หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยว“อุทัย” ไหว้พระงาม ยลวิถีริมน้ำสะแกกรัง
    ศาลหลักเมืองอุทัยธานี
           การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุงที่วุ่นวายแบบนี้ ถ้าหากว่ามีเวลาได้หยุดพักก็คงอยากจะหาที่สงบๆ เอาไว้ผ่อนคลาย “ตะลอนเที่ยว” จึงอยากจะชวนมาเยี่ยมเยือนเมืองที่ยังสงบงาม เต็มไปด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิต อย่างที่ “อุทัยธานี”
           
           หลังเดินทางมาถึงอุทัยแบบไม่ต้องอุทธรณ์ จุดหมายแรกของทริปนี้ เราไปสักการะ “เสาหลักเมืองอุทัยธานี” เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

    พิพิธภัณฑ์ฮกแซตึ้ง
           สำหรับเสาหลักเมืองอุทัย ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สมัยก่อนไม่มีใครสนใจเรื่องเสาหลักเมือง จนกระทั่งมีคนกรุงเทพฯ เดินทางมาที่วัดหัวเมือง อ.หนองฉาง แล้วเล่าว่ามีคนไปเข้าฝันว่าเสาหลักเมืองอุทัยเก่าอยู่ตรงไหน ให้จัดการตั้งเสาให้เรียบร้อย แล้วคนกรุงเทพฯ ก็เดินไปชี้จุดที่อยู่ของเสาที่รู้จากความฝัน อยู่บริเวณข้างวัดหัวเมืองทางทิศตะวันออก พบว่าเป็นเสาไม้แก่นไม้แต้ ซึ่งเดิมไม่มีผู้ใดสนใจ และนำไม้แก่นไปทำฟืนเหลืออยู่เพียงซีกเดียว จึงได้ทำพิธีย้ายเสาหลักเมืองมาไว้ข้างวัดหัวเมือง แล้วสร้างศาลาคลุมเสาหลักเมืองเอาไว้
           
           ส่วนในตัวเมืองอุทัยธานีนั้นแต่เดิมไม่มีศาลหลักเมือง ต่อมาจึงได้มีการสร้างขึ้นที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน ผู้คนที่มาสักการะศาลหลักเมืองที่นี่นอกจากจะได้รับความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ยังได้ชมความงดงามของแม่น้ำสะแกกรังที่อยู่ด้านหลังศาลหลักเมืองอีกด้วย

    พระพุทธชัยสิทธิ์ วัดพิชัยปุรณาราม
           ไหนๆเมื่อเข้ามาในตัวเมืองแล้ว เราขอไปยลวิถีอุทัยในอดีตผ่าน “พิพิธภัณฑ์ฮกแซตึ้ง” ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสำนักกินเจชื่อ“ฮกฮันตั๋ว”มาก่อน กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “ซินแสเล็ก แซ่ลี้” ได้เปิดเป็นร้านขายยาจีน จึงเปลี่ยนชื่อร้านเป็น“ฮกแซตึ้ง”
           
           พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีอาคารเป็นบ้านไม้สักแบบจีน อายุกว่าร้อยปี ก่อสร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ชั้นล่างของฮกแซตึ้งเป็นร้านขายยา สมุนไพรจีน และยังเป็นที่ฝึกฝนซินแสฝึกหัด และมีอุปกรณ์มากมาย อาทิ ตู้ยาจีน อุปกรณ์บดปรุงยาแบบโบราณ
           
           ส่วนชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีพื้นและผนังเป็นไม้สัก บริเวณกลางห้องมีแท่นบูชาแบบจีน ซึ่งใช้เป็นโรงเจ เพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานต่างๆ ส่วนห้องด้านข้างห้องโถงใหญ่ จะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในเทศกาลกินเจ และรอบบริเวณฮกแซตึ้ง มีการประดับลวดแบบจีน อาทิ ค้างคาว ใบตอง ผลทับทิม ซึ่งเชื่อว่าจะนำความเจริญผาสุกมายังผู้อยู่อาศัย

    วัดอุโปสถาราม ริมแม่น้ำสะแกกรัง
           จากนั้นเรามาเพิ่มเติมความเป็นสิริมงคลกับชีวิตกันที่ “วัดพิชัยปุรณาราม” เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ผ่านการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว วิหารของที่นี่เป็นวิหารลักษณะดั้งเดิมสมัยอยุธยา คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำ ด้านหน้ามีประตูเข้าออก 2 ช่อง ด้านข้างไม่มีช่องหน้าต่าง แต่จะเจาะเป็นช่องแสงแคบๆ ไว้
           
           ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 7 องค์ มีพระประธานนามว่า “พระพุทธชัยสิทธิ์” เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ใต้ซุ้มพญานาค ด้านหน้าเป็นพระนั่งปางสมาธิอยู่ข้างละองค์ถัดมาเป็นพระยืนพนมมือ และนอกสุดเป็นพระนั่งปางมารวิชัยเกศโล้น ลดหลั่นตามลำดับชั้น

    เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรัง วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์แห่งอุทัยธานี
           อีกหนึ่งวัดที่ขอแวะเวียนเข้าไปก็คือ “วัดอุโปสถาราม” วัดกลางเมืองริมแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งเดิมมีชื่อว่า“วัดโบสถ์มโนรมย์” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดโบสถ์”
           
           วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่มากมาย อาทิ เจดีย์เก่าแก่ 3 องค์ ที่เป็นสถาปัตยกรรมของ 3 ยุค คือ สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
           
           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มณฑปแปดเหลี่ยม ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เป็นอาคารรูปทรงตะวันตก 2 ชั้น มีบันไดวนอยู่นอกอาคาร ซุ้มหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นสวยงาม ส่วนที่ริมน้ำนั้นมี แพโบสถ์น้ำ ที่สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จ ร.5 ครั้งที่เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2449 ซึ่งในปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่

    เสาประดับแก้วระยิบระยับในวิหารแก้ว
           เมืองอุทัยธานีถือเป็นต้นแหล่งต้นน้ำสะแกกรัง เส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุทัย ซึ่งในลำน้ำสะแกกรังแห่งนี้ ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเรือนแพ ที่ยังคงใช้ชีวิตในวิถีสงบใกล้เคียงกับดั้งเดิมที่เคยเป็นมา “ตะลอนเที่ยว” เลยขอลงไปล่องเรือเยี่ยมเยือนชาวเรือนแพเสียหน่อย
           
           วิถีชีวิตของคนที่อาศัยบนบ้านเรือนแพ ก็ยังมีการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อยังชีพ ปลูกพืชผักลอยน้ำ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายภายในบ้านที่สร้างคร่อมไว้บนแพลูกบวบไม้ไผ่ เมียงมองริมสองฝั่งตลอดลำน้ำ ได้เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติและบ้านเรือน ก็ทำให้เราได้ผ่อนคลายไม่น้อย

    ภูเขาสะแกกรัง อันเป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี
           เส้นทางล่องเรือของเรามาสิ้นสุดอยู่ที่ วัดจันทาราม หรือ วัดท่าซุง วัดชื่อดังของเมืองอุทัย ที่ใครไปใครมาก็ต้องแวะมากราบไหว้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชพรหมยาน อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง ที่ท่านได้ทำการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนทั่วไป
           
           สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็อย่างเช่น วิหารแก้ว ที่ภายในงดงามตระการตา ระยิบระยับไปด้วยเสาที่ประดับกระจกส่องแสงแวววาวสะท้อนกับโคมไฟคริสตัลบนเพดาน “ตะลอนเที่ยว” มองดูแล้วก็ให้ตื่นตาตื่นใจราวกับอยู่บนเมืองสวรรค์เลยทีเดียว

    โบสถ์ฝาผนังไม้ วัดวังสาริกา
           อีกหนึ่งสถานที่ที่จะต้องแวะเวียนมาเมื่อมาถึงอุทัยธานีก็คือ เขาสะแกกรัง ภูเขาสำคัญของเมืองอุทัย ที่จะมีงานเทศกาลสำคัญในวันออกพรรษา โดยจะมีประเพณีตักบาตรเทโว ที่พระสงฆ์หลายร้อยรูปจะเดินบิณฑบาตลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง
           
           บริเวณเขาสะแกกรังเป็นที่ตั้งของ วัดสังกัสรัตนคีรี วัดเก่าแก่ของอุทัยธานี ที่ภายในวิหารของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งเราก็ขอกราบสักการะให้เป็นมงคลกันเหมือนเช่นเคย
           
           และถ้าหากว่ามาถึงที่เขาสะแกกรังแห่งนี้แล้วก็ต้องเดินขึ้นไปให้ถึงบนยอดเขา โดยผ่านบันได 449 ขั้น ที่ทำเอาเสียเหงื่อกันไปเล็กน้อย แต่ถ้าขึ้นไปถึงแล้วก็จะหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เนื่องจากได้ชมทัศนียภาพรอบๆ เมืองอุทัยที่สวยงาม มองไปได้สุดลูกหูลูกตา

    ลวดลวยผ้าทอโบราณ
           ด้านบนยอดเขาสะแกกรังมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองให้ได้เข้าไปกราบไหว้กัน ส่วนที่ด้านหน้าของมณฑปก็มีระฆังศักดิ์สิทธิ์ใบใหญ่ ที่สร้างตั้งแต่สมัย ร.5 ที่ว่ากันว่าถ้าหากว่าไม่ได้มาตีระฆังใบนี้ ก็เหมือนกับมาไม่ถึงอุทัยธานี
           
           และที่ใกล้ๆ กับมณฑปก็ยังมี พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก หรือที่ชาวอุทัยขานกันว่า พระชนกจักรี ซึ่งเป็นพระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 โดยที่จะมีพิธีสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ทุกวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
           
           บนยอดเขาสะแกกรังยังมีความสำคัญอีกหนึ่งอย่าง ก็คือ หมุดหลักฐานแผนที่ ที่เป็นหมุดแผนที่โลก 1 ใน 3 ของทวีปเอเชีย (อีกสองหมุดอยู่ที่อินเดีย และ เวียดนาม) โดยหมุดนี้จะใช้ในการคำนวณและแบ่งแนวเขตเพื่อกำหนดพิกัดในแผนที่โลก เรียกว่าเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนไทยแทบจะไม่รู้เลยว่ามีอยู่ในเมืองไทยของเราด้วย

    ธูปหอมทองตะนาว หลากสีสัน
           นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เราตะลอนเที่ยวทัวร์เมืองอุทัยตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในอุทัยยังมีสิ่งน่าสนใจ อาทิ วัดธรรมโฆษก(วัดโรงโค)ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในอุทัย วัดวังสาริกา ที่โดดเด่นไปด้วยโบสถ์ฝาผนังไม้ เขาปฐวี กับบรรยากาศอันร่มรื่น มากไปด้วยฝูงลิง ถ้ำเขาฆ้องชัย ที่ยามพลบค่ำของทุกวันจะมีค้างคาวพันธุ์ปากย่นจำนวนมหาศาลบินออกหากิน บ่อน้ำพุร้อนบ้านสมอทอง แหล่งน้ำพุร้อนที่ผุดขึ้นมาตามธรรมชาติที่ทางจังหวัดปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในสนสาธารณะอันร่มรื่น หุบป่าตาด อันซีนไทยแลนด์ในบรรยากาศป่าดึกดำบรรพ์ย้อนยุค
           
           ส่วนใครที่ชอบผ้าทอ อุทัยขึ้นชื่อในเรื่อง “ผ้าทอพื้นเมือง”ของชาวลาวครั่ง(ไทครั่ง) โดยมีแหล่งผลิตขึ้นชื่ออยู่ 2 แห่งคือ “บ้านโคกหม้อ” อ.ทัพทัน และ “ศูนย์ทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณผาทั่ง” อ.บ้านไร่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังคงใช้กี่มือหรือกี่พื้นบ้านทอและคงไว้ด้วยวิธีการทอแบบดั้งเดิม
           
           ผ้าทอบ้านโคกหม้อ มีจุดเด่นอยู่ 3 ลักษณะ คือ การทอแบบยกดอก การจก และการมัดหมี่ มีทั้งผ้าไหมพื้นบ้านและผ้ามัดหมี่ ส่วนผ้าทอผาทั่ง เป็นผ้าฝ้ายที่เด่นในเรื่องการใช้ลวดลายโบราณ อาทิ ลายนาค ลายขอ ลายดอกดาว ลายสัตว์ เป็นต้น

    สองคุณลุงช่วยกันตีมีดที่ร้านสองเจริญ

           หรือใครสนใจธูปหอมในอุทัยมี “ธูปหอมทองตะนาว” ต.เกาะเทโพ อ.เมือง เป็นอีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อธูปหอมที่นี่นอกจากหอมแล้ว ยังมีสีสันสวยงาม น่าใช้เป็นอย่างยิ่ง
           
           สินค้าพื้นขึ้นชื่อเมืองอุทัยอีกอย่างหนึ่งก็คือ “มีด” ที่มีการทำในอุทัยกันมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งมีดที่ทำเป็นงานศิลป์ อย่างมีดช่างทิน มีดช่างแขก หรือมีดที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีดของร้าน“สองเจริญ”ที่วันนี้ยังคงไว้ซึ่งวิถีการทำมีดแบบดั้งเดิมอยู่
           
           และนั่นก็คือเสน่ห์แห่งเมืองอุทัย ซึ่งใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวที่อุทัยธานี หรือรู้จักอุทัยธานีเพียงแค่เป็นจังหวัดหนึ่งของเมืองไทย หากมีโอกาสน่าจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอุทัยสักครั้งหรือหลายๆครั้ง ซึ่งเมื่อได้มีโอกาสไปสัมผัสอุทัยอย่างแล้วก็จะรู้ว่าเมืองนี้มีดีกว่าที่คิด
           
           * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
           
           สามารถสอบถามการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุทัยเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานอุทัยธานี โทร. 0-5651-4982

    ข้อมูลจาก กะฉ่อนพาเที่ยว


    • Update : 21/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch