หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ไหว้พระในเกาะรัตนโกสินทร์ เสริมมงคลชีวิตรับปีเถาะ
    สักการะเสาหลักเมืองเพื่อให้มีชีวิตที่มั่นคง
           สวัสดีปีใหม่ปีพุทธศักราช 2554 ตามธรรมเนียมคนไทยเราขึ้นปีใหม่ก็ต้องเข้าวัดไหว้พระขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตกันตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ฉันขอพาไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในอันมีความสำคัญมาแต่ครั้งตั้งเมือง
           
           โดยฉันขอเริ่มเพิ่มพูนสิริมงคลให้กับตนเองกันที่ “ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร” สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2325 ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น โดยเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอกยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา หรือเรียกต่อกันมาว่า กรุงเทพมหานคร

    หอเทพารักษ์ ที่สถิตของเทพารักษ์ทั้ง 5
           จนในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน
           
           ปัจจุบันศาลหลักเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงกลาโหม ภายในยังมี หอเทพารักษ์ เป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง อีกทั้งยังมีหอพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระประจำวันเกิด อีกทั้งศาลหลักเมืองกรุงเทพฯแห่งนี้ยังได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2518 โดยกรมศิลปากรอีกด้วย

    พระวิหารภายในวัดราชประดิษฐ์
           ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาทำบุญ บนบานศาลกล่าวกันอย่างไม่ขาดสาย โดยคุณนัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เล่าถึงความเชื่อในการบูชาศาลหลักเมืองแห่งนี้ว่า
           
           “คงจะทราบกันดีว่าศาลหลักเมืองก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการสถาปนาพระนคร ฉะนั้นการลงหลักปักฐานตั้งบ้านเมืองก็ต้องมีหลักที่มั่นคง ตรงนี้จึงเป็นความเชื่อว่า ถ้าหากไปสักการะที่ศาลหลักเมืองจะช่วยให้ชีวิตมีหลักมีฐาน มีชีวิตที่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีใหม่ หรือเวลาที่เครียด ขาดหลักยึดทางจิตใจก็มักจะไปไหว้ศาลหลักเมืองกัน”

    ปาสาณเจดีย์ หรือ เจดีย์หิน
           แห่งที่ 2 ที่ฉันจะไปนั้น ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศาลหลักเมืองเท่าไหร่นัก เดินเลาะริมถนนมาสักเล็กน้อยแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.สราญรมย์ ก็จะถึง “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร”
           
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้นตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน และอีกข้อหนึ่ง คือ โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จึงถือได้ว่าเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้น และถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 อีกด้วย

    รูปปั้นฤๅษีดัดตน ภายในวัดโพธิ์
           ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธสิหิงส์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงส์ องค์ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร บริเวณฝาผนังเป็นภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่น เรื่องราวของพระราชพิธี 12 เดือน ส่วนภาพที่ผนังด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพรัชกาลที่ 4 ทรงส่องกล้องดูสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
           
           และหากสักการะพระพุทธรูปให้เป็นสิริมงคลกันเรียบร้อยแล้ว ฉันขอแนะนำให้เดินชมรอบๆ วัด เพราะยังมีสถานที่สำคัญอยู่อีกหลายแห่ง อย่างเช่น ปาสาณเจดีย์ หรือเจดีย์หิน ที่ประดับด้านนอกด้วยหินอ่อน หอไตรที่ส่วนยอดมีปรางค์แบบขอม หรือจะเดินชมศิลปะบนซุ้มหน้าต่าง ซุ้มประตู ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์

    หมู่พระเจดีย์เรียงรายอยู่ในวัดโพธิ์
           ออกจากวัดราชประดิษฐ์แล้วข้ามถนนสนามไชยมาอีกฝั่ง ฉันก็มาถึง “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดโพธาราม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และย้ายเมืองหลวงกลับมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่บริเวณเดียวกันไปด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ภายหลังวัดแห่งนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 1

    วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
           นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธแล้ว วัดโพธิ์ก็ยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปกรรมหลากหลายสาขาที่ประดับอยู่ภายในวัด เป็นโรงเรียนแพทย์แผนโบราณและอายุรเวท สอนการปรุงยา ตรวจโรค และนวดแผนโบราณตามจารึกในแผ่นศิลาและรูปปั้นฤๅษีดัดตน จึงเปรียบได้ว่า วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย ที่รวบรวมภูมิปัญญาของไทยไว้เป็นมรดกให้ได้เรียนรู้กันต่อไป
           
           สังเกตได้ว่าถ้าเข้าไปในตัววัดแล้วมองไปทางใดก็จะเห็นแต่เจดีย์เรียงรายอยู่โดยรอบ เนื่องจากวัดโพธิ์เป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 99 องค์ ส่วนพระเจดีย์ที่สำคัญก็คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-4 ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
           
           ส่วนเรื่องความเชื่อในการมาไหว้พระที่วัดโพธิ์ก็เชื่อกันว่า จะได้รับความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต มีร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นหลักยึดในชีวิต เหมือนดังชื่อของวัดคือวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ นั่นเอง

    อีกมุมหนึ่งในวัดพระแก้ว
           จากวัดโพธิ์ ฉันเดินย้อนกลับมาทางสนามหลวงเพื่อเข้าไปยัง “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้เป็นวัดในพระราชวังหลวง อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออก
           
           คุณนัท จุลภัสสร เล่าว่า ที่วัดพระแก้วซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย การจะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็มักจะทำในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เช่น การบวชนาคหลวง ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การมาไหว้พระที่นี่ก็เชื่อกันว่าจะมีแก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมา เป็นสิริมงคลกับชีวิต

    ภายในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
           เดินเกือบจะครบรอบเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในแล้ว ฉันก็ขอมาปิดท้ายวันนี้ที่ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัดหลักของเมืองตามความเชื่อดั้งเดิม เป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกบูรณปฏิสังขรณ์มาพร้อมๆ กับวัดโพธิ์ คำว่ามหาธาตุ ก็หมายถึงการที่มีพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ในพระสถูปกลางวัด สังเกตได้ว่าเมืองสำคัญๆ ในโบราณนั้นก็จะมีวัดที่มีคำว่ามหาธาตุอยู่ เช่น ที่พิษณุโลก ราชบุรี ลพบุรี เป็นต้น

    วัดมหาธาตุ สถานที่ตั้งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

           นอกจากที่จะเป็นพระอารามหลวงแล้ว ภายในวัดมหาธาตุก็ยังเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาของพระสงฆ์ นับเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาในอีกทางหนึ่ง
           
           จากการที่ถือว่าวัดมหาธาตุเป็นวัดหลักของบ้านเมือง และมีความหมายถึงการมีพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ เมื่อมาไหว้พระที่วัดนี้ จึงเชื่อกันว่าจะได้สักการะพระสารีริกธาตุให้เป็นมงคลกับชีวิต
           
           สำหรับฉันแล้ว การได้มาไหว้พระในคราวนี้ นอกจากจะเป็นสิริมงคลกับชีวิตแล้ว ก็ยังได้มาสงบจิตสงบใจ ได้เริ่มต้นปีใหม่อย่างมีความสุขอีกด้วย

    ข้อมูลจาก กะฉ่อนพาเที่ยว


    • Update : 21/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch