเทศอินเดียก่อนพุทธศักราชประมาณ ๕๗ ปี ผู้ประกาศศาสนามีชื่อตระกูลว่า วรรธมาน ชื่ออันประกาศคุณลักษณะว่า มหาวีระ เป็นเผ่ากษัตริย์ลิจฉวี อุบัติในราชตระกูลเขตกุณฑคาม ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือ
                            เจ้าชายวรรธมานได้รับการศึกษาสมกับเป็นผู้อุบัติในตระกูลกษัตริย์ เชี่ยวชาญในวิทยาการที่ศึกษากันอยู่ในสมัยนั้น เป็นผู้กล้าหาญมาแต่เยาว์ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี กุมารรับพิธียัชโญปวีต (พิธีสวมมงคลแสดงตนเป็นพรหมจารีตามธรรมเนียมพราหมณ์) พระบิดาส่งไปศึกษาอยู่ในสำนักพราหมณาจารย์ มีอุปนิสัยเป็นผู้นิ่งและไม่สงบ เมื่อายุได้ ๑๙ ปี ออกจากสำนักพรหมจารี แต่งงานกับหญิงงามชื่อยโสธา มีธิดาชื่ออโนชา ครองเรือนอยู่จนอายุได้ ๒๘ ปีก็ละจากเรือนไปบำเพ็ญพรต บำเพ็ญทุกรกิริยาย่างกิเลสอยู่ ๑๒ ปี ได้รับความพอใจว่าเป็นผู้ชนะ (ชินะ) แต่มหาชนเรียกมหาวีระ
                            มหาวีระ ท่องเที่ยวสั่งสอนอยู่ในแคว้นโกศล วิเทหะ มคธ อังคะ ตลอดลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือ ดับขันธ์ ณ แห่งใดแห่งหนึ่งในแคว้นพิหาร เมื่ออายุได้ ๗๐ ปี ก่อนดับขันธ์สาวกถามศาสดาว่า บรรดาคำสอนทั้งหมดของพระชินะอะไรเป็นสำคัญที่สุด ศาสดาตอบว่า "อหิงสธรรม สำคัญที่สุดในบรรดาคำสอนของเรา"
                            ศาสดาของศาสนาเชน ในอดีตมีมา ๒๓ องค์ มหาวีระเป็นองค์ที่ ๒๔ และถือเป็นองค์สุดท้าย ศาสดานั้น ๆ เรียกว่า ตีรถังกร แปลว่าผู้กระทำซึ่งท่า (หรือผู้สร้างมรรคา) เชื่อกันว่าตีรถังกรทุกองค์เป็นผู้มีดวงวิญญาณอันสมบูรณ์ บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากเครื่องรึงรัด (ราคะและเทวษ) ประกอบด้วยคุณลักษณะและฤทธิ์สิบอย่าง
                            คำสอนเป็นเบื้องต้นคือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ และความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้นั้นเป็นทุกข์ ความทุกข์สืบเนื่องมาจากความปรารถนา ดังนั้นจึงต้องไม่ปรารถนา กล้า เมื่อละสิ่งนี้เสียได้ก็จะพบความสุขใหญ่แห่งวิญญาณของเขาคือนิรวาณ (หรือนิพพาน ความดับสนิท โมกษะ ความหลุดพ้น)
                            ธรรมที่จะพาถึงนิรวาณได้แก่ แก้วสามดวงคือความเห็นชอบ ความรู้ชอบและความประพฤติชอบ วินัยแยกออกเป็นห้าหัวข้อ (คล้ายศีลห้า) คือ
                            ๑. ไม่เบียดเบียนสัตว์ (อหิงสา) ที่มีชีวิต ด้วยการกระทำใด ๆ
                            ๒. ไม่ลักทรัพย์ของใคร ๆ
                            ๓. ไม่พูดเท็จต่อสัตว์ใด
                            ๔. เป็นอยู่อย่างบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ
                            ๕. ไม่มีความปรารถนากล้า
                            ผู้ใดประพฤติตามบัญญัติเหล่านี้ จะถึงซึ่งความหลุดพ้น
                            เช่นปฏิเสธอำนาจเบื้องบนทุกอย่าง ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อพระเจ้าในศาสนาฮินดู ปฏิเสธพลีกรรม และการสาธยายมนต์ใด ๆ เพื่ออ้อนวอนอำนาจจากเทพเจ้า การโต้เถียงใด ๆ เกี่ยวกับการสร้างโลกก็ปฏิเสธหมด
                            เรื่องของดวงวิญญาณ เช่น สอนว่าวิญญาณทั้งหลายมีอยู่ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สิ่งต่าง ๆ มีวิญญาณสิงสู่อยู่ทั้งสิ้น ดวงวิญญาณของผู้ทำความชั่ว ไม่เพียงแต่ไปเกิดในร่างของสัตว์เท่านั้น ถ้าชั่วมากจะต้องไปเกิด (จับ) อยู่ในต้นไม้ และพันธุ์ผักต่าง ๆ
                            เรื่องสวรรค์นรก ภายใต้พื้นพิภพมีนรกอยู่เก้าขุมเรียงลำดับกันอยู่ตามความหนักแห่งกรรมของผู้กระทำชั่ว ผู้ใดประพฤติชอบ ดวงวิญญาณของผู้นั้นจะลอย (จากที่ต่ำ) ขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งมีอยู่ถึง ๒๖ ชั้น ชั้นสูงสุดของสวรรค์มีทวารเปิดติดต่อกับนิรวาณ หรือโมกษะอันเป็นดินแดนแห่งความหลุดพ้น
                            คำสอนในศาสนาเชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุมกันอยู่ได้จนถึงราว พ.ศ.๕๐๐ เศษ สาวกก็แตกเป็นนิกายใหญ่สองนิกายคือ เศวตัมพร พวกนุ่งขาว และทิคัมพร พวกนุ่งฟ้า (ชีเปลือย)  เมื่อกาลล่วงไป บัญญัติศาสนาก็ฟั่นเฝือไป มีนิกายเล็กน้อยเกิดขึ้นอีกหลายนิกาย แล้วแยกย่อยออกไปอีกรวม ๑๘๐ นิกาย มีการสังคายนาธรรมวินัยของตนครั้งหนึ่งที่กรุงปาฏลีบุตร เมื่อภายหลังศาสดานิพพานได้ ๘๐๐ ปี ได้รวบรวมคำสอนเป็นหมวดหมู่ จัดเป็นแบบเป็นบท อรรถกถา ฎีกา เหมือนในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ของเชนเรียกว่า อังคะ (อาคม) จัดได้ ๑๒ หมวด คัมภีร์เหล่านี้ส่วนมากใช้กันอยู่ในนิกายเศวตัมพร พวกทิคัมพรไม่ค่อยแตะต้อง ภาษาในคัมภีร์ครั้งแรกใช้ภาษามาคธี คัมภีร์เหล่านี้บรรจุคำสอนของศาสดาองค์ก่อนมหาวีระ ๒๓ องค์ด้วย
                            ทรรศนะทางปรัชญาของเชนกำหนดไว้หลายลักษณะ ที่สำคัญมีอยู่สองลักษณะคือ
                            ๑. ปรัชญาเกี่ยวกับอรรถนิยมที่รู้ได้โดยสามัญสำนึก
                            ๒. ปรัชญาเกี่ยวกับพหุนิยมที่รู้กันได้หลายแง่หลายมุม
                            เชนไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำสอนเรื่องอนิจจตา - ความผันแปร และอนัตตา - ความไม่เป็นตัวตน คือความไม่มีในพระพุทธศาสนา แต่ทรรศนะของเชนรับรองเรื่องพิจารณาหาความจริงอันมีอยู่หลายแง่หลายมุมแห่งการพิจารณา เรียกว่า อเนกันตวาท          ๑๐/ ๖๓๖๙
                ๑๗๗๗. เชลย  มีความหมายเป็นสองทางคือ คนและของที่ได้มาจากการทำศึก และของอันไม่เกี่ยวแก่หลวงคือ เป็นธรรมดาสามัญก็เรียกว่า เชลย
                            คำว่าเชลยคงเพิ่งมีใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยหลักฐานในกฎหมายพระไอยการทาสในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (สามพระยา) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๒
                            ประเพณีกวาดต้อนผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวตีเมืองกลิงคราชได้กว่าสองพันปีมาแล้ว พระเจ้าอโศก ฯ ได้กวาดต้อนครัวชาวกลิงคราษฎร์ไปเป็นเชลยในครั้งเดียวกว่าแสนคน          ๑๐/ ๖๓๗๙
                ๑๗๗๘. เชลียง  เป็นชื่อเมืองเก่าแก่ปรากฏชื่อในพงศาวดารและตำนานเก่า ๆ หลายแห่งด้วยกัน
                            สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า เมืองเชลียงเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัยตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า ตรงที่พระปรางค์องค์ใหญ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ถึงสมัยสุโขทัยจะเป็นรัชกาลใดไม่สามารถทราบได้ ให้สร้างเมืองใหม่มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคง สำหรับเป็นราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองเชลียง อยู่ห่างกันราว ๑ กม. ขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองศรีสัชนาลัย         ๑๐/ ๖๓๘๒
                ๑๗๗๙. เชษฐาธิราช - พระ  เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) ในปลายรัชกาล พระองค์ประชวรหนัก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐาธิราช ซึ่งทรงพระเยาว์ พระชนมายุ ๑๔ พรรษาแทนพระศรีศิลป์ราชอนุชาซึ่งลาผนวชอยู่ พระเจ้าทรงธรรมเกรงว่าบรรดาข้าราชการจะไม่พร้อมใจกันสนับสนุนพระเชษฐาธิราช จึงโปรดให้ประชุมข้าราชการ ปรากฏว่าที่ประชุมมีความเห็นแตกกันเป็นสองฝ่าย พระเจ้าทรงธรรมจึงดำรัสสั่งเป็นความลับให้พระยาศรีวรวงศ์เป็นผู้อุปการะพระราชโอรส และให้วางแผนรวบรวมผู้คนไว้ช่วยเหลือพระเชษฐาธิราช ซึ่งปรากฏว่า
    ได้สมัครพรรคพวกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยามาดา นางามาซา ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ได้นำทหารอาสาญี่ปุ่น ๖๐๐ คน มาช่วยพระราชโอรส
                            ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๑๗๑ พระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์แล้วสั่งให้จับเจ้าพระยามหาเสนา กับข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยแต่ก่อน ไปประหารชีวิตเสีย สมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และได้กลายเป็นกำลังในการปกครองบ้านเมือง แต่คงเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง รวบรวมสมัครพรรคพวกคิดชิงพระราชบัลลังก์ ล่อลวงให้พระศรีศิลป์ลาสิกขา เพื่อชิงราชสมบัติจนถูกจับสำเร็จจากนั้นก็ไม่ไว้วางใจออกญาเสนาภิมุข จึงกราบทูลพระเชษฐาธิราชให้แต่งตั้งออกญาเสนาภิมุขเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ทำการขบถ
                            สมเด็จพระเชษฐาธิราชครงอราชย์ได้ ๑ ปี ๗ เดือน ก็ถูกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ คุมพรรคพวกเข้าโจมตีพระราชวัง จับพระองค์ปลงพระชนม์เสีย แล้วมอบราชสมบัติให้แก่ พระอาทิตยวงศ์ ราชอนุชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อไป         ๑๐/ ๖๓๘๗
                ๑๗๘๐. เชอรี่  เป็นชื่อทางกรุงเทพ ฯ เรียกต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีขึ้นตามป่าในเขตหนาว และบนภูเขาสูงในเขตร้อน
                            ในฤดูหนาว เชอรี่จะทิ้งใบหมด และมีดอกออกเป็นกระจุก ๆ ตามรอยแผลใบ ตามปลายกิ่งกลีบดอกสีชมพู หรือสีกุหลาบ ทำให้ดูงดงามมาก
                            ผลเชอรี่เป็นรูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. สีเหลือง แต่ถ้าถูกแดดจัดจะมีสีเข้ม รสเปรี้ยว แกมฝาด บริโภคได้ ต้นเชอรี่บางพันธุ์ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะเวลาออกดอกงดงามมาก เช่นต้นซากุระ หรือเชอรี่ญี่ปุ่น  ใบเชอรี่เป็นใบแบบเดี่ยว ออกสลับกันตามกิ่งรูปโค้งรี ๆ        ๑๐/ ๖๓๙๐
                ๑๗๘๑. เช่า  คือการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นชั่วคราว โดยให้ค่าป่วยการซึ่งเรียกว่า ค่าเช่า การซื้อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปบูชา เช่น เช่าพระ การซื้อโดยผ่อนส่งเงินอย่างวิธีเช่า เมื่อส่งเงินครบตามหนังสือสัญญา แล้วได้กรรมสิทธิ์เรียก เช่าซื้อ
                            คำว่า เช่า ได้มีมานานแล้ว มีปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งได้รวบรวมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ พบว่า พระอายการเบดเสรจได้กล่าวถึงลักษณะเช่า และยืมไว้ รวม ๑๒ มาตรา โดยแยกออกเป็นลักษณะเช่าเสีย ๑๐ มาตรา ซึ่งว่าด้วยการเช่าที่ บ้านเรือน ไร่นา ครั้นเมื่อมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ได้นำมาบัญญัติไว้ในบรรพ ๓ เรียกว่า เช่าทรัพย์ และเช่าซื้อ         ๑๐/ ๖๓๙๑
                ๑๗๘๒. เช่าซื้อ  คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้คราวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย มาตรา ๕๗๒
                            การเช่าซื้อนี้ค่าเช่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้น สัญญาการเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ย่อมเป็นโมฆะเสียเปล่า หนังสือสัญญาต้องลงลายมือชื่อทั้งคู่ ถ้าลงลายมือชื่อแต่ฝ่ายเดียว สัญญาซื้อนั้นย่อมเป็นโมฆะ         ๑๐/ ๖๔๐๕
                ๑๗๘๓. เชาวน์  ในวงจิตวิทยามคำนิยามต่าง ๆ กัน บางท่านกล่าวว่าเป็นความสามารถของบุคคล ที่จะดัดแปลงหรือปรับตนเอง ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ และความสามารถที่จะวิจารณ์ตนเอง
                            เชาวน์ของคนเรานั้น อาจจัดได้โดยการทดสอบเชาวน์ เชาวน์ของแต่ละคนได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม         ๑๐/ ๖๔๐๗
                ๑๗๘๔. เชิงกราน  เป็นกระดูกที่อยู่ในส่วนล่างของลำตัว ตรงบริเวณที่ต่อกับต้นขา เชิงกรานประกอบด้วยกระดูกตะโพกคู่หนึ่ง รวมกับกระดูกเหนือก้นกบ และกระดูกก้นกบ ผิวนอกของเชิงกรานมีเนื้อที่กว้าง สำหรับให้เป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อตะโพก และกล้ามเนื้อต้นขา ภายในเชิงกรานมีโพรงเชิงกราน ในช่องเชิงกรานมีกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนบรรจุอยู่ เชิงกรานจึงมีหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันอันตราย ที่อาจจะเกิดแก่อวัยวะส่วนนี้เหล่านี้ หน้าที่สำคัญของเชิงกรานคือ เป็นฐานรับน้ำหนักตัวส่วนบน เพื่อส่งผ่านไปยังข้อต่อตะโพกทั้งสองข้าง สู่กระดูกต้นขา
                            เชิงกราน เป็นส่วนกระดูกที่แสดงลักษณะแตกต่างระหว่างเพศมากกว่า กระดูกส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เชิงกรานของผู้หญิงนั้น ธรรมชาติได้สร้างไว้ให้เหมาะสำหรับทำหน้าที่ ซึ่งผู้ชายไปไม่ต้องกระทำคือ การตั้งครรภ์และคลอดลูก เชิงกรานของผู้หญิง จึงมีลักษณะต่างจากของผู้ชายหลายประการ         ๑๐/ ๖๔๑๓

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch