|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/37
๑๖๙๔. ชัยวรมัน เป็นพระนามของพระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน ในสมัยโบราณ (ซึ่งต่อมาเขตหนึ่งคือ ประเทศกัมพูชา และเป็นพระนามกษัตริย์เขมรหลายพระองค์
ชัยวรมัน (พ.ศ.๑๐๕๗) เป็นพระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสมัยโบราณ อาณาจักรนี้เจริญขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ มีศูนย์กลางอยู่ที่ราบปากแม่น้ำโขง มีหลักฐานว่า ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน
ชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๓๙๓) เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรเขมรโบราณ ให้มีอิสรภาพจากอำนาจการปกครอง ของราชอาณาจักรไศเลนทร์แห่งชวา พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าแก่ของเขมร ก่อนสมัยพระนคร และเคยประทับในชวามาก่อน
ชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของเขมร ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ต่างชาติ ที่ปกครองเขมรในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนขึ้นครองราชย์ได้ยกกองทัพไปปราบปราม อาณาจักรจัมปาไปจนถึงเมืองวิชัย (บินห์ดินห์)
ในปี พ.ศ.๑๗๒๐ พวกจัมปาได้ยกกำลังทางเรือเข้าจู่โจมเขมร เข้ายึดพระนคร พระองค์ได้รวบรวมกำลังขับไล่พวกจามออกไป แล้วขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๗๒๔ และได้ปราบปรามดินแดนใกล้เคียง ทางทิศตะวันออก และขยายอาณาเขตออกไปทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันตก
พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ได้โปรดให้สร้างศาสนสถานหลายแห่งในนครธม ให้สร้างที่พักคนเดินทาง ๑๒๑ แห่ง โรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง ๑๐/ ๖๑๔๒
๑๖๙๕. ชัยวัฒน์ - พระ เป็นพระพุทธบูชาที่สร้างตามทัศนคติของฝ่ายมหายาน ถือได้ว่าเป็นพระชัยเช่น สมัยโบราณได้นำพระพุทธรูปไว้ประจำที่ยอดธง สำหรับกองทัพที่ออกสนามเรียกกันว่า "พระชัยยอดธง" นอกจากนี้ยังมีพระชัยกองทัพหลวง พระชัยหลังช้าง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระชัยหลังช้างนี้ ไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คู่กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูป มีลักษณะเช่นเดียวกันขึ้นแทนเรียกว่า พระชัยประจำรัชกาล ประดิษฐานไว้ ณ หอพระในพระมหามณเฑียร และสำหรับประดิษฐานในงานพระราชพิธีมงคลต่าง ๆ ในรัชกาลสืบต่อมา จึงได้ถือเป็นราชประเพณี ที่จะต้องหล่อพระชัยประจำรัชกาลขึ้น
พระชัยที่มีคำต่อท้ายว่า "วัฒน์" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เติม "วัฒน์" ต่อท้ายเป็น "พระชัยวัฒน์" เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือตาลปัตร ๑๐/ ๖๑๔๕
๑๖๙๖. ชัยศรี - พระแสงขรรค์ ดูกกุธภัณฑ์ (ลำดับที่ ๕) ๑๐/ ๖๑๕๐
๑๖๙๗. ชัยสิริ เป็นพระนามกษัตริย์ผู้ครองเวียงชัยปราการ องค์ที่สองคือ พระองค์ชัยศิริ เป็นราชโอรสพระองค์พรหมราช ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเวียงชัยปราการ เข้าใจว่าจะประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓ พระองค์ครองราชย์อยู่จนเกิดศึกอันเป็นเหตุต้องเผาเมืองทิ้ง แล้วอพยพผู้คนล่องลงมาทางใต้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๗ ทรงมาสร้างเมืองใหม่ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งที่ตั้งของเมืองนี้มีผู้สันนิษฐานไว้หลายแห่งด้วยกันเช่นที่เมืองกำแพงเพชร เมืองชัยนาท และเมืองนครปฐม
เมืองไตรตรึงษ์ ปัจจุบันอยู่ที่ ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว
กษัตริย์ผู้ครองเมืองไตรตรึงษ์ ต่อมาอีกสี่พระองค์มีระยะเวลา ๑๖๐ ปี และอ้างกันว่าพระองค์ชัยสิริ คือปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เชียงราย ที่ลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ๑๐/ ๖๑๕๐
๑๖๙๘. ชัยสุริยาหรือไชยสุริยา เป็นชื่อตัวพระในวรรณคดีไทยเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นผู้แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แต่งไว้ให้เด็กหัดอ่านหนังสือ กาพย์เรื่องนี้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้นำมาแทรกไว้ในตำราเรียนมูลบทบรรพกิจ ตอนที่ว่าด้วยตัวสะกดในแม่ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนจำง่ายเข้า ๑๐/ ๖๑๕๖
๑๖๙๙. ชา เป็นพันธุ์ไม้ชนิดไม่ทิ้งใบ สูง ๓ - ๕ เมตร พบขึ้นตามป่าดิบบนภูเขาบางแห่งทางภาคเหนือของประเทศไทย และมีชื่อพื้นเมืองว่า "เมี่ยง"
ถิ่นเดิมของต้นชา สันนิษฐานว่า จะอยู่บริเวณยอดน้ำของแม่น้ำอิรวดีแล้วแพร่กระจายเข้าไปทางตอนใต้ของประเทศจีน ทางอัสสัมและแหลมอินโดจีน ชาได้มีผู้นำไปปลูกทั่วโลก ประเทศจีนรู้จักชามาประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชานับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งชนิดหนึ่งของโลก ใบต้นชาเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัะน โคนใบรูปไข่กลับ ดอกออกที่ง่ามใบเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม กลิ่นหอม กลับดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรสีเหลือง ผลสีน้ำตาลแกมเขียว ๑๐/ ๖๑๕๖
๑๗๐๐. ช้า ๑ - เพลง เป็นเพลงในอัตราสองชั้นประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะมีหลาย ๆ เพลง บรรเลงติดต่อกันเรียกว่าเพลงเรื่องเช่น เพลงช้าเต่ากินผักบุ้ง เมื่อบรรเลงเพลงซ้ำแล้ว โดยประเพณีจะต้องบรรเลงเพลงเร็วต่อไป
เพลงช้า เป็นเพลงของปี่พาทย์สำหรับบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร ในกิริยาไปมาอันงดงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยปรกติใช้บรรเลงเฉพาะการไปมาของโขน ละคร ตัวพญา มหากษัตริย์หรือนางพญา
การบรรเลงปี่พาทย์ในพระราชพิธีเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง หรือผู้เป็นประธานของงานนั้นมา ปี่พาทย์ก็จะต้องบรรเลงเพลงช้า จนกว่าจะประทับเรียบร้อย หรือประธานได้นั่งที่เรียบร้อยแล้ว ในกรณีนี้ไม่ต้องบรรเลงเพลงเร็วติดต่อไป
ในงานพิธีที่มีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์หรือฉันภัตตาหาร เวลาพระสงฆ์มาก็ต้องบรรเลงเพลงช้า จนกว่าพระสงฆ์จะเข้านั่งยังอาสนะเรียบร้อย ๑๐/ ๖๑๕๗
๑๗๐๑. ช้า ๒ เป็นชื่อประเภทท่ารำของไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นท่ารำที่เป็นแบบแผน เป็นหัวใจของการร่ายรำ ผู้ที่เริ่มฝึกหัดรำจะต้องรำเพลงช้าก่อนรำท่าใด ๆ เพราะในการร่ายรำเพลงช้า มีท่าต่าง ๆ รวมอยู่เป็นอันมาก ตั้งแต่เทพพนม ปฐม เป็นต้นไป
การรำเพลงช้าในการแสดงโขน ละคร มักจะตัดท่ารำออกเสียบ้าง เหลือไว้พอสมควรแก่เวลาที่ต้องการ แต่การตัดต้องรู้จักปรับปรุงเชื่อมต่อ ทำให้สนิทสนม ๑๐/ ๖๑๕๘
๑๗๐๒. ชากังราว เป็นชื่อเดิมของเมืองกำแพงเพชร ทางฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง เป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีเมืองอยู่ฝั่งตรงข้ามคือ เมืองนครชุม ต่อมาได้รวมเรียกสองเมืองมารวมกันเป็นเมืองกำแพงเพชร
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พงั่ว) ขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงปีเศษ ก็ยกกองทัพไปตีอาณาจักรสุโขทัย ตีได้อาณาเขตตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพไปถึงเมืองชากังราว ซึ่งเป็นด่านใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๖ แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๙ ได้ยกกองทัพไปตีเป็นครั้งที่สอง แต่ก็ยังตีไม่ได้ จึงได้ยกกองทัพไปตีอีกครั้งในปี พ.ศ.๑๙๒๑ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (ไสยลือไทย) เสด็จยกทัพหลวงลงมารักษาเมืองชากังราว แต่สู้ไม่ได้จึงยอมแพ้ อาณาจักรสุโขทัยจึงตกเป็นของประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๑
ชากังราวเป็นเมืองสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ กำแพงเมือง หลักเมือง ศาลพระอิศวร เทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ ตลอดจนพระพุทธรูปที่มีค่าหายาก ๑๐/ ๖๑๕๙
๑๗๐๓. ช้าง เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือ มีจมูกยื่นยาวออกไปมากเรียกว่า งวง ที่ปลายงวงมีจงอยสำหรับหยิบของ มีฟันหน้างอกยาวเรียกว่างา หูใหญ่ คอสั้น ร่างใหญ่ น้ำหนักมาก ช้างในปัจจุบันมีอยู่สองสกุลคือ
๑. ช้างเอเชีย ช้างเมืองไทยอยู่ในสกุลและชนิดนี้ มีหูเล็กกว่าช้างแอฟริกามาก ที่ปลายงวงมีจงอยเดียว งาที่มีขนาดใหญ่เรียกงาปลี งาที่ยาวเรียกว่างาเครือ ช้างตัวผู้ที่มีงายื่นมานอกปาก เรียกว่า ช้างพลาย ช้างตัวผู้บางตัวมีงาเล็ก ๆ ไม่โผล่ออกมานอกปากเรียกว่า ขนาย เรียกว่า ช้างสีดอ ช้างตัวเมียเรียกว่า ช้างพัง มีแต่ขนายไม่โผล่ออกนอกปาก ช้างในเอเชียหลังโค้งขึ้นที่เรียกกันว่า หลังกุ้ง (ช้างแอฟริกาหลังแอ่น) ช้างในเวลานอนมักชอบยืนหลับ
ช้างในเอเชียไม่ชอบความร้อน สู้แดดไม่ใคร่ได้ชอบอยู่แต่ในที่ร่ม ชอบอาบน้ำ และปลักโคลน เพื่อความเย็นและกันแมลงต่าง ๆ รบกวน
ช้างชอบอยู่เป็นฝูง ฝูงช้างเรียกว่า โขลง ในโขลงหนึ่งมีช้างจ่าฝูงเป็นตัวที่จะผสมพันธุ์กับตัวเมียทั้งหมดในฝูง ช้างตัวผู้เมื่อมีอายุมากมักเบื่อฝูง ชอบออกไปอยู่เดี่ยวเรียกว่า ช้างโทน
๒. ช้างแอฟริกา จะมีจะงอยสองอันที่ปลายงวง ช้างตัวเมียก็มีงายาว แต่งามักตรงและเรียว ไม่ใหญ่อย่างงาตัวผู้ หูใหญ่กว่าช้างเอเชีย ๓ - ๔ เท่า หัวหลิม หลังแอ่น เลี้ยงเชื่องยาก ๑๐/ ๖๑๖๐
๑๗๐๔. ช้างน้าว เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรงมีกิ่งสาขามาก ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่งแก่ ผลกลมรี สุกสีดำ ทางจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เปลือกเคี้ยวกับหมาก แทนสีเสียด ใบเดี่ยวรูปรี ๆ เรียงสลับกัน หน้า ๖๑๖๕
๑๗๐๕. ช้างน้ำ เป็นชื่อสัตว์ในวรรณคดีไทย มีรูปร่างลักษณะอย่างช้าง แต่หางมีรูปอย่างปลา ๑๐/ ๖๑๖๕
๑๗๐๖. ช้างเผือก ๑ ช้างเผือกต้องมีลักษณะเจ็ดสี ได้แก่ ขาว เหลือง เขียว แดง ดำ ม่วง และเมฆ และต้องประกอบด้วยคชลักษณอื่น ๆ อีก เช่น ตา เพดาน อัณฑโกศ เล็บ ขน คางใน (ร่องผิวหนัง) ไรเล็บ สนับงา ช่องแมลงภู่ อย่างไรก็ตามยังไม่เรียกว่า ช้างเผือก เรียกว่า ช้างสำคัญ ต่อเมื่อได้ตรวจคชลักษณ์ต้องตามตำรา
ลักษณะช้างเผือกในตำราคชลักษณ์ ได้แก่ ตระกูลชาติพงศ์พรหม ตระกูลชาติอิศวรพงศ์ ตระกูลชาติพิษณุพงศ์ ตระกูลชาติอัคคิพงศ์ ๑๐/ ๖๑๗๐
๑๗๐๗. ช้างเผือก ๒ - สงคราม เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ นับเป็นสงครามครั้งที่สามระหว่างไทยกับพม่า เนื่องจากพม่าทราบกิตติศัพท์ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงมีช้างเผือกอยู่เจ็ดเชือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ขอช้างเผือกสองเชือก ฝ่ายไทยมีความเห็นแตกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายข้างมากเห็นว่าควรประทานให้ ฝ่ายข้างน้อยเห็นว่าไม่ควร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงเห็นชอบกับฝ่ายหลัง ไม่ยอมประทานช้างเผือก
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทราบเรื่องจึงยกกองทัพตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ชัยชนะ มาจนถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วล้อมกรุงไว้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงยอมเป็นไมตรี ทำให้ไทยต้องเสียช้างเผือกไปสี่เชือก กับต้องส่งพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงครามไปเมืองหงสาวดี กับต้องส่งส่วยช้างให้พม่าปีละ ๓๐ เชือก เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง และต้องยอมยกผลประโยชน์ภาษีอากร ที่เก็บได้ในเมืองมะริดให้แก่พม่าด้วย ๑๐/ ๖๑๗๒
๑๗๐๘. ช้างเผือก ๓ เป็นชื่อเรียกกล้วยไม้ ที่มีดอกสีขาว กลิ่นหอมชนิดหนึ่งทางวิชาการถือว่าเป็นพันธุ์หนึ่งของช้างดำ หรือช้างกระ เป็นกล้วยไม้ที่มีความเจริญทางตั้ง ดอกบานในเดือนธันวาคม ถึงมกราคมใบอวบหนารูปรางน้ำ ๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๐๙. ช้างเผือก ๔ เป็นพระนามหนึ่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรียกกันว่า พระเจ้าช้างเผือก ๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๐. ช้างเผือก ๕ เป็นชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทหนึ่ง เรียกเต็มว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (ดูเครื่องราชอิสริยาภรณ์ - ลำดับที่ ๑๑๑) ๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๑. ช้างร้องไห้ เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ประเภทหมากชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ลำต้นขนาดต้นมะพร้าว ใบใหญ่คล้ายใบตาล พบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบทางภาคใต้ ๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๒. ช้างแห เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๑๕ เมตร ดอกเล็กออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ผลผิวแข็งเป็นปุ่มขรุขระ มีห้าพู มีขนแข็งสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ขนนี้เป็นพิษทำให้เกิดการระคายเคือง ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรวมเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ๑๐/ ๖๑๗๖
๑๗๑๓. ชาด คำนี้เดิมทีเดียวเห็นจะมุ่งถึงลักษณะของสีหนึ่งคือ สีแดงสด ของที่เอามาทำเป็นชาด เดิมเห็นจะใช้สีดินแดง อันเป็นของในเมืองไทย แล้วมีดินแดงเข้ามาจากอินเดียเรียกว่า ดินแดงเทศ แล้วมีชาดมาจากเมืองจีน และมีสีแดงอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เสน มาจากเมืองจีนเหมือนกัน ๑๐/ ๖๑๗๖
๑๗๑๔. ชาดก คำว่า ชาดก แปลว่า กล่าวถึงสิ่งที่เกิดมาแล้ว หมายความว่า แสดงนิทานประกอบสุภาษิต มีคำนิยามว่า เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ชาดก
คัมภีร์ชาดก มีมาในพระไตรปิฎก ส่วนพระสูตร หรือพระสุตตันตปิฎก เป็นส่วนหนึ่งในเก้าส่วนที่เรียกว่า นวังคสัตถศาสตร์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีองค์เก้า และเป็นคัมภีร์ ๑ ใน ๑๕ คัมภีร์ ขุทกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เรียกกันว่า ชาดกปกรณ์ บ้าง นิบาตชาดก บ้าง มีจำนวนนิทานชาดกถึง ๕๕๐ เรื่อง แบ่งเป็นนิบาตได้ ๒๑ คัมภีร์ รวมคัมภีร์ทศชาติด้วยเป็น ๒๒ คัมภีร์ ท่านจัดนิทานที่มีคาถาเดียวไปจนถึง ๘๐ คาถา รวมไว้เป็นเป็นหมวดเรียกตามจำนวนของคาถา พวกที่มีคาถาเดียว เรียกว่า เอกนิบาต ที่มีสองคาถาเรียกว่า ทุกนิบาต ที่มีสามคาถาเรียกว่า ติกนิบาต ตามลำดับไปจนถึงเตรสนิบาต คือมี ๑๓ คาถา แล้วหยุดลง ต่อจากนี้เป็นหมวดเบ็ดเตล็ด เรียกว่า ปกิณกนิบาต แล้วไปตั้งเอาใหม่อีก ตั้งแต่วิสตินิบาต เป็นลำดับไปจนถึงอสีตินิบาต ต่อจากนั้นก็เป็นมหานิบาต คือ เรื่องทศชาติ ๑๐/ ๖๑๗๘
๑๗๑๕. ชาดกมาลา เป็นหนังสือชาดกทางฝ่ายมหายาน แต่งเป็นกวีพากย์ ภาษาสันสกฤต ที่ดีเยี่ยมมีอยู่ ๓๔ เรื่อง น่าเชื่อว่าชาดกมาลาแต่งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เพราะปรากฎมีผู้พบโศลกในชาดกนี้ จารึกที่ผนังถ้ำอชันตา และหลวงจีนอี้จิงก็ยังได้อ้างว่า ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวในประเทศอินเดียรู้จักชาดกมาลา กันแล้วเป็นอย่างดี ๑๐/ ๖๑๘๖
๑๗๑๖. ชาตรี ๑ - ละคร เป็นชื่อที่ชาวไทยภาคกลางเรียกละครแบบหนึ่ง ที่ชาวภาคใต้เรียกว่า โนราห์ ซึ่งเป็นละครแบบโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน แต่เดิมมีตัวละครเพียงสามตัวคือ ตัวยืนเครื่อง ซึ่งเป็นตัวนายโรง แต่งเครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ ๑ ตัวนาง ๑ และตัวตลก สามารถเป็นตัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ตามต้องการ
ละครโนราห์ ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี หรือบางทีก็เรียกรวมว่า โนราห์ชาตรี การเรียกว่า ชาตรี กล่าวกันว่า เนื่องจากละครแบบนี้ แสดงแต่เรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ชาวอินเดียเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า กษัตริย์ แล้วเลื่อนไปเป็นฉัตรัย ไทยเราเรียกตามสำเนียงนี้เป็น ชาตรี ๑๐/ ๖๑๘๘
๑๗๑๗. ชาตรี ๒ - เพลง เป็นชื่อเพลงดนตรี และเพลงร้อง เช่น เพลงตลุง เป็นเพลงที่บรรเลงรวมอยู่ในชุดออกภาษา แต่บางกรณีก็นำมาเป็นเพลงร้อง ๑๐/ ๖๑๙๔
๑๗๑๘. ชาติ หมายถึง กลุ่มคนที่มีความรู้สึกเป็นปึกแผ่น และมีความจงรักภักดีร่วมกัน ปัจจุบันคำว่าชาติมีความหมายตรงกับคำว่ารัฐ หรือประชาชนที่เป็นพลเมืองของรัฐประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันถือว่ามีลักษณะเป็นชาติ - รัฐ
ความคิดเรื่อง "ชาติ" แพร่หลายเป็นครั้งแรกในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ แนวความคิดนี้ได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป หลังจากนั้นได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกาและทวีปอื่น ๆ ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นพลังดลใจให้เกิดขบวนการชาตินิยมขึ้นในประเทศต่าง ๆ ๑๐/ ๖๑๙๔
๑๗๑๙. ชาน เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชนที่พูดภาษาไทยทั่ว ๆ ไป นอกจากไทยสยาม (ดูฉาน - ลำดับที่ ๑๕๖๔) ๑๐/ ๖๒๐๐
๑๗๒๐. ชานุมาน อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี เดิมเป็นหมู่บ้านเรียกว่า บ้านยักขุ โปรดให้ยกเป็นเมืองชานุมานมณฑล แล้วยุบเป็น อ.คำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราฐบุรี ครั้นยุบเป็น อ.เขมราฐ จึงยุบ อ.คำเขื่อนแก้ว เป็นกิ่ง อ.ชานุมาน ขึ้น อ.เขมราฐ และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ๑๐/ ๖๒๐๐
๑๗๒๑. ช้าปี่ - เพลง เป็นเพลงสำหรับร้องโขนละคร เมื่อร้องทำนองเพลงช้า และบรรเลงรับด้วยเพลงปี่จึงเรียกว่า เพลงช้าปี่ มีอยู่สองเพลง มีทำนองคล้ายคลึงกัน เพลงหนึ่งสำหรับร้องและบรรเลงประกอบการแสดงละครนอก เรียกว่า "ช้าปี่นอก" อีกเพลงหนึ่งสำหรับร้องและบรรเลงในการแสดงละครในหรือโขนเรียกว่าเพลง "ช้าปี่ใน" ๑๐/ ๖๒๐๐
๑๗๒๒. ช้าปี่ไหน, ชาปี่ไฉน - นก เป็นชื่อหนึ่งของนกกะดง นกนี้โดยทั่วไปมีสีเขียว เขียวแกมเหลือง หรือทองแดง นกกะดงนี้จับได้บนเกาะพีพีดอน และบนเกาะใกล้เคียงจังหวัดตรัง
นกนี้ถ้าถือเอาคำชื่อนกพิราบนิโคบาร์แล้ว เข้าใจว่าเป็นนกที่อาศัยอยู่เกาะนิโคบาร์ ๑๐/ ๖๒๐๑
๑๗๒๓. ชามพวัต, ชามพวาน เป็นจอมหมี ในรามายณะกล่าวว่าได้ยกกองทัพหมีไปช่วยพระรามตีกรุงลงกา และได้เป็นที่ปรึกษาพระรามในการศึกครั้งนี้ด้วย ๑๐/ ๖๒๐๓
๑๗๒๔. ชามภูวราช เป็นพญาวานร มีอีกชื่อว่า นิลเกสร เป็นผู้แนะนำพระรามให้จองถนนข้ามไปกรุงลงกา เมื่ออินทรชิตทำพิธีชุบศรนาคบาศ ชามภูวราชได้แปลงตนเป็นหมีไปทำลายพิธี เมื่อเสร็จสงครามแล้วมีความชอบได้ตำแหน่งอุปราชปางตาล ๑๐/ ๖๒๐๔
๑๗๒๕. ชานามิสม์ เป็นลัทธิศาสนาดึกดำบรรพ์ของคนทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชียและยุโรป คนเหล่านี้เชื่อว่ามนุษย์จะชั่ว หรือดีขึ้นอยู่กับอำนาจลึกลับของพระเจ้า ปีศาจและผีบรรพบุรุษ ๑๐/ ๖๒๐๖
๑๗๒๖. ชายธง - งู เป็นงูทะเลชนิดหนึ่ง มีอยู่ในอ่าวไทยและทั้งสองฝั่งแหลมมลายูจนถึงอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้
งูมีพิษต่อศูนย์ประสาททำให้เม็ดโลหิตแดงแตก ผู้ที่ถูกกัดถ้าได้รับพิษมากอาจถึงตายได้ ๑๐/ ๖๒๐๖
๑๗๒๗. ชายผ้าสีดา เป็นเฟินชนิดหนึ่งที่พบในประเทศไทย มีสองชนิดลักษณะคล้ายกัน เป็นเฟินที่งอกในอากาศแบบเดียวกับกล้วยไม้เป็นเฟินที่สวยงามแปลกตาชนิดหนึ่ง ใช้เป็นไม้ประดับได้ดี บางแห่งใช้เข้ายาสมุนไพร ๑๐/ ๖๒๐๗
๑๗๒๘. ชายไหวชายแครง เป็นเครื่องแต่งองค์ส่วนหนึ่งในเครื่องต้นของกษัตริย์ และเครื่องแต่งกายโขนละคร ซึ่งเลียนแบบมาจากเครื่องทรงของกษัตริย์ ชายไหวกับชายแครงเป็นคนละชิ้นห้อยอยู่ข้างหน้าใต้เจียระบาด และรัดพระองค์ (เข็มขัด) ลงไป ๑๐/ ๖๒๐๙
๑๗๒๙. ช้าเรือด, ช้าเลือด เป็นพันธุ์ไม้เถา ชอบขึ้นเลื้อยอยู่ตามชายป่าละเมาะทั่วไป เถามีหนามมากใบเป็นฝอยคล้ายใบมะขาม ดอกเป็นช่อสีเหลือง มีฝัก ทั้งใบและดอกมีกลิ่นเหม็นฉุน ๑๐/ ๒๖๒๑
๑๗๓๐. ชาลี เป็นชื่อพระโอรสในพระนางมัทรีกับพระเวสสันดร ผู้ครองกรุงเชตุดร แคว้นสีพี มีพระน้องนางชื่อพระกัณหาชินา เมื่อพระเวสสันดรถูกเนรเทศ เนื่องจากชาวเมืองไม่พอใจที่ได้พระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคฎร์ เพื่อทรงบำบัดทุพภิกขภัยคือ ข้าวยากหมากแพงของแคว้นนั้น พระนางมัทรี พระชาลี พระกัณหา ขอตามเสด็จด้วยไปอยู่เขาวงกต อยู่มาได้ระยะหนึ่ง ชูชกพราหมณ์เฒ่ามาทูลขอสองกุมารไปเป็นคนใช้ พระเวสสันดรก็ยกให้ ชูชกพาสองกุมารหลงไปถึงกรุงเชตุดร พระเจ้ากรุงสญชัยทรงไถ่สองกุมารจากชูชก ชาวเมืองรู้ความแล้วก็ขอให้ไปรับพระเวสสันดร กับพระนางมัทรีกลับพระนคร
พระชาลีกลับชาติมาเกิดเป็นพระราหุล พระกัณหาชินากลับชาติมาเกิดเป็นนางอุบลวัณณา ๑๐/ ๒๖๒๑
๑๗๓๑. ชาวน้ำ เป็นชื่อชนพื้นเมืองเดิมพวกหนึ่งของมลายูที่ยังเหลืออยู่โดยไม่กลายเป็นมลายูไป ชนพวกนี้อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายู ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ก่อนชาวมลายู แบ่งออกเป็นสองพวกคือ โอรังบุกิด (คนเขา) และโอรังละอุด (คนทะเล)
สมัยก่อน พวกชาวน้ำอาศัยอยู่ในเรือ บางคราวก็ขึ้นมาพักแรมบนชายหาดในเพิงชั่วคราว ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนได้ตั้งหลักแหล่งเป็นหมู่บ้านตามชายทะเลขึ้น
พวกชาวน้ำชอบท่องเที่ยวขึ้นล่องตามชายฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายู ตามกลุ่มเกาะมะริด และรอบฝั่งภูเก็ตลงไปจนถึงเกาะสิงคโปร์ และยังแบ่งออกเป็นครอบครัวมีชื่อตามลำงาว และปากน้ำที่อาศัย มีภาษาของตนเองแต่ก็สูญไปอย่างรวดเร็ว ตามที่บันทึกมากล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับจาม ๑๐/ ๖๒๒๔
|
Update : 25/5/2554
|
|