หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/19

    ๑๒๑๓. ไครเมีย  เป็นชื่อคาบสมุทรอยู่ทางภาคใต้ของโซเวียตติดต่อกับทะเลดำทางทิศเหนือของคาบสมุทร มีลักษณะเป็นคอคอดชื่อ คอคอดเปเวคอบ ด้านตะวันออกของคาบสมุทรอยู่ติดกับทะเลอาชอฟ ซึ่งแยกจากทะเลดำ โดยมีช่องแคบเคิร์ชกั้น
                            คาบสมุทรไครเมียนี้เป็นที่อยู่ของชนชาติต่าง ๆ เปลี่ยนมือมาหลายคร้ง แค่เดิมมีชาวกรีกโบราณเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ ต่อมามีชาวโรมัน หลังจากนั้นก็มีพวกอนารยชนเผ่าต่าง ๆ เช่นพวกกอช และพวกอื่น ๆ เข้าไปอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ คาสมุทรนี้อยู่ในอำนาจของพวกเตอร์ก จนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๖ จึงไปอยู่ในปกครองของรุสเซียกับฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๓๙๕ เกิดสงครามไครเมีย ระหว่างรุสเซียกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี และซาร์ดิเนีย
                            ก่อน๗/ที่รุสเซียจะได้เข้าไปครอบครองคาบสมุทรนี้ พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวตาตาร์ ต่อมาได้มีชาวรุสเซียเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งมาก แต่รัสเซียก็ให้ฐานะดินแดนส่วนนี้ปกครองตนเอง รวมอยู่ในสหภาพโซเวียต เพราะมีชาวตาตาร์อยู่ถึงร้อยละ ๒๕ เมื่อสิ้นสงคนรามโลกครั้งที่สอง สพภาพโซเวียตจึงยุบสาธารณรัฐนี้เสีย ให้มีสภาพเป็นแคว้นหนึ่งรวมอยู่กับโซเวียตรุสเซีย           ๗/ ๔๑๒๗
                ๑๒๑๔. ไคโร  เป็นเมืองหลวงของประเทศอียิปต์ เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในทวีปอัฟริกา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไนล์ บริเวณที่เป็นที่พักอาศัยของพวกอาหรับ พวกคอปติกและพวกยิว มีลักษณะคล้ายเมืองในสมัยกลาง มีถนนแคบ ๆ ตัด วกไปวนมา มีซากกำแพงและประตูเมืองโบราณ
                           ไคโรได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาชั้นสูงของชาวอิสลาม สถาบันการศึกษาคัมภีร์โกหร่าน ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ มหาวิทยาลัย เอล อัชฮาร์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๕๑๕ มีนักศึกษาจากส่วนต่าง ๆ ของโลกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
                            กรุงไคโร มีมัสยิดมากกว่า ๒๕๐ แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในย่านอยู่อาศัยของชาวอาหรับ มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เลียนแบบมัสยิดที่เมกกะ มัสยิดที่สวยงามที่สุดคือมัสยิดของสุลตานฮาซัน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ นอกจากมัสยิดแล้วยังมีวัดของพวกคอปติก พวกกรีก - ออโธดอกซ์ พวกยิวและพวกคริสเตียน
                            ไคโรเก่าตั้งเมื่อปี พ.ศ.๑๑๘๓ โดยทหารของกาหลิบโอมาร์ที่หนึ่ง ตลอดสมัยกลางไคโรเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวมุสลิม และเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศในยุโรปและเอเซีย           ๗/ ๔๑๒๙
                ๑๒๑๕. ไคลฟ์ รอเบิต บารอน (พ.ศ.๒๒๖๘ - ๒๓๑๗)  เป็นทหารและเป็นนักการเมืองชาวอังกฤษ เป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่ง ในงานริเริ่มจัดตั้งจักรวรรดิ์บริติชในอินเดีย
                            ในขณะนั้นประเทศอินเดียอยู่ในเขตจักรวรรดิ์โมกุล ซึ่งนับตั้งแต่รัชกาลจักรพรรดิ์ออโอเษพมาแล้ว ความเคร่งครัดทางศาสนาอิสลามของฝ่ายรัฐบาล นำความเดือดร้อน และไม่พึงพอใจมาให้แก่ราษฎรที่นับถือศาสนาอื่น และในจักรวรรดิ์ก็มีแต่จลาจลแตกแยกกันออกไป ๆไม่ยอมขึ้นต่อรัฐบาลกลางของจักรวรรดิ์
                            ในปี พ.ศ.๒๒๙๔ มีศึกชิงราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าแห่งแคว้นแทนจอร์ในอินเดีย บริษัทค้าขายของอังกฤษและฝรั่งเศสต่างเข้าช่วยคู่ศึกคนละฝ่าย ไคลฟ์ได้ชื่อเสียงมากในการชิงดินแดนคามาร์ติกจากฝรั่งเศสมาเป็นของอังกฤษ
                            งานสำคัญของไคลฟ์ก็คือ กิจการทางอินเดีย อันพึงจัดให้ได้ประโยชน์แก่อังกฤษ           ๗/ ๔๑๓๒

     

    ฅ.

                ๑๒๑๖. ฅ. เป็นพยัญชนะตัวที่ห้าของอักษรไทย  เป็นจำพวกอักษรต่ำ มีฐานกรณ์อย่างเดียวกับตัว ค ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วในลำดับที่ .....
                            ในสมัยก่อนไทยเรานิยมใช้เขียนคำที่เป็นภาษาไทยบางคำเช่น ตน - คน ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว           ๗/ ๔๑๔๐

     

    ฆ.

                ๑๒๑๗. ฆ. พยัญชนะตัวที่หกของอักษรไทย  เป็นจำพวกอักษรต่ำ มีฐานกรณ์เกิดแต่คอเป็นธนิตโฆษะ มีเสียงดังก้องกว่าตัว ค ซึ่งเป็นสิถิลโฆษะคือตัว ฆ เราออกเสียง ค - ห พร้อมกัน ในอักษรวิธีไทยใช้เป็นตัวสะกด ในแม่ กก เฉพาะคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต
                            ฆ ที่ใช้เขียนในคำไทยมีอยู่บ้างเล็กน้อยเช่น ฆ่า เฆี่ยน ฆ้อง ระฆัง ตะเฆ่           ๗/ ๔๑๔๐
                ๑๒๑๘. ฆ้อง  เป็นชื่อเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งทำด้วยทองเหลือง ผสมโลหะอื่นเล็กน้อย มีรูปร่างเป็นแผ่นวงกลม งองุ้มลงมารอบตัว มีปุ่มกลมตรงกลางสำหรับตี ชายวงกลมออกไปจนถึงส่วนที่งองุ้มลงมาเรียกว่า ฉัตร และยังแยกเรียกส่วนที่เป็นพื้นราบว่าหลังฉัตร ตอนที่ห้อยลงรอบตัวเรียกว่า ใบฉัตร ส่วนปุ่มตรงกลางเรียกปุ่ม
                            ฆ้องเป็นเครื่องดนตรีประเภทที่เกิดเสียงด้วยการตี ตรงฉัตรส่วนที่งุ้มลงมาเจาะรูสองรูหรือสี่รู สำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนตี ฆ้องของไทยมีขนาด และชื่อเรียกหลายอย่างต่างกัน แยกไปตามกรณีที่ใช้คือ
                            ฆ้องกระแต  มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. ใช้ตีเป็นสัญญาณในการอยู่เวรยาม ในสมัยโบราณที่มีการป่าวประกาศ ก็มีคนถือฆ้องกระแตตีนำไปกับผู้ประกาศเรียกว่า ตีฆ้องร้องป่าว
                            ฆ้องเหม่ง  มีขนาดเขื่องกว่าฆ้องกระแต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๘ ซม. ใช้ตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะอยู่ในวงกลองมลายู สำหรับประโคมในงานพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย ภายหลังใช้ประโคมตลอดจนศพสามัญชน
                            ฆ้องโหม่ง  มีขนาดใหญ่กว่าฆ้องเหม่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ - ๔๕ ซม. แต่โบราณคงจะใช้ตีบอกระยะเวลาคู่กันกับกลอง ฆ้องโหม่งตีเวลากลางวัน กลองตีเวลากลางคืน เมื่อฟังตามเสียงฆ้องและกลองแล้ว จึงเรียกระยะเวลากลางวันว่าโมง ตามเสียงฆ้องและกลางคืนว่าทุ่ม ตามเสียงกลอง
                            ฆ้องโหม่งเมื่อนำมาผสมกับวงดนตรีไทยใช้เป็นเครื่องกำกับจังหวะห่าง ๆ เพราะมีเสียงกังวานยาว โดยปกติจะตีหนึ่งทีต่อสองจังหวะฉิ่ง และใช้เป็นเครื่องประกอบจังหวะดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ถ้าผสมกับวงกลองยาว (เถิดเทิง) โหม่งจะตีทุกจังหวะฉิ่ง
                            ฆ้องคู่  เป็นฆ้องที่ใช้บรรเลงชุดหนึ่งสองลูกจึงเรียกว่า ฆ้องคู่ ฆ้องทั้งสองลูกมีขนาดต่าง ๆ กันเล็กน้อย เทียบเสียงให้ลูกใหญ่มีเสียงต่ำ ลูกเล็กมีเสียงสูง ห่างกันเป็นคู่หกบ้างคู่ห้าบ้าง
                            ฆ้องคู่นี้เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ร่วมกับกลองชาตรี โทน ฉิ่ง และกรับ สำหรับบรรเลงในการแสดงหนังตลุง และละครโนห์ราชาตรีเรียกว่าวงปี่พาทย์ชาตรี
                            ฆ้องระเม็ง  ชุดหนึ่งมีสามลูก สำหรับตีประกอบการแสดงระเม็ง ซึ่งเป็นการเล่นของไทยสมัยโบราณ ฆ้องทั้งสามลูกนี้มีขนาดและเสียงสูงต่ำต่างกัน
                            ฆ้องราง  ชุดหนึ่งมีเจ็ดลูก มีขนาดลดหลั่นกันไปตามลำดับ และเทียบเสียงต่ำสูงเรียงกันขึ้นไปเจ็ดเสียง บรรเลงเป็นเพลงได้
                            ฆ้องวง   มีการผูกโยง เช่นเดียวกับฆ้องราง หากแต่ผูกเป็นวงพอที่คนจะนั่งภายในวงได้สบาย เกือบรอบตัวคนตี โดยเว้นด้านหลังเปิดไว้เป็นทางเข้าออก ฆ้องลูกทางเสียงสูงอยู่ทางขวาของผู้ดี เสียงต่ำอยู่ทางซ้าย มีชื่อเรียกตามขนาดและกรณี ที่ใช้ต่าง ๆ กันคือ ฆ้องวงใหญ่ มี ๑๖ ลูก ๑๖ เสียง  ฆ้องวงเล็ก มีลูกฆ้อง และขนาดวงเล็กกว่าฆ้องวงใหญ่ มีจำนวน ๑๘ ลูก  ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงอีกขนาดหนึ่ง สำหรบใช้บรรเลวในวงมโหรี มีขนาดเล็กว่าฆ้องวงใหญ่ และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็ก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องกลาง มีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ฆ้องวงเล็กมโหรี เป็นฆ้องวงเล็กใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงมโหรี มีลูกฆ้อง ๑๙ ลูก
                            ฆ้องชัย  เป็นฆ้องขนาดใหญ่ บางทีเรียกตามเสียงว่า ฆ้องหุ่ย ในสมัยโบราณใช้ฆ้องชนิดนี้เป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ
                            ฆ้องหุ่ยดึกดำบรรพ์  ได้ชื่อตามวงปี่พาทย์ที่ชื่อ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และปี่พาทย์นี้ก็ได้ชื่อมาจาก โรงละครดึกดำบรรพ์ เป็นฆ้องหุ่ยทั้งชุด (เจ็ดลูก เจ็ดเสียง)
                            ฆ้องชวา  ในวงปี่พาทย์ของชวา มีฆ้องอยู่สี่อย่างคือ ฆ้องอะกุง อย่างไทยเรียงฆ้องหุ่ยสามลูก  ฆ้องโบนัง เรียกอย่างไทยว่า ฆ้องร้าน ฆ้องคุทุก และฆ้องคันนอง
                            ฆ้องมอญ  ในวงปี่พาทย์ของมอญ มีฆ้องอยู่สี่ชนิดคือ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และฆ้องโหม่งราว
                            ฆ้องพม่า  ในวงปี่พาทย์พม่ามีฆ้องอยู่สองอย่างคือ ฆ้องวง และฆ้องแผง               ๗/ ๔๑๔๐
                ๑๒๑๙. ฆาต  เป็นชื่อเทือกภูเขา ในประเทศอินเดีย มีอยู่สองเทือกคือ เทือกภูเขาฆาตตะวันออก และเทือกภูเขาตะวันตก ระหว่างเทือกเขาทั้งสองเป็นที่ราบสูง เรียกว่า ที่ราบสูงเดคคาน
                            เทือกเขาฆาตตะวันออก  อยู่ทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศชิดกับชายฝั่งอ่าวเบงกอล ตั้งต้นจากลุ่มแม่น้ำมหานที ลงไปทางใต้ยาวประมาณ ๘๐๐ กม.
                            เทือกเขาฆาตตะวันตก  ตั้งอยู่ชิดฝั่งทะเลอาหรับ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ ของประเทศตั้งต้นจากลุ่มแม่น้ำตาบดี ลงไปทางใต้ เป็นระยะทางประมาณ ๑,๓๐๐ กม.            ๗/ ๔๑๖๑
                ๑๒๒๐. โฆษณา  ต้นศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า "โฆส"  ภาษาสันสกฤตว่า "โฆษ"  แปลว่า กึกก้อง แปลตามความหมายว่า ประกาศ ป่าวร้อง หรือทำประการใด ๆ ให้ทราบมากคนด้วยกัน

            การโฆษณาเป็นศิลปวิทยา ซึ่งเกิดมีมาก่อนนาน            ๗/ ๔๑๖๑
                ๑๒๒๑. โฆสิตาราม  เป็นวัดในพระพุทธศาสนา เป็นมหาวิหารและเป็นสังฆาราม ตั้งอยู่ใกล้กรุงโกสัมพี นครหลวงแคว้นวังสะ ในสมัยพุทธกาล โฆสกเศรษฐี เป็นผู้สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอุเทน พร้อมกับวัดกุกกุฎาราม ซึ่งกุกกุฎเศรษฐีสร้างขึ้น และวัดปาวาริการาม ซึ่งปาวาริตเศรษฐี สร้างขึ้น
                            เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังกรุงโกสัมพี ตามที่เศรษฐีทั้งสามได้กราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ ณ วัดทั้งสามนั้น ตามโอกาสอันควร โดยทรงผลัดเปลี่ยนเวรกันไป พระพุทธศาสนาจึงตั้งมั่นลงในกรุงโกสัมพี ด้วยประการฉะนี้            ๗/ ๔๑๖๘

     

    ง.

                ๑๒๒๒.  ง. พยัญชนะตัวที่เจ็ดของอักษรไทย  เป็นพยัญชนะตัวที่สุดของวรรคที่หนึ่ง อยู่ในจำพวกอักษรต่ำ มีฐานกรณ์เกิดแต่คอ และมีเสียงออกทางจมูก เรียกว่า อนุนาสิก
                            ในภาษาไทยใช้เป็นตัวสะกดในแม่กง และใช้ขึ้นต้นคำก็ได้ แต่ในภาษาบาลีและสันสกฤตไม่เคยใช้ เป็นคำขึ้นต้นเลยเป็นแต่ตัวสะกด ซึ่งมีพยัญชนะอื่นตามหลังเท่านั้น           ๗/ ๔๑๘๗
                ๑๒๒๓. งบดุล  เป็นงบที่แสดงฐานะของกิจการในวันใดวันหนึ่ง รายการที่แสดงในงบดุล จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งแสดงรายการสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่กิจการมีในวันนั้น แยกออกเป็นประเภทๆ ตามลักษณะของสินทรัพย์ อีกส่วนหนึ่งแสดงว่า สินทรัพย์เหล่านั้นได้มาจากการลงทุนของผู้เป็นเจ้าของกิจการเท่าใด และจากการกู้ยืมเท่าใด ฉะนั้น ยอดรวมของรายการสินทรัพย์ ทั้งหมดของกิจการ จะต้องเท่ากับยอดรวมของการลงทุน และหนี้สิน
                            การแสดงรายการสินทรัพย์ ทุน และหนี้สิน ในงบดุลอาจจะแสดงเป็นรูปบัญชีก็ได้ หรืออาจจะแสดงในรูปรายงานก็ได้
                ๑๒๒๔. งบประมาณ  หมายความถึง บัญชี หรือจำนวนเงินที่รวมกะกำหนด รายรับ รายจ่ายเงินทางราชการไทย ได้ใช้คำนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๓  โดยได้บัญญัติคำนี้ไว้ใน พ.ร.บ.กรมสารบาญชี กระทรวงพระคลัง นับแต่นั้นมาคำนี้ ก็เริ่มใช้กันแพร่หลายในวงราชการ และธุรกิจของเอกชน
                             ในวิชาเศรษฐศาสตร์ และการคลัง คำว่างบประมาณ มีความหมายกว้างขวางกว่าที่ใช้กันอยู่ทั่วไป และมีผู้ให้คำนิยามไว้แตกต่างกันไป
                            การจัดทำงบประมาณได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ คำว่างบประมาณในครั้งนั้น หมายถึง เอกสารรายได้และรายจ่าย ซึ่งรัฐมนตรีคลังของอังกฤษ จะต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นประจำทุกปี
                            งบประมาณของรัฐย่อมมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างในคือ สมดุล ขาดดุล และเกินดุล ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง งบประมาณของประเทศต่าง ๆ มักสมดุล ตามทฤษฎีการคลังสมัยเก่า
                            ปัจจุบันการจัดทำงบประมาณของประเทศต่าง ๆ มีทั้งในรูปของงบประมาณแบบแสดงรายการ และงบประมาณแบบแสดงแผนงาน
                            การปฎิรูปงบประมาณของประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญด้านการคลัง ที่สหรัฐอเมริกาส่งมาช่วยเหลือรัฐบาลไทย ได้มีการจัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้น ในสำนักนายกรัฐมนตรี และได้โอน๗/ที่ในการจัดทำงบประมาณ จากกระทรวงการคลังมาให้           ๗/ ๔๑๘๗
                ๑๒๒๕. งวง ๑ - ไก่  ดูไก่งวง (ลำดับที่ ๖๕๔)            ๗/ ๔๒๑๕
                ๑๒๒๖. งวง ๒ - ลม  หมายถึง ลักษณะของเมฆที่ห้องลงมาเป็นลำคล้ายงวงช้าง จากใต้ฐานเมฆที่หนาทึบ ความยาวของลงเมฆ หรือลมงวงนี้ มีความยาวต่าง ๆ กัน เมื่อเริ่มเกิดจะเห็นเป็นลำสั้น ๆ ยื่นลงมาจากใต้ฐานเมฆ ลำงวงนี้จะมีความยาวมากขึ้น ในกรณีที่มีความรุนแรงเต็มที่ อาจจะยื่นลงมาจดพื้นดิน หรือพื้นทะเล ภายในบริเวณลมงวงนี้ เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมาก มีกระแสอากาศจากบริเวณรอบ ๆ พัดเข้าสู่ลมงวงนี้ แรงและกระแสอากาศภายในบริเวณ ลมงวงนี้จะไหลลอยขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดบนพื้นทะเลเรียกว่า พวยน้ำ เพราะภายในบริเวณนี้น้ำทะเล จะถูกดูดขึ้นไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดบนบก เรียกว่า พายุทอร์นาโด ลำของงวงเป็นแกนกลางของพายุ
                ๑๒๒๗. งวงช้าง ๑ - ต้น  ดู ตะกวม (ลำดับที่...)             ๗/ ๔๒๑๕
                ๑๒๒๘. งวงช้าง ๒ - หญ้า  เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ต้นสูง ๑๕ - ๒๐ ซม. ลำต้นค่อนข้างอวบน้ำ มีขนคายทั่ว ๆ ไป ใบเรียงสลับกัน ช่อดอกอยู่ปลายยอด โค้ง ตอนปลายม้วนลงคล้ายงวงช้าง พบขึ้นตามที่ลุ่มทั่ว ๆ ไป            ๗/ ๔๒๑๕
                ๑๒๒๙. งวงช้าง ๓ - งู  เป็นงูน้ำจืด ชอบอยู่ในน้ำลึก ในบริเวณที่มีความเย็น เป็นงูไม่มีพิษ ไม่ใคร่พบบ่อยนัก           ๗/ ๔๒๑๗
                ๑๒๓๐. ง่วนไทโจ๊  นามเดิมว่า เตมูจิน  เป็นชนชาติมงโกล เป็นหัว๗/เผ่ามงโกลแทนบิดาเมื่ออายุ ๑๓ ปี เตมูจิน สามารถทำสงครามปราบปราม และรวบรวมชาวมองโกล ให้อยู่ในอำนาจของตนอย่างสิ้นเชิง และได้สร้างจักรวรรดิ์มงโกลขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๗๑๘
                            ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๔๙ เตมูจิน ขนานนามตนเองว่า เจงกิสข่าน มีความหมายว่า ผู้ทรงอำนาจ เจงกิสข่านเริ่มแผ่อำนาจ และขยายอาณาเขตของจักรวรรดิ์มงโกล โดยยกกองทัพม้าอันเกรียงไกร ออกรบพุ่งช่วงชิงดินแดนต่าง ๆ คือ อาณาจักรเชี่ย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาณาจักรกิม อาณาจักรของชาติเตอร์ก ภาคเหนือของประเทศอินเดีย ตลอดจนอาณาจักรเล็ก ๆ และแคว้นต่าง ๆ ในโซเวียตรุสเซีย
                            ดินแดนต่าง ๆ ที่พระองค์ตีได้นั้น ตั้งแต่ทะเลจีนจดทะเลดำ รวมประเทศใหญ่น้อยที่ตีได้มีถึง ๔๐ ประเทศ พระองค์ครองราชย์อยู่ ๒๒ ปี สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๗๐  พระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา ชาวจีนเรียกพระองค์ว่า ง่วนไทโจ๊ มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกแห่งราชวงศ์หงวน           ๗/ ๔๒๑๗
                ๑๒๓๑. ง่วนสีโจ๊  พระนามเดิมว่า กุบไล ทรงเป็นพระนัดดาของเจงกิสข่าน ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๗๕๙  ทรงเป็นข่านสืบต่อจากพระเชษฐา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๒ ขณะนั้นดินแดนต่าง ๆ ของประเทศจีน เกือบทั้งหมดตกเป็นของจักรวรรดิ์มงโกล ราชวงศ์ซ้องถูกทำลายโดยสิ้นเชิง กุบไลข่านขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ์จีน ณ เมืองไคพิง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๓ ทรงสถาปนากรุงปักกิ่ง เป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงพระนามว่า ง่วนสีโจ๊
                           เมื่อพระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิ์จีนแล้ว ก็ทรงเริ่มขยายอาณาเขตและแผ่อำนาจไปยังดินแดนต่าง ๆ ประเทศที่พระองค์ยกไปตีคือ ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม ตลอดถึงเกาะชวา ยกเว้นประเทศไทย เพราะกุบไลข่านได้ส่งราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับไทย ในรัชสมัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย
                            กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๗ ครองราชย์อยู่ ๓๕ ปี  พระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา           ๗/ ๔๒๑๙
                ๑๒๓๒. งอด - งู  เป็นงูขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน หนึ่งคืบ กินแมลงเป็นอาหาร อยู่ในที่อับมีน้ำค้างมาก ๆ ไม่มีพิษ           ๗/ ๔๒๒๐
                ๑๒๓๓. งอบ  เป็นเครื่องสวมศีรษะชนิดหนึ่ง ทำด้วยใบลาน หรือใบตาลและไม้ไผ่ การสวมงอบก็เพื่อป้องกันแดด หรือฝน ใช้ในเวลาทำงาน เช่น ทำนา ทำไร่ พายเรือ            ๗/ ๔๒๒๐
                ๑๒๓๔. งักฮุย  เป็นชาวเมืองทั้งอิม ในมณฑลปักฮ้อ ประเทศจีน มีฉายาว่า ผงกื้อ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๖๔๕ ในรัชกาลพระเจ้าซ่งฮุยจง แห่งราชวงศ์ซ่ง เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา ชอบอ่านหนังสือชุนชิว ของขงจื้อ และตำราพิชัยสงคราม ของซุนยู้
                            เมื่อโตขึ้นได้ไปสมัครเป็นทหารได้ไปช่วยปราบกบฎ โดยได้เป็นแม่ทัพ๗/ สามารถปราบกบฎได้ แต่นั้นมางักฮุยก็เป็นนายทหารที่สามารถ และเข้มแข็งมาก ช่วยแผ่นดินปราบกบฎ รบกองโจร ศึกครั้งสำคัญคือ การสงครามกับพวกกิม ซึ่งเป็นชนชาติเร่ร่อน อยู่ตามแถบภาคอีสานของจีน ใกล้กับเกาหลีคือ แถบแมนจูเลียในปัจจุบัน พวกนี้ได้สถาปนาตนเป็นชาติกิม เมื่อปี พ.ศ.๑๖๕๘ ครั้งนั้น งักฮุยได้รบชนะหลายครั้งจนเกือบจะตีพวกกิมไว้ ในอำนาจของจีนอยู่แล้ว แต่ถูกสั่งให้ยกทัพกลับ โดยฉิ่งโขว่ มหามนตรี ผู้ลอบสวามิภักดิ์ต่อพวกกิม ยุยงให้พระเจ้าเกาจง เจรจายุติสงครามกับพวกกิม โดยการยกมณฑลอังฮุยให้ ต่อมางักฮุยได้ถูกลอบฆ่าเมื่อเขาอายุได้ ๓๙ ปี และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ
                            ในรัชกาลต่อ ๆ มางักฮุยได้รับคืนยศ และได้รับสถาปนาให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็น งักอ๋อง ในพงศาวดารจีนได้ยกย่องงักฮุยว่า เป็นนายทหารผู้สามารถทั้งในด้านอักษรศาสตร์ และยุทธศาสตร์ ยากจะหาใครเสมอเหมือนได้
                            มีผู้เคยถาม งักฮุยว่า ทำอย่างไร บ้านเมืองของเราจึงจะมั่นคงถาวรได้ งักฮุยตอบว่า "ข้าราชการ ฝ่ายปกครองต้องไม่รับสินบน และข้าราชการทหารต้องไม่กลัวตาย" ซึ่งถือเป็นคติพจน์ของประเทศจีน บทหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน
                             เนื่องจากการสิ้นชีพอย่างน่าอนาถของงักฮุย จึงกลายเป็นธรรมเนียมของชาวจีน ที่นิยมนำแป้งสาลีมาปั้นเป็นสองชั้นติดกัน แล้วทอดน้ำมัน (ปาท่องโก๋) เพื่อแสดงความเคียดแค้นในฉิ่งโขว่ โดยเปรียบเนื้อแป้งสาลี เป็นเนื้อของฉิ่งโขว่ และภริยามาทอดน้ำมัน           ๗/ ๔๒๒๕
                ๑๒๓๕. งั่ง - พระ  เป็นพระเครื่อง ประวัติว่าเกิดขึ้นที่เมืองพิษณุโลก มีผู้นิยมกันมาก แต่โบราณ ทำด้วยงั่งรูปเหมือนพระทรงเทริด นั่งอยู่บนแท่นไม่มีผ้าพาด ใหญ่ประมาณ ๓ นิ้ว
                            งั่ง เป็นโลหะชนิดหนึ่ง มักเกิดตามภูเขา หรือถ้ำ และตามพื้นดินก็มี สีและเนื้อเหมือนตะกั่ว แต่คุณภาพดีกว่า คนแต่ก่อนถือว่า เป็นธาตุที่ทรงคุณจึงเอามาทำพระ เรียกว่า พระงั่ง            ๗/ ๔๒๒๘
                ๑๒๓๖. งัว  เป็นสัตว์กินหญ้า และเป็นจำพวกเคี้ยวเอื้อง มีสี่เท้า และกีบเป็นคู่ เขากลวง บางพันธุ์ไม่มีเขา
                            งัว เป็นคำไทย แต่ไปนิยมคำว่า โค ซึ่งเป็นคำในภาษาบาลี หรือบางทีก็เรียกว่า วัว ที่เปลี่ยนจากคำไทยเป็นคำเทศ ก็เนื่องจากคำว่า ควาย เสียงไม่ดี จึงเปลี่ยนไปใช้ กระบือ ซึ่งเป็นคำตระกูลอินโดนิเชียน งัว เป็นสัตว์คู่กับควาย จึงเปลี่ยนชื่อให้เข้าคู่กันได้
                             ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์รู้จักงัว และล่ามาเป็นอาหาร ต่อมาจึงรู้จักวิธีนำมาเลี้ยงไว้ อันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่มนุษย์ เปลี่ยนจากความเป็นป่าเถื่อนมาเป็นระยะเริ่มแรกของมนุษย์สมัยหิน ในสมัยนั้น ถ้าคนหมู่ไหนมีฝูงงัวมาก ก็แสดงว่า มีอำนาจมากด้วย
                            งัวป่า  ได้แก่ งัวแดง งัวกระทิง และจามรี  งัวแดง อยู่ในป่าแถบคาบสมุทรอินโดจีน เข้าใจว่า งัวแดงเป็นต้นสกุลของงัวบ้าน ตามธรรมดางัวแดง รูปร่างสูงใหญ่กว่างัวบ้านมาก  งัวกระทิง เป็นงัวป่า อยู่ทางตะวันออกของอินเดีย (ดูกระทิง - ลำดับที่ ๙๓)  จามรี เป็นงัวป่าขนยาว อาศัยอยู่ตามเทือกเขาสูง ๆ ซึ่งมีอากาศหนาว มีอยู่ตามเทือกเขาหิมาลัย และตอนเหนือของอินเดีย ชาวทิเบตนำมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้ทำงาน ไถดินและบรรทุกของ งัวพันธุ์เวสต์ ไฮแลนเดอ มีถิ่นเดิมอยู่ในป่า ทางเมืองสกอตประเทศอังกฤษ ซึ่งเต็มไปด้วยป่าและภูเขา งัวพันธุ์ขาว มีอยู่ทางเมืองสก๊อต ประเทศอังกฤษ เกือบสูญพันธุ์แล้ว งัวพันธุ์เขายาว เป็นงัวพันธุ์เดิมของสเปน ได้นำไปเลี้ยงในอเมริกา สมัยอพยพไปอยู่อเมริกาใหม่ ๆ
                            งัวพันธุ์ต่าง ๆ  เป็นงัวที่มนุษย์นำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์ จนได้ลักษณะตามที่ต้องการ เช่น งัวนม งัวพันธุ์เนื้อ งัวพันธุ์เนื้อและนม    ๗/๔๒๓๐
                ๑๒๓๗. งัว – ปลา  ปลาในวงศ์นี้มีรูปร่างแ ปลกแตกต่างจากปลาชนิดอื่น เกล็ดเปลี่ยนรูปเป็นหนามละเอียด ปลาในสกุลนี้ ไม่ค่อยพบบ่อยนัก   ๗/๔๒๗๒ 

    ๑๒๓๘. งั่ว - นก  เป็นนกที่มีสีทั่ว ๆ ไปเป็นสีดำ ดูคล้ายพวกนกกาน้ำ ปากนกงั่วยาวตรง และปลายแหลม ผิดกับนกกาน้ำ ที่งุ้มตรงปลาย คอก็ยาวกว่านกกาน้ำมาก             ๗/ ๔๒๗๓
                ๑๒๓๙.  งัวซัว - ต้น  เป็นไม้พุ่มถึงไม้เถา ลำต้นมีหนามโค้งแข็งสูง ๑ - ๔ เมตร พบตามป่าเบญจพรรณ  .ใบเกลี้ยงรีรูปไข่ ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่ง หรือง่ามใบ ผลกลมโต สดสีส้ม แห้งสีดำ           ๗/ ๔๒๗๕
                ๑๒๔๐.  งัวเลีย - ต้น  ไม้พุ่มหรือบางทีเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นมีหนามห่าง ๆ ปลายหนามโค้งลงเล็กน้อย พบขึ้นตามป่าดินแล้วทั่ว ๆ ไป เปลือกและเนื้อไม้ เป็นสมุนไพรรักษาโรคเด็ก             ๗/ ๔๒๗๖
                ๑๒๔๑.  งา ๑ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกต้นตรงสูง ๕๐ - ๘๐ ซม.  กิ่งเป็นเหลี่ยมมีขนคาย ใบอยู่ตรงกันข้าม ผลเป็นฝัก เมล็ดเล็กสีขาว หรือดำ ใช้ประกอบอาหารหรือสะกัดน้ำมัน ที่เรียกว่า น้ำมันงา ดอกสีขาว มีแต้มเหลืองในหลอด ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ          ๗/ ๔๒๗๖
                ๑๒๔๒.  งา ๒ - ปลา  เป็นปลาขนาดย่อม ยาวประมาณ ๑๕ ซม. อยู่ในทะเลและน้ำกร่อย อยู่ในวงศ์ปลาแมว            ๗/ ๔๒๗๖
                ๑๒๔๓.  งาช้าง - กล้วย  เป็นลูกผสมของกล้วยป่าสองชนิด รูปร่างกล้วยแปลกออกไป และยาวเหมือนเขาสัตว์ ส่วนคนไทยเห็นเหมือนงาช้าง เลยให้ชื่อดังกล่าว             ๗/ ๔๒๗๗
                ๑๒๔๔.  งาช้าง  - หอย  เป็นหอยทะเลอยู่ตามชายหาดที่เป็นทราย หรือโคลน ตั้งแต่ที่ตื้น จนลึก มีรูปร่างเหมือนงาช้างสีขาว เปลือกของหอยนี้ ในสมัยโบราณเคยใช้ต่างเงิน ชาวอินเดียนแดงบางเผ่าใช้เป็นเครื่องประดับ ในประเทศไทยพบตามชายหาดที่สงขลา            ๗/ ๔๒๗๗
                ๑๒๔๕.  งาโซ - ต้น  เป็นชื่อที่ชาวจีนในไทยใช้เรียกไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ต้นตรงสูง ๕๐ - ๑๐๐ ซม. ใบอยู่ตรงกันข้าม มีกลิ่นฉุนเรียกกันว่า ผักตั้งโอ๋             ๗/ ๔๒๗๘
                ๑๒๔๖.  งาน  เป็นชื่อมาตราวัดพื้นที่ดิน มีกำหนดเท่ากับ ๑๐๐ ตารางวา มาตราวัดพื้นที่ดินของไทยโบราณ ตามที่มีมาล้วนระบุว่า เป็นมาตราสำหรับวัดที่นาคือ ที่ปลูกข้าว
                            ในภาคกลางของไทยเรียกชื่อมาตราวัดที่นาไปอีกอย่างหนึ่งคือ
                             ๒๕  วา (ตารางเหลี่ยม)  เท่ากับ  ๑ ฝา
                             ๒   ฝา (ตารางเหลี่ยม)  เท่ากับ ๑ เผือ
                             ๒  เผือ (ตารางเหลี่ยม)  เท่ากับ ๑ งาน
                             ๔  งาน (ตารางเหลี่ยม)  เท่ากับ ๑ ไร่
                            ส่วนที่ให้ชื่อมาตราว่า "งาน"  นั้น จะต้องหมายถึง การทำงานคือ การไถนานั่นเอง ในภาษาไทยมีสำนวนว่า เลี้ยวหัวงาน สำนวนนี้มาจากการไถนา จากไถดะ เป็นไถแปร
                            การกำหนด ๔ งาน เป็น ๑ ไร่  เป็นการเอาทางด้านยาวของ "งาน" ที่วัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้าบรรจบกันเป็น ๔ งาน ไม่ใช่เอาด้านกว้างมาต่อกันอย่าง ๒ เผือ เป็น ๑ งาน
                            ที่เรียกนา เป็น ริ้ว เป็น ท่อน แสดงให้เห็นว่า การไถนาเราเอาทางยาวเป็นเกณฑ์ และการที่จะให้คนหนึ่ง ๆ ถือนา หรือมีที่นาก็กำหนดให้ตามกำลังคน ที่จะไถนาเสร็จในที่ดินแปลงหนึ่ง จะเห็นว่าเมื่อไถไปตามทางยาว ๒๐ วา และทางกว้าง ๕ วา เป็นพื้นที่ ๑๐๐ ตารางวา กำลังพอเหมาะพอดี จึงเอาเกณฑ์นี้กำหนดเรียกเป็นมาตราว่า "งาน"
                             ไร่  ที่กำหนดเป็นมาตรา คงจะมีที่มาอย่างน้อย ก็ในสมัยสุโขทัย ถึงต้นสมัยอยุธยา จึงได้มีทำเนียบศักดินาเป็น "ไร่"  คำว่า "ฝา" และเผือ จะมีมาแต่เมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่เลิกใช้ไปแล้ว             ๗/ ๔๒๗๘
                ๑๒๔๗. งาว  อำเภอ ขึ้น จ.ลำปาง เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองงาว ขึ้นนครลำปาง ยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗

              ภูมิประเทศเป็นป่า และเขาโดยมาก มีที่ราบอยู่ตามลำห้วยแม่งาวบ้าง             ๗/ ๔๒๘๗
                ๑๒๔๘. ง้าว ๑  เป็นศัตราวุธรูปคล้ายดาบ มีด้านยาว ใช้ฟันและแทง ตัวง้าวทำด้วยเหล็กอย่างดีมีรูปแบน และโค้งตอนปลายเล็กน้อย เช่นเดียวกับดาบ ยาวประมาณ ๒๒๐ ซม. ตัวง้าวแท้ ๆ มีน้ำหนักใกล้เคียงกับดาบ คุณค่าของง้าวได้เปรียบกว่าดาบ ที่สามารถต่อสู้กันได้ในระยะไกล เพราะง้าวมีด้ามยาวมาก มักใช้ต่อสู้กันบนหลังช้าง ซึ่งเติมขอเข้าไปด้วย เพื่อใช้สับบังคับช้าง เรียกกันว่า ของ้าว
                              ง้าว ประกอบด้วยส่วนต่าง คือ ตัวง้าว ด้ามง้าว และกระบังง้าว            ๗/ ๔๒๘๗
                ๑๒๔๙. ง้าว ๒ - ต้น  เป็นชื่อเรียกไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ลำต้นตรงสูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เปลือกที่เทาขรุขระ กิ่งก้านและลำต้นมีหนามแหลมคม บางท้องถิ่นเรียกกันว่า งิ้วป่า ใบช่อหนึ่งมีห้าใบ ดอกสีขาวออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่งแขนงโต ผลเป็นฝักรูปกระสวย เมล็ดกลมสีดำมีปุยสีขาว เป็นมันหุ้ม ปุยหุ้มเมล็ดใช้ยัดที่นอน และเบาะ เนื้อไม้สีขาว อ่อนและเบาใช้ทำเยื่อกระดาษได้            ๗/ ๔๒๘๘
                ๑๒๕๐. งิ้ว  ๑ - ต้น  เป็นชื่อเรียกไม้ยืนต้นหลายชนิด ลำต้นลักษณะต่าง ๆ คล้ายกับง้าว แต่มีขนาดสูงใหญ่กว่า บางชนิดสูง ๓๐ - ๓๕ เมตร ดอกสีแดงสด หรือแดงคล้ำ เนื้อไม้ และปุยหุ้มเมล็ด ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับง้าว มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดคือ งิ้วบ้าน งิ้วป่า และงิ้วผา            ๗/ ๔๒๘๙
                ๑๒๕๑. งิ้ว ๒  เป็นมหรสพอย่างหนึ่งของจีน เล่นเป็นเรื่องเป็นราว มีการขับร้องและเจรจาประกอบท่าทางที่แสดง ปฐมเหตุของงิ้วมีมาแต่สมัยเลียดก๊ก (สมัยจิว)  โดยนำเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์ มาดัดแปลงแต่งเติม มีการขับร้องและเจรจาประกอบกับลีลา ท่าทางที่แสดง มีแสดงเฉพาะในพระราชวัง เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องสั้น ๆ
                            งิ้วได้วิวัฒนาการ โดยได้มีผู้ดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้นทุกยุคสมัย จนถึงรัชสมัยพระเจ้าถั่งเหียงจง แห่งราชวงศ์ถัง พระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องงิ้วมาก ได้ทรงดัดแปลงแก้ไขการแสดงงิ้ว ให้ดียิ่งขึ้นส่วนเรื่องที่แสดงก็เป็นเรื่องในพงศาวดาร เกร็ดพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และนิทาน เช่น ไซฮั่น ตั้งฮั่น
                            งิ้วจีน  พอจะจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้หกประเภท คือ งิ้ววัวกัง งิ้วแต้จิ๋ว งิ้วกวางตุ้ง งิ้วตังคง และงิ้วหลั่งทั้ง งิ้วคณะหนึ่ง ๆ จะต้องประกอบด้วย ตัวงิ้วต่าง ๆ คือ
                            ๑. เซิง (พระเอก)  จำแนกเป็น เหลาเซิง คือ พระเอกที่มีหนวดเครายาวเป็นระเบียบถึงอก มีทั้งหนวดสีขาว และสีดำ เซ่าเซิง คือ พระเอกหนุ่มใบหน้าเกลี้ยงกลา ไม่มีหนวดเครา นอกจากนั้นยังแบ่งเป็น หวู่เซิง คือ พระเอกที่มีฝีมือในการยุทธ และเหวินเซิง คือ พระเอกที่มีความสามารถในการขับร้อง เป็นพระเอกฝ่ายพลเรือน
                            ๒. ต้าน  คือ นางเอก จำแนกเป็น หวู่ต้าน เช่นเดียวกับ หวู่เซิง เหวินต้าน เช่นเดียวกับ เหวินเซิง  นอกจากนี้ยังมี อูซัน แปลว่า เสื้อดำ เป็นนางเอกที่แสดงแต่เฉพาะบทโศก
                            ๓. โฉว่  คือ ตัวตลก เป็นตัวสำคัญของคณะ ไม่แพ้พระเอก และนางเอก และยังเป็นครูบาอาจารย์ ของตัวงิ้วอื่น ๆ อีกด้วย คือ เป็นผู้ฝึกสอนผู้แสดงท่าทางต่าง ๆ ให้สมบทบาท ผู้แสดงร่วมคณะมักเรียก โฉว่ ว่า เหลาซือ (อาจารย์)  ได้รับค่าจ้างสูงกว่า เซิง และต้าน
                            ๔. จิ้งหรืออูเมี่ยน (หน้าดำ) รับบทเป็นผู้ร้ายบ้าง เป็นนายทหารผู้ซื่อสัตย์บ้าง
                            ๕. เมอะ รับบทเป็นคนแก่
                            ๖. จ้า เป็นตัวประกอบที่ไม่สำคัญนัก รับบทเป็นทหารบ้าง คนใช้บ้าง ทาสบ้าง
                             ผู้แสดงงิ้วต้องแต่งกายให้สอดคล้องถูกต้องกับกาลสมัยของเรื่องที่แสดง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใบหน้า ลักษณะใบหน้าของตัวงิ้ว แสดงให้ผู้ชมทราบว่า ตัวงิ้วนั้นมีอุปนิสัยใจคอเช่นใด สีต่าง ๆ ที่ทาและเขียนบนใบหน้าตัวงิ้ว กำหนดไว้สีหนึ่งใช้จำเพาะอุปนิสัยชนิดหนึ่งเท่านั้นคือ
                            สีแดง เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญ ซื่อตรง เช่นกวนอู
                            สีม่วง เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีความรู้ สงบเงียบขรึม เช่นคนซื่อ
                            สีดำ  เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญ ดุร้าย ซื่อตรง เช่น เตียวหุย เปาบุ้นจิ้น
                            สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญชำนาญศึก หยิ่งในศักดิ์ศรีของตน
                            สีเขียวใบไม้ เป็นสัญลักษณ์ของโจรป่า อาศัยอยู่ในป่า
                            สีเขียวแถบเทา เป็นสัญลักษณ์ของภูติผีปีศาจ
                            สีทอง สีเงิน เป็นสัญลักษณ์ของเทวดา พระเจ้า
                            สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้าหาญที่เปี่ยมไปด้วยกลอุบาย
                            สีขาวชัด เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแกมคดโกง
                            เมื่อเปิดฉากเริ่มแสดง ผู้แสดงแปดคนแต่งเป็นโป๊ยเซียน (เซียนทั้งแปด) ออกมาร่ายรำทำพิธีถวายพระพรแด่พระนางอินทรมาตา (ไซอ้วงบ้อ) เป็นการรำเบิกโรง จากนั้นตัวงิ้วแต่งเป็นพระเจ้าถังเหียงจง ปรมาจารย์แห่งงิ้ว ออกมาร่ายรำและกล่าวคำอวยพรให้งิ้วคงอยู่เท่ากาลปาวสาน เสร็จแล้วจะมีการแสดงงิ้วสั้น ๆ มีเรื่องราวเป็นสิริมงคล แล้วจึงเริ่มเรื่อง
                ๑๒๕๒. งู  เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่มีอวัยวะช่วยความเคลื่อนไหวภายนอกร่างกาย อยู่ในวงศ์สัตว์เลื้อยคลานสะเทินน้ำสะเทินบก บางพวกที่อยู่ในน้ำเค็ม (งูทะเล) เคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับปลา แต่เลื้อยไม่ได้ งูส่วนมากมีลักษณะกลมยาว มีหัวเป็นรูปกระสวยหรือเบี้ยจั่น ต่อจากหัว คอจะมีขนาดเล็กลง และค่อย ๆ โตไปตามลำตัว แล้วเล็กลงจนถึงหาง
                            งูเป็นสัตว์ที่มีพิษและไม่มีพิษ มีการสืบพันธ์สองอย่างคือเป็นไข่แล้วแตกออกเป็นตัวและออกลูกมาเป็นตัวทีเดียว            ๗/ ๔๓๐๐
                ๑๒๕๓. งูกินหาง  เป็นการเล่นพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง นิยมเล่นกันทุกภาคของประเทศไทย            ๗/ ๔๓๐๔
                ๑๒๕๔. งูเกา  เป็นชาวเมืองลูซัว มณฑลเหอหนัน ประเทศจีน เกิดในสนมัยราชวงศ์ซ่ง สมัยเดียวกันกับงักฮุย ได้รบชนะพวกกิมหลายครั้ง เป็นนายทหารฝีมือเอกของงักฮุย ตายเมื่ออายุ ๖๑ ปี เพราะถูกวางยาพิษ            ๗/ ๔๓๐๖
                ๑๒๕๕. งูสวัด - โรค  เป็นโรคที่มีการอักเสบอย่างเฉียบพลัน ที่ปมประสาทไขสันหลังของระบบปราสาทส่วนกลาง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้มีอาการพุเป็นเม็ดพอง  ภายในมีน้ำใส ๆ ขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ มีอาการปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณนั้น พอเป็นไปได้ประมาณห้าวันก็ค่อย ๆ แห้งลง แล้วตกสะเก็ด เมื่อเป็นครั้งหนึ่งแล้วมักจะเกิดภูมิคุ้มกัน ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง เป็นได้ทุกวัย แต่คนอายุเกิน ๕๐ ปี เป็นกันมาก มักเป็นกันในฤดูร้อน            ๗/ ๔๓๐๗
                ๑๒๕๖. เง่อานหรือแง่อาน  เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในประเทศเวียดนาม มีเมืองวินห์ เป็นศูนย์กลาง ไทยเรียกเมืองล่าน้ำ เป็นเมืองที่เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ หนีไทยไปอาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐
                ๑๒๕๗. เงาะ ๑ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร ดอกเป็นช่อ ตอนปลายกิ่ง ผลแก่จัดเป็นสีเหลืองหรือแดง มีรูปร่างรี ๆ ยาว ๔ - ๕ ซม. ผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. ผิวมีขนโค้งยาว เนื้อหุ้มเมล็ดสีขาว รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ใช้เป็นอาหาร มีอยู่หลายพันธ์
                ๑๒๕๘. เงาะ ๒  เป็นคนป่าพวกหนึ่ง รูปร่างต่ำเตี้ย ผิวดำ ผมหยิกเหยิง เป็นมนุษย์ในตระกูลนิกริโต มีอยู่ทั่วไปในทวีปอัฟริกาตอนกลาง และตอนใต้ ในเกาะลังกา หมู่เกาะอันดามัน แหลมมลายู เกาะบอร์เนียว หมู่เกาะฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลใต้

              เงาะในแหลมมลายูมีชื่อว่า เซมัง แต่ทางรัฐกะลันตัน เรียกว่า พะงัน และอีกพวกหนึ่งเรียกว่า สะไก หรือ เซนอย ผมเป็นลูกคลื่น รูปร่างสูงกว่าพวกเซมัง             ๗/ ๔๓๐๙


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch