หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/24
    ๑๓๕๙. จันทรภาณุ  เมื่อพิจารณาจากข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว มีผู้ลงความเห็นว่า จันทรภาณุ เห็นจะเป็นตำแหน่งที่เรียกกันว่า อุปราช
                            ปรากฎในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ว่าเจ้าผู้ครองนครตามพรลิงค์ ทรงพระนามว่า จันทรภาณุ พระองค์ได้ยกทัพไปรบเกาะลังกา
                            ในหนังสือแหลมอินโดจีน สมัยโบราณกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ถึงกึ่งแรกศตวรรษที่ ๑๘ แห่งพุทธศักราช กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ลือชื่อของกรุงชาวกะ ขึ้นเสวยราชย์ ได้ความตามศิลาจารึกลง พ.ศ.๑๗๗๐ ว่าทรงพระนาม พระเจ้าจันทรภาณุ           ๘/ ๔๘๕๕
                ๑๓๖๐. จันทรวงศ์  คือ วงศ์กษัตริย์ซึ่งนับสกุลเนื่องจากพระจันทร ลงมาทางพระพุธซึ่งว่าเป็นโอรสพระจันทร กับนางดารา ผู้เป็นมเหสี พระพฤหัสบดี หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นโอรสนางโรหิณี มเหสีเอกของพระจันทรเอง
                           จันทรวงศ์ แบ่งเป็นสองสาขาใหญ่คือยาทพและเปารพ        ๘/ ๔๘๖๒
                ๑๓๖๑. จันท์สุดา  เป็นลูกสาวท้าวพรหมจักร ผู้ครองนครจันทรนครในเรื่องคาวี  นางเป็นผู้ที่มีรูปงามและเกษาหอม        ๘/ ๔๘๖๙
                ๑๓๖๒. จันทา  จากเรื่องสังข์ทอง ในปัญญาสชาดก นางจันทาเป็นมเหสีฝ่ายขวา ของพระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองราชสมบัติในพรหมนคร มีบุตรเป็นสังข์ทอง         ๘/ ๔๘๖๙
                ๑๓๖๓. จับยี่กี  เป็นการพนันชนิดหนึ่ง มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง เรียกว่า "ซังลัก" แปลว่า คู่หก หรือจับยี่กี แปลว่า หมากรุกสิบสองตัว ต่อมาได้ดัดแปลงการพนันชนิดนี้ใหม่ ในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง  อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นมีไพ่มี ๑๒ ใบ ไม้กระดานสี่เหลี่ยมจตุรัสตรงกลาง มีเส้นแบ่งเขตฝ่ายแดงและดำ หีบไม้สำหรับใส่ไพ่ และกล่องไม้มีลิ้นชัก สำหรับใส่ไพ่หนึ่งตัว        ๘/ ๔๘๗๑
                ๑๓๖๔. จับสั่น - ไข้  ดู มาเลเรีย (ลำดับที่ ...)          ๘/ ๔๘๗๔
                ๑๓๖๕. จำปานคร  เป็นชื่อเมืองหลวงครั้งโบราณของแคว้นอังคะ หรือเบงกอลในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ปัจจุบันเป็นแม่น้ำจันทัน  ยังมีหมู่บ้านชื่อ จัมปานคร และจัมปาปูร สองหมู่บ้านเหลืออยู่ที่ตรงนั้น         ๘/ ๔๘๗๔
                ๑๓๖๖. จ่า - บรรดาศักดิ์  ดู ฐานันดร (ลำดับที่ ...)         ๘/ ๔๘๗๔
                ๑๓๖๗. จาก  เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำตื้น ๆ โดยมีลำต้นทอดไปตามเลน หรือโคลน ชูก้านใบตั้งตรงสูงพ้นน้ำขึ้นมาประมาณ ๔.๕๐ - ๖.๐๐ เมตร ดอกออกเป็นช่อ ด้วยเหตุนี้ผลจากจึงรวมกันเป็นช่อใหญ่
                           จากเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก ทั้งใบ ช่อดอกและผล ใบเมื่อนำมาเย็บซ้อน ๆ กันแล้วใช้มุงหลังคาได้ ผลจากใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๘๗๔
                ๑๓๖๘. จากุน  เป็นชื่อชนพื้นเมืองเดิมพวกหนึ่งของแหลมมลายู อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ก่อนชาวมลายู แต่มาภายหลังพวกเงาะ  พวกจากุนที่ยังเหลืออยู่ไม่กลายเป็นมลายู แบ่งกว้าง ๆ ได้เป็นสองพวกคือพวกโอรังบูกิด (คนเขา) และพวกโอรังละอดุด (คนทะเล)       ๘/ ๔๘๗๕
                ๑๓๖๙. จาคะ  หมายถึง การเสียสละ การให้ปัน เป็นคำแสดงความหมายถึงคุณธรรมอย่างหนึ่ง คำนี้ถ้ามาในหมวดธรรมคู่กับคำว่าทาน  จาคะหมายถึงการสละสิ่งที่เป็นข้าศึก แก่ความจริงใจ ได้แก่ความโลภ โกรธ หลง การเสียสละนี้ท่านให้พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนว่าสมควรอย่างไร       ๘/ ๔๘๗๖
                ๑๓๗๐. จาโคแบง  เป็นชื่อพรรคการเมือง ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๓๖ - ๒๓๓๗ พวกจาโคแบงเป็นพวกที่กุมอำนาจการปกครองประเทศอยู่
                           คำว่าจาโคแบงเป็นชื่อที่พวกฝรั่งเรียกพวกที่นับถือลัะทธินิกายโคมินิกันในตอนแรก ๆ พวกจาโคแบงส่วนใหญ่ มีหัวไม่รุนแรงนักและมีความเชื่อถือในการปกครอง ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย      ๘/ ๔๘๗๗
                ๑๓๗๑. จางวาง  ดูฐานันดร (ลำดับที่ ....)         ๘/ ๔๘๘๕
                ๑๓๗๒. จาณักยะ  เป็นชื่อของนักการปกครองและอำมาตย์เอกของพระเจ้าจันทรคุปต์เมารยะ
                            จาณักยะ ได้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้แก่ จันทรคุปต์ จบดีเยี่ยมทั้งในด้านกฎหมายและพลเรือน        ๘/ ๔๘๗๕
                ๑๓๗๓. จาตุมหาราช  ดูจตุโลกบาล (ลำดับที่๑๔๘๒)         ๘/ ๔๘๙๑
                ๑๓๗๔. จาตุรงคมหาปธาน  แปลว่า การตั้งความเพียรมีองค์สี่คือ หนัง เอ็น กระดูก เนื้อเลือด รวมเป็นองค์สี่ หมายความว่า ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ถึงเนื้อเลือดจะแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ยอม ถ้าทำกิจไม่สำเร็จจะไม่ยอมเลิก กล่าวเฉพาะพระพุทธเจ้าคราวประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิ์ในเย็นวันที่จะตรัสรู้นั้น          ๘/ ๔๘๙๑
                ๑๓๗๕. จาตุรงคสันนิบาต  เป็นชื่อของการประชุมพุทธสาวกเป็นพิเศษคือ มาฆบูชา เป็นการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ ในอรรถกถาสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย กำหนดองค์สี่ไว้ดังนี้
                            ๑. พระสงฆ์พุทธสาวก มีจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่มาประชุมกันนั้นเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณทั้งหมด
                            ๒. ทั้งหมดนั้นเป็นเอหิภิกขุ พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบททั้งหมด
                            ๓. ทั้งหมดนั้นมาพร้อมกันเอง โดยไม่ได้นัดหมาย
                            ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
                            พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะสม จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น
                            โอวาทปาติโมกข์ มีใจความสำคัญเป็นสองข้อ ข้อหนึ่งทรงแสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยรวมยอดว่ามีสามประการคือ ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ทำความดีให้บริบูรณ์ และทำจิตให้ผ่องแผ้ว        ๘/ ๔๘๙๓
                ๑๓๗๖. จาน - เกาะ  เป็นชื่อเกาะอยู่ในเขต อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากฝั่ง ๘ กม. กว้าง ๕๐๐ เมตร ยาว ๙๐๐ เมตร ยอดสูง ๖๓ เมตร บนเกาะมีรังนกอีแอ่น          ๘/ ๔๘๙๖
                ๑๓๗๗. จานิสซารีส์  เป็นชื่อกองทหารประจำการที่ลือชื่อของจักรวรรดิ์ออตโตมานของตุรกี ในปี พ.ศ.๑๘๗๓ ได้มีการใช้ระบบพรากเด็กหนุ่ม ที่นับถือคริสตศาสนาจำนวนมาก จากพ่อแม่เอามาเป็นทหารทุกปี ปีแรกเอามาเพียง ๑,๐๐๐ คนก่อน แล้วให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เมื่อได้รับการฝึกทหารเป็นเวลานานพอสมควรแล้วก็บรรจุเป็นเยนิ เจรี หรือทหารใหม่ พวกอานิสซารีส์จะไว้หนวดเคราไม่ได้ จะแต่งงานไม่ได้ จะทิ้งโรงทหารไปไม่ได้ และจะค้าขายก็ไม่ได้จะต้องใช้เวลาเฉพาะการฝึกหัดและปฏิบัติตามยุยทธวิธีเท่านั้น
                            ในปี พ.ศ.๒๑๓๔ กองทัพจานิสซารีส์มีทหารรวม ๔๘,๖๘๘ คน ในปี พ.ศ.๒๑๘๓ - ๒๑๙๑ ได้ลดจำนวนลงเหลือ ๑๗,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ มีทหารถึง ๑๓๕,๐๐๐ คน จำนวนนี้เป็นจำนวนที่ปรากฎตามใบเบิกจ่ายเท่านั้น ในยามสงบกองทัพจานิสซารีส์จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง
                           กองทัพจานีสซารีส์ มาถึงจุดจบในสมัยสุลต่านมะหะหมัดที่สอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ โดยสมาขิกของกองทัพนี้ได้ถูกฆ่าตายจนหมดสิ้น         ๘/ ๔๘๙๖
                ๑๓๗๘. จาม  เป็นชนชาติหนึ่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่บัดนี้ได้สูญสิ้นประเทศของตนไปหมด คงมีอยู่กระจัดกระจายตามแถบภูเขา ลุ่มแม่น้ำโขง มีจำนวนไม่มากนัก
                           ถิ่นกำเนิดของจามไม่ทราบชัดว่ามาจากไหน แต่เมื่อดูจากภาษาพูดก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คงเป็นพวกมลายูหรืออินโดนีเซีย แต่ก็มีคำในเครือญาติใช้ร่วมกับคำไทยอยู่มากคำ
                          พวกจามเดิมนับถือศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ที่ถือพระศิวะเป็นใหญ่ ภายหลังมีพวกมลายูข้ามทะเลมาเผยแพร่ศานาอิสลามในจัมปา พวกจามโดยมากจึงเข้ารีตนับถืออิสลาม แต่ก็คงมีฮินดูปะปนอยู่ในจารีตประเพณีต่าง ๆ อยู่มาก
                          อาณาจักรของพวกจามที่เรียกจัมปานั้น ได้เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณตอนต้นหรือตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ ตอนแรกดูเหมือนที่เริ่มต้นที่เมืองกวางนามใต้ เมืองเว้ลงไปไม่มากนัก ต่อมาได้ขยายเขตลงมาทางใต้เป็นระยะทางกว่า ๓๒๐ กม. จนถึงอ่าวคัมราห์น และขยายไปทางตะวันตก พ้นเทือกเขาอันนัมเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำโขงอันได้แก่ กัมพูชา และภาคใต้ของลาวในปัจจุบัน
                          เรื่องราวของพวกจาม มีปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกความทรงจำของผู้สำเร็จราชการจีน ที่มาปกครองมณฑลต่าง ๆ ที่มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๘๒๓ ว่า พวกจามได้โจมตีเขตแดนที่อยู่ในความยึดครองของจีนเนือง ๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรฟูนัน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้และตะวันตกของอาณาจักรจัมปา พวกจามมักยกกองทัพไปตีบ้านเมืองชายราชอาณาจักรของจีนอยู่เสมอ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สมัยราชวงศ์ถังสามารถยับยั้งการรุกรานของพวกจามได้ชั่วคราว จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕
                          ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อาณาจักรจัมปาถูกพวกชวาโจมตีอย่างหนัก ในปี พ.ศ.๑๓๑๗ พวกชวาได้ทำลายเทวาลัยโพนนครอันเก่าแก่อยู่ในเมืองนาตรังปัจจุบัน ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๔๔๑ - ๑๔๔๖) ได้มีสัมพันธไมตรีกับชวาอย่างใกล้ชิด ทำให้ชวามีอิทธิพลเหนือศิลปะของจามในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นอย่างมาก
                          พ.ศ.๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังสิ้นอำนาจ อานันได้ตั้งอาณาจักรไดโคเวียด (อานัมและตังเกี๋ย) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๒ ต่อมาได้ยกกองทัพมาย่ำยีจัมปา ทำลายเมืองอินทรปุระ และปลงพระชนม์พระเจ้าปรเมศวรวรมัน พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๔ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ลี้ภัยไปอยู่ทางใต้ และขอให้จีนช่วยแต่ไม่เป็นผล เมื่อพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๔ สิ้นพระชนมม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๓๒ ชาวอานัมชื่อเหลียวกีกอง ซึ่งยึดอำนาจได้ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์จัมปา และขอให้จีนรับรองฐานะของตน
                          ในปี พ.ศ.๑๕๓๑ พวกจามได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยมีชาวพื้นเมืองคนหนึ่ง ต่อมาตั้งตัวเป็นกษัตริย์ที่เมืองวิชัย (บินห์ดินห์)   ทำการได้สำเร็จใช้พระนามว่า พระเจ้าหริวรมันที่ ๒ ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ ๗ พระองค์ขอให้จีนรับรองฐานะของพระองค์ เป็นผลสำเร็จ แล้วยกทัพไปโจมตีอานัมหลายครั้งด้วยกัน ในที่สุดอาณาจักรทางเหนือของจามก็อวสานลง พวกอานัมได้โจมตีมณฑลต่าง ๆ จน จามต้องทิ้งเมืองอินทรปุระมาอยู่ที่เมืองวิชัย
                          ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จามต้องสูญเสียแคว้นต่าง ๆ ทางเหนือให้แก่อานัม ในปี พ.ศ.๑๕๗๓ ได้ทำสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งกัมพูชา
                          ในรัชสมัยพระเจ้าวรมันที่ ๓ มีจารึกจำปานคร ปรากฎใช้ภาษาไทยลงศักราชเทียบเท่า พ.ศ.๑๕๙๘
                          พระเจ้าหริวรมันที่ ๔ ได้ตั้งราชวงศ์ที่ ๙ ทรงสามารถบูรณะปฎิสังขรณ์บ้านเมืองที่ถูกทำลายไป ทำให้จัมปากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็ว ได้ขับไล่อานัมออกไปและบุกรุกกัมพูชา เข้าไปจนถึงเมืองซำบอร์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง และได้ทำลายปูชนียวัตถุ ทางศาสนาลงหมดสิ้น
                          พ.ศ.๑๖๘๘ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แห่งกัมพูชา ได้ยกทัพไปรุกรานจัมปา ยึดเมืองวิชัยซึ่งเป็นเมืองหลวงได้ ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรจัมปา พระเจ้าชัยหริวรมันที่ ๑ ได้ขับไล่เขมรออกไป แล้วยกทัพไปโจมตีเขมร ในปี พ.ศ.๑๗๙๒  ยึดเมืองวิชัยคืน
                          พ.ศ.๑๗๒๐ พระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ ๔ ยกทัพเรือทางทะเลไปยังดินแดนปากแม่น้ำโขง แล้วแล่นเรือไปตามแม่น้ำโขง เข้ายึดนครธมโดยเขมรไม่ทันรู้ตัว พ.ศ.๑๗๓๓ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างนครธมขึ้นใหม่ แล้วยกทัพไปตีอาณาจักรจัมปาได้
                          การที่พวกมองโกลมีชัยชนะในประเทศจีน ทำให้สงครามระหว่างอานัมกับจัมปา ยุติลงอีก ๕ ปี ต่อมาคือ ปี พ.ศ.๑๘๐๐ กองทัพมองโกล เข้าตีเมืองฮานอยแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.๑๘๒๔ กุบไบข่าน ส่งขุนพลผู้หนึ่งมาปกครองจัมปา แต่ก็พบอุปสรรค และการต่อต้านมากมาย และในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย
                          ปี พ.ศ.๑๘๕๕  อานัมยกกองทัพมาตีจัมปา ปลดพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ ๔ และจับไปเป็นเชลย และตั้งอนุชาของพระองค์นาม เชนัง เป็นกษัตริย์แทน ตอนนี้จัมปากลายเป็นแคว้นหนึ่งของอานัม ผู้ปกครองจัมปาถูกลดฐานะลงเป็นเจ้าประเทศราชชั้นสอง เชนังพยายามต่อสู้ในปี พ.ศ.๑๘๖๑ แต่พ่ายแพ้ยับเยินต้องหนีไปอยู่ที่ชวา อันเมืองเมืองเกิดของพระราชมารดาของพระองค์
                          ในปี พ.ศ.๑๙๑๔  จัมปาตีและทำลายเมืองฮานอยได้ แต่จีนโดยปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง สั่งให้จัมปายุติสงคราม กษัตริย์จัมปาจึงหันไปปราบปรามพวกสลัดในทะเลหลวง และสิ้นพระชนม์ในการรบทางทะเล เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๓
                          ในปี พ.ศ.๒๐๑๔ อานัมก็พิชิตจัมปาได้อย่างเด็ดขาด สงครามครั้งนี้ ชามจัมปาถูกฆ่าตายไม่น้อยกว่า ๖๐,๐๐๐ คน พวกอานัมจับพวกราชตระกูล และเชลยศึกอีกประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน กลับไปอานัม อานัมได้ผนวกจัมปาทั้งหมด แต่ทางตอนใต้บางส่วน พวกจามก็ยังคงมีแว่นแคว้นของตน อยู่ต่อมาอีกหลายร้อยปี จีนรับรองกษัตริย์จาม จนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๖ ราชสำนักจามคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้จนถึงปี พ.ศ.๒๒๖๑ ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวจาม ได้อพยพพลเมืองเกือบทั้งหมด หนีความกดขี่ของอานัมเข้าไปในดินแดนกัมพูชา
                         ลำดับกษัตริย์จาม  ราชวงศ์ที่ ๑ (พ.ศ.๗๓๕ - ๘๗๙) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๒ (พ.ศ.๘๗๙ - ๙๖๓) มี ๖ องค์  ราชวงศ์ที่ ๓ (พ.ศ.๙๖๓ - ๑๐๗๒) มี ๙ องค์  ราชวงศ์ที่ ๔ (พ.ศ.๑๐๗๒ - ๑๓๐๐) มี ๙ องค์  ราชวงศ์ที่ ๕ (พ.ศ.๑๓๐๑ - ๑๔๐๒) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๖ (พ.ศ.๑๔๑๘ - ๑๕๓๔) มี ๙ องค์ ราชวงศ์ที่ ๗ (พ.ศ.๑๕๓๔ - ๑๕๘๗) มี ๖ องค์  ราชวงศ์ที่ ๘ (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๑๗) มี ๓ องค์ ราชวงศ์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๖๑๗ - ๑๖๘๒) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๐ (พ.ศ.๑๖๘๒ - ๑๖๘๘) มี ๑ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๑ (พ.ศ.๑๖๘๘ - ๑๘๖๑) มี ๑๑ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๒ (พ.ศ.๑๘๖๑ - ๑๙๓๓) มี ๓ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๙๓๓ - ๒๐๐๑) มี ๕ องค์ และราชวงศ์ที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๐๐๑ - ๒๐๑๔) มี ๒ องค์         ๘/ ๔๙๐๓
                ๑๓๗๙. จามจุรี  เป็นต้นไม้ใหญ่ แตกง่ามในระยะสูง ทรงพุ่มแผ่สล้าง ไม้พันธุ์นี้มีกระจัดกระจายทั่วไปในอัฟริกาและเอเชีย ในประเทศไทยเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ต้นพฤกษ์ ต้นซึก และมะรุมป่า  ใบค่อนข้างใหญ่เป็นช่อรวม ดอกเล็กเกสรเป็นฝอย ดอกรวมกันเป็นกระจุก ฝักแบนปลายมน        ๘/ ๔๙๒๕
                ๑๓๘๐. จามเทวี  ๑. เป็นราชธิดาของพระเจ้าจักกวัตติ กรุงละโว้ (ลพบุรี) มาปกครองแคว้นหริภุญชัย (ลำพูน) ระหว่างปี พ.ศ.๑๒๐๕ - ๑๒๕๘)  มีราชโอรสชื่อ เจ้ามหันตยศ กับเจ้าอินทวร พระนางสิ้นพระชนม์เมื่อชันษาได้ ๙๒ ปี
                            ๒. เป็นชื่อวัดเรียกว่า วัดกุดกู่ อยู่ในอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีเจดีย์โบราณสององค์ ฝีมือช่างสกุลหริภุญชัยคือ สุวรรณเจดีย์จังโกฏ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง ย่อห้าชั้น แต่ละชั้นทุกด้านมีซุ้มทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ชั้นละสามองค์ และตามมุมทั้งสี่ของทุกชั้นเจดีย์  มีเจดีย์ทิศประดับ ตามตำนานกล่าวว่า เจ้ามหันตยศสร้างขึ้นเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุพระนางจามเทวี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๒๕๘
                            รัตนเจดีย์  เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ตอนกลางแต่ละเหลี่ยมีพระพุทธรูปยืน ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทิศ เหนือขึ้นไปมีลวดบัวสามชั้น ถัดขึ้นไปมีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทิศโดยรอบ ตอนบนเป็นองค์สถูปทรงกลม เจดีย์องค์นี้พระเจ้าสรรพสิทธิทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๐         ๘/ ๔๙๒๕
               ๑๓๘๑. จามเทวีวงศ์ เป็นตำนานว่าด้วยเรื่องพงศาวดารของเมืองหริภุญชัย พระโพธิรังษีชาวเชียงใหม่แต่งเป็นภาษามคธ ในสมัยเมื่อเชียงใหม่เป็นราชธานีของแคว้นลานนาแปลและพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓         ๘/ ๔๙๒๖
               ๑๓๘๒. จามร ดู เครื่องต้น (ลำดับที่..๑๑๒๐..)         ๘/ ๔๙๒๖
                ๑๓๘๓. จามรี  เป็นสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง รูปร่างคล้ายงัวขนาดใหญ่ มีอยู่ในประเทศทิเบต และในแผ่นดินระดับสูงสุด ของทวีปเอเซียตอนกลาง มีทั้งเป็นสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง จามรีเป็นสัตว์ทนหนาวได้ดีด้วย มีขนหนา สันสกฤตเรียก จามรีว่า จามร ในภาษาฮินดีเป็น จารี
                            ในประเทศอินเดียสมัยโบราณมักใช้ขนหางจามรี ทำเป็นแสปัดถือว่าเป็นของสูง นอกจากนี้ยังใช้หางจามรีเป็นภู่ประดับเครื่องม้า ของพวกกษัตริย์นักรบพวกตาดในประเทศตอนกลางของทวีปอาเซียใช้พู่จามรีเป็นธวัชคือ ธงประจำกองทหาร        ๘/ ๔๙๒๖
                ๑๓๘๔. จาเมกา  เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะอินดิสตะวันตก เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ จาเมกาเป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ห่างจากประเทศคิวบาด้านตะวันออก ไปทางด้านใต้ประมาณ ๑๔๕ กม. มีเมืองคิรสตันเป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดพลเมืองร้อยละ ๙๕ เป็นนิโกร หรือเลือดผสมชาวผิวขาวกับนิโกร ที่เหลือเป็นอินเดีย จีน และชาวยุโรป
                            คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พบเกาะจาเมกา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๗ จาเมกาอยู่ในปกครองของสเปน มาจนถึงปี พ.ศ.๒๑๙๘ หลังจากนั้นอังกฤษได้เข้ามายึดครองขับไล่ พวกสเปนออกไปหมด ได้มีการจัดตั้งบริษัทรอยัลอัฟริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๕ โดยอังกฤษเป็นผู้ผูกขาดการค้าทาสแต่ผู้เดียว และนับแต่นั้น จาเมกาก็เป็นตลาดค้าทาสที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
                           จาเมกาเข้าร่วมสหพันธรัฐอินดิสตะวันตก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ และถอนตัวออก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ และประกาศตนเป็นประเทศเอกราช ในเครือจักรภพอังกฤษในปีเดียวกัน         ๘/๔๙๒๗
                ๑๓๘๕. จาร  เป็นการเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน เป็นต้น เป็นคำมาจากภาษาเขมร
                             ใบลานที่ใช้จารในท้องตลาดมีอยู่ห้าชนิดเรียกกันว่า หมาย มีห้าหมายเพื่อสะดวกในการกำหนดราคาและการใช้ถ้าจารหนังสือที่เป็นตำรา เช่น มูลกัจจายนะ ใช้ห้าหมาย เพราะเป็นขนาดใหญ่กว้าง เรียกกันเป็นพิเศษว่า ลานมูล ใช้จารตัวใหญ่เพียงสามบรรทัดคือ บน กลางและล่าง ในระหว่างบรรทัดมีจารตัวเกษียนคือตัวอักษรเล็ก ๆ แทรกลงอีก
                            ถ้าจะใช้จารหนังสือบาลีอื่น ๆ เช่น พระไตรปิฎก ใช้สีหมายขนาดใหญ่ จำนวนที่ซื้อขายปรกติไม่นับจำนวนใบ เขามีประมาณไว้เรียกว่า กับมีจำนวนประมาณ ๕๐๐ - ๘๐๐ ใบ จะคัดลานออกเป็นชนิดคือ เป็นหมายให้มีขนาดกว้างยาวเท่าๆ กัน กว้างประมาณ ๕๕ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. เมื่อเลือกได้ขนาดและจำนวนพอแล้วจะมีแผ่นไม้หนาประมาณ ๒.๕ ซม. กว้างยาวเท่าขนาดของลานจริง เจาะรูสองรู กะส่วนเท่าๆ กันเป็นสามส่วนของใบลาน ใช้ลวดร้อยแล้วเอาไม้ประกับใส่ทับอีกด้านหนึ่งเรียกว่า กับหนึ่ง
                           ที่เรียกว่า ผูกนั้น กำหนดโดยนับใบลานได้ ๒๔ ลานเฉพาะที่มีตัวหนังสือใบปกต่างหากเรียกว่าผูกหนึ่ง มีสองอังกา อังกาหนึ่งมี ๑๒ ลาน คำว่าอังกา เป็นคำบาลีแปลว่าหน้า แต่ใบลานที่จารเป็นหนังสือแล้ว แม้มีสองหน้าก็รวมเรียกว่าอังกาเดียว
               ๑๓๘๖. จารฺวาก เป็นชื่อปรัชญาวัตถุนิยมระบบหนึ่งในอินเดีย  คำสอนของลัทธินี้ การเห็นประจักษ์เท่านั้นเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ โลกประกอบด้วยธาตุสี่ประการคือดิน น้ำ ลม ไฟ ทรัพย์สมบัติ และความสนุกเพลิดเพลินเป็นเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลก วัตถุเป็นสิ่งที่มีความคิดนึกได้ โลกหน้าหรือโลกอื่นไม่มี ความตายเป็นการสิ้นสุดของสรรพสิ่งทั้งหลาย
                           ตามนัยหรือหลักคำสอนของลัทธินี้ คุณธรรมความดีจึงเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ความสุขสนุกสนานเท่านั้นที่มีความจริงแท้แน่นอน ชีวิตเป็นการสิ้นสุดของชีวิต ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมกิเลสตัณหาแต่ประการใด
                           ผู้รู้บางท่านมีความเห็นว่าลัทธิจารฺวากอาจจะเป็นปรัชญาระบบแรกของอินเดียก็ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในคัมภีร์พุทธศาสนามีการ กล่าวถึงพวกมิจฉาทิฏฐิหลายประเภทด้วยกัน เช่น ในสามัญผลสูตรมีข้อความกล่าวถึงครูทั้งหกในยุคนั้น         ๘/ ๔๙๓๓
                ๑๓๘๗. จารีต  เป็นประเพณีที่ถือสืบต่อ ๆ กันมานาน ด้วยคนหมู่มากเห็นว่าถ้าผู้ใดในหมู่คณะฝ่าฝืนข้อห้าม หรืองดเว้นไม่ทำตามที่มีกำหนดไว้ ก็เป็นการผิดประเพณี เป็นที่เสียหายแก่วิถีชีวิตของคนในส่วนรวม เรียกว่าจารีตประเพณี จารีตประเพณีนั้น ได้แก่ ประเพณี คือ นิสัยสังคม
                            จารีตประเพณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งคนในสังคมถือว่าเป็นสิ่งมีค่าแก่ส่วนรวม ถ้าใครฝ่าฝืน หรืองดเว้นไม่กระทำตามประเพณี ก็ถือว่าเป็นผิด เป็นชั่ว        ๘/ ๔๙๕๕
                ๑๓๘๘. จารีตนครบาล  เป็นระบบการไต่สวนดำเนินคดีด้วยการทรมานจำเลยเพื่อให้จำเลยนั้นให้การตามความสัตย์จริง แต่มิได้กระทำแก่ผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคนไป จะกระทำก็ต่อเมื่อผู้ร้ายด้วยกันซัดทอดไปถึงผู้ต้องหา หรือจำเลยมีเหตุพิรุธอย่างใดอย่างหนึ่ง
                            ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรา พ.ร.บ.ยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ.๑๑๕
                            การใช้จารีตนครบาลมีมาแต่เริ่มสร้างกรุงศรีอยุธยา เพราะกฎหมายลักษณะโจรบัญญัติขึ้นในแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ ๑ และอาจมีใช้กันมาก่อนนี้ก็ได้         ๘/ ๔๙๕๙
                ๑๓๘๙. จารึก  หมายถึงเอกสารที่เขียนเป็นตัวอักษรหรือเครื่องหมายตามสัญนิยมอื่น ๆ ใหเป็นรอยลึกในศิลาหรือโลหะ หรือบนวัตถุอื่นใดที่มีลักษณะแข็ง และคงทนถาวรได้
                            จารึกของชาวฟินิเซียนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช  ศิลาจารึกของกรีกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดก็ประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช
                            จารึกเก่าที่สุดซึ่งค้นพบในประเทศไทยคือจารึก "เย ธมฺมา" ที่พระปฐมเจดีย์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐ - ๑๒๐๐ ในประเทศพม่าจารึกบนแผ่นทองคำ เป็นเรื่องความในคัมภีร์กถาวัตถุประมาณ พ.ศ.๑๐๕๐ ๑๑๕๐ และในประเทศกัมพูชาจารึกตั้งแผ่นดินพระเจ้าภววรมันที่ ๑ พ.ศ.๑๑๕๐  ตัวอักษรจารึกในประเทศทั้งสามดังกล่าว เป็นอักษรเดียวกันทั้งนั้น และเหมือนกันกับอักษรอินเดียฝ่ายใต้ที่ใช้อยู่ในราชวงศ์กทัมพะและราชวงศ์ปัละวะ อาจกล่าวได้ว่าอักษรอินเดียชนิดนี้เป็นเค้ามูลของอักษรมอญ - เขมร และชนชาติอื่น ๆ เคยใช้อยู่ในดินแดนนี้
                            จารึกอักษรไทยภาคกลาง จารึกเก่าที่สุดคือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ เขียนด้วยตัวอักษรไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖
                            จารึกอักษรไทยเหนือ ในตำนานอักษรไทยเรียกว่า อักษรลื้อ ซึ่งเกิดจากอักษรไทยเดิม อันสืบเนื่องมาจากอักษรมอญโบราณ ในวงการศึกษาเรียกว่า หนังสือธรรม ใช้สำหรับเขียนคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือหนังสือเทศนาต่าง ๆ            ๘/ ๔๙๖๔
                ๑๓๙๐. จาลุกยะ  เป็นชื่อราชวงศ์กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรหนึ่งที่มีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่น ๆ ในบริเวณที่ราบสูงเดดคาน ประเทศอินเดีย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ ระยะหนึ่ง และระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ อีกระยะหนึ่ง
                           กษัตริย์ราชวงศ์จาลุกยะ แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม    ๘/ ๔๙๗๔
                ๑๓๙๑. จาว  เป็นส่วนหนึ่งของคัพภ์ หรือส่วนที่เจริญเติบโตเป็นต้นอ่อนอยู่ภายในผลมะพร้าว หรือผลตาล ซึ่งเรียกกันว่า จาวมะพร้าว และจาวตาล แต่ทางพฤกษศาสตร์เรียกจาวดังกล่าวว่า ใบเลี้ยง จาวตาลและจาวมะพร้าว ใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๙๘๕
                ๑๓๙๒. จาวมะพร้าว - มัน  เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ลำต้นมีเนื้ออ่อนอาจยาวถึง ๑๐ เมตร รูปสี่เหลี่ยม ผลยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีรูปหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยม มันชนิดนี้ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ์ และป่าดิบทั่วประเทศ หัวมันใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๙๘๘

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch