อำเภอเมือง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแก่นจันทร์ ถนนเพชรเกษม นอกจากจะเป็นสถานที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปแล้ว ทางจังหวัดยังได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ในบริเวณกรมการทหารช่างราชบุรี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 600 เมตร เป็นหลักเมืองเก่าที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์
ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจก อยู่ในตำบลคูบัว เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะ ผ้าจกไท-ยวน เก็บตัวอย่างของผ้าจกที่มีลวดลายดั้งเดิม มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เปิดดูประวัติ เรื่องราวต่าง ๆ มีสาธิตการทอผ้า และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดหน้าพระธาตุ” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่มีพระปรางค์สร้างด้วยอิฐฉาบปูน และมีฐานเป็นศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18 ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะจำลองแบบพระธาตุนครวัด รูปลักษณะตั้งอยู่ในระเบียงสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม บริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ ที่วิหารคตรอบลานพระปรางค์ มีพระพุทธรูปศิลา และสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่โดยรอบ มีบันไดและช่องคูหาเข้าไปถึงองค์พระปรางค์ มีความสูง 12 วา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 ศอก มีข้อสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นศาสนสถานของขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่มายังสุวรรณภูมิ สถานที่แห่งนี้จึงถูกดัดแปลงมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน
วัดหนองหอย เป็นที่ตั้งของพระวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม หรือ พระแม่กวนอิม อยู่บนยอดเขาตำบลเขาเหลือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ไปทางถนนสายเขางู-เบิกไพร รถยนต์สามารถวิ่งขึ้นไปถึงบริเวณเชิงวิหารได้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ริมถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง มีลักษณะการจัดการแสดงทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา ธรณีวิทยา ศิลปะพื้นบ้าน รวมทั้งการาจัดแสดงตัวอย่างวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของลาวโซ่ง กระเหรี่ยง และไทยวน ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างพร้อมมูล เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้น วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ คนละ 30 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (032) 321513
เมืองโบราณบ้านคูบัว อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว จากหลักฐานการขุดค้นพบปรากฏว่า ราชบุรีเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ซึ่งทาง กรมศิลปากรได้ขุดค้นและศึกษาเรื่องเมืองโบราณที่คูบัว ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ มากมาย เช่น เศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ ซึ่งหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ได้ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราฃบุรี และมีบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลง ตำบลคูบัว จากการศึกษาและค้นคว้าเมืองโบราณที่คูบัวนี้ ทำให้ทราบว่าได้รับอิทธิพลศิลปกรรมจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้ทราบว่า พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมากกว่า 1,000 ปี มาแล้ว
เขาหลวง อยู่ในตำบลอ่างทอง ตั้งอยู่บนยอดเขามีพระพุทธรูปสร้างด้วยหิน ประชาชนเคารพนับถือมาก เป็นที่ชุมนุมนัดหมายกันมานมัสการในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เป็นเวลา 200 กว่าปีมาแล้ว
เขาน้อย อยู่เลยเขาหลวงไปตามถนนเพชรเกษมไม่ไกลนัก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 2 องค์ ประทับนั่งหันหลังให้กัน เป็นพระที่สร้างด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อเขาน้อย และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
เขาวัง เดิมชื่อว่า เขาวัดสัตตนาถ เป็นภูเขาลูกย่อมๆ สูงประมาณ 44 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร มีทางรถยนต์จากเชิงเขาถึงยอดเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังบนเขานี้ เหมือนอย่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้รับราชทูตฝั่งเศสที่นารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี
พระราชวังบนเขาวังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับครั้งเดียว เมื่อ พ.ศ. 2420 เพื่อออกรับราชทูตโปรตุเกส หลังจากนั้นไม่ได้เสด็จไปประทับอีกเลยจนตลอดรัชกาลต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ อุทิศให้เป็นธรณีสงฆ์ ซึ่งได้มีผู้มีศรัทธาได้ซ่อมแซมบางส่วนดัดแปลงตำหนักต่างๆ เป็นโบสถ์และกุฏิสงฆ์ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นวัดเรียกว่า วัดเขาวัง
เขาแก่นจันทน์ สูงประมาณ 141 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด มีถนนตัดขึ้นไปถึงยอดเขา บนยอดเขามีวิหารประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็น 1 ใน 4 องค์ ของพระ 4 มุมเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แล้วพระราชทานไปประดิษฐาน ณ เมืองรอบนอกพระนคร อันได้แก่ ราชบุรี ลำปาง ปราจีนบุรี และพัทลุง
หลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องลม ใกล้บริเวณเมืองเก่าริมถนนวรเดช อยู่ในใจกลางเมือง เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สร้างด้วยโลหะทองคำสัมฤทธิ์ ช่วงล่างสร้างด้วยไม้แก่นจันทร์ เป็นไม้เนื้อหอม สูงประมาณ2.26 เมตร
|