หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/16
    ๑๑๒๕.  เครื่องปั้นดินเผา  นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เก่าแก่และยืนยาวที่สุด เชื่อกันว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คำว่าเครื่องปั้นดินเผา หมายถึง ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ปั้นด้วยดิน แล้วเอาไปเผา ส่วนคำว่าเครื่องเคลือบดินเผา หมายถึง ครื่องปั้นดินเผาชนิดที่อาบหรือชุบน้ำเคลือบก่อน แล้วจึงเผา
                            เครื่องปั้นดินเผา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดคือ
                             ๑. เครื่องดินแดง หมายถึง เครื่องปั้นดินเเผาชั้นต่ำ ไม่เคลือบและซึมน้ำ
                             ๒. เครื่องดิน คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ซึมน้ำ และเคลือบชั้นเดียว เผาด้วยความร้อนประมาณ ๙๐๕ - ๑๐๐๐ ํ ซ.
                             ๓. เครื่องหิน คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ทึบแสงไม่ซึมน้ำ เผาด้วยความร้อนประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ํ ซ.
                             ๔. เครื่องหินเหล็ก เป็นเครื่องหินชนิดที่ใช้น้ำเคลือบ มีส่วนผสมเป็นเหล็ก เผาแล้วเป็นสีน้ำตาล
                             ๕. เครื่องปอร์ชเลน หรือเครื่องจีน เป็นเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี ตัวดินมีสีขาว หรือสีอื่น ไม่ทึบแสง น้ำซึมไม่ได้ ผิวพื้นอาจเป็นลายเสื่อ หรืออาบด้วยน้ำเคลือบ เครื่องชนิดนี้เรียกเป็นภาษาไทยว่า เครื่องถ้วย หรือเครื่องกระเบื้อง หรือเครื่องลายคราม ใช้อุณหภูมิสูง ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ํซ.
                             อิจิปต์ ทำเครื่องปั้นดินเผาก่อนผู้อื่น ประมาณอายุ ๑๐,๐๐๐ ปีหรือกว่านั้น แล้วแพร่ไปเกาะไซปรัส และเกาะครีต แล้วจึงไปสู่กรีก และกรุงโรม
                            ในทวีปเอเชีย ได้ขุดพบเศษเครื่องปั้นดินเผา ที่กลางทุ่งราบเปอร์เซีย มีอายุประมาณ ๔,๔๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นชนิดที่ตกแต่งสีดำไว้ที่ผิว ประเทศในเอเชียที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งคือ ประเทศจีน
                            คนไทยคุ้นเคยกับเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นเป็นอันมาก เครื่องปั้นดินเผาของไทยรุ่งโรจน์ที่สุด ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ที่เรียกกันว่า เครื่องสังคโลก ทำได้มากถึงกับส่งออกไปขายในต่างประเทศ           ๖/๓๖๔๕
                 ๑๑๒๖. เครื่องมือจับเปรียง  ใช้จบไส้เดือนทะเล ซึ่งคงจะเรียกกันว่า เพรียงมากกว่าเปรียง เครื่องมือนี้ทำด้วยหวาย ยาวประมาณ ๘๐ ซม. หัวท้ายยควนเป็นปุ่ม ใช้จับเพรียงตามหาดทราย
                ๑๑๒๗. เครื่องราง  คือ ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย เป็นของที่เกิดเองโดยธรรมชาติ มีหลายอย่างต่างกัน หลายประเภทคือ
                            เม็ดขนุนทองแดง เม็ดหรือฝักมะขามทองแดง เม็ดหรือผักกะถินเทศทองแดง เม็ดหรือลูกประดู่ทองแดง เม็ดสะบ้าทองแดง เม็ดมะค่าทองแดง ปูทองแดง ปูหิน กระดูกไก่ทองแดง ไข่หิน เหล็กไหล แร่บางชนิด ทองคำบางสะพานหนักหนึ่งบาท
                            เพชรตาแมว เพชรตาหนู เพชรในหิน เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ เขี้ยวสาง เขี้ยวหมูหักคาต้นไม้ เขาวัวเขาควายลุกเป็นแสง คดต่าง ๆ มีคดปลาหมอ คดปลาวาฬ เป็นต้น นอกจากนี้มีพระเครื่อง และเครื่องปลุกเสก ซึ่งเรียกรวมกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์
                            พระเครื่อง  เป็นคำย่อมาจากพระเครื่องราง ได้แก่ พระพุทธรูปมีขนาดพอที่จะไว้กับตัวได้ เป็นพระปั้น พิมพ์ หล่อ แกะสลัก
                             เครื่องปลุกเสก  มีหลายอย่างต่างชนิดกันคือ ตะกรุด ผ้าประเจียด มงคลสวมศีรษะ หรือสวมคอ ผ้าลงเลขยันต์ และธง เป็นต้น ลูกอมขี้ผึ้ง ลูกอมปรอท แหวนสวมนิ้ว แหวนสวมแขน ซึ่งทำด้วยผ้า ด้วยเงิน ทอง นาค หรือโลหะต่างชนิด หวายคาดเอว ตระบอง และมีด เช่น มีดหมอ ปลัดขิก และลูกสะกด ทำด้วยตะกั่ว ไม้ หรือวัตถุอื่น หนังหน้าเสือ ขี้ผึ้งสีปาก ของเหล่านี้ลงด้วยเลขยันต์คาถา และอักขระ           ๖/๓๖๙๓
                ๑๑๒๘. เครื่องราชอิสริยาภรณ์  คือ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ และบำเหน็จความชอบ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในราชการหรือส่วนพระองค์ เรียกเป็นสามัญว่า ตรา หรือเหรียญตรา
                           ในประเทศไทย ปรากฎว่าสังวาลพระนพ ได้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้ทรงตราระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยามขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกว่า เครื่องราชอิสริยยศ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์
                           เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้สี่ประเภทคือ
                            ๑. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ  มีชนิดเดียวคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์วอันเป็นมงคลยิ่ง ราชมิตราภรณ์
                            ๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน  มี ๖ ชนิดคือ
                                เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
                            ๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์ มี ๓ ชนิดคือ
                                เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวัลลภาภรณ์ ตราวชิรมาลา
                            ๔. เหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ มี ๔ ชนิดคือ
                                เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ  เหรียญบำเหน็จในราชการ เหรียญบำเหน็จในพระองค์ เหรียญที่ระลึกต่าง ๆ           ๖/๓๖๙๕
                ๑๑๒๙. เครื่องราชูปโภค  หมายถึง เครื่องใช้ซึ่งเป็เครื่องสำหรับแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ มีสี่อย่างคือ พานพระขันหมาก มณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณศรี (บัวแฉก)  และพระสุพรรณราช
                           เครื่องราชูปโภคทั้งสี่อย่างนี้ ทำด้วยทองลงยา มีสองสำรับ สำรับใหญ่สร้างในรัชกาลที่ ๑ อีกสำรับคือ สำรับเล็ก สร้างในรัชกาลที่ ๔
                            ๑. พานพระขันหมาก  เป็นพานสองชั้น สี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพานและตลับพร้อม สำหรับใส่หมาก
                            ๒. พระมณฑปรัตนกรัณฑ์  มีรูปทรงมณฑป มีพานฝา และจอกสำหรับใส่น้ำเย็น
                            ๓. พระสุพรรณศรี  เป็นกระโถนเล็ก ทำเป็นรูปบัวแฉก ฝีมือทำงามมาก
                            ๔. พระสุพรรณราช  เป็นกระโถนใหญ่            ๖/๓๗๖๕
                ๑๑๓๐. เครื่องลายคราม  เครื่องลายครามตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมาก หมายถึงเครื่องภาชนะกระเบื้อง หรือเครื่องถ้วยของจีน ชนิดที่เขียนลายเป็นสีคราม เฉพาะที่นิยมกันว่า เป็นของดีมีราคา
                           เครื่องถ้วยจีน คงจะมีเข้ามาขายในประเทศไทย พร้อม ๆ กับที่จีนส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย ประเทศไทยได้จัดทำเครื่องถ้วยขึ้นใช้เอง จนถึงเป็นสินค้าจำหน่ายไปยังประเทศใกล้เคียง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๓๗
                           ในสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยที่ไทยสั่งออกไปทำในเมืองจีน เท่าที่พบมีเพียงสามอย่างคือ ชาม จานเชิง และโถ สีก็มีก็มีสามอย่างคือ ลายครามอย่างหนึ่ง ลายสีเขียนบนพื้นถ้วยขาวอย่างหนึ่ง และเบญจรงค์ ลายไทยที่ทำให้ตัวอย่างไปเขียนเครื่องถว้วย มีลายก้านขด และลายก้านแย่ง เป็นต้น บางทีก็มีภาพปลายกระหนก ภาพเทพพนม และภาพเทพพนมนรสิงห์
                           ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ เครื่องถ้วยที่สั่งไปทำเมืองจีนได้โปรดให้ช่างหลวง เขียนลายตัวอย่างขึ้นใหม่ แต่ดำเนินตามตัวอย่างที่ดี ครั้งกรุงเก่าเป็นพื้น ถึงรัชกาลที่ ๒ เครื่องถ้วยที่สั่งไปทำเมืองจีนได้คิดแก้ไขผิดจากเดิม ทั้งรูปร่างและลวดลาย มีลายผูกขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๓ นิยมลวดลายไปข้างแบบจีนมากขึ้น ในรัชกาลที่ ๔ สั่งให้ทำแต่ลายน้ำทองกับลายคราม ในรัชกาลที่ ๕ เครื่องถ้วยจีนที่เป็นของดี มีตกเข้ามามากกว่ารัชกาลก่อน ๆ  เพราะกลับเกิดนิยมเล่นเครื่องถ้วยและเครื่องโต๊ะกันขึ้นอีก            ๖/๓๗๖๐
                ๑๑๓๑. เครื่องสาย  เป็นชื่อวงดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งบรรดาเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ในวงนั้นมีเครื่องดนตรี ที่มีสายเป็นประธาน เครื่องดนตรีที่เป็นประธานนี้ จะเป็นเครื่องมีสายที่สีเป็นเสียง หรือดีดเป็นเสียงก็ได้
                           เครื่องสายไทย มีขนาดวงและลักษณะการผสมเครื่องดนตรี แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง และเรียกชื่อวงไปตามขนาด และสิ่งที่ผสมนั้น ๆ เช่น เครื่องสายไทยวงเล็ก เครื่องสายไทยเครื่องคู่ และเครื่องสายปี่ชวา เป็นต้น
                            เครื่องสายไทยวงเล็ก  เป็นวงเครื่องสายที่มีเครื่องดนตรีที่ผสมเพียงอย่างละหนึ่งชิ้น จึงมักจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงซึ่งถือเป็นหลักคือ
                            ๑. ซอด้วง  เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงสูง และกระแสเสียงดัง มีหน้าที่ดำเนินทำนองเพลง เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง
                            ๒. ซออู้   มีเสียงทุ้ม มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้า กระตุ้นเตือนให้เกิดความครึกครื้น สนุกสนาน
                            ๓. จะเข้  เป็นเครื่องดีด ดำเนินทำนองโดยเก็บสอดแทรกแซง ไปกับทำนองเพลง
                            ๔. ขลุ่ย  เป็นเครื่องเป่า ในวงนี้ใช้ขลุ่ยขนาดกลางเรียกว่า ขลุ่ยเพียงออ ดำเนินทำนองโดยใช้เสียงโหยหวนบ้าง เก็บบ้างตามโอกาส
                            ๕. โทน และรำมะนา  เป็นเครื่องตี ต้องตีให้สอดสลับรับกัน เสมือนเป็นของสิ่งเดียวกัน มีหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับ และกระตุ้นเตือนให้เกิดความสนุกสนานในทางประกอบจังหวะ
                            ๖. ฉิ่ง  มีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยให้การบรรเลง ดำเนินจังหวะไปโดยสม่ำเสมอ หรือช้าเร็ว ตามความเหมาะสม
                            เครื่องสายไทยเครื่องคู่  มีการเพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นเป็นสอง แต่เพียงบางอย่างคือ ซอด้วง สองคัน ซออู้สองคัน จะเข้สองตัว ขลุ่ยสองเลา ส่วนฉาบ (เล็ก) และโหม่ง ถ้าจะใช้ก็คงมีจำนวนเท่ากับในวงเล็ก
                            ในสมัยหลังต่อมาได้มีผู้คิดผสมวง เป็นวงใหญ่ขึ้นโดยเพิ่มเครื่องบรรเลง จำพวกดำเนินทำนอง เช่น ซอด้วย ซออู้ จะเข้ และขลุ่ย ขึ้นเป็นอย่างละสามชิ้นบ้าง สี่ชิ้นบ้าง
                            เครื่องสายปี่ชวา  ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีผู้คิดผสมวงขึ้นอย่างหนึ่งคือ รวมวงกลองแขก หรือกลองปี่ชวานี้ เข้าร่วมบรรเลงกับวงเครื่องสายไทย โดยเอาโทน และรำมะนา ในวงเครื่องสายออก เพราะมีกลองแขกเป็นเครื่องขัดจังหวะหน้าทับอยู่แล้ว และขลุ่ยเพียงออ ก็ไม่ใช้ ใช้แต่ขลุ่ยขลิบอย่างเดียว ซอด้วงต้องเปลี่ยนเสียงเทียบใหม่ ให้มีเสียงเป็นทางชวา ผู้นำวงต้องโอนไปเป็นของปี่ชวา เรียกวงที่ผสมนี้ว่า กลองแขกเครื่องใหญ่ ต่อมาเรียกว่า เครื่องสายปี่ชวา           ๖/๓๗๙๖
                ๑๑๓๒. เครื่องสูง  หมายถึง ของสำหรับประดับเกียรติยศ เช่น ฉัตร พัดโบก จามร กลด เครื่องสูง มีมาแต่โบราณกาล แต่เครื่องสูงสมัยครั้งกระโน้น คงจะไม่เหมือนปัจจุบัน และยังไม่พบตำราใด ที่ได้กำหนดไว้แน่นอนว่า เครื่องสูงประกอบด้วยสิ่งใด และน่าสันนิษฐานได้อีกว่า เครื่องสูงมีที่มาจากอินเดีย
                           เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดพิมพ์ไว้ในหนังสือวัฒนธรรมไทย เรื่องกษัตริย์ราชูปโภค และพระราชฐาน ระบุว่า เครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์มีรวมแปดสิ่งคือ ฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรห้าชั้น บังแทรก ฉัตรชุมสาย จามร พระกลด บังสูรย์ และพัดโบก
                           เครื่องสูงดังกล่าวใช้สำหรับพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย
                            สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า (ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน) มีเครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศคือ ฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรห้าชั้น บังแทรก ฉัตรชุมสาย จามร พระกลด บังสูรย์ และพัดโบก
                           เครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายดูคล้ายกันมาก ที่ต่างกันคือ เครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ เกือบจะทุกสิ่งระบุลักษณะว่า ปักหักทองขวาง และสำหรับเจ้านายส่วนมากระบุว่า ปักทองแผ่ลวดฉลุลาย เรียกกันย่อ ๆ ว่า เครื่องปักทองขวาง และเครื่องทองแผ่ลวด
                           เจ้านายที่รองลงมาจากที่กล่าวข้างต้น ก็มีเครื่องสูงลดหลั่นตามพระเกียรติยศ            ๖/๓๘๐๕
                ๑๑๓๓. เคเรนสกี้, อเล็กซานเดอร์ เฟโอโดโรวิช  (พ.ศ.๒๔๒๔)  เป็นนักการเมืองชาวรัสเซีย สมาชิกพรรคกรรมกร หลังปฎิวัติรุสเซียในปี พ.ศ.๒๔๖๐ เขาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ และได้ประกาศตั้งรุสเซียเป็นสาธารณรัฐ            ๖/๓๘๑๐
                ๑๑๓๔. เคลมองโว จอร์ซ  (พ.ศ.๒๓๘๔ - ๒๔๗๒)  เป็นรัฐบุรุษฝรั่งเศส หลังจากการปฎิวัติในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของท้องถิ่นที่ ๑๘ คือ มองต์มาร์ค แห่งกรุงปารีส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๔ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ประจำเขตแซน หลังจากปี พ.ศ.๒๔๑๙ เคลมองโซได้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรี ผู้ช่วยประธานาธิบดี ในที่สุดได้เป็นประธานาธิบดี          ๖/๓๘๑๓
                ๑๑๓๕. เคลลอก แฟรงค์ บิลลิงล์  (พ.ศ.๒๓๙๙ - ๒๔๘๐)  เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองอเมริกัน เคยเป็นวุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตา เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกัน ประจำกรุงลอนดอน และรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้จำทำกติกาสัญญาเคลลอก - บริอังค์ มีภาคีถึง ๖๒ ประเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นหนังสือสัญญากำจัดการสงคราม           ๖/๓๘๒๒
                ๑๑๓๖.  เคลวิน, วิลเลียม ทอมสัน  (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๔๕๐)  เป็นนักปราชญ์ในแขนงวิชาฟิสิกส์ สามารถคำนวณอายุขัยของโลก โดยใช้หลักวิธีคำนวณจาการนำความร้อน เป็นผู้มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก ในเรื่องวางสายโทรเลขใต้มหาสมุทร           ๖/๓๘๒๖
                ๑๑๓๗.  เคลือบ  มีความหมายหลายอย่าง เช่น เคลือบที่ติดเครื่องปั้นดินเผา เคลือบที่ติดกับโลหะ เคลือบที่ทับบนภาชนะที่ส่วนมากเป็นไม้ และเคลือบที่หมายถึง การหุ้มภายนอก ซึ่งบางทีก็ใช้คำว่า ชุบ หรืออาบ
                            เคลือบ  หมายถึง ผิวของเครื่องเคลือบดินเผา ที่มีลักษณะคล้ายแก้วหุ้มปิดทับ โดยเผาให้ละลายติดกับเนื้อดินปั้น ตามประวัติเข้าใจว่า อิยิปต์ เป็นประเทศแรกที่ได้ค้นพบวิธีทำยาเคลือบ ใช้สำหรับภาชนะดินปั้น
                           -เคลือบ หมายถึง การชุบ หรือกะไหล่ โลหะด้วยโครเมียม นิเกิล ดีบุก เงิน หรือทอง
                           -เคลือบ หมายถึง การเคลือบภาชนะด้วยครั่ง รวมทั้งการลงรัก หุ้มปิดภาชนะซึ่งทำด้วยไม้เป็นส่วนมาก ขัดมันเป็นเงางดงาม  หรือจะเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบ ที่ทำจากสารเคมีก็ได้
                           -เคลือบ หมายถึง การเคลือบเม็ดยาด้วยน้ำตาล หรือเคลือบเหล็กด้วยสังกะสี หรือการเคลือบเหล็กด้วยดีบุก เคลือบชนิดนี้บางทีก็เรียกว่า ชุบ หรืออาบ
                ๑๑๓๘. เควกเกอร์  เป็นสมาชิกของนิกายหนึ่ง ในศาสนาคริสต์ เชื่อกันว่าการเข้าถึงพระเจ้าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และเป็นไปอย่างกระทันหัน คำสอนของพระเจ้าจะปรากฎ ในดวงจิตของแต่ละคน
                           ลัทธินี้เป็นหลักการดำรงชีวิตมากกว่าเป็นการปฎิบัติ ในการเตรียมตัวเพื่อชีวิตหน้า ยึดหลักว่าจงรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การไม่รุนแรงต่อกัน และมีวินัยควบคุมตัวเองอย่างเคร่งครัด
                           ประวัติของพวกเควกเกอร์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๐ โดยชาวอังกฤษชื่อ ยอร์ช ฟอกซ์
                           พวกเควกเกอร์ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๒๐๓  ได้ตั้งรกรากในอาณานิคมที่เพนซิลวาเนีย มีวิลเลียม เพนน์ เป็นหัวหน้า พวกเควกเกอร์ในอเมริกาได้ชือ่ว่า เป็นผู้ริเริ่มการปฎิรูปสังคม เป็นมิตรที่แท้จริงของพวกอินเดียนแดง และไม่นิยมการมีทาส มีชื่อเสียงในการจัดการศึกษา
                           พวกเควกเกอร์ คัดค้านคำสอนของลัทธิกัลวิน ที่ว่าชีวิตมนุษย์มีกำหนดล่วงหน้า เขาเชื่อว่ามนุษย์สามารถเอาชนะบาปได้ อย่างเด็ดขาดในโลกนี้ โดยการดำรงชีวิต และปฎิบัติตามคำสอน ในพระคัมภีร์ใหม่            ๖/๓๘๓๒
                ๑๑๓๙. เควเบก, ควิเบก  ๑. เป็นชื่อมณฑลหนึ่งในประเทศแคนาดา ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อาณาเขตทางเหนือเป็นช่องแคบฮัดสัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอาร์คติก ทางใต้จดสหรัฐอเมริกา ทางตะวันออกจดอ่าวเซนต์ ลอเรนซ์ และมณฑลลาบราดอร์ เมืองเควเบกเป็นเมืองหลวง เมืองใหญ่ที่สุดคือ เมืองมอนทรีออล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ
                        ผู้ที่เดินทางมาถึงมณฑลเควเบก เป็นชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงเ มื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘
                        ๒. เป็นชื่อเมืองหลวงของมณฑลเควเบก เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง พลเมืองส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายฝรั่งเศส
                ๑๑๔๐. เคาฑะ  เป็นชื่อสมัยโบราณของแคว้นเบงกอลตอนกลาง และเป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นนี้ เคยเป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรือง ยังมีซากโบราณสถานเหลืออยู่           ๖/๓๘๔๐
               ๑๑๔๑.  เค้าแมว - นก  นกนี้ทั่วโลกมี ๑๓๓ ชนิด ในประเทศไทยมี ๑๘ ชนิด เป็นนกที่ชอบหากินตอนกลางคืน จึงมีระบบตาและหูที่เจริญพิเศษเหนือนกอื่น ๆ นกเค้าแมวกินสัตว์เล็กต่าง ๆ เป็นอาหาร ขนของมันอ่อนนุ่ม ขนปลายปีกก็อ่อนมาก เป็นพิเศษ มันจึงบินได้เงียบมาก เหมาะที่จะบินโฉบเหยื่อไม่ให้มีเสียงดัง ในเวลากลางคืนที่เงียบสงัด
                           นกเค้าแมว ส่วนมากอยู่ประจำถิ่น มันทำประโยชน์ให้แก่ชาวนามาก เพราะมันชอบกินหนู บางชนิดก็ทำลายตั๊กแตน และแมลงต่าง ๆ นกเค้าแมวในประเทศไทยมี ๑๘ ชนิดคือ
                           นกแสก  ตัวใหญ่ขนาดกา พบบ่อยตามทุ่งนา วงหน้าขาวของมันดูน่ากลัวคล้ายหน้าปีศาจ เวลาบินชอบร้องเสียงดังแสก เสียงเหมือนฉีกผ้า ชาวบ้านจึงชอบเรียกชื่อตามเสียงที่มันร้อง กลางวันชอบนอนตามฉางข้าว ตัวผู้ตัวเมียอยู่คู่กันตลอดไป ไม่ค่อยเปลี่ยนคู่
                           นกเค้าแดง  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ขนาดเท่า ๆ นกพิราบ คล้ายนกแสกขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามป่าดงดิบ จึงไม่ใคร่พบบ่อย
                           นกเค้าหน้าผากขาว  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ขนาดนกพิราบ มีเฉพาะทางปักษ์ใต้ลงไปทางมลายู ชอบอยู่ตามป่าดงดิบและตามเขาสูง ไม่พบบ่อยนัก
                           นกเค้าหูยาวเล็ก  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก เป็นนกป่าดง พบทางภาคเหนือแและภาคอีสาน
                           นกเค้าคู่  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก ชอบอยู่ทั้งในป่าและในเมือง ร้องเสียงคล้ายคนกู่
                           นกเค้าเล็กลายจุด  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก เล็กกว่านกเอี้ยงสาลิกา พบทั่วไปทุกภาค เว้นทางปักษ์ใต้
                           นกเค้าโมง  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามป่าทั่วไป
                           นกเค้าเหยี่ยว  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ชอบอยู่ตามทุ่งริมป่า
                           นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล  เป็นนกเค้าแมวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คล้ายนกถืดทือ แต่ตัวใหญ่กว่า หนากว่า ชอบอยู่ตามป่าดงดิบ มีทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้
                           นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่าดง
                           นกเค้าใหญ่สีคล้ำ  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ มีอยู่ทางภาคใต้
                           นกทึดทือพันธุ์มลายู  เป็นนกเค้าแมวชนิดใหญ่มาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่ารกทึบ พบอยู่ทางภาคตะวันออกและปักษ์ใต้
                           นกทึดทือพันธุ์ภาคเหนือ  มีทั่วทุกภาค
                           นกเค้าป่าหลังจุด  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่า มีทางภาคอีสาน ภาคกลาง ลงไปถึงปักษ์ใต้
                           นกเค้าป่าสีน้ำตาล  เป็นนกเค้าแมวชนิดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่าดงตีนเขาและป่าต่ำ ในไทยมีสองชนิดย่อย
                           นกเค้าแมวหูสั้น  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง เป็นนกย้ายถิ่น จากประเทศหนาวเหนือ มาหากินในไทยในฤดูหนาว           ๖/๓๘๔๐
                ๑๑๔๒. เคาหตี   เป็นเมืองหลวงของแคว้นอัสสัม หรือกามรูป ในประเทศอินเดีย เป็นศูนย์กลางย่านค้าขาย และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของแคว้นนี้ เคาหตีมีชาวไทยอาหมและไทยอื่น ๆ ซึ่งสืบเชื้อสายจากไทยใหญ่อยู่           ๖/๓๘๕๒
                ๑๑๔๓. เคียนหลง เฉียนหลุง  เป็นจักรพรรดิ์เชื้อชาติแมนจูแห่งประเทศจีน ในราชวงศ์ต้าชิงหรือไต้เช็ง (พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๕๕) ครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงสามารถในการปกครอง เอาพระทัยใส่เรื่องความรู้ ได้ทรงชำระประวัติศาสตร์จีน และจัดทำสารานุกรมจีนเป็นจำนวนสามเล่ม โปรดให้รวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่หายากและจัดทำบัญชีรายชื่อหนังสือเหล่านี้ไว้           ๖/๓๘๕๓
                ๑๑๔๔. เคียม  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร ลำต้นเปลากลม พบตามป่าดิบชื้น ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป เนื้อไม้แข็ง ทนแดดทนฝน ใช้ทำสะพานและการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมาก  ๖/๓๘๕๓
                ๑๑๔๕. เคี่ยมคะนอง  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายไม้เคี่ยม พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบทางภาคอาคเนย์และภาคใต้           ๖/๓๘๕๔
                ๑๑๔๖. แค - พรรณไม้  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๑๐ เมตร ดอกสีขาว ออกเป็นช่อห้อยสั้น ๆ รูปลักษณะเหมือนดอกถั่ว ผลเป็นฝัก
                           แคขน แคปิด แคพอง หรือแคคร้าว ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไป
                           แคแดง ต้นสูง ๒๐ - ๒๕ เมตร ถิ่นกำเนิดเดิมทางทวีปอัฟริกา นับว่าเป็นต้นใหญ่ที่สุด
                           แคทราย แคก้อง หรือแคดง ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                           แคมา แคป่า แคตุ้ยหรือแคปี่ฮ่อ ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา และป่าเบญจพรรณชื้น
                           แคฝอย ต้นสูง ๑๕ - ๒๐ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                           แคยอดดำ แคหมู แคหัวหมู ต้นสูง ๑๐ - ๒๐ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                           แคหางค่าง คล้ายแคยอดดำ           ๖/๓๘๕๔
                ๑๑๔๗. แค้, ตุ๊กแก - ปลา  เป็นปลาไม่มีเกล็ด หัวโตแบนลง รูปเพรียวไปทางหาง รูปร่างและสีสะดุดตาพอใช้ มีแถบดำใหญ่ ไม่สม่ำเสมอกัน พาดตามลำตัว ตอนปลายครีบเป็นแถบหรือจุดดำ จึงเรียกกันว่าปลาตุ๊กแก ปลาตุ๊กแกเป็นปลาขนาดใหญ่ ปรากฎว่ายาวถึง ๒ เมตร เป็นปลาดุ กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร           ๖/๓๘๖๖

    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch