ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมา โยมก็ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสแลได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ โยมได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า กับจะได้จัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนา โดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงทรงจําไว้ด้วยดีว่า โยมเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด ฯ (พระบรมราโชวาท 5 พฤษภาคม 2493)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์ คำนึงถึงว่า โดยที่พระภิกษุสามเณรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระวินัยโดยเคร่งครัด และธำรงรักษา ตลอดจนเผยแผ่พระธรรม คำสอนแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการสร้างความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้น แก่สังคม ประเทศชาติและแก่โลก ถ้าหากพระภิกษุสงฆ์และสามเณรมีโอกาสได้รับการศึกษาพุทธธรรมในขั้นสูง สามารถค้นคว้าและทำความเข้าใจพระไตรปิฏกอย่างแตกฉาน จะสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนานี้ได้ด้วยตนเอง และนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องจนบรรลุธรรมแล้วนำไปสั่งสอนพุทธบริษัทต่อไปได้ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การบำรุงพระภิกษุสามเณรให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งแตกฉาน เป็นทางสำคัญที่จะช่วยจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 76 พรรษา 5 ธันวาคม 2546 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทุนนี้เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมพระราชทานทุนปฐมฤกษ์จำนวนหนึ่งให้เมื่อ 21 พฤษภาคม 2547
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการกองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยขึ้น เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณรให้มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาขั้นสูงจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และ กองบาลีสนามหลวง เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา ซึ่งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย มีที่ทำการอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ กรุงเทพฯ
จากมติมหาเถรสมาคมที่ให้วัดทุกวัดจัดแสดงพระธรรมเทศนาทศพิธราชธรรมและ จักรวรรดิวัตร ในวันธรรมสวนะหรือวันใดวันหนึ่งตามสมควร เดือนละ 1 ครั้ง ตลอดปี 2549 แล้วรวบรวมเงินบูชากัณฑ์เทศน์เข้าบัญชี “ โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ” นั้น ในการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้แจ้งยอดบัญชี ที่ได้รับค่ากัณฑ์เทศน์ ปรากฏว่ามีเงินถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 แล้ว จำนวน 20 ล้านบาทเศษ ที่ประชุมมหาเถรสมาคมรับทราบ พร้อมกับให้นำเงินดังกล่าวสมทบเข้ากองทุน “ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งแตกฉาน
- เพื่อสร้างความร่มเย็นในสังคมด้วยการมีหลักพุทธธรรมที่ถูกต้องเป็นแกน
- เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักทางจิตใจและความคิดของประชาชน
คุณสมบัติผู้รับทุน
- เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่กําลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบเปรียญธรรม 6, 7, 8, และ 9 ในการสอบ
- มีผลการศึกษาและคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการของแต่ละสถาบันกําหนด
- ผ่านการคัดเลือกที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการของแต่ละสถาบัน
การให้ทุน
ทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทยจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพื่อ การลงทะเบียนเรียน ค่าหน่วยกิต ค่าหนังสือตําราเรียน และค่าธรรมเนียมต่างๆ จะได้มอบให้แก่สถานการศึกษาหรือผู้รับพระราชทานทุนโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย
- ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กํากับดูแลโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- ทุนระดับปริญญาตรี ทุนละ 7,000 บาทต่อปี รวม 4 ปี เป็นเงิน 28,000 บาท
- ทุนระดับปริญญาโท ทุนละ 15,000 บาทต่อปี รวม 2 ปี เป็นเงิน 30,000 บาท
- ทุนระดับปริญญาเอก ทุนละ 30,000 บาทต่อปี รวม 3 ปี เป็นเงิน 90,000 บาท
- ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 กํากับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง
- ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. 5 ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. 6 ทุนละ 6,000 บาท
- ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. 6 ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. 7 ทุนละ 8,000 บาท
- ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. 7 ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. 8 ทุนละ 12,000 บาท
- ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. 8 ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. 9 ทุนละ 16,000 บาท
ทุนพระธรรมทูต
ปัจจุบันมหาเถรสมาคมจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการพระธรรมทูตอําเภอ ทําหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปตามเขตต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 9 สาย โครงการฯ จะพิจารณาถวายทุนพระราชทานแก่หน่วยปฏิบัติพระธรรมทูต ที่มีผลงานดีเด่นสายละ 1 ทุน รวม 9 ทุน ทุนละ 20,000 บาท เพื่อสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการต่างๆ ที่สามารถดําเนินการได้อย่างมีผลดียิ่ง โดยมีกองงานพระธรรมทูตเป็นผู้กํากับดูแล
ทุนสํานักเรียน
เขตปกครองคณะสงฆ์ได้จัดให้มีสํานักเรียน และสํานักศาสนศึกษาตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่จะเข้าสอบเปรียญธรรมหรือศึกษาต่อด้าน พระพุทธศาสนาในขั้นสูงต่อไป โครงการฯ จึงจะพิจารณาถวายทุนพระราชทานแก่สํานักเรียนและสํานักศาสนศึกษาที่มีผลงานดี เด่นในแต่ละเขตปกครองคณะสงฆ์ รวม 5 ทุน ทุนละ 30,000 บาท เพื่อเป็นทุนดําเนินการและแรงจูงใจให้สํานักเรียนเหล่านี้สามารถปรับปรุง คุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป โดยมีกองบาลีสนามหลวงเป็นผู้กํากับดูแล
ปี 2547 เริ่มแรกได้รับบริจาคมา 152 ทุน ปีต่อมา 242 ทุน และปีนี้ได้ 312 ทุน จำนวนเงินต่างกันตามชนิดของทุน ปี 2548 เริ่มมีทุนพระธรรมทูตและทุนให้แก่สำนักเรียน
การบริหารโครงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นที่ปรึกษา องคมนตรี กำธน สินธวานนท์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 6 ท่าน พลโท นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์, น.ต.เกริก ตั้งสง่า ฯลฯ
จุดเด่นของโครงการ
การศึกษาทางศาสนาเพื่อมุ่งสืบศาสนทายาท ให้ได้เข้าถึงอย่างแท้จริงและช่วยเผยแพร่ จะเรียนทางบาลีด้วยเพื่อให้รู้ต้นเค้าเดิม จะช่วยสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง ถูกต้อง ผู้ได้ทุนจะเป็นเกียรติประวัติชีวิตอันยิ่งใหญ่ ช่วยจรรโลง พระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง ส่วนผู้บริจาค ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เป็นการทำบุญกับในหลวง จะได้ผลบุญมหาศาล และเป็นธรรมทานอันยิ่งใหญ่
ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ จากทุนเล่าเรียนหลวงฯ
อนึ่ง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 259 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เงินได้พึงประเมินที่คณะกรรมการได้รับเพื่อประโยชน์ของโครงการทุนเล่า เรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
การทูลเกล้าฯ ถวายทุนทรัพย์
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาจะทูลเกล้าฯ ถวายทุนทรัพย์ เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในการนี้ สามารถดำเนินการได้โดย
- โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ทางธนาคารต่อไปนี้
- ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยพระบรมมหาราชวัง หมายเลขบัญชี 061-2-06592-5
- ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนตะนาว หมายเลขบัญชี 111-4-14822-2
- ธนาคารกสิกรไทย สาขาเสาชิงช้า หมายเลขบัญชี 004-2-37111-4
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาพาหุรัด หมายเลขบัญชี 003-1-15555-5
- ธนาคารกรุงไทย สาขาเสาชิงช้า หมายเลขบัญชี 159-0-00181-8
จากนั้นส่งสำเนาใบโอนเงินไปยังที่อยู่ของโครงการฯ หรือหรือแฟกซ์ใบโอนเงินไปที่ โทรสาร 0-2225-0116 และ 0-2225-0051-2 ต่อ 4214
- ส่งเป็นธนาณัติ ตั๋วแลกเงินธนาคาร เช็คขีดคร่อม ในนามของ“โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย”
หากต้องการทราบรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ กทม.10200 โทร.0-2225-0051-2 ต่อ 4214, 4118 และ 4224