หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/26
    ๑๔๒๓. จิตหัตถ์  เป็นชื่อพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์สมบูรณ์ด้วยปฏิสัมภิทาทั้งสี่ในพระพุทธศาสนาท่านอยู่ในพวกที่เรียกว่าทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา คือปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า เนื่องจากเป็นผู้มีจิตไม่หนักแน่นมั่นคงมีปัญญายังไม่แก่กล้าพอจะรู้แจ้งธรรม ทั้งเมื่อออกบวชก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา ครั้นบวชแล้วก็ถูกอำนาจกิเลสรบกวนจึงลาสึก เมื่อไม่พอใจในชีวิตฆราวาสก็กลับมาบวชใหม่ เป็นอย่างนี้ถึงหกครั้ง ครั้งที่เจ็ดได้พบภาพสลดใจจากภรรยาของท่านเอง จึงตัดสินใจบวชไม่สึกอีก และไม่นานก็บรรลุพระอรหันต์          ๘/ ๕๑๐๘
                ๑๔๒๔. จิ้น ๑ - แคว้น  เป็นชื่อแคว้นหนึ่งของจีนในสมัยเลียดก๊ก (๕๗๒ ปีก่อน พ.ศ. - พ.ศ.๓๒๒) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่พระเจ้าโจวเฉิงหวัง (ครองราชย์ ๕๗๒ - ๕๓๕ ปีก่อน พ.ศ.) ทรงให้อนุชาเป็นเจ้าเมืองถัง มีราชทินนามว่าถังโห็ว ต่อมาโอรสถังโห็วย้ายไปครองเมืองจิ้น สถาปนาตนเองเป็นจิ้นโห็ว สมัยต่อมาเมืองจิ้นได้ขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้นเป็นแคว้น มีดินแดนครอบคลุมไปถึงภาคใต้ของทั้งมณฑลซันซี และมณฑลเหอเป่ย ครั้นปลายสมัยเลียดก๊ก แคว้นจิ้นถูกแบ่งเป็นแคว้นย่อยสามแคว้นคือ หัง เจ้าและเว่ย แคว้นจิ้นสิ้นสุด เมื่อปี พ.ศ.๙๐          ๘/ ๕๑๑๓
                ๑๔๒๕. จิ้น ๒  เป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน ต่อจากสมัยสามก๊ก แบ่งเป็นสองระยะ          ๘/ ๕๑๔๔
                             ๑. ไซจิ้น (พ.ศ.๘๐๘ - ๘๕๙) มีเมืองลกเอี๋ยน (ลั่วหยัง) เป็นราชธานี มีกษัตริย์สี่พระองค์
                             ๒. ตั้งจิ้น (พ.ศ.๘๖๐ - ๙๖๒) มีเมืองเกียนเงียบ (เจี้ยนเอี้ย) ปัจจุบันคือเมืองนานกิง เป็นราชธานี มีกษัตริย์สิบเอ็ดองค์
                            ในราชวงศ์ตั้งจิ้นนี้ บรรดาผู้คงแก่เรียนหันไปศึกษาปรัชญาเมธีของจีนโบราณ ต่อมาเมื่อพระกุมารชีพแห่งอินเดียเดินทางไปสู่ประเทศจีน นำเอาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแผ่ด้วย เพราะมีคำสอนในนิกายศูนยตวาทิน มีหลักธรรมคล้ายคลึง และเข้ากับหลักคำสอนของเหลาจื๊อ นักปราชญ์จีนที่รู้ในลัทธิเต๋าดีอยู่เดิม จึงหันมาสนใจและศึกษานิกายมหายานมากขึ้น ในที่สุดพระกุมารชีพ ได้รับสถาปนาเป็นราชครูแห่งพระเจ้าโห้วฉิน  พระกุมารชีพได้ทำงานสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามหายาน คือการถ่ายทอดพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้ได้มากที่สุด
                ๑๔๒๖. จิ้น ๓ - ราชวงศ์  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีนในสมัยอู่ไต้ยุคหลัง (พ.ศ.๑๔๕๐ - ๑๕๐๓) ในปี ๑๔๕๙ สือจิ้งถังได้ขอกำลังทัพจากเจ้าแห่งคี่ตัน (ชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศพายัพของจีน) เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ถัง โดยยอมถวายตัวเป็นราชบุตรบุญธรรมของเจ้าองค์นั้น เมื่อดำเนินการจนสำเร็จแล้ว เจ้าแห่งคี่ตันจึงทรงสถาปนา ให้สือจิ้งกังขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า เกาจู่ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นจิ้น แล้วพระเจ้าเกาจู่ยินยอมยกดินแดน ๑๖ จังหวัดทางภาคเหนือของจีนแก่พระเจ้าคี่ตัน พวกคี่ตันจึงรวมดินแดนที่ตนมีอยู่เดิมและที่ได้มาใหม่แล้วตั้งเป็นอาณาจักรเหลียงขึ้น
                            การยกดินแดน ๑๖ จังหวัดให้แก่คี่ตันนี้นับเป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียดินแดนทั้งหมดทางภาคเหนือของจีนอย่างถาวร กล่าวคือ ชนชาวจีนในมณฑลต่าง ๆ ทางภาคเหนือต้องเหินห่างจากวัฒนธรรมจีนเดิม และในขณะเดียวกันก็ต้องรับเอาขนบประเพณีของชนเผ่าผู้รุกรานแทนเป็นเวลาเกือบ ๒๐๐ ปีมาก่อนคือตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าถังเสวียนจง (ครองราชย์ พ.ศ.๑๒๕๖ - ๑๒๙๘)  ครั้นถึงราชวงศ์ซ้อง ประเทศจีนไม่สามารถตีเอาดินแดนเหล่านั้นคืนมาได้
                           ส่วนราชวงศ์จิ้นนั้นมีอาณาเขตอยู่ในมณฑลเหอหนัน ซันตง สั่นซี กันซู่ ตลอดทั้งภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ย มีเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนันเป็นเมืองหลวง ราชวงศ์นี้สืบต่อมาได้เพียงรัชกาลเดียวก็ถูกพวกคี่ตันโค่นล้มในปี พ.ศ.๑๕๐๙          ๘/ ๕๑๑๗
                ๑๔๒๗. จิ้นซีฮ่องเต้  เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีนที่สามารถรวมอาณาจักรจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เมื่อปี พ.ศ.๓๒๒ แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้มีศักดิ์สูงกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นที่เคยปกครองประเทศจีนมาก่อน
                           จิ้นซีฮ่องเต้ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๘๔ ในสมัยเลียตก๊ก เป็นบุตรเจ้าเมืองจิ๋น เมื่ออายุ ๑๓ ปี ได้เป็นเจ้าเมืองต่อจากบิดา มีนามว่า จิ๋น อ๋อง เจ้ง
                           ประเทศจีนในปลายราชวงศ์จิว ได้แบ่งแยกออกเป็นเจ็ดก๊ก แต่ละก๊กมีเจ้าเมืองปกครอง และสถาปนาตนเองเป็นอ๋อง (หวัง) จิ๋น อ๋อง เจ้ง ได้วางแผนรวมรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น ได้สำเร็จเมื่อครองเมืองจิ๋นได้ ๒๖ ปี (พ.ศ.๓๒๒)
                           จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันอิทธิพลทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร เช่น ขับไล่พวกฮั่นซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของจีน ริบอาวุธประชาชน กวาดต้อนพวกผู้ดีมีเงินมาอยู่ในเขตราชธานี สร้างถนน เผาตำรา จับอาจารย์สำนักต่าง ๆ มาฝังทั้งเป็น ฯลฯ
                           จิ้นซีฮ่องเต้ มีพละกำลังแข็งแกร่งในการประกอบกรณียกิจประจำวัน ซึ่งทรงกำหนดไว้ว่า ถ้าไม่เสร็จตามอัตราที่กำหนดไว้ จะไม่ทรงพักผ่อน นอกจากนี้ยังออกตรวจราชการในจังหวัดทุรกันดาร โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก พระองค์ได้กำหนดมาตรา ชั่ง ตวง วัด ตลอดจนเงินตราและภาษา เพื่อเป็นมาตรฐานขึ้นใหม่ โปรดให้นำอักษรเมืองจิ๋น ที่เคยใช้มาแต่เดิมมาดัดแปลงให้เขียนง่ายขึ้น ประกาศใช้เป็นภาษากลางทั่วประเทศ ด้านการปกครองให้เลิกระบบผู้ครองเมือง และรวมอำนาจทั้งหมด ซึ่งคอยควบคุมการปกครองของแต่ละเมืองโดยตรง  เขตปกครองแบ่งออกเป็นจังหวัด และอำเภอ ผู้ปกครองจังหวัด และอำเภอต้องได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช้วิธีสืบสกุล
                           ในปี พ.ศ.๓๒๓ ได้เริ่มสร้างถนนสายใหญ่ ๆ ขึ้นสองสายคือ สายตะวันออก เริ่มจากเมืองห้ำเอี๋ยง ตัดตรงไปยังอาณาจักรของเมืองเอี๋ยน และเจ๋ เดิม สายใต้ผ่านเมืองฌ้อเดิม ทั้งสองสายมีความกว้าง ๕๐ ก้าว พื้นถนนมีความมั่นคงแข็งแรงมาก สองข้างถนนปลูกต้นสนไว้ทุกระยะ ๓๐ ศอก (จีน)
                           ในปี พ.ศ.๓๒๘ พระองค์ได้ทำการขับไล่พวกฮัน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของจีน เพื่อเป็นการป้องกันราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.๓๒๙ - ๓๓๐ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นการใหญ่ มีการสร้างถนนสายยาวที่สุด มีความยาวถึง ๑,๘๐๐ ลี้ และสร้างกำแพงเมืองจีนที่ยาวที่สุด ซึ่งแต่เดิมในสมัยเลียดก๊ก เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือ เช่น เจ๋ งุ่ย ฌ้อ ล้วนมีกำแพงของตนทั้งสิ้น มาในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ จึงทำการซ่อมแซมและสร้างเสริม เพื่อให้มีกำแพงติดต่อกันตลอด ภาคเหนือเป็นระยะทางยาวถึง หมื่นลี้เศษ
                           ในปี พ.ศ.๓๓๓ จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ทรงออกตรวจราชการเป็นครั้งสุดท้าย เป็นระยะทางยาวที่สุด ทรงประชวรและสวรรคต ณ มณฑลโฮไป ปัจจุบัน          ๘/ ๕๑๒๐
                ๑๔๒๘. จินดามณี  ๑  เป็นชื่อหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่ง ในวรรณคดีไทยใช้เป็นตำราแบบเรียนภาษาไทย แพร่หลายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
                            หนังสือจินดาฉบับพิมพ์ ที่รู้จักกันแพร่หลายมีสองฉบับคือ ฉบับกรมศิลปากร เล่ม ๑ และเล่ม ๒ นอกจากนั้นยังมีฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเล ฉบับโรงพิมพ์พาณิชศุภผล และฉบับโรงพิมพ์หมอสมิซ บางคอแหลม
                            จินดามณี เล่ม ๑ กรมศิลปากร  มีข้อความกล่าวว่า พระโหราธิบดี แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตอนต้นมีร่ายนำ แล้วรวบรวมศัพท์ที่มีเสียงพ้องกัน แต่เขียนผิดกัน มาลงไว้เป็นตัวอย่างหัดอ่าน หัดเขียน ตอนต่อไปมีกาพย์สำหรับให้จำคณะทั้ง ๘ ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ จากลักษณะการแต่งหนังสือจินดามณี เห็นได้ว่าผู้แต่งมีความรอบรู้ในวิชาอักษรศาสตร์ และวรรณคดีอย่างสูง นับว่าจินดามณีเป็นตำราเรียนอันวิเศษ ในภาษาไทยเล่มหนึ่ง
                            จินดามณี เล่ม ๒ พระนิพนธ์กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก แล้วต่อไปแจกลูกรวมทั้งอักษรกล้ำ ในแม่ ก กา กก กด กบ กน และเกอย แล้วผันอักษรกลางทุกตัวด้วยวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา (ห้าเสียง) ผันอักษรสูงด้วย เอก โท (สามเสียง) ผันอักษรต่ำ เอก โท (สามเสียง) รวมทั้งอักษรกล้ำทุกแม่ และอักษรต่ำที่มี ห และ อ นำ เล่ม ๒ นี้ แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓
                            จินดามณี ฉบับหมอบรัดเล จัดพิมพ์  เป็นฉบับสำรวมใหญ่คือ พิมพ์รวมกันไว้หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน มีประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม นอกจากนั้นยังมีเพิ่มเติม แทรกเรื่องคำอธิบายต่าง ๆ ไว้อีก เช่น อักษรควบ ได้เอาเครื่องหมายวรรคตอน ในภาษาอังกฤษมาลงไว้ด้วย มีราชาศัพท์ ศัพท์กำพูชา คำชวา และโคลงกลบทต่าง ๆ ในจารึกวัดพระเชตุพน
                            จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  นายขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายไมโครฟิลม์ มาจากต้นฉบับสมุดข่อยที่เก็บอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำมามอบให้กรมศิลปากร กล่าวว่าแต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ มีแจกอักษร และผันอักษรตามวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา และบอกฐานที่เกิดของพยัญชนะ แล้วถึงประสมอักษร และสะกดแม่ต่าง ๆ
                            จินดามณีฉบับความแปลกมีอยู่สองฉบับคือ ฉบับสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ ทั้งสองเล่มมีบานแพนก ขึ้นต้นเหมือนกันทั้งสองฉบับ แปลกจากฉบับอื่นคือ "ศักราช ๖๔๕ (เข้าใจว่าเป็นจุลศักราช ตรงกับปี พ.ศ.๑๘๒๖ และตรงกับที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ฯ)  พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย จึงแต่งหนังสือไทย และแม่อักษรทั้งหลายตามพาทย ทั้งปวง อันเจรจาซึ่งกัน แลครั้งนั้นแต่งแต่แม่อักษรไว้ จะได้แต่งเปนปรกติวิถารณหามิได้ แลกุลบุตรผู้อ่านเขียนเป็นอันยากนัก แลอนึ่งแม่หนังสือแก่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกย นั้น เมืองขอมก็มีแต่งอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งแต่รูปอักษรไทยต่างๆ แลอักษรขอมคำสิงหล พากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ ฯลฯ"          ๘/ ๕๑๒๖
                ๑๔๒๙. จินดามณี  ๒  ชื่อวิชาหรือมนตรที่นางยักษิณี บอกแก่ลูกชายที่มาอยู่ในหมู่มนุษย์ ในเรื่อง ปทกุสลชาดก ในณิบาตชาดก นวกนิบาต เล่ม ๑๐ เค้าเรื่องเหมือนเรื่องพระอภัยมณี ตอนต้น           ๘/ ๕๑๓๗
                ๑๔๓๐. จินดามณี  ๓  เป็นชื่อมหากาพย์ของวรรณคดีทมิฬ เป็นเรื่องเล่าถึงการท่องเที่ยว เผชิญภัยต่าง ๆ ของพระราชกุมารชื่อ ชีวกะ แต่งเป็นแบบกาพยสันสกฤต และเป็นฉันท์ นอกจากนี้คำว่า จินฺตามณิ ในภาษาสันสกฤต ยังเป็นชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ และคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ
                ๑๔๓๑. จินตกวี  คือ กวีผู้แต่งกลอนตามเรื่องที่คิดผูกขึ้นเอง เช่น สุนทรภู่ คิดผูกเรื่องพระอภัยมณีขึ้นแต่งเป็นกลอน ชื่อว่า เป็นจินตกวี          ๘/ ๕๑๓๗
                ๑๔๓๒. จินตหรา  เป็นชื่อนางหนึ่งในบทละครเรื่อง อิเหนา เป็นพระธิดาของเจ้าเมืองหมันหยา มีพระรูปโฉมงดงาม เป็นราชกุมารี ที่รักของพระบิดาและเหล่าพระญาติ ได้พบอิเหนาที่เมืองหมันหยา เกิดความรักอยากเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน ภายหลังอิเหนาได้นางเป็นชายา โดยไม่เปิดเผย ต่อมาท้าวหมันหยาได้รับสารของศรีปัตหรา เจ้ากรุงกุเรปัน พระบิดาของอิเหนา ให้ส่งพระธิดามายังเมืองกาหลัง จะอภิเษกเป็นราชเทวี รองนางบุษบา พร้อมด้วยนางกษัตริย์อื่น ๆ นางจินตหราไม่ยินยอมในตอนแรก แต่เมื่อพระบิดาวิงวอน ขอให้นางรับอภิเษก เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง นางจึงยอมรับ และเสด็จเข้าร่วมราชพิธีอภิเษก เป็นประไหมสุหรี ฝ่ายขวา           ๘/ ๕๑๓๘
                ๑๔๓๓. จิบ  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีหลายอย่างในท้องที่ต่าง ๆ กันคือ
                            ๑. เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ใช้เลาไม้ลำปักในคลอง เรียงทางซ้ายและทางขวาเป็นลำดับ เปิดช่องตอนท้ายไว้ แล้วเอาเฝือกขนาบกับเสาสองข้างอย่างเดียวกับกะบัง (ลำดับที่ ๒๕๔)  ระหว่างกลางเอาอวนลงกัน ให้ปลาเข้าถุงอวน  จับเมื่อเวลาน้ำไหลอ่อน
                            ๒. เครื่องมือตาข่าย  ประกอบด้วยไม้ไผ่รูปสามเหลี่ยม ทำเป็นโครงของปากจิบ ตอนล่างเรียบและราบ แต่ตอนบนที่ไม้ไผ่ประจบกันนั้น ต่อยาวขึ้นมาเป็นที่สำหรับถือ ใช้ถุงจิบกว้าง ๑ เมตร สี่เหลี่ยม เย็บติดสามด้าน ส่วนที่เหลือผูกเชือกตอนกลาง เพื่อยกขึ้นลง ใช้ในภาคอีสาน
                            ๓. เครื่องมือตามข้อ ๒ บางคราวก็ใช้นั่งห้างจับปลาเรียก ห้างจิบ มักพบในภาคเหนือ
                            ๔. ลี่  เป็นเครื่องมือใช้จับสัตว์น้ำที่มีกระแสน้ำไหลแรง จนปลาทานกำลังน้ำไม่ได้ ต้องกระโดดขึ้นไปบนร้านโจน ให้คนจับ ครั้นเวลาน้ำลดไม่มีกำลังพอพัดปลาขึ้นร้าน ก็จะเปลี่ยนลี่ เป็นจิบ จิบที่เปลี่ยนจากลี่ นี้มีในภาคกลาง และภาคเหนือ
                ๑๔๓๔. จิ้มก้อง  การจิ้มก้อง มีว่าแต่โบราณกาลมาจีนถือว่า พระเจ้ากรุงจีนเป็นราชาธิราช อยู่เหนือเจ้าประเทศอื่นๆ จึงมีคำเรียกพระเจ้ากรุงจีนว่า ฮ่องเต้ เรียกเจ้าประเทศอื่นว่า อ๋อง เมื่อประเทศต่าง ๆ ไปค้าขายถึงเมืองจีน ก็มีพระราชสาสน์และมีเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งจีนเรียกว่า จิ้มก้อง เมื่อนั้นจีนจึงยอมให้เรือของประเทศนั้น ๆ เข้าไปทำการค้าขายกับจีนได้
                            จีนถือว่า ประเทศที่ไปจิ้มก้อง ยอมเป็นประเทศราชไปแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจีน ส่วนประเทศต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีกับจีน
                            จากจดหมายเหตุจีน ได้ความว่าไทยไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีน ตั้งแต่สมัยเมื่อพระเจ้ารามคำแหง ฯ ครองกรุงสุโขทัย เป็นปฐม และมีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้เลิก
                            เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๕ ง่วนสีโจ๊ ฮ่องเต้ (กุบไลข่าน) ให้ทูตมาเกลี่ยกล่อม เสียมก๊ก คือ กรุงสุโขทัย กับหลอฮกก๊ก คือ กรุงละโว้ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่รวมกันเป็น เสียมหลอฮกก๊ก ให้ไปอ่อนน้อมต่อกรุงจีน พ.ศ.๑๘๓๖ ง่วนสีโจ๊ ฮ่องเต้ ให้ราชทูตไปทำทางพระราชไมตรีด้วยพระเสียมก๊ก
                            ต่อมาพระเจ้าไถ่โจ๊ ฮ่องเต้ ทรงปรารภว่า ประเทศต่างๆ ที่อยู่ไกลคือ เจียมเสีย (จัมปา) งังน่าง (ญวน) ซีเอี้ยง (โปร์ตุเกส) ซอลี้ (สเปน) เอี่ยวอวา (ชวา)  เสียมหลอฮกก๊ก (เมืองไทย) ปะหนี (ปัตตานี) กำพัดฉิ (กัมพูชา) เคยไปจิ้มก้องทุกปี ฝ่ายจีนสิ้นเปลืองมากนัก จึงห้ามไม่ให้ไปทุกปี (ให้ไปสามปีครั้ง)
                            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๘  นายห้างปุนถัง มีจดหมายมาถึงกระทรวงต่างประเทศว่า ตกต่งภาคกวางตุ้ง สั่งให้ทวงก้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงปรึกษาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ กับเคาซิลออฟสเตต ได้ความเห็นเป็นสองฝ่าย เห็นว่าควรไปจิ้มก้องฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าไม่ควรอีกฝ่ายหนึ่ง ครั้งนั้นยุติให้พระยาโชฎึก ฯ มีจดหมายไปถึงนายบ้านปุนถัง ให้บอกต๋งต๊กว่า ถ้าจะให้ทูตไทยไปเมืองจีนก็ต้องให้ขึ้นบกที่เมืองเทียนจิ๋น เหมือนทูตฝรั่งจึงจะไป แต่นั้นจีนก็ไม่ทวงก้อง ต่อมา          ๘/ ๕๑๔๐
                ๑๔๓๕. จิ้มฟันจระเข้  เป็นปลาที่มีลักษณะแปลกออกไปที่ลำตัวหุ้มด้วยแผ่น (กระดูก) เรียงเป็นแถวและเป็นวงรอบตัว แทนที่จะเป็นเกล็ด
                             ปลาชนิดนี้มีลำตัวยาว เป็นเหลี่ยมหัวเรียว มีปากยาวยื่นออกมา แบนข้าง ท่อนหางยาวกว่าลำตัว ปลาในสกุลนี้อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย ในเขตร้อน          ๘/ ๕๑๕๑
                ๑๔๓๖. จิรประภา  เป็นนางกษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๘๗ - ๒๑๒๑ นับได้เป็นสามสมัยคือ สมัยแรก พ.ศ.๒๐๘๑ - ๒๐๘๗ สมัยต่อมา พ.ศ.๒๐๙๐ - ๒๐๙๕  และครั้งที่สาม พ.ศ.๒๑๐๗ - ๒๑๒๑          ๘/ ๕๑๕๒
                ๑๔๓๗. จิว ๑ เป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน (ก่อน พ.ศ.๕๗๙ - พ.ศ.๒๘๗)
                           ประวัติความเป็นมา ในปลายราชวงศ์ซัว (ก่อน พ.ศ.๑๒๒๓ - ก่อน พ.ศ.๕๘๐) ในประเทศจีนมีรัฐอยู่แห่งหนึ่งชื่อ จิว (โจว) ตั้งอยู่ในมณฑลลั่นซีปัจจุบัน ในแถบลุ่มแม่น้ำเว่ย
                           อาณาเขตของประเทศจีนในสมัยราชวงศ์จิวนี้ ได้แก่ มณฑลต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำฮวงโห และแยงซีเกียง และมณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน
                        ราชวงศ์จิว เจริญที่สุดในรัชสมัยพระเจ้าเฉิงหวาง และคังหวางเริ่มเสื่อมในรัชสมัยพระเจ้าอี๋หวาง และสิ้นสุดราชวงศ์จิวยุคแรก ในรัชสมัยพระเจ้าอิวหวาง เมื่อก่อน พ.ศ.๒๒๘ เรียกยุคนี้ว่า ราชวงศ์จิวตะวันตก พระราชโอรสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าผิงหวางทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองลั่วอี้ (อำเภอลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนันปัจจุบัน)  เมื่อก่อน พ.ศ.๒๒๗ กษัตริย์ที่สืบต่อจากพระเจ้าผิงหวาง มี ๒๐ พระองค์
                          ราชวงศ์จิว สิ้นสุดลงด้วยการถูกรัฐฉิน ตีได้ในปี พ.ศ.๒๘๗ เรียกราชวงศ์จิว ช่วงนี้ว่า ราชวงศ์จิวตะวันออก นักประวัติศาสตร์จีน ได้แบ่งราชวงศ์จิวตะวันออกเป็นสองยุคย่อยคือ
                          ๑. ชุนชิว  (ก่อน พ.ศ.๑๗๙๓ - พ.ศ.๖๒)  ที่เรียกชื่อนี้ เพราะได้ชื่อมาจากหนังสือชุนชิว อันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่ ซึ่งขงจื้อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคนั้นได้แต่งไว้ ในสมัยชุนชิวนี้ อำนาจของกษัตริย์ราชวงศ์จิว เสื่อมโทรมลงมาก
                          ๒. จั้นกว่อ  (พ.ศ.๖๓ - ๓๒๑)  คำว่า จั้น แปลว่า สงคราม กว่อ แปลว่า ประเทศหรือรัฐ จึงแปลว่า รัฐต่า งๆ ทำสงครามกัน จนในที่สุดเหลือเพียงเจ็ดรัฐใหญ่ ๆ ได้แก่ ฉิน ฉี ฉู่ เอียน หัน เจ้า และเว่ย
                          ๒. เป็นราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๑๐๐ - ๑๑๒๓)  นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เป่ยโจว หรือโห้วโจว  เป็นราชวงศ์สุดท้ายแห่งสมัยเป่ยเฉา (พ.ศ.๙๓๙ - ๑๑๒๔)  มีเมืองฉางอัน (อำเภอฉางอัน มณฑสั่นซี)  เป็นเมืองหลวงมีอาณาเขตทิศเหนือ จดมณฑลภาคเหนือ ทิศตะวันออกจดภาคตะวันตก ของมณฑลเหอเป่ย เหอหนัน ทิศใต้จดแม่น้ำแยงซีเกียง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จดเมืองกูจัง มณฑลกันซู กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีทั้งสิ้นห้าพระองค์ สุดท้ายถูกขุนนาง บรรดาศักดิ์สุยกุง ชิงราชสมบัติ แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สุยเหวินตี้ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นสุ่ย
                          ๓. เป็นชื่อราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๒๓๓ - ๑๒๔๗)  พระนางบูเช็กเทียนขึ้นเสวยราชย์ เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นโจว หรือจิว เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๒๔๘ พระเจ้าจุงจุง ผู้ถูกยึดอำนาจได้ราชสมบัติคืน เปลี่ยนชื่อราชวงศ์กลับมาเป็น ราชวงศ์ถัง ดังเดิม
                          ๔. เป็นชื่อราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๔๙๕ - ๑๕๐๒)  เป็นราชวงศ์สุดท้ายในสมัยอู่ไต้ มีแม่ทัพประจำเมืองเย่ (อำเภอเย่ ในมณฑลเหอหนัน ชิงราชบัลลังก์ จากราชวงศโห้วฮั่น แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไท่จู่ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๔ เปลี่ยนราชวงศ์เป็น จิว ตั้งเมืองเปี้ยน (อำเภอไคเพิง ในมณฑลเหอหนาน ปัจจุบัน)  เป็นเมืองหลวง มีอาณาเขตครอบคลุมไปยังมณฑลต่าง ๆ คือ เหอหนัน ซันตุง สั่นซี กันซู่ หูเป่ย ภาคใต้ของเห่อเป่ย และภาคเหนือของอันฮุย ราชวงศ์นี้ สิ้นสุดเมื่อเจ้าควงอิ้น ผู้ตรวจราชการทหารและข้าหลวงภาค ขึ้นครองราชย์แล้วก็เปลี่ยน เป็นราชวงศ์ซุ่ง หรือซ้อง           ๘/ ๕๑๕๔
                ๑๔๓๘. จิวยี่  เป็นบุคคลสมัยสามก๊กของประเทศจีน เกิดเมื่อปี พ.ศ.๗๑๘ ณ เมืองซู ในมณฑลอันฮุย ปัจจุบัน บิดาเป็นข้าหลวงเมืองลกเอี๋ยง (ลั่วหยัง)  เป็นเพื่อนของซุนเซ็ก พี่ชายซุนกวน เมื่อซุนกวนขึ้นครองกังตั๋ง ต่อจากซุนเซ็ก จิวยี่ก็ได้เป็นนายทัพ
                            เมื่อปี พ.ศ.๗๔๕ โจโฉ ได้มีหนังสือถึงซุนกวน เกลี้ยกล่อมให้มาสวามิภักดิ์ต่อตนเอง จิวยี่ไม่เห็นด้วย ซุนกวนเห็นด้วยกับจิวยี่ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อโจโฉ ต่อมาในปี พ.ศ.๗๕๑ โจโฉยกทัพใหญ่ลงมาตีได้เมืองเก็งจิ๋ว แล้วเตรียมยกล่วงลงมาตีกังตั๋งต่อไป จิวยี่อาสาออกสู้โจโฉ ระหว่างนั้นเล่าปี่ตั้งหลักอยู่ที่เมืองแห่เข้า (แฮเค้า)  และตกลงรวมกำลังกันเข้าสู้โจโฉ โดยมีขงเบ้ง จิวยี่ และโลซก เป็นที่ปรึกษา ขณะนั้นโจโฉตั้งทัพอยู่ทางฝั่งเหนือ (ฝั่งซ้าย) ของแม่น้ำแยงซีเกียง ส่วนจิวยี่ตั้งทัพอยู่ฝั่งใต้ (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำแยงซีเกียง อุยกายได้ออกอุบายให้โจโฉ ผูกเรือรบเรียงกันเป็นลูกโซ่ เพื่อจะได้จุดเพลิงเผากองทัพเรือโจโฉเป็นผลสำเร็จ  โจโฉต้องถอยทัพขึ้นเหนือไปตั้งหลักที่เมืองลำก๋น จิวยี่แนะนำซุนกวนให้ปฎิบัติต่อเล่าปี่ มิให้คิดการใหญ่ได้ แต่ซุนกวนไม่เห็นด้วยมุ่งแต่จะทำสงครามกับโจโฉ โดยอาศัยเล่าปี่ช่วย จิวยี่เห็นซุนกวนไม่ฟังคำตน จึงขอทหารซุนกวนยกทัพไปตีเสฉวน อันเป็นเมืองของเล่าเจี้ยง ระหว่างเดินทัพแผลที่ถูกเกาทัณฑ์กำเริบ ถึงแก่กรรมระหว่างเดินทัพนั้น เมื่อปี พ.ศ.๗๕๓ อายุเพียง ๓๖ ปี          ๘/ ๕๑๖๓
                ๑๔๓๙. จี๊เกียง เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของจีน เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งกำเนิดของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นจำนวนมาก
                            จี๊เกียง เป็นมณฑลที่เล็กที่สุดในประเทศจีน ตั้งอยู่ท่ามกลางสี่มณฑลคือ เกียงซู อันฮุย เกียวสี และฮกเกี้ยน แถบชายฝั่งทะเล มีการคมนาคมทางน้ำติดต่อระหว่างหยินเสี้ยน ติ้งไห่ ไห่เหมิน หยิงเจีย กับเซี่ยงไฮ้ และหมินโจว
                            หูโจว (หังโจว)  เคยเป็นเมืองที่เจริญมาก เคยเป็นราชธานีของหนำซ้องในสมัยโหงวต่ออู่ไถ่ (ห้ายุค)           ๘/ ๕๑๗๑
                ๑๔๔๐.  จี๊ด - พยาธิ พยาธิตัวจี๊ด พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ มีพบเกิดในคนไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
                            ในคนตัวจี๊ดมักเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมปวด และคันผิวหนังเป็นผื่นแดง และเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ อาการต่าง ๆ อาจคงอยู่เป็นเวลานานนับจำนวนอาทิตย์ หรือเดือน ก็ได้ พยาธิอาจโผล่ออกมาที่ผิวหนัง และหลุดออกมาได้ง่ายโดยใช้มือบีบ หรือปลายเข็มเขี่ยบริเวณที่พยาธิโผล่ ออกมาจะเกิดเป็นปุ่มพอง สีค่อนข้างแดงตัวจี๊ดอาจเข้าไปในลูกตา หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้
                             การป้องกันไม่กินเนื้อปลาดิบ หรืออาหารที่ปรุงด้วยเนื้อปลาดิบหรือเนื้อสัตว์ดิบ

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch