|
|
ภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤต
ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล กล่าวถึงเหตุที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยภาษาบาลีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ว่า “...ไม่สามารถเข้าพระทัยบทสวดมนต์ ที่เป็นภาษาบาลี ที่ทรงได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาตั้งแต่ครั้งนั้น แต่มีโอกาสศึกษาจริงๆ ก็เมื่อทรงเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีครูกำชัย ทองหล่อ เป็นพระอาจารย์ถวายภาษาบาลี เป็นคนแรก รับสั่งว่า สนพระทัยวิชานี้มาก สามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้แทบทั้งหมด และเข้าพระทัยโครงสร้าง และลักษณะทั่วไปของภาษาบาลี มาตั้งแต่ครั้งนั้น...”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าพระราชทาน ว่า “...ครูกำชัย เป็นคลังของวิชาการอะไรต่อมิอะไรมากมาย และก็พร้อมเสียด้วยที่จะเปิดเผย ฉะนั้นมีเวลาข้าพเจ้าจึงขอเรียนวิชาเป็นพิเศษ วิชาที่ว่านี้ คือภาษาบาลี (ตอนนั้นอยู่ ม.ศ. ๓) ครูก็ตกลงสอนให้โดยใช้หนังสือนวกบาลี ซึ่งท่านแต่งไว้สอนนิสิตครุศาสตร์ จุฬาฯ แล้วจึงแปลอุภัยพากย์ปริวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จนคล่อง จึงแปลธัมมปทัฏฐกถา หรือ อรรถกถาธรรมบท เป็นนิทานต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งพุทธกาล...” อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาไทยทั้งด้านหลักภาษาและวรรณคดี ทั้งมีความรู้ภาษาบาลีเป็นเยี่ยม ได้ถ่ายทอดความรู้ทางภาษา วรรณคดีและศิลปะไทย แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดอายุขัยของท่าน ในขณะที่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยใช้ A Sanskrit Primer ของ Perry เป็นตำราไวยากรณ์ และใช้ A Sanskrit Reader ของ Lanman เป็นบทอ่าน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทย และวิชาภาษาบาลีสันสกฤตเป็นวิชาโท ในส่วนของภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาไวยากรณ์พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และทรงอ่านวรรณคดีพุทธศาสนา วรรณคดีสันสกฤต ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เล่าเรียนกันในพระอารามต่างๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์ เป็นผู้ถวายพระอักษร แบบดั้งเดิม ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา และศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ถวายพระอักษรแบบตะวันตก เมื่อทรงศึกษาต่อ ขั้นปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาล ีและภาษาสันสกฤต พระอาจารย์ทุกท่านที่เอ่ยนาม ยังคงถวายพระอักษรต่อมา รัฐบาลอินเดียได้ส่งศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี มาถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต ตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษ และนาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้ถวายพระอักษรภาษาบาลีด้วย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประกาศยกย่องวิทยานิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท ว่า “...มิใช่เป็นเพียงวิทยานิพนธ์ เพื่อประกอบการศึกษาตามหลักสูตร เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลงานที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในภาษาบาลีพุทธวจนะเป็นพิเศษ...” นอกจากจะทรงศึกษาภาษาสันสกฤต ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงศึกษาขั้นปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงทรงรอบรู้ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ในจารึกที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นงานวิจัยที่พระองค์ทรงแปลจารึกภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และศาสตราจารย์โคลด ชาร์ค ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก ร่วมเป็นกรรมการ ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ซึ่งได้วิจารณ์ว่า “...วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นงานที่ยาก และดีมาก เขียนอย่างมีระเบียบ และมีวิธีการวิจัยที่ดี...”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงวิธีการ และประโยชน์ของการศึกษา ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ไว้ว่า “...การเรียนภาษาบาลีสันสกฤตนั้น เราไม่ได้เรียนแต่ตัวอักษรอย่างเดียว เราเรียนเนื้อหาด้วย เรียนภาษาบาลีก็ได้เรียนรู้เรื่องราวแนวคิดทางพุทธศาสนา สันสกฤตก็ได้เรียนเรื่องวัฒนธรรม ของผู้ที่ใช้ภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาต่างๆ กัน ได้ความรู้ หลักปรัชญา สังคม การเมือง กฎหมาย ศิลปะ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ของสมัยนั้น บางทีก็ทำให้รู้ว่า แนวคิดบางอย่าง ที่ถือว่าเป็นสมัยใหม่นั้น ที่จริงได้มีมาแล้ว และเขาเลิกไปแล้ว ประโยชน์สำคัญอีกประการ ที่ได้จากการเรียนบาลีสันสกฤต คือ ได้พบปะเสวนากับครูบาอาจารย์หลายท่าน ที่ทรงคุณธรรม เป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ ท่านเหล่านี้ นอกจากจะสอนวิชาการแล้ว ยังชี้ทางชีวิตที่ถูกต้อง เช่น เรื่องความซื่อตรง เรื่องความเมตตา เป็นต้น ถือเป็นมงคลอันอุดม ในการได้เสวนากับบัณฑิต...”
|
Update : 22/5/2554
|
|