หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในภาษาไทย

    ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในภาษาไทย

    ข้อมูลในหน้านี้รอรับการปรับปรุง เพิ่มเติม

    ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

    ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จัดอยู่ภาษาอินเดีย-ยุโรป ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย  พวกอารยันได้เข้ามาในอินเดีย เมื่อประมาณ 1,500 ปี ก่อนคริสตศักราช (ปรีชา ทิชินพงศ์, 2534 : 1) นักปราชญ์ทางภาษาได้แบ่งภาษาตระกูลอารยันในอินเดียออกเป็น 3 สมัย ดังนี้

    1. ภาษาสมัยเก่า หมายถึงภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระเวท ได้แก่ คัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท รวมตลอดทั้งคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของคัมภีร์พระเวท (เวทานต์)   ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ต่างๆ เหล่านี้จะมีความเก่าแก่ลดหลั่นกันมาตามลำดับ ภาษาสันสกฤตก็จัดอยู่ในสมัยนี้ด้วย
    2. ภาษาสมัยกลาง ได้แก่ ภาษาปรากฤตซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวอารยันที่ใช้กันท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศอินเดีย เช่นภาษามาคธี มหาราษฏรี เศารเสนี เป็นต้น   ภาษาในสมัยนี้มีลักษณะโครงสร้างทางเสียง และนอกจากจะเรียกว่าภาษาปรากฤตแล้วยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภาษาการละคร” เพราะเหตุที่นำไปใช้เป็นภาษาพูดของตัวละครบางตัวในบทละครสันสกฤตด้วย
    3. ภาษาสมัยใหม่  ได้แก่ ภาษาต่างๆในปัจจุบัน เช่น ภาษาฮินดี เบงกาลี ปัญจาบี มราฐี เนปาลี เป็นต้น   ภาษาเหล่านี้แม้จะเข้าใจกันว่าสืบมาจากภาษาปรากฤต  แต่มีลักษณะของภาษาผิดกันมาก  เพราะมีภาษาตระกูลอื่นที่ไม่ได้สืบมาจากภาษาของชาวอารยันเข้าไปปะปนกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

    ภาษาสันสกฤต

    ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยัน  ถือเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนชั้นสูง   แต่เดิมนั้นไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์เคร่งครัดนัก   ต่อมาเมื่อระยะเวลาล่วงไปนานๆ  ประกอบกับภาษาในคัมภีร์พระเวทนี้มีภาษาพื้นเมืองปะปนอยู่มาก   เป็นเหตุให้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาษานี้คลาดเคลื่อนไปมาก  จนกระทั่งได้มีนักปราชญ์ของอินเดียคนหนึ่งชื่อ “ปาณินิ” ได้ศึกษาคัมภีร์พระเวททั้งหลาย  แล้วนำมาแจกแจงวางหลักเกณฑ์ให้เป็นระเบียบและรัดกุม แต่งเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้นเรียกชื่อว่า “อัษฎาธยายี”  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่แต่งได้ดีที่สุดและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก   และต่อมาได้มีผู้เรียกภาษาที่ปาณินิได้จัดระเบียบของภาษาไว้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุดนี้ว่า “สันสกฤต”  ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ได้จัดระเบียบและขัดเกลาเรียบร้อยดีแล้ว”   แต่กฎเกณฑ์ที่ปาณินิได้วางไว้นี้กลับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตไม่มีวิวัฒนาการเหมือนภาษาอื่นๆ  เพราะนอกจากภาษาสันสกฤตจะถือว่าเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในหมู่ของนักปราชญ์ โดยเฉพาะกษัตริย์และพราหมณ์ที่เป็นบุรุษเพศ   กฎเกณฑ์และรายละเอียดปลีกย่อยยังทำให้ไม่เอื้อต่อการใช้  จึงทำให้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาตายในที่สุด

    ภาษาบาลี

    ภาษาบาลี เป็นภาษาปรากฤตภาษาหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาพระเวท   ภาษาบาลี คือ ภาษาที่ชาวมคธใช้พูดกันในแคว้นมคธ เรียกว่า “ภาษามาคธี” พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษานี้ประกาศพระศาสนาของพระองค์   ภาษามาคธีนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (เจิม ชุมเกตุ, 2525:3)

    1. สุทธมาคธี เป็นภาษาของชนชั้นสูง คือภาษาของกษัตริย์หรือภาษาทางราชการ
    2. เทสิยา หรือ ปรากฤต ได้แก่ ภาษาประจำถิ่น

    พระพุทธเจ้าทรงใช้สุทธมาคธีเป็นหลักในการประกาศคำสั่งสอนของพระองค์  และในสมัยนั้นทรงเผยแผ่พระธรรมด้วยวิธีมุขปาฐะ  โดยมิได้มีบันทึกหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร   ภาษาบาลีนี้นำมาใช้บันทึกพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3   ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช  ถือเป็นภาษาประจำพุทธศาสนานิกายหินยาน [เถรวาท]   ส่วนศาสนานิกายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกพุทธวจนะ (สุภาพร มากแจ้ง, 2535 : 4)   และต่อก็ใช้ภาษาบาลีจารึกพระธรรมลงในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราหลักทางพระพุทธศาสนา    อย่างไรก็ตาม ภาษาบาลีก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาษาสันสกฤต  คือใช้เป็นภาษาเขียนในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเท่านั้น   ไม่ได้ใช้พูดหรือใช้เขียนในชีวิตประจำวัน  จึงไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีวิวัฒนาการเหมือนกับภาษาอื่นๆ  และกลายเป็นภาษาตายในที่สุด

    เหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปะปนในภาษาไทย

    เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในสู่ประเทศไทย  และคนไทยได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ   คนไทยจึงจำเป็นต้องเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต  เพราะคำสอนทางศาสนาเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต (สันสกฤต : มหายาน)    ดังนั้นจึงได้เกิดคำภาษาบาลีและสันสกฤตใช้ในภาษาไทยมากขึ้น (วิสันติ์ กฎแก้ว, 2529 : 1)   นอกจากการรับนับถือศาสนาพุทธแล้ว   ไทยยังได้รับเอาความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ  รวมทั้งวรรณคดีบาลีและสันสกฤตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย  ซึ่งเป็นส่วนทำให้เรารับคำภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เข้ามาใช้ในภาษาไทย

    สุธิวงศ์ พงษ์บูลย์ (2523 : 5) ได้กล่าวถึงเหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปนอยู่ในภาษาไทยว่า  เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ   สรุปได้ดังนี้

    1. ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา  เมื่อศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย   ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต และศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ในการเผยแผ่ศาสนา   ไทยได้รับศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และรับคติของศาสนาพราหมณ์มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะในลัทธิธรรมเนียมประเพณีต่างๆ  เราจึงรับคำในลัทธิทั้งสองเข้ามาใช้ในลักษณะของศัพท์ทางศาสนา และใช้เป็นศัพท์สามัญทั่วไปในชีวิตประจำวัน
    2. ความสัมพันธ์ทางด้านประเพณี  เมื่อชนชาติอินเดียได้เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย  ก็นำเอาประเพณีของตนเข้ามาปฏิบัติ ทำให้มีคำที่เนื่องด้วยประเพณีเข้ามาปะปนในภาษาไทย  และนานเข้าก็ได้กลายเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น  ตรียัมปวาย มาฆบูชา  ตักบาตรเทโว  ดิถี กระยาสารท เทศน์มหาชาติ กฐิน จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฉัตรมงคล พืชมงคล เป็นต้น
    3. ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม   อินเดียเป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัฒนธรรมมานาน  อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียมีต่อนานาประเทศทางภาคพื้นตะวันออกก่อนที่วัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามา  ไทยได้รับอิทธิพลของอินเดียทุกสาขา เช่น
      1. ศิลปะ   ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  เช่น ทางดนตรีและนาฏศิลป์   ภาษาที่ใช้เนื่องด้วยเป็นศิลปะจึงเข้ามาปะปนในภาษาไทย เช่น มโหรี ดนตรี ปี่พาทย์
      2. ดาราศาสตร์  อินเดียมีความเจริญทางด้านดาราศาสตร์มาช้านานจนมีตำราเรียนกัน  เมื่อวิชานี้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สุริยคติ จันทรคติ จันทรคราส
      3. การแต่งกาย  ศัพท์ทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เช่น มงกุฎ ชฎา สังวาล
      4. สิ่งก่อสร้าง   คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ที่เรียกชื่อสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและราชวัง เช่น นภศูล ปราสาท เจดีย์
      5. เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชาวอินเดียนำเข้ามาในประเทศไทย  ทำให้เราได้รับคำที่เรียกเครื่องมือเครื่องใช้นั้นๆเข้ามาใช้ด้วย เช่น อาวุธ ทัพพี คนโท
      6. การใช้ราชาศัพท์   การใช้ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย  ที่ต้องการแยกศัพท์ของคนสามัญชนออกจากศัพท์ที่ใช้กับพระราชาและเชื้อพระวงศ์  เป็นเหตุให้เรารับคำบาลีและสันสกฤต  ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่สูงเข้ามาใช้ เช่น พระเนตร พระบาท พระกรรณ บางคำก็รับเข้ามาเป็นคำสุภาพ เช่น บิดา มารดา ฯลฯ
    1. ความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการ   เนื่องจากวิทยาศาสตร์และวิทยาการเจริญกว้างขวางขึ้น ทำให้คำที่เราใช้อยู่เดิมแคบเข้า  จึงจำเป็นต้องรับคำบาลี สันสกฤต เข้ามาใช้ เพื่อความเจริญและความสะดวก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แพทย์ เภสัช ฯลฯ
    1. ความสัมพันธ์ทางด้านวรรณคดี   วรรณคดีอินเดียมีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งวรรณคดีสันสกฤต และวรรณคดีที่เนื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนา  เมื่อเรารับเอาวรรณคดีเหล่านี้เข้ามา  จึงมีศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับวรรณคดีเหล่านี้เข้ามามากมาย เช่น ครุฑ สุเมรู หิมพานต์ ฯลฯ

    ลักษณะของภาษาบาลีและสันสกฤต

    ภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ในตระกูลภาษาที่มีวิภัตปัจจัย  คือเป็นภาษาที่ที่มีคำเดิมเป็นคำธาตุ  เมื่อจะใช้คำใดจะต้องนำธาตุไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติ  เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกพจน์ ลิงค์ บุรุษ กาล มาลา วาจก   โครงสร้างของภาษาประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยคำ และระบบโครงสร้างของประโยค  ภาษาบาลีและสันสกฤตมีหน่วยเสียง 2 ประเภท คือ หน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ ดังนี้

    1. หน่วยเสียงสระ
      หน่วยเสียงสระภาษาบาลีมี 8 หน่วยเสียง  คือ  อะ อา  อิ อี  อุ อู  เอ โอ
      หน่วยเสียงภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลี 8 หน่วยเสียง และต่างจากภาษาบาลีอีก 6 หน่วยเสียง เป็น 14 หน่วยเสียง คือ อะ อา  อิ อี  อุ อู  เอ โอ   ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦๅ
    1. หน่วยเสียงพยัญชนะ
      หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาบาลีมี 33 หน่วยเสียง  ภาษาสันสกฤตมี 35 หน่วยเสียง เพิ่มหน่วยเสียง ศ ษ
      ซึ่งหน่วยเสียงพยัญชนะทั้งสองภาษานี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ  พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรค

    วิธีสังเกตคำบาลี  

    1. สังเกตจากพยัญชนะตัวสะกดและตัวตาม 
      ตัวสะกด คือ  พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระ ประสมกับสระและพยัญชนะต้น เช่น ทุกข์ (ก = ตัวสะกด)

    ตัวตาม คือ ตัวที่ตามหลังตัวสะกด เช่น สัตย สัจจ ทุกข เป็นต้น   คำในภาษาบาลี จะต้องมีสะกดและตัวตามเสมอ โดยดูจากพยัญชนะบาลี มี 33 ตัว แบ่งออกเป็นวรรคดังนี้    

    แถวที่ 1 2 3 4 5
    วรรค กะ
    วรรค จะ
    วรรค ฏะ
    วรรค ตะ
    วรรค ปะ
    เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬ อํ

    มีหลักสังเกตตัวสะกดดังนี้

    1. พยัญชนะตัวที่ 1 , 3 , 5 เป็นตัวสะกดได้เท่านั้น (ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน)
    2. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 1 สะกด ตัวที่ 1 หรือตัวที่ 2 เป็นตัวตามได้ เช่น สักกะ ทุกข สัจจ  ปัจฉิม สัตต หัตถ บุปผา เป็นต้น
    3. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 3 สะกด ตัวที่ 3 หรือ 4 เป็นตัวตามได้ในวรรคเดียวกัน เช่น  อัคคี พยัคฆ์ วิชชา อัชฌา พุทธ คัพภ (ครรภ์)

    ง. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5 สะกด ทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น องค์ สังข์ องค์ สงฆ์ สัมปทาน สัมผัส สัมพันธ์ สมภาร เป็นต้น

    จ. พยัญชนะบาลี ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้นจะข้ามไปวรรคอื่นไม่ได้

    2. สังเกตจากพยัญชนะ “ฬ” จะมีใช้ในภาษาบาลีในไทยเท่านั้น เช่น จุฬา ครุฬ อาสาฬห์ วิฬาร์ โอฬาร์ พาฬ เป็นต้น

    3. สังเกตจากตัวตามในภาษาบาลี จะมาเป็นตัวสะกดในภาษาไทยโดยเฉพาะวรรค ฎ และวรรคอื่น ๆ บางตัว จะตัดตัวสะกดออกเหลือแต่ตัวตามเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เช่น

    บาลี ไทย   บาลี ไทย
    รัฎฐ รัฐ   อัฎฐิ อัฐิ
    ทิฎฐิ ทิฐิ   วัฑฒนะ วัฒนะ
    ปุญญ บุญ   วิชชา วิชา
    สัตต สัต   เวชช เวช
    กิจจ กิจ   เขตต เขต
    นิสสิต นิสิต   นิสสัย นิสัย

    ยกเว้นคำโบราณที่นำมาใช้แล้วไม่ตัดรูปคำซ้ำออก เช่น ศัพท์ทางศาสนา ได้แก่ วิปัสสนา จิตตวิสุทธิ์ กิจจะลักษณะ เป็นต้น

    วิธีสังเกตคำสันสกฤต มีดังนี้

    1. พยัญชนะสันกฤต มี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว + 2 ตัว คือ ศ, ษ
      ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น   ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น ศอก ศึก ศอ เศร้า ศก ดาษ กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ
    2. ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน   ภาษาสันสกฤต ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น อัปสร เกษตร ปรัชญา อักษร เป็นต้น
    3. สังเกตจากสระ   สระในภาษาบาลี มี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
      ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี 8 ตัว + เพิ่มอีก 6 ตัว คือ สระ ฤ ฤา ภ ภา ไอ เอา
      ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์ ไปรษณีย์ ฤาษี คฤหาสน์ เป็นต้น
    4. สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร อัคร บุตร สตรี ศาสตร์ อาทิตย์ จันทร์ เป็นต้น
    5. สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นต้น
    6. สังเกตจากคำที่มี “ฑ” อยู่ เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น
    7. สังเกตจากคำที่มี “รร” อยู่ เช่น สรรค์ ธรรม์ วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์ มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น

    ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต

    ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน  ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้

    1. ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน  เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกัน เรามักเลือกใช้รูปคำสันสกฤต  เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า  เช่น

    บาลี สันสกฤต ไทย
    กมฺม กรฺม กรรม
    จกฺก จกฺร จักร

    2. ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น

    บาลี สันสกฤต ไทย
    ครุฬ ครุฑ ครุฑ
    โสตฺถิ สฺวสฺติ สวัสดี

    3. คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก  ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น

    บาลี สันสกฤต ไทย
    ขนฺติ กฺษานฺติ ขันติ
    ปจฺจย ปฺรตฺย ปัจจัย

    4. รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อย แต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่  บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น

    บาลี สันสกฤต ไทย
    กณฺหา กฺฤษฺณา กัณหา, กฤษณา
    ขตฺติย กฺษตฺริย ขัตติยะ, กษัตริย์

    5. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่  บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป   แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น

    บาลี สันสกฤต ไทย ความหมาย
    กิริยา กฺริยา กิริยา อาการของคน
        กริยา ชนิดของคำ
    โทส เทฺวษ โทสะ ความโกรธ
        เทวษ ความเศร้าโศก

    คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย

    คำภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งในสมัย  ปัจจุบันทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง  คือพบตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า  ในสมัยสุโขทัยนั้นไทยได้นำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยของเราแล้ว   และในสมัยต่อมาก็ปรากฏว่านิยมใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในการแต่งวรรณคดีมากขึ้น

    วิสัณติ์ กฏแก้ว (2529 : 2) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำบาลีและสันสกฤตเป็นที่นิยมชมชอบในการนำมาใช้ในทางวรรณคดี   พอจะสรุปได้ดังนี้

    1. วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมที่ถือเอาเสียงไพเราะเป็นสำคัญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง  นอกจากจะถือเอาความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญแล้ว ในการประพันธ์วรรณกรรมประเภทฉันท์ จะต้องถือคำ ครุ ลหุ เป็นสำคัญอีกด้วย  คำที่เป็นเสียงลหุในภาษาไทยมีน้อยมาก  จึงจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต  เพราะสามารถเลือกคำลหุ ครุ ได้มาก และสามารถดัดแปลงให้เข้ากับภาษาของเราได้ดี

    ตัวอย่าง
    ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี   สรรเพชญพระผู้มีพระภาค
    อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก  ประมาณ
                       (สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 – อิลราชคำฉันท์)

    1. คนไทยถือว่าคำบาลีและสันสกฤตเป็นคำสูง เพราะเป็นคำที่ใช้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตส่วนใหญ่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพบูชาทั่วไป เช่น พระสงฆ์ พราหมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการแต่งฉันท์ที่ถือกันว่าเป็นของสูง จึงนิยมใช้คำบาลีและสันสกฤต
    2. วรรณคดีไทยโดยมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งจะต้องใช้คำราชาศัพท์   การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่น พระเนตร พระพักตร์ พระกรรณ เป็นต้น
    3. การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตแต่งฉันท์ เป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี มีคนเคารพนับถือและยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์”

    • Update : 22/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch