ผู้ที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสามเณรผู้มีศรัทธาที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วมีภารกิจที่ต้องทำสองประการ คือ ประการแรก ได้แก่ คันถธุระ การศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ การศึกษาชนิดนี้เน้นภาคทฤษฎี และประการที่สอง คือ วิปัสสนาธุระ การเรียนพระกรรมฐานโดยเน้นลงไปที่การปฏิบัติทางกายวาจาและใจ
สำหรับการศึกษาที่เรียกว่า “คันถธุระ” นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกเป็นประจำทุกวันด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงด้วยพระโอฐตามที่พระองค์จะทรงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทซึ่งมีเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ฟังก็มีทั้งพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกต่อกันไป การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า คันถธุระ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมี 9 ประการ เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” แปลว่า คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า ซึ่งได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ
พระปริยัติธรรม หรือ นวังคสัตถุศาสน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยภาษาบาลี เพราะในสมัยนั้น ประเทศอินเดียมีภาษาหลักอยู่ 2 ตระกูล คือ ภาษาปรากฤต และ ภาษาสันสกฤต
ภาษาปรากฤตแบ่งย่อยออกเป็น 6 ภาษา คือ
- ภาษามาคธี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมคธ
- ภาษามหาราษฎรี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์
- ภาษาอรรถมาคธี ภาษากึ่งมาคธี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอารษปรากฤต
- ภาษาเศารนี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นศูรเสน
- ภาษาไปศาจี ภาษีปีศาจ หรือภาษาชั้นต่ำ และ
- ภาษาอปภรังศ ภาษาปรากฤตรุ่นหลังที่ไวยากรณ์ได้เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว
ภาษามาคธี หรือ ภาษามคธ เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สั่งสอนประชาชน ครั้นต่อมาพระพุทธศาสนาได้มาเจริญแพร่หลายที่ประเทศศรีลังกา ภาษามาคธีได้ถูกนักปราชญ์แก้ไขดัดแปลงรูปแบบไวยากรณ์ให้กระทัดรัดยิ่งขึ้นจึงมีชื่อใหม่ว่า “ปาลี” หรือ ภาษาบาลี เป็นภาษาจารึกพระไตรปิฏกดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
คำว่า บาลี มาจากคำว่า ปาลี ซึ่งวิเคราะห์มาจาก ปาล ธาตุ ในความรักษา ลง ณี ปัจจัย ๆ ที่เนื่องด้วย ณ ลบ ณ ทิ้งเสีย มีรูปวิเคราะห์ว่า พุทธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี แปลโดยพยัญชนะว่า ภาษาใดย่อมรักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ เพราะเหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่า ปาลี แปลโดยอรรถว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านจารึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ด้วยภาษาบาลีซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นของคัมภีร์ต่างๆ ได้ดังนี้
- พระไตรปิฏก เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง เรียกว่า บาลี
- คำอธิบายพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานชั้นสอง เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา
- คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นสาม เรียกว่า ฎีกา
- คำอธิบายฏีกา เป็นหลักฐานชั้นสี่ เรียกว่า อนุฏีกา
- นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังเป็นทำนองอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “ทีปนี” หรือ “ทีปิกา” หรือ “ปทีปิกา” และหนังสือที่อธิบายเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ที่มีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “โยชนา” หนังสือทั้งสองประเภทนี้จัดเป็นคัมภีร์อรรถกถา
จะเห็นได้ว่า คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด เพราะเป็นหลักฐานชั้นแรกสุด คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกนั้นมีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยจัดแบ่งเป็น 3 หมวด คือ
หมวดที่หนึ่ง พระวินัย ว่าด้วยเรื่อง ระเบียบ กฎ ข้อบังคับควบคุมกิริยา มารยาท ของภิกษุสงฆ์ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ มี 21,000 พระธรรมขันธ์
หมวดที่สอง พระสูตร ว่าด้วยเรื่องราว นิทาน ประวัติศาสตร์ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและทรงสนทนากับบุคคลทั้งหลายอันเกี่ยวกับชาดกต่างๆ ที่ทรงสอนเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมย เป็นต้น มี 21,000 พระธรรมขันธ์ และ
หมวดที่สาม พระอภิธรรมว่าด้วยธรรมขั้นสูง คือ ว่าด้วยเรื่องเฉพาะคำสอนที่เป็นแก่น เป็นปรมัตถ์ ในรูปปรัชญาล้วนๆ มี 42,000 พระธรรมขันธ์
คำสอนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เรียกว่า “ธรรมวินัย” ธรรมวินัยเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ เพราะถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศาสดา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมะและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” ดังนั้น กล่าวได้ว่า พระไตรปิฏกเป็นคัมภีร์ที่สำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ
พระไตรปิฏกแต่เดิมเป็นภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่มีในมัชฌิมประเทศที่เรียกว่า แคว้นมคธ ในครั้งพุทธกาล ต่อมาพุทธศาสนาแพร่หลายไปในนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ประเทศต่างๆ เหล่านั้น มีธิเบตและจีนเป็นต้นได้แปลพระไตรปิฏกจากภาษาบาลีเป็นภาษาของตน เพื่อประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นไม่มีใครเล่าเรียนพระไตรปิฏก ต่อมาก็ค่อยๆ สูญสิ้นไป สิ้นหลักฐานที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ได้ ลัทธิศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็แปรผันวิปลาสไป
แต่ส่วนประเทศฝ่ายใต้มี ลังกา พม่า ไทย ลาว และ เขมร ประเทศเหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาอื่นโดยทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฏกไว้ในเป็นภาษาบาลี
การเล่าเรียนคันถธุระก็ต้องเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองประเทศฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิศาสนาตามหลักธรรมวินัยยั่งยืนมาได้ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี นอกจากจะเป็นการศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนแล้วยังได้ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาภาษาบาลี เพราะถ้าไม่รู้ภาษาบาลีแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถรู้และเข้าใจพระพุทธวจนะในพระไตรปิฏก ถ้าขาดความรู้เรื่องพระไตรปิฏกแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมสูญไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมาจึงทรงทำนุบำรุง สนับสนุนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้พระพุทธวจนะให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงได้ทรงจัดให้มีวิธีการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อให้ปรากฏต่อชาวโลกทั่วไปว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร เมื่อปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้ถึงขั้นที่กำหนดไว้ พระมหากษัตริย์ก็ทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปปั้นให้เป็น “มหาบาเรียน” ครั้นอายุพรรษาถึงชั้นเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามควรแก่คุณธรรมและความรู้เป็นครู อาจารย์ สั่งสอนพระปริยัติสืบๆ กันมาจนปัจจุบันนี้