|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/30
๑๔๘๖. เจดีย์ ๑ กล่าวโดยทั่วไปตามความเข้าใจเป็นสามัญหมายถึงสิ่งที่ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปคล้ายจอมฟางมียอดแหลม บรรจุพระธาตุและอัฐิ และสิ่งอื่น ๆ ของพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ เรียกซ้อนว่าอัฐิธาตุ ก็มีอัฐิของพระพุทธเจ้านั้นเรียกกันสามอย่างคือ พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนั้นยังมีส่วนที่เป็นพิเศษของพระพุทธเจ้า ที่เรียกโดยมีคำว่าธาตุต่อท้ายอีก เช่น พระเกศธาตุ พระทันตธาตุ เป็นต้น
พระเจดีย์ที่บรรจุพระมหาธาตุเรียกกันว่า พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งมักเป็นพระเจดีย์ใหญ่เป็นประธานของพระเจดีย์ที่อยู่ด้วยกัน และวัดที่มีเจดีย์แบบนี้เรียกกันว่า วัดพระธาตุ ส่วนพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิคนธรรมดาเรียกกันว่า เจดีย์เฉย ๆ
เจดีย์ที่มียอดแบบปรางค์เรียกกันว่า พระปรางค์
โดยทั่วไป เจดีย์ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อบรรจุอัฐิเท่านั้น แม้บรรจุสิ่งอื่นก็เรียกว่าเจดีย์ได้เหมือนกัน เช่น พุทธเจดีย์ท่านแบ่งไว้เป็นสี่อย่างคือ
๑. ธาตุเจดีย์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระธาตุไว้ จะมียอดแหลมหรือไม่ ไม่ได้กำหนด แม้ธาตุพระอรหันต์ก็เรียกธาตุเจดีย์
๒. บริโภคเจดีย์ หมายเอาเจดีย์ที่บรรจุของใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า มีบาตร จีวร เป็นต้น และหมายความรวมไปถึงสังเวชนียสถานที่ตำบลด้วย
๓. ธรรมเจดีย์ หมายเอาเจดีย์ที่บรรจุ หรือจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้า
๔. อุเทสิกเจดีย์ หมายเอาเจดีย์ที่เป็นที่บรรจุพระพุทธรูป หรือองค์พระพุทธรูปเอง ตลอดไปถึงรอยพระพุทธบาท
โครงสร้างของเจดีย์ ที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า ๑,๘๐๐ ปี คือพระสถูปที่ศานจิ ในประเทศอินเดีย เดิมมีสัณฐานเหมือนโอคว่ำ ต่อมาจึงตบแต่งให้วิจิตรงดงามขึ้นเช่นแต่งกองดินเป็นรูปทรง ทำเขื่อนให้เป็นฐานและชั้นทักษิณ ทำรูปบัลลังก์แล้วต่อฉัตรเป็นยอด โครงสร้างส่วนใหญ่ แบ่งออกได้ดังนี้
ตอนล่าง เป็นที่ตั้งของเจดีย์เรียกว่าฐาน จะสร้างให้สูงเป็นกี่ชั้นแล้วแต่เห็นสมควร ถ้ามีหลายชั้น ชั้นล่างสุดต้องเป็นฐานเขียง แล้วเป็นฐานปัทม์และฐานเท้าสิงห์โดยลำดับ ถ้าเป็นเจดีย์รูปกลมฐานก็กลม ซ้อนขึ้นไปหลาย ๆ วง ถ้าฐานตอนใดทำได้กว้างเดินได้รอบก็เรียกว่า ฐานทักษิณ คือใช้เป็นที่ประทักษิณ ฐานเหล่านี้จะย่อมุมไม้แปด ไม้สิบสอง หรือจะไม่ย่อก็แล้วแต่เรื่อง
ตอนถัดฐานขึ้นไป เป็นองค์เจดีย์เรียกว่า องค์ระฆัง หรือลอมฟาง ตอนบนสุดเรียกว่า คอระฆัง องค์ระฆังเป็นรูปกลม หรือเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ก็มี จะย่อมุมเป็นไม้อะไรก็ตามที
ถัดคอระฆังขึ้นไป เป็นแท่นสี่เหลี่ยมฐานปัทม์เรียกว่า บัลลังก์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปเป็นรูปคล้ายเสาเตี้ย ๆ เรียงกันเป็นแถว มีอยู่แต่เจดีย์ไทยเท่านั้น ถัดขึ้นไป มีรูปกลม ๆ ป้อม ๆ เรียวขึ้นไปเรียกว่า ปล้องไฉน หมดปล้องไฉนแล้วมีรูปเหมือนปลีกล้วย จึงเรียกตอนนี้ว่า ปลี บางเจดีย์มักมีลวดกลม ๆ คั่นอยู่ระหว่างกลาง แบ่งปลีออกเป็นสองตอน เป็นปลีล่างปลีบน ลวดกลม ๆ นี้เรียกว่า ลูกแก้ว ปลายยอดสุดเป็นตุ่มเรียกว่า หยาดน้ำค้าง
ลักษณะเจดีย์แบบต่าง ๆ ในประเทศไทย ประเทศไทยมีเจดีย์อยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภาคเป็นจำนวนมาก มีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
แบบอิทธิพลพุกาม ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือ และภาคพายัพ ลักษณะของเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นซุ้มคูหาอย่างวิหารย่อเหลี่ยม ย่อมุมเป็นรูปต่าง ๆ หลังคาเป็นยอดเจดีย์ จะเรียกว่าวิหารยอดเจดีย์ก็เห็นจะได้
แบบโคตรบูรหรือขอมเก่า ส่วนมากอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัวระฆังก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียวขึ้นไปอย่างรูปแจกันบางชนิด
แบบศรีวิชัย ส่วนมากมีทางภาคใต้ โดยสร้างเจดีย์ทำนองเดียวกับแบบพุกาม แต่มีเจดีย์น้อย ตั้งอยู่ตามมุมทั้งสี่ด้านของชั้น ที่ซ้อนพนมกันขึ้นไปอย่างหลังคาปราสาท
แบบพุกามและแบบศรีวิชัย เป็นการผสมสองแบบเข้าด้วยกัน เป็นวิหารยอดเจดีย์
จอมเจดีย์ มีอยู่แปดองค์คือ พระปฐมเจดีย์ พระมหาธาตุเมืองละโว้ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุพนม พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช พระเจดีย์ วัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ๙/ ๕๔๓๗
๑๔๘๗. เจดีย์ ๒ - หอย มีเปลือกม้วนเป็นวงหลายชั้น รูปร่างค่อนข้างยาว ปลายแหลม คล้ายยอดเจดีย์ ๙/ ๕๔๕๔
๑๔๘๘. เจดีย์เจ็ดแถว - วัด เป็นวัดโบราณอยู่ในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ได้หลักฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐธาตุ พระราชวงศ์สุโขทัย ตั้งอยู่ติดกับวัดช้างล้อม และวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ มีคูและกำแพงศิลาล้อมรอบ มีวัดภายในกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ เส้น ๗ วา ยาว ๓ เส้น ๘ วา ภายในกำแพงแก้วชั้นใน มีพระมหาธาตุเจดีย์ฐาน ๖ วา สี่เหลี่ยมจตุรัส ๙/ ๕๔๕๔
๑๔๘๙. เจดีย์เจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง ฯ จ.เชียงใหม่ ในวัดโพธารามมหาวิหาร เจดีย์ทั้งเจ็ดองค์นี้ตั้งอยู่บนหลังคาพระวิหารโถง ทั้งพระวิหารและเจดีย์ ส่วนใหญ่สร้างด้วยแลง เกือบทั้งหมด มีอิฐประกอบอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย
ตามตำนานกล่าวว่า เจดีย์เจ็ดยอดนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๘๘๐ (พ.ศ.๒๐๖๑) โดยที่พระเจ้าติโลกราช ได้โปรดให้สีหอำมาตย์นำคณะช่างเขียน ช่างปั้น ออกไปอินเดียสำรวจแบบพระเจดีย์ และถาวรวัตถุจำลองแบบพระเจดีย์ ที่พุทธยา มาสร้างเจดีย์เจ็ดยอดนี้ขึ้นไว้
ลักษณะของเจดีย์เป็นเจดีย์กลุ่ม มีอยู่เจ็ดองค์ หรือเจ็ดยอด มีเจดีย์องค์สูงใหญ่เป็นประธานอยู่กลาง ๙/ ๕๔๕๘
๑๔๙๐. เจดีย์บูชา - คลอง เป็นชื่อคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดเมื่อครั้งให้ทำการปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ แต่งานขุดคลองนี้ยังค้างอยู่ จากหลักฐานพบว่า คลองนี้ขุดเสร็จก่อนปี พ.ศ.๒๔๐๑ เป็นคลองที่ขุดใหม่ อยู่แขวงเมืองนครไชยศรี ปากคลอง อยู่กับท้ายบ้านท่านา ปลายคลองจดพระปฐมเจดีย์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๖๐๐ ชั่งเศษ จ้างจีนขุดคลองนี้ขึ้น ๙/ ๕๔๖๑
๑๔๙๑. เจดีย์สามองค์ - ด่าน อยู่ในเขต อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี ตรงเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าคือ อยู่บนพรมแดนหนึ่งองค์ อยู่ในเขตไทยหนึ่งองค์ และอยู่ในพม่าหนึ่งองค์
ในทางประวัติศาสตร์ การสงครามระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองหนึ่งที่พม่าต้องผ่านเข้ามา หรือเมื่อกองทัพไทยจะยกออกไปรบพม่า ก็ต้องผ่านเมืองนี้ และต้องใช้ด่านเจดีย์สามองค์ในการผ่านเข้าออก
พระเจดีย์สามองค์นั้นเป็นของเก่า เมื่อตรวจพิเคราะห์ตามพงศาวดารเห็นว่า น่าจะสร้างเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเรียกทางสายนั้นว่า ทางพระเจดีย์สามองค์มาเก่าแก่ รูปพระเจดีย์เป็นพระเจดีย์มอญ อาจเป็นเพราะช่างมอญทำ ๙/๕๔๖๒
๑๔๙๒. เจตพังดี เป็นต้นไม้พุ่มเล็ก ๆ ใช้รากหรือใช้ทุกส่วนของต้นมาตากแห้ง เป็นสมุนไพร เป็นต้นไม้พื้นเมืองของประเทศไทย
เจตพังดี เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นตัวยาผสมอยู่ในตำรับยาแผนโบราณ ๙/ ๕๔๖๙
๑๔๙๓. เจตภูติ ตามสามัญที่เข้าใจกัน เจตภูติคือ วิญญาณที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ ในเวลานอนหลับ
เจตภูติ นั้น มีลักษณะอย่างหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับขวัญคือ ไม่มีแต่หนึ่งเท่านั้น ตามคติชาวบ้านว่า เจตภูติมีสี่ด้วยกัน เมื่อคนเจ็บไข้มีอาการหนัก เข้าขั้นตรีทูต บอกลักษณะว่าจะไม่รอด แสดงว่าเจตภูติออกไปจากตัวแล้วสาม ยังเหลืออีกหนึ่งเท่านั้น ๙/ ๕๔๗๑
๑๔๙๔. เจตมูลเพลิง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใช้รากจากต้นที่มีอายุประมาณสามปีแล้ว มาตากแห้งเป็นสมุนไพร ชนิดดอกมีสีขาว เรียกว่า เจตมูลเพลิงขาว ชนิดดอกสีแดงเรียก เจตมูลแดง ๙/ ๕๔๗๓
๑๔๙๕. เจตสิก เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติเพื่อแสดงชื่อ ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ในปรมัตถธรรมสี่อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
เจตสิก คือ สภาวธรรมที่แต่งจิตให้เป็นต่าง ๆ เจตสิกกำหนดโดยจำนวนมี ๕๒ ดวง ๙/ ๕๔๗๓
๑๔๙๖. เจตี หรือเจตีย์ เป็นชื่อแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นของอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ชาวเจตีมีกล่าวถึงอยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อคราวพระเวสสันดรเสด็จไปเขาวงกต ในหิมวัตประเทศ เชิงเขาหิมาลัย ได้เสด็จผ่านแคว้นเจตี
แคว้นเจตี นับว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ที่สำคัญแห่งหนึ่งแม้ในสมัยพุทธกาล คัมภีร์อังคุตรนิกายได้กล่าวถึง สูตรต่าง ๆ หลายสูตร ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสที่แคว้นนี้ เมืองปาจิมวังสทายะ ที่พระพุทธองค์ไปเยี่ยมพระอนุรุทธเถระ ที่อยู่ในแคว้นนี้ ๙/ ๕๔๘๑
๑๔๙๗. เจนเนอร์ เอ็ดวาร์ด เป็นแพทย์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๒ ที่เมืองเบิร์คลีย ประเทศอังกฤษ เขาเป็นคนแรกที่เริ่มต้นค้นพบวิธีการปลูกฝี เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ทำให้โรคนี้หยุดระบาดลงไปอย่างมาก และได้นำมาใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เจนเนอร์ถึงแก่กรรม เมื่อมี พ.ศ.๒๓๖๖ ๙/ ๕๔๘๓
๑๔๙๘. เจนละ หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ได้กล่าวไว้ว่า "อาณาจักรเจนละ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลินอี้ (คือ จัมปา - ดู คำจาม (ลำดับที่ ๑๓๕๙) ซึ่งเดิมเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรฟูนัน ...พระเจ้าจิตรเสนได้โจมตีฟูนัน และปราบฟูนันลงได้"
คำว่า เจนละ ได้ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์ครั้งแรก เมื่อคราวที่เจนละส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี กับราชสำนักจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๑๕๙ ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์องค์ที่สาม แห่งอาณาจักรเจนละ
เจนละ เคยเป็นเมืองขึ้นของฟูนันมาก่อน และต่อมามีอำนาจเหนือดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ปัจจุบันแทนฟูนัน อาณาจักรนั้นมีดินแดนแผ่ไปจนถึงกัมพูชาตอนใต้ และแคว้นโคจินจีน เจนละอยู่ทางตอนเหนือของฟูนัน ครอบคลุมอาณาบริเวณตามลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และตอนกลาง นับตั้งแต่เมืองสตรึง เตรง ขึ้นไปทางเหนือ ศูนย์กลางอาณาจักรเจนละ เดิมอยู่ในบริเวณเมืองจัมปาศักดิ์ ใต้ปากแม่น้ำมูลลงไปเล็กน้อย ครอบคลุมดินแดนที่เป็นภาคเหนือของกัมพูชา และภาคใต้ของประเทศลาวในปัจจุบัน
เจนละบก - เจนละน้ำ หนังสือประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถัง กล่าวไว้ว่า ภายหลังปี พ.ศ.๑๒๔๙ ไม่นานนักอาณาจักรเจนละก็แบ่งออกเป็นสองอาณาจักรคือ เจนละบกหรือเจนละเหนือ กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้ มีอาณาเขตจดทะเล
เรื่องของเจนละบกได้มาจากบันทึกของคณะทูตจีน จีนเรียกเจนละบกว่าเหวินตัน และดูเหมือนว่าดินแดนของเจนละบก จะยาวไปทางเหนือ จนจดมณฑลยูนนาน โดยมีพลเมืองที่เป็นพวกข่า และบางทีก็พวกไทยด้วย อยู่ตามชายแดนที่ติดต่อกับอาณาจักรน่านเจ้า ทูตคณะแรกของเจนละบก ได้ไปถึงเมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๒๖๐ และ พ.ศ.๑๒๖๑ เจนละบกก็ร่วมมือกับจีนทำสงครามกับเจ้าเมืองเจียวเจา (ตังเกี๋ย) ซึ่งเป็นคนจีน แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้ บันทึกสุดท้ายที่เกี่ยวกับราชทูตจากเหวินตันคือ เมื่อปี พ.ศ.๑๓๔๒
ส่วนเจนละน้ำนั้น ใน ๕๐ ปีหลังแห่งพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ได้ถูกพวกโจรสลัดมาเลย์จากชวาโจมตี ศิลาจารึกของชวาอ้างว่า พระเจ้าสญชัยได้ยึดเจนละน้ำไว้ได้
๑๔๙๙. เจฟเฟอร์สัน โธมัส (พ.ศ.๒๒๘๖ - ๒๓๖๙) เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๓ ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสระภาพของอเมริกา เป็นผู้ให้กำเนิดพรรคการเมืองซึ่งต่อมาเรียกว่าพรรคดีโมแครต
เหตุการณ์สำคัญที่สุดในสมัยการบริหารของเจฟเฟอร์สัน สมัยแรกคือ การซื้อหลุยเซียนา จากพระเจ้านโปเลียน แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ ด้วยราคาเพียง ๑๕ ล้านดอลลาร์ ทำให้พื้นที่ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว ดินแดนที่ซื้อมาครั้งนี้ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นรัฐหลุยเซียนาในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่เป็นดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล นับจากแม่น้ำมิสซิสซิปปีไปจนจดเทือกเขารอกกีส์ และจากแดนแคนาดาไปจนถึงอ่าวเมกซิโก ๙/ ๕๔๙๙
๑๕๐๐. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๓๗ - ๑๙๘๐) เป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๙ พระราชบิดาได้ส่งพระองค์ไปศึกษายังฝรั่งเศส แต่พระองค์ถูกทหารเรืออังกฤษจับได้ พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ของอังกฤษได้เอาพระองค์ไปกักขังไว้เป็นเวลาถึง ๑๘ ปี พระเจ้าเฮนรีที่ ๕ ขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๖ พระองค์ได้นำเจ้าชายเจมส์ไปเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อพระเจ้าโรเบอร์ตที่ ๓ พระราชบิดาเจ้าชายเจมส์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๙ โรเบอร์ตแห่งอัลบานี ก็ได้ปกครองประเทศในพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ ต่อมาหลังจากที่ได้ทำหน้าที่นี้ระหว่างที่พระเจ้าโรเบอร์ตประชวรอยู่
พระเจ้าเจมส์ได้เสด็จกลับอังกฤษหลังจากที่รพะเจ้าเฮนรีที่ ๕ สวรรคตแล้ว หลังจากที่ได้ร่วมรบกับพระเจ้าเฮนรีที่ ๕ ในดินแดนฝรั่งเศสอยู่สองปี เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ ๖ ขึ้นครองราชย์ ประจวบกับโรเบิร์ตแห่งอัลบานีสิ้นพระชนม์ ทำให้พระเจ้าเจมส์มีโอกาสเจรจากับอังกฤษ ให้ปลดปล่อยพระองค์ในปี พ.ศ.๑๙๖๗ ทั้งนี้พระองค์ต้องเสียค่าไถ่เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ ปอนด์
เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงสกอตแลนด์ ได้ทรงเร่งปรับปรุงบ้านเมืองให้เข้มแข็งเป็นการด่วน โดยทรงใช้มาตรการรุนแรงเด็ดขาด ๙/ ๕๕๑๓
๑๕๐๑. เจมส์ที่ ๒ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๗๓ - ๒๐๐๓) กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ โอรสพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างผู้ที่มีอำนาจในสกอตแลนต์ เกิดสงครามกลางเมือง มายุติลงเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๘๙
ในรัชสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ นับว่าเป็นสมัยที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้านนิติบัญญัติของสกอตแลด์มาก ๙/ ๕๕๑๗
๑๕๐๒. เจมส์ที่ ๓ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๙๔ - ๒๐๓๑) กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ เป็นโอรสองค์โตของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑ แห่งเดนมาร์ก และนอร์เวย์ มีผลทำให้พระองค์ทรงผนวกเอาออร์คนี ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะและจังหวัดทางภาคเหนือของสกอตแลนด์และเชตแลนด์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออร์คนีมารวมกับสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๕ ๙/ ๕๕๒๐
๑๕๐๓. เจมส์ที่ ๔ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๐๑๖ - ๒๐๕๖) กษัตริย์สกอตแลนด์ โอรสองค์โต ของพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ พระองค์เข้าร่วมกับพวกขบถ ทำสงครามกับพระราชบิดาและมีชัยชนะ เป็นเหตุให้พระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ พระองค์นับว่าเป็นกษัตริย์สกอตแลนด์องค์หนึ่ง ในไม่กี่องค์ที่ได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชนอย่างมาก ทรงปกครองบ้านเมืองโดยราบรื่น
ในปี พ.ศ.๒๐๔๖ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นเหตุทำให้ราชวงศ์สจวต ได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์อังกฤษในเวลาต่อมา
พระเจ้าเจมส์ที่ ๔ ได้ทรงปราบปรามพวกขบถตามเกาะต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศ และทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ยกฐานะของพระองค์เทียบบ่าเทียบไหล่กับบรรดากษัตริย์ต่าง ๆ ในยุโรป ๙/ ๕๕๒๒
๑๕๐๔. เจมส์ที่ ๕ - พระเข้า (พ.ศ.๒๐๕๕ - ๒๐๘๕) กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ โอรสพระเจ้าเจมส์ที่ ๔ ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น สกอตแลนด์ได้กลายเป็นประตูสมรภูมิ ที่หาผลประโยชน์ของอังกฤษและฝรั่งเศส
ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๐๗๓ พระองค์ทรงใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าในอันที่จะปราบปรามเมืองขึ้นทั้งหลาย ทางภาคใต้ที่กระด้างกระเดื่อง ต่อมาได้มีการเจรจาประนีประนอมกับอังกฤษ และได้ทรงลงพระนามในสัญญา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ ๙/ ๕๕๒๖
๑๕๐๕. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๑๐๙ - ๒๑๖๘) กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์ และทรงเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๖ แห่งสกอตแลนด์ ๓๖ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๑๔๖ พระองค์จึงได้ทรงเป็นกษัตริย์ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สจวตองค์แรกของอังกฤษ
ในการปกครองสกอตแลนด์นั้น พระเจ้าเจมส์ทรงมีจุดมุ่งหมายสองประการคือ ประการแรกทรงเดินสายกลางระหว่างพวกโรมันคาทอลิกกับพวกโปรเตสแตนท์ ทั้งที่พระองค์เป็นโปรเตสแตนท์ ประการที่สองก็คือ เพื่อจะได้เป็นทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ
เมื่อพระนางเจ้าอลิซาเบธสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖ แล้ว พระองค์ก็ได้รับเชิญให้เป็นกษัตริย์อังกฤษ นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงปกครองทั้งอังกฤษ และสกอตแลนด์
คัมภีร์ไบเบิลที่แปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ และพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ นั้น เรียกว่าฉบับคิงเจมส์ และถือเป็นฉบับมาตรฐาน ที่ชาวอังกฤษนิยมมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน ๙/ ๕๕๓๐
๑๕๐๖. เจมส์ ๒ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๑๗๖ - ๒๒๔๔) กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ทรงเป็นโอรสองค์เล็กของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ และทรงเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๗ แห่งสกอตแลนด์ ไปพร้อม ๆ กัน ทรงครองราชสมบัติหลังจากพระเชษฐาของพระองค์คือ พระเจ้าชาร์ลที่ ๒ สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ก่อนขึ้นครองราชย์พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพเรือ และได้ปฎิรูปกองทัพเรือเสียใหม่ ทำให้ทรงมีชัยชนะเหนือพวกดัตช์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๘
พระองค์ได้ฟื้นฟูคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกขึ้นมาใหม่ พระองค์ตัดสินพระทัยลาออกจากตำแหน่งแม่ทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๖ ต่อการเป็นคาทอลิกของพระองค์ แต่ก็ได้กลับมาเป็นแม่ทัพเรืออีกครั้งในปี พ.ศ.๒๒๒๗
พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ โดยไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น เมื่อ ดยุค แห่งมอนมัธ ก่อการขบถขึ้นที่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ประชาชนได้เข้าข้างพระเจ้าเจมส์
ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ พวกชนชั้นสูงของอังกฤษ มีความโกรธแค้นในนโยบายของพระองค์ ได้ติดต่อกับวิลเลียม แห่งออเรนจ์ ต่อต้านพระองค์ จนต้องเสด็จลี้ภัยไปฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงให้ความอุปถัมภ์ ในปี พ.ศ.๒๒๓๙ พระองค์พยายามจะกลับไปมีอำนาจเป็นครั้งสุดท้าย แต่ประสบความล้มเหลว และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๔
เมื่อพระเจ้าเจมส์ เสด็จหนีไปฝรั่งเศสแล้ว รัฐสภาอังกฤษได้ประกาศตั้ง เจ้าชายวิลเลียม แห่งออเรนจ์ กับชายาคือ เจ้าหญิงแมรี ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ เป็นผู้ปกครองประเทศร่วมกัน ๙/ ๕๕๓๖
๑๕๐๗. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๗๕๑ - ๑๘๑๙) หรือพระเจ้าเจมส์ ผู้พิชิต กษัตริย์ของอาเรกอน ซึ่งเดิมเป็นราชอาณาจักรหนึ่ง ปัจจุบันเป็นแคว้นหนึ่ง อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ แห่งมอนต์ปีเลียร์ เมืองหลวงของเวอร์มอนต์ พระองค์ทรงอภิเษกครั้งที่สองกับ เจ้าหญิงโยลันเด พระราชธิดาของพระเจ้าแอนดริวที่ ๒ แห่งฮังการี
พระเจ้าเจมส์ เป็นกษัตริย์ที่เฉลียวฉลาด และทรงมีความอดทนมากพระองค์หนึ่ง ในปี พ.ศ.๑๗๗๑ พระองค์ทรงปราบปรามเมืองขึ้นต่าง ๆ ที่ไม่ปฎิบัติตามพระราชโองการของพระองค์ ทรงพิชิตหมู่เกาะบาเลียริก ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสเปน อยู่ทางภาคตะวันตกของทะเลเมดิเตอเรเนียน แถบตะวันตก แล้วพระองค์ก็ทรงสนพระทัยดินแดนของพวกเจ้าชายมุสลิม แห่งวาเลนเซีย ซึ่งอยู่ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน และเคยเป็นของสเปนมาก่อน ทรงพิชิตเมืองวาเลนเซียได้ในปี พ.ศ.๑๗๘๑ และพิชิตได้ทั้งอาณาจักรในปี พ.ศ.๑๗๘๘
พระเจ้าเจมส์ นับว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในสมัยกลาง ในฐานะที่ทรงปลดเปลื้องดินแดนของอาเรกอน ให้พ้นจากการคุกคามของพวกมุสลิม พระองค์ทรงพยายามที่จะสถาปนาความเป็นใหญ่เหนือ ทเลมเซน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอลจีเรียในปัจจุบัน และบาเกียในอัฟริกา ทั้งนี้เพื่อจะยึดเมืองตูนิส ไว้ให้มั่นคง
ในระยะ ๒๐ ปี หลังแห่งพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทำสงครามกับพวกมัวร์ ในเมอเซียร์ ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณของพวกแองโกลแซกซอน อยู่ทางภาคกลางของเกาะอังกฤษ การที่พระองค์พิชิตพวกมัวร์นี้ จึงทำให้พระองค์ได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าเจมส์ผู้พิชิต ๙/ ๕๕๔๖
๑๕๐๘. เจมส์, เจสสี วูดสัน (พ.ศ.๒๓๙๐ - ๒๔๒๕) เป็นนักปล้นรถไฟ และธนาคาร ที่ลือชื่อของอเมริกา เกิดที่ เคลย์ คาน์ตี มลรัฐมิซซูรี ครอบครัวเป็นชาวนา เรื่องราวของเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง แห่งคติชาวบ้านของอเมริกัน ๙/ ๕๕๕๐
๑๕๐๙. เจมส์ วิลเลียม (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๔๕๓) เป็นนักจิตวิทยา และปรัชญาเมธี ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เกิดที่เมืองนิวยอร์กซิตี มลรัฐนิวยอร์ก ได้รับแต่งตั้งเป็นศาตราจารย์วิชาปรัชญา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในระยะนี้เอง ท่านได้เขียนหนังสือชื่อ "หลักการแห่งวิชาจิตวิทยา" ขึ้นสองเล่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ทำให้ท่านได้กลายเป็นบุคคลที่นานาชาติ สนใจขึ้นมาทันที
วิลเลียม เจมส์ มีความเห็นว่าโลกเรานี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง และความบังเอิญ เป็นโลกแห่งความหลากหลาย แห่งความผันแปร และแห่งความเป็นต่าง ๆ กัน เต็มไปด้วยความกาหล อลหม่าน ความใหม่ ความแปลกและการต่อสู้ดิ้นรน กฎแห่งธรรมชาติมิได้เป็นหลักการนิรันดร แต่เป็นนิสัยแห่งสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง และที่ได้มาในภายหลัง คุณสมบัติต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาส ๙/ ๕๕๕๒
๑๕๑๐. เจมส์ทาวน์ เดิมเป็นชื่อหมู่บ้านในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่แห่งแรก ที่ชาวอังกฤษได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งเป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๐ ๙/ ๕๕๕๗
๑๕๑๑. เจริญกรุง - ถนน เป็นชื่อถนนสายหนึ่งในจังหวัดพระนคร เริ่มตั้งแต่ถนนสนามชัย ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาถนนตก ยาวประมาณ ๘.๖ กม. สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ๙/ ๕๕๖๐
๑๕๑๒. เจว็ด เป็นรูปเทพารักษ์ ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดา ถือพระขรรค์ ๙/ ๕๕๖๑
๑๕๑๓. เจษฎาบดินทร์ - กรมหมื่น เป็นพระอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติ ณ พระราชวังเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐
พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖ ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมท่า ได้โปรดให้จัดสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงบังคับราชการในกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ มีข่าวว่าพม่ายกกำลังมาตั้งยุ้งฉางที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อยกเข้ามาตีพระนคร พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้นำกำลังทหาร ๓,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพ ณ ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี อยู่เป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่มีทัพพม่ายกมาจึงเสด็จกลับ พระองค์มีหน้าที่ในการป้องกันพระนคร เป็นแม่กองสร้างป้อมที่เมืองสมุทรปราการหกป้อม
พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาหลายองค์ ทรงสร้างพระไตรปิฎกทั้งคำอรรถและคำแปล โปรดให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี้ยงยาจกวณิพก และทรงบำเพ็ญกุศลการจรตามกาลสมัย
พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗
๑๕๑๔. เจอร์ซี ๑ - เกาะ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแชนแนลของบริเตนใหญ่ อยู่ในช่องแคบอังกฤษ เกาะนี้มีฐานะเป็นคราวน์ดิเปนเดนซีของบริเตนใหญ่ มีสภานิติบัญญัติ การปกครองท้องถิ่น กฎหมาย และศาลเป็นของตนเอง ๙/ ๕๕๗๐
๑๕๑๕. เจอร์ซี ๒ - เมือง เป็นที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลของฮัดสันเคาน์ตี และเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งในมลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมลรัฐนั้น ๙/ ๕๕๗๔
๑๕๑๖. เจา ดูจิว (ลำดับที่ ๑๔๓๖) ๙/ ๕๕๗๖
|
Update : 25/5/2554
|
|