หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/33
     ๑๕๖๓. ฉลองพระองค์ - พระพุทธปฏิมากร  หมายถึง พระพุทธรูปเท่าพระองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์         ๙/ ๕๗๘๑
                         เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น (ดูเครื่องต้นประกอบ - ลำดับที่ ๑๑๐๓) ประดับเนาวรัตน์ในอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์เป็นกิริยาห้าม ซึ่งเรียกกันว่า ปางห้ามสมุทร
                         พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ในกรุงรัตนโกสินทร์มีอยู่เพียงสิบองค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานมุมพระเบญจาที่ตั้งบุษบก ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
                         ประเพณีการหล่อพระเท่าพระองค์หรือพระเท่าตัวนั้นมีมาแต่โบราณ  บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และราษฎรที่มีฐานะมักนิยมหล่อพระเท่าพระองค์ หรือเท่าตัวไว้ให้บุตรหลาน และผู้ที่เคารพนับถือได้บูชาเป็นเครื่องระลึกถึง เมื่อตัวผู้เป็นเจ้าของล่วงลับไปแล้ว
                         หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แล้ว ในรัชสมัยต่อมาไม่ปรากฏว่าได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ขึ้นอีก
                         การสร้างพระเท่าตัวนั้นจะสร้างเป็นพระปางใดก็ได้ไม่จำกัด แต่พระที่สร้างเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์นั้นสร้างเป็น พระปางห้ามสมุทรแบบเดียวกันหมด
                ๑๕๖๔.  ฉลอม - เรือ  เป็นเรือต่อชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันตามจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามฝั่งทะเล โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร มีตำบลอยู่ตำบลหนึ่งเรียก ตำบลท่าฉลอม         ๙/ ๕๗๘๗
                        เรือฉลอมเป็นทั้งเรือหาปลา เรือบรรทุกและเรือสินค้า  ถ้าบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ทางการอาจเกณฑ์เอาไปใช้เป็นเรือรบด้วยก็ได้
                        เรือฉลอมเป็นเรือที่ต่อขึ้นด้วยการเอาตัวไม้ เช่น กระดูกงู กง กราบ เป็นต้น ประกอบกันเข้าเป็นลำเรือ ไม่ใช่เรือขุดอย่างภาคเหนือ เรือฉลอมโดยปรกติติดใบเพื่อให้เรือแล่น แต่ก็มีบางลำติดแจวหรือกรรเชียงได้ด้วยเพื่อใช้ในโอกาสที่แล่นเข้าไปในแม่น้ำลำคลอง และในเวลาที่ไม่มีลม
                ๑๕๖๕. ฉลาม - ปลา  เป็นปลากระดูกอ่อน รูปร่างค่อนข้างกลม และเพรียวลม ว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว และว่องไวมาก ในเมืองไทยมีฉลามหลายสกุลหลายชนิด แบ่งออกได้เป็นสี่วงศ์คือ ฉลามหิน ฉลามปลาวาฬ ฉลามหนู และฉลามหัวค้อน         ๙/ ๕๗๙๑
                ๑๕๖๖. ฉวาง ๑  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศทางตะวันออกเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ทางตะวันตกเป็นโคกสลับแอ่งเหมาะแก่การทำสวนยาง         ๙/ ๕๗๙๒
                ๑๕๖๗. ฉวาง ๒  เป็นวิชาเลขชั้นสูงของโบราณ มีสองอย่างคือ ฉวางเชิงชัก และฉวางเกร็ด ที่เรียกว่าฉวางนั้นเพราะตั้งแต่สามจำพวกขึ้นไป ฉวางเชิงชักนั้นต้องพร้อมด้วยวิธีเจ็ดอย่างคือ จำพวก จำบัง ฉวาง นิกร พยุหร ทรัพย์ พรรนก  ส่วนฉวางเกร็ดน้นมีไม่ครบทั้งเจ็ดวิธี         ๙/ ๕๗๙๔
                ๑๕๖๘. ฉะ  เป็นชื่อท่ารำตอนหนึ่งของการแสดงโขนเฉพาะยักษ์กับลิง ท่ารำที่เรียกว่า "ฉะ" นี้อยู่ในแม่ท่าคือท่าที่เป็นแบบฉบับ แยกออกเป็นสองลักษณะคือ ฉะใหญ่กับฉะน้อย
                        ท่าฉะใหญ่และฉะน้อยนี้ นอกจากจะอยู่ในแม่ท่าแล้ว ยังนำมาใช้รำในเพลงเชิด และเพลงปฐมได้ทั้งยักษ์และลิง ท่าฉะใหญ่นั้นสำหรับเวลาที่ดนตรีดำเนินจังหวะช้า ส่วนท่าฉะน้อยนั้นสำหรับรำเวลาที่ดนตรีดำเนินจังหวะเร็ว         ๙/ ๕๗๙๗
                ๑๕๖๙. ฉะเชิงเทรา  จังหวัดภาคกลาง สามัญเรียกว่า แปดริ้ว มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจด จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี  ทิศใต้จด จ.ชลบุรี ระยองและตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจด จ.พระนคร และ จ.สมุทรปราการ
                        ฉะเชิงเทราตั้งเป็นเมืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยารัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นที่ระดมพลในเวลาสงคราม เคยเป็นที่ตั้งศาลาว่าการมณฑลปราจีน
                        ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม โดยมากมีป่าและเขาจำนวนน้อย        ๙/ ๕๗๙๘
                ๑๕๗๐. ฉะหน้าโรง  เป็นการร้องเพลงฉ่อย หรือเพลงทรงเครื่องในตอนเบิกโรง ซึ่งโดยประเพณีแล้วจะต้องเริ่มด้วยการไหว้ครูคือ ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง จะออกมาร้องไหว้คุณพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ ตลอดจนคุณบิดามารดาเสียก่อน เมื่อจบแล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงสาธุการ จบแล้วพ่อเพลง (หัวหน้าฝ่ายชาย) ก็จะเริ่มร้องเป็นการประเดิมเบิกโรง ตอนนี้แหละที่เรียกว่า ฉะหน้าโรง การว่าเพลงกันในตอนนี้ ผู้ชายจะร้องเชิญชวนจนฝ่ายหญิงออกมาร่วมร้องด้วย แล้วก็ร้องเกี้ยวพาราสีกัน และว่ากันเจ็บ ๆ แสบ ๆ         ๙/ ๕๘๐๑
                ๑๕๗๑. ฉัตร  ๑ - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้หลายชนิดได้แก่ฉัตรทอง ฉัตรพระอินทร์ ฉัตรสามชั้น เป็นต้น         ๙/ ๕๘๐๓
                ๑๕๗๒. ฉัตร ๒  เป็นเครื่องสูงสำหรับแขวน ปักตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ ฉัตรไม่ว่าจะกี่ชั้นก็ตาม เป็นของตัวเองหนึ่งชั้น นอกนั้นจะมีซ้อนกันอยู่ที่ชั้น ก็หมายความว่าเป็นผู้ชนะกี่ทิศ เช่น ฉัตรสามชั้น หมายถึงผู้ชนะในสองทัพ  ฉัตรเก้าชั้นหมายถึงผู้ชนะในแปดทิศ
                        คนไทยจะใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศแต่ครั้งใดไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ในสมัยอยุธยาได้มีการใช้ฉัตรเป็นเครื่องหมายประกอบเกียรติยศ มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เพราะมีข้อความในกฎมณเฑียรบาลฉบับที่ตราขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๑ กำหนดไว้ว่า "หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้อภิรมสามชั้น พระอุปราชได้อภิรมสองชั้น"
                        ฉัตรมีอยู่สองประเภทคือ เป็นฉัตรแขวนหรือปักเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศ ผู้ทรงฉัตรประเภทหนึ่ง เป็นฉัตรตั้งในพิธีหรือเชิญไปในขบวนแห่ เพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศอีกประเภทหนึ่ง ฉัตรสำหรับแขวนหรือปัก เป็นฉัตรเดี่ยวมีอยู่สี่ชนิดคือ เศวตฉัตร (ฉัตรขาว)  ฉัตรขาวลายทอง ฉัตรตาด และฉัตรโหมด ทั้งหมดเป็นฉัตรเตี้ย ใช้แขวนหรือปักเดี่ยววทั้งสิ้น เว้นพระมหาเศตวฉัตรที่ถวายในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติ บรมราชาภิเษกเท่านั้น ที่เป็นฉัตรทรงชะลูด ฉัตรแต่ละชนิดมีชั้นมีสี และใช้สำหรับแสดงอิสริยยศต่างกันคือ
                        ๑. เศวตฉัตร  เป็นฉัตรผ้าขาวทรงกว้างมีสี่แบบคือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรเก้าชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก ตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว เรียกกันโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร พระสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรเจ็ดชั้น สำหรับพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช เบญจปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรห้าชั้น สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า พระมเหสีชั้นพระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ กับสกลมหาสังฆปรินายก ที่ได้รับสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
                        ๒. ฉัตรขาวลายทอง  เป็นฉัตรห้าชั้น พื้นขาวเขียนลายทองห้อยจำปาทอง เป็นฉัตรสำหรับพระบรมราชวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้าที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม ชั้นสมเด็จกรมพระยา
                        ๓. ฉัตรตาด  มีสองแบบคือ ฉัตรตาดขาวห้าชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ ที่ดำรงพระยศพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมพระ
                        ฉัตรตาดเหลืองห้าชั้น  สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระยศ พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหลวง กับเป็นฉัตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
                        ๔. ฉัตรโหมด  มีห้าแบบคือ ฉัตรโหมดขาวห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมขุน ฉัตรโหมดเหลืองห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหมื่น ฉัตรโหมดทองห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าแต่มิได้ทรงกรม ฉัตรโหมดเงินสามชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดา ในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม ฉัตรโหมดทองสามชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่มิได้ทรงกรม
                        สำหรับฉัตรตั้งในพิธี หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีอยู่หกชนิดคือ
                        ๑. พระมหาเศวตฉัตรกรรภิรมย์  เป็นฉัตรห้าชั้น สำรับหนึ่งมีสามองค์คือ พระเสนาธิปัตย พระฉัตรไชย พระเกาวพ่าห์ (ดูก กรรภิรมย์ - ลำดับที่ ๔๘)
                        ๒. พระอภิรุมชุมสาย  เป็นฉัตรเครื่องสูง สำหรับใช้ในกระบวนแห่ หรือสวมฐานตั้งเป็นเกียรติยศ ประจำสถานที่หรือเฉพาะงาน สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตรเจ็ดชั้น ๔  ฉัตรห้าชั้น ๑๐  ฉัตรชุมสาย ๕
                        อภิรุมชุมสายนี้ มีสองแบบคือ แบบปักหักทองขวางแบบหนึ่ง และแบบลายทองแผ่ลวดอีกแบบหนึ่ง
                        ๓. ฉัตรเครื่องสูงวังหน้า  เป็นเครื่องสูงสำหรับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวร ฯ และ พระราชโอรส - ธิดา สำรับหนึ่งมีฉัตรห้าชั้น ๔ และฉัตรสามชั้น ๑๐
                        ๔. ฉัตรเครื่อง  เป็นฉัตรห้าชั้น ใช้สำหรับศพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ศพผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาสุพรรณบัฎ หรือหิรัญบัฎ องคมนตรี ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ที่ถึงอสัญกรรมในตำแหน่ง
                        ๕. ฉัตรเบญจา  เป็นฉัตรห้าชั้น ใช้สำหรับการศพพระราชวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่ำกว่า ทุติยจุลจอมกล้าวิเศษลงมา พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ แต่พระราชาคณะชั้นธรรม ถึงพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง และผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป แต่ไม่ถึงปฐมจุลจอมเกล้า รวมทั้งบิดามารดาของผู้กำลังดำรงตำแหน่งองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา ฯ และประธานศาลฎีกา ด้วย
                        ๖. ฉัตรราชวัติ  คำว่า ราชวัติ หมายถึง รั้วที่มีฉัตรปักเป็นระยะ ใช้ฉัตรสีต่าง ๆ อันเป็นแม่สี  ซึ่งเรียกกันว่า เบญจรงค์ และฉัตรเงิน ทอง นาค ชั้นของฉัตรสุดแล้วแต่งาน          ๙/ ๕๘๐๓
                ๑๕๗๓. ฉัตรมงคล - พระราชพิธี  เรียกเป็นเฉพาะว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เรียกวันทำพระราชพิธีนั้นว่า วันฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีที่กำหนดให้มีขึ้น โดยถือวันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละรัชกาลอันถือว่าเป็นวันมหามงคลสมัย
                         พระราชพิธีฉัตรมงคลนี้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่สี่ ซึ่งเดิมเป็นเพียงการสมโภชเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่         ๙/ ๕๘๑๕
                ๑๕๗๔. ฉัททันต์ ๑  เป็นชื่อสระใหญ่สระหนึ่งในจำนวนเจ็ดสระ ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำใหญ่ทั้งห้าสาย ในประเทศอินเดียคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี          ๙/ ๕๘๒๐
                ๑๕๗๕. ฉัททันต์ ๒  เป็นชื่อตระกูลช้างสำคัญตระกูลหนึ่งในจำนวนสิบตระกูล ในช้างสิบตระกูลนี้ ตระกูลฉัททันต์และตระกูลอุโบสถ ได้รับการยกย่องว่าเป็นตระกูลชั้นสูง "ช้างอาชาไนย" คือ ช้างที่ได้รับยกย่องว่า มีกำเนิดดี แสนรู้ ฝึกหัดได้ง่ายนั้น ย่อมเกิดจากสองตระกูลนี้เท่านั้น
                         ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา บำเพ็ญบารมี เพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้เคยเกิดในตระกูลช้างฉัททันต์นี้ (ดู ฉัททันต์ ๓ - ลำดับที่ ๑๕๖๐)         ๙/ ๕๘๒๔
                ๑๕๗๖. ฉัททันต์ ๓  เป็นชื่อช้างโพธิสัตว์เชือกหนึ่ง เกิดในตระกูลช้างฉัททันต์ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณสระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ ได้เป็นจ่าฝูงช้าง ช้างบริวารสืบต่อจากพ่อ พระยาช้างมีนางพระยาช้างพัง สองเชือกเป็นคู่ครองชื่อ มหาสุภัททา และจุลสุภัททา ต่อมานางช้างจุลสุภัททา หาว่าพระยาช้างฉัททันต์ลำเอียงรักนางพระยาช้างมหาสุภัททามากกว่าตน จึงตั้งความอาฆาตไว้ว่า เมื่อใดตนมีโอกาสจะขอแก้แค้นให้สาสม
                         ต่อมาเมื่อพระโพธิสัตว์ปรุงผลมะซาง และเผือกมันด้วยน้ำผึ้ง ถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้า จำนวน ๕๐๐ องค์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่บริเวณสระฉัททันต์นั้น ครั้งนั้น นางพระยาช้างจุลสุภัททาก็ได้ปรุงผลไม้ถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้าด้วย แล้วได้อธิษฐานขอให้ไปเกิดในราชตระกูลมัทราช มีนามว่า สุภัททา เมื่อเจริญวัยแล้ว ขอให้ได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าพาราณสี จนได้มีโอกาสล้างแค้นพระยาช้างฉัททันต์ได้สำเร็จ
                         ด้วยแรงอธิษฐานนั้น เมื่อนางตายไปก็ได้ไปเกิดในราชตระกูลมัทราช และได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี สมตามที่ได้อธิษฐานไว้ พระนางได้ทรงเลือกนายพรานชื่อ โสณุตตระ มาบอกอุบายวิธีที่จะจับพระยาช้าง ตลอดจนทางที่จะไปยังสระฉัททันต์ นายพรานทำตามที่พระนางรับสั่ง ได้พบพระยาช้าง และได้ใช้หน้าไม้อาบยาพิษยิงทันที พระยาช้างเห็นนายพรานมีจีวรหุ้มกาย จึงไม่กล้าทำร้ายเพราะมีความเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก และเมื่อพระยาช้างทราบเรื่องจากนายพรานว่า ต้องการงาจึงยอมให้ตัดงาของตน และยังใช้งวงจับเลื่อย ช่วยตัดจนสำเร็จ พระยาช้างก็สิ้นชีวิต เมื่อนายพรานเอางาไปถวายพระนาง เมื่อพระนางทราบว่า พระยาช้างฉัททันต์สิ้นชีวิต ก็เศร้าโศกเสียพระทัย และได้สวรรคตในคืนนั้นเอง         ๙/ ๕๘๒๖

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch