|
|
การปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ในบ้าน/2
การปรับปรุงดินเพื่อปลูกต้นไม้ในบริเวณที่อยู่อาศัย
ดินในบริเวณที่อยู่อาศัยแถบที่ราบลุ่มกรุงเทพฯ นี้ จะต้องมีการถมดินให้สูงเพื่อปลูกที่อยู่อาศัย ดินที่ใช้ถมที่มักจะเป็นดินที่นำมากจากบริเวณรอบกรุงเทพฯ นี้เอง ซึ่งพอจะแบ่งชนิดของดินออกได้ดังนี้คือ
-
ดินที่ใช้ถมที่เป็นดินชั้นบน คือ หน้าดิน เป็นดินที่ขุดมาจากท้องนาตรงผิวๆ ดิน ดินนี้มีสีดำเข้ม มองเห็นแตกต่างจากดินชั้นบนอย่างเด่นชัด แต่ดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงมีอาหารธาตุของพืช เป็นต้นว่า N , P และ K สูง ดินนี้ลึกประมาณ 6-8 นิ้ว หรือหนึ่งหน้าจอบ โดยทั่วๆ ไปดินชนิดนี้ไม่มีปัญหาในการปลูกพืชทั้งไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก นอกจากดินบางแห่งซึ่งเป็นดินกรด จัดเป็นดินเปรี้ยว สังเกตการเป็นดินกรดจัดได้โดยดูจากพืชไม่ยอมขึ้น หรือก็ไม่งาม หรือหลังจากฝนตกใหม่ๆ ถ้าแรกน้ำที่ขังอยู่ใสสะอาดดี แสดงว่าดินนั้นเป็นดินกรดจัด ดินชนิดนี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง จึงจะใช้ปลูกพืชได้
-
ดินที่ใช้ถมเป็นดินชั้นล่าง ซึ่งโดยทั่วไปดินชั้นล่างมักจะมีสีจางกว่าดินชั้นบน อาหารธาตุของพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนมีน้อยกว่าดินชั้นบนและมีไม่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช P และ K มีอยู่ในดินชั้นล่างเหนือดินชั้นบน แต่ดินชั้นล่างมีสีดำจัดก็มีลักษณะ หรือคุณสมบัติเหนือดินบน แต่ถ้าดินชั้นล่างนั้นเป็นดินที่มีสีแดงปนน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนเหลืองอยู่ทั่วๆ ไป ดินชนิดนี้มักเป็นดินที่มีกรดจัด ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช นอกจากนั้นแล้ว อาหารธาตุของพืชพวก N , P และ K ต่ำ และมีสารพวกอลูมิเนียมละลายออกมามากถึงกับเป็นพิษกับต้นพืชไม้ยืนต้น ไม้ดอกประดับ และหญ้าแทบจะไม่ขึ้น จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นอย่างดี จึงจะใช้ปลูกพืชต่างๆ ได้
-
ดินที่ใช้ถมที่เป็นทรายขี้เป็ด หรือทรายละเอียด ทรายชนิดนี้ประชาชนนิยมใช้ถมที่กันมาก เพราะราคาถูก ถมแล้วไม่ยุบ ดีมากสำหรับสิ่งปลูกสร้าง แต่สำหรับการเกษตรแล้วไม่ดีเลย ดินชนิดนี้มีอาหารธาตุของพืชต่ำมาก หรืออาจไม่มีเลยก็เป็นได้ การที่จะใช้ดินชนิดนี้ปลูกพืชในบริเวณบ้านจะต้องมีการปรับปรุงเป็นอย่างมาก หรือถ้าจะให้ดีควรถมทรายเฉพาะตรงที่ที่จะปลูกสิ่งก่อสร้างหรือทางรถยนต์ในบ้าน ที่อื่นๆ ควรจะถมด้วยหน้าดินหรือดินชั้นบน อย่างน้อยจะต้องถมหน้าดินสูงสักหนึ่งฟุตถึงครึ่งเมตร
-
ดินที่ถมด้วยเศษเหลือจากสิ่งก่อสร้าง เป็นต้นว่าซีเมนต์ที่ใช้โบกผนัง ที่ตกลงมาแห้งกับพื้น หรือวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างอื่นๆ วัสดุนี้ถ้าใช้ถมที่แล้ว ปลูกพืชจะมีปัญหามาก แต่ถ้าถมที่แล้ว ถมดินทับด้วยดินชั้นบนให้สูงสักหนึ่งฟุต หรือครึ่งเมตรก็จะหมดปัญหาไป
-
ดินที่ถมด้วยเลนตามท่องร่องสวน ดินที่ลอกท้องร่องนี้มักเป็นดินที่มีเศษเหลือของพืชและสัตว์เน่าเปื่อยผุพังทับถมกันอยู่เป็นเวลานาน การเน่าเปื่อยผุพังจวนจะสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อลอกท้องร่องขึ้นมาถมที่ก็สามารถปลูกพืชได้เลย
-
ดินที่ถมด้วยเลนตมตามคลองที่อยู่อาศัยมีน้ำเสีย ดินชนิดนี้บางแห่งไม่มีปัญหา แต่บางแห่งมีปัญหามาก เพราะมีสารที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืชสะสมอยู่ สารที่เป็นพิษบางชนิดก็สามารถทำลายได้ แต่บางชนิดไม่สามารถทำลายได้ จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจึงจะสามารถใช้ปลูกพืชได้
-
กาปรับปรุงแก้ไขดินที่ใช้ปลูกพืชในบริเวณที่อยู่อาศัย
-
ดินชั้นบนหรือหน้าดิน เป็นดินที่มีอาหารธาตุของพืชอุดมสมบูรณ์สูงอยู่แล้ว นอกจากบางแห่งที่เป็นดินเปรี้ยวจัด สามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยการใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล โดยใส่ประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อดินดินหนึ่งตารางเมตร แล้วขุดดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ ก็สามารถใช้ปลูกพืชได้ ถ้าจะใช้ปลูกพวกไม้ดอกไม้ประดับ หรือผักสวนครัว ก็ควรจะเพิ่มปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเทศบาล 1-2 บุ้งกี๋ ต่อ 1 ตารางเมตร และขุดดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วปลูกพืชได้เลย ปุ๋ยอินทรีย์ที่กล่าวถึงนี้ นอกจากจะให้อาหารธาตุของพืชแล้ว ช่วยทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำไว้ให้กับต้นพืชอีกด้วย
-
ดินชั้นล่างที่สีน้ำตาลปนเหลือง มักเป็นดินกรดจัด การปรับปรุงโดยการใส่ปูนขาวประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร แล้วขุดดินผสมคลุกเคล้า รดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 อาทิตย์ จึงจะใช้ปลูกพืช ถ้าปลูกพืชอย่างอื่นก็ควรผสมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปด้วย ดินชนิดนี้มีอาหารธาตุของพืชต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธาตุไนโตรเจนมีน้อยมาก ส่วนฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมมีอยู่บ้าง แต่เนื่องจากการจัดอาหารธาตุของพืช พวกฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมจึงถูกปลดปล่อยออกมาให้กับต้นพืชน้อย เมื่อมีการแก้ไขปรับปรุง โดยการใส่ปูนขาว ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมมีมากขึ้น ส่วนอาหารธาตุของพืชไนโตรเจนจำเป็นต้องใส่
-
ดินที่ถมด้วยทรายขี้เป็ด ดินทรายขี้เป็ดนี้มีอาหารของพืชน้อยมาก ปรับปรุงให้เหมาะกับการปลูกพืชโดย การใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตรที่มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมในระดับเท่าๆ กัน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักควรจะใส่ 3-4 บุ้งกี๋ ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แล้วขุดดินให้ปุ๋ยคอกกับดินผสมกันให้ดี แล้วใช้ปลูกพืชได้เลย ส่วนปูนขาวไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะดินนี้ไม่ใช่ดินเปรี้ยว
-
ดินที่ถมด้วยวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง วัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างนี้มักจะมีซีเมนต์แห้งปนอยู่ ซีเมนต์แห้งนี้เป็นพิษกับต้นพืช มีฤทธิ์เป็นด่างอย่างแรง แก้ไขได้โดยใส่กำมะถันผง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนซีเมนต์ กำมะถันผง 1 ส่วน ควรจะแก้ซีเมนต์แห้งได้ 6-7 ส่วน เมื่อใส่กำมะถันผงแล้ว จะรดน้ำให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้ 3-4 อาทิตย์ ก็ใช้ปลูกพืชได้ การแก้ทิ้งระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ ที่ควรจะทำก็คือ เมื่อใช้วัสดุที่เหลือจากการก่อสร้างถมที่แล้ว ใช้หน้าดินถมที่ทับ ถ้าใช้เป็นดินทำสนามหญ้าปลูกพืชล้มลุก ก็ควรจะถมดินทับอย่างน้อย 1 ฟุต แต่ถ้าเป็นไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ควรจะเป็น 2-3 ฟุต
|
Update : 24/5/2554
|
|