คำต่างๆ ที่มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ถ้าหากทราบว่าคำใดมาจากคำในภาษาอะไร ก็มักจะบอกที่มาของคำนั้นไว้ด้วย เพื่อผู้ดูพจนานุกรมจะได้ทราบที่มาที่ไปของคำ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางนิรุกติศาสตร์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และก็ปรากฏว่าคำส่วนใหญ่ในภาษาไทย มักจะมาจากคำบาลีหรือสันสกฤต
บางครั้งคำไทยที่เขียนเป็นรูปบาลีและสันสกฤต แต่มีความหมายอย่างไทย ไม่ใกล้เคียงกับภาษาเดิม ก็มีอยู่เป็นอันมาก เช่น
- คำว่า "กิจจะลักษณะ" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "ว. เป็นการเป็นงาน, เป็นเรื่องเป็นราว, เป็นระเบียบเรียบร้อย" ทั้งๆ ที่ถ้าพิจารณาตามรูปศัพท์ น่าจะเป็น "ลักษณะของกิจ" หรือ
- คำว่า "ภาคภูมิ" ถ้าตามรูปบาลีก็แปลว่า "ส่วนแห่งแผ่นดิน" หรือ "แผ่นดินที่เป็นภาคหรือเป็นส่วนๆ" แต่พจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า "ว. มีสง่า, ผึ่งผาย" หรือ
- คำว่า "ภูมิฐาน" ตามศัพท์ก็แปลว่า "ฐานแห่งแผ่นดิน" เราใช้ในความหมายว่า "ว. สง่าผ่าเผย" คำว่า "ภูมิ" ซึ่งแปลว่า "แผ่นดิน, ที่ดิน" นั้น เราก็นำมาใช้หมายความว่า "ว. สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย" ดังนั้น "ภูมิใจ" พจนานุกรมจึงให้ความหมายไว้ว่า "ก. กระหยิ่มใจ, รู้สึกว่ามีเกียรติยศ"
คำบาลีและสันสกฤตที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย ที่มีความหมายต่างไปจากความหมายเดิม ยังมีอีกมากมาย เช่น คำว่า เวทนา สงสาร ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม คำที่น่าสนใจอย่างยิ่งพวกหนึ่งก็คือ คำที่มิใช่บาลีหรือสันสกฤตโดยตรง แต่บรรพบุรุษของเราท่านเก่งมาก สามารถนำทั้งคำบาลีและสันสกฤตมาผสมกันเป็นคำไทยที่มีรูปร่างคล้ายแขก ซึ่งแขกเองก็คงไม่ทราบว่าคำเหล่านั้นเป็นภาษาแขกที่แท้จริงหรือไม่ และบางทีคนไทยด้วยกันที่ไม่เข้าใจ ก็มักคิดว่าคนโบราณเขียนผิด
ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างเช่นคำว่า "ศิริ" ซึ่งคนเก่าๆ ท่านใช้ "ศ" แทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อคนหรือในเรื่องมงคลที่เราเรียกว่า "ศิริมงคล" ก็ตาม ทั้งนี้เพราะคำบาลีเขียนว่า "สิริ" ใช้ ส (เสือ) ถ้าเป็นคำสันสกฤตก็เป็น "ศรี" การที่บรรพบุรุษของเราเขียนเป็น "ศิริ" นั้น ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีความรู้ในด้านภาษาบาลีและสันสกฤต ความจริงท่านรู้ดีกว่าพวกเรามากนัก ท่านก็เอารูปบาลีกับรูปสันสกฤตมาผสมกันเป็น "ศิริ" คือเอาตัว ศ มาจากคำสันสกฤตว่า "ศรี" และเสียง "อิริ" ก็มาจากคำบาลีว่า "สิริ"
คำว่า "สถูป" ในภาษาไทยนั้น ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เขียนว่า "ถูป" ถ้าเป็นภาษาสันสกฤต ก็เขียนว่า "สตูป" แต่ทั้ง 2 คำ ถ้าออกเสียงแบบไทยเป็น "ถูบ" หรือ "สะตูบ" ไม่เพราะทั้ง 2 แบบ บรรพบุรุษของเราก็เอาตัว "ส" มาจากคำว่า "สตูป" ในภาษาสันสกฤต มาไว้หน้า "ถูป" ซึ่งเป็นคำบาลี จึงกลายเป็น "สถูป" (สะ - ถูบ) ในภาษาไทย ซึ่งมีเสียงเพราะกว่า "ถูป" (ถูบ) และ "สตูป" (สะ - ตูบ) อย่างมากมาย
คำว่า "ปรกติ" ซึ่งข้าพเจ้าเคยคิดว่าเป็นคำสันสกฤต ซึ่งตรงกับคำบาลีว่า "ปกติ" (ปะ - กะ - ติ) แต่ความจริงแล้วหาใช่คำสันสกฤตไม่ เพราะคำสันสกฤตคือ "ปรกฤติ" (ประ - กริ - ติ) ซึ่งออกเสียงแบบไทยไม่เพราะเลย ท่านจึงเอา "ร" กล้ำจาก "ปฺรกฺฤติ" มากล้ำกับคำบาลีที่ว่า "ปกติ" จึงสำเร็จรูปแบบคำพันทางว่า "ปรกติ"
คำว่า "ปถวี" ที่เราพบอยู่เสมอ แม้หนังสือไตรภูมิพระร่วงก็เขียนอย่างนี้ ความจริงแล้ว ถ้าเป็นคำบาลี ต้องเขียนว่า "ปฐวี" และถ้าเป็นคำสันสกฤตก็ต้องเขียนว่า "ปฺฤถวี" เราเอา "ป" (ปะ) จากคำบาลีว่า "ปฐวี" มาผสมกับ "- ถวี" พยางค์ท้ายของคำสันสกฤต จึงกลายเป็น "ปถวี" แต่ถ้าพูดถึง "ปฐพี" ก็ต้องใช้ ฐ ตามรูปบาลี แล้วแผลง ว เป็น พ
คำที่น่าสนใจอีกคำหนึ่งก็คือคำว่า "ฉิมพลี" อย่างในคำว่า "วิมานฉิมพลี" คำว่า "ฉิมพลี" เป็นคำภาษาอะไร คนส่วนมากก็คิดว่าเป็นคำบาลี ความจริงนั้นคำบาลี คือ "สิมฺพลี" แปลว่า "ไม้งิ้ว" หรือ "สิมพลิวัน" ก็แปลว่า "ป่าไม้งิ้ว" คำนี้ตรงกับคำสันสกฤตว่า "ศาลฺมลี" เรารับรูปบาลีมาใช้ แต่แผลง ส เป็น ฉ ทั้งนี้เพราะคำในภาษาไทย บางที ฉ กับ ส ก็ใช้แทนกันได้ เช่น ฉลาก กับ สลาก ฉลาด กับ สลาด ฉลัก กับ สลัก ดังนั้น "สิมฺพลี" (สิม-พะ-ลี) ในภาษาบาลีจึงมาเป็น "ฉิมฺพลี" (ฉิม-พะ-ลี) ในภาษาไทย
นี่นับว่าเป็นอัจฉริยลักษณะของภาษาไทยอย่างหนึ่ง.
จำนงค์ ทองประเสริฐ
23 กันยายน 2535