หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/10

    ๗๙๕. เขมร - ชนชาติ เขมรเป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร สันนิษฐานว่า เดิมเมื่อหลายพันปีมาแล้ว อพยพจากอินเดียเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมอินโดจีน เพราะยังมีชนชาวป่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร เรียกว่าพวกมณฑ์ เหลือตกค้างในประะทศอินเดียอยู่ แต่ทฤษฎีใหม่ว่าชนมอญ - เขมร เดิมอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมอินโดจีน
                          เขมรแบ่งลักษณะ รูปร่างหน้าตา และผิวพรรณของชาวเขมรตามหลักของอินเดีย ซึ่งสืบมาแต่สมัยโบราณ ออกเป็นสองชนิดคือ ลักษณะอย่างโคและอย่างกวาง ลักษณะอย่างโคคือ มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน มีอยู่ในหมู่เขมรชาวชนบท ส่วนลักษณะอย่างกวางคือมีรูปร่างเล็ก เอวบาง อกเล็ก อ้อนแอ้น เป็นจำพวกผู้หญิงชาวเมืองชาววัง ดังนั้นผู้หญิงควรมีลักษณะอย่างกวาง ส่วนผู้ชายควรมีลักษณะอย่างโค
                           ประวัติศาสตร์  เขมรเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม เขมรเป็นชนชาติหนึ่ง ไทยเรียกเขมรโบราณว่าขอม ขอมเป็นชนชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลาประมาณสองพันปีมาแล้ว พวกขอมได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียที่แผ่ขยายมายังดินแดนบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน ตั้งแต่ก่อนที่ไทยจะลงมาตั้งเป็นถิ่นฐานมั่นคงอยู่
                          ในสมัยเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ลงมาตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ได้โปรดให้สมเด็จพระราเมศวร ราชโอรสเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร ยึดพระนครหลวงไว้ได้ เขมรคงเป็นประเทศราชชึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๓๖ ในรัชการสมเด็จพระราเมศวร เขมรยกทัพมากวาดต้อนราษฎรเมืองชลบุรี จันทบุรี จึงโปรดให้ยกกองทัพไปตีได้ชัยชนะ แต่ไม่สามารถยึดเมืองเขมรไว้ได้ จึงให้กวาดต้อนราษฎรเข้ามายังกรุง ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๗๕ เขมรเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ ยกกองทัพไปล้อมพระนครอยู่เจ็ดเดือนจึงตีได้
                          หลังจากที่เขมรย้ายราชธานีไปที่เมืองพนมเปญ แล้วก็ห่างจากประเทศไทยออกไป แม้กระนั้นในสมัยใดที่ไทยเพลี้ยงพล้ำในการศึกกับประเทศอื่น เขมรก็จะยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมอยู่เสมอ จนถึงปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กรีธาทัพไปตีเขมรอีกครั้ง การศึกครั้งนี้ทำให้ไทยกับเขมรยุติกรณีพิพาทลงเป็นเวลาช้านาน จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
                          ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางเขมรเกิดความยุ่งยากขึ้น พระรามราชาต้องหนีมาพึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ไทยกับเขมรต้องทำศึกกันอีกวาระหนึ่ง เขมรต้องหนีไปพึ่งอำนาจญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกรีธาทัพไปตีเขมรถึงสองครั้งในปี พ.ศ.๒๓๑๒ และ พ.ศ.๒๓๑๔  ไทยสนับสนุนพระรามราชา ญวนสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาญวนหมดอำนาจลง สมเด็จพระนารายณ์ต้องหันหน้ามาพึ่งไทย พระรามราชาได้เป็นใหญ่ในเขมร
                          ความวุ่นวายในเมืองเขมรมาสงบลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เสวยราชย์และได้ทรงนำนักองค์เองมาเลี้ยงไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม แล้วโปรดให้อภิเษกเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชา ออกไปครองประเทศเขมร และได้ตรัสขอเขตแดนเมืองพัตบอง และเสียมราฐ จากเขมร ให้เป็นบำเหน็จแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่ได้รักษาการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเขมร มาในระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์ราชายังเยาว์อยู่
                          ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ญวนกลับมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เขมรที่ไม่สมัครใจอยู่กับไทยก็หันเข้าหาญวนเช่นเคย เป็นเหตุให้ไทยและญวนต้องพิพาทกันในรัชกาลที่สาม และมาสงบเรียบร้อยลงได้เมื่อญวนได้ตกอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นจากการวิวาทของเจ้าเขมร เป็นเหตุให้องค์นโรดมเจ้าเขมรต้องหนีเข้ามาอยู่เมืองพัตบอง และที่สุดได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงชุบเลี้ยงไว้  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๗ เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบราบคาบ ก็ได้ทรงจัดการให้องค์นโรดมออกไปเป็นกษัตริย์เขมรสืบไป เขมรก็เป็นประเทศราชของไทยมาโดยเรียบร้อย
                          ในปีต่อมา ฝรั่งเศสแผ่ขยายอำนาจจากญวนมาในเขมร ไทยเพียงแต่รักษาเขตเมืองพัตบอง และเสียมราฐไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไทยต้องยอมยกดินแดนในเขตพัตบอง และเสียมราฐ รวมทั้งเขตอื่น ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้อำนาจของไทยในเขมรหมดลง  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยกับฝรั่งเศสได้พิพาทกันอีกในกรณีดินแดนในเขมร ฝรั่งเศสยอมคืนเขตพัตบอง เสียมราฐบางส่วน รวมทั้งกำพงธมและสตึงเตรงบางส่วนให้ไทย แต่เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยก็จำต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสอีก
                           โบราณคดี  ศิลปะเขมรสมัยโบราณเป็นศิลปะที่สำคัญที่สุดศิลปะหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นในแหลมอินโดจีน วิวัฒนาการของศิลปะเขมรนั้น สืบเนื่องต่อกันอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในด้านสถาปัตยกรรม ลวดลายเครื่องประดับ ภาพจำหลัก และประติมากรรมชนิดที่ดูได้รอบด้าน
                          ภาษา  ภาษาเขมรเป็นคำโดดอยู่ในตระกูลภาษามอญ - เขมร มีตัวอักษรเป็นสระและพยัญชนะ พยัญชนะมี ๓๓ ตัว และมีสระลอย ๑๘ ตัว           ๔/ ๒๐๖๖
                ๗๙๖. เขมร-เพลง เพลงไทยที่มีชื่อต้นเป็นภาษาต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมายบางเพลงก็นำเพลงของภาษานั้น ๆ มาใช้ บางเพลงก็แต่งขึ้นเองโดยคัดทำนองให้เป็นสำเนียงของภาษานั้น ๆ เพลงที่มีชื่อเขมรนำก็มีนัยอันเดียวกัน บางเพลงก็นำมาจากเขมรจริง ๆ เช่นเพลงเขมรพายเรือ เพลงเขมรกล่อมลูกเป็นต้น บางเพลงไทยเราแต่งขึ้นเองเช่นเพลงเขมรเขาเขียว เพลงเขมรปากท่อ และเพลงเขมรราชบุรีเป็นต้น
                ๗๙๗. เขมราฐ  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี เดิมเป็นหมู่บ้านเรียกว่าโคกกงพะเนียง ยกขึ้นเป็นเมืองเขมราฐบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖           มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง
                          ภูมิประเทศทางทิศเหนือ ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกเป็นป่าใหญ่ มีเขาเตี้ย ๆ ทางทิศตะวันตกเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ทางทิศใต้มีดงใหญ่ เรียกว่า ดงบังอี่ ตอนกลางเป็นที่ราบ
                          เมืองเขมราฐ มีอำเภอขึ้น ๖ อำเภอ เมื่อเกิดพวกผีบุญขึ้นในมณฑลอีสาน เจ้าเมืองเขมราฐไปเข้ากับพวกผีบุญ ถึงปีพ.ศ.๒๔๕๒ ยุบเมืองเขมราฐ ลงเป็น อ.เขมราฐ            ๔/ ๑๑๕๘
                ๗๙๘. เขมา ๑ - คาบสมุทร  เป็นคาบสมุทรซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม มีสัณฐานเกือบสามเหลี่ยม หันปลายไปทางอ่าวไทย           ๔/ ๒๑๖๐
                ๗๙๙. เขมา ๒ - แหลม  บางครั้งก็เรียกกันว่า แหลมเขมร อยู่บนปลายคาบสมุทรเขมา เป็นแหลมโค้งปัดอันเกิดจากกระแสน้ำทะเลพัดพาเอาโคลนตม และทรายมาจากบริเวณปากแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวของแหลมไม่แน่นอน แหลมนี้ถือเป็นแนวสุดปลายเขตตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทย           ๔/ ๒๑๖๐
                ๘๐๐. เขมา ๓ - เมือง  บางครั้งเรียกว่าเมืองคาโม เป็นเมืองท่าเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณป่าลุ่มริมแม่น้ำ ไม่ห่างไกลจากทะเลบนคาบสมุทรเขมา           ๔/ ๒๑๖๑
                ๘๐๑. เขมาเถรี  เป็นนามพระภิกษุณีองค์หนึ่ง ผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้าสาคลราช ผู้ครองสาคลนคร แค้วนมัทราษฎร์ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางหลงพระรูปโฉมของตนเอง เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงเนรมิตรูปหญิงที่ทรงโฉมสวยงามกว่าพระนางมากให้อยู่งานฟัด แล้วทรงเนรมิตให้รูปนั้นล่วงวัยตามลำดับ เป็นสาวแก่ กลางคน มีความชรา ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหัก ล้มลงถึงมรณะเฉพาะพระพักตรของนาง แล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า สัตว์ที่ถูกความรักย่อมจัดอยู่ ย่อมหมุนไปตามกระแสความรัก เหมือนแมงมุมกกไข่ ย่อมยุ่มย่ามไปตามสายใยที่ทำไว้เอง ฝ่ายพวกปราชญ์กำจัดความรักเสียได้ย่อมสิ้นห่วงหมดทุกข์ทั้งปวง
                          พระนางเขมาได้ฟังแล้วส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ตัดความรักเสียได้เด็ดขาด ก็ทรงบรรลุพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งสี่ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า แล้วทูลขอบรรพชา เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วต่อมาพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระเขมาเถรีไว้ในตำแหน่งพระเถรีผู้มีปัญญา อัครสาวกเบื้องขวาเป็นเยี่ยมกว่าภิกษุณีทั้งหลาย           ๔/ ๒๑๖๑
                ๘๐๒. เขมาภิรตาราม - วัด  เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ใต้ตัวเมืองนนทบุรี บนฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้เดิมเรียกว่าวัดเขมา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ปฏิสังขรณ์จึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเขมาภิรตาราม กล่าวกันว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในครั้งกระโน้นถือกันว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดของพระเจ้าอู่ทอง ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยจะปฏิสังขรณ์ไม่ได้ ผู้ที่ทำได้จะต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง และมีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ ได้มีการปฏิสังขรณ์มาก่อนหน้านี้โดยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย           ๔/ ๒๑๖๗
                ๘๐๓. เขยา - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาวตะเพียน แต่รูปร่างค่อนข้างยาว เป็นปลาน้ำจืด พบตามลำธารบนภูเขา           ๔/ ๒๑๖๙
                ๘๐๔. เขลง  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นกลม ค่อนข้างเปลา เนื้อไม้สีน้ำตาลเข้ม แข็งและหนักมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างที่ถาวร
                          เรือนใบค่อนข้างโปร่ง เป็นพุ่มกลม ใบช่อหนึ่งมี ๔ – ๘ ใบ เรียงสลับกัน ดอกสีขาวเขียวเป็นช่อโปร่ง ๆ ออกตามปลายกิ่ง ผลรูปไข่ แก่จัดสีดำ           ๔/ ๒๑๖๙
                ๘๐๕. เขลางนคร  ชื่อเมืองโบราณ ซึ่งมีกล่าวอยู่ในหนังสือชินกาลมาลินี จามเทวีวงศ์ และมูลศาสนาว่า เจ้าอินทวรกุมาร โอรสองค์ที่สองของพระนางจามเทวี แห่งนครหริภุญชัย ประสงค์จะสร้างเมือง ฤษีชื่อสุพรหม และพราหมณ์เขลางค์ ซึ่งอยู่ยังเขาเขลางค์เป็นผู้สร้างถวาย จึงได้ชื่อว่าเมืองเขลางค์ เมืองนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองผากอง และในพงศาวดารโยนกเรียกว่า เมืองศรินครชัย ว่าอยู่ใกล้กับเมืองนครลำปาง แต่อยู่กันคนละฝั่งแม่น้ำ           ๔/ ๒๑๖๙
                ๘๐๖. เขา - นก  เป็นนกจำพวกหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงนกเขาเปล้า นกหลุมพู และนกพิราบด้วย นกเขาที่ชอบเลี้ยงกันมากมีนกเขาหลวง และนกเขาชวา นกเขาพม่า  นอกจากนี้ก็มีนกเขาแขก นกเขาไฟหรือนกเขาทอง นกเขาเขียว นกเขาเปล้า และนกลุมพู นกพิราบป่า นกพิราบแดง นกเขาตู้ใหญ่       ๔/ ๒๑๗๐
                ๘๐๗. เข้าข้อ - โรค  หมายถึง อาการขัดหรือเจ็บปวดบริเวณข้อกระดูกอันเกิดจากกามโรค คำนี้ใช้กันทั่วไปไม่ใช่ศัพท์แพทย์ จึงตีความหมายรวมถึงการปวดเอ็นหุ้มข้อ และเอ็นใกล้ข้อด้วย ตำราแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีคำเข้าข้อ แต่เรียกว่าข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ  มีคำที่คู่กับเข้าข้อคือ ออกดอก          ๔/ ๒๑๙๖
                ๘๐๘. เขาไชยสน  อำเภอขึ้น จ.พัทลุง เดิมเป็นกิ่งอำเภอ  เมื่อตั้งอยู่ที่ ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง เรียกกิ่ง อ.ลำปำ  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ย้ายจาก ต.ลำปำ มาตั้งที่ ต.เขาไชยสน จึงใช้ชื่อว่า กิ่ง อ.เขาไชยสนได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖    ภูมิประเทศทิศเหนือเป็นที่ราบสูง ยตอนใต้เป็นที่ราบต่ำ เหมาะแก่การทำนา ทำสวนยาง        ๔/ ๒๑๙๗
                ๘๐๙. เข้าตรีทูต  หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก อุปมาว่าคนเรามีเจตภูติทั้งสี่  คนจะตาย เจตภูติออกจากตัวไปสาม ยังเหลือหนึ่ง แปลว่า อาการร่อแร่ หรือสี่เกลียว เหลือเกลียวเดียว เรียกว่า ตรีภูติ  แต่ผิดไปเป็นตรีทูต  อีกนัยหนึ่งอ้างว่าคนจะตาย ยมบาลส่งทูตมาสี่ทูตเพื่อจะมาเอาตัวไป ทูตมาสามแล้ว ถ้ามาอีกทูตเดียวก็ตาย           ๔/ ๒๑๙๗
                ๘๑๐. เข้าผี  เป็นลัทธิพิธีเกี่ยวกับเชิญผีให้เข้ามาสิงในตัวคนทรง เรียกกันว่า ทรงเจ้าเข้าผี ผีในที่นี้ มายถึง เจ้าผีนายผีซึ่งเป็นผีชั้นดี ส่วนผีชั้นเลวแม้เชิญให้มาเข้าสิงก็ไม่มา นอกจากจะมาเอง และทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่มันเข้าสิงอย่างที่เรียกกันว่า ผีเข้า
                          พวกหมอผีที่เป็นคนทรงคงจะเป็นผู้หญิงมีอายุเป็นส่วนมากจึงได้เรียกว่า แม่มด แต่เดิมหมู่บ้านหนึ่งมักมีแม่มดคนหนึ่ง ซึ่งสืบตระกูลเรื่องทรงเจ้าเข้าผีต่อกันมา           ๔/ ๒๒๐๐
                ๘๑๑. เข้าพรรษา  เป็นพุทธบัญญัติและคำนี้แปลว่าอยู่ฝน พักฝน หมายความว่าจำพรรษา คือหยุดพักในฤดูฝน หรือในคราวฝน เป็นธรรมเนียมของบ้านเมืองในครั้งพุทธกาล โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก เมื่อถึงฤดูฝนต้องหยุดไปมาหาสู่กันชั่วคราว
                          วันที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้เข้าพรรษาเรียกว่า วัสสูปนายิกา คือวันเข้าพรรษาต้นกับวันเข้าพรรษาหลัง วันเข้าพรรษาต้นมีกำหนดว่า
    เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง คือ วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนแปด  วันเข้าพรรษาหลัง เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง วันที่จำพรรษาอยู่นั้นมีกำหนดสามเดือน วันเข้าพรรษาต้นเริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนแปด ไปสิ้นสุดในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด
                          พระภิกษุจำพรรษาต้องมีเสนาสนะที่มุงบัง มีบานประตูเปิดปิดได้ ทรงห้ามจำพรรษาในกระท่อมผี ในกุฎีผ้า เช่น กลดหรือร่มใหญ่ หรือกระโจมผ้า ในตุ่ม ในกุฎีดินดิบหรือดินเผา ในโพรงต้นไม้ บนค่าคบไม้  ในวัดคือในสังฆารามเป็นหน้าที่ของภิกษุผู้ที่สงฆ์สมมติให้เป็นเสนาสนคาหาปก จะแจกเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลายให้พอกัน
                          ในคราวจำพรรษานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุหยุดพักกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เวลาที่ภิกษุบำเพ็ญสมณธรรมจะตั้งข้อกติกานัดหมายกัน
    ห้ามตั้งข้อกติกาอันไม่เป็นธรรม ให้ตั้งข้อกติกานัดหมายกันแต่ในข้อที่เป็นธรรม เมื่อได้อธิษฐานพรรษาแล้วต้องอยู่ในเขตที่กำหนดนั้นตลอดสามเดือน ถ้าหลีกไปในระหว่างนั้นเกินเจ็ดวัน พรรษาขาด ไม่ได้รับประโยชน์ของการจำพรรษา
                           เทศกาล  การเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนย่อมถือโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ กล่าวแต่เฉพาะหลักก็คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา  ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ ก็ถือเอาโอกาสนั้นบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อออกพรรษาแล้วก็พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงพฤติกรรม ที่ตนได้บำเพ็ญในระหว่างพรรษานั้น เป็นปรกติจริยาของพุทธศาสนิกชนในครั้งพุทธกาล
                          ในประเทศไทยพุทธศาสนิกชนก็อนุวัตรตามหลักเดินคือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แต่จริยาวัตรแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ เป็นการหลวงอย่างหนึ่ง และเป็นการราษฎรอย่างหนึ่ง มีมาแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ตอนที่ ๑ ล่วงมาสมัยกรุงศรีอยุธยา การพิธีเนื่องด้วยเทศกาลเข้าพรรษา น่าจะแพร่หลายไปทั่วประเทศ ยิ่งกว่าครั้งกรุงสุโขทัย และน่าจะได้ทำกันจนเป็นสามัญแล้ว ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ การพิธีอันเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ก็มีเหมือนเดิมทุกอย่างเป็นแต่ได้ดัดแปลงแก้ไข ในส่วนที่มิใช่พระพุทธบัญญัติ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย           ๔/ ๒๒๐๒
                ๘๑๒. เขาย้อย  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี เดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.ห้วยท่าช้าง เรียกว่า อ.ห้วยสะพาน  แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.เขาย้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาย้อย อำเภอนี้มีชาวกะเหรี่ยงอยู่มาก และมีลาวโซ่งอยู่ทั่วไป
                          ภูมิประเทศตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ทางตะวันตกเป็นที่ดอน มีป่าและเขา ทางตะวันออกเป็นชายทะเล  ๔/ ๒๒๑๕
                ๘๑๓. เขาสมิง  อำเภอขึ้น จ.ตราด เดิมชื่อ อ.สีบัวทอง เปลี่ยนเป็น อ.ทุ่งใหญ่ แล้วย้ายมาตั้งที่ท่ากระท้อน ต.เขาสมิง เรียกว่า อ.เขาสมิง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗
                          ภูมิประเทศตอนใต้เป็นป่าดงและที่ราบ        ๔/ ๒๒๑๘
                ๘๑๔. เข้าสุหนัด  ภาษาอาหรับเรียกว่า คอตนุ คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชาย สืบเนื่องมาจากศาสนาครั้ง นาบี อิบรอเฮม ทั้งคัมภีร์กุรอ่านก็ได้บัญญัติให้เจริญรอยตามนั้น ทางศาสนาอิสลามได้บัญญัติไว้ดังนี้คือ
                          ก. ผู้ใดอายุถึง ๑๕ ปี แล้วไม่ได้เข้าสุหนัด มีโทษร้ายแรง
                          ข. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะต้องล้างภายในหนังหุ้มอวัยวะเพศเสียก่อน จึงจะทำการละหมาดได้
                          ค. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะเป็นพยานในคดีศาสนาอิสลามไม่ได้
                          ง. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะไปเป็นผู้ปกครองผู้ที่จะเข้าพิธีสมรสไม่ได้          ๔/ ๒๒๑๘
                ๘๑๕. เขิง  เป็นชื่อเรียกเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานที่ทางภาคกลางเรียกว่า ตะแกรง ทำเป็นรูปกลมก้นลึก ช่องตาถี่เพื่อใช้ช้อนปลาขนาดเล็ก ในน้ำตื้น           ๔/ ๒๒๑๙
                ๘๑๖. เขิน ๑  เป็นชื่อชาวไทยพวกหนึ่งในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ต่อแดนกับประเทศไทย ทางจังหวัดเชียงราย เขินเป็นสาขาตะวันออกของพวกไทยใหญ่  และมีจำนวนมากกว่าพวกไทยใหญ่อื่นๆ ทางตะวันตก ขนบประเพณี และสำเนียงภาษาไทย ที่ใช้อยู่ เขินมีลักษณะใกล้กันกับไทยชาวพายัพมาก เพราะได้มีความใกล้ชิดกันมาช้านาน           ๔/ ๒๒๑๙
                ๘๑๗. เขิน ๒ - เครื่อง  คำว่าเครื่องเขิน หมายความ ถึงเครื่องใช้สอยที่ทำขึ้นโดยวิธีการเฉพาะอย่างหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยไม้หรือไม้ไผ่ ทำเป็นรูปเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ แล้วใช้กรรมวิธีตกแต่งเพิ่มเติมให้สำเร็จ สวยงามโดยใช้ยางรัก สีชาด มุก ทองคำเปลว หรือเงินเปลว เป็นวัตถุสำคัญในการทำ เครื่องใช้สอยเหล่านี้มี แจกัน ตลับ พาน ขันน้ำ เชี่ยนหมาก กล่องบุหรี่ โอ ตะลุ่ม เป็นต้น
                          ที่เรียกกันว่า เครื่องเขินนี้มีผู้เชื่อว่า เรียกตามนามชนเผ่าผู้ประดิษฐ์คือ ไทยเขิน ทางเชียงตุง
                          เอนไซโคลบิเดีย บริแตนนิกา กล่าวไว้ว่า จีนเป็นต้นตำรับทำเครื่องเขินมาเก่าแก่ ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว และในสมัยราชวงศ์เหมง ก็ได้มีโรงงานทำเครื่องเขินหลายโรงงาน ทำอยู่ที่เมืองตาลีฟู (หนองแส) ในยูนนาน และที่ในตังเกี๋ย
                ๘๑๘. เขียด  เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ชนิดที่มีอยู่ทั่วไป ตัวเล็ก ชอบอยู่ในน้ำ ฤดูฝนเวลาฝนตกและะมีน้ำขังอยู่ตามพื้นดิน มักจะโผล่หัวขึ้นมาจากน้ำมองเห็นแต่จมูก และลูกตา และพร้อมเสมอที่จะหนีศัตรู ที่เข้ามาใกล้ ต้องเสียงดังมาก เวลาร้องจะมองเห็นใต้คอโป่งออกมา           ๔/ ๒๒๓๙
                ๘๑๙. เขียว - งู  มีอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า งูเขียวปากจิ้งจก มักชอบอยู่บนพุ่มไม้และบนต้นไม้ อีกชนิดหนึ่งคือ งูเขียวหางไหม้ เป็นงูซึ่งอยู่ในเครืองูแมวเซา หัวรูปสามเหลี่ยม ตาโปน คอเล็ก ชอบอยู่ตามพุ่มไม้ และในบ้าน งูนี้เมื่อกัดแล้วไม่มีอันตรายถึงชีวิต           ๔/ ๒๒๔๑
                ๘๒๐. เขี้ยวกระแต  เป็นพรรณไม้อยู่ในหมู่ต้นกาแฟ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มักแตกกิ่งก้านเป็นชั้น ๆ ดอกออกตามข้อลักษณะคล้ายดอกมะลิ แต่เล็กกว่า มีกลิ่นหอมแรง มักจะส่งกลิ่นเวลาเย็น ๆ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ           ๔/ ๒๒๔๑
                ๘๒๑. เขี้ยวแก้ว - พระ  เป็นคำใช้เรียกพระทาฐธาตุของพระพุทธเจ้า หนังสือปฐมโพธิกล่าวไว้ว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายขวา กับพระรากขวัญเบื้องบน ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณี ณ ดาวดึงส์เทวโลก พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายขวา ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกลิงคราษฎร์ และบัดนี้อยู่ ณ ลังกาทวีป พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายซ้ายไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธาราฐ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ           ๔/ ๒๒๔๑
                ๘๒๒. เขี้ยวหนุมาน  เป็นแร่ประกอบหินชนิดหนึ่ง เกิดแพร่หลายในภูเขาตลอดจนหาดทราย แร่นี้เกิดอยู่ในลักษณะรูปร่างต่าง ๆ กัน มีทั้งแบบผลึกหยาบ และแบบผลึกละเอียด ทำให้เกิดมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น พลอยสีดอกตะแบก โมรา หินเหล็กไฟ
                          คำว่าเขี้ยวหนุมาน ได้ชื่อมาจากรูปผลึกของมัน ซึ่งเป็นผลึกหกเหลี่ยม หัวท้ายแต่ละเหลี่ยมมีดาน สามเหลี่ยมเอนเข้าไปบรรจบกันเป็นยอดแหลม ดูคล้ายกับฟันลิง สีของแร่นี้มีเกือบทุกสี เขี้ยวหนุมานชนิดเป็นผลึกใสเรียกว่า แก้วผลึก บางแห่งเรียก หินแว่นตา
                          แร่เขี้ยวหนุมาน เป็นตระกูลหนึ่งในรัตนชาติ มีผู้เอามาเจียระไนเป็นพลอยสีต่าง ๆ เช่น พลอยสีดอกตะแบก โมรา เพชรตาเสือ และโอปอล์            ๔/ ๒๑๔๔
                ๘๒๓. เขือ - ปลา  เป็นชื่อเรียกปลาที่คล้ายปลาบู่ขนาดเล็ก ตัวกลมยาว           ๔/ ๒๒๔๖
                ๘๒๔. เขื่องใน  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ เดิมชื่อ อ.ประจิมูปลนิคม  ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตระการพืชผล แล้วเปลี่ยนเป็น อ.เขื่องใน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
                          ภูมิประเทศทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตกเป็นทุ่งนา ป่าละเมาะและป่าโปร่ง ทางทิศยตะวันออกเป็นป่าทึบและทุ่งนา         ๔/ ๒๒๔๗
                ๘๒๕. เขื่อน  ในการชลประทานมีอยู่สองแบบคือ
                          ๑. เขื่อนระบายน้ำ  สำหรับกักน้ำในลำน้ำให้สูงขึ้น ถึงระดับที่ต้องการเมื่อระดับน้ำสูงเกินกว่าที่ต้องการ ก็ระบายน้ำไปทางท้ายเขื่อนได้ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพลเทพ เขื่อนพระราม ๖ เขื่อนนายก เขื่อนเพชร
                          ๒. เขื่อนเก็บกักน้ำ  สำหรับกักน้ำไว้ในหุบเขา แล้วค่อย ๆ ระบายน้ำส่งไปใช้ในการเพาะปลูก แต่ในขณะที่ระบายน้ำนี้ เนื่องจากระดับน้ำทางเหนือเขื่อน กับทางท้ายเขื่อน มีระดับต่างกันมาก ทำให้น้ำที่จะระบายออกไป มีแรงดันมาก จึงใช้น้ำนั้นให้หมุนเครื่องกังหันน้ำ เพื่อทำไฟฟ้าเสียก่อน เป็นผลพลอยได้ เช่น เขื่อนภูมิพล           ๔/ ๒๒๔๘
                ๘๒๖. แขก ๑  เป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกชนชาติต่าง ๆ ทางตะวันตกของประเทศไทย ที่เป็นชาวอินเดีย ปากีสถาน อัฟานิสถาน เปอร์เซีย และชาวอาหรับ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือลัทธิอิสลาม จึงได้ชื่อรวมว่าเช่นนั้น เพื่อแยกชื่อให้ผิดกับชาวตะวันตก พวกใหญ่อีกพวกหนึ่ง รวมเรียกว่า ฝรั่ง ชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ทางตะวันตกซึ่งไม่ใช่พวกฝรั้ง หรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็เรียกว่า แขก ได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู แขกธิเบต ภายหลังชนชาติชวามลายู ก็เรียกว่าแขกไปด้วย เหตุที่นับถือศาสนาอิสลามกันเป็นพื้น
                          แขกเป็นคำไทย ที่มีมาแต่เดิม หมายความว่า คนต่างบ้านต่างเมือง หรือเป็นคนมาแต่อื่น ไทยใหญ่เรียกประเทศจีนว่า เมืองแข่ ซึ่งเป็นคำมีเสียงกร่อนไปจากคำว่า แขก ส่วนคำว่า แคะ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งแปลว่า คนมาแต่อื่น ชาวไทยที่อยู่ในเขตแดนจีน พวกไทยใหญ่ก็เรียกว่า ไตแข่ คือไทยแขก           ๔/ ๒๒๗๒
                ๘๒๗. แขก ๒ - การลง  ประเพณีการรวมแรงทำงานของคนที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน โดยเฉพาะการทำนา ทำไร่ ทำสวน การทำนานิยมทำในเวลาไถ ถอนกล้า ดำกล้า เก็บเกี่ยว หรือนวดข้าว ทำไร่ มักทำในขณะลงพืชหรือเก็บผล ทำสวน กำหนดเอาการฟันดิน ลอกท้องร่อง
                          ลักษณะการลงแขกมีสองวิธีคือ ลงแขกขอแรง อย่างนี้ทำแล้วแล้วกันไป ไม่มีพันธะที่จะตอบแทน ลงแขกเอาแรง วิธีนี้มีพันธะที่เจ้างาน จะต้องทำตอบแทนในเมื่อแขกแจ้งมา            ๔/ ๒๒๗๒
                ๘๒๘. แขก ๓ - นก  ดูแขกเต้า - นก  (ลำดับที่ ๘๒๙)          ๔/ ๒๒๗๓
                ๘๒๙. แขกเต้า - นก  ดูนกแก้วแขก (ลำดับที่ ๖๒๑)           ๔/ ๒๒๗๓
                ๘๓๐. แขนง - เต่า    ดูขี้ผึ้ง - เต่า (ลำดับที่ ๗๗๒)             ๔/ ๒๒๗๓
                ๘๓๑. แขม  เป็นพรรณไม้ในวงศ์หญ้า จัดอยู่ในสกุลเดียวกับต้นอ้อย มีหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามแหล่งสถานที่บ้าง ตามลักษณะบ้าง
                          มีพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งในบางแห่งเรียกแขมเหมือนกัน มักพบตามที่แห้งแล้ง ดูคล้ายกัน แต่ดอกเป็นสีเหลือง จึงแรียกว่า แขมเหลือง          ๔/ ๒๒๗๓
                ๘๓๒. แขยง - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด แต่มีหนวด มีครีบหลังอันเดียวซึ่งมีก้านแข็ง มีอยู่สองวงศ์           ๔/ ๒๒๗๓
                ๘๓๓. แขยงข้างลาย  - ปลา  ดูปลาแขยง  (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๔. แขยงขาว แขยงใบข้าว - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๕. แขยงเจ้า แขยงทอง แขยงธง แขยงใบข้าว แขยงหมู - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๖. แขยงใบข้าว แขยงวัง - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๗. แขยงใบข้าว - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)            ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๘. แขยงวัง แขยงหนู แขยงหิน - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)            ๔/ ๒๒๗๖
                ๘๓๙. แขยงหมู - ปลา  อยู่ในสกุลเดียวกับปลาแขยง และรูปร่างคล้ายกัน  (ลำดับที่ ๘๓๒)        ๔/ ๒๒๗๗
                ๘๔๐. แขยงหิน กดหิน แค้หมู - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาแขยง เป็นปลาขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในลำธารน้ำจืด   (ลำดับที่ ๘๓๒)        ๔/ ๒๒๗๗


    • Update : 25/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch