หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/23
    ๑๓๒๗. จักรภพ  เป็นศัพท์ที่นักเขียนในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ใช้ในความหมายถึง กลุ่มชนทางการเมือง หรือหมายถึงคำว่ารัฐ ในความหมายที่ใช้กันในพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                            ประเทศในเครือจักรภพ หมายถึง กลุ่มประเทศที่สวามิภักดิ์ต่อองค์ประมุขของประเทศอังกฤษ และยกย่องให้เป็นผู้นำของจักรภพ ประกอบด้วยประเทศที่ปกครองตนเอง ๑๔ ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน ลังกา กานา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไนจีเรีย ไซปรัส เซียราเลโอน แทนแกนยิกา และประเทศอื่น ๆ ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
                            จักรภพแตกต่างจากสหพันธ์ เพราะไม่มีรัฐบาล รัฐธรรมนูญ กองทัพ หรือศาลส่วนกลาง         ๘/ ๔๗๔๔
                ๑๓๒๘. จักรยาน  เป็นรถถีบ ไม่ทราบว่าเริ่มใช้คำนี้ในไทยเมื่อใด แต่ในคัมภีร์สรรพพจนานุโยค (พ.ศ.๒๔๔๒) ได้นิยามคำนี้ไว้ว่า " รถถีบด้วยเท้าให้เดิน มีข้อใหญ่ข้างหน้า ล้อเล็กข้างหลัง รถไบโศรเก็ล รถจักรยานเช่นนี้ ถีบเดินเร็วนัก"         ๘/ ๔๗๔๗
                ๑๓๒๙. จักรรัตนะ  คือ สมบัติพิเศษของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพบุญญาภิสมภาร ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีอยู่เจ็ดประการ จักรรัตนะ เป็นประการแรก เป็นจักรแก้ว มีลักษณะเป็นวงกลม มีซี่ประมาณพันซี่ มีดุม มีกง มีส่วนของจักรครบครัน จักรแก้วนี้มีอานุภาพยิ่งนัก        ๘/ ๔๗๕๑
                ๑๓๓๐. จักรราศี  คือ  อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ ที่ดาวเคราะห์เดิน ดาวเคราะห์เหล่านี้มีวิถีโคจรไปตามจักร รอบดวงอาทิตย์แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ ราศี ใน ๑ ราศี แบ่งเป็น ๓๐ ส่วน หรือ ๓๐ องศา ในราศียังแบ่งออกเป็น ตรียางศ์ นวางศ์ และเวลา ซึ่งได้แก่ อาทิตย์ และจันทร์ เป็นลำดับ จนกระทั่งถึงสงเกษตร ประจำจักรราศี เป็นลำดับสุดท้าย ใน ๑๒ ราศี แต่ละราศีจะมีนามที่บัญญัติไว้ และมีความหมายดังนี้
                           ราศีที่ ๑        เรียกราศีเมษ    สัญญลักษณ์เป็นรูปแกะหรือแพะ
                           ราศีที่ ๒            "    พฤษภ            "      โค
                           ราศีที่ ๓            "     เมถุน           "       คนคู่ (ชายหญิง)
                           ราศีที่ ๔            "    กรกฎ            "        ปู
                           ราศีที่ ๕            "      สิงห์            "        สิงห์ หรือสีหะ
                           ราศีที่ ๖             "     กันย์            "       หญิงสาว พรหมจารี
                           ราศีที่ ๗            "      ตุล             "      ตราชั่ง หรือคันชั่ง
                           ราศีที่ ๘            "      พฤศจิก         "       แมลงป่อง
                           ราศีที่ ๙            "     ธนู               "     คนโกร่งธนู
                           ราศีที่ ๑๐          "      มกร             "    รูปคนกับหม้อน้ำ
                           ราศีที่ ๑๑           "     กุมภ์             "     คนกับหม้อน้ำ
                           ราศีที่ ๑๒           "     มีน              "    รูปปลาสองตัว        ๘/ ๔๗๕๕
                ๑๓๓๑. จักรวรรดินิยม  เป็นองค์การการเมือง ซึ่งหมู่ชนชาติหนึ่งในองค์การนั้นควบคุมหมู่ชนชาติอื่น อาจมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ลัทธิอาณานิคม หรือนโยบายแสวงหาเมืองขึ้น การขยายอำนาจการปกครอง หรืออิทธิพลของชาติหนึ่ง หรือรัฐหนึ่งไปยังดินแดนของชนชาติอื่นนี้ อาจเป็นไปในรูปการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม
                           จักรวรรดินิยมโรมัน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.๔๑๖ ออกัสตัส ซีซาร์  ปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ตั้งแต่เกาะอังกฤษ ไปจนถึงประเทศอิยิปต์ ต่อมาได้เสื่อมอำนาจลงเช่นเดียวกับจักรวรรดิ์ต่าง ๆ ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว ด้วยสาเหตุหลายประการ รวมทั้งการรุกรานของพวกกอธ ซึ่งชาวโรมันให้สมญาว่า พวกอนารยชน เมื่อสิ้นรัชกาลจักรพรรดิ์คอนสแตนไตน์ แล้ว โอรสทั้งสองของพระองค์ได้ทรงจัดการแบ่งจักรวรรดินิยมเดิมออกเป็นสองภาคคือ ภาคตะวันตก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงเดิมคือ กรุงโรม และภาคตะวันออก มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิ์ภาคตะวันตก สิ้นอำนาจลงในปี พ.ศ.๑๐๑๙ ส่วนจักรวรรดิภาคตะวันออก หรือที่รู้จักกันในนามว่า จักรวรรดิ์ไบแซนไทน์ ยังอยู่ต่อมาจนถูกพวกเตอร์ก โจมตีเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในปี พ.ศ.๑๙๙๖
                          จักรวรรดิ์ออตโตมาน  ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๒ พวกเตอร์กสามารถจัดตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น มีอาณาเขตกว้างขวางจากมอรอกโค ตลอดภาคเหนือของอัฟริกา ผ่านอาเรเบีย และเอเชียไมเนอร์ ไปจนถึงเปอร์เชีย รวมทั้งดินแดนบริเวณรอบทะเลดำ
                          ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ๒๒ การที่ประเทศในยุโรปดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม เนื่องจากมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะมีความมั่นคงทางการเมือง และมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นจะต้องมีอาณานิคมโพ้นทะเล เพื่อเป็นที่ผลิตผลประโยชน์ รายได้ให้แก่บ้านเมืองของตน ได้มีการตั้งบริษัทอิสท์ อินเดีย ของอังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ , ๒๑๔๕ และ ๒๑๘๕ ตามลำดับ
                          ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อังกฤษกลายเป็นชาติมหาอำนาจ ที่มีดินแดนอาณานิคมกว้างขวางยิ่งกว่า ชาวยุโรปชาติอื่น ๆ
                          ในปี พ.ศ.๒๓๗๗ เป็นเริ่มศักราชใหม่ของจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีเมืองท่าในอินเดีย ๕ เมือง เข้ายึดแอลจีเรีย ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๙๕ ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงในอินโดจีน และเป็นการเริ่มต้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศส ในอาเซียอาคเนย์ ได้ร่วมมือกับอังกฤษทำสงครามกับจีน ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ - ๒๔๐๑
                           ยังมีชาติใหม่ที่หันมาดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม ในทวีฟอัฟริกาและเอเชีย เพิ่มขึ้นอีกได้แก่ สหรัฐอเมริกา รุสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมัน ในทวีปเอเชียมีเพียงสามประเทศเท่านั้นคือ จีน ญี่ปุ่น และไทย ที่ยังคงรัษาเอกราชไว้ได้
                           หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชนชาติต่างๆ ที่เป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจเริ่มตื่นตัว ดำเนินกาเรียกร้องอิสรภาพ เพื่อปกครองตนเอง และเริ่มโจมตีนโยบายจักรวรรดินิยม ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปหลายประเทศ มีความคิดทางชาตินิยมมากขึ้น หลายประเทศมีลักษณะเป็นเผด็จการ และหลายประเทศเริ่มนโยบายจักรวรรดินิยม
                           หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขนานใหญ่ การเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของประเทศอาณานิคม ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นผลให้อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทั้งในทวีปอัฟริกา และเอเชียได้รับเอกราช ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศเล็ก ๆ แถบทะเลบอลติก ถูกผนวกเข้าในสหภาพโซเวียตรุสเซีย
                ๑๓๓๒. จักรวรรดิราชาวาส - วัด  เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) สถาปนาในรัชกาลที่สาม เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชาเป็นแม่ทัพ ขึ้นไปปราบเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระบางมาถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส จนถึงปี พ.ศ.๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้พระราชทานพระบางไปไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง
                ๑๓๓๓. จักรวรรดิวัตร  คือหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ตามปกติพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นธรรมิกราช ทรงประพฤติพระองค์ในธรรม มีธรรมเป็นใหญ่  ในจักรวัตติสูตร ปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย สุตตันตปิฎก ได้แสดงหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิไว้สิบประการ ต้องทรงจัดการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อย เป็นที่ร่มเย็นแก่ประชาชนโดยทั่วไป ให้ความคุ้มครองป้องกันรักษาโดยธรรม         ๘/ ๔๗๗๕
                ๑๓๓๔. จักรวาล ๑  กล่าวตามวิชาว่าด้วยไตรภูมิโลกสัณฐานว่ามีลักษณะเป็นปริมณฑล คือมีสัณฐานเป็นวงกลมเหมือนกงรถ คำว่าจักรวาลในบาลีหลายแห่ง แสดงว่ามีหลายจักรวาล เท่าที่ค้นพบมีตั้งแต่หมื่นจักรวาลขึ้นไป เช่น ในธรรมปทัฎฐกถากล่าวถึงตอน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ผู้ควรจะได้บรรลุธรรมว่า ทรงแผ่ข่ายคือพระญาณไปในหมื่นจักรวาล  ตอนกล่าวถึงเมื่อทรงแสดงยมกปาฎิหาริย์ของพระพุทธเจ้าว่ามีพระอาญาแผ่ไปในแสนโกฎิจักรวาล  ในมงคลทีปนีตอนกล่าวถึงการคิดเรื่องมงคลของเทวดา และมนุษย์ว่าได้เลื่องลือไปในหมื่นจักรวาล เป็นต้น  และในคัมภีร์ปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค ตอนแก้พุทธคุณบทโลกวิทู กล่าวว่าอนันตจักรวาล หรืออนันตโลกธาตุ จึงเป็นอันยุติได้ว่าโลกธาตุนั้นกำหนดจักรวาลไว้เป็นอันมากและจักรวาลหนึ่ง ๆ จัดเป็นโลกธาตุหนึ่ง ๆ และในระหว่างโลกธาตุนั้นมีโลกันตรนรก        ๘/ ๔๗๗๖
                ๑๓๓๕. จักรวาล ๒ (เอกภพ)  กล่าวตามวิชาดาราศาสตร์ คือ สภาพรวมหมดอันประกอบขึ้นจากระบบของสารขนาดใหญ่มีมวลสูง ซึ่งในปัจจุบันอาจจำแนกออกได้เป็นสี่พวกคือ
                            ๑. กาแลคซีธรรมดา  เป็นระบบที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์เป็นปริมาณพันล้านถึงแสนล้านดวง นอกจากนั้นกาแลคซียบางชนิดยังมีกาซ และฝุ่นอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ระบบวัตถุมีมวลสูงชนิดนี้มีอยู่ในเอกภพมากกว่าชนิดอื่น โลกและดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นหน่วยหนึ่งในกาแลคซี เช่นนี้ เมื่อมองดูจากโลกที่ปรากฏเป็นทางขาวเรืองบนท้องฟ้าเรียกกันว่าทางช้างเผือก
                           ๒. กาแลคซีวิทยุ  เป็นกาแลคซีที่แผ่รังสีคลื่นวิทยุอย่างแรงผิดปกติ กาแลคซีจำพวกนี้มักจะปรากฏเป็นรูปลักษณะแปลกประหลาด ส่อว่ากำลังมีปรากฏการณ์อย่างรุนแรงบังเกิดอยู่
                           ๓. ควอซาร์วิทยุ  หรือแหล่งกำเนิด (คลื่นวิทยุ) กึ่งดาว เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุอย่างแรง แต่มีขนาดปรากฏเล็กกว่ากาแลคซีธรรมดา ราวสิบเท่า และปรากฏในภาพถ่ายเป็นจุดคล้ายคลึงกับดาวฤกษ์ จีงได้ชื่อว่ากึ่งดาว เป็นวัตถุที่มีความสุกสว่างราวร้อยเท่าของกาแลคซีธรรมดา เป็นระบบสสารที่ค่อนข้างหายาก ได้มีผู้พบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ และในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ก็ได้พบวัตถุเช่นนี้ประมาณ ๔๐ หน่วย
                           ๔. ควอซาร์เงียบ หรือกาแลคซีกึ่งดาว เป็นระบบสสารมวลสารสูงชนิดสุดท้ายซึ่งเพิ่งมีการค้นพบในปี พ.ศ.๒๕๐๘  วัตถุชนิดนี้มีความสว่างมาก เหมือนกับพวกควอซาร์วิทยุ แต่ไม่แผ่รังสีคลื่นวิทยุออกจากตัว และมีจำนวนมากมายประมาณ ๕๐๐ เท่าของควอซาร์วิทยุ เชื่อกันว่ามีกาแลคซีกึ่งดาวอยู่จำนวนนับล้านหน่วย
                           เวหากันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีระบบสสารทรงมวลสูงเหล่านี้กระจัดกระจายแผ่ไป ยังไม่อาจสำรวจพบขอบเขตใด ๆ นี้คือ เอกภพ หรือจักรวาลทางดาราศาสตร์        ๘/ ๔๗๙๒
                ๑๓๓๖. จักราช  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบส่วนมาก เหมาะแก่การทำนา         ๘/ ๔๗๙๓
                ๑๓๓๗. จักรี - พระราชวงศ์  คือ นามพระบรมราชวงศ์แห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย สมัยที่มีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
                           สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระนามเดิมว่าทองดี ทรงเป็นข้าราชการในพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีราชทินนามว่าหลวงพินิจอักษร และทรงมีบุตรคนที่ห้านามว่าทองด้วงซึ่งต่อมาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นองค์ปฐมบรมมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานี          ๘/ ๔๗๙๓
                ๑๓๓๘. จังกอบ  ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีความตอนหนึ่งว่า "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง...เจ้าเมืองไม่เก็บจกอบแก่ราษฎรเลย"
                            จกอบว่าเป็นภาษาเขมร หมายความถึงภาษีชนิดหนึ่งเก็บแก่สัตว์ และสิ่งของซึ่งนำเข้ามาจำหน่าย สมัยต่อมาครั้งกรุงศรีอยุธยามีคำว่าจังกอบ และจำกอบอยู่หลายแห่ง เช่น ในลักษณะอาญาหลวง มาตรา ๑ ว่า "และเก็บจังกอบในสำเภานาวาเรือใหญ่น้อยก็ดี" แสดงว่าจังกอบเป็นภาษีชนิดหนึ่งเรียกเก็บจากสินค้าเข้าออก
                ๑๓๓๙. จังเกียง  เป็นวานรในกองทัพพระราม เป็นกลุ่มลิงพลรบ ไม่ได้เป็นชื่อวานรตัวใดตัวหนึ่ง         ๘/ ๔๘๑๑
               ๑๓๔๐. จังหวัด คือ บริเวณเขตที่ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การปกครอง สำหรับประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๗๖ จังหวัด          ๘/ ๔๘๑๒
                ๑๓๔๑. จัณฑาล  เป็นชื่อชนวรรณะต่ำจำพวกหนึ่งในสังคมฮินดู ประเพณีแบ่งออกเป็นสี่ชั้น หรือสี่วรรณะมีมาแต่โบราณกาลในอินเดีย วรรณะทั้งสี่ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร แต่ละวรรณะยังมีสาขาแบ่งแยกออกไปอีก จัณฑาลเป็นสาขาที่ต่ำต้อยที่สุด ในวรรณศูทร
                            คัมภีร์ทางศาสนาฮินดูหลายเล่ม มีข้อความระบุไว้ว่า จัณฑาลเป็นพวกที่ต่ำต้อย และสังคมรังเกียจเหยียดหยามที่สุด จัณฑาลเกิดจากเลือดพันทางคือ พ่อกับแม่ต่างวรรณะกัน
                            หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางไปสืบศาสนาในประเทศอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๙๔๘ - ๙๕๔  ได้เขียนเรื่องราวของจัณฑาลไว้ว่า เมื่อพวกจัณฑาลเวลาจะผ่านเข้าประตูเมือง หรือจะไปยังตลาดต้องตีเกราะเคาะไม้ เป็นสัญญาณให้ผู้อื่นรู้ว่า เขากำลังมาผู้คนจะได้หลีกเลี่ยงไม่ไปแตะต้องถูกเนื้อตัวเข้า
                            หลังจากที่ได้เอกราชแล้ว อินเดียได้ประกาศใช้กฎหมายเลิกการถือชั้นวรรณะ และให้สิทธิเสรีภาพแก่พวกชนวรรณต่ำ        ๘/ ๔๘๑๓
                ๑๓๔๒.จตุรัส  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองสี่มุม ขึ้นเมืองนครราชสีมา ตั้งศาลาที่ว่าการที่ ต.หนองบัวใหญ่ แล้วยุบเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านกอก
                           ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่มและป่า ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ลุ่ม ๆ ดอนๆ        ๘/ ๔๘๑๗
                ๑๓๔๓. จัน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๒๐ เมตร เปลือกสีดำแตกเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ ผลรูปกลมแบน เมื่อสุกจะมีสีเหลืองมีกลิ่นหอม รสหวานกินได้ ชนิดลูกกลมมักจะเรียกว่า ลูกอิน พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ         ๘/ ๔๘๑๗
                ๑๓๔๔. จั่น ๑ - หอย  เรียกกันเป็นสามัญว่า เบี้ยจัน เป็นหอยขนาดเล็กสีขาวจนถึงเหลืองอ่อน เบี้ยใช้เป็นอุปกรณ์ซื้อจ่ายมาแต่ครั้งโบราณ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มาร์โคโปโลพบว่าเบี้ยใช้กันในยูนนาน หอยชนิดนี้มลายูเรียก บี้ หรือเบี้ย ซึ่งใช้เป็นค่าอากร หรือภาษี ไทยมีคำ หอยเบี้ย         ๘/ ๔๘๑๘
                ๑๓๔๕. จั่น ๒   เป็นเครื่องดักสัตว์มีอยู่หลายอย่างต่างกัน และใช้ดักสัตว์ต่างชนิดกัน ทั้งในน้ำและบนบก
                             ๑. เครื่องดักสัตว์น้ำ  จั่นเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่รูปร่างคล้ายกรวย ปลายสอบตัน ยาวประมาณ ๒๑ เมตร กว้าง ๖๐ ซม.  พบใช้ทั่วไปในภาคกลาง
                             จั่นดักปู  เป็นชื่อเรียก แร้วดักปู อีกชื่อหนึ่ง พบทั่วไปในจังหวัดชายทะเล
                             ๒. เครื่องดักสัตว์บก  เป็นเครื่องดักสัตว์คล้ายกรง มีอยู่หลายอย่างเช่น จั่นหับ ใช้ดักเสือ จั่นห้าว ใช้ดักสัตว์เล็ก เช่น หมูป่า หรือเม่น         ๘/ ๔๘๑๙
                ๑๓๔๖. จั่น ๓ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ พบตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ  ไป ใบเป็นช่อ ดอกสีม่วงน้ำเงิน ออกเป็นช่อแน่น เวลาออกดอกผลัดใบหมด        ๘/ ๔๘๒๑
                ๑๓๔๗. จันทกินรี - พระ  เป็นพระชายาเอกของพระจันทกินนร ในเรื่องพระจันทกินรีคำฉันท์         ๘/ ๔๘๒๑
                ๑๓๔๘. จันทกุมาร  เป็นเรื่องที่มีมาในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต เชื่อกันว่าจันทกุมารเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระเจ้าชาติหนึ่งในพระเจ้าสิบชาติ กับมีมาในจริยาปิฎก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยา ในอดีตชาติทั้งสองเรื่องมาในคัมภีร์ขุททกนิกาย สุตตันตปิฎก
                             ในชาดกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย เนื่องจากพวกภิกษุสนทนากันถึงเรื่องพระเทวทัต จองเวรพระพุทธเจ้า หาอุบายปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าตลอดมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ที่เทวทัตพยายามฆ่าพระพุทธองค์นั้น มิใช่แต่ครั้งนี้เท่านั้น แม้ครั้งก่อน ๆ ก็เคยมีมา แล้วจึงได้ตรัสเล่าเรื่องจันทกุมาร         ๘/ ๔๘๒๔
                ๑๓๔๙. จันทโครบ   เป็นโอรสพระเจ้าพรหมทัตในเรื่อง จันทโครบ เรื่องนี้เดิมเป็นหนังสือประมาณสองเล่มสมุดไทย กล่าวกลอนตั้งแต่ต้นจนได้นางมุจลินท์ ลูกสาวพระยานาค นับถือกันมาแต่โบราณว่า แต่งดีทั้งความบรรยาย และความพรรณา เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่เล่ม ๓ ถึงเล่ม ๔๐ - ๔๑ เป็นสำนวนแต่งต่อในชั้นหลัง        ๘/ ๔๘๓๑
                ๑๓๕๐. จันทน์ - ต้น  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด ที่เนื้อไม้มีกลิ่นหอม เช่น จันทน์หอม หรือจันทน์พม่า จันทน์ขาว หรือจันทนา จันทน์ชะมด จันทน์แดง หรือจันทน์ผา จันทน์เทศ หรือจันทน์บ้าน         ๘/ ๔๘๓๒
                ๑๓๕๑. จันทบุรี  เป็นจังหวัดภาคกลางทิศเหนือจด จ.ปราจีนบุรี ทิศตะวันออก จด จ.ตราด และประเทศกัมพูชา ทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก จด จ.ระยอง
                            จันทบุรี เป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฎในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา มีซากเมืองเก่าอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ใน ต.ตลาดจันทบุรี ยังมีคูเมืองและเชิงเทิน พอสังเกตเห็นได้ อีกเมืองหนึ่งอยู่ใน ต.คลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเพนียดบ้าง เมืองกาไวบ้าง มีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดเพนียด ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้กำแพงเมือง ๔๐๐ เมตร บริเวณเมืองยังมีศิลาแผ่นใหญ่ ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง และมีเค้าเชิงเทินและถนนสายใหญ่ ๆ สองสาย
                            อีกเมืองหนึ่งเรียกเมืองใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ อยู่ใน ต.บางจะกละ อ.เมือง ฯ
                            จังหวัดนี้อยู่ในความยึดครองชั่วคราวของฝรั่งเศสครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๔๗
                            ภูมิประเทศมีเขาล้อมรอบ ทางเหนือเป็นที่ดอน และเป็นป่าดง ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ลุ่มทำนาได้ ทางตะวันออกเป็นที่ดอน         ๘/ ๔๘๓๓
               ๑๓๕๒. จันทร์ - ดวง เป็นบริวารดวงเดียวของโลก ดวงจันทร์มีรัศมี ๑,๗๓๘ กม.ปราศจากบรรยากาศ โคจรวนรอบโลก ในวงทางใกล้เคียงกับวงกลม ด้วยระยะห่างเฉลี่ย ๓๘๔,๔๐๔ กม. มีมวลเท่ากับ ๑/๘๑ ของมวลของโลก มีแรงโน้มถ่วงประมาณ ๑/๖ ของโลก  ๘/ ๔๘๓๖
               ๑๓๕๓. จันทรกานต์ เป็นแร่ประกอบหินที่มีค่าสูงชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดเข้าอยู่ในมวลรัตนชาติด้วยปกติมีสีขาวปนฟ้าหรือเสียงขุ่นมัวอย่างน้ำนม แต่มีวาวขาว ฉาบหน้าเหมือนวาวมุก ในหอยกาบหรือวาวแสงจันทรในหยาดน้ำค้าง         ๘/ ๔๘๓๗
               ๑๓๕๔. จันทรเกษม เป็นชื่อวังตั้งอยู่ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวกันวาสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๕ สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรฯ
                          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังที่ประทับขององค์รัชทายาทขึ้นที่ถนนราชดำเนินนอก พระราชทานนามว่า วังจันทรเกษม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนการเรือน และในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงธรรมการ         ๘/ ๔๘๓๘
                ๑๓๕๕. จันทรคติ เป็นวิธีนับวันกันอย่างโบราณ โดยถือเอาการเดินของดวงจันทรเป็นหลัก ในการนับเรียกเป็นอันดับต้นว่า ขึ้นค่ำหนึ่ง ขึ้นสองค่ำ ไปจนถึงขึ้นสิบห้าค่ำ (ตามความสว่างของดวงจันทร) ที่เรียกว่า ข้างขึ้น ต่อจากนั้นก็นับว่า แรมค่ำหนึ่ง แรมสองค่ำ ไปจนถึงแรมสิบห้าค่ำที่เรียกว่า ข้างแรม กำหนดให้มีวันทางเดือนจันทรคติ ๓๐ วัน แบ่งเป็นประเภทเดือนคู่ ให้มี ๓๐ วัน เดือนคี่ให้มี ๒๙ วัน
                             เดือนจันทรคติ เริ่มต้นปีที่เดือนอ้าย แล้วมาเดือนยี่ เดือนสาม จบที่เดือนสิบสอง ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นปีใหม่ จันทรคติที่เดือนห้า แล้วไปสิ้นสุดที่เดือนสี่
                             สิบสองเดือนจันทรคติ เป็นหนึ่งปี นักษัตร ซึ่งเรียกชื่อปีตามรูปดาวนักษัตรสิบสองรูป ตามจักรราศีคือ ๑. ปีชวด (ดาวหนู)  ๒. ปีฉลู (ดาววัว)  ๓. ปีขาล (ดาวเสือ)  ๔.ปีเถาะ (ดาวกระต่าย)  ๕. ปีมะโรง (ดาวมังกร)  ๖. ปีมะเส็ง (ดาวงูเล็ก)  ๗. ปีมะเมีย (ดาวม้า)  ๘. ปีมะแม (ดาวแพะ)  ๙. ปีวอก (ดาวลิง)  ๑๑. ปีจอ (ดาวหมา)  ๑๒. ปีกุน (ดาวหมู)
                             ปีจันทรคติบางปีมี ๑๓ เดือน เรียกว่า ปีอธิกมาส เพื่อให้เดือนต่าง ๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับฤดูกาล และเพื่อให้ผูกพันกับพระวินัยกิจ ทางพระพุทธศาสนาด้วย ประเพณีเพิ่มเดือนอธิกมาสของไทย จึงเพิ่มเฉพาะเดือนแปดทั้ง ๆ ที่เดือนอธิกมาส เมื่อคำนวณแล้วอาจจะตกอยู่ในเดือนใดเดือนหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ด้วยปีจันทรคติมีเพียง ๓๕๔ วัน
                            ประเทศไทยเริ่มใช้ปีจันทรคติ และวันจันทรคติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนเวลาเริ่มต้นวันเป็นเที่ยงคืนตามแบบสากล ปี พ.ศ.๒๔๖๓ กำหนดเวลามาตรฐานของประเทศไทย เท่ากับ ๗ ชั่วโมง ตะวันออกของกรีนิช ปี พ.ศ.๒๔๘๔ เปลี่ยนวันต้นปีจาก ๑ เมษายน มาเป็น ๑ มกราคม โดยเริ่มตั้งแต่มกราคม พ.ศ.๒๔๘๓ เดิม
                            ๑  ปีจันทรคตินั้น กำหนดเอาระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ๑๒ ครั้ง ในเวลา ๓๕๔ วัน และระยะเวลารอบโลก ๑ ครั้ง เท่ากับ ๒๙ วันครึ่ง ด้วยเหตุนี่จึงต้องกำหนดให้มีเดือนคู่กับเดือนคี่ เพราะถ้าจะนับเดือนทางจันทรคติ ก็ยังขาดอยู่อีก ๑๒ ชั่วโมง ถ้านับเดือนจันทรคติ ๓๐ วัน ก็เกินไป ๑๒ ชั่วโมง จึงต้องกำหนดเอาสองเดือนมี ๕๙ วัน โดยแบ่งเดือน ๓๐ วัน ๖ เดือน เดือน ๒๙ วัน ๖ เดือน แบ่งเดือนเป็นสองปักษ์ ปักษ์หนึ่งมี ๑๕ วันบ้าง ๑๔ วันบ้าง
                ๑๓๕๖. จันทรคราส  เป็นปรากฎการณ์เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เขตเงามัว และเงามืดของโลก ถ้าระนาบทางโคจรของดวงจันทร์ของโลก ทับสนิทเป็นระนาบเดียวกับวงทางโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์แล้ว  จะเกิดจันทรคราสขึ้นทุกคืนเดือนเพ็ญ          ๘/ ๔๘๔๕
                ๑๓๕๗. จันทรคุปต์  เป็นชื่อกษัตริย์สามพระองค์ ในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณ ดังนี้
                            ๑. จันทรคุปต์เมารยะ  เป็นพระอัยกาพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะในอินเดีย ภายหลังพระพุทธปรินิพานได้ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ  เป็นกษัตริย์องค์แรกที่สามารถ ผนึกดินแดนอันกว้างใหญ่ ของอินเดียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
                            ในะระยะนั้น พวกกรีกแห่งแมกซิโดเนีย โดยเริ่มแรกมีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (หรือกษัตริย์มีนานเดอร์ ในคัมภีร์มิลินทปัญหาของชาวพุทธ) เป็นผู้นำได้บุกรุกเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และได้ยึดครองอาณาบริเวณที่อยู่ในขอบเขตขัณฑ์สีมาของอินเดียนเอง ตลอดจนที่อยู่ภายนอกมากมายหลายประเทศ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์กลับไปถึงบาบิลอน และถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐ อาณาจักรอันไพศาลของพระองค์ก็เริ่มคลอนแคลน โดยเฉพาะในอินเดีย จันทรคุปต์เป็นบุคคลแรกที่รวบรวมกำลัง ทำการขับไล่อำนาจและขจัดอิทธิพลของพวกกรีก ออกไปจนเกือบหมดสิ้น
                            กล่าวได้ว่า เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์สิ้นสุดลง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕ นั้น พระองค์ได้เป็นใหญ่ในดินแดนทั้งหมดของอินเดีย ตั้งแต่เหนือแม่น้ำนัมมทา ขึ้นไปถึงอัฟกานิสถานทั้งประเทศ และอาจเป็นไปได้ที่แผ่ข้ามแม่น้ำนัมมทา ลงไปทางทิศใต้ด้วย
                            ๒. จันทรคุปต์ที่ ๑  เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์คุปตะในแคว้นมคธ ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๘๖๒ - ๘๗๘  กล่าวกันว่า พระองค์เป็นต้นกำเนิดศักราชคุปตะ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๘๖๓
                           ๓. จันทรคุปต์ที่ ๒  เป็นกษัตริย์องค์ที่ห้า แห่งราชวงศ์คุปตะ ครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๙๑๘ - ๙๕๗ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่นครปาฎสีบุตร ในรัชสมัยของพระองค์กิจการด้านศิลปวัฒนธรรมได้รับการฟื้นฟู สนับสนุนอย่างดีเลิศถึงกับเรียกกันว่า เป็นยุคทองของอินเดีย
                           หลวงจีนฟาเหียนได้ไปถึงอินเดีย ในรัชสมัยของจันทรคุปต์นี้เอง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้พระองค์จึงได้รับสร้อยสมญานามว่า วิกรมาทิตย์ มีความหมายว่า มีความเก่ากล้าสามารถ ร้อนแรงประดุจดวงอาทิตย์          ๘/ ๔๘๔๖
                ๑๓๕๘. จันทรภาคา  เป็นชื่อโบราณของแม่น้ำจีนพ ในประเทศอินเดียมียอดน้ำเกิดจากทะเลสาบแห่งหนึ่ง ทางตอนใต้ของประเทศธิเบต ในมิลินทปัญหากล่าวว่า มีแม่น้ำไหลมาจากหิมวันต์อยู่ ๕๐๐ สาย สายสำคัญมีอยู่ ๑๐ สายคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี สินธุ สรัสวดี เอตภวดี อิตังสา และจันทรภาคา          ๘/ ๔๘๕๕

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch