หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/29
     ๑๔๖๐. จุลวงศ์  เป็นหนังสือพงศาวดารลังกาที่แต่งต่อจากหนังสือมหาวงศ์ มีผู้แต่งหลายคนด้วยกันถือกันว่า เป็นพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งคู่กับมหาวงศ์
                        พระมหานามเถระได้ชี้แจงเหตุที่แต่งหนังสือมหาวงศ์และจุลวงศ์ตอนต้นไว้ว่า เดิมเรื่องพงศาวดารลังกามีอยู่เป็นภาษาสิงหลหลายเรื่อง ท่านได้รวบรวมแต่งเป็นภาษาบาลี ความมุ่งหมายเพื่อเรียบเรียงตำนานพระพุทธศาสนาในลังกาเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งเรื่องพงศาวดารบ้านเมือง และเรื่องประวัติพระพุทธศาสนาประกอบกัน           ๙/ ๕๓๒๙
                ๑๔๖๑. จุลวรรค  เป็นชื่อวรรคหนึ่งในห้าวรรคของคัมภีร์พระวินัยปิฎกอันได้แก่ อาทิกรรม ปาจิตตียภัณฑ์มหาวรรค จุลวรรค ปริวารวรรค ใช้อักษรย่อว่า อา.ปา.น.จุ.ป. เรียกกันว่า หัวใจพระวินัยปิฎก
                        คัมภีร์จุลวรรคแบ่งออกเป็น ๑๒ ขันธกะ           ๙/ ๕๓๓๐
                ๑๔๖๒. จุลศักราช  แปลว่า ศักราชน้อย  ในวงการศึกษาเชื่อกันว่าสังฆราชบุพพะโสระหัน ซึ่งลาสิกขาออกมาแล้วชิงราชสมบัติในประเทศพม่า ตั้งขึ้นเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๑๘๒ (ค.ศ.๖๓๙, ม.ศ.๕๖๑)
                        ศก  คำว่า ศก หมายความว่า จำนวนปีจุลศักราชตั้งแต่ ๑ - ๑๐ ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันคือ
                                ถ้าตัวเลขสุดท้ายของจุลศักราช  เป็น ๑, ๑๑, ๒๑ เรียกว่า เอกศก  เป็น ๒, ๑๒, ๒๒ เรียกว่า โทศก  เป็น ๓, ๑๓, ๒๓ เรียกว่า ตรีศก  เป็น ๔, ๑๔, ๒๔ เรียกว่า จัตวาศก  เป็น ๕, ๑๕, ๒๕ เรียกว่า เบญจศก  เป็น ๖, ๑๖, ๒๖ เรียกว่า ฉศก  เป็น ๗, ๑๗, ๒๗ เรียกว่า อัฐศก  เป็น ๙, ๑๙, ๒๙ เรียกว่า นพศก  เป็น ๑๐, ๒๐ , ๓๐ เรียกว่า สัมฤทธิ์ศก           ๙/ ๕๓๓๑
                ๑๔๖๓. จุลินทรีย์  เป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ส่องขยาย จุลินทรีย์ประกอบด้วยเซลล์เดียว แต่มีรูปร่างแตกต่างกันไป อาศัยอยู่ในที่ต่าง ๆ แม้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต สามารถก่อให้เกิดการบูดเน่าและผุเปื่อย พวกที่ให้โทษเรียกว่า เชื้อโรค
               ๑๔๖๔. จุฬา  เป็นชื่อว่าวชนิดหนึ่งมีรูปร่างห้าแฉก หัวแหลมเป็นรูปกรวย โครงร่างประกอบด้วยไม้ห้าอันเรียกไม้อกหนึ่งอัน ไม้ปีกสองอัน และไม้ขากบสองอัน  ผู้สนใจอาจศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือตำนานว่าวพนันตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว พ.ศ.๒๔๖๔ เรียบเรียงโดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร)
                        เนื่องจากชาวไทยนิยมเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างร่างและวิธีเล่นว่าวได้วิวัฒนาการไปตามกาลสมัย           ๙/ ๕๓๔๔
                ๑๔๖๕. จุฬามณี ๑ - เจดีย์  เป็นพระธาตุเจดีย์องค์หนึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หน้าเวชยันต์พิมาน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครไตรตรึงษ์ เป็นที่บูชาสักการะของท้าวสักกเทวราช และเทวดาทั้งหลาย           ๙/ ๕๓๔๗
                ๑๔๖๖. จุฬามณี ๒ - วัด  เป็นวัดโบราณที่มีชื่อ และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมืองสองแควเก่ามาก่อน  ต่อมาจึงได้ย้ายไปตั้งที่เมืองพิษณุโลกปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๘ เมืองสองแควเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นเมืองพิษณุโลกในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
                        เหตุที่ทำให้วัดนี้สำคัญก็เพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงผนวช และประทับอยู่วัดนี้ถึงแปดเดือนเศษ ตามการสันนิษฐานจากโบราณวัตถุ เช่น พระปรางค์ เป็นต้น ประมาณได้ว่าวัดนี้ควรสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๘๐๐ สมัยขอมยังปกครอง           ๙/ ๕๓๕๒
                ๑๔๖๗. จุฬามณี ๓ - วัด  เป็นวัดราษฎร์โบราณวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือปากคลองบ้านกุ่ม ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
                        วัดนี้มีชื่ออยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า แต่ไม่มีประวัติของวัด สันนิษฐานกันว่า ชาวบ้านร่วมกันสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช           ๙/ ๕๓๔๓
                ๑๔๖๘. จุฬาราชมนตรี - ตำแหน่ง  ตำแหน่งนี้เท่ากับเป็นประธาน หรือเป็นหัวหน้าในกิจการศานาอิสลามแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.ฎ.สองฉบับคือ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยศาสนูปถัมภ์แห่งศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ กำหนดไว้ให้จุฬาราชมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ ในเรื่องที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๑ ที่กำหนดใหม่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมศาสนา ในกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และนอกจากหน้าที่ตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวแล้ว จุฬาราชมนตรียังเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และถอดถอน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถวายคำแนะนำ
                        จุฬาราชมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
                        ๑. ให้คำปรึกษา หารือ แก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
                        ๒. เป็นผู้กำหนดระเบียบการแต่งตั้ง ถอดถอน และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของสุเหร่า ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
                        ๓. ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
                        ๔. เป็นผู้สั่งให้เลิกมัสยิด
                        ๕. วินิจฉัยและมีคำสั่ง กรณีกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ถูกลงโทษจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
                        จุฬาราชมนตรี เดิมเป็นราชทินนามหรือนามบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตร ดำรงตำแหน่งเข้ารับราชการ ตำแหน่งนี้เท่าที่ปรากฎตามพระราชพงศาวดาร ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งพระราชทานแก่ข้าราชการในกรมท่าขวา สังกัดอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศสมัยก่อน
                        ตำแหน่งนี้สันนิษฐานว่า พระเจ้าแผ่นดินคงจะพระราชทานแก่ผู้ที่เป็นแขก หรือมีเชื้อสาย หรือทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับทางราชการกับแขกเท่านั้น           ๙/ ๘๓๖๓
                ๑๔๖๙. จุฬาลงกรณ์ ๑ - สมเด็จเจ้าฟ้าชาย  เป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ           ๙/ ๕๓๗๑
                ๑๔๗๐. จุฬาลงกรณ์ ๒ - มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นสถานศึกษาและการวิจัย โดยมุ่งหมายจะส่งเสริมวิชาการชั้นสูง วิชาชีพชั้นสูงและทนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ
                        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โดยประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ           ๙/ ๕๓๗๑
                ๑๔๗๑. จุฬาลงกรณ์ ๓ - โรงพยาบาล  เป็นโรงพยาบาลของสภากาชาดไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗           ๙/ ๕๓๘๐
                ๑๔๗๒. จุฬาลัมผา หรือโกฐจุฬาลัมผา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นตัวยาผสมอยู่ในตำรับยาแผนโบราณ เป็นสมุนไพรตากแห้ง มีกลิ่นของยาเขียว ได้มาจากทุกส่วนของต้นไม้เล็ก ๆ ประเภทล้มลุก          ๙/ ๕๓๘๓
                ๑๔๗๓. จูกัดเหลียง   ดูขงเบ้ง (ลำดับที่ ๖๘๔)           ๙/ ๕๓๘๔
                ๑๔๗๔. จูงนางเข้าห้อง  เป็นชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง อุปกรณ์ในการเล่นมีกระดาน หรือกระดานเขียนตารางเป็นก้นหอย แบ่งออกเป็นช่องเล็ก ๆ ประมาณ ๒๐ - ๓๐ ช่อง ในช่องสุดที่เป็นศูนย์กลางมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางเอาไว้ สมมติเป็นนาง อุปกรณ์ต่อไปเป็นเบี้ยหอยห้าเบี้ยหรือลูกเต๋าหนึ่งลูก สำหรับทอด มีตัวหมากรุกหรือสิ่งอย่างอื่น ชิ้นเล็ก ๆ สีแตกต่างกัน สำหรับผู้เล่น
                        วิธีเล่น เริ่มด้วยผู้เล่นคนหนึ่งในจำนวนผู้เล่นสองหรือสามคน ทอดเบี้ยหรือลูกเต๋า เมื่อได้กี่แต้มแล้วก็นำสิ่งประจำตัวผู้เล่นนั้นเวียนไปตามตาราง จากปลายนอกสุดเข้าไปเท่านั้น ตารางตามจำนวนแต้มที่ทอดได้ แล้วเวียนคนต่อไปจนครบตัวผู้เล่นเป็นรอบ ผู้ใดสามารถเดินสิ่งประจำตัวเข้าไปถึงวงในที่สุดก่อน ให้นำ "นาง" คือของที่วางอยู่ในตารางในสุดเดินคู่ออกมาด้วยวิธีทอดเบี้ย หรือลูกเต๋าเช่นเดียวกัน ในระหว่างทางถ้าผู้เล่นคนหลัง นำตัวหมากประจำตัวนี้มาหยุดในตารางเดียวกับคนก่อน ให้ถือว่าคนก่อนถูกไล่ออกไป คนใหม่เข้ามาแทน ถ้ามีนางอยู่ด้วยคนใหม่ก็ได้จูงนางต่อไป ผู้จูงนางออกได้ก่อนเป็นผู้ชนะ           ๙/ ๕๓๘๔
                ๑๔๗๕. จูล เจนส์ เปรสคอตต์  เป็นนักฟิสิคส์ ชาวอังกฤษ ผู้ตั้งหลักการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพลังงานในแบบต่างๆ คือ กฎแรก ๆ เกี่ยวกับเธอร์โมไดนามิก จึงได้ตั้งเอาชื่อของท่านมาตั้งชื่อให้แก่หน่วยพลังงานว่า "จูล"
                       จูล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๑ ที่เมืองแลงกาเชียร ประเทศอังกฤษ ท่านได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางด้านปริมาณแห่งผลทางด้านไฟฟ้า กลศาสตร์ และเคมี จึงช่วยนำท่านไปสู่การาค้นพบที่สำคัญยิ่ง           ๙/ ๕๓๘๕
                ๑๔๗๖. จูล่ง  เป็นฉายานาม เป็นชาวเมืองเสี่ยซัว ปัจจุบันคือ เมืองฮู่เปย เดิมเป็นทหารของกองซุนจ้าน เป็นผู้มีฝีมือดี รูปร่างสง่า เมื่อมาสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ จึงทำให้เล่าปี่รักใคร่ชอบพอมาก จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือเล่าปี่ เป็นคนกล้าและซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย เป็นที่ไว้วางใจของเล่าปี่ ตั้งแต่ออกรบยังไม่เคยแพ้ศัตรู จึงได้รับสมญานามว่าฮกเจี่ยง แปลว่าขุนพลผู้มีบุญญานุภาพ           ๙/ ๕๓๘๖
                ๑๔๗๗. จูฬธนุคหบัณฑิต - ชาดก  มีมาในชาดกขุททกนิกาย อรรถกถาชาดก  ปัญจกนิบาต และในธัมมปทัฏกถา พระพุทธเจ้าตรัสแสดงเรื่องนี้แก่พวกภิกษุ โดยทรงปรารภ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งซึ่งมีใจวิตกถึงหญิงสาวผู้เคยเป็นภรรยาเก่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน แล้วทรงแสดงธรรมภาษิตไว้เป็นข้อกำหนดว่า "ตัณหาย่อมพอกพูนยิ่งขึ้นแก่ชนผู้ถูกวิตกย่ำยี มีราคะจัด ฝักใฝ่เห็นแต่อารมณ์ว่างาม บุคคลนั้นทำเครื่องผูกตนให้มั่น ส่วนภิกษุใดยินดีแต่ธรรมที่จะระงับวิตก เจริญอสุภฌานอยู่มีสติทุกเมื่อ ภิกษุนั้นจักทำตัณหาให้สูญสิ้นได้ จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้"
                       ภิกษุหนุ่มรูปนั้น ฟังพระพุทธโอวาทแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล           ๙/ ๕๓๘๘
                ๑๔๗๘. จูฬปันถก - พระเถระ  เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งนับเนื่องในอสีติมหาสาวก เมื่อเป็นคฤหัสถ์ท่านอยู่ในเมืองราชคฤห์ ท่านมีพี่ร่วมท้องกับท่านชื่อ มหาปันถกคือ พระมหาปันถก พระพุทธสาวก พระมหาปันถกได้บวชเณรก่อนจนอายุครบก็ได้อุปสมบท แล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงต้องการให้น้องชายบวชด้วย จูฬปันถกได้บวชเป็นเณร พระเถระผู้พี่ก็ให้สามเณรน้องชายศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ จนต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วกลายเป็นคนเขลาไป พระมหาปันถกผูกคาถาบทหนึ่งให้ท่องบ่นเพียงคาถาเดียว แต่พระจูฬปันถก ท่องบ่นอยู่สี่เดือนก็ยังไม่ได้ พระมหาเถระผู้เป็นพี่ชายเห็นดังนั้นก็บอกว่าให้สึกไปช่วยโยมตาทำงานดีกว่า แล้วตัดพระจูฬปันถกออกจากบัญชีวัด ดังนั้นเมื่อหมอชีวกขอให้เผดียงสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปรับบิณฑบาตที่บ้านตน จึงไม่มีพระจูฬปันถกรวมอยู่ด้วย
                       พระจูฬปันถก ทราบเรื่องก็เสียใจ คิดจะสึกก็ออกจากวัดไป พระพุทธเจ้าทรงแผ่ข่ายพระญาณยามเช้าทราบเรื่อง จึงเสด็จไปดัก ไปดักทางอยู่ แล้วประทานผ้าขาวผืนหนึ่ง รับสั่งแนะนำว่า เธอจงลูบผ้าขาวผืนนี้ แล้วบริกรรมว่า รโชหรณํ ซ้ำกันไปหลายๆ ครั้ง             ๙/ ๕๓๙๓
                ๑๔๗๙. จูฬสุภัททา - นาง เป็นสะใภ้ของอุคเศรษฐี ชาวอุคนคร เป็นธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี แห่งนครสาวัตถี ในสมัยพุทธกาล อยู่มาวันหนึ่งพ่อผัวถือว่า เป็นวันมงคลจะทำการสักการะพวกชีเปลือย จึงส่งข่าวให้นางจุฬสุภัททามาไหว้ พวกชีเปลือย แต่นางรู้สึกละอายใจจึงไม่ปรารถนาไปตามที่พ่อผัวประสงค์  ภริยาอุคเศรษฐีแม่ผัวของนางคิดว่า พวกสมณะของลูกสะใภ้นี้เป็นอย่างไร จึงเรียกนางมาถาม นางจึงประกาศเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า และพระสาวกให้แม่ผัวทราบ แม่ผัวได้ฟังแล้วรู้สึกมีความยินดี จึงกล่าวกับนางว่า นางสามารถจะแสดงพวกสมณะดังกล่าว ให้ตนเห็นได้หรือไม่ นางก็รับคำแล้วจึงเตรียมมหาทาน เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมพระพุทธสาวกเสร็จแล้ว ได้กล่าวคำอัญเชิญพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขฉันภัตตาหารเช้า ในวันพรุ่งนี้ ด้วยสัญญาณของข้าพระเจ้านี้ ขอพระพุทธองค์จงทรงทราบว่า ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์แล้ว เมื่อกล่าวจบจึงซัดดอกมะลิแปดกำไปในอากาศ ดอกไม้เหล่านั้นลอยไปเป็นเพดาน อันสำเร็จด้วยดอกไม้ อยู่เบื้องบนพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงธรรมอยู่ ขณะนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมแล้วได้นิมนต์ พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเช้าในวันพรุ่งนี้เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกอนาถบิณฑกเศรษฐีว่า ได้รับนิมนต์ไว้ก่อนแล้ว ตรัสว่า นางจูฬสุภัททาได้นิมนต์ไว้แล้ว อนาถบิณฑกเศรษฐีกราบทูลว่า นางอยู่ไกลจากที่นี้ถึง ๑๒๐ โยชน์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถูกแล้ว แต่นางเป็นสัตบุรุษ (ผู้มีบุญอันได้ทำไว้)  แม้จะอยู่ในที่ไกลก็ปรากฎเหมือนอยู่เฉพาะหน้า ด้วยว่า "สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมปรากฎในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมพานต์ ส่วนอสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฎในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ซัดไปในราตรี ฉะนั้น"            ๙/ ๕๔๐๓
                ๑๔๘๐. จูเฬกสาฎก  เป็นชื่อพราหมณ์คนหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล เป็นชาวนครสาวัตถี ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ เพราะพราหมณ์และนางพราหมณ์มีผ้าสาฎก สำหรับห่มผืนเดียวกัน และได้นำผ้าสาฎกผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า แล้วได้อานิสงส์ทันตาเห็น โดยพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าสาฎกถึง ๓๒ คู่ และสิ่งอื่น ๆ ให้อีกมา พราหมณ์ได้ไว้ถวายผ้าสาฎกแด่พระพุทธเจ้าถึงเจ็ดครั้ง เมื่อพวกภิกษุนำเรื่องนี้มาสนทนากัน จึงตรัสว่า ถ้าพราหมณ์จูเฬกสาฎกได้ถวายแก่เราในปฐมยาม เธอจะได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าได้ถวายเรามัชฌิมยาม เธอจะได้สรรพวัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะเธอถวายแก่เราในเวลาจวนใกล้รุ่ง เธอจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔ เท่านั้น ความจริงกรรมดี บุคคลเมื่อจะกระทำอย่าทำให้จิตคิดจะทำซึ่งเกิดขึ้นเสื่อมเสีย ควรทำในทันทีทีเดียว เพราะว่ากุศลที่บุคคลทำช้า  เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น  บุคคลควรทำกรรมดีในลำดับจิตทุปบาททีเดียว  แล้วทรงแสดงธรรมภาษิต เป็นข้อกำหนดว่า
                            "บุคคลควรรีบขวนขวายในความดี ควรห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะเมื่อเราทำความดีช้า ๆ อยู่ใจจะยินดีในความชั่ว"            ๙/ ๕๔๐๘
                ๑๔๘๑. จูฮองบู๊  เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๑ ในสกุลสามัญชน ในเมืองเหาโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอันฮุย)  เดิมแซ่จู ชื่อหยวนจัง เมื่ออายุ ๑๗ ปี ได้ไปขอบรรพชาเป็นสามเณร ในวัดหวังเจี้ยง ใกล้บ้านเกิดของตน
                        ในนั้น ราชวงศ์ชาวมองโกล ที่ปกครองประเทศจีนในนามราชวงศ์หงวน (หยวน)  กำลังตกต่ำ มีชาวจีนตั้งตัวเป็นขบถมากมาย เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี หยวนจัว ได้ลาสิกขาแล้วไปสมัครเป็นทหารในกองทัพของขุนศึกชื่อ กวอจื่อซิง ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองเหาโจว นั้นเอง เมื่อเขาคุมทหารไปรบครั้งใด ก็ไม่เคยแพ้กลับมาเลย จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของกวอจื่อซิงมาก ถึงกับยกบุตรีบุญธรรมให้เป็นภรรยา
                        เมื่อกวอจื่อซิง สิ้นชีพแล้ว หยวนจังก็ได้ตั้งตนเเป็นขุนศึกบ้าง ที่เมืองฉูโจว (ปัจจุบันเป็นอำเภอฉวนเจียว และไหลอัน ในมณฑลอันฮุย)  แล้วเริ่มแผ่อำนาจออกไปตีได้จังหวัดต่าง ๆ เช่น ไท่ผิง (ปัจจุบันเป็นอำเภอในมณฑลอันฮุย)  หนิงกว่อ (ปัจจุบันเป็นอำเภอในมณฑลอันฮุย)  และจี้ชิ่ง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซ)  หยวนจึงสถาปนาตนเองเป็น หวู่กว๋อกุง และหวูหวางตามลำดับ
                        ต่อมา หยวนจึง มีบัญชาให้แม่ทัพยกพลสองแสนห้าหมื่นคน ขึ้นไปตีกรุงยันจิง (ปักกิ่ง)  สามารถไล่พวกมองโกลออกจากประเทศจีนเป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ หยวนจังได้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นคือ ราชวงศ์หมิง ตั้งราชธานีที่เมืองยิ่งเทียน (นานกิง)  มีนามรัชกาลว่า หุงหวู่ (ฮองบู๊)  พระองค์สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๑ เมื่อสวรรคตแล้วได้รับการถวายพระนามว่า ไท่จู่            ๙/ ๕๔๑๑
                ๑๔๘๒. เจ่ง - พระยา  เป็นเจ้าเมืองเตริน (อัตวัน) เกิดในเมืองมอญ ทำราชการอยู่กับพม่า ได้เคยคุมกองมอญสมทบพม่า เข้ามาเมืองไทยครั้งหนึ่ง เมื่อพม่าตีเมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ.๒๓๑๕ ในครั้งนั้นพม่าได้พระยาเจ่ง รักษาเมืองเชียงแสน ได้เจ้าชาวเมืองเชียงแสนเป็นภริยา เกิดบุตรเป็นต้นตระกูลคชเสนีสายเหนือ เสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว พม่าให้เป็นเจ้าเมืองเตริน
                        หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ไม่นาน พระยาตาก ก็สามารถกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าจึงให้ แพกิจจา คุมกำลังและถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปะกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ เป็นแม่ทัพยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ปะกันหวุ่นให้เกณฑ์พลรามัญเมืองเมาตะมะ เข้ากองทัพแล้วให้เกณฑ์พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน และเพื่อนอีกหลายคน เป็นกองหน้า พระยาเจ่งและพวกชวนกันคิดขบถ ฆ่าแพกิจจาและไพร่พลพม่าเสียสิ้นที่ท่าดินแดง แล้วยกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ  บรรดารามัญไพร่นายก็มาเข้ากับพระยาเจ่ง เป็นอันมาก  แล้วเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะได้
                        พระยาเจ่ง และพรรคพวก เห็นที่จะชิงเอาเมืองมอญทั้งปวงได้ จึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสะโตง เมืองหงสาวดี แล้วยกเข้าตีเมืองย่างกุ้ง แต่ตีหักไปได้ครึ่งเดียว พระเจ้าอังวะก็ให้อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมารบมอญ กองทัพมอญสู้ไม่ได้ก็ถอยกลับมาเมืองเมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้ก็ยกทัพติดตามมา พวกมอญเห็นเหลือกำลัง จึงกวาดต้อนครัวมอญหนีมาพึ่งไทย มีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง เมืองตากบ้าง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนท์ ขึ้นไปจนถึงเมืองสามโคก จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่าซึ่งเป็นเชื้อมอญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เรียกกันว่า จักรีมอญ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยาเจ่ง เข้าใจว่าได้เป็นพระยามหาโยธา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้เป็นเจ้าพระยามหาโยธา ฯ ที่จักรีมอญแทนพระยารามัญวงศ์
                        ตั้งแต่พวกมอญเข้าสวามิภักดิ์ครั้งนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำสงครามกับพม่าครั้งใด ก็ปรากฏว่ามีทหารกองมอญพระยารามัญวงศ์ ควบคุมเข้าขบวนทัพไปด้วยทุกครั้ง
                        ในคราวที่พระเจ้าปดุงยกทัพเก้าทัพมาตีเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ ฝ่ายไทยยกไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า (เชิงเขาบรรทัด)  เมืองกาญจนบุรี  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญจำนวน ๓,๐๐๐ ยกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่ ในทางที่ข้าศึกจะยกมา กองมอญมีจำนวนน้อยกว่าต้องล่าถอย
                        นับแต่พระยาเจ่งได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทยแล้วก็ได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา และได้เข้าร่วมในราชการสงครามหลายครั้งหลายหน  ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ว่าคชเสนี
                ๑๔๘๓. เจ้ง  เป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง มีสายสำหรับดีดคล้ายจะเข้ เจ้งเป็นเครื่องดนตรีประเภทสายมี ๑๓ สาย  เริ่มมีในสมัยราชวงศ์จิ๋น  เจ้งในสมัยโบราณมี ๕ สาย ตัวเครื่องทำด้วยไม้ไผ่           ๙/ ๕๔๒๓
                ๑๔๘๔. เจงตู  เป็นเมืองหลวงของจีนภาคตะวันตก เป็นศูนย์กลางการปกครองของมณฑลเสฉวน ตั้งอยู่ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มแม่น้ำแดง แห่งมณฑลเสฉวน
                        หลังปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากของจีนได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้            ๙/ ๕๔๒๖
                ๑๔๘๕. เจ็ดตำนาน หมายถึงชื่อบทสวดมนต์คัมภีร์หนึ่งที่เรียกว่า เจ็ดตำนานน่าจะเป็นเพราะบทสวดมนต์นี้ มีพระสูตรที่เป็นหลักสำคัญของเรื่องรวมเจ็ดสูตรด้วยกัน ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงที่ใช้เป็นแบบอยู่ทุกวันนี้เรียกว่า จุลราชปริต  มีพระสูตรที่ยกเป็นหลักเจ็ดสูตรด้วยกันคือ มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียเมตสูตร อหิราชกสูตร หรือขันธปริต ธชัคสูตร หรือธชัคปริต อาฏานาฏิยปริต และองคุลิมาลสูตร หรือโพชฌงคปริต
                        บทนอกที่มีมาข้างต้น หรือที่ต่อท้ายเป็นบทประกอบ เจ็ดตำนานนิยมสวดในงานมงคลทั่วไป            ๙/ ๕๔๒๗

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch