|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/27
เล่มที่ ๙ จีน - ฉัททันต์ ลำดับที่ ๑๔๔๑ - ๑๕๗๖ ๙/ ๕๒๐๙ - ๕๘๖๒
๑๔๔๑. จีน ภูมิศาสตร์ จีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุด ในทวีปเอเชียและใหญ่ที่สุดของโลก รองจากประเทศรุสเซีย มีจำนวนพลเมืองมากที่สุดกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก ถ้าจะแบ่งประเทศจีนอย่างกว้างๆ ก็เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นจีนโดยตรง และส่วนที่เป็นเมืองขึ้น ซึ่งได้แก่ แมนจูเรีย (ลำดับที่...) มองโกเลียใน (ลำดับที่...) แดนเตอรกีตะวันออก หรือแคว้นสินเกียง (ลำดับที่...) เมื่อรวมสองส่วนนี้ก็เรียกว่า อาณาจักรจีน
ชนชาติจีน เดิมเป็นชนชาติเร่รอนพวกหนึ่ง อยู่ในตอนกลางหรือตอนเหนือของทวีปเอเชีย ภายหลังเมื่อ ๕,๐๐๐ ปี โดยประมาณ ก็ได้ตั้งหลักแหล่งเป็นชาวกสิกร จำกัดอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นมณฑลเชนสี ดินแดนตอนนี้จัดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเกิดเป็นประเทศจีน ต่อมานับเวลาเป็นพันปี จีนก็ขยายเขตแดนแผ่ลงมาทางใต้ ออกไปกว้างขวางตามลำดับ จนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในดินแดนเหล่านี้ ก็ถูกกลืนกลายเป็นชนชาวจีนไป
ประเทศจีนที่กล่าวนี้ ทิศเหนือติดประเทศแมนจูเรีย และมองโกเลีย ในซึ่งมีกำแพงยักษ์กั้นปันแดนทิศตะวันตกจดเขตแดนทิเบต ทิศใต้จดประเทศพม่า ลาวและเวียดนาม ทิศตะวันออกจตมหาสมุทรแปซิฟิก
ภูมิประเทศมีทั้งที่ราบ และภูเขาที่ราบขนาดใหญ่คือ ที่ราบตะวันออกเฉียงเหนือ และที่ราบใหญ่ตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำแยงซีเกียงปันแดนที่ราบใหญ่ทั้งสองนี้ แม่น้ำขนาดใหญ่มีอยู่สามสายคือ แม่น้ำหวงโห หรือแม่น้ำเหลือง ยาวประมาณ ๔,๐๐๐ กม. แม่น้ำแยงซีเกียง อันเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก ไหลผ่านตอนกลางของประเทศ ยาวประมาณ ๕,๖๐๐ กม. และแม่น้ำสิเกียง (แม่น้ำตะวันตก) ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ กม. ส่วนภูเขามีอยู่ทั่วไป เกือบครึ่งค่อนประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เพราะต่อเนื่องจากระบบภูเขาหิมาลัย
ประเทศจีนโดยตรงแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ มณฑลคือ กวางตุ้ง กวางสี กันสุ เกียงสี เกียงสู ไกวเจา เจ๋เกียง ชันตุง ชันสี เชนสี ฟุเกียน (ฮกเกี้ยน) ยุนนาน (ฮุนหนำ) เสฉวน ฮูนาน ฮูเป โฮนาน โฮเป และอันโหว
ประวัติศาสตร์ แม่น้ำแยงซีเกียงเคยเป็นที่ปันแดนชาวชนในประเทศจีนออกเป็นพวกเหนือ และพวกใต้ ซึ่งเป็นข้าศึกเคยรบกันอยู่บ่อย ๆ หลายสมัย ลักษณะรูปร่างชาวจีนเหนือ และชาวจีนใต้ ก็แตกต่างกันมาก
ชาวจีนไม่ได้เรียกตนว่า จีน ถ้าเป็นจีนเหนือ ก็เรียกตามตนเองว่า ชาวฮั่น อันเป็นชื่อราชวงศ์จีน ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวจีนทางใต้เรียกตนเองว่า ชาวถัง อันเป็นราชวงศ์หนึ่งเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ว่าโดยส่วนรวมจีนเรียกประเทศของตนว่า ตงก๊ก (แต้สำเนียงแต้จิ๋ว) แปลว่า ภาคกลาง แต่ที่เข้าใจกันส่วนมากว่า จีน อาจได้มาจากชื่อ ราชวงศ์จิ้น ซึ่งมีจิ้นซีฮ่องเต้ เป็นปฐมกษัตริย์
ที่มาของคำนี้อีกทางหนึ่งคือ เป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกประเทศจีน ในมหากาพย์ภารตของอินเดีย มีคำว่า จีน ใช้มาก่อนแล้ว กษัตริย์อินเดียเคยตรัสว่า พระองค์เคยเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปทางเหนือ ของประเทศอินเดียพบดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงทรงขนานนามดินแดนนั้นว่า จีน
ชนชาติจีน มีประชากรที่เป็นชนเผ่าต่าง ๆ กันสิบกว่าเผ่ามารวมกัน มีชนเผ่าสำคัญที่ปรากฎในประวัติศาสตร์จีน มีหกเผ่าคือ
๑. อินโดจีน อยู่ในมณฑลยูนนาน ไกวเจา กวางสี ภาคตะวันตกของฮูนาน และภาคใต้ของเสฉวน
๒. จีนแท้ อาศัยอยู่ทั่วทุกส่วนของประเทศ ถือกันว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอั้งตี่ กษัตริย์จีนราชวงศ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่านี้
๓. แมนจู อาศัยอยู่ทางตอนเหนือคือ ในมณฑลเลียวนิง กีริน เฮลุงเกียง พวกกิม และกษัตริย์ราชวงศ์เช็ง เป็นชนเผ่านี้
๔. มองโกล อาศัยอยู่ในมองโกเลียใน มณฑลชิงไห่ และทางเหนือของภูเขาเทียนชัน กษัตริย์ราชวงศ์หงวน เป็นชนเผ่านี้
๕. เตอร์ก หรือมุสลิม อาศัยอยู่ทางเหนือและใต้ ของภูเขาเทียนชัน กระจายไปตามมณฑลต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำฮวงโห แยงซีเกียง และสิเกียง เป็นพวกอินโดยูโรเปียน ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ได้รับอารยธรรมจากจีน เดิมอาศัยอยู่ในเตอรกีสถาน และค่อย ๆ อพยพมาทางตะวันออก เข้ามาในเขตประเทศจีน ราชวงศ์โห้วถัง โห้วจิ้น ก็เป็นชนเผ่านี้
๖. ทิเบต เดิมอาศัยอยู่ในทิเบต ภาคตะวันออกและภาคกลาง มณฑลชิงไฮ ทางใต้ของเทียนชัน นับถือลัทธิลามะ กษัตริย์ราชวงศ์ซีเซีย ก็เป็นชนเผ่านี้
ประวัติศาสตร์ของจีน อาจแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็นสามระยะคือ ยุคสมัยเบื้องต้น ยุคสมัยดึกดำบรรพ์ และยุคสมัยปัจจุบัน ยุคสมัยเริ่มต้นเป็นเรื่องเทพนิยาย ยุคสมัยดึกดำบรรพ์ มีทั้งที่เป็นนิยาย และที่อาจเป็นความจริงปน ๆ กัน เรื่องราวดังกล่าวอยู่ในเรื่อง ไคเภ็ก จบลงที่ราชวงศ์เซี้ยสิ้นสุดลง
ราชวงศ์เจา (ก่อน พ.ศ.๕๘๐ - พ.ศ.๒๘๘) เจ้าวู้หวัง ได้ชัยชนะจากพระเจ้าเจาสิน (ติวอ๋อง) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ช้างถังแล้ว ก็ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจา (จิว) ตามชื่อเมืองเดิมที่ครองอยู่ เมืองนี้อยู่ในมณฑลชานสี ในระยะต่อมาเจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ แตกแยกเป็นก๊กใหญ่น้อย ก๊กไหนมีกำลังมากก็ปราบก๊กที่อ่อนแอกว่า อำนาจของฮ่องเต้ก็คงเหลือเพียงในนาม ราชวงศ์เจาสืบกษัตริย์มาได้ถึง ๓๕ ชั่ว เป็นระยะเวลา ๘๗๓ ปี นับว่ายาวนานกว่าราชวงศ์ใดๆ ในประวัติศาสตร์ ประเทศจีนตอนนี้มีอาณาจักรอยู่แต่มณฑลชันสี และชันตุง เท่านั้น
สมัยราชวงศ์จิ๋น (พ.ศ.๒๘๘ - ๓๓๔ ) แคว้นจิ๋น มีเจ้าผู้ครองสืบต่อกันมานาน จนถึงองค์ที่ ๓๑ คือ จิ๋นเซียนอ๋อง ถูกทางเมืองหลวงคิดกำจัด จึงยกทัพไปตีเมืองหลวงได้ แต่ไม่ประกาศตนเป็นฮ่องเต้ จนมาถึงผู้ครองแคว้นจิ๋นองค์ที่ ๓๓ คือ จิ๋นเจงอ๋อง (จิ๋นอ๋อง ในเรื่องไซฮั่น ) จึงประกาศตนเป็นฮ่องเต้ พระนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ พระองค์ได้ปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ไว้ได้หมด แผ่นดินจีนในครั้งนั้นมีเขตแดนตั้งแต่มณฑลฮูเปทางเหนือ จนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในมณฑลจี้เกียงทางทิศใต้ จดทะเลเหลืองทางทิศตะวันออก และสุดแดนมณฑลเสฉวน ทางทิศตะวันตก พระองค์ทรงแบ่งดินแดนเหล่านี้ออกเป็น ๓๖ มณฑล และตั้งข้าหลวงใหญ่ปกครองขึ้นตรงต่อฮ่องเต้
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ไซฮั่น) (พ.ศ.๓๓๗ - ๕๕๗) เล่าปัง เมื่อได้ราชสมบัติจากราชวงศ์จิ๋นองค์สุดท้ายแล้ว ก็เฉลิมพระนามเป็น พระเจ้าฮั่นเกาโจ๊ (ฮั่นโกโจ ในไซฮั่น) ฮั่นเป็นชื่อทั้งแม่น้ำและรัฐเล็ก ๆ รัฐหนึ่ง ในมณฑลเชนสี ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่เดิมของพระเจ้าฮั่นเกาโจ๊ และนำเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อราชวงศ์ พระองค์จัดสังคายนารวบรวมหนังสือที่ยังเหลืออยู่ ไม่ถูกเผาในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ แล้วทรงฟื้นฟูคำสอนของขงจื้อขึ้นใหม่ ย้ายราชธานีเดิมมาตั้งที่เมืองเชียงอาน ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเชนสี พระองค์ต้องทรงทำสงครามกับพวกตาด อยู่เกือบตลอดรัชกาล และในตอนปลายแผ่นดินก็ต้องปราบปรามขบถภายในอยู่ตลอดเวลา ราชวงศ์ฮั่นสืบต่อกันมา ๑๑ องค์ พระเจ้าผิงตี่ถูกอำมาตย์ชื่อ อองมัง แย่งราชสมบัติได้ ราชวงศ์ไซฮั่นก็สิ้นสุดลง
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ตั้งฮั่น) (พ.ศ.๕๖๘ - ๗๕๗) ) เมื่ออองมัน ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ไม่นานมีเชื้อพระวงศ์ฮั่นองค์หนึ่งชื่อ ลิวสิว ยกกองทัพมาตีเมืองหลวงได้ แล้วขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนาม พระเจ้ากวงวูตี่ และโปรดให้ย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองโละหยาง (ลกเอี๋ยงในเรื่องตั้งฮั่น) ซึ่งอยู่ในมณฑลโฮนันในปัจจุบัน ทรงแบ่งอาณาจักรจีนจาก ๓๖ มณฑล ให้เหลือเพียง ๑๓ มณฑล ให้มีอุปราชปกครองในแต่ละมณฑล
พระเจ้ามิงตี่ ได้ครองราชย์องค์ต่อมา (พ.ศ.๖๐๑ - ๖๑๙) ได้นำเอาพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้สร้างเขื่อนใหญ่ กั้นแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) เขื่อนนี้ยาวถึง ๔๘ กิโลเมตร
สมัยสามก๊ก (พ.ศ.๗๕๗ - ๗๖๖) ในตอนปลายราชวงศ์ฮั่น มีนายทหารชั้นแม่ทัพชื่อ ตั๋งโต๊ะ ได้ปราบจลาจลขึ้นในเมืองหลวงได้ แล้วราชบุตรของพระเจ้าลิงตี่ (เล่งตี่ในตั้งฮั่น) ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนาม พระเจ้าเสียนตี่ (เฮี่ยนเต้) ตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการ ย้ายราชธานีจากเมืองลกเอี๋ยง กลับไปตั้งที่เมืองเชียงอานตามเดิม ต่อมาตั๋งโต๊ะถูกกำจัดลงได้ โจโฉถือโอกาสคุมกองทัพเข้ามายึดราชธานีไว้ได้ กักพระเจ้าเสียนเต้ไว้ ตนเองขึ้นเถลิงอำนาจ ต่อจากนี้ไปประวัติศาสตร์จีน ก็เข้าสู่ยุคสามก๊กคือ
๑. ก๊กเว (วุยในสามก๊ก) อยู่ตอนเหนือและตอนกลาง ราชธานีอยู่ที่เมืองโละหยาง (ลกเอี้ยง)
๒. ก๊กหวู (หงอในสามก๊ก) อยู่ทางใต้ของแม่น้ำยางซี มีมณฑลฮูนาน ฮูเป เกียงซู และจี้เกียง ตั้งราชธานีที่เมืองนานกิง (น่ำเกีย)
๓. ก๊กฉุ (จกในสามก๊ก) อยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน ได้แก่ มณฑลเสฉวน ตั้งราชธานีที่เมืองเจงคู (เซ่งโต๋ - แต้จิ๋ว) ทั้งสามก๊ก ทำสงครามขับเคี่ยวกันตลอดมาในที่สุด ก๊กเว ยกไปตีก๊กฉุได้
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ไซจิ้น) (พ.ศ.๘๐๘ - ๘๖๐) ในเวลา ๓๐๐ ปี ต่อจากสามก๊กประเทศจีนตกอยู่ในระยะเกิดกลียุค แตกกันเป็นก๊กเล็ก ๆ มากมาย ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเฉ่าเป (โจผี) ไม่ทรงสามารถ ซือหม่าเจียว (สุมาเจียว) บุตร ซือหม่าอี้ (สุมาอี้) ได้สิทธิขาดราชการงานเมือง เมื่อซื่อหม่าเจียว สิ้นชีวิตแล้ว ซื่อหม่าย่วย (สุมาเอี๋ยน) ผู้เป็นน้องชายได้รับตำแหน่งแทน ภายหลังแย่งราชสมบัติได้ ประกาศตนเป็นจิ้นบู๊ฮ่องเต้ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นไซจิ้น ในรัชกาลนี้ได้เมืองกังตั๋ง หรือแคว้นวู มารวมเป็นอาณาเขตเดียวกัน
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ตั้งจิ้น) (พ.ศ.๘๖๐ - ๙๖๓) สมัยนี้บ้านเมืองเป็นกลียุคอีก ทางส่วนใต้ของแม่น้ำแยงซี มีผู้อ้างตนเป็นทายาทฮ่องเต้อยู่มากมายหลายคน ต่างตั้งตนเป็นอิสระ ส่วนทางเหนือของแม่น้ำแยงซี พวกตาดยกเข้ามาแล้วไม่ยอมถอยกลับ ในที่สุดทางตอนใต้ ลิวหยือ (เล่าหยู) ซึ่งมีเชื้อตาด และเคยเป็นแม่ทัพของฮ่องเต้ สามารถปราบก๊กต่าง ๆ ได้หมดสิ้น แล้วคิดขบถยกทัพเข้ามาแย่งราชสมบัติ ในเมืองหลวงจับฮ่องเต้องค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์จิ้น ไปปลงพระชนม์ และประกาศตนเป็นฮ่องเต้ เปลี่ยนเป็นราชวงศ์สุง (ซ้อง)
ราชวงศ์สุง (พ.ศ.๙๖๐ - ๑๐๒๒) ในสมัยพระเจ้าเวนตี่ (บุนเต้) ฮ่องเต้องค์ที่สี่ ในราชวงศ์สุง พวกตาดก๊กเว ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองตอนใต้ไว้ได้ถึงหกมณฑล มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๘ องค์
ราชวงศ์ซี้ (พ.ศ.๑๐๒๒ - ๑๑๐๕) แม่ทัพคนหนึ่งชิงราชสมบัติจากฮ่องเต้องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์สุง ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์จี๊ (ซี้) ถัดจากนั้นก็ถึงราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์เฉน และราชวงศ์สุย โดยลำดับ
ราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) ราชวงศ์ถังยืนยาวมาเกือบ ๓๐๐ ปี เป็นยุคที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์จีนที่มีมาแล้ว ยกเว้นแต่ราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าถังไทจุง (ไทจง) เป็นฮ่องเต้ ที่มีพระนามโด่งดังเท่ากับเป็นมหาราชองค์หนึ่งของจีน ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำศึกได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวง ต่อพวกตาดเตอรโกแมน (บรรพบุรุษของตุรกีปัจจุบัน ซึ่งเป็นตาดตะวันตก พวกหนึ่งเรียกรวม ๆ ว่า พวกไซฮวน ในเรื่องพงศาวดารจีน
ในปี พ.ศ.๑๑๗๓ พระองค์โปรดให้ภิกษุเหี้ยนจัง (ถังซำจั๋ง) ไปสืบพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พ.ศ.๑๑๘๘ พระองค์ทรงกรีธาทัพไปตีประเทศเกาหลี ซึ่งสมัยนั้นแบ่งออกเป็นสามแคว้น แต่ตีไม่สำเร็จได้ทั้งสามแคว้น ฮ่องเต้องค์ต่อมาคือ พระเจ้าเกาจุง ทรงจัดทัพไปตีเกาหลี เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ ได้ชัยชนะได้เกาหลีมาเป็นเมืองขึ้นได้ทั้งหมด อีก ๒ - ๓ ปีต่อมาพวกตูรฟาน (ไซฮวนรวมทิเบตด้วย) ยกกองทัพใหญ่เข้ามีตีเขตแดนจีนทางตะวันตก จีนยกกำลังไปต้านทานผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายครั้ง ในที่สุดจีนได้ชัยชนะ ฮ่องเต้องค์ต่อมาคือ พระเจ้าชุงจุง ขึ้นเสวยราชเพียงสามเดือนก็ถูกนางวูเฮา พระราชมารดาถอดออกจากราชสมบัติ แล้วนางวูเฮา ก็ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ผู้หญิง ซึ่งไม่เคยมีประเพณีอย่างนี้มาก่อน (ดูเรื่องบูเช็กเทียน)
ในสมัยพระนางวูเฮา ครองราชย์มีพวกขี่ตั๋น อันเป็นชนชาติตาดตะวันออก อยู่ทางมณฑลเชนสี ขึ้นไปในเขตแคว้นแมนจูเรีย ยกกำลังเข้ามาตีปล้นเขตแดนตอนเหนือของจีนอยู่บ่อย ๆ
หลังจากนั้น จนถึงฮ่องเต้องค์ที่ ๒๐ ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายในราชวงศ์ถัง บ้านเมืองก็ตกอยู่ในระยะเสื่อมลงตามลำดับ
สมัยห้าราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์เอ๊าเหลียว (พ.ศ.๑๔๕๐ - ๑๔๖๖) มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าถัง (พ.ศ.๑๔๖๖ - ๑๔๗๙) มีฮ่องเต้ ๔ องค์ ราชวงศ์เอ๊าจิ้น (พ.ศ.๑๔๗๙ - ๑๔๙๐) มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าฮั่น (พ.ศ.๑๔๙๐ - ๑๔๙๔) มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าโจ (พ.ศ.๑๔๙๔ - ๑๕๐๓) มีฮ่องเต้ ๓ องค์
ราชวงศ์สุง (ซ้อง) (พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๘๒๓) มีฮ่องเต้สืบต่อกันมา ๑๘ องค์ (ดูพงศาวดารจีนเรื่อง น่ำปัก) ในปี พ.ศ.๑๖๖๘ พวกกิมเมื่อปราบพวกขีตั๋นแล้ว ก็ยกทัพมาประชิดแดนจีน แล้วตีเข้ามาถึงเมืองไคเฟงฟู (อยู่ในมณฑลโฮนัน) อันเป็นราชธานีพระเจ้าสุงฮุยจุง เสด็จหนีไปเมืองนานกิง ประเทศจีน ตอนนี้แบ่งเป็นสองภาค ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นของพวกกิม ภาคใต้ถัดแม่น้ำแยงซีลงมาเป็นของพวกจีน โดยมีนานกิงเป็นราชธานี
พ.ศ.๑๖๗๕ พวกตาดมองโกล ปรากฎตนขึ้นครั้งแรกทางพรมแดนตอนเหนือของจีน ต่อมาถึงปี พ.ศ.๑๗๐๕ เจงกิสข่านยกพวกตาดมองโกลเข้าประเทศจีนได้ แล้ววกไปตีพวกตาดกิม ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่แหลมเลียวตุง (ในแคว้นแมนจูเรียตอนใต้) พระเจ้าหลีจุง ฮ่องเต้องค์ที่ ๘ ในราชวงศ์สุง ทรงทำไมตรีกับตาดมองโกล แล้วร่วมกันโจมตีพวกกิม จนพ่ายแพ้ล่มจนหมดไป
เมื่อหมดพวกกิม อันเป็นกันชนแล้ว ตาดมองโกลก็เริ่มเป็นปรปักษ์กับจีน ได้รบขับเคียวกันถึง ๕๐ ปี จีนก็แพ้ หมดราชวงศ์สุง ลงเพียงนี้
ราชวงศ์หยวน (หงวน) (พ.ศ.๑๘๒๓ - ๑๙๑๑) กุบไลข่าน โอรสองค์ที่สองของเจงกิสข่าน เป็นฮ่องเต้ในประเทศจีน ทรงพระนาม พระเจ้าสีจู๊ (สีโจ๊) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หยวน ตั้งราชธานีที่กรุงกำบูลุค หรือกรุงปักกิ่ง ทรงประพฤติพระองค์เป็นไปในทางวัฒนธรรมจีนทุกอย่าง ในเรื่องศาสนาได้ให้เผาคัมภีร์ในลัทธิต่างๆ หมด ยกเว้นคัมภีร์เต๋าเต๊ะจิง (เต๋าเต้กเก็ง) ของลัทธิเต๋า เท่านั้น พระองค์สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๗ มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๑๐ องค์ ก็เปลี่ยนเป็นราชวงศ์หมิง
ราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๓) จูหงวนฉ่าง เมื่อได้ราชสมบัติแล้วก็ขึ้นเป็นพระเจ้าไทจู้ แห่งราชวงศ์หมิง ทรงตั้งราชธานีเป็นสองแห่งคือ นานกิง เป็นราชธานีใต้ และไคเฟอฟู เป็นราชธานีเหนือ มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๑๖ องค์ ก็ถูกหลีซูเจง เป็นขบถชิงราชสมบัติได้
ราชวงศ์ชิง (เชง) (พ.ศ.๒๓๘๘ - ๒๔๕๐) ในสมัยราชวงศ์หมิง พวกแมนจูซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เหนือเมืองมุกเดน ไปทางตะวันออก ได้ยกทัพมาตีจีนตอนเหนือ ทั้งสองฝ่ายตั้งทัพคุมเชิงกันอยู่ เมื่อทางจีนเกิดวุ่นวาย พวกแมนจูถือโอกาสยกทัพเข้ากรุงปักกิ่ง หัวหน้าแมนจูยกหลานของตนเป็นฮ่องเต้ องค์แรกในราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้ต่อมาอีก ๑๐ องค์ เป็นระยะเวลา ๒๖๘ ปี ฮ่องเต้องค์สุดท้ายถูกคณะเก๊กเหม็ง ถอดออกจากราชสมบัติ
๑๔๔๒. จีนจันตุ - พระยา เป็นขุนนางจีน ชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งอาสาพระยาละแวกเจ้าเมืองเขมร ไปตีเมืองเพชรบุรี ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๑๒๑ พระยาละแวกจึงจัดกองทัพเรือ ให้พระยาอุเทศราชากับพวกพระยาจีนจันตุเป็นแม่ทัพ คุมพลประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่ตีไม่สำเร็จต้องยกทัพกลับไป พระยาจีนจันตุ เกรงอาญาจึงรีบอพยพครอบครัว ลงเรือหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงให้ความอุปถัมภ์ไว้ แต่พระยาจีนจันตุเมื่อได้รู้ตื้นลึกหนาบางของกรุงศรีอยุธยาแล้ว พอได้โอกาสก็พาครอบครัวลงเรือสำเภา จะหลบหนีออกทะเลกลับไปเขมร
ในระยะเวลานั้น สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นพฤติกรรมเช่นนั้น จึงพาทหารลงเรือไล่ติดตาม พระยาจีนจันตุไปทันเกิดการสู้รบกัน ไปจนถึงเมืองธนบุรี พอสำเภาของพระยาจีนจันตุ ได้ลมแล่นใบออกทะเลไปได้ เรือฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเป็นเรือเล็ก สู้คลื่นไม่ได้จึงจำต้องเสด็จกลับ ๙/ ๕๒๕๓
๑๔๔๓. จี้ลี่ (เว้น) ๙/ ๕๒๕๕
|
Update : 25/5/2554
|
|