|
ภาพจิตรกรรมเขียนสีในพระวิหารพระพุทธไสยาส |
|
|
พูดถึง “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” ทุกคนก็คงจะคุ้นหูคุ้นตากันดี เนื่องจากเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของกรุงเทพมหานคร มือชื่อเสียงเลื่องลืมถึงความวิจิตรบรรจงของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม รวมไปถึงตำรานวดแผนโบราณ ที่ใครๆ ก็อยากจะมาสัมผัส
และในคราวนี้ ฉันจะพามาสัมผัสกับวัดโพธิ์ในมุมมองที่แตกต่างออกไป เพราะเราจะมาชมกันในยามค่ำคืน แต่ก็ขอเริ่มต้นการมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ในเวลาบ่ายแก่ๆ เพื่อที่จะได้เห็นความงามวิจิตรของสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้อย่างเด่นชัด โดยมาเริ่มจุดแรกกันที่ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นการสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารขึ้นภายหลัง ที่ฝาผนังมีจิตรกรรมเป็นภาพเขียนสี และจารึกเรื่อง มหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาทวีป ประดับอยู่ทางด้านบนเหนือหน้าต่างขึ้นไป ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนเป็นเรื่อง พระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่าน และอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน ส่วนบนคานเหนือเสา เป็นเรื่องราวของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ นอกจากจะบอกถึงเรื่องราวของพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพบ้านเรือนในสมัยเก่าอีกด้วย
|
|
พระพุทธไสยาสน์ |
|
|
สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ มีความยาว 46 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นพระนอนที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย (รองจากพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง) และที่น่าสนใจอีกจุดก็คือ พระบาทของพระพุทธไสยาสน์ประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปกงจักรตามตำรามหาปุริสสลักษณะ ชาวต่างชาติที่เข้ามาชมพระพุทธไสยาสต่างก็ส่งเสียงชื่นชมในความงดงาม พร้อมทั้งถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก คนไทยแท้ๆ อย่างฉันก็เลยรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยเหลือเกิน
จากพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ฉันเดินลัดเลาะมาตามทาง เพื่อจะเดินเข้าไปยังพระอุโบสถ ระหว่างทางก็จะผ่าน ศาลาราย ที่มีอยู่รายล้อมทั้งสี่ด้านของพระอุโบสถ ภายในศาลารายแต่ละหลังจะจารึกสรรพวิชาความรู้ต่างๆ ทั้งการแพทย์ การเมือง การปกครอง ประวัติการสร้างวัด และวรรณคดี ซึ่งก็ถือได้ว่า วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย เพราะรวบรวมเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของไทยสมัยรัตนโกสินทร์มาเก็บไว้ และได้เผยแพร่มาสู่รุ่นต่อๆ ไป
|
|
ตำรานวดแผนโบราณที่ถูกจารึกไว้ในศาลาราย |
|
|
อย่างเช่นศาลารายหลังนี้ที่ฉันได้เข้าไปยืนพินิจพิเคราะห์ดู เป็นการจารึกเรื่องตำรานวดแผนโบราณในแผ่นหินอ่อน ที่ประดับอยู่บนฝาผนังของศาลาราย มีรูปจิตรกรรมลายเส้นบอกตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และตำแหน่งของการนวด ซึ่งมีจารึกมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนั้น แต่ดั้งเดิมก็ยังมีการปั้นรูปฤาษีดัดตนตั้งไว้ข้างๆ ผนังของศาลาราย แต่ในปัจจุบันถูกนำไปตั้งไว้ที่ด้านใต้ของพระอุโบสถ
ต่อจากนั้นฉันก็จะเดินเข้าสู่เขตของพระอุโบสถ โดยเริ่มจาก พระระเบียง ที่สร้างล้อมรอบพระอุโบสถเป็น 2 ชั้น โดยทั้งสองชั้นถูกเชื่อมต่อกันด้วยพระวิหารทิศ ภายพระระเบียงทั้งชั้นในและชั้นนอกประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายกันอยู่ พร้อมทั้งมีจารึกเพลงยาวกลอักษร เพลงยาวกลบท และตำราคำฉันท์ต่างๆ อยู่ในแผ่นหิน
|
|
รูปปั้นฤาษีดัดตน |
|
|
ส่วนพระวิหารทิศก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ดังนี้ พระวิหารทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระวิหารทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา พระวิหารทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก พระวิหารทิศเหนือ ประดิษฐานพระปางป่าเลไลยก์
ผ่านมาจากพระระเบียง ก็จะสังเกตเห็น พระมหาสถูป หรือ พระปรางค์ ที่จะประดิษฐานอยู่ตรงมุมลานพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน ซึ่งพระปรางค์ในลักษณะนี้จะมีชื่อเรียกว่า “พระอัคฆีย์เจดีย์” มีเทวรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ หล่อด้วยดีบุกลงรักปิดทองประดับกระจกประจำทั้งสี่ทิศขององค์พระปรางค์ เหนือขึ้นไปด้านบนมีรูปยักษ์หล่อด้วยดีบุกยืนแบกยอดพระปรางค์
|
|
พระปางป่าเลไลยก์ ในพระวิหารทิศเหนือ |
|
|
ในที่สุดก็เข้ามาถึง พระอุโบสถ ของวัดโพธิ์กันแล้ว ซึ่งถ้าหากว่ามากันในช่วงเย็นแบบนี้ก็จะได้ยินเสียงสวดมนต์ดังออกมาภายนอก เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์กำลังทำวัตรเย็น ฉะนั้นก็ไม่ควรจะส่งเสียง หรือทำอะไรที่รบกวนพิธี แต่ก็ยังสามารถเข้าไปในพระอุโบสถได้อยู่
เมื่อเข้าไปด้านในแล้วก็จะเห็นพระประธาน พระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร” ซึ่งหมายถึง เทวดามาสร้างไว้ เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง โดยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 3 ชั้น โดยที่ชั้นแรกนั้นจะบรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน) และพระบรมราชสรีรังคารของรัชกาลที่ 1 ไว้ด้วย
|
|
พระอัคฆีย์เจดีย์ |
|
|
ได้สักการะพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองแล้ว ฉันก็เดินออกมาที่นอกเขตพระอุโบสถอีกครั้ง เวลาฟ้าเริ่มมืดสลัวแบบนี้ ทางวัดก็จะเริ่มเปิดไฟรอบๆ วัด รวมถึงเปิดสปอตไลท์ส่องไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้ได้เห็นถึงความสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ โดยเฉพาะ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ที่เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบ และเครื่องถ้วยหลากสี ที่พอส่องสะท้อนกับแสงไปแล้วจะเห็นเป็นสีทองระยิบระยับ ตัดกับขอบฟ้าสีครามเข้ม
|
|
ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ |
|
|
ในช่วงกลางวัน ถ้าหากจะแยกว่าพระเจดีย์องค์ไหน เป็นของรัชกาลใด ก็สามารถสังเกตได้จากกระเบื้องเคลือบที่ประดับบนพระเจดีย์ พระเจดีย์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว เป็นของรัชกาลที่ 1 นามว่า “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว เป็นของรัชกาลที่ 2 นามว่า “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน” องค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เป็นของรัชกาลที่ 3 นามว่า “พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร” และองค์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินเข้ม เป็นของรัชกาลที่ 4 นามว่า “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย”
ความสวยงาม วิจิตรตระการตาแบบนี้ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่สามารถชมกันได้ในยามค่ำคืนที่วัดโพธิ์แห่งนี้ แต่ถ้าหากเดินออกมาจากบริเวณวัดแล้วก็ควรจะต้องระวังดูแลตัวเองเสียหน่อย เพราะทางเดินรอบๆ วัดนั้นออกจะมืดเปลี่ยว ซึ่งก็อาจจะเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้
|
|
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาลยามค่ำคืน |
|
|
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. (ช่วงหลัง 18.00 น. เปิดให้ชมเฉพาะพระวิหารพระพุทธไสยาส และบริเวณโดยรอบวัด) สำหรับค่าผ่านประตู ชาวไทยเข้าฟรี ชาวต่างชาติ 50 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2226-0335
|
ข้อมูลจาก กะฉ่อนพาเที่ยว
|