เดี๋ยวนี้คนไทยเรามีความเข้าใจเรื่องการทำบุญผิดพลาดคลาดเคลื่อนออกไปจากหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนถึงกับเชื่อกันว่าการทำบุญจะต้องใช้เงินกันมากๆ
โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย
เดี๋ยวนี้คนไทยเรามีความเข้าใจเรื่องการทำบุญผิดพลาดคลาดเคลื่อนออกไปจากหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนถึงกับเชื่อกันว่าการทำบุญจะต้องใช้เงินกันมาก ๆ ยิ่ง “ทำมากยิ่งได้บุญมาก” ความเชื่อเช่นนี้นับว่าออกทะเลไปไกลจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างน่าเป็นห่วง
ลองคิดดูสิว่า ถ้าการทำบุญเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เงินไปเสียทุกครั้งและเป็นเรื่องที่จะต้องทำครั้งละมากๆ จึงได้บุญมาก หากเราเชื่อกันอย่างนี้ คนอีกเท่าไหร่ที่จะไม่มีโอกาสได้ทำบุญ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นเป็นคนจน หาเช้ากินค่ำ ดังนั้น ถ้าการทำบุญเป็นเรื่องของคนมีเงินและต้องใช้เงิน ก็จะมีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่สามารถทำบุญได้
ในเรื่องการทำบุญนี้ เราควรปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ ขอเริ่มต้นเป็นข้อๆ เพื่อจะได้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ดังนี้
1. หากมองในแง่เหตุ การทำ “บุญ” เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการชำระใจให้บริสุทธิ์สะอาด ตรงนี้ต้องจับประเด็นให้ชัด บุญไม่ใช่กุศโลบายในการหาเงินของคนบางกลุ่มที่หลอกให้คนอีกกลุ่มทุ่มเททำบุญจนหมดเนื้อหมดตัวด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ เพราะการทำบุญที่ล่อให้ผู้ทำบุญหวังผลบุญตอบแทนจนคนทำบุญสิ้นเนื้อประดาตัวนั้น แสดงว่าจิตใจของผู้ทำบุญไม่ได้สะอาดขึ้นเลย แต่กลับถูกลวงให้หลงจมปลักลงไปในบ่อบุญจอมปลอมนั้นมากขึ้นอีกอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
2. หากมองในแง่ผล “บุญ” ก็เป็นความสุขใจที่เกิดขึ้นหลังจากใครก็ตามได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนหรือต่อคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น (ขอให้สังเกตให้ดี การทำบุญไม่ได้ทำกับคนเท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงสัตว์และ “สิ่ง” ซึ่งในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติอีกด้วย)
3. หากมองในแง่สภาวะ “บุญ” มีภาวะเป็นนามธรรม การให้ผลของบุญนั้นเกิดขึ้นที่ใจเป็นหลัก ไม่ใช่ให้ผลเป็นความร่ำรวย ให้ผลเป็นชื่อเสียง หรือให้ผลเป็นการถูกเลขท้ายรางวัลที่หนึ่ง รวมทั้งไม่ใช่การให้ผลออกมาเป็นคะแนนและหรือแต้มสะสมซึ่งมนุษย์ด้วยกันเองเป็นผู้จัดทำขึ้น ควรจำไว้ให้ชัดว่า การให้ผลของบุญนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้จัดสรรของมันเอง ไม่ใช่มนุษย์ยื่นมือเข้ามาเป็นผู้บอกว่าทำบุญอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนี้อย่างทันตาเห็น เช่น ทำบุญหนึ่งหมื่นบาทแล้วจะรวยไม่รู้เรื่อง นับเงินมือเป็นระวิง หรือทำบุญด้วยการบูชาพระรุ่นนี้แล้วจะไม่พบกับความลำบากยากจนอีกเลยที่ป่วยก็หาย ที่ไข้ก็ซา
ผลบุญอย่างนี้ควรทราบว่าเป็นผลบุญเชิงพาณิชย์ หรือเชิงการตลาดที่มนุษย์หัวหมอเรานี่เองโมเมขึ้นมาหลอกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “คนทำนาบนหลังคน” นี้แหละที่เข้ามา “ตัดตอน” กระบวนการให้ผลของบุญ จนการทำบุญมีความหมายคับแคบเหลืออยู่เพียงว่า ถ้าจะทำบุญก็ต้องใช้ “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งๆ ที่ความจริง การทำบุญที่แท้นั้นแม้จะไม่ใช้เงินเลยสักบาทก็ย่อมได้ หรือจะพูดได้ถูกยิ่งไปกว่านั้นว่า ที่สุดของบุญนั้นไม่เกี่ยวกับเงินเลย ไม่เกี่ยวอย่างไร เราจะเห็นได้จาก “มรรควิธี” ในการทำบุญ หรือในการสร้างบุญทั้ง 10 ประการ ต่อไปนี้
มรรควิธีในการทำบุญ 10
1. ทำบุญด้วยการ “แบ่งปัน” วัตถุ สิ่งของ ปัจจัยสี่
2. ทำบุญด้วยการ “รักษาศีล”
3. ทำบุญด้วยการ “เจริญจิตภาวนา”
4. ทำบุญด้วยการ “อ่อนน้อมถ่อมตน”
5. ทำบุญด้วยการ “เสียสละช่วยงานคนอื่น บริการสังคม”
6. ทำบุญด้วยการ “เฉลี่ยความดีให้คนอื่นได้ชื่นชม”
7. ทำบุญด้วยการ “อนุโมทนา / ชื่นชมความสุข ความก้าวหน้าของคนอื่น”
8. ทำบุญด้วยการ “ฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ที่มีสารประโยชน์ต่อชีวิต”
9. ทำบุญด้วยการ “แสดงธรรม แจกจ่ายธรรมทาน วิทยาทาน”
10. ทำบุญด้วยการ “มีสัมมาทัศนะ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อตามหลักเหตุผล ฯลฯ”
ในพระไตรปิฎกบางแห่งระบุวิธีทำบุญเพิ่มเดติมออกไปอีกว่า
“ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดหาเรือข้ามฟาก จัดที่บริการน้ำดื่ม ขุดบึงหรือบ่อน้ำ สร้างที่พักอาศัย, บุญชองชนเหล่านั้นย่อมงอกงามทุกทิวาราตรีกาล, ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีคุณธรรม มีศีล นับว่าดำเนินอยู่ในทางแห่งความดีงาม”
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า วิธีทำบุญไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ “การให้ทาน” แต่ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมายให้เลือกทำได้ตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ในการทำบุญที่แท้ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น แม้ไม่ใช้เงินเลย ไม่มีเงินเลย ทุกคนก็มีสิทธิทำบุญหรือเข้าถึงบุญได้อย่างทัดเทียมกัน และพึงทราบต่อไปด้วยว่าบุญสูงสุดก็คือการบำเพ็ญจิตภาวนาเพื่อให้เกิด “ปัญญา” การทำบุญจึงต้องมาเชื่อมกับ “ปัญญา” เสมอ
บุญจึงไม่ใช่เพื่อบุญในตัวของมันเองแล้วก็จบ แต่การทำบุญคือมรรควิธีในการพัฒนาตนเพื่อเข้าถึงปัญญา และปัญญานั้นก็ไม่ใช่เพื่อปัญญา แต่เป็นปัญญาเพื่อเข้าถึง “อิสรภาพ” หรือ “นิพพาน” เป้าหมายของบุญอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่จำเป็นต้องมาวุ่นวายทำบุญกันอีกต่อไปกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “ทำบุญก็เพื่อที่จะทิ้งบุญ” ในที่สุด และมิติของบุญก็เกินความหมายกว้างขวางออกไปถึงทางด้านกาย วาจา ใจ หรือกายอารมณ์ (จิต) สังคม และปัญญา บุญจึงไม่ใช่เรื่องเพื่อความสุขของตัวเองเท่านั้น แต่การทำบุญนั้นก็เพื่อความสุข ความเจริญงอกงามร่มเย็นของสังคมหรือของมนุษยชาติทั้งหมดอีกด้วย
ความหมาย ขอบข่ายของการทำบุญที่แท้นั้นทั้งหลากหลายและกว้างขวางดังกล่าวมานี้ ชาวพุทธจึงควรเรียนรู้ไว้ให้เท่าทัน ทุกครั้งที่ทำบุญจึงจะได้บุญอย่างที่ต้องการ ไม่ต้องเสียค่าโง่เพื่อแลกบุญครั้งละแพง ๆ เกินความจำเป็น มิเช่นนั้นแล้วหากทำบุญไม่เป็น ทำบุญด้วยความเขลา ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจทำบุญ อาจกลายเป็นกำลังทำบาปโดยไม่รู้ตัวหรือบางทีตั้งใจทำบุญ แต่กลายเป็นว่ากำลังตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ยื่นดาบให้โจร โชนฟืนในกองไฟ ก็เป็นได้