ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงวางแผนการศึกษาไว้เป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติ และ ขั้นปฏิเวธ
ขั้นปริยัติ ได้แก่ การศึกษาทางทฤษฎีคือ การศึกษาพระธรรมวินัยให้มีความรู้เป็นพื้นฐานโดยแจ่มแจ้งเสียก่อนว่า คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ถ้าจะนำมาปฏิบัติจะทำอย่างไร และเมื่อปฏิบัติแล้วจะได้ผลอย่างไร
ขั้นปฏิบัติ คือการนำเอาพระธรรมวินัยมาปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ และ ขั้นปฏิเวธ เป็นขั้นที่แสดงถึงผลของการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสามเณรผู้มีศรัทธาที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วมีภารกิจที่ต้องทำสองประการ คือ ประการแรก ได้แก่ คันถธุระ การศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ การศึกษาชนิดนี้เน้นภาคทฤษฎี และประการที่สอง คือ วิปัสสนาธุระ การเรียนพระกรรมฐานโดยเน้นลงไปที่การปฏิบัติทางกายวาจาและใจ
สำหรับการศึกษาที่เรียกว่า ?คันถธุระ? นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกเป็นประจำทุกวันด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงด้วยพระโอฐตามที่พระองค์จะทรงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทซึ่งมีเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ฟังก็มีทั้งพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกต่อกันไป การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า คันถธุระ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมี ๙ ประการ เรียกว่า ?นวังคสัตถุศาสน์? แปลว่า คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า ซึ่งได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ
พระปริยัติธรรม หรือ นวังคสัตถุศาสน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยภาษาบาลี เพราะในสมัยนั้น ประเทศอินเดียมีภาษาหลักอยู่ ๒ ตระกูล คือ ภาษาปรากฤต และ ภาษาสันสกฤต
ภาษาปรากฤตแบ่งย่อยออกเป็น ๖ ภาษา คือ
ภาษามาคธี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมคธ
ภาษามหาราษฎรี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์
ภาษาอรรถมาคธี ภาษากึ่งมาคธี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอารษปรากฤต
ภาษาเศารนี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นศูรเสน
ภาษาไปศาจี ภาษีปีศาจ หรือภาษาชั้นต่ำ และ
ภาษาอปภรังศ ภาษาปรากฤตรุ่นหลังที่ไวยากรณ์ได้เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว
ภาษามาคธี หรือ ภาษามคธ เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สั่งสอนประชาชน ครั้นต่อมาพระพุทธศาสนาได้มาเจริญแพร่หลายที่ประเทศศรีลังกา ภาษามาคธีได้ถูกนักปราชญ์แก้ไขดัดแปลงรูปแบบไวยากรณ์ให้กระทัดรัดยิ่งขึ้นจึงมีชื่อใหม่ว่า ?ปาลี? หรือ ภาษาบาลี เป็นภาษาจารึกพระไตรปิฏกดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
คำว่า บาลี มาจากคำว่า ปาลี ซึ่งวิเคราะห์มาจาก ปาล ธาตุ ในความรักษา ลง ณี ปัจจัย ๆ ที่เนื่องด้วย ณ ลบ ณ ทิ้งเสีย มีรูปวิเคราะห์ว่า พุทธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี แปลโดยพยัญชนะว่า ภาษาใดย่อมรักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ เพราะเหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่า ปาลี แปลโดยอรรถว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านจารึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ด้วยภาษาบาลีซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นของคัมภีร์ต่างๆ ได้ดังนี้
พระไตรปิฏก เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง เรียกว่า บาลี
คำอธิบายพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานชั้นสอง เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา
คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นสาม เรียกว่า ฎีกา
คำอธิบายฏีกา เป็นหลักฐานชั้นสี่ เรียกว่า อนุฏีกา
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังเป็นทำนองอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า ?ทีปนี? หรือ ?ทีปิกา? หรือ ?ปทีปิกา? และหนังสือที่อธิบายเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ที่มีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า ?โยชนา? หนังสือทั้งสองประเภทนี้จัดเป็นคัมภีร์อรรถกถา
จะเห็นได้ว่า คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด เพราะเป็นหลักฐานชั้นแรกสุด คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกนั้นมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยจัดแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ
หมวดที่หนึ่ง พระวินัย ว่าด้วยเรื่อง ระเบียบ กฎ ข้อบังคับควบคุมกิริยา มารยาท ของภิกษุสงฆ์ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
หมวดที่สอง พระสูตร ว่าด้วยเรื่องราว นิทาน ประวัติศาสตร์ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและทรงสนทนากับบุคคลทั้งหลายอันเกี่ยวกับชาดกต่างๆ ที่ทรงสอนเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมย เป็นต้น มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และ
หมวดที่สาม พระอภิธรรมว่าด้วยธรรมขั้นสูง คือ ว่าด้วยเรื่องเฉพาะคำสอนที่เป็นแก่น เป็นปรมัตถ์ ในรูปปรัชญาล้วนๆ มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เรียกว่า ?ธรรมวินัย? ธรรมวินัยเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ เพราะถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศาสดา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า ?ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมะและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว? ดังนั้น กล่าวได้ว่า พระไตรปิฏกเป็นคัมภีร์ที่สำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ
พระไตรปิฏกแต่เดิมเป็นภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่มีในมัชฌิมประเทศที่เรียกว่า แคว้นมคธ ในครั้งพุทธกาล ต่อมาพุทธศาสนาแพร่หลายไปในนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ประเทศต่างๆ เหล่านั้น มีธิเบตและจีนเป็นต้นได้แปลพระไตรปิฏกจากภาษาบาลีเป็นภาษาของตน เพื่อประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นไม่มีใครเล่าเรียนพระไตรปิฏก ต่อมาก็ค่อยๆ สูญสิ้นไป สิ้นหลักฐานที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ได้ ลัทธิศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็แปรผันวิปลาสไป
แต่ส่วนประเทศฝ่ายใต้มี ลังกา พม่า ไทย ลาว และ เขมร ประเทศเหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาอื่นโดยทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฏกไว้ในเป็นภาษาบาลี
การเล่าเรียนคันถธุระก็ต้องเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองประเทศฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิศาสนาตามหลักธรรมวินัยยั่งยืนมาได้ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี นอกจากจะเป็นการศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนแล้วยังได้ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาภาษาบาลี เพราะถ้าไม่รู้ภาษาบาลีแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถรู้และเข้าใจพระพุทธวจนะในพระไตรปิฏก ถ้าขาดความรู้เรื่องพระไตรปิฏกแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมสูญไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมาจึงทรงทำนุบำรุง สนับสนุนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้พระพุทธวจนะให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงได้ทรงจัดให้มีวิธีการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อให้ปรากฏต่อชาวโลกทั่วไปว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร เมื่อปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้ถึงขั้นที่กำหนดไว้ พระมหากษัตริย์ก็ทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปปั้นให้เป็น ?มหาบาเรียน? ครั้นอายุพรรษาถึงชั้นเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามควรแก่คุณธรรมและความรู้เป็นครู อาจารย์ สั่งสอนพระปริยัติสืบๆ กันมาจนปัจจุบันนี้